ชีวิตที่พอเพียง 4717. สิ่งรบกวนการตัดสินใจ


 

บทความเรื่อง Sounding the alarm on system noise ลงในเว็บไซต์ของ McKinsey เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔  จากการสัมภาษณ์ Daniel Kahneman และ Olivier Sibony ผู้เชี่ยวชาญด้าน อคติทางความคิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ   

ผมนำมาเล่าเพื่อแสดงความระลึกถึง ศ. Daniel Kahneman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ๒๕๔๕ จากผลงานด้านธรรมชาติของวิจารณญาณและการตัดสินใจของมนุษย์    ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๗  อายุ ๙๐ ปี

ผมเขียนบันทึกอ้างอิงหนังสือเล่มที่โด่งดังที่สุดของท่าน คือ Thinking, Fast and Slow ไว้ที่ (๑)  

ปัญหาที่ซ่อนเร้นอย่างหนึ่งขององค์กรคือ สิ่งรบกวน (noise)   ซึ่งหมายถึง เรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือไร้สาระ  หรือเป็นตัวแปรที่ไม่ต้องการ (unwanted variability) ที่เข้ามารบกวนการตัดสินใจที่เหมาะสม    (ที่อ่านแล้วผมนึกถึงประเทศไทย ที่ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเป็น noise สำคัญของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ)    ที่ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสองท่านร่วมกันแต่งหนังสือ Noise: A Flaw in Human Judgment (2021)  เท่ากับท่านให้ประเด็นสำคัญในหนังสือเล่มนี้ผ่านการสัมภาษณ์นั่นเอง   

ผมได้เขียนบันทึกสะท้อนคิดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ไปแล้วเมื่อสองปีก่อน ที่ (๒)    (๓)  (๔)

ศ. Daniel Kahneman บอกว่าท่านสนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับความผิดพลาดในการตัดสินใจมาเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี    และสนใจเรื่องอคติ (bias) มาตั้งแต่ต้น    เพิ่งมาสนใจเรื่องสิ่งรบกวน (noise) เมื่อ ๗ ปีมานี้เอง    และพบว่าสองสิ่งนี้แตกต่างกัน    ตรงที่อคติเป็นสิ่งที่คาดเดาได้    แต่สิ่งรบกวนคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้ รวมทั้งมีความแตกต่างหลากหลายมาก    ซึ่งผมเถียงในใจว่า สิ่งรบกวนในกรณีคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเป็นสิ่งที่คาดเดาได้     

ข้อความที่นักวิชาการไทยควรให้ความสนใจคือ ศ. Daniel Kahneman บอกว่า หนังสือเล่มนี้ออกตีพิมพ์เผยแพร่แบบ “premature”  หรือ “คลอดก่อนกำหนด”    เพราะเมื่อมีไอเดียดีๆ เกิดขึ้น   ต้องใช้เวลาราวๆ ๑๕ ปี ทำวิจัย สอน และประยุกต์หลักการเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์   จึงจะตกผลึกหลักการได้อย่างแม่นยำ    แต่จำเป็นต้อง “คลอดก่อนกำหนด”    เพราะอายุของท่าน (๘๗ ในขณะนั้น) ไม่เอื้อ   

Olivier Sibony ยกตัวอย่างการวินิจฉัยโรคของหมอ ๒ คนที่วินิจฉัยต่างกัน   กล่าวได้ว่าคนที่วินิจฉัยผิดโดนข้อมูลที่เป็น noise เล่นงาน    และยกตัวอย่างต่อ เพื่อบอกว่า bias เป็นค่าเฉลี่ยของความผิดพลาด  ส่วน noise เป็นค่าความเบี่ยงเบนของความผิดพลาด    นักวิชาการเขาต้องให้นิยามสำหรับนำไปใช้ในการดำเนินการวิจัย (operating definition) 

หนังสือเล่มนี้ให้ความสนใจแก่ สิ่งรบกวนเชิงระบบ (system noise)   ที่เป็นระบบการตัดสินใจ    ที่น่าตกใจคือประเด็นที่ Olivier Sibony บอกว่า    ในการประเมินผลงาน (performance evaluation) ของบุคคล   เพียงหนึ่งในสี่ของข้อมูลเท่านั้นที่มาจากความเป็นจริง  อีกสามในสี่มาจาก noise    ผมสะดุ้งโหยงเมื่ออ่านข้อความนี้   

ในกรณีดังกล่าว เขายกตัวอย่าง level noise, occasional noise, idiosyncratic noise 

Level noise หมายถึงการที่คนเราให้ระดับ performance แตกต่างกัน   

Occasional noise เกิดจากอารมณ์ของผู้ให้คะแนนในขณะนั้น หากอารมณ์ดีก็จะให้ระดับสูง    หากอารมณ์ บ่ จอย คะแนนก็ต่ำ

Idiosyncratic noise หมายถึงการที่ผู้ให้คะแนนไม่ชอบหน้าผู้ถูกประเมิน   ย่อมให้คะแนนต่ำไปตามอิทธิพลของ noise 

ผมคิดต่อ ว่าน่าจะยังมี noise ชนิดอื่นๆ อีกมากมาย   เช่น values noise - การที่ผู้ให้คะแนนมีค่านิยมในเรื่องที่กำลังประเมินแตกต่างกับผู้ถูกประเมิน   คะแนนที่ได้ย่อมต่ำมาก                  

ส่วนที่อ่านสนุกมากของบทความคือ ที่มาของความร่วมมือเขียนหนังสือ ที่ผู้เขียนสองคนต้องบินไปมาเพื่อคุยกัน  แต่เมื่อโควิด ๑๙ ระบาด ก็พบวิธีคุยที่ง่ายกว่าคือผ่านไอที 

นี่คือบันทึกที่ ๔ ที่ผมเขียนถึงหนังสือ Noise    หากอ่าน ๓ บันทึกที่เขียนเมื่อ ๒ ปีก่อนด้วย    ก็จะได้รายละเอียดเรื่อง noise มากขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๗ เม.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 718107เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2024 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2024 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท