BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อำมาตย์ มหาอำมาตย์ และอำมาตยาธิปไตย


อำมาตย์ มหาอำมาตย์ และำอำมาตยาธิปไตย

ไม่ได้พรรณนาบาลีศัพท์มานานแล้ว เมื่อคืนดูข่าวก็สะดุดคำว่าอำมาตย์ เช้านี้จึงไปปัดฝุ่นคัมภีร์มาเล่าพอได้ความ...

  • อำมาตย์ บาลีว่า อมจฺโจ
  • มหาอำมาตย์ บาลีว่า มหามตฺโต
  • ส่วนคำว่า อำมาตยาธิปไตย เป็นคำผสมจาก อำมาตย์+อธิปไตย ซึ่งผู้เขียนจะพรรณนานิดหน่อยก่อนจะจบบันทึกนี้

อำมาตย์ เขียนล้อสันสกฤต เคยเห็นหนังสือโบราณเขียนล้อบาลีว่า อะมัจจ์ หรือ อำมัจจ์ ซึ่งคำว่า อะมัจจะ นี้ ตามนัยบาลีท่านว่ามาจากศัพท์นิบาตว่า อมา แปลว่า ร่วม. พร้อม. กับ. ผสมกับ จฺจ ปัจจัยในตัทธิตใช้แทนความหมายว่า เป็นอยู่ (อมา+จฺจ) สำเร็จรูปเป็น อมจฺจ

และเมื่อวิเคราะห์ตามหลักไวยากรณ์บาลีจะได้ว่า...

  • สพฺพกิจฺเจสุ รญฺญา มนฺเตน อมา สห ภวตีติ อมจฺโจ
  • ผู้ใด ย่อมเป็นอยู่ ร่วม คือกับ ด้วยพระราชา โดยการปรึกษา ในกิจทั้งปวง ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่าอำมาตย์ (ผู้เป็นอยู่ร่วมกับพระราชาโดยการปรึกษาในกิจทั้งปวง)

ซึ่งผู้เป็นอยู่ร่วมกับพระราชาโดยการปรึกษาในกิจทั้งปวง ตามนัยปัจจุบันน่าจะหมายถึงที่ปรึกษาของพระราชา ผู้สนองงานของพระราชา ราชเลขา ข้าราชการ หรือองคมนตรี...

 

มหาอำมาตย์ หรือ มหามัตต์ ตามนัยบาลีท่านว่า มาจาก มหนฺต + มตฺตา โดย มหนฺต แปลว่า ใหญ่,มาก ส่วนคำว่า มตฺตา แปลว่า ประมาณ,กำหนด ... เมื่อเข้าสมาสก็ให้แปลง มหนฺต เป็น มหา จึงกลายเป็น มหามตฺต (มหนฺต+มตฺตา = มหามตฺต) ดังมีบทวิเคราะห์ว่า...

  • มหตี มตฺตา ปริจฺเฉโท ตสฺส อตฺถีติ มหามตฺโต
  • ความประมาณ คือการกำหนด ใหญ่ ของบุคลนั้น มีอยู่ ดังนั้น บุคลนั้น ชื่อว่า มหาอำมาตย์ (ผู้มีความประมาณใหญ่)

ตามนัยนี้ ผู้มีความประมาณใหญ่หมายถึงต้องกำหนดเรื่องใหญ่ มิใช่ใส่ใจเรื่องเล็กๆ จนทิ้งเรื่องใหญ่ๆ ... หรือถ้าจะแปลว่า ผู้มีความประมาณมาก ก็อาจหมายความว่าต้องกำหนดหลายสิ่งหลายอย่างกว่าจะตัดสินใจ มิใช่ว่าจะตัดสินใจง่ายๆ...

บุคลที่กำหนดประมาณเรื่องขนาดใหญ่และหลายสิ่งหลายอย่างกว่าจะตัดสินใจทำนองนี้ ในปัจจุบัน น่าจะหมายถึงข้าราชการที่เป็นนายกทั้งหลาย เช่น นายกรัฐมนตรี นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การฯ เป็นต้น...

 

และ อำมาตยาธิปไตย จัดเป็นคำผสม (เป็นทั้งสมาสและสนธิ) เฉพาะ อธิปไตย แปลว่า ความเป็นใหญ่ ซึ่งในส่วนที่เป็นลัทธิการเมืองนั้น ผู้เขียนเคยเล่าไว้เล็กนี้ (คลิกที่นี้) ซึ่งอาจเรียกได้ว่าลัทธิอำมาตยาธิปไตย แปลตามนัยของคำว่าอำมาตย์ได้ว่า ลัทธิที่มีข้าราชการเป็นใหญ่

ตามนัยที่เล่ามา... ผู้เขียนเห็นว่าที่บรรดาคนมีสี ไม่มีสี และหลายสีใช้คำเหล่านี้อยู่ในขณะนี้ น่าจะถูกต้องตามนัยแห่งคำศัพท์...

แต่คำนี้ ไม่เกี่ยวกับการอ้างเหตุผลที่หลายฝ่ายยกขึ้นมา เพราะเหตุผลเหล่านั้นมิใช่ความจริง แม้ความจริงจะต้องมีเหตุผลก็ตาม...

หมายเลขบันทึก: 345175เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2010 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้า พระมหาชัยวุธ

มาหาความหมายของ อำมาตยาธิปไตย

คำว่า อำมาตย์ รวมไปถึง ข้าราชการทุกระดับหรือไม่ครับพระคุณเจ้า

P วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

การยืมคำบาลีมาใช้ แล้วก็เทียบเคียงกับปัจจุบัน จะเป็นข้าราชการทุกระดับหรือไม่ ก็คงขึ้นกับผู้ที่ใช้เป็นเกณฑ์...

อนึ่ง คำบาลีที่อาจเทียบเคียงกับคำว่าข้าราชการในปัจจุบันนั้น มีเป็นสิบคำ จึงยากจะยืนยันได้ จึงมีความเห็นว่าขึ้นอยู่กับผู้ใช้ น่าจะชัดเจนที่สุด...

เจริญพร

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท