ชาลากิจกรรมเพื่อเปลี่ยนชีวิตเยาวชน


 

เป็นกิจกรรมที่มีผลเปลี่ยนวิถีชีวิตเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ให้มุ่งอุทิศชีวิตเพื่อผู้อื่นหรือเพื่อชุมชนที่ตนเกิดมา    ที่ผมได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ Becoming Great Universities : Small Steps for Sustained Excellence  เขียนโดย ศาสตราจารย์ Richard J. Light and Allison Jegla   บทที่ ๔ How Do We Attract and Support Students Who May Not Be Considering Out Institution?   เล่ากิจกรรมของ Joice Ivy Foundation ในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนมัธยมปลายให้ค้นพบตัวเอง ค้นพบศักยภาพของตนเองในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ตนเคยคิดว่า “เกินเอื้อม” นำสู่การสร้าง พลเมืองผู้ก่อการให้แก่ชุมชนชนบท   

อย่างกรณีคุณ Anne ที่มาจากโรงเรียนมัธยมปลายในชุมชนบ้านนอกของรัฐมิชิแกน ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม Joice Ivy Scholar ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ในปี ค.ศ. 2010    ช่วยเปิดโอกาส และความมั่นใจ ในชีวิต ว่าตนมีความสามารถสูงพอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยชั้นยอดของประเทศได้    และในที่สุดก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย บราวน์ และเรียนจบในปี 2016 ในสาขา Comparative Literature   ที่ถือว่าเป็นสาขาด้านศิลปศาสตร์    และกลับไปทำงานในชุมชนของตนในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเมือง 

ข้อความจากการสัมภาษณ์ คุณ Anne อ่านแล้วน้ำตาไหล   เพราะคุณแอนน์บอกว่า ประสบการณ์จากการได้รับคัดเลือกเป็น Joice Ivy Scholar เปลี่ยนชีวิตของตนเอง   ทั้งในเรื่องเรียนและเรื่องการทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น   

นำผมสู่จินตนาการ เสนอต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้หา engagement partner ที่จัดทรัพยากรเพื่อคัดเลือก “ช้างเผือกในป่า” ไปทำกิจกรรมวิชาการช่วงฤดูร้องหลังจบ ม. ๕ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ   แบบเดียวกันกับ  Joice Ivy Scholar  โดยอาจปรับกิจกรรมให้เข้ากับบริบทไทย   

ท่านที่จะเอาแนวคิดนี้ไปดำเนินการต้องอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อศึกษารายละเอียดเอาเอง    โดยคำแนะนำของผมคืออย่าลอกแบบ  แต่ให้ตีความหลักการและคุณค่าเอาไปออกแบบกิจกรรมของเราเอง     

โครงการนี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้เยาวชนที่สมองดีที่สุดที่เกิดในชนบท   ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นพลังเปลี่ยนขาดชุมชนของตนเองอย่างที่คุณ Anne ในหนังสือทำ    ผมเดาว่า Joice Ivy Scholar ส่วนใหญ่คงจะไม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดอย่างคุณแอนน์ (และผม)   แต่จะเป็นคนที่ทำเพื่อสังคมอย่างมีพลังแบบเดียวกับคุณแอนน์ (และผม) 

นี่คือหนึ่งแนวทางที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในลักษณะของ “พันธกิจเพื่อสังคม” (social engagement) ร่วมกับภาคีอย่างน้อย ๓ ภาคี คือ (๑) แหล่งทุน (อย่างกรณี Ivy League Foundation) (๒) โรงเรียนในชนบท และ (๓) นักเรียนชั้นเยี่ยมในชนบท   ที่มหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันต้องมี “ชาลาบริหารความร่วมมือ” สร้างสรรค์ให้เกิดกิจกรรมตามแนวทางของ Joice Ivy League Foundation   

นอกจากเปลี่ยนชีวิตเยาวชนแล้ว กิจกรรมดังกล่าวน่าจะเปลี่ยนขาด (transform) มหาวิทยาลัยชั้นนำด้วย   ในการทำหน้าที่แสวงหาศิษย์เกรด เอ จากชนบทห่างไกล    เอามาพัฒนาเป็นบัณฑิตเกรด เอ    ออกไปทำหน้าที่พัฒนาและเปลี่ยนขาดสังคมอย่างที่คุณแอนน์ทำ   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๖๗S

บนเครื่องบินการบินไทย TG 673  จากสนามบินคันไซ กลับกรุงเทพ 

 

หมายเลขบันทึก: 717967เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2024 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2024 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท