AHS Core Value : ฉบับติวเข้ม


เวลานี้ถึงเวลาแล้วที่จะรู้สึกโดยทั่วกันว่า เมืองเราตกอยู่ในที่ลำบากยากยิ่งกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากจะปล่อยตามบุญตามกรรมไปเช่นแต่ก่อนหาได้ไม่

          ค่านิยมร่วม (Core Value) ของคณะสหเวชศาสตร์  : Faculty of Allied Health Sciences ที่จำง่ายๆ ตามชื่อย่อภาษาอังกฤษองคณะว่า AHS นั้น มาจากคำว่า Ability: ความสามารถ  Honesty: ความซื่อสัตย์  และ Sociablity: มีมนุษยสัมพันธ์ 

          แม้ดิฉันจะเคยใช้ความพยายามที่จะขยายความของคำแต่ละคำที่บ่งถึงคุณค่าร่วมที่สำคัญที่เราควรยึดถือร่วมกันไปแล้ว โดยนำหลักการ Fifth Discipline ของ Peter Senge เข้ามาช่วยขยายความ

          กระนั้นก็ตามก็ยังรู้สึกว่า  คำอธิบายดังกล่าว ยังไม่ลึกซึ้งถึงแก่น  ไม่กินใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจได้มากเท่าไรนัก

          แต่จู่ๆ ก็เหมือนสวรรค์บันดาล คุณ Conductor สมาชิก Blog Gotoknow ที่ดิฉันแอบปิ๊งและแอบติดตามมาโดยตลอด ได้เขียนบันทึกเรื่อง หลักราชการ โดยท่านได้น้อมนำเอาบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ซึ่งพระราชทานไว้เกือบร้อยปีแล้ว มาให้ชาว G2K อ่านโดยทั่วกัน

          ที่ดิฉันว่า ว่าเหมือนสวรรค์บันดาลก็เพราะ ในบทพระราชนิพนธ์นี้ มีความหมายที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง ของคำทั้งสามคำที่ดิฉันกำลังค้นหาอยู่ (ความจริงมีมากกว่าคำ 3 คำนี้ แต่ดิฉันขอยกมาเพียง 3 ข้อ เพื่อให้สมาชิกคณะสหเวชฯ ทุกท่านดื่มด่ำและเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงคุณค่าร่วมของคณะสหเวชศาสตร์ 

          พระองค์ท่านอธิบายไว้โดยละเอียด  ล้ำลึก แต่เข้าใจได้ง่ายๆโดยทันที  ยากยิ่งที่จะหาใครมาอธิบายได้เสมอเหมือนพระองค์ท่าน  ดังนี้

          ความสามารถ : A

          คำว่าสามารถนั้น มีบางคนก็เข้าใจกว้าง ๆ บางคนก็เข้าใจแต่แคบ ๆ อย่างที่แคบ คือใครทำการได้ดีเต็มตามวิชาที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ก็เรียกว่าเป็นคนที่มีความสามารถเสียแล้ว แต่แท้จริงควรจะใช้คำว่าชำนาญจะเหมาะกว่า เปรียบเหมือนช่างไม้ ช่างเหล็กหรือช่างอะไร ๆ ที่ทำงานดี ๆ ก็หากล่าวไม่ว่าเขาสามารถ มักกล่าวแต่ว่าเขาฝีมือดี และผู้ที่ขี่ม้าขับรถเก่ง ๆ ก็หากล่าวไม่ว่าเขาสามารถ กล่าวแต่ว่าเขาชำนาญ แต่ผู้ที่ได้รอบรู้วิทยาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วใช้ความรู้นั้น โดยอาการอันช่ำชอง มักกล่าวกันว่าเขาสามารถ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเกินกว่าที่ควรไปโดยแท้ อันที่จริงผู้ที่ได้เรียนการช่างไม้จนทำการในหน้าที่ของเขาได้ดีทุกสถานแล้ว ไม่เลวไปกว่าผู้ที่ได้เรียนกฎหมายจนว่าความได้นั้นเลย แต่เป็นชำนาญการคนละอย่างเท่านั้น แต่ถ้าจะแปลความสามารถให้กว้างออกไป ต้องแปลว่าสิ่งซึ่งกระทำให้ความเป็นใหญ่มีมาแต่ผู้ที่มีอยู่ และจะแปลให้ดีกว่านี้ก็ยาก เพราะความสามารถเป็นสิ่งซึ่งมิได้อยู่ในตำรับตำราอันใด และจะสอนให้แก่กันก็หาได้ไม่ ย่อมเป็นสิ่งซึ่งบังเกิดในตัวบุคคลเอง หาใช่เพาะขึ้นโดยหาคะแนนมาก ๆ ในเวลาสอบไล่ในโรงเรียนหรือโดยได้ประกาศนียบัตรหลาย ๆ ใบก็หามิได้ การแปลคำว่าสามารถแคบไปนั้นแหละ ทำให้เป็นเครื่องบำรุงความโทมนัสแห่งบุคคลบางจำพวกเป็นอันมาก คำว่าสามารถควรแปลเสียให้กว้างทีเดียวว่า "อาจจะทำการงานให้เป็นผลสำเร็จได้ดียิ่งกว่าผู้ที่มีโอกาสเท่า ๆ กัน" เช่น ต่างว่าคน ๒ คนได้เรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกัน สอบไล่ได้ปาน ๆ กัน ได้ไปยุโรปด้วยกัน เรียนเท่า ๆ กันอีก และกลับพร้อมกัน เข้ารับราชการพร้อมกันในหน้าที่คล้าย ๆ กัน แต่ครั้งเมื่อทำงานแล้ว คน ๑ รู้จักใช้วิชาของตนให้เหมาะแก่กาลเทศะและสมเหตุสมผล อีกคน ๑ ต้องคอยให้นายชี้หนทางให้ทำก่อนจึงทำ เช่นนี้นับว่าคนที่ ๑ เป็นผู้มีความสามารถมากกว่าคนที่ ๒

          ความสามารถนั้นแหละ เป็นสิ่งซึ่งต้องการสำหรับคนที่จะใช้เป็นผู้บังคับบัญชาคน ไม่ว่าในหน้าที่ฝ่ายทหารหรือพลเรือน และเมื่อผู้ใหญ่เขาจะเลือกหาผู้บังคับบัญชาคน เขาย่อมจะเพ่งเล็งดูความสามารถมากกว่าดูภูมิวิชา (ถ้าเขาคิดถูก) แต่ผู้ใหญ่ที่หลงไปเพ่งเล็งแต่ภูมิวิชาเท่านั้นก็มี ซึ่งในไม่ช้าก็ต้องรู้สึกว่าคิดผิด เพราะผู้ที่มีวิชาแต่ไม่รู้จักใช้วิชานั้นให้เป็นประโยชน์จริง ๆ ได้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกับวานรซึ่งถือแก้วไว้ในมือ แต่จะรู้ราคาแห่งแก้วนั้นก็หามิได้

          ดังนี้ก็เป็นอันสรุปความได้แล้วว่า ความสามารถเป็นลักษณะอัน ๑ แห่งผู้บังคับบัญชาคน

        ความซื่อตรงต่อหน้าที่ : H

          ข้อนี้เป็นข้อสำหรับคนทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยและจะเป็นผู้สั่งหรือผู้รับคำสั่งก็เหมือนกัน เมื่อเป็นสิ่งสำคัญเช่นนี้แล้วก็เป็นที่น่าประหลาดใจที่สุดที่ดูคนโดยมากเข้าใจข้อนี้น้อยเต็มที

          ถ้าจะถามว่า ความซื่อตรงต่อหน้าที่แปลว่ากระไร บางทีจะได้รับคำตอบต่าง ๆ กันอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว บางคนก็น่าจะตอบว่า "ไปออฟฟิซทุกวัน ตรงตามเวลา ไม่ขาดและไม่ช้า" ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นอันใช้ได้ส่วน ๑ แต่จะต้องขอถามต่อไปว่าเมื่อไปถึงออฟฟิซแล้วนั้นไปทำอะไร? ถ้าเพียงแต่ไปนั่งสูบบุหรี่คุยกับเกลอถึงเรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ มีนินทานายของตัวเองหรือนินทาคนอื่นเป็นต้น หรืออ่านหนังสือพิมพ์ หรือเขียน "คอร์เรสปอนเดนซ์" ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ด่าคนเล่น ดังนี้นับว่าไม่ใช่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ที่ออฟฟิซเป็นที่สำหรับทำงานการ และถ้าไปออฟฟิซไม่ได้ทำงานแล้วก็เท่ากับไม่ได้ไป เพราะฉะนั้นถ้ายกเอาการไปออฟฟิซทุกวันเป็นพยานแห่งความซื่อตรงต่อหน้าที่เพียงพอแล้วหาได้ไม่ ต้องประกอบกับไปทำการงานเป็นประโยชน์โดยตรงตามหน้าที่ด้วยจึงจะใช้ได้

          บางคนก็อาจจะตอบว่า "ซื่อตรงต่อหน้าที่แปลว่าไม่โกงเงินหลวง" ซึ่งนับว่าเป็นคำตอบที่ใช้ได้เหมือนกัน แต่จะรับรองว่าถูกต้องบริบูรณ์ก็ยังไม่ได้อีก เพราะเป็นแต่เว้นจากการฉ้อโกงเท่านั้นจะถือเป็นว่าได้ทำการอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ และถ้าจะถือเอาการเว้นจากโกงเป็นความชอบแล้ว ก็จะมิต้องถือต่อไปด้วยหรือว่า การโกงนั้นเป็นของปกติ? จำจะต้องถือเช่นนั้น จึงจะยกความไม่โกงขึ้นเป็นความชอบได้ เพราะการทำความชอบต้องแปลว่าทำดีผิดปกติ ก็อันที่จริงการไม่โกงนั้นเพราะความละอายแก่บาป หรือกลัวบาป หรืออย่างต่ำลงไปอีกหน่อยก็เพราะกลัวติดคุกต่างหาก เพราะฉะนั้นการที่รักษาตัวของตัว จะเรียกว่าทำลายความชอบอย่างไร ต้องเรียกแต่ว่าประพฤติเสมอตัวเท่านั้น

          ถ้าจะตอบให้ดีที่สุด ควรตอบว่า "ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือตั้งใจกระทำกิจการ ซึ่งได้รับมอบให้เป็นหน้าที่ของตนนั้นโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหวิริยภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจการนั้น ๆ บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่จะพึงมีหนทางจัดไปได้"

          ตามที่กล่าวมานี้ ดูก็ไม่สู้จะเป็นการยากเย็นอันใด แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอยู่บางคน ซึ่งไม่สามารถจะปฏิบัติเช่นนี้ได้ โดยมากมักเป็นเพราะเหตุที่ตีราคาตนแพงกว่าที่ผู้อื่นเขาตี เช่นเขามอบให้กวาดเฉลียง ถ้าจะตั้งใจกวาดไปให้ได้ดีจริง ๆ ก็จะได้ดี แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเห็นไปเสียว่า ถ้าแม้ได้เลี้ยงชะมดก็จะดี แล้วก็เลยไปคิดฟุ้งซ่านแต่ในการเลี้ยงชะมดซึ่งมิใช่หน้าที่ ละทิ้งการกวาดเฉลียงซึ่งเป็นหน้าที่ของตนแท้ ๆ นั้นเสีย คราวนี้ต่างว่าย้ายให้ไปทำหน้าที่เลี้ยงชะมดตามปรารถนา พอใจหรือ ๆ เปล่าเลยไพล่ไปคิดถึงการรดต้นไม้ ถ้าเปลี่ยนให้ไปทำการรดต้นไม้ ก็ไพล่ไปคิดถึงการกวาดกระไดไชรูท่ออะไรไปอีก บุคคลที่เป็นเช่นนี้เป็นตัวอย่างอันแท้แห่งผู้ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ เปลืองสมองซึ่งเอาไปใช้ในสิ่งซึ่งไม่ใช่กิจของตนเลย ผู้ที่ซื่อตรงต่อหน้าที่แท้จริงแล้ว เมื่อรับมอบให้ทำการอะไรต้องตั้งใจตั้งหน้าทำการอันนั้นไปอย่างดีที่สุด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ผู้ใหญ่เขาวินิจฉัยว่าความสามารถเหมาะเพียงเท่านั้น หรือจะพอขยับเขยื้อนเลื่อนขึ้นทำงานในตำแหน่งที่สูงกว่านั้นขึ้นไป ถ้าผู้ใดประพฤติให้ซื่อตรงต่อหน้าที่อะไรที่มอบหมายให้ทำคงไม่ละทิ้ง

          ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป : H

           ข้อนี้เป็นคุณวิเศษสำคัญอัน ๑ ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมแห่งชนทั่วไป เว้นเสียแต่คนโง่จึงจะเห็นเป็นความโง่ และคนโกงเห็นเป็นโอกาสสำหรับโกง

          คนเราไม่ว่าจะเป็นคนสำคัญปานใด ย่อมต้องอาศัยกำลังผู้อื่นในกิจการบางอย่าง จึงมีสุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า "ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย นายพึ่งบ่าว เจ้าพึ่งข้า"

          เมื่อความจำเป็นมีอยู่เช่นนี้แล้ว จึงต้องคำนึงดูว่า จะทำอย่างไรจึงจะได้ใช้กำลังของผู้อื่นนั้นโดยความเต็มใจของเขา?

          วิธีที่บุคคลเลือกใช้นั้น ย่อมมีต่าง ๆ กัน แล้วแต่สถิติของตนและผู้ที่ต้องการจะอาศัยกำลัง

          ถ้าเป็นผู้มีทรัพย์ ก็จำหน่ายทรัพย์เป็นสินจ้าง หรือเป็นสินบน หรือเป็นเครื่องล่อใจ หรือเป็นของกำนัล สุดแท้แต่ลักษณะแห่งบุคคลที่ต้องการกำลัง

          ถ้าเป็นผู้มีอำนาจ และเป็นคนที่โง่หน่อย ก็ใช้แต่อำนาจและอาญาบังคับผู้น้อยให้ตามใจตน แต่ถ้าฉลาดหน่อยก็ใช้ยอ หรือล่อด้วยเปิดหนทางให้ได้รับผลประโยชน์พิเศษ

          ถ้าเป็นผู้ที่ถือตนว่ามีสติปัญญาหลอกลวงโดยอาการต่าง ๆ นี้ คือบุคคลจำพวกที่เรียกตนว่า "นักรู้การเมือง" (โปลิติก) ซึ่งมักใช้วาจาและโวหารลวงให้ตายใจ แล้วจึงจะใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือหรือลงสุดก็ "เต๊ย"

          ถ้าเป็นผู้น้อย ไม่มีทรัพย์ และอ่อนในความสามารถ และต้องการกำลังช่วยเหลือของผู้ใหญ่ ก็มักใช้วิธีสอพลอซึ่งตามสมัยใหม่ชอบใช้เรียกกันว่า "ป.จ." แต่ซึ่งแท้จริงไม่ตรงศัพท์เลย เพราะการประจบ อาจจะกระทำได้โดยความตั้งใจซื่อตรง คือตั้งใจเพียงแสดงความอ่อนน้อมยอมอยู่ในถ้อยคำหรือให้ใช้สอย เพราะความภักดีฉันข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย บุตรกับบิดามารดา หรือศิษย์กับครู ดังนี้ จะปรับเอาเป็นความชั่วร้ายอย่างไร เป็นของธรรมดาต่างหาก แต่ส่วนการ สอพลอ นั้น มีความมุ่งหมายชั่วเป็นพื้นอยู่คือรู้แล้วว่าความสามารถของตนย่อมเยา จึงเอาปากหวานเข้าแทนเพื่อช่วยพาตนไปสู่ที่ซึ่งตนมิอาจไปถึงได้โดยอาศัยความสามารถของตนโดยลำพัง เมื่อความจริงเป็นอยู่เช่นนี้แล้ว ผู้ที่ได้ดีเพราะสอพลอนั้น จะได้ดียั่งยืนอยู่ก็มิได้ เพราะเมื่อความสามารถไม่พอแก่หน้าที่แล้ว ก็คงจะทำการไปไม่ตลอดเป็นแน่แท้ ส่วนผู้ทีมักบ่นติเตียนคนสอพลอนั้น บางคนก็บ่นเพราะความเกลียดชังคนที่ไม่ซื่อตรงจริง ๆ แต่ถ้าคำบ่นนั้นมีอยู่ว่า "เราเองมันสู้เขาไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จัก "ป.จ." เช่นนี้ไซร้ ต้องเข้าใจได้ทีเดียวว่า บ่นเพราะความริษยาและถ้าต้องริษยาแล้วก็แปลว่าขาดความเชื่อถือในความสามารถของตนเองเสียแล้ว จึงรู้สึกตนว่าแพ้เปรียบคนสอพลอซึ่งดีแต่พูดเท่านั้น ก็เป็นอันว่าตนเองก็คงดีแต่พูดเท่านั้นเหมือนกัน และที่แค้นเคืองก็เพราะตนเองไม่มีโอกาสที่จะสอพลอได้บ้างเท่านั้น ผู้ที่มีความสามารถจริง เป็นคนดีจริงอย่างบริบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องวิตก อย่างไร ๆ ก็คงต้องมีผู้แลเห็นความดี เพราะฉะนั้น การบ่นอิจฉาริษยาพวกสอพลอก็ไม่เป็นการจำเป็นอะไรเลย

          ที่จริงหนทางดีที่สุด ที่จะดำเนินไปเพื่อให้เป็นที่นิยมแห่งคนทั้งหลายมีอยู่คือความประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนควรเขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์พูดอะไรเป็นมั่น ไม่เหียนหันเปลี่ยนแปลง คำพูดไปเพื่อความสะดวกเฉพาะครั้ง ๑ คราว ๑ ไม่คิดเอาเปรียบใคร โดยอาการอันเขาจะขันแข่งไม่ได้ ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่หาดีใส่ตัวหาชั่วใส่เขา เมื่อผู้ใดมีไมตรีตอบต่อก็ตอบแทนด้วยไมตรีโดยสม่ำเสมอ ไม่ใช่ความรักใคร่ไมตรีซึ่งผู้อื่นมีแก่เรานั้นเพื่อเป็นเครื่องประหารเขาเองหรือใคร ๆ ทั้งสิ้น

          ความประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไปเช่นนี้ ปราชญ์ทุกชาติทุกภาษาย่อมยกย่องว่าเป็นคุณวิเศษอีกอัน ๑ ซึ่งเป็นลักษณะแห่งผู้เป็นใหญ่แท้จริง และถึงผู้ที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้น้อย ถ้าประพฤติได้เช่นนี้ก็ย่อมจะเป็นศรีแก่ตน ทำให้คนนิยมรักใคร่และให้ผู้ใหญ่เมตตากรุณาเป็นอันมากเหมือนกัน

        ความรู้จักนิสัยคน : S

         ข้อนี้เป็นของสำคัญสำหรับผู้ที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติกิจการ ติดต่อกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย

          ถ้าเป็นผู้น้อย เป็นหน้าที่จะต้องศึกษาและสังเกตให้รู้นิสัยของผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ต้องรู้ว่าความคิดความเห็นเป็นอย่างไร ชอบทำการงานอย่างไร ชอบหรือชังอะไร เมื่อทราบแล้วก็อาจที่จะวางความประพฤติและทางการงานของตนเองให้ต้องตามอัธยาศัยของผู้ใหญ่นั้นได้ ที่แนะนำเช่นนี้ ไม่ใช่แปลว่าให้สอพลอ เป็นแต่ให้ผ่อนผันให้เป็นการสะดวกที่สุดแก่การเท่านั้น การที่สอพลอนั้นไม่จำเป็นเลย แต่การที่จะอวดดีกระด้างกระเดื่อง เพื่อแสดงความฉลาดหรือสามารถของตนเองก็ไม่จำเป็นเหมือนกัน และหาใช่หนทางที่ปราชญ์สรรเสริญไม่ ตรงกันข้าม ปราชญ์ย่อมสรรเสริญผู้ที่รู้จักเจียมตั จึงได้จัดเอา "มทฺวํ" เข้าไว้เป็นธรรมอัน ๑ ในธรรมทั้ง ๑๐ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงปฏิบัติเป็นนิตย์ ผู้ที่รู้จักอ่อนน้อมย่อมเป็นที่รักใคร่และเมตตาแห่งผู้ใหญ่ และถ้าประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมอยู่โดยปกติแล้ว ถึงว่าจะพูดจาทักท้วงผู้ใหญ่บ้างในทางที่ถูก ผู้ใหญ่ก็โกรธไม่ได้เลย

          ถ้าตนเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาคนมาก ๆ การรู้จักนิสัยคนก็ยิ่งเป็นการจำเป็นยิ่งขึ้น เพราะคนเราไม่ใช่ฝูงแพะฝูงแกะ ซึ่งจะต้อนไปได้โดยใช้ร้อง "ฮุย ๆ" หรือเอาไม้ไล่ตี บางคนก็ชอบขู่ บางคนก็ชอบปลอบ เพราะฉะนั้นจะใช้แต่ขู่อย่างเดียวหรือยออย่างเดียวหาได้ไม่

          นิสัยของคนต่างชาติก็มีต่างกัน เพราะฉะนั้นจะใช้บังคับบัญชาด้วยแบบแผนอย่างเดียวกันหมดหาเหมาะไม่ คนสมัยใหม่มักหลงในข้อนี้อยู่เป็นอันมาก และมักพอใจเอาแบบอย่างของต่างประเทศมาใช้ในการบังคับบัญชาคนไทยตามที่เป็นมาแล้วและยังเป็นอยู่เป็นอันมาก ข้างฝ่ายทหารมักเอียงไปข้างแบบเยอรมันคือคิดจะเอาแต่อำนาจบังคับตะบมไปเพราะครูทหารบกเป็นเยอรมัน แต่คนไทยเรามีนิสัยผิดกับคนเยอรมัน จึงไม่ชอบการถูกบังคับอย่างนั้น ชอบให้เอาใจบ้างพูดกันดี ๆ บ้าง ไม่ต้องดูอื่นดูไกล ดูแต่บ่าวในบ้านก็พอแล้ว บ่าวไทย ๆ เรารู้สึกตนว่า เป็นเพื่อนกับนายมากกว่าบ่าวฝรั่งเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นจึงหาคนไทยยอมเป็นลูกจ้างฝรั่งได้ยาก ก็แต่บ่าวในบ้านยังเห็นตัวเกือบเท่านายเสียแล้วฉะนี้ พลทหารหรือจะยอมเห็นตัวเลวกว่านายทหาร ถ้าจะว่าไปด้วยชาติกำเนิด นายทหารหลายคนก็มิได้มีตระกูลสูงกว่าพลทหารเลย ที่ดีกว่าก็แต่ในส่วนวิชาซึ่งได้เรียนรู้มากกว่ากันเท่านั้น ความรู้สึกเช่นนี้ย่อมมีอยู่เป็นแน่นอนในใจแห่งคนไทยโดยมาก สมด้วยพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงไว้เป็นคำโคลงว่า

ฝูงคนกำเนิดคล้าย คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ   
 แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด
ยกแต่ชั่วดีกระด้าง อ่อนแก้ฤๅไหว ฯ

          เมื่อความจริงเป็นอยู่เช่นนี้ ทางที่ดีที่สุดที่ผู้บังคับบัญชาทหารจะทำได้คือ ต้องแสดงตนเป็นเพื่อนทหารและเป็นข้าราชการด้วยกันกับพลทหาร มีหน้าที่จะต้องทำราชการอาศัยซึ่งกันและกัน ต่างกันด้วยตำแหน่งหน้าที่ คือหน้าที่นายทหารจะต้องใช้วิชาความรู้เพื่อนำพลไปสู่ที่ชัยชำนะ เมื่อต้องอาศัยซึ่งกันและกันอยู่เช่นนี้ การที่จะให้มีข้อบาดหมางหรือเกลียดชังซึ่งกันและกันหาควรไม่

          แต่การที่จะใช้ความอะลุ้มจนเกินไป ตามใจผู้น้อยทุกประการไป ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ผู้ที่ใช้ความอะลุ้มมักเข้าใจว่าถ้าทำเช่นนั้นคนจะรักใคร่มาก แท้จริงกลับกลายเป็นทำให้คนดูถูกและไม่ยำเกรง และเมื่อถึงเวลาที่จะบังคับจริง ๆ จัง ๆ บ้างก็เลยบังคับไม่ได้

          การอะลุ้มมีอยู่ในหมู่พลเรือนมากกว่านายทหาร เพราะในทางพลเรือนได้อังกฤษเป็นครูเป็นพื้น และวิธีบังคับบัญชาการพลเรือนของอังกฤษ เขาใช้วิธีตามใจผู้น้อยมากอยู่ แต่ที่จริงของเราออกจะตามใจเกินครูไปเสียอีก จนการงานอะไร ๆ แทบจะสำเร็จเด็ดขาดอยู่ที่ผู้น้อยทั้งสิ้น ผู้ใหญ่อยู่ข้างจะเกรงใจผู้น้อยมาก คอยแต่จะเงี่ยหูฟังผู้น้อยอยู่เสมอ ข้อนี้เองทำให้ผู้น้อยได้ใจ เมื่อผู้ใหญ่สั่งหรือวางการอะไรที่ไม่พอใจแล้วก็ชอบนินทาว่าให้ หรือร้ายกว่านั้น เขียนหนังสือ "คอร์เรสปอนเดนซ์" ส่งไปลงพิมพ์ว่าให้ในหนังสือพิมพ์ หรืออย่างเลวที่สุดทิ้งบัตรสนเท่ห์ว่าให้ดื้อ ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นของที่เสียวินัยและแบบแผนราชการทั้งสิ้น และเสื่อมเสียอำนาจและเกียรติยศของราชการ เปิดช่องให้ผู้อื่นเย้ยหยันหรือดูถูกได้ ทั้งทำให้เขาติเตียนได้ว่าไทยเราช่างไม่มีความปรองดองในหมู่กันเองเสียเลย

          การที่ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้น้อยละเลิงใจเข้าใจหน้าที่ของตนผิดไปได้ถึงปานนี้ ก็เพราะผู้ใหญ่ได้ใช้วิธีอะลุ้มเกินไปนั้นมาเสียช้านานแล้ว ถ้าได้ใช้การรักษาวินัยเสียบ้างตั้งแต่แรกแล้วก็จะไม่เป็นไปได้ถึงเพียงนี้ นี่ได้ไปถือเอาธรรมเนียมของอังกฤษซึ่งเหมาะแก่นิสัยอังกฤษมาใช้กับคนไทย ซึ่งไม่เหมาะกับนิสัยคนไทย จึงได้ไม่เรียบร้อย การยอมให้คนต่างคนมีความเห็นส่วนตัวได้นั้น เหมาะสำหรับนิสัยอังกฤษ เพราะเขาเป็นผู้ที่รู้จักกาลเทศะ ดังจะแสดงให้เห็นปรากฏได้ คือในขณะเมื่อบ้านเมืองเขาสงบศึก เขาแบ่งเป็น ๔ คณะ ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษและว่ากันต่าง ๆ แต่พอเมื่อเกิดสงครามขึ้นมาแล้วสิ เขาทิ้งความแก่งแย่งกันได้หมดราวกับปลิดทิ้ง ในเวลานี้ไม่มีก๊กไม่มีคณะ มีแต่ ชาติอังกฤษ ซึ่งคิดตรงกันหมด ส่วนไทยเรามีนิสัยผิดกับอังกฤษ คิดเห็นไม่ได้อย่างเดียวกัน และเข้าใจไม่ได้ว่าการที่ถุ้งเถียงกันนั้นเขากระทำแต่เมื่อเป็นเวลาว่าง เข้าใจว่าเมื่อยอมให้แบ่งกันเป็นก๊กเป็นพวกแล้วก็แปลว่าเป็นอันแบ่งกันอยู่เช่นนั้นตลอดเวลา และถึงแม้ชาติไทยเราจะถึงที่คับแค้นปานใด ก็คงจะยังอนุญาตให้ไทยต่อไทยเชือดคอกันได้ตามอำเภอใจบุคคลทั้งสิ้น เมื่อความเข้าใจผิดมีได้เช่นนี้แล้วก็เป็นเครื่องแสดงให้แลเห็นชัดอยู่ว่า การคะเนนิสัยคนผิด อาจที่จะให้ผลร้ายได้เป็นอันมาก

          เหตุฉะนี้หวังใจว่า ต่อไปเบื้องหน้าผู้ที่มีหน้าที่บังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน จะเอาใจใส่ในทางสังเกตและรู้จักนิสัยคนดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมาแล้ว เพราะเวลานี้ถึงเวลาแล้วที่จะรู้สึกโดยทั่วกันว่า เมืองเราตกอยู่ในที่ลำบากยากยิ่งกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากจะปล่อยตามบุญตามกรรมไปเช่นแต่ก่อนหาได้ไม่

 


          ข้อสุดท้ายที่ดิฉันขอยกมาเป็นการอธิบายขยายความของ Sociability นั้น ดิฉันอยากให้หมายถึงอย่างที่พระองค์ทรงกล่าวไว้เช่นนั้นจริงๆ 

หมายเลขบันทึก: 116435เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่งค่ะ นี่อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ที่มีคุณค่านี้มาให้อ่าน พระองค์ท่านทรงเป็นอัจฉริยะในการวิเคราะห์วิจารณ์ลักษณะแต่ละอย่างมากๆเลยนะคะ อ่านแล้วเหมือนโดนมนต์สะกดค่ะ ดีใจที่ได้อ่าน เก็บประทับไว้ในใจเรียบร้อยแล้วด้วยความขอบคุณมากๆค่ะ

ดีใจมากๆ เลยค่ะ ที่คุณโอ๋ ชอบ  อาจเพราะเรามีคลื่นความถี่ตรงกัน จึงชอบอะไรเหมือนๆ กัน นะคะ

สุดยอด และดีมาก ค่ะ (ด้วยความจริงใจ)  อ่านแล้วสมองคิดและรู้สึกได้  ประโยคบางประโยคตัวเองเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าหนอ  แต่อย่างไรก็ตามจะนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตในการทำงาน ค่ะ

เป็นงานสร้างสรรค์ชั้นเลิศที่ไม่ต้องสร้างเลยครับ อาจารย์ประยุกต์บทพระราชนิพนธ์ให้เข้ากับปรัชญา-เป้าหมายขององค์กรอย่างเหมาะเจาะ ให้ความหมายที่ชัดเจนและสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมหัศจรรย์ที่สุดครับ

ผมจะไปตามเพื่อนๆ ในบริษัทมาอ่านนะครับ 

พลัดกันชม พลัดกันใช้ อย่างนี้ ต้น KM ของพวกเราคงจะเติบโตยิ่งกว่าต้นถั่วของ Jack ผู้ฆ่ายักษ์ อีกนะคะ  แล้วเราก็จะได้ปีนต้น KM ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กันแน่ๆ เลยค่ะ

มีคนเคยถามดิฉันว่า ทำ KM แล้วเคยท้อไม๊ ?  ดิฉันตอบว่า  ไม่เลยค่ะ  ยิ่งทำก็ยิ่งมันส์  เพราะท้าทายให้เกิด idea ใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงไม่ซ้ำซาก น่าเบื่อ หรือชวนให้ท้อแท้....แต่อย่างใด

เรื่อง ค่านิยมร่วม จริงๆ แล้ว ดิฉันได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านบทความเรื่อง   ค่านิยมหลัก : Core Values : สัมมาทิฐิ  ฐานรากสําคัญการบริหารองค์การ  โดยคุณศุภชัย เมืองรักษ์ (down load มาจาก internet นานแล้ว จำไม่ได้ว่า web ไหน)  นั่นเองค่ะ  ดิฉันก็ใช้วิธีหยิบฉวยความรู้ ความคิดต่างๆ จากท่านผู้รู้  มาต่อยอด...แต่งกิ่ง  ไม่เคยได้คิดเองเล้ยยย !! 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท