แผ่นดินบก


แคว้นสทิงพระ เกิดขึ้นในบริเวณรอบๆทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอหัวไทรลงมาคลุมพื้นที่ทั้งหมดในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแคว้น คือบริเวณที่เรียกว่า“แผ่นดินบก” เริ่มตั้งแต่เขตอำเภอระโนด ผ่านสทิงพระ มายังหัวเขาแดงในเขตอำเภอสิงหนคร คนรุ่นเก่าๆในท้องถิ่นมักเรียกบริเวณที่เคยเป็น เกาะสทิงพระ นี้ว่า “แผ่นดินบก”

แผ่นดินบกบนแคว้นสทิงพระ

                  คว้นสทิงพระ เกิดขึ้นในบริเวณรอบๆทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอหัวไทรลงมาคลุมพื้นที่ทั้งหมดในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแคว้น คือบริเวณที่เรียกว่า“แผ่นดินบก” เริ่มตั้งแต่เขตอำเภอระโนด ผ่านสทิงพระ มายังหัวเขาแดงในเขตอำเภอสิงหนคร

    แคว้นนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญ เพราะเรือจากต่างประเทศสามารถแล่นเรือผ่านเข้าไปจอดตามเมืองต่างๆที่อยู่รอบทะเลสาบได้ บริเวณชุมชนที่สำคัญในระยะแรกๆคงอยู่ตามสันทรายแถวปากคลองจะทิ้งหม้อทางด้านทะเลสาบ มากกว่าด้านตะวันออกที่ติดกับอ่าวไทย ร่องรอยของโบราณวัตถุและโบราณสถานชี้ให้เห็นว่า แคว้นนี้ในระยะแรกๆนับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยหลังๆลงมามีการนับถือศาสนาพุทธ พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่หัวเขาแดงผ่านอำเภอสทิงพระไปจนถึงอำเภอระโนด  ตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปจนถึงทวารวดีเป็น “เกาะ”มีชื่อเรียกเกาะนี้หลายชื่อ “เกาะใหญ่”ก็เรียก “เกาะบก”ก็เรียก “เกาะสทิงพระ”ก็เรียก บ้างก็เรียกว่า “เกาะปะการัง” และฝรั่งเขียนในแผนที่ว่า “เกาะแทนทาลั่ม”

     ในสมัยศรีวิชัยเกิดเป็นท่าเรือหลายแห่ง ทำให้ต่อมามีการสร้างบ้านแปลงเมืองเกิดขึ้น โดยมี “เมืองสทิงพระ”เป็นเมืองท่าและเป็นศูนย์กลางของบ้าน และเมืองในท้องถิ่น โดยมีศาสนสถานทั้งพราหมณ์ และพุทธอยู่มากมาย

      ในสมัยอยุธยาประมาณรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้มีการจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นที่อาศัยวัดเป็นกลไกในการปกครอง โดยการสถาปนาวัดใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางทั้งด้านการปกครอง และพิธีกรรมทางศาสนาให้ดูแลบรรดาวัดน้อยใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนในระดับหมู่บ้านและเมืองเล็กๆ (ดังแสดงในแผนที่แสดงเขตกัลปนาวัดบนเกาะสทิงพระในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ว่าเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ทางกรุงศรีอยุธยาทรงสถาปนา “วัดพะโคะ” ให้เป็นศูนย์กลาง แล้วพระราชทานที่ดินกัลปนาให้แก่บรรดาวัดทั้งเก่าและใหม่ ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนให้อยู่ภายใต้การดูแลของ วัดพะโคะ และเลื่อนบรรดาศักดิ์ของเจ้าอาวาส วัดพะโคะ จากการเป็น พระครู ของพระสงฆ์ฝ่ายลังกาชาด ให้เป็น สมเด็จพระราชมุนี ดังมีตัวอย่างให้เห็นว่า หลวงปู่ทวด นับเป็น พระราชมุนีองค์หนึ่งที่ปกครองวัดและบ้านเมือง บน “เกาะสทิงพระ” นี้

  ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง เกาะสทิงพระ มีความสำคัญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คือมีพ่อค้าชาวอาหรับสร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณหัวเขาแดง เป็นเมืองท่าที่เรียกกันว่า เมืองสงขลา แล้วตั้งตัวเป็นอิสระ แต่ถูกปราบปรามได้ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับแต่นั้นมาบรรดาบ้านเมืองบนเกาะนี้ ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองและดูแลของ เมืองพัทลุง ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ขณะเดียวกันการทับถมของโคลนตะกอนและทราย โดยการกระทำของคลื่นลม ทำให้แผ่นดินงอกเพิ่มออกไป เปลี่ยนสภาพเกาะให้กลายเป็น คาบสมุทร ที่เรียกกันว่า “คาบสมุทรสทิง”

    คนรุ่นเก่าๆในท้องถิ่นมักเรียกบริเวณที่เคยเป็น เกาะสทิงพระ นี้ว่า “แผ่นดินบก”

 วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนบนแผ่นดินบกหรือคาบ“สมุทรสทิงพระ”จะมีความผูกพันกับ โหนด นา เล  ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนนานนับพันปี จวบจนถึงปัจจุบัน และวิถีโหนดถือว่าเป็นวิถีอาชีพที่สำคัญ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน "โหนด" บนแผ่นดินจึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของคนแถบถิ่นนี้ ทั้งยังนับได้ว่าเป็น "มรดกของชุมชน" ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมเอาไว้ให้ด้วยภูมิปัญญา

 วิถี โหนด

ตาลเอ๋ยตาลโตนด               มากประโยชน์สุดอธิบายมีหลายสิ่ง

คน’ทิ้งพระลึกซึ้งได้พึ่งพิง                เป็นความจริงพิสูจน์ได้หลายประเด็น

ตอนนี้’โหนดยังอยู่อย่างไร้ค่า           หลายคนพามองข้ามไม่แลเห็น

ช่วยกันคิดเพิ่มค่าไม่ยากเย็น            สร้าง’โหนดเด่นอีกคราน่าภูมิใจ

 

สภาพทั่วไปบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ

       บนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของจังหวัดสงขลา ประกอบกันขึ้นเป็นพื้นที่หลายส่วนนั้น บนพื้นที่ ที่ซึ่งมีความสำคัญ ลักษณะที่แตกต่างจากพื้นดินส่วนอื่น  ลักษณะคล้ายแหลมยื่นยาวมาจากพื้นดินแผ่นใหญ่ที่มีน้ำล้อมรอบ  ๓ ด้านโดยมีทะเลสาบด้านตะวันตกและทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออก คือ พื้นที่ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสำคัญของจังหวัดสงขลาเรียกกันว่าคาบสมุทรสทิงพระ ปัจจุบันคือ ที่ตั้งของ ๔ อำเภอ คือ  อำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด  อำเภอกระแสสินธุ์  และอำเภอสิงหนคร บนเนื้อที่ ที่มีความยาว ๗๐  กิโลเมตร  และความกว้างประมาณ ๕-๑๒ กิโลเมตร ของแผ่นดินแห่งนี้มีหลักฐานทางธรณีวิทยาบอกให้รู้ว่า ประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้วได้เกิดการทับถม ของพื้นทรายขึ้นเป็นแผ่นตรงชายฝั่งอ่าวไทย เชื่อมต่อเข้าด้วยกันกับแผ่นดินใหญ่ให้เป็นลักษณะของแผ่นดินที่เกิดใหม่ อันทำให้เกิดขึ้นของทะเลสาบน้ำเค็มอยู่ภายใน เมื่อน้ำคลองไหลลงมาผสมในน้ำเค็มเป็นน้ำกร่อยนั้นได้พัดเอาโคลนตมตะกอนดินก่อเกิดงอกเงยเป็นพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ และได้เป็นบริเวณหนึ่งกลายเป็นแหล่งอพยพของชุมชนจากฟากแผ่นดินใหญ่ ๓ฟากคือ บริเวณด้านเหนือ ตอนใต้ของด้านริมทะเลสาบฝั่งตะวันออกเข้ามาอาศัยรวมเป็นกลุ่มชนขึ้น เชื่อกันว่าก่อนที่จะกลายเป็นแผ่นดินที่มีน้ำอยู่ภายใน ได้มีชนเผ่ายุคก่อนประวัติศาสตร์โบราณอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ตามพื้นที่เขา ที่มีความเจริญ รู้จักทำเครื่องมือหินขัด เครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายและรู้จักการเกษตร สัณนิษฐานว่าคือ ชุมชนเผ่ามองโกลอยด์ทางใต้ซึ่งอยู่ประจำถิ่นเป็นหลักแหล่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของวัฒนธรรมหินใหม่ในยุคโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้มีการพบโครงกระดูกและหม้อ ๓ ขาสายเชือกทาบ เช่น บริเวณถ้ำเขารักเกียรติในท้องที่อำเภอรัตภูมิ และถ้ำเขารูปช้างอำเภอสะเดา อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ถ้ำเหล่านี้ได้พากันโยกย้ายเสาะหาแหล่งอุดมสมบูรณ์เข้ามาใกล้แหล่งน้ำใหญ่ ซึ่งได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นชุมชนชาวน้ำที่น่าจะเป็นชุมชนชาวถิ่นแรกเริ่มที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ อพยพเข้ามาอยู่อาศัยบนพื้นดินคาบสมุทรสทิงพระซึ่งจะเห็นได้ถึงหลักฐานพบที่บ้านพลีควาย ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ คือขวานหินซึ่งเป็นเครื่องมือมนุษย์โบราณก่อนประวัติศาสตร์อายุประมาณ  ๓,๐๐๐ ปี กาลเวลาต่อมา เมื่อได้มีการผสมปนเปเข้ามาของคนกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่มที่ได้เร่ร่อนเสาะหาแผ่นดินใหม่เข้ามาตั้งตั้งหลักแหล่ง เช่น ชนเผ่าอินโดนีเซียซึ่งเป็นชาวเลมีวัฒนธรรมทางน้ำจากหมู่เกาะคาบสมุทรมลายู หรือ กลุ่มมอญ กลุ่มขอม ที่ต่างก็ได้เคยเข้ามามีอิทธิพลอยู่บริเวณนี้มาก่อน จนเข้าถึงยุคการเดินเรือเข้ามาขึ้นฝั่งของพ่อค้า นักบวช จากฟากตะวันตก อินเดีย ศรีลังกา เปอร์เซีย จึงได้เกิดชุมชนขึ้นเป็นเมืองท่าของแหล่งโบราณคดีคาบสมุทรสทิงพระ

   ด้วยเหตุนี้ หากกล่าวถึงดินแดนส่วนที่เรียกว่าคาบสมุทรสทิงพระแล้ว แม้จะมีพื้นที่เล็กเกินกว่าจะเรียกในทางภูมิศาสตร์ได้ก็ตาม แต่หากคาบสมุทรในที่นี้คือความหมายของแหล่งโบราณคดีด้วยพื้นที่ใหญ่ แหล่งของการสำรวจที่สำคัญ ถึงเรื่องราว และประวัติความเป็นมาของชุมชนโบราณต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้อนกันหลายสมัย จากการก่อกำเนิดของชุมชนเมืองในยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระเรื่อยมา เป็นชุมชนโบราณเกิดขึ้นหลายยุค และยืนยันให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองมาแต่ก่อนได้นั้น เมื่อนับศาสนโบราณสถาน  หลักฐานหนึ่งของโบราณคดีที่ยืนยันให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองมาแต่ก่อนได้นั้น ก็ยังกล่าวได้ว่ายังคงอยู่หลายแห่ง แต่สภาพตามเงื่อนไขเวลาที่ได้มีการแต่งเติมตามกาลเวลาของยุคสมัย

หมายเลขบันทึก: 463775เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาเยี่ยมเยือนครับ

 

จะอยู่ในกะลาทำไม

เราไม่ใช่กบ

รวบรวมความกล้า เชิดหน้ามองโลก

เผชิญสุขทุกข์โศก

มองโลกอย่างศรัทธา เอย

 

ขอบคุณครับอาจารย์ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยๆ

ครูครับ......

วันนี้ขึ้นมากินกาแฟสดที่เขาค้อ ด้วยกลุ่มเกษตรกรกลางจังหวัดพัทลุง เขาชวนมาคุยเรื่อง งบประมาณการช่วยเหลือกลุ่มเกษตร เป็นเหตุให้เดินทางไกล

ควน เขา ป่า นา เล เป็นวิถีคนบ้านเราที่งดงาม อย่างสมดุลย์ แต่คนรุ่นหลังปรับจนเสียสมดุลย์

"เอาส้มเกียบมาจากเขาจากป่า เอาปลาโอนมาจากนา เอาเกลือมาจาก เล แล้วต้มส้มปลาโอน....ฮายนี้แหละคือสมดุลย์ทางธรรมชาติ

วิถีแบบพึ่งพาเอื้อเฟื้อหายากแล้ว

แรกก่อนคนเลน้อยเอาปลาไปแลก ตอดอง ...เขาบอกเป็นกลอนว่า

"พ่อ อี้สาวนุ้ยนู้ใครเดินหลังไวไวไปหมะนี้

ลูก อ้อ..ไม่รู้ใครพ่อเหอ ใส่ฟันทองสองซี่เขามาจากเลน้อยเดินมาค่อยค่อย เขามาขอโลกตอดอง"

วัฒนธรรมเพื่อนเกลอของคนแต่แรกทำให้เกิดภูมิปัญญาของเกลอเขา ที่ลงมาหาเกลอเล ผ่านเกลอนา เขาของดีที่มีอยู่ในควนในเขาลูกเนียง ลูกตอ หน่อไม้ หวาย เคี่ยม เพาะเม่น เพาะค่าง เขี้ยวหมูป่า ยาสมุนไพร ฯลฯ เท่าที่แบกที่พายมาได้ พามาฝากเกลอนาเกลอเล ขาหลบ แบกเคอย ปลาแห้ง แมงดา ดุกร้า ปลาเค็ม หลบขึ้นควน นอกจากลงมาเยี่ยมมาเยือนแล้วยังมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหารการกินที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น แกงน้ำเคอยยอดหวาย,น้ำชุบโจร,น้ำชุบยอดทำมัง(แทนแมงดาของไอ้เกลอนาที่ให้มา)น้ำชุบลูกปริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท