ชีวิตที่พอเพียง  4719. ความไร้สาระเป็นแก่นของมนุษยชาติ


 

หนังสือแปลเล่มหนาเกือบแปดร้อยหน้า เรื่อง  มนุษย์เอ๊กซิสตฺ ชีวิต และวรรณกรรม จัดพิมพ์โดย Madman Books   เป็นหนังสือปรัชญา    ที่ผู้แปลบอกว่า ปรัชญาเอ๊กซิสเตนเชียลิสมฺ  หรือลัทธิอัตถิภาวนิยม  มีหลักว่ามนุษย์มีความไร้สาระเป็นแก่น   

เสนอความไร้สาระ หรือไร้เหตุผล ของมนุษย์ด้วยอมตะวรรณกรรม  ด้วยวรรณกรรม ๑๓ เรื่อง เขียนโดยนักเขียนอมตะ ๕ คน    เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเก็บไว้อย่างดี   หยิบมาอ่านเป็นครั้งคราวยามอยากทำความเข้าใจมนุษย์   

ทั้งผู้แนะนำ (นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์)  และผู้แปล (วิภาดา กิตติโกวิท) บอกว่าเป็นหนังสือที่อ่านยาก    และแนะนำว่าเรื่องที่อ่านง่ายที่สุดคือ คมคิด คมคำ โดย ชเริน เคียเคอกอร์ด   และ คมคิด คมคำ โดย อัลแบรฺต์ กามูส์   ผมเลือกอ่านเรื่องหลังก่อน เพราะคุ้นชื่อผู้เขียน    เริ่มจากหน้า ๗๓๙ จนจบเล่มที่หน้า ๗๕๔   

อ่านแล้วผมสะท้อนคิดว่า เป็นคมคำ ที่ผู้แปลเลือกมา   และเป็นคมคำที่มาจากการสะท้อนคิดของผู้เขียน ที่ผมจินตนาการว่าได้มาจากการสะท้อนคิดเหตุการณ์ที่ผู้เขียนเผชิญมาในชีวิต    คมคำที่ไม่มีบริบทที่มาที่ไปไม่สนุกสำหรับผม   

ย้อนกลับไปอ่าน คมคิด คมคำ โดย ชเริน เคียเคอกอร์ด  หน้า ๑๖๕ - ๑๗๖   ทันทีที่อ่านข้อความแรก ผมก็ปิ๊งทันที    ว่ามีความเป็นปรัชญาสูงมาก    มีความเป็นนามธรรมที่ข้ามพ้นบริบทจำเพาะ   คือก้าวข้ามกาละ เทศะ   “ชีวิตไม่ใช่ปัญหาที่ต้องแก้   แต่คือความเป็นจริงที่ต้องประสบ”    ลงท้ายด้วย  “พยายามในบางสิ่งบางอย่างแล้วล้มเหลว ดีกว่าที่จะไม่พยายามเลยแล้วประสบผล  ผลที่ได้อาจเหมือนกัน  แต่คุณไม่เหมือนเดิม  เรามักเติบโตผ่านความพ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะ”    เป็น ๑๒ หน้าที่ผมจะกลับมาอ่านอีกบ่อยๆ   

พลิกต่อไปที่เรื่องที่คุณหมอประเสริฐบอกว่า สนุกที่สุด และอ่านง่าย  คือเรื่อง โยฮันเนส คลีมาคุส หรือ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกสงสัย โดย  ชเริน เคียเคอกอร์ด   บิดาของ เอ๊กซิสเตนเชียลิสมฺ ชาวเดนมาร์ก   ผมชอบชื่อหลัง เพราะผมถือคติ “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” ในชีวิต   

พบว่าอ่านไม่สนุกเลย  เป็นการเล่าความคิดความรู้สึกของตัวละครที่น่าจะเป็นตัวผู้เขียนเอง    ที่น่าสนใจสำหรับผมคือ การที่คลีมาคุสได้ยินการสนทนาของพ่อกับเพื่อนที่มาหา   ได้เรียนรู้วิธีที่พ่อฟังคนอื่นจนจบแล้วจึงเสนอความเห็นของตน    ที่มักเป็นข้อสรุปประเด็น    ซึ่งอาจตรงกันข้ามกับเจตนาเดิมของเพื่อน    เรื่องเล่านี้ สะท้อนการเรียนรู้ความคิดจากพฤติกรรมของพ่อ   

แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ถึงตอนปฏิบัติการสงสัย ก็สนุกขึ้น   และผมได้ความคิดว่า วิธีวิทยาด้านปรัชญาที่ใช้วิธีครุ่นคิดอยู่กับตัวเอง  ผ่านการตีความและเถียงปราชญ์รุ่นก่อนๆ   น่าจะเป็นวิธีสร้างความรู้หรือสร้างปัญญาที่ยาก  วิธีที่เปิดรับชีวิตผู้คนหรือกิจกรรมของมนุษย์ที่หลากหลาย   แล้วหมุน “วงจรแห่งปัญญา” – Kolb’s Experiential Learning Cycle น่าจะเบาสมองกว่ามาก    แต่หากทำเช่นนี้ เรื่องที่เขียนก็จะไม่เป็น เอ๊กซิสเตนเชียลิสมฺ   แต่จะเป็น “การเรียนรู้ในชีวิตจริง”  

หลักการ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกสงสัย ในสายตาของผม เป็นเรื่องปกติธรรมดา    ไม่ใช่ปรัชญา    แต่เป็นเรื่องปกติในชีวิตจริงของผู้คน    ที่ทุกคนต้องเป็นนักสงสัย    ที่ผมใช้คำว่า “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง”    ที่นำไปสู่คำถาม  และการทดลองต่อเนื่อง   

อ้าว!   ผมเปลี่ยนความไร้สาระ เป็นความมีสาระเสียแล้ว       

กลับมาที่หนังสือ เรื่อง  ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกสงสัย ไคลแม็กซ์ อยู่ที่บทที่ ๑ หน้า ๑๑๑ - ๑๒๑ ที่เขียนไม่จบ  เริ่มจากการตั้งคำถาม “การสงสัยคืออะไร”   โยงการสงสัยสู่ จิตสำนึก   การครุ่นคิด  ความจริง   อุดมคติ   

ผมคิดต่อว่า คนเราต้องตั้งข้อสงสัย “ความจริง” ที่ยึดถือกันโดยทั่วไป    เพราะความจริงเหล่านั้น เป็นสมมติ และในหลายกรณี เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม   ในบริบทอื่น “ความจริง” อาจเป็นคนละชุด    และเราควรมีสิทธิสร้าง “ความจริง” ชุดอื่นขึ้นมาใช้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือประโยชน์อันไพศาล   

คิดใหม่ ข้อความในย่อหน้าบน ที่เป็นข้อคิดของผมนั้นเอง  สื่อความไร้สาระของมนุษยชาติ  .... ใช่หรือไม่           

วิจารณ์ พานิช

๘ เม. ย.  ๖๗ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 718128เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2024 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2024 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท