แรงบันดาลใจมีค่าเป็นทุนเรียนมหาวิทยาลัย : ทุนนักศึกษาร่วมสร้างสรรค์


แรงบันดาลใจมีค่าเป็นทุนเรียนมหาวิทยาลัย : ทุนนักศึกษาร่วมสร้างสรรค์

ในมหาวิทยาลัยยุคใหม่ นักศึกษาสามารถทำตัวเป็นพลังสร้างสรรค์ได้    สามารถเลือกเองได้ ว่าจะเป็นนักศึกษาผู้ผลิต (producer)  หรือนักศึกษาผู้บริโภค (consumer)    มหาวิทยาลัยมีรูปแบบการจัดการให้แก่นักศึกษาทั้งสองแบบ       

แบบหลังก็เหมือนที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน คือนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อฝึกฝนยกระดับสมรรถนะของตนเอง    ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่นักศึกษาเป็นฝ่ายรับ    และจ่ายค่าเล่าเรียน    ตามโมเดลนี้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาคล้ายผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ    อาจเรียกว่า consumer model

แบบแรกเรียกว่า producer model    นักศึกษาสมัครและได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นทีมทำงาน เรียนรู้จากการทำงาน ที่เกือบจะเรียกได้ว่า เป็นแบบการเรียนรู้จำเพาะคน (personalized learning)    เพราะนักศึกษาสมัครเข้ามาด้วย “สินทรัพย์” ส่วนตัวคือ ความคลั่งใคล้ใหลหลงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ    และได้พิสูจน์ตนว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะร่วมงานสร้างสรรค์ในเรื่องนั้นๆ ได้      

เพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนต่อการได้รับทุนเล่าเรียนแบบ producer model ผู้เรียนต้องเตรียมตัวล่วงหน้านานมาก    อาจจะตลอด ๖ ปีของการเรียนระดับมัธยมศึกษา     หรือบางคนอาจเตรียมตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา     โดยครูและพ่อแม่ร่วมสนับสนุน    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ได้เกิดพัฒนาการตาม Chickering’s Seven Vectors of Identity Development อย่างเข้มข้น    จนเด็กมีเป้าหมายชัดเจนแน่วแน่ในชีวิตของตนเอง    รวมทั้งต้องสนับสนุนให้เด็กได้เรียนตามแนวการเรียนรู้โดยการสร้างความรู้ (constructivist)    ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะพลังสร้างสรรค์ จินตนาการ และความอดทนมานะพากเพียร     

โรงเรียนที่ศิษย์เก่าได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยใน producer model มาก (ได้รับทุนนักศึกษาร่วมสร้างสรรค์มาก) ย่อมมีชื่อเสียง     เป็นพลังหนุนให้โรงรียนแข่งขันกันจัดการเรียนรู้คุณภาพสูงให้แก่ศิษย์  

ผมฝันอยากเห็นระบบอุดมศึกษาไทยมี management platform สำหรับพัฒนานักศึกษาใน producer model     ใช้เวลาสัก ๑๐ ปีในการพัฒนาโดยทดลองทำจริง     มี feedback/learning loop เพื่อการเรียนรู้และปรับตัว     และพิสูจน์ว่าเป็นระบบที่คุ้มค่าการลงทุนของประเทศ จากภาษีของประชาชน     หลัง ๑๐ ปี เราก็มีระบบนักศึกษาอุดมศึกษาคู่ขนาน     นักศึกษาใน producer model น่าจะมีราวๆ ร้อยละ ๑๐ ของทั้งหมด    ได้รับทุนการศึกษาหลายแบบ    แบบที่เข้ายากที่สุด มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตด้วย (full scholarship)    

แนวคิดนี้มาจากความเชื่อว่า วัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่ระดับสมรรถนะด้านการสร้างสรรค์สูงสุด    คนหนุ่มสาวที่มีแรงบันดาลใจสูง มีเป้าหมายในชีวิต มี passion ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง    เป็นพลังของชาติ ที่สามารถนำมาขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ให้แก่สังคม    โดยที่การทำงานสร้างสรรค์นั้นเอง สามารถใช้เป็นกลไกเรียนรู้เพื่อการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้สู่คุณวุฒิระดับปริญญาได้   

จะดำเนินการการเรียนรู้โมเดลนี้ได้    ระบบหลักสูตรและการเรียนการสอนต้องยืดหยุ่นมาก    สามารถเปิดโอกาสให้อาจารย์ที่ปรึกษา (mentor – อาจารย์พี่เลี้ยง) ร่วมกับตัวนักศึกษาเอง    กำหนดรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่ไม่ตรงตามหลักสูตรแบบตายตัว    แต่พิสูจน์ได้ว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้เข้าเกณฑ์ที่กำหนด  

เรื่องราวของหลักสูตรที่ยืดหยุ่นสุดๆ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว   อยู่ในหนังสือ Mountains Beyond Mountains (2003) เป็นสภาพที่นักศึกษาแพทย์สองคนที่เรียนหลักสูตรสองปริญญา (MD PhD) ขอเรียนที่มหาวิทยาลัยเพียง ๖ เดือนต่อปี    อีก ๖ เดือนออกไปทำงานป้องกันโรค   คนหนึ่งป้องกันและบำบัดโรคเอดส์ในประเทศ เฮติ   อีกคนหนึ่งป้องกันและบำบัดโรควัณโรคที่ประเทศเปรู    นักศึกษาสองคนนี้ต่อมาคนหนึ่ง (Paul Farmer) เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด   อีกคนหนึ่ง (Jim Yong Kim) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลกระหว่างปี 2012 – 2019    

ข้อพิสูจน์คุณค่าของ producer model ดูจากผลลัพธ์และผลกระทบที่บัณฑิตทำให้แก่สังคม    ทั้งตอนเรียนและหลังได้รับปริญญา    ผมเชื่อว่า เราจะได้เห็นผู้ประกอบการแนวใหม่  และนักวิชาการชั้นยอด  พัฒนาขึ้นจากบัณฑิตตาม producer model นี้    

นอกจากทุน (scholarship) สนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพของนักศึกษาแล้ว     ต้องมีกองทุนที่ยืดหยุ่นสำหรับสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์    ที่ในบางกรณีอาจต้องไปใช้ห้องปฏิบัติการต่างประเทศ    หรือไปทำงานภาคสนามในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน    เราต้องไม่ลืมว่า ในยุคนี้ การสร้างคนต้องมีมิติของ global skills ด้วย          

ผมฝันเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่  และมหาเศรษฐีไทย จัดตั้งกองทุนการศึกษาตาม producer model    ที่หนุนกิจกรรมการสร้างสรรค์ตามความสนใจจำเพาะของตน    สำหรับหนุนให้เกิด ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ขลังเป็นพิเศษด้านวิชาความรู้และได้รับเงินเพิ่มพิเศษจากกองทุน    มีชื่อตำแหน่งตามที่เห็นในต่างประเทศ ในทำนอง   “... (ชื่อคนหรือองค์กร) ศาสตราจารย์ยกย่องพิเศษด้าน... (ตามด้วยชื่อและนามสกุลของผู้นั้น)”    เช่น “ปตท. ศาสตราจารย์ยกย่องพิเศษด้านพลังงาน สมชาย สมชายกุล”    ท่านเหล่านี้นอกจากได้รับเงินเพิ่มรายเดือนแล้ว ยังจะได้รับสิทธิพิเศษจากมหาวิทยาลัยในการเสาะหานักศึกษาที่มีแรงบันดาลใจและความสามารถพิเศษมารับทุนเพื่อเป็นนักศึกษาใน producer model    โดยทำงานร่วมกับท่าน    โดยที่ทุนจากแหล่งทุนธุรกิจ หรือองค์การการกุศล อาจมอบทุนสนับสนุนนักศึกษาสร้างสรรค์จำนวนหนึ่งแก่ศาสตราจารย์ยกย่องพิเศษของตนโดยตรง

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.พ. ๖๔

หมายเลขบันทึก: 688920เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2021 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2021 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท