ก.ข.ค. สวรรค์ประชารักษ์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสงค์ เกียรติบำเพ็ญ



พบรักปากน้ำโพ โดย หนู มิเตอร์


ท่านอย่าเพิ่งตกใจไปกับชื่อเรื่องเลยครับผมไม่วันเป็นก้างขวางคอ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ของเราหรอก เป็นแต่เพียงคำย่อของคน เก่า ขอ เขียน ฝากข้อคิดให้กับชาว สปร. เท่านั้นเอง "ชอบของขม ชมสาวสวย ช่วยศาสนา บ้าของเก่า เล่าความหลัง หนังตาหย่อนยาน ปัสสาวะนานเป็นพิเศษ" เป็นกลุ่มอาการของผู้สูงอายุ มิได้เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ใด กลุ่มอาการดังกล่าวนี้ผมจับจองได้เกือบจะหมดแล้ว วันนี้จึงเป็นเรื่องอาการ เล่าความหลัง ของคนเก่า คนเก่าของเก่า นั้นมีสองประเภทใหญ่ๆ คือจำพวก เก่ากระโหลกะลา กับ เก่าลายคราม คงจะไม่มีใครอยากเป็นอย่างแรก ผมก็เหมือนกัน จึงต้องฝากข้อคิดแทรกไปด้วย เพื่อแสดงว่ายังคิดเป็น มีคนเขากล่าวว่า สมองมีไว้ให้คนคิด มิใช่ไว้ให้รู้ อย่างเดียว อ่านแล้วจะเป็นเก่าอย่างแรกหรืออย่างหลังต้องอาศัยวิจารณญาณจากผู้อ่าน ผมตัดสินเองไม่ได้หรอก ความหลังที่จะเล่าในวันนี้ จะต้องถูกทั้งกาละและเทศะ คืออดีตของ สปร. และคุณลุง นายแพทย์ขุนวิวรณ์สุขวิทยา ซึ่งจะมีอายุครบศตวรรษในวันที่ 20 มิถุนายน 2542 ที่จะถึงนี้แล้ว สำหรับ สปร.ผมมีส่วนผูกพันอยู่ด้วยเป็นอย่างมาก ในด้านการทำงาน ผมถือว่า ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ แต่เผอิญไม่ได้ตายที่นี่ ส่วนคุณลุงขุนฯ นั้น

นอกเหนือจากการเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพแล้ว คุณลุงยังได้เป็นเจ้าภาพงานแต่งงานให้ผมด้วย ผมขอชื่นชมกับชาว สปร. ที่ได้แสดงมุทิตาจิตและกตเวทีต่อท่านอย่างจริงใจ คุณหมอชูศักดิ์ อาสารับหน้าเสื่อมาขอให้ผมเขียนเล่าถึงความหลังเกี่ยวกับ สปร. สบายครับเรื่องนี้เต็มใจอยู่แล้ว แต่ลำบากอึดอัดอยู่นิดเดียวคือเรื่องที่คิดว่าสนุก ตื่นเต้น เร้าใจแฝงไปด้วยคติ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่พูดได้แต่จารึกออกมาเป็นอักษรไม่ได้ เพราะมันอาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทใครบางคน หรือหลายคนเข้า อันจะเป็นเหตุให้ผมต้องคำพิพากษาให้จำคุกซึ่งแน่นอนจะทำให้เป็นอุปสรรคในภายหน้า หากผมเกิดได้เป็นใหญ่เป็นโตในแผ่นดินขึ้นมา เพราะไปขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องที่จะเล่าให้ฟัง ส่วนใหญ่คงเป็นเหตุการณ์ช่วงก่อสร้างอาคารใหม่ ของโรงพยาบาลปี 2504 เป็นต้นมา เป็นช่วงปฏิรูป แปรเปลี่ยนจากโรงนาเป็นโรงแรม Compact Hospital  หรูหราเชียวล่ะ โดยมี นายแพทย์โสภณ นาคไพรัชช์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ นึกถึงกลอนบทนี้ขึ้นมาทันที


อันหัวโขนสวมหัวตัวเข้าแล้ว    ก็ไม่แคล้วรำเล่นเต้นท่าโขน
แม้นไม่ยึดจังหวะและจะโคน    เอาหัวโขนสวมตอก็พอกัน

ชะรอยพี่โสฯ ของผมคงจะกลัวชนิดหัวโขนสวมตอท่านก็เลยเล่นบทผู้อำนวยการเต็มสปีด เอาจริงเอาจังมุ่งมั่นเสียสละ กิตติศัพท์เรื่องนี้พวกเรายุคโบราณซาบซึ้งดี ซึ่งตัวผมยังได้อาศัยจดจำเอาเศษๆ ไปใช้บ้างในเวลาต่อมาเมื่อฟ้าบันดาลให้ได้มีโอกาสสวมหัวโขนกับเขาบ้างแต่ก็รู้ตัวว่าเต้นโขนไม่ได้งามเท่าไรหรอกครับ มีคำฝรั่งเขาว่า

You have to be First, Best, or Different.

การที่ต้องร่วมงานกับพี่โสฯ ในฐานะเบ๊ ในสารพัดเรื่อง สำเร็จบ้างไม่ค่อยจะเข้าท่าบ้างก็ได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรเยอะ ชื่นชมกันไปก็มาก ที่ทะเลาะเถียงกันขนาดไม่มองหน้ากัน ไม่พูดกันไปก็มี บางครั้งดีใจที่สามารถทำให้ท่านต้องพึ่งยากล่อมประสาทได้ แต่ภูมิใจอย่างหนึ่งว่าที่ขัดใจกับท่านทุกเรื่อง เป็นความเห็นต่างกันเรื่องงานเท่านั้น ไม่มีแม้แต่เรื่องเดียวที่เป็นเรื่องส่วนตัว พูดถึงพี่โสฯ กับผลงานของท่าน ที่ทิ้งเป็นมรดกมาถึงพวกเราที่ สปร. ทุกคนคงจะไม่เถียงว่าท่านเป็นพระเอก เป็น Hero ในดวงใจ ฉะนั้นในบางตอนบางกรณีผมจึงต้องเขียนให้ท่านเป็นผู้ร้านเสียบ้าง จะได้รู้ว่าไผเป็นไผ ก็ท่านเป็น First, Best อยู่แล้ว บางครั้งเราจึงสวมบท Different  ดูบ้างให้ดูมีชีวิตชีวา

ช่วงเวลาการก่อสร้างอาคาร 7 ชั้น เป็นความลำบากยากเข็ญของเราถ้วนหน้าไหนจะลำบากเรื่องสถานที่ทำงาน อาคารไม้เก่าๆ อันแสนจะคับแคบ ไม่จำเริญหูจำเริญตาอยู่แล้ว ยังถูกตัดทอนรื้อเป็นบางส่วน สภาพแวดล้อมที่แทบไม่ต้องพูดถึง เป็นมลพิษทั้งรูป และเสียง แพทย์ทั้งโรงพยาบาล มีกันอยู่ไม่กี่คน นอกเหนือจากที่ประจำแล้ว ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เฉพาะกิจมากบ้างน้อยบ้างตามความรู้ความสามารถ ทั้งที่ถนัดและไม่ถนัด และที่สำคัญก็คือตามแต่ใครจะใช้ง่ายใช้ยาก เอาจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดีอยู่เวรกันถี่ยิบ เรื่องเงิน โอ.ที. ไม่ต้องพูดถึงไม่รู้จักว่าคืออะไร คือไม่มีให้เสาร์อาทิตย์ หยุดนักขัตฤกษ์ ต้องมาดูคนไข้ทุกวัน ทำงานนอกเวลาไม่เคยมีประวัติได้เงินเพิ่ม แต่ถ้าทำผิดไปบ้างก็ต้องมีผิด มีโทษ แฟร์จริงๆ สำหรับข้าราชการไทยสมัยโน้น

นอกเหนือจากงานบริการเต็มอัตตราศึกจะไม่พูดถึงงานวิชาการไมได้เลย เพราะ ผอ. ท่านเป็นนักวิชาการที่ฟิตเหลือหลาย ทั้งที่งานประจำก็หนักหนาสาหัสท่านก็ยังรุกหนักด้านวิชาการ ทุกวันเวลาราชการแปดโมงครึ่งตรง ท่านก็กำหนดให้มี X-ray Conference เอาฟิล์มมาช่วยกันอ่าน ปรึกษากันไปด้วยเพราะไม่มีหมอรังสี เสียบเข้ากับกระจกบังฝ้าบังตาเก่าๆ อาศัยแสงสว่างจากดวงตะวัน วันไหนครึ้มฟ้าครึ้มฝนหน่อย ก็อ่านยากหน่อย ผลทางอ้อมก็คือ ท่านจะได้ตรวจสอบว่ามีใครมาทำงานสายด้วย ทุกบ่ายวันอังคารและวันศุกร์ก็ต้องมี Journal club วันละ 2 คนคือสัปดาห์ละ 4 คน หมอมีอยู่กันไม่กี่คนก็เลยต้องอ่านกันคนละ 2-3 เรื่องต่อเดือน ใครที่ภาษาฝรั่งไม่ค่อยจะแตกฉาน ก็เริ่มมาแตกฉานตอนนี้ ก็อยู่กับคนฟิตนี่ครับ แค่นี้ยังไม่พอหรอกครับ ท่านขยันจัดประชุมวิชาการทั้งของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เองเป็นเจ้าภาพ และจัดในนามของกลุ่มโรงพยาบาลนครสวรรค์ รพ.ชัยนาท และ รพ.อุทัยธานี 3 โรงพยาบาลนี้โดยสภาพภูมิศาสตร์ก็อยู่ใกล้กันอยู่แล้ว เหตุผลที่สำคัญก็คือ ผอ. ทั้งสามท่านเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันพอจะด่ากันได้ ตามหลักการก็คือผลัดกันเป็นเจ้าภาพคนละเดือน แต่ภาคปฏิบัติก็คือ สปร. เป็นเจ้าภาพบ่อยที่สุด ที่เหลืออีกสองแห่งมักจะมีเหตุนานัปการที่จะเบี้ยว ถ้ามีการไปฟังวิชาการที่จังหวัดอื่น ท่านก็ขอร้องแกมบังคับให้มีเรื่องไป present ด้วย ก็สนุกพอทนกันได้

ที่นั่งที่ดีที่สุด คือนั่งในหัวใจคน (ขงจื๊อ)

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ก็ทำให้นึกถึงคำว่าผู้นำ ถ้าจะแบ่งกันอย่างหยาบๆ ก็เห็นจะมีอยู่สองแบบ แบบแรก คือผู้นำที่นั่งอยู่บนหัวคน มีให้เห็นเยอะแยะในบ้านนี้เมืองนี้ และแบบหลังก็คือ ที่นั่งในหัวใจคน ถ้าพี่โสฯ ไมได้นั่งในหัวใจคนก็คงไม่มีวันทำได้อย่างที่ผมเล่ามา ทีนี้ว่าว่ากันถึงงานธุรการบ้าง ที่จัดเป็นงานมหกรรมก็คือเรื่องคุมงานก่อสร้าง ตั้งแต่เกิดมาจากอุทรบิดามารดาก็ไม่เคยเรียนอ่านแบบพิมพ์เขียวก็ต้องมาหัดอ่านกันเรื่องนี้ Hero ของเราทุ่มสุดตัว ภาษาไพ่เขาเรียกว่า เกหมดหน้าตัก แทบว่าตรวจสอบเหล็กทุกเส้น อิฐทุกก้อน ปูนทุกยี่ห้อ ครั้งหนึ่งท่านถ่ายรูป จุดที่ผู้รับเหมาฯ ทำงานไม่ถูกต้องไว้ 135 รูป พร้อมพิมพ์ดีดบรรยายใส่อัลบั้มไว้สวยงามเพื่อสเนอให้ผู้ใหญ่จากรมการแพทย์ซึ่งเป็นต้นสังกัดในสมัยนั้น เวลาท่านมาตรวจการก่อสร้าง พอผู้ใหญ่มาท่านก็ present ให้ทราบผลน่ะเหรอครับ ผู้ใหญ่ท่านปิดอัลบั้มเสียเฉยเลย ไม่ชำเลืองดูหรอกครับ แถมยังบอกด้วยว่า การก่อสร้างที่ไหนๆ มันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ (วะ) เรื่องธรรมดาๆ แถมท้ายเวลาผู้ใหญ่จะเดินทางกลับที่พักโดยรถยนต์ ผอ. ของเราก็อุตส่าห์รีบวิ่งไปเปิดประตูรถ โค้งให้ท่านอย่างงาม ท่านไม่ยักกะมอง กลับหันหลังไปตะโกนนัดผู้รับเหมาฯ ว่า เย็นนี้กินข้าวด้วยกันนะ เรื่องนี้ผมเห็นกับตา ยังความชอกช้ำให้จารึกไว้ ในดวงใจอย่างยิ่ง นี้แล่ะฝรั่งเขาว่า

Honor suffers the most

ผลพวงจากการคุมงนก่อสร้างชนิดไม่เผาผีกับผู้รับเหมา นี่เองทำให้ช่างที่กองแบบแผน ส่งมาควบคุมการก่อสร้างร่วมกับโรงพยาบาล และหัวหน้าคนงานของโรงพยาบาลถูกตีกระบาลไปตามระเบียบจะเป็นฝีมือใคร กาลเวลาผ่านไปสามสิบปีเศษแล้วยังจับมือใครดมไม่ได้ แถมพระเอกของเราก็ตกเป็นจำเลยของกระทรวงสาธารณสุข เพราะผู้รับเหมาไปฟ้องเจ้ากระทรวงฯ เขาก็มีการจัดประชุมร่วมกับโจทย์คือผู้รับเหมา นั่งร่วมประชุมในห้องประชุม ส่วนจำเลยให้ไปนั่งจ๋อยอยู่ในห้อง มีปัญหาใดๆ จะเบิกตัวเข้าไปไต่ถามเสร็จแล้วเชิญออกไปนั่งนอกห้องอย่างเดิมเพื่อให้สำนึกเสียบ้างว่า อยากคุมก่อสร้างเก่งนักผลก็คือเจ้ากระทรวงฯ ลงความเห็นให้ย้าย ผู้อำนวยการภายใน 24 ชั่วโมง โทษน้องๆ กับฆ่าคนตายเชียวแหละ เป็นมหันตโทษ นี่แแหละที่เขาว่า บนยอดเขาสูง ลมมันแรง ก็อยากไปอยู่บนยอดเขานี่ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการนั้นเป็นทุกขลาภอย่างยิ่ง สาธุชนผู้ใดมิปรารถนาจะประสบเคราะห์กรรมนั้นพึงละเว้นเสีย จากเหตุการณ์สองเรื่องนี้ผมมีความฝังใจลึกๆ ว่าหากไม่มีเหตุจำเป็นอันมิสามารถหลีกเลี่ยงได้แล้วชาตินี้ทั้งชาติจะไม่เป็นผู้อำนวยการ แต่ดวงชะตาก็กำหนดให้เป็น แล้วก็เกิดเหตุคล้ายๆ กันแต่เบากว่าหน่อยคือ รายของผมที่เจ้ากระทรวงเขาสั่งให้ย้ายเมื่อไปปฏิบัติหน้าที่ได้ 4 เดือน กรณีพี่โสฯ นี่ทำให้นึกถึงสักวาบทหนึ่งขึ้นมาทันที

"สักวาเรือดีไม่ขี่ข้าม     ไปเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่
อยากให้ราชการงานดี  ไปเอาคนอัปรีย์มาใช้งาน"

เรื่องที่มันทับถมกันมาหลายเรื่องผมเดาของผมเองว่าก็คงจะค่อยๆ ตกตะกอนในหัวใจเป็นเหตุให้ นพ.โสภณ นาคไพรัชช์ ตัดสินใจจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ไปตายเอาดาบหน้าหลังจากที่ได้ปฏิบัติภารกิจอันสำคัญของชีวิตเสร็จเรียบร้อย ฝันเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ก็เดินทางจากเมืองไทยไปในวันรุ่งขึ้นจากที่องค์พระประมุขของชาติ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารโรงพยาบาลใหม่ ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องที่ท่านเป็นผู้ร้ายในสายตาผมบ้างมิฉะนั้นจะดีเกินไป

วันดีคืนร้ายท่านก็เชิญผมไปทานอาหารเย็นที่บ้านท่าน เราก็ดีใจที่จะได้รับประทานอาหารฟรีสักมือหนึ่งพออืฃิ่มหนำสำราญดี ท่านก็เล่นบทลูบหลังแล้วตบหัว หยิบเอาเรื่องที่มอบหมายให้ผมไปทำ แล้วยังไม่คืบหน้าทันใจท่านสิบกว่าเรื่องมาเทศนา ตัวอย่างเช่น ออกแบบปกหนังสือเปิดโรงพยาบาล ไม่เสร็จวันที่ท่านเร่งอยู่นั้น โรงพยาบาลเพิ่งจะก่อสร้างคานคอดินเสร็จชั้นที่หนึ่งยังไม่ได้สร้าง ผมเลยกราบเรียนท่านว่าวันหน้าวันหลังอย่าได้เชิญผมไปรับประทานอาหารอีก เพราะร่างกายผมไม่สามารถย่อยอาหารมื้อนั้นได้ เอาอีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้ พอก่อสร้างตึกชั้นที่สองท่านก็มาเร่งผมว่าออกแบบเขียนป้ายหน้าห้องพิเศษต่างๆ เสร็จหรือยัง ตึกสร้างถึงชั้นที่ 4 ท่านก็จะสร้างวิทยาลัยพยาบาล พอถึงชั้นที่ 6 ท่านก็วางแผนจะให้เป็นโรงเรียนแพทย์ เอากับท่านสิ

ผมได้รับเกียรติให้เป็นที่ปรึกษาของท่านหลายเรื่องถ้าเรื่องไหนเห็นตรงกัน ท่านก็รีบทำด้วยความยินดี แต่ถ้าเห็นไม่ตรงกับท่าน ท่านก็รีบทำด้วยความยินร้าย คือคิดจะทำอะไรแล้วต้องทำก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า แล้วท่านปรึกษาทำไม คงจะแค่หาเพื่อนร่วมอุดมการณ์บ้างเท่านั้น คือปรึกษาเรื่องที่ได้ตัดสินใจแล้วว่ายังไงๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะทำ ผมบอกแล้วไงว่าต้องให้ท่านเป็นผู้ร้ายเสียบ้าง ย้อนกลับมาถึงงานใหญ่ที่อยู่ข้างหน้า คือเตรียมการ เพื่อการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารโรงพยาบาล หลังจากที่ได้รับพระราชทานนาม สวรรค์ประชารักษ์ มาให้แล้วที่เป็นงานช้างโดยแท้ ทุกคนมีหน้าที่หมด ส่วนตัวผมได้รับมอบหมายหลายเรื่อง เอาเฉพาะหน้าที่หลักๆก็คือ ค้นประวัติโรงพยาบาลจารึกแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่สองข้างประตูเข้าโรงพยาบาลที่ท่านเดินผ่านกันทุกวันนี้แหละ ประสานกับผู้บริจาครายใหญ่เพื่อการเข้าเฝ้าฯ เขียนคำกราบบังคมทูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และร่างพระราชดำรัสตอบหากจะทรงมี ให้กระทรวงฯ และสำนักพระราชวังพิจารณา ยอมรับว่าเกิดมาไม่เคยเขียน ราชาศัพท์ก็รู้เท่าที่เรียนมาเล็กน้อยจากชั้นมัธยมศึกษากับจำมาจากดูลิเกเท่านั้นก็ดั้นกัดฟันทำส่งไปก็มีปัญหาบางประการแต่แล้วก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่กว่างานขนาดนี้จะลุล่วงไปได้ก็มีอุปสรรคค่อนข้างมาก ซึ่งผมไม่สามารถจะนำมาเล่า ณ ที่นี้ได้ด้วยเหตุผลบางประการ แต่เพียงจะบอกพวกเราว่า คุณลุง ขุนวิวรณ์ฯ ได้กรุณาให้ความร่วมมือและมีส่วนช่วยเหลืออย่างมาก ซึ่งผมต้องกราบขอขอบพระคุณท่าน แทนชาว สปร. ทั้งหลายทั้งปวง ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารใหม่ของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2513 และยังได้พระราชทาน เหรียญราชรุจี ให้แก่ นพ.โสภณ นาคไพรัชช์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนที่อุทิศตนให้กับราชการและประเทศชาติ ทางโรงพยาบาลจึงได้ถือเอาวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปีเสมือนเป็นวันคล้ายวันเกิดของโรงพยาบาลนับตั้งแต่นั้นมา

ทำดีดี ทำชั่วชั่ว (พุทธทาสภิกขุ)

บางทีพวกเราบางคนอาจจะมองว่า ที่พระท่านว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นบางทีมันก็ไม่จริง บางคนไมได้ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ท่านพุทธทาสท่านสอนใหม่ว่า ทำดีดี ทำชั่วชั่ว คือทำดีหรือชั่วมันดีมันชั่วทันทีตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเลยไม่ต้องรอเพราะมันดีหรือชั่วไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องรอฟังผล ซึ่กก็จริง เถียงท่านไม่ได้เลย ขออนุญาตท่านผู้อ่านเล่าเรื่องส่วนตัวบ้าง เพื่อจะฝากข้อคิดอันอาจจะเป็นประโยชน์มิได้มีเจตนาจะประชาสัมพันธ์ตัวเองหรอกครับ ที่อยากเล่าก็เพราะมีประสบการณ์ว่าการได้สองขั้นของพวกเราเป็นปัญหากันแทบทุกปี และแทบทุกสถานที่สมัยนั้นการจะได้สองขั้นผู้อำนวยการจะต้องเสนอขอไปที่กรมการแพทย์ โดยกรมฯ จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

พี่โสฯ ท่านคงเมตตาผมว่าเงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนเพราะมัวไปเสียเวลาอบรมที่เมืองมะริกาเสียหลายปี และก็คงจะเห็นว่าใช้งานเยอะพอสมควรจึงได้กรุณาขอสองขั้นให้ 5 ครั้งที่ขอถึง 5 ครั้งก็ไม่ใช่เพราะสร้างคุณงามความดีอะไรมากมายหรอกครับ กรุณาอย่าเข้าใจผิดเพราะขอไปทีไรไม่เคยได้สักที กรมการแพทย์สมัยนั้นคงได้พิจารณาดูหน้าตาของผมแล้ว ลงมติว่าเป็นมลพิษกับกรมฯ เป็นอย่างยิ่ง และคงไม่ชอบคนว่ายากก็เลยไม่อนุมัติให้ผม แต่กลับไปอนุมัติให้กับบุคคลที่ผู้อำนวยการไม่ได้เสนอขอให้แทน ก็นับเป็นความหน้าแตกประการหนึ่งของคนเป็นผู้อำนวยการซึ่งมีตำแหน่งใหญ่ แต่ยังใหญ่ไม่จริง ถ้าจะถามผมว่าท้อไหม? จริงๆ แล้วท้อมากเลย แต่ถอยไม่ได้ครับ ทำไมหรือ? ก็เพราะถือว่า



it's easy to be pleasant
When life goes along with a song.
But the man worth-while
Is the man who can smile
When everything else goes wrong.


ทำใจได้ไหมครับ? ทำยากมากแต่ต้องทำให้ได้ ทำไมได้ก็อยู่ไมได้ it can be done! ตัวผมเองได้สองขั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อรับราชการได้ 19 ปีครับ ฉะนั้นพวกเราที่ยังไม่ได้สองขั้นหรือได้แล้วยังไม่ได้อีกอย่าถือว่าเป็นเหตุใหญ่หลวงถึงกับว่าไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกต่อไปแล้ว เลยครับ

ผมชอบคำพูดของ ฯพณฯ อานันท์ ปัณยารชุน ที่ว่า "ชีวิตเหมือนลูกปิงปอง จมน้ำอยู่เท่าที่มือกดไว้ เมื่อหมดมือที่กดก็จะลอยขึ้นมา" ความที่ชอบเจ้าบทเจ้ากลอนก็เลยขอฝากคำนี้

เมื่อล้มจงลุกอย่าทุกข์ท้อ     สานต่อก่อตั้งความหวังใหม่
แม้นวันนี้ไม่มีสิทธิ์พิชัติชัย   ก็ยังมีวันใหม่ให้ก้าวเดิน

สำหรับผู้อำนวยการในระยะเวลาต่อมาที่ผมมีโอกาสได้ร่วมงานด้วยอทิ นพ.ปุ่น ปิยะศิลป์ ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพรักและนับถือได้สนิทใจอีกผู้หนึ่งและต่อมาก็คือ นพ.อารี มูลพันธ์ ผมก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับท่าน ก็อยู่กันมานาน ก็เป็นบุคคลที่ดีมากอีกท่านหนึ่ง แต่ที่ผมไม่ได้นำผลงานท่านมาพูดในที่นี้ก็ด้วยความจำกัดของเนื้อที่ และก็เป็นความความหลังที่ยังไม่นานพอพวกเราส่วนใหญ่ยังจำกันได้ดีก็ต้องขออภัย คุณลุงขุนวิวรณ์ฯ และคุณป้าฉวี นั้นท่านเป็นปูชนียบุคคลไม่เพียงแต่ชาว สปร. แต่กับชาวนครสวรรค์ไม่ว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือลูกเด็กเล็กแดงท่านเกิดมาเพื่อนจะเป็นผู้ให้โดยแท้ ให้โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ หากจะพูดถึงคุณความดีของท่านก็คงเป็นเรื่องยาวมาก ซึ่งพวกเราตระหักดี ผมขอถือโอกาสนี้ยกย่องคุณงามความดีของท่านจารึกไว้ ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตเป็นมิ่งขวัญของเราไม่ต้องรอไปสรรเสริญเฉพาะในงานพระราชทานเพลิงศพ แด่ชาว สปร. รุ่นน้ง รุ่นลูก รุ่นหลาน ทั้งหลานผมอยากจะบอกว่าทุกวันนี้ ท่านเดินบนกลีบกุหลาบที่ชนรุ่นยุคบุกเบิกแผ้วถางทางไว้ให้ท่านแล้ว ขอให้ช่วยกันสานต่อ เพื่อความสำเร็จขององค์กรของเรา เพื่อให้หน่วยกล้าตายรุ่นแรกๆ ได้ชื่นชมเถิด หนักนิดเบาหน่อยก็ทำไปเถิด

คนทุกคนจะเป็นใหญ่อย่าใจน้อย อะไรนิดอะไรหน่อยอย่าโหยหา ไม่มีใครตายเพราะทำงานหนักหรอก เชื่อผมเถอะ ผมมีเคล็ดไม่ลับในการรับราชการซึ่งไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการที่พวกเราจะนำไปใช้อยู่สองอย่าง อย่างแรกถ้าอยากจะให้เจ้านายเขารักเขาชอบก็จงประจบแต่อย่าสอพลอ สองคำนี้ต่างกันอย่างไรหาดูได้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อีกอย่างถ้าต้องการทำงานอย่างมีความสุขจนเกษียณอายุราชการ อย่าเรียกร้อง อย่าเรื่องมาก อย่าอยากใหญ่

ผมบอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะฝากข้อคิดข้อคิดอันหนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ ก็คือ ชีวิตคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเก่งเลือกกล้าได้ ขอฝากให้พิจารณาและขอให้เลือกเก่งเลือกกล้าในกาละเทศะอันควรถ้าสิ่งใดควรที่ควรจะกล้า ก็กล้ากันเถอะครับ ประเทศชาติต้องการบุคคลประเภทนี้บ้างนอกเหนือจากลูกขุนคอยพยัก เมื่อมีการปฐมนิเทศน์นักศึกษาแพทย์ธรรมศาสตร์รุ่นแรกของ สปร. ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรผมจำได้ว่าผมได้ฝากอมตวาทะจากวรรณกรรมสามก๊กไว้ และคงจะไม่เป็นไร หากจะนำมาฉายซ้ำให้พวกเราอีกครั้ง

"เกิดเป็นคนในแผ่นดิน ถ้าพิเคราะห์เห็นผู้ใดมีบุญวาสนา ก็เข้าไปนอบน้อมเป็นข้าด้วยหวังสุขสบาย โดยไม่พิจารณาถึงผิดถูกชั่วดีจะมีค่าแห่งความเป็นคนตรงไหน"

สำหรับคุณลุงขุนวิวรณ์ฯ และ นพ.โสภณ นาคไพรัชช์ ผมขอมอบวาทะแด่ท่านทั้งสองว่า สิ่งที่ท่านได้บำเพ็ยประโยชน์ให้กับชาติกับเมืองท่านได้


ทิ้งรอยเท้า ก้าวเยื้อง ไว้เบื้องหลัง
ดังรอยฝังคุณธรรมความยิ่งใหญ่
เป็นที่ขังน้ำคำและน้ำใจ
ไม่ปล่อยให้ขังน้ำตาประชาชน



ที่มา

"___________". ที่ระลึกวันครบรอบอายุ 100 ปี (นายแพทย์) ขุนวิวรณ์สุขวิทยา และวันโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 20 มิถุนายน พ.ศ.2542. พิมพ์ครั้งที่ 1..--นครสวรรค์ฯ ; ทิศทางการพิมพ์ , 2542.

หมายเลขบันทึก: 224971เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2008 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดดีครับท่านกวีเทวดานามว่า กวิน

เข้ามาทักทายตามปกติ อยากอ่านๆตำนานมทางภาษาครับ

ขอบคุณครับ บังหีม--ผู้เฒ่าnatachoei--  จะพยามๆ นึกๆ แล้วมาเขียนไว้นะครับ :)

สมตามคำเล่าลือ ท่านกวีเทวดา

เพลงเพราะก่อนนอน ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ  krutoi เสียงฤาเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย 5555

เข้ามาอ่านค่ะ ที่โรงพยาบาลเรื่องสองขั้นปัญหาไม่มากนักค่ะ

ให้กำลังใจในการทำงานต่อไปนะคะ

ขอบคุณๆ หมอที่แวะมาเยี่ยมตามคำเชิญครับ :)

เพลงเพราะ  ชอบจัง...สวัสดีวันตรุษจีนล่วงหน้า...ดูแห่สิงโตที่ปากน้ำโพทางทีวียิ่งใหญ่จังเลยนะคะ....

"เกิดเป็นคนในแผ่นดิน ถ้าพิเคราะห์เห็นผู้ใดมีบุญวาสนา ก็เข้าไปนอบน้อมเป็นข้าด้วยหวังสุขสบาย โดยไม่พิจารณาถึงผิดถูกชั่วดีจะมีค่าแห่งความเป็นคนตรงไหน"

โชก็เสาะใส่ท้องหยิบเนื้อกินเอง..จำมาอีกทีชอบคำกล่าวแต่จำคนแต่งไม่ได้..เพราะอ่านมานานโข

เมื่อล้มจงลุกอย่าทุกข์ท้อ     สานต่อก่อตั้งความหวังใหม่
แม้นวันนี้ไม่มีสิทธิ์พิชัติชัย   ก็ยังมีวันใหม่ให้ก้าวเดิน

                                              ขอบคุณค่ะ

สวัสดีพี่ nussa-udon ขอบคุณครับ เอาไปเขียน เป็นบันทึกใหม่เสียเลย http://gotoknow.org/blog/kelvin/236788 

แวะมาฟังเพลงเย็นๆหมู่นี้อากาศร้อนมาก...สบายดีนะคะน้อง

ขอบคุณพี่นุสครับ สบายดีครับ ใจยังร่มเย็นดี ครับ

สวัสดีค่ะคุณกวิน

บันทึกนี้ยาว แต่มีเนื้อหาน่าอ่านดีมาก ๆ เลยค่ะ

สบายดีนะคะ

(^__^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท