BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

พาลและบัณฑิต


พาลและบัณฑิต

คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต คิดพาไปหาผล..พังเพยนี้ ได้ยินมานานแล้ว ไม่แน่ใจว่ามาจากไหน ...ตามนัยภาษาไทย คนพาล จะมีความหมายเชิงลบ เช่น คนชั่ว คนเลว คนไม่ดี คนโง่ ...แต่ บัณฑิต จะมีความหมายเชิงบวก เช่น คนดี คนไม่เหลวไหล คนฉลาด คนมีปัญญา เป็นต้น... ซึ่ง พาล และ บัณฑิต นี้ เป็นภาษาบาลีที่แปลงสัญชาติมาเป็นไทยนานแล้วเช่นกัน..

พาล ตามภาษาบาลีแปลได้หลายนัย ส่วนนัยที่มีความหมายว่า คนชั่วคนเลวนี้ อาจวิเคราะห์ได้ ๒ นัย ดังนี้

ปจฺจุปนฺนญฺเจว อนาคตญฺจาติ อุโภ อตฺเถ ลุนาตีติ พาโล ผู้ใดย่อมตัดซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในอนาคต ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า พาล (ผู้ตัดประโยชน์ทั้งสอง) ...ตามนัยนี้ พาล มาจาก ลุ รากศัพท์ แปลว่า ตัด ...และมี พา เป็นบทหน้า แปลว่า สอง ..(พา+ลุ=พาล) ผู้ตัดประโยชน์ทั้งสอง

ปจฺจุปนฺนญเจว อนาคตญฺจาติ อุโภ อนตฺเถ ลาตีติ พาโล ผู้ใดย่อมถือเอาซึ่งสิ่งไร้ประโยชน์ทั้งสอง คือ สิ่งไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน และสิ่งไร้ประโยชน์ในอนาคต ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า พาล (ผู้ถือเอาสิ่งไร้ประโยชน์ทั้งสอง) ...ตามนัยนี้ พาล มาจาก ลา รากศัพท์ แปลว่า ถือเอา ...และมี พา เป็นบทหน้า แปลว่า สอง ...(พา+ลา = พาล) ผู้ถือเอาสิ่งไร้ประโยชน์ทั้งสอง

..........

บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ...ตามรากศัพท์มาจาก ปฑิ ในความหมายว่า เดิน ไป ดำเนิน ...ซึ่งมีวิเคราะห์ดังนี้

ปณฺฑติ ตายาติ ปณฑา บุคลย่อยมดำเนินไปด้วยปัญญานั้น ดังนั้น ปัญญานั้น ชื่อว่า ปัณฑา (เป็นเครื่องดำเนินไป) ...

ปัณฑา เป็นศัพท์นามกิตก์ (ตามไวยากรณ์บาลี) เมื่อจะเป็น ปัณฑิต จะต้องวิเคราะห์อีกครั้ง ดังนี้

ปณฺฑา ตสฺส อตฺถีติ ปณฑิโต ปัญญาเป็นเครื่องดำเนินไป ของผู้นั้น มีอยู่ ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ปัณฑิต (ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องดำเนินไป) ...

ปัณฑิต เป็นศัพท์ตัทธิต (ตามไวยากรณ์บาลี) แปลว่า ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องดำเนินไป ...แต่ถ้าจะแปลเอาความชัดเจนก็หมายถึง ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา...

หมายเหตุ

บัณฑิต เขียนตามคำไทย ..ส่วนบาลีต้องเขียน ปัณฑิต เพราะบาลีไม่มีบ.ใบไม้ ..มีเฉพาะ ป.ปลา..

คำสำคัญ (Tags): #พาลและบัณฑิต
หมายเลขบันทึก: 75819เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ครับ...พระอาจารย์...

ผมพยายามเชื่อมโยงคำว่า ปัญญา=ปราชญ์ ไปหาบัณฑิต

โดยพยายามเชื่อมโยง กับกระบวนการเปิดประตูสู่บัณฑิต ด้วยหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ นัยว่า Wit : Dialogue จะเป็นกระบวนการที่เปิดประตูโอกาสให้แก่เหล่าเยาวชน ประมาณนั้น... ที่เหลือก็แล้วแต่บารมีของแต่ละคนแล้วอ่ะครับ...

 

พระอาจารย์ครับ...เสาร์-อาทิตย์นี้ ผมรับปาก ม.ราชภัฏพิบูลสงครามไว้ว่าจะส่งโครงการให้เขา แล้วเริ่มดำเนินการได้เลย... สิ่งที่ผมเสนอเขาคงจะเป็นเพียงเนื้อหากิจกรรมที่จะต้องดำเนินการหลัก ๆ ... ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ (เช่นคำจำกัดความที่รอพระอาจารย์อยู่...555) ผมคงสรุปเป็นเอกสารประกอบการเผยแพร่ภายหลังอ่ะครับ....

 

คุณโยมขำ...

ยินดีด้วยในความความก้าวหน้า....

คำที่เหลือ เป็นคำธรรมดาๆ เท่านั้นเอง...

ไม่รู้ใครบอกไว้ว่า ถ้าเป็นงานเร่งด่วน ก็มอบหน้าที่ให้คนมีงานยุ่งๆ เพราะถ้าเขารับปาก เค้าจะทำให้เสร็จ ส่วนพวกว่างงาน อย่าไปเข้าหา...

บังเอิญตอนนี้ อาตมาว่างงานซะด้วย 5 5 5

เจริญพร

555555555....ครับพระอาจารย์...ผมเลยเอาง่ายเข้าว่า...ตามที่พระอาจารย์สั่งสอน....อิอิ

 

ส่งไปแล้วครับ...ปฏิบัติการจริงแล้วได้ผลยังไงจะมาเล่าให้ฟัง....ปลายปีครับ....พระอาจารย์คงรอได้.....5555

คุณโยมขำ...

ด้วยความยินดี....ครับ

ถ้าสำเร็จ จะเปลี่ยนคำเรียกจาก คุณโยมขำ เป็น อาจารย์ขำ...

เจริญพร

นมัสการท่านพระมหา

แล้วมหาบัณฑิต น่าจะแปลว่า ใหญ่หรือมาก ครับ

ต่อด้วยดุษฎีบัณฑิตด้วยครับ ว่าเป็นอย่างไร แล้วเรามีกันจริงหรือเปล่า หรือเป็นได้แค่คำเรียกครับ

ขอขยายเต็มเรื่องก็ได้ครับ ผมจะไดนำไปใช้ในงานสอนครับ

อาจารย์ ดร. แสวง

มหาบัณฑิต และ ดุษฎีบัณฑิต เป็นศัพท์ที่งอกเงยขึ้นมาครับ...

มหาบัณฑิต น่าจะหมายถึง บัณฑิตใหญ่ (หมายถึง ไม่ธรรมดา 5 5 5)

ดุษฎีบัณฑิต น่าจะหมายถึง บัณฑิตที่น่ายินดี หรือบัณฑิตนิ่งเงียบ (หมายถึง รู้มากจนพูดกับใครไม่รู้เรื่องต้องนิ่งอย่างเดียว 5 5 5)

ดุษฎี คำนี้เป็นสันสกฤต... เทียบบาลี ก็ ตุฎฐี แปลว่า น่ายินดี....บางท่านบอกว่า ดุษฎี เทียบบาลีก็ ตุณหี แปลว่า นิ่งเงียบ...

อันที่จริง อาจารย์ก็ทราบว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต และ ดุษฎีบัณฑิต ...เป็นคำเรียกปริญญา ๓ ระดับ...ซึ่งถ้าจะอธิบายให้ไพเราะ ก็น่าจะได้ตามนี้..

ปริญญาตรี บัณฑิต ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

ปริญญาโท มหาบัณฑิต ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญามาก (ใหญ่)

ปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่น่ายินดี

เจริญพร

อ่านแล้วสงสัยครับท่าน

ขอเรียนถามดังนี้นะครับ จากที่ท่านกล่าวไว้

  • ปจฺจุปนฺนญฺเจว อนาคตญฺจาติ อุโภ อตฺเถ ลุนาตีติ พาโล ผู้ใดย่อมตัดซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในอนาคต ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า พาล (ผู้ตัดประโยชน์ทั้งสอง) ...ตามนัยนี้ พาล มาจาก ลุ รากศัพท์ แปลว่า ตัด ...และมี พา เป็นบทหน้า แปลว่า สอง ..(พา+ลุ=พาล) ผู้ตัดประโยชน์ทั้งสอง
  • บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

แสดงว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสอง คือ ปัญญา ใช่ไหมครับ

ถ้าใช่แสดงว่า คนพาล คือ ผู้ที่ไม่ใช้ปัญญาใช่ไหมครับ ขอถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง

คุณจันทร์เมามาย

ประโยชน์ มีหลายนัย แต่นัยตามคำสอนพระพุทธศาสนา ลองดูที่นี้ ความสุขในชาตินี้และชาติหน้า

รู้สึกว่าเรากำลังตกลงสู่กับดักทางภาษานะครับ

ประโยชน์ เป็นคำที่เรายืมมาจากภาษาบาลี อีกครั้ง (จะเสนอคำนี้ต่อไป) ซึ่งความหมายอาจระบุได้หลายอย่าง

ประโยชน์คือ ผลที่คาดหวังว่าจะได้รับ

ประโยชน์คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข

ประโยชน์คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจ

ประโยชน์คือ สิ่งที่ช่วยให้บางสิ่งบางอย่างดีขึ้นจากเดิม...

กำลังตกลงสู่ กับดับทางภาษา ฉะนั้น ถอยออกมาดีกว่านะครับ..

วันนี้วันจันทร์ จันทร์อาจเมามาย แต่เมื่อเป็นวันจันทร์ที่ต้องเข้ามาติดกับทางภาษาแล้ว จันทร์แม้เมามายก็มิอาจเมามาย (..............)

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า  BM.chaiwut ครับ

ผมแวะมารับความรู้เรื่องของ "บัณฑิต" ครับ

กราบขอบพระคุณครับ :)

นมัสการพระคุณเจ้า

หนูขอ มงคลสูตร เรื่อง ไม่คบคยพาลแบบเดี่ยวๆ เลยได้ไหมค่ะ

30มิ้นท์

 

ว่าตามหลักนั้น ถ้าไม่คบคนพาลก็ต้องคบบัณฑิต ทำนองว่า ถ้าไม่ไปทางซ้ายก็ต้องไปทางขวา...

แต่ถ้าต้องการเฉพาะประเด็นเดียว ก็อาจเลือกเอาได้เฉพาะเรื่องตามที่เห็นสมควร...

เจริญพร

จะตั้งโรงเรียนคะ ใช้ช้างสามเศียรกับดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ แล้วชื่อโรงเรียน จุฬาตรีปัณฑิต มีความหมายไม๊คะ แล้วใช้ได้ไม๊คะอยากขึ้นต้นว่า จุฬา ส่วนที่เอาคำว่า ตรี เพราะ เป็น 3 เศียร และมีความหมายอีกๆ ที่เป็น 3 สิ่งในการดำเนินชีวิตอีก แล้วตัวสุดท้ายไม่รู้จะต่อว่าอะไรดี เลยใช้คำว่า ปัณฑิต ขอคำแนะนำหน่อยนะคะไม่ค่อยรู้เรื่องคำจำกัดความ

กราบนมัสการพระอาจารย์กระผมอยากทราบว่าทำบุญกับใครจึงจะได้ผลมากถ้าไปทำบุญกับคนที่ไม่มีศีลหรือทุศีลจะได้บุญไหมครับ

แล้วบุคคลที่มีความโลภที่เกิดขึ้นเช่นถือสิ่งของต่างๆเป็นของตัวเองหมายถึงบุคคลที่มีกิเลสใช่ไหมครับเช่นการถือว่าสิ่งๆนั้นเป็นของเรา รถคันนั้นเป็นของเรา เป็นต้น พระภิกษุที่ต้องการยศฐาบรรดาศักดิ์ถือว่าเป็นพระที่มีกิเลสไหมครับ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท