2. บริษัท เทยิน (ประเทศไทย) จำกัด (ตอน คุณธรรมนำธุรกิจ)


เมื่อพนักงานทุกคนมีจิตใจดี คิดดี ทำดี มีวัฒนธรรมอันดีงามแล้ว เชื่อว่าจะเป็นบุคลากรที่ดีให้แก่องค์กร ที่จะดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรม และรวมไปถึงสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมได้

1. องค์กรของท่านมีนโยบายหรือแนวทางในเรื่อง CSR อย่างไร พร้อมยกตัวอย่างกิจกรรมขององค์กรที่น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีต่อสังคมหรือองค์กรอื่นๆ และภาครัฐควรให้การเสริมหนุนองค์กรที่ทำเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ?

          บริษัทฯ มีนโยบายในการดำเนินการทางด้าน CSR จากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยการวางแนวทาง ทางด้าน CSR 4 หัวข้อดังนี้

            1) ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม

                   บริษัทฯ เป็นองค์กรชั้นนำในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อตอบสนองความต้องการหลากหลายทั้งในด้านสิ่งทอ และเส้นใยที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมยานยนต์ และอากาศยาน เป้าหมายในการดูแลสิ่งแวดล้อมคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ตามอนุสัญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) สำหรับบริษัท เทยิน (ประเทศไทย) จำกัด มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 1% จากปริมาณของผลผลิต ซึ่งได้กำหนดไว้ในนโยบายการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขอนามัยประจำปี 2552 รวมถึงลดปริมาณสารเคมีลง 6% และลดปริมาณขยะไร้ประโยชน์ลง 13% โดยคิดจากปริมาณของปีที่ผ่านมา การควบคุมการปล่อยน้ำเสียให้ดีกว่าทางราชการกำหนด โดยจะเห็นได้ว่า บริษัทฯ มีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และตั้งใจในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี

                   บริษัทฯ ได้รับการเยี่ยมชมจากอุตสาหกรรมรอบข้าง และชุมชนใกล้เคียงในเรื่องสิ่งแวดล้อม และได้รับประกาศเกียรติคุณจากการนิคมแห่งประเทศไทย ในด้านธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมต่าง ๆ และการดำเนินการด้านการจัดการ เป็นไปในทางที่ดี และเป็นที่ยอมรับจากองค์กรภายนอกรวมถึงชุมชนใกล้เคียง

          การนำกลับมาใช้ใหม่,

กระบวนการ Recycle ที่บริษัทฯ ดำเนินการคือการนำเศษเส้นใยมาหลอมละลาย และนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นกระบวนการผลิตหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการนำกลับมาใช้นี้เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Material Recycle

            2) ด้านความปลอดภัย

                   บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน และชุมชนรอบข้าง โดยบริษัทฯ พยายามรักษาสถิติการบาดเจ็บจากการทำงานให้เป็นศูนย์ มาโดยตลอด และ 2 ปีที่ผ่านมาอัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน ที่ต้องหยุดงานจึงเป็นศูนย์ รวมทั้งบริษัทฯ พยายามดูแลจัดการให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในบริษัทฯ มีความปลอดภัยต่อชุมชนโดยรวมอีกด้วย

            3) ด้านสุขอนามัย

                   นอกเหนือจากการดูแลสุขอนามัยต่อพนักงาน ให้มีสุขอนามัยที่ดีแล้ว การเฝ้าระวังก็เป็นมาตรการเชิงรุกที่บริษัท ดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งด้านโรคไข้หวัดนก หรือโรคหวัดสายพันธ์ใหม่ในปัจจุบัน โดยมีการเฝ้าระวังผู้มาติดต่อด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้ามาในพื้นที่ของบริษัทฯ เป็นต้น

                   การสุ่มตรวจยาเสพติดของพนักงาน และผู้รับเหมา เป็นอีกมาตรการหนึ่งในการดูแลเฝ้าระวัง ไม่ให้มีการแพร่กระจายยาเสพติดในพื้นที่โรงงาน และส่งผลไปยังชุมชนรอบข้าง

            4) จริยธรรมองค์กร (Corporate Ethics)

                   บริษัทฯ ได้จัดทำคู่มือหลักจริยธรรมประจำบริษัทฯ ซึ่งมีผลครอบคลุมถึงพนักงานทุกระดับ ซึ่งได้กำหนดจากบัญญัติขององค์กร และมาตรฐานบทบัญญัติขององค์กร อันเปรียบเสมือนมาตรฐานซึ่งพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตาม มีการให้คุณและโทษ สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมองค์กร ซึ่งบริษัทฯ ให้คำสัญญาว่าจะสื่อสารกับสังคมอย่างใกล้ชิด ในฐานะองค์กรที่ดี มุ่งมั่นสนับสนุนและช่วยเหลือสังคม เพื่อให้บริษัทได้รับความไว้วางใจ และความนับถือจากสังคมอย่างต่อเนื่อง ข้อบัญญัติหลักของจริยธรรมองค์กร ได้แก่

                   1. การใส่ใจในชีวิตมนุษย์และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย

                   2. การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม

                   3. การปฏิบัติตามกฎหมาย และประเพณีท้องถิ่น

                   4. การส่งเสริมผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (ผู้ถือหุ้น, รัฐบาล, พนักงาน)

                   5. การเคารพ และยืดถือหลักคุณธรรม และความเป็นปัจเจกบุคคลของพนักงาน

                   6. การเคารพวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น

                   7. ส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

                   8. การรับรองความเป็นธรรมของการทำธุรกรรม

                   9. เคารพต่อทรัพย์สินทางปัญญา

                   10. เก็บรักษาเอกสารอย่างสมบูรณ์ และถูกต้อง และปกป้องข้อมูลความลับ

                   อีกทั้งกลุ่มบริษัท ยังมีการจัดรณรงค์ จริยธรรมองค์กรขึ้นทุกๆ ปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อให้พนักงานได้รับรู้และตระหนักถึงจริยธรรมอันดีในการดำเนินกิจกรรม และการใช้ชีวิต การส่งเสริมจากภาครัฐ ที่สำคัญที่จะหนุนนำให้ CSR เกิดขึ้นในสังคมโดยรวมได้แก่

          1) การเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานและโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริต การให้คุณให้โทษ อย่างชัดเจนและเป็นธรรม

          2) การส่งเสริมทางด้านงบประมาณ หรือมาตรการด้านภาษี เช่น จัดให้มีงบประมาณในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การหักลดหย่อนภาษี หรือยกเลิกภาษี สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ CSR ให้กับบริษัทที่มี CSR เป็นผลงาน เป็นรูปธรรม และตรวจสอบได้

          3) การมอบรางวัลที่เป็นเกียรติ เชิดชู องค์กรที่มีจริยธรรมในการทำงานที่ดี มี CSR ที่เป็นรูปธรรม โดยการมอบรางวัลจากผู้ที่น่าเชื่อถือ (กรณีข้าราชการที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่น่าเชื่อถือ ควรยกเว้น) ตัวอย่างที่ควรเป็นผู้มอบรางวัลได้แก่ อดีตนายก อานันท์  ปัญยารชุน หรือองค์มนตรี เป็นต้น

 

2. ท่านมีความคิดเห็นต่อคำว่า ธุรกิจคุณธรรม” (ธุรกิจที่มีคุณธรรม) อย่างไร ให้อธิบายในประเด็นดังต่อไปนี้

          a.นิยามความหมาย

                   ธุรกิจคุณธรรม คือการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มิได้มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR :  Corporate Social Responsibility) แต่ต้องรวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจบนพื้นฐานศีลธรรม จริยธรรมอันดี มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

          b.ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจคุณธรรม

                   ปัจจัยส่งเสริม คือ ในโลกปัจจุบันมีธุรกิจเกิดขึ้นหลายขนาด ทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และมีการแข่งขันสูงในตลาดโลก จนอาจลืมไปว่าทุกธุรกิจต้องดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจบนพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรมที่ดี จึงทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมั่วแต่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ดังนั้นผู้บริหารทุกคนต้องเป็นแรงผลักดัน เพื่อให้เกิดแนวนโยบายที่ดี ที่จะนำพาไปสู่ธุรกิจคุณธรรม และปลูกฝังให้กับพนักงานทุกคนได้มีจิตใจดี คิดดี ทำดี และเป็นคนดีให้กับสังคมต่อไป

          c.แนวทางสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

                   การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม คือ ต้องกำหนดเป็นนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานได้รู้สึกว่าผู้บริหารยังให้ความสำคัญ ต้องหากิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุน เช่น กิจกรรม Happy Workplace ให้พนักงานทุกคนได้เป็นแนวปฏิบัติ เพราะใน Happy 8 มีกิจกรรมดีๆ หลายด้าน และแต่ละด้านก็นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงเป็นคนดีของสังคมด้วย

          d.ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและต่อองค์กรธุรกิจ

                   เมื่อพนักงานทุกคนมีจิตใจดี คิดดี ทำดี มีวัฒนธรรมอันดีงามแล้ว เชื่อว่าจะเป็นบุคลากรที่ดีให้แก่องค์กร ที่จะดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรม และรวมไปถึงสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมได้  เพื่อสร้างองค์กรให้อยู่รอดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 291534เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท