Learning Loss ไม่ได้เกิดเฉพาะในยุคโควิด


 

หลังจากทำความเข้าใจ ZPD (Zone of Proximal Development) ของ Lev Vygotsky ได้ถ่องแท้   ผมก็ได้ชื่อบันทึกนี้ 

ในหนังสือชุด การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์  เล่ม ๑   ผมเขียนเรื่อง ZPD ไว้ดังนี้   

แต่ในต้นฉบับหนังสือ “เพื่อครูและศิษย์ เป็นนักพัฒนาตนเอง” ที่จะพิมพ์ออกเผยแพร่เร็วๆ นี้ ครูปาด ศีลวัต ศุษิลวรณ์ เขียนอธิบายดังนี้ 

“หลัก Constructive Learning ของ Lev Vygotsky 

          เลฟ วีก็อตสกี (Lev Vygotsky) มีคุณูปการอย่างสูงในการวางหลักการ แนวทาง และบริบทการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพภายในและธรรมชาติทางสังคม – วัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ Constructive Learning ที่เชื่อมโยงไปสู่ Collaborative Learning,  Assessment as Learning และการเรียนรู้ในบริบทจริงทางสังคม – วัฒนธรรม

            ความคิดรวบยอด (Concept) สำคัญที่เกี่ยวกับหลักการเรียนรู้แบบ Constructive Learning ของ วีก็อตสกี (Lev Vygotsky) อาจสรุปออกมาได้ประมาณนี้

๑. ‘Zone of Proximal Development’ หรือ ZPD หมายถึง ส่วนต่างระหว่างความสามารถที่ปรากฎให้เห็นของคนคนหนึ่ง ณ ขณะหนึ่งกับศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ภายในคนคนนั้น ณ ขณะนั้น ซึ่งส่วนต่างนี้คือ “ระยะยืด” ที่คนคนหนึ่งจะยืดขยายความสามารถที่ปรากฎในขณะนั้นออกไปให้ถึงได้อย่างแน่นอนหากมีวิธีและปัจจัยที่เหมาะสม

วีก็อตสกี (Lev Vygotsky) มีทัศนะว่ามนุษย์ทุกคนในขณะหนึ่ง ๆ จะมีศักยภาพแฝงเร้นที่มากกว่า ดีกว่า เก่งกว่า ความสามารถที่ปรากฎให้เห็นในขณะนั้น และหากมีวิธีและปัจจัยที่เหมาะสมมนุษย์ทุกคนสามารถยืดความสามารถที่ปรากฎในขณะนั้นออกไปให้สุดขอบเขตของศักยภาพแฝงเร้นนั้นได้ และ “ระยะยืด” จากความสามารถที่ปรากฎในขณะนั้นไปจนสุดขอบเขตของศักยภาพแฝงเร้นในขณะนั้นเรียกว่า Zone of Proximal Development หรือ ZPD 

ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งกระโดดได้ไกล ๑๒๐ ซม. แต่ถ้าเขาได้ฝึกฝนวิธีกระโดดที่เหมาะสมเขาจะกระโดดได้ไกล ๑๔๐ ซม. ในกรณีนี้ความสามารถที่ปรากฎให้เห็นในขณะนั้นคือเขากระโดดได้ไกล ๑๒๐ ซม. และศักยภาพที่แฝงเร้นในขณะนั้นคือเขาจะกระโดดได้ไกล ๑๔๐ ซม. ดังนั้น “ระยะยืด” หรือ ZPD ณ ขณะนั้นก็คือ ส่วนต่างระหว่าง ๑๒๐ ซม. กับ ๑๔๐ ซม. ซึ่งก็คือ ๒๐ ซม. หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ เด็กคนหนึ่งมีความสามารถในการท่องสูตรคูณได้ถึงแม่สิบ แต่ถ้ามีวิธีและองค์ประกอบของการเรียนรู้ที่เหมาะสมเด็กคนนี้จะสามารถคูณเลข ๒ หลักกับเลข ๒ หลักได้ด้วยตนเอง ในกรณีนี้ความสามารถที่ปรากฎในขณะนั้นคือการท่องสูตรคูณได้ถึงแม่สิบ และศักยภาพที่แฝงเร้นในขณะนั้นคือการคูณเลข ๒ หลักกับเลข ๒ หลักได้ด้วยตนเอง ส่วน “ระยะยืด” หรือ ZPD ณ ขณะนั้น ก็คือส่วนต่างระหว่างความสามารถในการท่องสูตรคูณถึงแม่สิบ กับการคูณเลข ๒ หลักกับเลข ๒ หลัก ได้ด้วยตนเอง เป็นต้น

“ระยะยืด” หรือ ZPD ของคนคนหนึ่ง ในเรื่องหนึ่ง ณ ขณะหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ เช่น 

  • คุณภาพและปริมาณของความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังจะเรียนซึ่งสะสมอยู่และปรากฏให้เห็นของคนคนนั้น ณ ขณะนั้น
  • ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาของคนคนนั้น ณ ขณะนั้น
  • คุณภาพของครู หรือผู้ที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับคนคนนั้น
  • คุณภาพของ “Scaffolding” (เครื่องช่วยพยุงให้คนคนนั้นไต่ระดับการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง)
  • คุณภาพของปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้
  • คุณภาพของบริบทของการเรียนรู้
  • ฯลฯ

            วีก็อตสกี (Lev Vygotsky) ยังมีทัศนะต่อไปว่า เมื่อใดที่มนุษย์คนหนึ่งได้ยืดความสามารถที่ปรากฏใน
ขณะหนึ่ง ๆ ไปจนสุด ZPD ของตนแล้ว สิ่งที่ติดตามมาคือ ZPD ใหม่ก็จะยืดหนีออกไปอีก หรืออีกนัยหนึ่งคือศักยภาพแฝงเร้นของคนคนนั้นก็จะยืดขยายออกไปอีกสู่ระดับที่มากกว่า ดีกว่า เก่งกว่า ความรู้ความสามารถที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่นั้น และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

            ๒. การยืดขยายความรู้ความสามารถที่ปรากฎออกไปให้สุด ZPD ของแต่ละช่วงเวลาเป็นสิ่งที่ทำได้แน่นอน หากมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

                        ๒.๑ มีครูที่ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม คือไม่ได้บอกสอนความรู้แต่เป็นผู้ที่จัดให้นักเรียนได้สร้าง
การเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ และทัศนะใหม่ขึ้นได้เอง โดยครูมีหน้าที่สำคัญคือ

  • สนับสนุน ส่งเสริม สะท้อน แนะนำ และช่วยเหลือการเรียนรู้ของนักเรียน (“ช่วยเหลือ” ในที่นี้หมายถึงช่วยให้นักเรียนเป็นเจ้าของและดำเนินการเรียนรู้จนสำเร็จตามเป้าหมาย)
  • สร้าง “บันไดของการเรียนรู้” (Learning Scaffolding) ให้กับนักเรียนอย่างเหมาะสม เช่น จัดวางลำดับและความเชื่อมโยงของการเรียนรู้ จัดวางลำดับและความเชื่อมโยงของประสบการณ์ จัดเตรียมสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ ฯลฯ ที่เป็นทุ่นเกาะหรือเครื่องพยุงหรือบันไดให้นักเรียนสร้างการเรียนรู้ไต่ไปเป็นลำดับจนบรรลุเป้าหมาย

๒.๒ นักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม – วัฒนธรรมกับผู้อื่นที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

๒.๓ การเรียนรู้ทั้งหมดต้องถูกโอบล้อมและเชื่อมโยงอยู่กับบริบทจริงทางสังคม - วัฒนธรรมของการเรียนรู้นั้น ๆ การเรียนรู้ต้องผูกพันและสัมพันธ์กับชีวิตจริง”

ข้อความที่เขียนโดยครูปาด ช่วยให้ผมเข้าใจ ZPD ได้อย่างแท้จริง    และเห็นชัดว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพัฒนาให้ยืด ZPD ออกไปเต็มศักยภาพของตน   ซึ่งหมายถึง Learning Loss ที่เกิดอยู่ตามปกติในระบบการศึกษาไทย

และเป็น Learning Loss ที่ไม่เท่าเทียม (inequity)    คือโรงเรียนที่ก้าวหน้า จัดการเรียนรู้เชิงรุกได้ดี  นักเรียนก็จะยืด ZPD ของตนออกไปเต็มหรือเกือบเต็มศักยภาพ    โรงเรียนที่ล้าหลัง ตกอยู่ในสภาพสังคมอย่างที่ประจานในหนังเรื่อง อานนท์เป็นนักเรียนตัวอย่าง  ก็ยืด ZPD ของตนออกไปได้น้อยถึงน้อยมาก   

เราต้องช่วยกันเปลี่ยนขาดระบบการศึกษาไทย เพื่อขจัด Learning Loss ที่กำลังกัดกร่อนโอกาสพัฒนาประเทศของเรา

วิจารณ์ พานิช

๗ เม.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 718108เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2024 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2024 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท