เรียนรู้จากศิษย์เก่า (๑)


รุ่นพี่ทุกคนต่างบอกว่าภูมิใจและดีใจมากที่เชิญมา

เสร็จจากการจัด DM walk rally ในงาน 9th HA National Forum เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๑ (อ่านที่นี่) ก็ต้องรีบเดินทางกลับนครศรีธรรมราชในเช้าวันรุ่งขึ้น ๑๔ มีนาคมทันที เพราะมีงานปัจฉิมนิเทศผู้สำเร็จการศึกษาของหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตในปีนี้และมีพิธีมอบหมวกให้แก่นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๒

การจัดงานครั้งนี้มีอาจารย์อรเพ็ญ สุขะวัลลิและอาจารย์ชิดชนก มยูรภักดิ์ เป็นแม่งาน เราเชิญผู้ปกครองมาร่วมงานด้วย เป็นครั้งแรกของดิฉันที่ได้ทำหน้าที่มอบขีด/เข็มให้ผู้สำเร็จการศึกษา และมอบหมวกให้แก่นักศึกษา อาจารย์อรเพ็ญขอให้แต่งชุดฟอร์มพยาบาล จึงต้องสั่งตัดชุดกันทางโทรศัพท์และได้มาทันใช้งานพอดี ไม่ได้ใส่ชุดพยาบาลเสียนานหลายปี มาใส่อีกทีก็ยังดูดีนะ

 

ผู้สำเร็จการศึกษาขณะเตรียมตัวถ่ายภาพหมู่พร้อมคณาจารย์

งานปัจฉิมนิเทศปีนี้ดิฉันเสนอให้เชิญรุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ให้รุ่นน้องฟังด้วย ได้พี่รุ่น ๑ นางสาวกันยารัตน์ พัวพันธ์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าแผนกห้องผ่าตัดและห้องคลอด รพ.สมุยอินเตอร์ พี่รุ่น ๓ นางอรุณี (กูแหม) เหมหมัน ทำงานอยู่ รพ.ท่าศาลา และพี่รุ่น ๕ นางสาวขนิษฐา หมอยาดี ทำงานอยู่ที่หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม รพ.ราชวิถี มีรุ่นพี่อีกคนคือนางสาวอุษา น่วมเพชร ที่ปัจจุบันทำงานเป็นผู้ช่วยสอนที่สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ รุ่นพี่ทุกคนต่างบอกว่าภูมิใจและดีใจมากที่เชิญมา

 

จากซ้าย กันยารัตน์ อุษา อรุณี และขนิษฐา

เมื่อเริ่มรายการ รุ่นพี่ทั้ง ๓ คนได้เล่าอดีตงานรับหมวกและปัจฉิมนิเทศของตน มีเรื่องสนุกๆ ให้ได้หัวเราะกัน คุณกันยารัตน์เล่าว่ารุ่นที่ ๑ ไม่มีพิธีมอบหมวก นักศึกษาไปซื้อกันมาเอง นั่งล้อมวงคุยกันว่าจะพับหมวกอย่างไร ใส่หมวกอย่างไรดี บางคนพับหมวกผิดด้านก็มี จังหวะแรกที่ใส่หมวก รู้สึกอยากทำงาน อยากทำไปหมดทุกอย่าง รุ่นคุณขนิษฐามีพิธีมอบหมวก แต่เวลาถ่ายรูปปรากฏว่าในภาพคนที่เด่นที่สุดคือคนที่กำลังส่งหมวกให้คณบดี

คำถามเรื่องการเตรียมตัวเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาล คุณกันยารัตน์เล่าว่ารวมกลุ่มช่วยกันติวโดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยง รู้สึกเครียด ต้องหาวิธีจัดการกับความเครียด สำหรับตนเองต้องสอบ ๒ ครั้ง สอบครั้งแรกไม่ผ่านในวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ทำข้อสอบไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิ เตรียมตัวไม่พร้อม เพราะเพื่อนๆ สาขาอื่นเขาเลี้ยงกันและไปเที่ยว เมื่อไปทำงานโดยยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ โดนตัดเงินเดือน ๒๐% ต้องทำงานอยู่ใต้อาณัติของคนที่มีใบประกอบวิชาชีพ

คุณอรุณีกล่าวว่าใบประกอบวิชาชีพเป็นเหมือน “ดาบ” ตนเองสอบครั้งเดียวผ่าน เครียดกว่าตอนขึ้น ward เพราะรู้สึกว่าสำคัญต่อชีวิต แนะรุ่นน้องว่าควรช่วยกันอ่าน ช่วยกันติว “ทุกคนคือส่วนที่เติมเต็มกัน” ให้อดทน แต่ไม่ใช่อดทุกอย่าง ขอให้น้องๆ รู้ว่าใบประกอบวิชาชีพได้มาด้วยความยากลำบาก แต่ถึงมีใบแล้ว ไม่รู้อะไรก็ต้องถาม วิชาชีพมีรุ่นพี่รุ่นน้อง ต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม

คุณขนิษฐาเล่าการเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพว่าตนเองอ่านหนังสือ เข้าฟังติว อยากให้น้องๆ ตั้งใจ ๘ วิชาที่เรียนมา ไม่ใช่อยู่ในหนังสืออย่างเดียว ควรจะเตรียมตัวทำ short note ตั้งแต่ตอนที่เรียน เตรียมตัวแล้วยังต้องเตรียมใจอีกด้วย ก่อนสอบควรเข้านอนให้เร็ว ตื่นแต่เช้า รับประทานอาหารให้เรียบร้อย การอ่านหนังสือดึกๆ อาจเป็นการอ่านเพราะเครียด เวลาไปสอบไม่ต้องหอบหนังสือไป

วิธีการติวให้คุยกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เวลาใครยิงคำถามมาแล้วเราตอบได้ เราจะรู้สึกมั่นใจขึ้นและเป็นแรงผลักดันให้ไปหาความรู้ต่อ “ความรู้ไม่ใช่ของไหล” ไม่ต้องกลัวที่จะบอกให้เพื่อนรู้ด้วย ข้อสอบ comprehensive ของสำนักวิชายากกว่าข้อสอบของสภาการพยาบาล อย่าไปเครียดว่าสอบ comprehensive ไม่ผ่านแล้วจะสอบของสภาไม่ผ่าน

ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็เต็มที่แล้วสู้ใหม่ ถ้าไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ โรงพยาบาลที่ตนทำงานอยู่นั้นจะไม่ได้เงินอีก ๓,๐๐๐ บาทและไม่ให้ฉีดยาเข้าเส้นเลือด น้องๆ ควรตั้งใจทำข้อสอบให้เต็มที่ ทำเพื่อตัวเองและเพื่อสถาบันด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 174633เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2008 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท