สะท้อนคิดเรื่องสถาบันอุดมศึกษากับการพัฒนาระบบต่างๆ ของประเทศ


 

บ่ายวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๗ ผมนั่งพักผ่อนและดื่มกินอยู่ในห้องรับรองสายการบิน เอเอ็นเอ ที่สนามบินคันไซ ประเทศญี่ปุ่น   ร่วมกับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี และอาจารย์แกนนำของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกสองสามคน   

ผมถามอาจารย์ที่ไปร่วมประชุม PMAC 2025 IOC ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๒๙ มีนาคม ว่าได้ข้อเรียนรู้อะไรบ้าง   การเสวนาแบบสุนทรียสนทนา นำสู่ประเด็นเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ (สุขภาวะ) ของประเทศ  ที่เรารู้กันดีว่าข้อจำกัดคือ อาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยมหิดลเน้นการทำงานด้านคลินิกหรือการดูแลผู้ป่วย    ซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่าสูงมาก

แต่เราก็รู้กันดีว่า งานดูแลผู้ป่วยทางคลินิกเป็นงานตั้งรับ  เน้นการแก้ปัญหา   ต้องเสริมโดยงานป้องกันปัญหา และงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ เป็นงานเชิงรุกและเชื่อมโยงกับงานเชิงตั้งรับ   

ในฐานะผู้อาวุโส ผมให้การบ้านแก่ทุกคนในวงเสวนาว่า    คณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมกับภาคี ทำงานสร้างสรรค์ระบบสุขภาพไทยและโลกได้อย่างไร ผ่านการใช้ประโยชน์จาก PMAC   

โดยที่เห็นชัดเจนว่า ที่ผ่านมา PMAC ได้ทำประโยชน์มากในฐานะพื้นที่พัฒนาหลักการร่วมกัน   สำหรับนำไปขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพโลกวงอื่นๆ    แต่เราก็เห็นพ้องกันว่า ในอนาคต PMAC ต้องสร้างผลกระทบมากกว่านั้น  ผ่านการดำเนินการลงมือทำในพื้นที่ทดลองและเรียนรู้   ที่นำสู่การพัฒนาหลักการหรือทฤษฎีผ่านการปฏิบัติ    ตามแนวทางของ Kolb’s Experiential Learning Cycle สำหรับเป็นตัวอย่างให้ประเทศ LMICs อื่นๆ ได้นำไปดำเนินการในลักษณะเดียวกัน    แล้วนำผลและประสบการณ์ที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ของ PMAC 

ก็จะเกิดมิติใหม่ของ PMAC  ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือจากประสบการณ์   ที่เมื่อดำเนินการต่อเนื่อง ก็จะเกิดวงจรการพัฒนาระบบสุขภาพ    ที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์แบบเน้นการพัฒนาจากล่างสู่บน (bottom-up transformation)    ที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมวิชาการ และวัฒนธรรมการพัฒนาของประเทศ   

ในการประชุม PMAC ผมไม่พูดอะไรเลย    ทำหน้าที่หนุนให้คนอื่นพูด   แล้วหาทางเรียนรู้และคิดกลยุทธหนุนให้ปราชญ์รุ่นน้องๆ หรือลูกๆ ได้ใช้ความสามารถ (ที่มีอย่างเหลือเฟือ) แสดงบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบสุขภาพของประเทศ   โดยทำหน้าที่ผู้นำแบบรวมหมู่หรือร่วมมือกัน    และหาทางใช้เวที PMAC ให้เป็นประโยชน์   

ผมมองว่า PMAC และเวที PMAC IOC เป็นพื้นที่เรียนรู้ของผู้เข้าร่วมประชุม   ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยมีจำนวนมากพอที่จะถือได้ว่าเป็น critical mass   ที่หากรวมตัวกันลงมือทำ และหมุนวงจรเรียนรู้จากประสบการณ์   เราจะค้นพบแนวทางใหม่ๆ ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย และของโลก 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๖๗

บนเครื่องบินการบินไทย   TG 673  จากสนามบิน Kansai International Airport กลับกรุงเทพ 

 

หมายเลขบันทึก: 717979เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2024 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2024 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท