คนเผาถ่าน


(สารภาพบาปด้วยการปลูกป่าไม้อย่างที่เห็น)

สมัยที่มาอยู่สวนป่ายุคบุกเบิกนั้น ถ้าวันไหนออกไปเดินตอนเช้าตรู่ก็จะเปียกชื้นเย็นน้ำค้างที่โดนเสื้อผ้า แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว น้ำค้างหายไปพร้อมๆกับป่าไม้ ใบหญ้าจึงเหี่ยวสลดไม่สดชื่นเหมือนยามเช้าตรู่สมัยก่อน ที่สวนป่านอกจากกรณีขาดแคลนน้ำแล้ว เรื่องเชื้อเพลิงก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา ตอนนั้นชาวสวนยังใช้ก้อนเส้า3ขาตั้งเป็นเตาฟืน ใช้หม้อดินเป็นภาชนะหุงต้ม ถึงก้นหม้อจะดำอย่างธรรมชาติของเตา แต่ข้าวข้างในสุกหอมกรุ่น

อากาศยามเช้านั้นเย็นนัก นอนฟังเสียงน้ำค้างหยดเปาะแปะทั้งคืน ด้วยความเย็นเฉียบทำให้ไม่อยากตื่น นอนคุดคู้อยู่ในผ้าผวยจนแดดออก ถ้าตื่นสายเกินไป ยายจะปลุกขึ้นมากินน้ำข้าวใส่เกลือปะแล่มๆ หนาวๆได้เครื่องดื่มอุ่นอร่อยมันพิเศษจริงๆนะครับ จำได้มาจนเท่าทุกวันนี้ น้ำข้าวจากข้าวไร่ที่ตำด้วยครก ที่เราเรียกว่าข้าวซ้อมมือนั่นแหละ คนอยู่ในป่าไม่มีโรงสีที่ไหนนี่ครับ แต่ก็ได้ข้าวที่มีคุณภาพสุดยอดโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องมาคุยเรื่องข้าวอินทรีย์ให้เมื่อยตุ้ม เพราะสมัยนั้นปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลงเป็นยังไงไม่รู้จัก ..

บางวันยายก็หมกไข่ไก่หมกมันเทศให้เป็นของแถม น้ำข้าวที่เหลือก็เผื่อไปให้แมวและหมา ผมเรียกเล่นๆว่า “กาแฟแมว” หลังจากหมดยุคหม้อดินก็ไม่ได้กินน้ำข้าวอีกเลย ถึงเราจะซดน้ำข้าวต้ม ก็ยังไม่เหมือนน้ำข้าวอยู่ดี ยังสงสัยว่าทำไมถึงรินน้ำข้าวทิ้ง สมัยนี้ไม่ใครหุงอย่างนั้น เมื่อคราวทดลองหุงข้าวหม้อดินกับเตาดาโกต้า อุ้ยสร้อยก็ไม่ได้รินน้ำข้าวออกหรอกนะ รึการหุงข้าวยุคนั้นมีเหตุผลอย่างอื่น

จะถามยาย ยายก็ไปสวรรค์เสียแล้ว

เขียนมาถึงตรงนี้คิดถึงยายเป็นบ้า

ใครมียายขอยืมกอดหน่อยได้ไหมครับ?

ต่อมาหม้ออะลูมิเนียมบุกสวนป่า ถ้าหุงด้วยฟืนหม้อก็จะดำปี๋ เตี่ยให้คนงานเอาตอไม้มาเผาถ่าน เผาถ่านแบบกลบดินครั้งเดียวได้ถ่านปะเลอะใช้ได้ทั้งปี เป็นการพึ่งพาด้านพลังงานได้โดยไม่ยากนัก ..พัฒนาการจากเตาฟืนมาเป็นเตาถ่าน ปัจจุบันมาถึงเตาแก๊ส เตาไฟฟ้า เตาไมโคเว็ป สวนป่าก็บ้าเทคโนโลยีมีกับเขาครบเครื่องนั่นแหละ แต่ถ้าจะนึ่งไก่บ้านใส่ใบแมงลัก แม่หวีจะก่อเตาถ่าน กะน้ำกะไฟให้พอดี ยกตั้งแล้วลืมได้เลย พอถ่านราไฟไก่ก็จะสุกนิ่มอร่อย ไม่ต้องมาตั้งปุ่มอัตโนมัติใดๆ ปุ่มแม่หวีนี่ทรงประสิทธิภาพเหมือนกันนะจิบอกไห่..สรุปว่าที่สวนป่ายังใช้ ฟืน-ถ่าน-แก๊ส-ไมโครเว๊ป ตามโอกาสอันควรนะครับ

(เตาถ่านที่เกิดจากการเรียนรู้จนขนไหม้เหม็นหึ่ง)

เคยคุยกับแม่ครัวหัวป่าส์ เขาบอกว่าทำกับข้าวด้วยเตาถ่าน อาหารอร่อยที่สุด แสดงว่ายังไม่มีเทคนิคอะไรช่วยให้อร่อยล้ำหน้าถ่านของเราไปได้ เมื่อจัดเฮฮาศาสตร์ที่สวน แม่ครัวอบไก่บ้าน30ตัวให้พระอาจารย์ไร้กรอบ วันนั้นไก่หนังกรอบเนื้อนิ่ม พี่น้องชาวเฮที่ได้ชิมคงจะจำได้ว่ามันแซบอีหลียังไง เรื่องนี้ไปตรงกับที่ญี่ปุ่น คนมีกะตังส์จะใช้ถ่านปิ้งย่างปลาไหล คนญี่ปุ่นบอกว่ามันหอมอร่อยและได้บรรยากาศอีกต่างหาก คนชั้นประหยัดแดนอาทิตย์อุทัยใช้เตาไมโครเว๊ป เออ..ทำไมมันตรงกันข้ามกับบ้านเรา

ผมเคยเผาถ่านใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งไปขายญี่ปุ่น ราคาถ่านออกจากเราไปก.ก.ละ8บาท ไปถึงเมืองโอซาก้าราคาประมาณก.ก.ละ250-300บาท ถ่านเพื่อการส่งออกไม่ใช้ทำง่ายๆ มีมาตรฐานยุบยับไปหมด นอกจากถ่านจะสุกดีแล้ว ขนานของไม้ต้องไม่เกิน1-2นิ้ว แต่ละท่อนยาว8นิ้ว บรรจุในกล่องเรียบร้อย มีถุงมือมีเชื้อไฟให้เสร็จสรรพ..

(กลุ่มไม้ใบและกล้วยไม้ที่ทดลองเอาถ่านยูคาฯเพาะเลี้ยง)

มีผู้สงสัยเรื่องคุณภาพของถ่าน ก็ขอเรียนว่าใช้ได้ดีทีเดียวละครับ ในต่างประเทศยังนำไปเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้า เมื่อผลิตถ่านได้เอง สวนป่าจึงมีถ่านใช้ประจำ ในเดือนหน้าเราจะเผาถ่านอีกเตาหนึ่ง ใครอยากจะมาดูการเผาถ่าน หรือมาทำกับข้าวด้วยเตาถ่าน มาเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์เจอแน่ ขาใหญ่ด้านกล้วยไม้เล่าว่า ถ่านยูคาลิปตัสนำไปเลี้ยงกล้วยไม้ได้ดี สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ผมเริ่มทดลองแล้วละครับ

นอกจากชนิดเชิ้อเพลิงและเตาแล้ว เรื่องหม้อหุงต้มก็พัฒนาการตามยุค จากหม้อดินมาเป็นหม้ออะลูมิเนียม เป็นหม้อไฟฟ้าเป็นภาชนะถ้วยแก้วเข้าเว็ปได้ ดูๆไปแล้วเหมือนจะสะดวกสบายๆ จริงๆแล้วก็มีปัญหาเหมือนเงาตามมาทุกเรื่อง สมัยนี้ถ้าไฟฟ้าดับสัก3วัน คนรุ่นใหม่จะหุงข้าวได้กินไหมนะ เพราะเคยชินกับการกดปุ่ม ถ้ากดไม่ได้ จะกดอะไรละทีนี้ นอกจากกดดันตัวเอง..

สมัยที่ปลูกป่าไม้ครั้งแรกๆ หน้ามืดมาไม่มีเงินใช้ก็ตัดไม้โตเร็วขาย สมัยนั้นโรงงานชิ้นไม้สับรับซื้อตันละ500บาท แถมยังคัดเลือกเอาเฉพาะขนาดที่เส้นผ่าศูนย์กลาง2นิ้ว ขึ้นไป เพราะเขาอ้างว่าจะปอกเปลือกง่าย (ชิ้นไม้สับที่นำไปผลิตกระดาษจะต้องเอาเปลือกออกเสียก่อน) ปลายไม้ที่ไม่ได้ขนาดทิ้งเกลื่อนเต็มพื้น เห็นแล้วน้ำตาตกใน กว่าจะปลูกได้แต่ละต้นแสนลำบาก อีตอนขาย ขายทิ้งขายขว้าง บ้าชะมัดเลย ..

ผมเสียดายปลายไม้ที่ตัดทิ้งตัดขว้าง

นอนก่ายหน้าผากอยู่นาน

สุดท้ายตัดสินใจเผาถ่านดีกว่า

แต่ความรู้เรื่องเตาถ่านอยู่ที่ไหนละ

ก็ต้องถามผู้รู้ ผู้สันทัดกรณี

ได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพระดับชาวบ้านจนถึงนักวิชาการ

นอกจากคำบอกเล่าแล้ว ผมไม่มีตำราการสร้างเตาเผาถ่านในมือ

ไม่มีเวลาตระเวนไปหาความรู้เหมือนเมื่อก่อน

ผมจึงลงมือชวนลูกน้องพวกขุดบ่อนั่นแหละมาลุย

เจ้าประคุณเอ๋ย เตาแตกเตาระเบิด 10 ครั้งได้

ควันตะหลบไปทั้งสวนลอยไกลไปหลายกิโล

ขนแขน ขนคิ้ว ขนตา ไหม้ไม่มีเหลือ

นอนเหม็นกลิ่นไหม้ตัวเองทั้งคืน

ไปนอนใกล้ใคร! เขาก็ไล่! ให้ไปนอนที่อื่น!


(เสาต้นนี้มีร่องรอยตอนเตาพังไฟไหมลามไปที่เสาโรงหลังคา)

ผมเป็นคนเอาถ่านเพราะเหตุนี้ละครับ ทำเตาแตกเตาพังมานับไม่ถ้วน มีตั้งแต่เอาไม้มากองเป็นรูปเตาแล้วเอาดินเหนียวโป๊ะ ก็พังอีก เอาไม้ไผ่มาทำโครงเอาดินเหนียวโป๊ะ ก็พังอีก เอาเหล็กรัดทำโครงเตา เผาแล้วก็พังอีก จ่ายค่าโง่มากจนเหงื่อตกไม่รู้กี่ครั้ง ถามว่าท้อไหม อยากจะเอาชนะความไม่รู้มากกว่า..ผมวนเวียนอยู่กับการทดลองสร้างเตาให้แข็งแรงอยู่หลายปี มาถอนใจเฮือกได้ก็ตอนเจ้าหน้าที่การพลังงานฯมาแนะนำให้สร้างเตาเผาถ่านด้วยอิฐ หลังจากนั้นก็พัฒนาการให้เตาใหญ่ขึ้นตามความรู้ มีความรู้มากก็ทำเตาให้ใหญ่มากได้ ที่ผ่านมามีความรู้แค่หางอึ่งแต่อุตริจะทำเตาขนาดเป้งๆมันก็พังพินาศนะสิครับ แสดงว่าสัดส่วนของความรู้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของทักษะชีวิต ตราบใดที่ไม่ใช่พหูสูต ก็ต้องเรียนแบบพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ

(ลักษณะเตาที่อยู่กึ่งใต้ดินที่เอามาปรับปรุงเป็นบ้านใต้ดินได้)

ถามว่า ปัจจุบันนี้ยังเผาถ่านเพื่อการส่งออกไหม ขอเรียนว่าเลิกไปแล้วครับ

สาเหตุ เพราะไม้ขาดแคลน โรงงานรับซื้อทุกขนาด ราคาก็สูงขึ้น อนึ่ง การเผาถ่านแต่ละครั้งจะมีควันบ้าออก ถึงพืชจะชอบ และได้น้ำควันถ่านมาบำรุงพืช แต่ควันพิษเหล่านี้ก็ทำลายสุขภาพเราได้ จึงเผาที่จำเป็น เลือกเอาอากาศสะอาดสดชื่นไว้ก่อนดีกว่านะครับ

ถามว่า เตาที่สร้างไว้ใหญ่โตจำนวนมากละจะทำอะไร แหมเรื่องนี้ละครับที่ทำให้คันในหัวใจยิ่งนัก ถ้ามีโอกาส ผมอยากจะปรับปรุงเตาถ่านที่ว่านี้ โดยการฉาบภายในใหม่ ปูพื้นกระเบื้องใหม่ ต่อท่อลมหมุนเวียน ทำประตูใหม่ ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพียงเท่านี้สวนป่าก็จะมีบ้านใต้ดินสุกเก๋ไก๋ไว้ต้อนรับชาวเฮแล้วละครับ

ถามว่า จะนอนได้สะดวกหรือ บ้านใต้ดินที่ว่ากว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เมตร สูง5 เมตร แต่ละเตาใช้ไม้6รถหกล้อใส่ถึงเต็ม เผาออกมาได้ถ่านหนึ่งรถ10ล้อ ปริมาณเนื้อที่เท่ากับห้องขนาดย่อมเลยละครับ นอนหน้าหนาวได้สบายๆ4 ชีวิต ถ้าปรับปรุงครบทั้ง5 จุด จะรับรองแขกที่บ้านใต้ดินได้10-20 คน

การปรับปรุงเพื่อให้ดูแปลกและใช้ประโยชน์เต็มที่ ผมจะรื้อหลังคาออก สั่งดินด่านเกวียนมาฉาบ แล้วเอาฟางคลุมจุดไฟให้เนื้อดินเหนียวสุก เราก็จะได้หลังคาบ้านดินที่สมบูรณ์แบบ ปลูกไม้ดอกหอมคลุม บริเวณรอบๆก็ทำที่นั่งเล่น แค่นี้เราก็จะมีบ้านกึ่งใต้ดินแห่งแรกในไทยแลนด์แล้วละครับ

หมายเลขบันทึก: 331837เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2010 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

...ทำเลยค่ะอยากไปนอน..จะไปช่วยฉาบด้วย..อย่าให้คอยนานยายเป็นไม้ไกล้ฝั่ง..อิอิ

แค่นี้เราก็จะมีบ้านกึ่งใต้ดินแห่งแรกในไทยแลนด์

แล้วก็จัดงาน UNSEEN สวนป่า เฮฮา...ขึ้น

ถ้าทำบ้านในฝันเสร็จครูป.1 ต้องจ่ายบัตรคิว แล้วละครับ

บ้านกึ่งใต้ดินน่าทึ่งมากเลยนะครับ

สมัยเด็กผมยังโชคดีทันกินน้ำข้าวครับ

ขอบพระคุณครับ...

นึกภาพออกค่ะ เวลาหม้อก้นดำปี๋ ขัดยาก ต้องใช้ขี้เถ้า กับแรงหลายๆ จึงจะออก

คืนนี้เปลี่ยนที่นอนอีกแล้วใช่ไหมคะ ฝันดีค่ะพ่อครูขา พรุ่งนี้พระจันทร์เต็มดวง   

-vgเป็นกำลังใจให้ครับ คนไทยเก่งที่สุด

ชอบมากเลยครับ รู้จักคุณลุงจากผลงานมานาน

ช่างมีคุณค่าสำหรับทุกคน


นึกขึ้นได้ว่าที่อาจารย์เขียนแล้วอดขำไม่ได้ แต่ว่า ออกจะน่าสงสารหน่อย

นอนเหม็นกลิ่นไหม้ตัวเองทั้งคืน

ไปนอนใกล้ใคร! เขาก็ไล่! ให้ไปนอนที่อื่น!


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท