มหากาพย์แห่งความดี


ช่วงนี้พอติดตามข่าวสารบ้านเมืองเราจะเจอแต่เหตุการณ์คนดีรบราฆ่าฟันกับคนดี ไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่มีฝ่ายชัดเจนว่าด้านหนึ่งเป็นคนดี ส่วนอีกด้านคนดีบอกว่าเป็นคนเลว เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นได้ชัดๆ ภายในเวลาสั้นๆ ว่าความดีที่แท้จริงนั้นไม่สามารถวัดได้จากคำบอกกล่าวของเจ้าตัว เพราะใครก็ต่างคิดว่าตัวเองเป็นคนดีทั้งนั้น

ผมมีบทเรียนสอนตัวเองอยู่เสมอว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมเจอคนที่พยายามบอกผมว่าเขาเป็นคนดี ผมจะไม่ค่อยเชื่อ เพราะส่วนใหญ่คนแบบนั้นจะกลับกลายเป็นคนที่มีความไม่ดีมากกว่าความดี แต่เป็นคนไม่รู้จักตัวเองเพราะเห็นแต่ส่วนที่ตัวเองคิดว่าดี ในขณะเดียวกันคนที่ผมคิดว่าดีโดยส่วนใหญ่กลับเป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจว่าตัวเองเป็นคนดีหรือเปล่า เพราะเขาเห็นทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีของตัวเอง และมักอยู่ในช่วงเวลาของการปรับตัวในการลดส่วนไม่ดีและเพิ่มส่วนดีมากขึ้น ซึ่งคนโดยส่วนใหญ่ที่เป็นคนดีมักใช้เวลากันทั้งชีวิตในการลดส่วนไม่ดีและเพิ่มส่วนดีของตัวเอง

เรื่องความดีและความไม่ดีนี่แปลกประหลาดมาก มันเป็นสิ่งที่ตัดสินกันไม่ได้ง่ายๆ เพราะตลอดช่วงเวลาพัฒนาการของวัฒนธรรมมนุษยชาติ เราใช้เวลาพัฒนาวิธีการตัดสินความดีเลวมาตลอดหลายหมื่นหลายพันปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นศาสนาบ้าง ปรัชญาบ้าง กฎหมายบ้าง กฎหมู่ก็มี แต่เราไม่เคยสามารถสร้างกลไกที่ได้ผลร้อยเปอร์เซนต์ในการตัดสินความดีเลวได้เลย

ดังนั้นถ้าใครบอกว่าเขารู้ว่าอะไรคือความดีอะไรคือความเลว ถ้าเขาไม่ได้กำลังโกหกเรา เขาก็เป็นคนซื่อที่ไม่ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์ถึงชีวิตและความเป็นไปของสิ่งต่างๆ รอบตัวเท่าไหร่นัก

ชีวิตผมเคยเจอคนมาทั้งสองแบบ แบบแรกเราก็ควรหลบหนีจากเขาไปเสีย ส่วนคนแบบที่สองนั้นคบได้ โดยส่วนใหญ่หลังจากเขาได้เจอประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นหลายคนกลายเป็นคนช่างคิดขึ้นมาได้ดีทีเดียว

ส่วนผมเองแน่นอนว่าไม่ใช่คนดี ถ้าจำเป็นต้องโม้แสดงสรรพคุณความดีแข่งกับใครผมก็พอมีเรื่องดีๆ ที่พอยกขึ้นมาประชันได้บ้าง และบางเรื่องอาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมดเพราะผมจะเลือกเฉพาะส่วนดีมาเสนอตามเทคนิคการนำเสนอความดีมาตราฐานทั่วไป แต่หากไม่ต้องแข่งความดีกับใครผมใช้เวลาโดยส่วนใหญ่ครุ่นคิดอยู่กับเรื่องไม่ดีของตัวเอง บางเรื่องก็แก้ไขได้ บางเรื่องก็หาทางแก้ไขไม่ได้ สิ่งที่แก้ไขได้ก็ไม่แน่ใจว่าแก้ไปในทางที่ดีหรือไม่ ก็มนุษยชาติที่สั่งสมความรู้มาหลายหมื่นปียังไม่มีคำตัดสินให้ผมได้

ถ้าโดยนิยามของผมแล้ว คนอย่างผมนี่เป็นคนดี แต่ผมรู้ตัวเองดีอยู่ว่าผมเป็นคนไม่ดี สรุปว่าผมเป็นคนดีหรือไม่ดี?

หมายเลขบันทึก: 600622เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

I like a definition in the tune of "good or bad person is known for 'what s/he does' (in public arena) very often". In Buddhist teaching (really) there are 'kusala' (skilful/beautiful/meritorious) things (deeds/speeches/intentions) and 'akusala' things which are not 'kusala'.

(Most) People are/have/do some kusala and some akusala things. Many aim/strive/try to be/have/do kusala things, Many don't care or have other goals in life. These other goals are 'more important' to them than being/having/doing 'good' or 'bad' things.

If good/bad depends on which camp we go to open 'our spiritual' faces and to kneel down for judgement, we will have to wait for 'the Day'.

I have to add another comment relating to justice systems -- that decide what right or wrong. Most are based on have 'accuser' presenting a story (facts from her/his point of view) and 'defender' presenting another story (facts from her/his point of view) to a judge (or jury) to decide which story is good (according to 'certain rules'/books).

Lawyers are but story tellers! And justice is a collection of stories!

เมืองไทยเราตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ "overly simplified" ความดีและความเลวครับ เรื่องผู้ใหญ่ยังพอทำเนา แต่เด็กที่จะเติบโตในสังคมแบบนี้ผมกลัวว่าเขาจะไม่มีทักษะแยกแยะตัดสินสิ่งที่เขาจะเจอในชีวิตต่อไปครับ

คิดดี...พูดดี..ทำดี...มาจากจิตที่ดีมีน้ำใจ ให้ความสุขแก่ตนและผู้อื่น...สัมผัสได้อย่างต่อเนื่อง...ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนค่ะ..

พี่ไม่รู้ว่า ตนเองคิดอย่างไร...แต่ทำให้นึกว่า ความดี ความไม่ดี...สุดท้ายที่รู้ มันคือ ความว่างเปล่านะคะ...ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่...หรือเป็นเพราะพี่แก่มากขึ้น จึงเข้าใจชีวิตมากขึ้นคะ บางทีก็เริ่มงง ๆ กับชีวิตเหมือนกันค่ะ

เป็นการเปิดประเด็นให้คิดต่ออย่างน่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับกระทู้นี้

ผมขออนุญาตเสนอความคิดเห็นต่อเลยนะครับว่า ดีแบบไหนเรียกว่า "ดี" ที่ควรยึดถือ?

ดีตามน้ำพระทัยเบื้องบน : ใช้มาตรวัดของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ลองผิดลองถูก จะรู้ได้อย่างไรว่าของใครถูกของใครผิด

ดีตามคำสอนเจ้าสำนัก : ครูบาอาจารย์สำนักใดลัทธิใดที่สอนได้อย่างถูกต้องที่สุด ใครศิษย์สำนักใดก็ต้องเชียร์อาจารย์ของตนทั้งนั้น ดีแบบนมีอคติเจือปนเช่นนี้เรียกว่าดีจริง หรือ "ติดดี" ที่ตัวบุคคล

ดีตามคำสอนศาสนา : ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่ดีต่างกัน แล้วถ้าดีจริงทำไมต้องดีต่างกัน และสวรรค์หรือความหลุดพ้นของแต่ละศาสนาของใครดีกว่ากัน

ดีตามหลักเหตุผล : ในทางปรัชญา เหตุผลเป็นเพียงศิลปะในการจูงใจให้คนเชื่อ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ เรื่องอัตตายึดติดสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องจิตสำนึกโดยตรง เราสามารถเชื่อมันได้จริงหรือ

ดีด้วยวิจารญาณ : คือ รู้จักคิดแยกแยะสิ่งต่างๆ รู้จักประเมินค่าคุณ - โทษจากสิ่งที่ทำลงไป รู้จักปรับความประพฤติให้เหมาะสมตามบริบทในแต่ละสถานการณ์ มีจิตสำนึกแห่งการดูแลตนเองและผู้อื่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

สำหรับผม ผมก็ตอบไม่ได้ว่าความดีคืออะไร ผมบอกได้แต่เกณฑ์ตัดสินความดีในแต่ละกระบวนทรรศน์ แต่ละศาสนา แต่ละลัทธิ ตามกรอบทฤษฎีในคัมภีร์ ตำรา และหนังสือ เท่านั้น ความดีจริงๆ มันสอนกันไม่ได้หรอก แม้ผมจะนับถือพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธเจ้าก็สอนว่า "อัตตา หิ อัตตา โน นาโถ" และเชิญชวนให้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาปฏิบัติ (phronesis) และให้เกณฑ์ตัดสินกว้างๆ เอาไว้ซึ่งศึกษาได้ในเกสปุตตสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เพียงเท่านั้น

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมเชื่อ คิด และเขียนนี้ บางคนอ่านแล้วอาจตัดว่าดี บางคนอาจตัดสินว่าไม่ดีหรือดีไม่พอ นี่ก็นานาจิตตังครับ เคารพทุกความคิด ความเชื่อ เพราะความดีคืออะไรแต่ละคนนิยามต่างกัน และถ่ายทอดความเข้าใจถึงกันผ่านภาษา แต่ว่าจะเข้าใจตรงกันหรือไม่ ไม่อาจมีใครรับประกันได้ ส่วนคนที่อ้างว่ารับประกันได้ เขาอะไรเป็นเครื่องวัดก็ต้องลองถามและพิสูจน์กันต่อไป... หุหุ

ขอบคุณ ดร. เมธา สำหรับความเห็นครับ เป็นการแยกแยะชั้นของความดีที่ชัดเจนมากครับ ในส่วนของคนอื่นนั้นเราก็ยากจะควบคุม แต่สำหรับผม "ดีด้วยวิจารญาณ" ตามที่อาจารย์เขียนเป็นรูปแบบที่ผมชอบที่จะปฎิบัติให้เข้าถึงความดีมากกว่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท