ตราบาป


ผมมีบาปติดตัวหลายเรื่อง บางเรื่องก็ค้างคาใจแกะไม่ออก บางเรื่องก็คลี่คลายได้อย่างเหลือเชื่อ วันนี้ตั้งใจว่าจะเว้นวรรคให้ตัวเองสัก 24 ชั่วโมง จะไม่หาเหาใส่หัว จะอยู่เฉย ๆ อ่านหนังสือ-ดูทีวี-รดน้ำต้นไม้ ..บ่ายแก่ ๆ มีรถเก๋งวิ่งเข้ามาช้า ๆ ..เอา อีกละหนอ ใครมาละทีนี้ โผล่หน้าออกไปรับ เจอสตรีตัวเล็ก นุ่งผ้าไหมใส่เสื้อสวยเรียบร้อยเหมือนคนชนบทจะไปวัด เปิดประตูรถเดินมายกมือไหว้ ..เฮียจำหนูได้ไหม คลับคล้ายคลับคลานะ แต่นึกชื่อไม่ออก หนูชื่ออึ่งไง เออจำได้แล้ว ไปยังไงมายังไงกันละนี่

เธอรีบรายงานชีวประวัติฉบับสายฟ้าแลบ

หนูไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ

มีลูกชาย 2 คน

เจ้าคนโตจะเอาเมีย

จะมาขอซื้อวัวเฮียไปจัดงาน

 

จะแต่งวันไหนละ

วันที่ 23 จ้า

เฮียขายวัวให้หนูได้ไหม

ได้ ๆ ๆ ..

เจ๊ไปไหน

เขาก็ไปแต่งงานน้องชายที่เพชรบูรณ์

เอาไว้เจ๊กลับ มาตกลงราคากับเขานะ

จบเรื่องวัวก็หันมาเรื่องคน เจ้าอึ่งเดินมาจับแขนเขย่า เฮียสบายดีใช่ไหม ดูยังเหมือนเดิม ยังไม่แก่เลย ตอนหนูนั่งรถมายังภาวนาว่าขอให้เจอเฮีย แล้ววันนี้ก็ได้เจอจริง ๆ  หนูดีใจมาก พวกหนูไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไอ่พร ไอ่น้อย ไอ่แหล่ฯลฯ เจอหน้ากันก็จะเล่าความหลัง พากันถามถึงเฮียบ่อย ๆ  ทุกคนต่างก็บอกว่าไม่ได้เจอเฮียมาเป็นเวลา 10-20 ปีแล้ว อย่างหนูนี่ไม่เจอเฮียมา 25 ปี นาน ๆ จะกลับมาบ้านหนองแคน ตอนแรกก็ไปเป็นคนใช้เขา รับจ้างสารพัด ต่อมาเลื่อนเป็นลูกมือ ตอนนี้มีกิจการตนเอง กลายเป็นคนไม่มีเวลาเหมือนคนกรุงเทพแล้วแหละเฮีย ..นึกในใจใช่เลย คนกรุงเทพไม่มีเวลา ใช้ชีวิตอยู่บนถนน ยุ่งอยู่กับไฟเขียวไฟแดงทั้งปีทั้งชาติ

ขอท้าวความไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว การทำสวนสมัยโน้นจะไม่มีเครื่องจักรเครื่องทุนแรงใด ๆ   ไถสวนก็ยังใช้ควาย ต้องเลี้ยงควายไว้ฝูงใหญ่ประมาณ 20 กว่าตัว การปลูก การดายหญ้า การเก็บเกี่ยว ใช้แรงงานคนล้วน ๆ  สมัยนั้นจะปลูกถั่วลิสง ปลูกนุ่น ปลูกข้าวฟ่าง ปลูกข้าวโพด ปลูกปอ ต่อมาปลูกมันสำปะหลัง แล้วมาจบที่ปลูกยูคาลิปตัสและไม้อื่น ๆ ในเนื้อที่ประมาณ 5-600 ไร่ จึงมีงานรองรับคนทั้งหมู่บ้านตลอดปื ชาวบ้านกับที่สวนผูกพันกันมาก ตั้งแต่สมัยพ่อแม่จนกระทั้งมาถึงรุ่นลูก รวมทั้งเจ้าอึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นชั้นลูกแล้ว

หนองแคน เป็นหมู่บ้านขนาดย่อม มีครัวเรือนประมาณ 40 หลังคา ระยะทางห่างจากสวนประมาณ 4 ก.ม. เช้า ๆ จะมีคนงานเดินทางด้วยเท้ามาถึงสวนป่าเวลา 8.00 น. หลัง จากพักเหนื่อยครึ่งชั่วโมงก็จะลงทำงาน เที่ยงครึ่งหยุดพักกินข้าว ชาวบ้านก็จะห่อข้าวมาล้อมวงกินกัน กับข้าวสมัยนั้นไม่มีอะไรมาก จะเป็นน้ำพริกผักลวก แจ่วบอง เขียดปิ้ง ไข่หมก บ่าย4โมง เลิกงาน พวกเขาก็จะรีบเดินทางกลับ ไปหุงหาอาหาร เก็บผัก เก็บฟืน อาบน้ำ กินข้าวกินปลาจวนมืดค่ำพอดี ไม่มีไฟฟ้าหรอกนะ จุดตะเกียงน้ำมันก๊าชวอม ๆ แวม ๆ  อิ่มแล้วก็เข้านอน ตื่นแต่เช้าหุงข้าวแล้วรีบมาทำงาน เป็นวงจรอยู่เช่นนี้เรื่อยมา

แต่ละวันจะมีหนุ่มสาว25-30คน เดินเป็นแถว สวมหมวกแบกจอบสะพายกระติบข้าวกันทุกคน เรื่องแบกจอบนี่นับว่าประหลาดมาก เคยบอกว่ามันหนักเก็บไว้ที่สวนนี่แหละ มันไม่หายไปไหนหรอก แต่ไม่มีใครยอมทำตาม ต่างคนต่างแบกจอบไปกลับทุกวัน เขาให้เหตุผลว่า..ถ้าเดินมาตัวเปล่าก็เหมือนไปเที่ยวเล่น หรือไปงานบุญ ถ้ามาทำงานก็ต้องแบกเครื่องมือมา

ด้วยเหตุนี้เราจึงใช้คนงานในหมู่บ้านเดียวเป็นประจำ ทำให้เกิดความผูกพัน รู้จักนับถือเป็นพี่ป้าน้าอากันหมดหมู่บ้าน ไหว้วานขอความช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย เช่นบางทีงานเร่งขอร้องให้มานอนทำงานกลางคืนเขาก็จะมากัน เป็นหมู่บ้านที่ขยันขันแข็งมาก มีวินัยเชื่อฟังหัวหน้า ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและมีน้ำใจ มีผลหมากรากไม้เขาก็จะติดไม้ติดมือมาฝากผมประจำ คนงานสาว ๆ บางคนทอผ้าขาวม้า ผ้าห่ม ผ้าโสร่งมาให้ แสดงน้ำใจไมตรีมิเคยขาด

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2522 พวกไอ่อึ่ง ไอ่ไพ ไอ่นาง ยังเป็นสาวซำน้อยอายุประมาณ 14-15 ขวบ แบกจอบมารับจ้างทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกพี่ป้าน้าอากันแล้ว เด็กตัวเล็กๆ พวกนี้แข็งแรงทรหดหนักเอาเบาสู้ บางวันอากาศร้อนๆ  พากันขุดมันสำปะหลังเหงื่อไหลไคลย้อย หน้าแดงเป็นตำลึงสุก ค่าแรงสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ววันละ 12 บาท ขึ้นมาเป็น20-30-40 บาท ปี 2522 วันละ 45 บาท ทุกวันนี้จ้างวันละ 200 บาท

หมู่บ้านนี้จะมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ พวกลูก ๆ จะไม่ให้พ่อบ้านมารับจ้างทำงาน ลูกเมียจะยอมแบกภาระรับเลี้ยงดูครอบครัว พวกพ่อบ้านส่วนใหญ่จะอยู่บ้านดูแลวัวควายและไร่นา หรือไม่ก็ทำงานช่างไม้ จักตอก จักสาน เลี้ยงเป็ดไก่ เว้นแต่ถ้ามีงานเร่งด่วนจริง ๆ  เราต้องการเกณฑ์คนมาช่วยงานให้ทันฤดูกาล พวกผู้ชายพ่อบ้านก็จะมาตามคำร้องขอ

เมื่อ 25 ปี ที่แล้ว ทางราชการตัดถนนดินเข้าไปในหมู่บ้าน ผมซื้อรถปิคอัพคันแรกไว้วิ่งรับส่งคนงาน ไปรับ-ส่งทุกวัน เนื่องจากไม่ใช่ถนนลงหินลูกรัง ช่วงฤดูฝนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อโคลน บางทีรถวิ่งลงถนน แต่คนงานพวกนี้แข็งแรง รถไถลลงข้างทาง พวกเขาก็จะออกแรงยกรถมาตั้งบนถนนให้วิ่งต่อไปได้ ไม่ต้องง้อแม่แรงใด ๆ

ตอนขา ไปไม่มีปัญหาเพราะมีแม่แรงคน แต่ตอนขากลับนี่สิครับ ผมขับมาคนเดียวใจตุ๊บ ๆ ต๋อม ๆ  ถ้ารถเป๋ลงถนนจะทำยังไง ได้แต่บอกว่าอย่าเพิ่งเข้าบ้านนะโว้ย คอยเลียวหลังดูเฮียด้วย เขาให้เจ้าเด็กหนุ่มคอยปีนต้นไม้ดู ถ้าได้ยินเสียงแตรรถ หรือเห็นรถไถลลื่นให้รีบออกมาช่วยกันหิ้วรถขึ้นถนน ผมจะใช้วิธีย้ำคันเร่งเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ให้รถวิ่งไปได้เรื่อยๆ ประกอบกับไปมาบ่อยรู้จักจุดอ่อนแต่ละแห่ง บางแอ่งที่สาหัสมาก ๆ ก็ให้คนงานหาเศษไม้ไปรองร่องลึกไว้

เรื่องบาปทางใจมาเกิดขึ้นในปี 2522 ผม ตัดสินใจเลิกปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวทุกชนิด หันมาปลูกต้นไม้อย่างเดียว ช่วงนั้นชาวบ้านมาเพาะมาปลูกต้นไม้ ทุกคนต่างแสดงอาการหงอยเหงา เขาคิดว่า..ถ้าที่สวนปลูกต้นไม้เต็มก็จะไม่มีงานอะไรให้ทำ เมื่อไม่จ้างก็ไม่รู้จะไปทำงานที่ไหน เราอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลา 30-40 ปี คิดแล้วก็ใจหาย

บางวันพวกเด็กสาวๆ กอดกันร้องไห้

พวกผู้ใหญ่ก็หน้าตาไม่เสบยเอาเสียเลย

ไม่มีเสียงหัวร่อต่อกระซิกกัน

ผมเองก็ระทมทุกข์ไม่แพ้กัน

แต่เมื่อคิดแล้วก็ต้องทำ

ถ้าขืนปลูกพืชล้มลุกต่อไป ผมก็คงจะล้มลุกคลุกคลานอยู่ท่ามกลางสายลมและแสงแดดแผดร้อน ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ไม่ว่าจะขั้นตอนไหนล้วนถูกรีดไถเอาเปรียบสารพัดวิธี แม้กระทั้งเดี๋ยวนี้ ชาวไร่ชาวนาต่างถูกกระทำให้อ่อนแอเหมือนกบถูกหักขา ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต มาตรการต่าง ๆ ล้วนเหน็บมีดอีโต้ไว้ข้างหลังทั้งสิ้น บาปกรรมมันมีจริง ที่เกิดม๊อบเย๊ว ๆ กันมากขึ้น ๆ ในทุกวันนี้ สาเหตุหนึ่งเกิดความเลื่อมล้ำทางสังคม จากการที่ชาวไร่ชาวนาถูกรีดเลือด เมื่อมีคนมาชักจูงให้เรียกร้องหาความชอบธรรม เรื่องมันจึงบานปลายกระทบไปถึงระบบขี้โกงทั้งหลาย

อาชีพ ทางการเกษตรเป็นที่พึ่งไม่ได้แล้ว ชาวบ้านต้องเสี่ยงทุกอย่าง แต่ผลกำไรตกไปอยู่กับคนที่ไม่ต้องเสี่ยงอะไร คอยรับซื้อเอากำไรอย่างเดียว ผลผลิตมีมากก็กดราคา ปีไหนผลผลิตเสียหายก็ขึ้นราคา บางทีก็ปั่นเล่นตลกไปมา ถ้าพันธุ์สัตว์ขึ้นราคา อาหารสัตว์ก็ลงราคา สลับกันไปมาอยู่อย่างนี้ เพื่อคุมกำเนิดอาชีพชาวบ้านให้ตกเป็นเบี้ยล่าง พวกลูกไก่ในกำมือจะไปสู้ยักษ์ใหญ่ได้อย่างไร เมื่ออาชีพโดนยึดไปหมดเช่นนี้ เกษตรกรจึงเปลี่ยนไปเป็นกรรมกรหมดหมู่บ้าน

เห็นหน้าเจ้าอึ่งวันนี้

ผมสบายใจขึ้นมาก

ตราบาปที่เคยทำไว้กับหมู่บ้านนี้

คลี่คลายไปได้ด้วยตัวมันเอง

ชาวบ้านหนองแคนเป็นนักสู้

มีวินัย ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ ประหยัดอดทน

เมื่อไปทำงานกับชาวกรุงเทพคนไหน

เจ้านายต่างชื่นชมทั้งนั้น

ทุกคนได้ดีเพราะความดีของเขาเอง

ผมเห็นแววดีตั้งแต่เด็ก ๆ มาแล้ว

วันนี้ลูกน้องเก่าต่างมีฐานะมั่นคง

มีรถเก๋งขี่ ใส่ทองเต็มคอเต็มแขนมาอวด

จึงดีใจกับโชคชะตาของเด็ก ๆ เหล่านี้

ส่วนอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น

ก็แล้วแต่พระยามเทวาธิราชจะทรงบันดาลเถิดขอรับ

หมายเลขบันทึก: 339000เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 04:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อรุณสวัสดิ์ค่ะพ่อครูขา

อ่านแล้วอิ่มยิ้มพิมพ์ใจ หนูว่าแม่นบ่ ตราบาป น่าสิเป็น หนี้รัก เด้อค่ะ

เมื่อวานส่งโปสการ์ด กรุยทางไปดูก่อนว่าจะถึงสวนป่าหรือไม่ค่ะ ;)

ไว้เจออะไรแปลกๆ แล้วจะส่งไปบรรณาการเด้อค่า ส่งใจไปนำก่อน อิ อิ

เรียนท่านครูบา สุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์

คนเราต่างก็มีทั้งตราบาปและตราบุญใช่ไหมครับ...

สวัสดีค่ะพ่อครู รับทราบชะตากรรมของอาชีพเกษตรแล้วเศร้าใจลึกๆนะคะ

ยังบ่ได้รับของที่ Poo ส่งมา

เป็นเมล้ดผักหรือเปล่า

naree suwan

เกษตรกรมีทั้งที่ประสบผลสำเร็จ และท้อถอย

อยู่ในช่วงปรับตัวขนานใหญ่

ใครเรียนรู้ได้รวดเร็วก็รอดตัวไป

ปากกัดตีนถีบไปเรื่อยๆ

พ่อครูบาขา

อนาคตข้างหน้า  ทำไมไปยกให้พระยามเทวาธิราชทรงบันดาลล่ะคะ  555

...ตราบาป..กับ ตราสังข์...คล้องจองกัดีนะคะครูบา...อิอิ..ยายธีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท