พระเจ้ามีจริงหรือไม่?


เช้านี้ก่อนเริ่มทำงานผมเปิดเพลงของ David Nevue ชุด Adoration: Solo Piano Hymns ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงเปียโนโดยเพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าของศาสนาคริสต์ทั้งนั้น ซึ่งฟังแล้วจิตใจก็สงบดีครับ ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร เพลงของศาสนาต่างๆ ล้วนแล้วแต่ช่วยจรรโลงใจให้ผ่อนคลายจากทุกข์และทำให้ความคิดนิ่มนวลลงได้ทั้งนั้นครับ ผมคิดว่าเราไม่ควรปิดกั้นตัวเองอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่งจนทำให้เราพลาดโอกาสในการรับรู้ถึงแนวความคิดดีๆ ที่มนุษยชาติพัฒนาขึ้นมาตลอดหลายพันหลายหมื่นปีนี้ครับ

เท่าที่ผมศึกษาศาสนาคริสต์มา ในมุมมองเกี่ยวกับพระเจ้าของผู้นับถือในกระแสหลักนั้นดูเหมือนจะมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกมองการปรากฎตัวของพระเจ้าเหมือนในหนัง คือมาด้วยเอฟเฟ็คมากมาย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะมองว่าพระเจ้าปรากฎตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว อยู่ที่จิตใจของผู้นับถือนั้นจะสงบเพียงพอที่จะรับรู้ได้หรือเปล่า และผมเองนั้นชอบแนวคิดของคนกลุ่มที่สองครับ

พระเจ้าปรากฎตัวในแสงอาทิตย์อบอุ่นยามเช้าๆ ไอแดดที่ส่องมาคือแสงแห่งความรักของพระเจ้าที่ส่งมาถึงผู้ที่ยินดีเข้าถึงความรักนั้น

รอยยิ้มของผู้คนคือรอยยิ้มของพระเจ้าถ้าเราพร้อมที่จะมองเห็น

สายลมเย็นสะท้อนใบไม้ไหวนั่นคือสัมผัสของพระเจ้าที่ส่งมาถึงตัวเรา อยู่ที่เราจะเดินเข้าไปในอ้อมกอดของพระเจ้าหรือไม่

ความเงียบสงบจากความวุ่นวายในสังคมมนุษย์จนเราได้ยินเสียงจากธรรมชาติ เสียงที่มนุษย์ปัจจุบันแทบไม่ค่อยได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกร้องในยามเช้า เสียงลมพัดกระทบยอดไม้ เสียงกระรอกกระโดดจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้น นี่คือวงดนตรีที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษยชาติ

พรอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าประทานในแก่มนุษย์คือ consciousness หรือความสามารถในการตระหนักรู้ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แต่ซาตานก็ได้ถือโอกาสใช้ consciousness นี้เป็นอาวุธที่จะทำร้ายมนุษย์ ซึ่งก็อยู่ที่มนุษย์เองแล้วที่จะเอาตัวไปอยู่ในสวนของพระเจ้าหรือกรงของซาตาน

ศาสนาพุทธบอกให้ "ตื่นเถิด" และใช้ศัพท์ awakening อยู่ในทุกบริบทของคำสอน แท้จริงแล้วสองศาสนานี้แทบไม่ต่างกัน อยู่ที่ว่ามนุษย์แต่ละคนจะศึกษาและตีความอย่างไร หรือในอีกมุมหนึ่งคือ "จะเลือกตื่นหรือไม่กันอย่างไร" นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 617106เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ได้อ่านบทบันทึกนี้แล้ว ทำให้นึกถึงเวลาเรียนปรัชญา ศาสนา ที่มักจะถกกันว่า พระเจ้ามีหรือไม่ สมัยก่อนคำนี้ สำหรับผู้มีศัทธา จะไม่ถามเช่นนี้ แต่ในทางปรัชญา ทุกเรื่อง จะถูกยกมาถกกันอย่างละเอียดบนพื้นฐานของ "สมอง" และ "ศักยภาพ" ของมนุษย์ ในสมองของมนุษย์มีสามัญสำนึกฝังอยู่ มีเพชรนอนอยู่ หากมนุษย์ใช้เหตุผลพอ ก็จะเห็นแนวทาง แต่ปรัชญาไปไกลกว่าศาสนาตรงที่ ไม่มีสิ้นสุดขงอคำถาม ซึ่งเป็นการเปิดเซลล์ความคิด ความเห็นให้แตกต่างออกจาก ตามกาลเวลา

มุมมองของเพลโตมองว่า "ปัญญา" (Idea) ของมนุษย์มิได้หายไปไหน หากแต่ถูกกดทับด้วยความไม่รู้ นี่คือ จุดเริ่มต้นของการคิดสร้างสรรค์พระผู้เป็นเจ้าขึ้นมาต่างกัน ผมไม่รู้ว่า ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์หรือไม่ ประเด็นนี้ มันเกี่ยวกับที่อ.กล่าวอย่างไร อ.บอกว่าพระเจ้าถูกมนุษย์จินตนาการเอาเอง แล้วสร้างเอฟเฟคมา และอีกส่วนคือ เชื่อว่าพระเจ้าปรากฎในสรรพสิ่ง

อันแรกนั้น ทุกศาสนาดูเหมือนจะออกมาเป็นพิมพ์เดียวกัน เพื่อเรียกศรัทธา แต่เมื่อศึกษาลึกๆแล้ว มันคือ มายา เพื่อเรียกมหาชนเท่านั้น ส่วนอันหลัง น่าคิดว่า สรรพสิ่งถูกพระเจ้าวางกฎไว้หมด ดังนั้น พระเจ้าจึงอยู่ในสรรพสิ่นนั้น อย่างลึกซึ้ง อยู่ที่ใครจะเข้าถึงหรือมีวิวรณ์หรือไม่ อ.กล่าวถึง สติ (consciousness) ซึ่งเหมือนศาสนาพุทธ ซึ่งสามารถตอบได้ว่า สติ ผนวกกับปัญญา คือ แสงนำทาง เพื่อให้เข้าถึงพระเจ้าได้ แต่อ. ก็ไม่ได้บอกว่า พระเจ้ามีหรือไม่ ส่วนมากผมเข้าใจว่า ยุคหลัง (ปรัชญา ของเพลโต และอริสโตเติล) เป็นผู้นำพาให้คิดว่า พระเจ้าอยู่ในสสาร หรืออยู่สรรพสิ่ง มิใช่อยู่ในความมืดที่เราไม่รู้ ไม่เห็น สัมผัสไม่ได้

ปรัชญานั้น เป็นรากฐาน การคิด วิเคราะห์ในศ.คริสต์ ที่มองว่า พระเจ้าคือ ธรรมชาติ ซึ่งมุมมองนี้เหมือนจะเอนเอียงมาทางตะวันออก จึงเหมือนเหลื่อมกันอยู่ แต่ในศาสนา แม้ไม่ได้บอกว่า เชื่อพระเจ้า ก็ไม่เชิง ในแง่พฤติกรรมของพุทธเองก็เอนเอียงไปแบบตะวันตก ส่วนแก่นแท้นั้น ไม่มีพระเจ้า นอกจาก จิตวิญญาณ ของมนุษย์เองเท่านั้น ที่ทำเอง สร้างเอง สะสมปัญญา ทักษะ ความสามารถ และสติ ที่จะรังสรรค์ในฐานะมนุษย์ ที่อาศัยแรงสสาร (กาย) มิใช่อาศัยแรงจากพระเจ้า จนมองข้ามศักยภาพตนเอง

ผมแสดงความเห็นแบบนี้ เป็นแนวคิดส่วนบุคคล ที่อ.พูดเรื่องนี้ ซึ่งมันน่าคิดว่า พระเจ้ากำหนด ชี้ชะตาเราได้หรือไม่ หรือศาสนามีสติ ปัญญา หรือว่า มนุษย์สอดแนวคิด จินตนาการเอาไว้ในศาสนากันแน่


โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าศาสนาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติแล้วก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมหาชนครับ ผมเรียนรู้ศาสนาแบบสมัครเล่น เวลาศึกษาก็จะพยายามแยกส่วนระหว่างส่วนแรกกับส่วนหลัง ผมไม่ค่อยให้น้ำหนักกับส่วนหลังเท่าไหร่ ดังนั้นในส่วนที่บอกว่าพระเจ้าชี้ชะตาเราได้หรือไม่นั้นในฐานะพระเจ้าเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ถ้าเราไม่ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับแนวทางธรรมชาติที่ควรเป็นชะตาเราก็อาจจะไม่ดี (ผิดจากสิ่งที่พระเจ้าต้องการ) ครับ

ส่วนเรื่องแนวปฎิบัติที่นักบวชศาสนาต่างๆ สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักปกครองเพื่อใช้ควบคุมมนุษย์โดยอ้างถึงพระเจ้านั้นผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะปฎิบัติตามเลยครับ ยกเว้นเสียแต่ว่าเพื่อความปลอดภัยของชีวิตจากอำนาจของนักบวชและนักปกครองเท่านั้นเองครับ (นั่นคือไม่ทำตามก็จะชะตาไม่ดีจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเช่นเดียวกันครับ)

ขอบคุณ บันทึกและคอมเม้นท์ดีๆ ของทั้ง 2 อาจารย์ครับ

ให้ความรู้ ในสิ่งที่ไม่รู้ มากเลยครับ

รู้สึกเบื่อๆกับสิ่งเดิมๆที่ยังไม่ได้ทำให้เป็นส่วนเดียวกันกับชีวิตมาตั้งแต่เช้า มาอ่าน ๒ ทัศนะ รู้สึกกระชุ่มกระชวยตาลุกวาว ขอบคุณเช่นกันครับ

ขออนุญาตเสนอแนวคิดที่ผมใช้อยู่ในชีวิตจริงๆ ครับ

*************************

คำว่าศาสนา ผมใช้ในความหมายเฉพาะด้าน คือ ระบบความเชื่อ ที่มีหลากระดับมาก มีตั้งแต่เชื่อแบบไม่ต้องการคำอธิบาย เชื่อด้วยเหตุด้วยผล และจนกระทั่งเชื่อด้วยปัญญาการเข้าถึงความจริง และสูงสุดกว่านั้นคือความรู้ความเข้าใจโดยไม่ต้องมีความเชื่อเป็นปัจจัยประกอบ ถ้าอ้างตามหลักพุทธ (แค่การสื่อความหมาย ไม่ติดยึด) ว่า ปัจจตตัง รู้ได้ด้วยตนเอง

คำนี้เป็นคำที่เสี่ยงต่อความเข้าใจผิดได้โดยง่าย เพราะระดับปัญญาในการรู้ ด้วยตนเองของแต่ละคนไม่เท่ากัน และกลายเป็นข้อโต้แย้งตลอดมา

ดังนั้นหลักของการ "ไม่ปักใจเชื่อ" 10 ประการ (ในศาสนาพุทธ) จึงช่วยได้มาก แต่อย่างไรก็ต้องมีปัญญายกระดับไปเรื่อยๆ ประกอบตลอดทาง ไม่งั้นจะกลายเป็น "หลง" ได้โดยง่าย

การศึกษาหลายอย่าง หลายหลักคิด ก็มีข้อดี แต่การหลงติดในหลักคิดอย่างหนึ่ง แล้วพยายามไปศึกษาอีกอย่างเพื่อมองว่าสิ่งอื่นแย่กว่าที่เราเชื่ออยู่ตรงไหน ก็เป็นจุดอันตราย และพลาดง่ายๆเช่นกัน

ผมก็ศึกษามาแทบทุกหลักการ ที่เคยได้ยินมา แทบทุกหลักคิด แบบคิดว่า ผมจะไม่ยึดติดกับระบบ"ศาสนา" ใดๆ เพราะผมไม่เชื่อในหลักของ "ความเชื่อ" ต่างๆเหล่านี้ จุดสำคัญคือเราต้องพยายามเข้าถึงความจริงให้ได้มากที่สุด แม้จะต้องอาศัยความเชื่อนำทางบ้างก็ตาม ในที่สุดเราต้องทิ้งความเชื่อทั้งหมด จึงจะสามารถเข้าถึงความจริงได้


ผมคิดอย่างนี้ และทำอย่างนี้ครับ แต่ในการสื่ออกมา บางครั้งก็ต้องตามใจคนฟังบ้าง เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และมีประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้าง

ขออนุญาตเสนอแนวคิดต่างครับ

ขอบคุณสำหรับบทความนี้ที่ชวนให้ตรึกตรองของท่านอ. ธวัชชัยครับ

ผมเห็นด้วยกับที่ว่า ความวุ่นวายในสังคมมนุษย์ปัจจุบันทำให้เราแทบไม่ค่อยได้ยินเสียงหรือมองเห็นความงดงามในธรรมชาติ ซึ่งยิ่งทำให้สังคมขาดความสุขภายในโดยไม่รู้ตัว จึงมักเข้าไม่ถึงแนวคิดแบบพอเพียง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของในหลวงรัชกาลที่ 9

สุดท้ายนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตุด้วยว่า consciousness หรือ awakening มีความหมายคล้ายกันคือ ความสามารถในการตระหนักรู้ แตกต่างกันตรงที่ อันแรกเป็นการรู้แบบมีสติด้วยจิตสำนึกซึ่งบ่อยครั้งสู้กิเลสไม่ไหว ส่วนอันหลังเป็นการรู้แบบมีสัมปชัญญะด้วยจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นปัญญาที่มีแต่เพียงในคำสอนของพระพุทธศาสนาเท่านั้น และจะเกิดมีขึ้นได้แต่เฉพาะจากการปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น

ไม่แปลกที่นักคิดชาวตะวันตกบางท่านที่ไม่เคยปฏิบัติแล้วสรุปว่าพระพุทธศาสนาเป็นปรัชญา ทั้งที่ในความจริงแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำเสมอว่าจำเป็นต้องปฏิบัติด้วยตนเอง จึงจะเกิดปัญญาขึ้นทีละน้อยไปสู่จุดหมายของการพ้นทุกข์ตามลำดับ

และท้ายที่สุดผมก็เห็นด้วยครับว่า ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ ว่าจะเลือกตื่นหรือไม่กันด้วยวิธีใด

ด้วยความนับถือ

ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นครับ ผมดีใจที่บันทึกนี้ได้เปิดประเด็นทำให้ได้หลายๆ มุมมองต่อศาสนาและความเชื่อในเรื่องพระเจ้าครับ

ชอบลักษณะการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบันทึกนี้จังเลยค่ะ อ่านแล้วทำให้เห็นว่า มุมมองต่างๆที่ดูเหมือนจะต่างกัน ก็มีมุมที่เปรียบเทียบกันได้ เรื่องของศาสนาเป็นปัจเจกเหมือนกันนะคะ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีความเชื่อส่วนตัว ไม่ได้ยึดตามประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติใดๆแบบพี่โอ๋ อ่านทั้งของเจ้าของบันทึกและความเห็นต่างๆ ก็ยังสรุปได้ว่า ของเราเป็นแบบรวมๆระหว่างสองสามท่านเหมือนกัน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง น่าแปลกดีนะคะ เรื่องนี้เป็นความคิด ความเข้าใจที่ต้องเอาไปตกผลึกเอาเองจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท