ของฝากจากที่ประชุม : การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์


ผมเชื่อของผมเองว่า สังคมที่น่ากลัว ได้แก่ สังคมที่ไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม สังคมที่น่ากลัวยิ่งกว่า ได้แก่ สังคมที่ผูกขาดคำตอบ โดยไม่มีคำอธิบาย


๑.
เกริ่นนำ

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง "มาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐" ไว้เมื่อต้นปีที่แล้ว ต่อจากนั้นก็ได้รับรู้เรื่องราวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันจันทร์-อังคารที่ ๙-๑๐ พฤศจิกายน ที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาส (ภายหลังจากการประสานแบบขอเข้าประชุมด้วยๆๆๆ จนกระทั่งผู้ประสานงานในพื้นที่รำคาญแฟ็กซ์หนังสือเชิญมาให้ก่อนการประชุมแบบเฉียดฉิว)

เข้าร่วมประชุม "โครงการฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัคร เรื่อง การพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม" จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (ส.น.ส.ท.) ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น

กลุ่มเป้าหมายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานทางตรงกับผู้รับบริการ (Social Workers in Direct Practice) และอาสาสมัครผู้ปฏิบัติงานในสายสวัสดิการสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในทุกสังกัดกระทรวงต่างๆ

แน่นอนครับว่า การประชุมที่เกี่ยวข้องโดยตรงแบบนี้ แม้ไม่มีหนังสือเชิญผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็อยากเข้าร่วม ทั้งเมื่อพิจารณาจากรายชื่อคณะวิทยากรแล้วก็พบว่าหลายท่านเป็นคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐานในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.)


๒.
นักสังคมสงเคราะห์กับการเป็นข่าวและพื้นที่การรับรู้ในสังคม

แน่นอนครับว่า การประชุมกลุ่มคนคอเดียวกันแบบนี้ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เห็นจะได้แก่การทบทวนบทบาท และการรับรู้ของสังคม หรือพื้นที่ทางสังคมของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (เช่นเดียวกับในกลุ่มของนักพัฒนาชุมชน ที่ผลิตบัณฑิตจากสถานศึกษาทั่วประเทศ ก็เริ่มจะตั้งคำถามเดียวกันนี้บ้างแล้ว)

ก็ให้บังเอิญก่อนเข้าประชุมไม่นานมานี้ เราก็ได้รับรู้ข่าวของ "นักสังคมสงเคราะห์" ในพื้นที่ข่าวว่า...

‘โจอี้ – อรวิภา กนกนทีสวัสดิ์’ ว่าที่...สาวนักสังคมสงเคราะห์ ครองมงกุฎนางสาวไทยคนที่ ๔๕
เป็นเวทีขาอ่อนส่งท้ายปลายปี สำหรับการประกวดนางสาวไทย ประจำปี ๒๕๕๒ ภายใต้แนวคิด “ทอแสงงามแห่งจิตใจ” และสาวงามที่มีความงามพร้อมทั้งรูปลักษณ์ กิริยา-มารยาท สติปัญญาและความคิด จนสามารถคว้ามงกุฎนางสาวไทยเป็นคนที่ ๔๕ ไปครอง ได้แก่ สาวน้อยวัย ๒๐ ปี นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ที่มีดีกรีเป็นถึงดาวมหาวิทยาลัย “โจอี้ – อรวิภา กนกนทีสวัสดิ์”

ซึ่งนอกจากตำแหน่ง นางสาวไทยประจำปี ๒๕๕๒ แล้ว โจอี้ ยังสามารถคว้ารางวัลพิเศษคนเดียวกวาดไปถึง ๔ รางวัลสำคัญ คือ รางวัลขวัญใจช่างภาพสื่อมวลช รางวัล Miss Healthy รางวัลนางงามบุคลิกภาพ และ รางวัลMiss Princess

“การที่โจอี้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทย ยิ่งทำให้โจอี้ได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนนำมาใช้ในการปฎิบัติหน้าที่นางสาวไทยในการช่วยงานสาธารณกุศล ส่วนการเป็นทูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ก็จะใช้ความเป็นกุลสตรีของผู้หญิงไทยที่จะไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด สำหรับเรื่องการท่องเที่ยว ถึงแม้ตอนนี้บ้านเราอาจจะมีสถานการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แต่โจอี้ก็เชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้”  (แนวหน้าออนไลน์)

ผลรางวัลงาน Star Party ๒๐ ปี ทีวีพูล
รางวัลพระเอกนักสังคมสงเคราะห์ประจำปี ๒๕๕๒   “ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์”
รางวัลนางเอกนักสังคมสงเคราะห์ประจำปี ๒๕๕๒  “แอน ทองประสม”  (ทีวีพูลออนไลน์)

เอาน่า อย่างน้อยปรากฏการณ์เหล่านี้ก็น่าจะสะท้อนได้ว่าแวดวงวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีพื้นที่ทางสังคมมิได้คับแคบอย่างที่คิดกันนัก ส่วนสถานะที่ดำรงอยู่ในพื้นที่จะเป็นเช่นไรก็คงต้องว่ากันต่อไป



*******ภาพบรรยากาศที่ประชุม*********


๓.
ของฝากจากที่ประชุม : การรับรองมาตรฐานนักสังคมสงเคราะห์

จากการประชุมสองวัน ทั้งจากการฟังบรรยายและการเข้ากลุ่มพอสรุปเป็นของฝาก ดังนี้
๑. การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ จะเริ่มจากนักสังคมสงเคราะห์ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม มาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี และปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานที่ให้บริการทางตรง (Social Workers in Direct Practice/Direct Service) ต่อผู้รับบริการ (บุคคล กลุ่ม ชุมชน)

๒. สำหรับนักสังคมสงเคราะห์ผู้ไม่ได้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ อยู่ระหว่างการออกแบบหลักสูตรและรูปแบบการฝึกอบรมก่อนเข้าสู่ระบบการขอรับรองมาตรฐานนักสังคมสงเคราะห์ต่อไป  แน่นอนว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะนักสังคมสงเคราะห์ผู้มีประสบการณ์การทำงานยาวนานแต่มิได้สำเร็จปริญญาทางด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นั้นมีอยู่จำนวนมาก การพิจารณาถึงค่าใช้จ่าย และเวลาที่ใช้ในการเข้ารับการอบรมเพื่อ "เข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานนักสังคมสงเคราะห์" นั้นเป็นเรื่องใหญ่อยู่มิใช่น้อย

๓. นักสังคมสงเคราะห์ในส่วนภูมิภาคยื่นได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)

๔. เอกสารประกอบการประเมินนอกเหนือจากแบบประเมินตนเองของนักสังคมสงเคราะห์ ผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน (โดยใช้แบบประเมินที่มีตัวชี้วัดเดียวกัน) แล้ว  นักสังคมสงเคราะห์จะต้องยื่นเอกสารรายงานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์/ผู้ปฏิบัติงานสวัสดิการสังคมไปด้วย 

โดยรายงานการปฏิบัติงานนี้ จะใช้ในการทำงานกับผู้รับบริการรายบุคคล กลุ่ม ชุมชน ก็ได้ ซึ่งจะสามารถเรียบเรียงจากการทำงานกับผู้รับบริการในปัจจุบันหรือในอดีตได้ (ไม่เกิน ๓ ปี) โดยกรณีที่ยกมาควรสะท้อนถึงแนวทาง กระบวนการ หรือบทเรียนที่น่าสนใจ และมีประโยชน์ต่อการทำงานของวิชาชีพ ทั้งนี้ เป้าหมายของเอกสารรายงานการปฏิบัติงานนี้ จะเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาในประเด็นการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ที่สะท้อนถึงความรู้ กระบวนการ วิธีการปฏิบัติงานต่อผู้รับบริการ การทำงานเป็นทีม และการสรุป การวิเคราะห์บทเรียนที่ได้จากการทำงาน เป็นต้น

เอกสารรายงานการปฏิบัติงาน ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ แสดงถึงผลการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ปฏิบัติงานสวัสดิการสังคมที่ขอรับรองมาตรฐาน ซึ่งคณะกรรมการประเมินภายนอกจะพิจารณาประกอบกับผลการประเมินภายใน อันจะนำไปสู่การประเมินที่รอบด้าน เป็นธรรมจากคำอธิบายบนเวที ทราบว่าแต่เดิมทีได้ออกแบบระบบประเมินให้ครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ผู้ขอรับการประเมิน ผู้บังคับบัญชา/นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน และผู้รับบริการ โดยใช้แบบประเมินชุดเดียวกันทั้ง ๔ ด้าน  แต่เนื่องจากข้อจำกัดของผู้รับบริการจึงออกแบบให้เขียนบันทึกรายงานการปฏิบัติงานแทนการประเมินโดยผู้รับบริการ

๕. คะแนนผลการประเมินภายใน (จากนักสังคมสงเคราะห์ผู้ขอรับการประเมิน ผู้บังคับบัญชา/นายจ้าง และเพื่อนร่วมงาน) จะต้องมีคะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ จึงจะถือว่าผ่านการประเมินภายใน อย่างไรก็ดี วิทยากรประจำกลุ่ม (รศ.อภิญญา  เวชยชัย ประธานอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ใน ก.ส.ค.) แจ้งว่าคะแนนดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยุติ จะต้องผ่านการประเมินรอบด้านจากคณะกรรมการประเมินภายนอกตามระบบต่อไป

ข้อนี้ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับระบบการประเมินครับ เพราะมิเช่นนั้นแล้วจะต่างอะไรกับการประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ใช้ระบบฮั้วหรือระบบนินทาตามที่คุ้นเคย (ที่คน ๓-๔ คน ปิดห้องนินทาเพื่อนร่วมงานว่าเพราะเหตุใดถึงให้คะแนนประเมินต่ำ โดยไม่มีเหตุผลและรายละเอียดแจ้งให้เจ้าตัวทราบ)  โดยท่านอาจารย์แจ้งว่า ระบบประเมินไม่มีคะแนนขั้นต่ำ และคำขอรับการประเมินทุกรายจะได้รับการพิจารณาตลอดกระบวนการ แม้จะมีค่าคะแนนประเมินภายในต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ ๗๕  (แต่อย่างไรก็ดี เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การประเมินต่อรายก็มีค่าใช้จ่ายพอสมควร ดังนั้นควรยื่นขอรับการประเมินเมื่อเห็นว่าพร้อม !!!)

อนึ่ง แม้เอกสารรายงานการปฏิบัติงานจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ แต่ก็ไม่มีค่าคะแนน อย่างไรก็ดี หากมีการตรวจสอบพบว่าได้มีการว่าจ้างการเขียนเอกสารรายงานการปฏิบัติงานก็คงจะได้พิจารณาโทษกันต่อไป

๖. การขอรับการประเมินในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติงาน ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับสภาพการจ้างว่าเป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ ทุกคนสามารถยื่นขอรับการประเมินได้

๗. ผมเรียนถามที่ประชุมกลุ่มไปว่า สถานะที่พึงประสงค์ของสังคมสงเคราะห์ในหน่วยงานนั้นคาดหวังไว้เพียงใดทั้งนี้ เพราะตัวชี้วัดเป็นนามธรรม ๕ ข้อ เช่น การระบุว่าให้เป็นผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์ที่องค์กรวางไว้  หรือการระบุว่าเป็นผู้ที่ดำเนินการให้องค์กรสามารถดำเนินนโยบาย/แนวทางปฏิบัติงานที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดและการพิทักษ์สิทธิของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ

ผมว่าบางทีการดำเนินการอย่างหลังที่ระบุว่าเป็นผู้ที่ดำเนินการให้องค์กรสามารถดำเนินนโยบาย/แนวทางปฏิบัติงาน...  อาจทำให้นักสังคมสงเคราะห์ถูกประเมินว่ามิใช่ "ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดี"

ประเด็นทำนองเดียวกันนี้ เคยได้มีการอภิปรายกันพอสมควรแต่เมื่อครั้งที่ ก.พ. กำหนดให้ข้าราชการทุกคนจัดทำสมุดพกประจำตัวในชื่อ "สมุดบันทึกคุณงามความดี"  ซึ่งคราวนั้นได้ตั้งคำถามว่ากรณีข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ในบทบาท Watch Dog นโยบายรัฐ หรือการเข้า Take Action ปัญหาสังคมที่เกิดจากนโยบายรัฐหรือจากหน่วยงานภาครัฐ(ที่ร่วมลงทุน) แล้วไปส่งผลกระทบต่อประชาชน ถามว่ากรณีเช่นนี้จะสามารถระบุว่าเป็น "ความดี" ที่มีค่าพอจะบันทึกลงใน  "สมุดบันทึกคุณงามความดี" ได้หรือไม่ 

ขีดวงให้แคบลงกว่านั้นอีก ข้าราชการผู้พิจารณาแล้วว่าการจัดซื้อจัดจ้างไม่ชอบธรรม ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการ แล้วไม่ลงนามผ่านการตรวจรับสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างหลายๆ ครั้ง (เพราะในองค์กรสวัสดิการสังคมนั้นข้าราชการแทบจะนับคนได้) ถามว่ากรณีเช่นนี้มีโอกาสได้รับการบันทึกว่าเป็น "ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดี" ได้หรือไม่

๘. ผมเรียนถามไปถึง ส.น.ส.ท. ว่า จะดำเนินการไปถึงระดับที่จะให้ ก.พ. เปลี่ยนกรอบคุณสมบัติสำหรับผู้จะดำรงตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ส.น.ส.ท. ก็คงตามเก็บนักสังคมสงเคราะห์ที่มิได้สำเร็จปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาอบรมไม่จบไม่สิ้น

๙. ในแบบประเมินผมเขียนแสดงความเห็นไปทำนองว่า  "มีตัวชี้วัดจำนวนไม่น้อยที่ระบุข้อความที่เป็นนามธรรมจึงควรที่จะได้จำทำเอกสารคำอธิบายตัวชี้วัด เพื่อระบุพฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือพฤติกรรมเชิงประจักษ์สำหรับให้ผู้สนใจยื่นขอรับการประเมินพัฒนาระบบ/กระบวนงาน ตลอดจนระบบเอกสารให้สอดคล้อง ตรงตามตัวชี้วัดต่อไป"

ฯลฯ

นอกจากนี้ ก็ได้เรียนสอบถามท่านอาจารย์อภิญญา  เวชยชัย  ในฐานะวิทยากรประจำกลุ่ม ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ใน ก.ส.ค. ในฐานะศิษย์ที่ห่างหายไปจากท่าน อีกหลายประเด็นครับ

จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ได้สงสัยใคร่รู้อะไรนักหรอก
ในจำนวนหลายคำถามที่ผมถามๆ ไปนั้น ก็เพราะเห็นว่าในกลุ่มมันเงียบเหงาเสียเหลือเกิน ทั้งที่วิทยากรประจำกลุ่มเป็นนายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ซึ่งควบอีกตำแหน่งคือประธานอนุกรรมการฯ ถ้าไม่ถาม ก็จะเสียดายโอกาสในการสอบทานความเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วก็สร้างบรรยากาศให้คึกคัก

แน่นอนละว่าทำอย่างนี้ หลายคนอาจไม่ชอบและไม่คุ้นเคย
เพราะการปฏิบัติตามนั้นง่ายกว่าและมีโอกาสเป็น "ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดี" (ฮา)
 

ผมเชื่อของผมเองว่า
สังคมที่น่ากลัว ได้แก่ สังคมที่ไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม
สังคมที่น่ากลัวยิ่งกว่า ได้แก่ สังคมที่ผูกขาดคำตอบ โดยไม่มีคำอธิบาย


เงยหน้าขึ้นดูเห็นว่ายาวเกินไปแล้วและก็เที่ยงคืนพอดี
เอาไว้ค่อยมาเติมเต็มต่อในภายหลังละกันครับ

 

หมายเลขบันทึก: 313791เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2009 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณที่แชร์สิ่งดีดี //รุจิ

สวัสดีค่ะพี่โหมง

ขอบคุณนะคะที่นำมาฝาก สงสัยอยู่ 2-3 ประเด็นค่ะพี่

1. เท่าที่อ่านดู "เอกสารรายงานการปฏิบัติงาน" ที่ต้องส่งไปให้กรรมการประเมินนี่ไม่ใช่บันทึกการปฏิบัติงานประจำวันหรือประจำเดือนใช่ไหมคะ เพราะลงรายละเอียดถึงเทคนิค กระบวนการในการปฏิบัติงาน

2. เห็นด้วยกับประโยคว่า ....โดยท่านอาจารย์แจ้งว่า ระบบประเมินไม่มีคะแนนขั้นต่ำ และคำขอรับการประเมินทุกรายจะได้รับการพิจารณาตลอดกระบวนการ แม้จะมีค่าคะแนนประเมินภายในต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ ๗๕...

3. รบกวนพี่โหมงอธิบายวรรคนี้หน่อยค่ะ..... ๙. ในแบบประเมินผมเขียนแสดงความเห็นไปทำนองว่า  "มีตัวชี้วัดจำนวนไม่น้อยที่ระบุข้อความที่เป็นนามธรรมจึงควรที่จะได้จำทำเอกสารคำอธิบายตัวชี้วัด เพื่อระบุพฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือพฤติกรรมเชิงประจักษ์สำหรับให้ผู้สนใจยื่นขอรับการประเมินพัฒนาระบบ/กระบวนงาน ตลอดจนระบบเอกสารให้สอดคล้อง ตรงตามตัวชี้วัดต่อไป"....

ขอบคุณพี่มากๆ นะคะ

ขอบคุณค่ะพี่โหมง

สำหรับของฝากจากที่ประชุม

นับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

ที่นับวันจะตัวเล็กล๊ง เล็กลง แม้ว่าจะมีกม.มารองรับ

ให้วิชาชีพเป็นที่ประจักษ์ในสังคมมากยิ่งขึ้น--ก็ตาม

เห็นด้วยในหลาย ๆ ประเด็นค่ะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานะที่พึงประสงค์ของนักสังคมสงเคราะห์

กับการเป็นแบบอย่างที่ดี ตรงและแรง (ได้ใจ)

ฝากแลกเปลี่ยนด้วย ในกรณีนักสังคมฯที่เป็นผู้บริหารยื่นได้ไม๊คะ

กระบวนงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานหรือบทเรียนที่น่าสนใจ

อาจมีอายุมากกว่า ๓ ปี-- การเขียนรายงานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์

ก็อาจมีอายุมากกว่า ๓ ปี เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดี--ก็เห็นใจผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์

แต่ไม่ได้จบสังคมสงเคราะห์ (by birth) แต่มีประสบการณ์อันยาวนาน

น่าจะมีการประเมินเฉพาะกลุ่มนี้โดยเฉพาะขึ้นมา--

แม้ว่าจะเป็นลูกหม้อ สุด ๆ เพราะทั้งตรีและโท ก็สังคมสงเคราะห์

และก็รักบวกบ้าเห่อ วิชาชีพ ไม่แพ้ใครก็ตาม

ก็ยังอดเป็นห่วงความรู้สึก พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทำงานสายวิชาชีพเดียวกันไม่ได้อยู่ดี

ก็ขอขอบคุณพี่อีกครั้งค่ะ--ที่กรุณาอดตาหลับขับตานอน

เพื่อวิชาชีพเรา และขอบคุณคำถามมากมายที่กรุณาถามเพื่อเป็นแนวทาง

เป็นแนวหน้าให้พี่ ๆ น้อง ๆ

เสียดายค่ะที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เสียดายจริง ๆ

เวทีนี้ คงสร้างโอกาสให้ ตั้งคำถาม

เราจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมด้วย ขอบคุณค่ะ

ขอเข้ามาแลกเปลี่ยนตามคำเชิญของคุณมงคล

1.ประเด็นเรื่องการประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานนั้นอยู่คงอยู่ในวงจำกัดจริงๆ คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐานมาเอะใจว่าเกือบจะปีแล้วมิมีผู้สนใจขอรับการประเมินเลยหรือ อ้าว เวทีที่เริ่มตั้งแต่การจัดทำมาตรฐาน ประชุมแล้ว ประชุมอีก กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ รื้อแล้วก็หลายรอบ สุดท้ายก็มีเวทีใหญ่ประชาสัมพันธ์นับรวมแล้วน่าจะเกินสิบครั้ง แต่ก็มีเพื่อนๆตกหล่นข่าวอีกมากมาย สมาคมนักสังคมฯจึงขอจัดเวทีภูมิภาค แล้วก็พบว่าแม้แต่ พมจ. ซึ่งมีหน้าที่รับเรื่องก็ยังไม่ทราบหรือบางคนก็จำได้เพียงเลาว่ามีคู่มือการรับรองมาตรฐานเล่มสีชมพูๆ สิ่งนี้คงเป็นบทเรียนของพวกเรานักสังคมว่าคงต้องมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ส่วนจะทำอย่างไรเราคงต้องช่วยกันคิดและทำ

2. เรื่องพีน้องที่ทำหน้าที่นักสังคมแต่ไม่ได้จบด้านนี้นั้นต้องมีการอบรมหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ซึ่งยกร่างหลายรอบแต่พอเสร็จแล้ว อ้าวเนื้อหาเก่าไป ( ขอตัดพ้อหน่อยนะ กว่ากรรมการ กสค. ชาติจะประชุมกันทีก็นาน.....ที.. แล้วนี่ก็หมดวาระ ต้องสรรหา แต่งตั้งกันใหม่ รวมทั้งคณะอนุต่างๆด้วย บางเรื่องนานจนเลือนไปแล้วจริงๆ) ให้กลับเอามาทบทวนใหม่ และมีแนวคิดในการเทียบโอนประสบการณ์เข้ามาแทนที่เนื้อหาสาระบางส่วนที่ชำชองแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นก็มีการพูดคุยว่าอาจให้หน่วยงานสมทบเพราะเป็นการพัฒนาบุคคลากรแต่ก็ยังไม่ยุติก็หมดวาระกันไปก่อน

3.กรณีที่เป็นผู้บริหารแล้วแต่ถ้ายังทำงาน direct practice มี case หรือ group ที่ต้องทำอยู่บ้างก็ขอรับรองมาตรฐานได้ เช่น หัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์ใน รพ. ส่วนการเขียนรายงานที่สะท้อนความรู้ ทักษะการปฏิบัติงานอาจนานกว่า3ปีก็ได้ถ้ายังคงทำงานกับ case นั้นอยู่

4. ความเป็นนามธรรมของตัวชี้วัดหลายตัวนั้นข้อเสนอของหลายภาคที่อยากจะให้มีการอธิบายประกอบก็น่าสนใจ ไม่เคยได้ยินเรื่องสมุดบันทึกความดีมาก่อน คณะอนุฯ คณะผู้ประเมินภายนอก และผู้ทบทวนคงมีอะไรให้ดิดอีกแล้ว

ชอบอ่านบันทึกของคุณมงคล สนุก และมีจินตนาการ ต้องขอร่วมฝึกปรือด้วยนะค่ะ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์โสภา อ่อนโอภาส ครับ ที่กรุณาเติมเต็ม

ท่านอาจารย์เล่าให้ฟังอย่างนี้ ก็เห็นภาพที่เขาแซวๆ กันว่าคงจะจริง ที่ว่าคณะกรรมการใดๆ ที่ระบุว่าเป็น "ระดับชาติ" นั้นเอาเข้าจริงๆ แล้ว แทบจะเรียกได้ว่า "ชาติ" นึง ถึงได้มีโอกาสคุยกันทีนึง - - เพราะคนที่เป็น "ระดับชาติ" นั้น มักจะมีภารกิจของชาติรุมเร้าแทบจะปลีกตัวไม่ได้

ท่านอาจารย์ครับ เรื่องสมุดสมุดบันทึกผลงานและคุณงามความดีของข้าราชการนั้น สรุปได้โดยย่อ ดังนี้ครับ

คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙  ได้มีมติเห็นชอบวาระแห่งชาติ ด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ประการหนึ่ง คือ ให้มีการจัดทำสมุดพกข้าราชการเพื่อบันทึกผลงานและพฤติกรรมที่ดีหรือพฤติกรรมที่ควรพัฒนาของข้าราชการแต่ละคนโดยให้มีลักษณะเป็นการสะสมผลงานและคุณงามความดี ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างกำลังใจสำหรับข้าราชการที่ประพฤติดีประพฤติชอบและรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานของตนเอง และผู้บังคับบัญชาก็จะได้ใช้ผลการบันทึกผลงานและคุณงามความดีนั้น ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานและบุคคลด้วยอีกทางหนึ่ง.....

โดยหลักการคือ ได้กำหนดให้มีการจัดทำเอกสาร ๒ ฉบับ ได้แก่
๑. สมุดบันทึกผลงานและคุณงามความดีของข้าราชการพลเรือนสามัญ และ
๒. แบบบันทึกสำหรับผู้ประเมินเพื่อสรุปผลงาน คุณงามความดีและพฤติกรรมการทำงานของข้าราชการ

แล้วแจงต่อไปว่าให้ข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ ๘ ลงมา ถือเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จะต้องบันทึกผลงานและพฤติกรรมการปฏิบัติราชการตามคุณลักษณะการปฏิบัติงาน หรือคุณงามความดีในแต่ละช่วงของการประเมินผลการปฏิบัติงาน แล้วเสนอให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเพื่อพิจารณาและลงนาม  และกำหนดให้ให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป พิจารณาผลการบันทึกผลงานและพฤติกรรมการปฏิบัติราชการตามคุณลักษณะการปฏิบัติงาน หรือคุณงามความดี และลงชื่อในแบบบันทึกผลงานและคุณงามความดีของข้าราชการ แล้วสรุปลงในแบบบันทึกสำหรับผู้ประเมิน นำไปประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานในแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน

(รายละเอียดตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๒/ว ๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐)

ทั้งนี้ ท่านได้ให้นิยามความหมายไว้ในหนังสือเวียนฉบับดังกล่าวว่า
ผลงาน หมายถึง ผลของการปฏิบัติงานที่ผู้ปฏิบัติงานได้ดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมาย ข้อตกลงหรือตามที่ผู้มอบหมายงานสั่งการ ซึ่งอาจเป็นงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหรืองานอื่นๆ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายด้วยก็ได้

คุณงามความดี หมายถึง สิ่งที่ข้าราชการได้ประพฤติหรือปฏิบัติในราชการแล้วเกิดผลดี หรือคุณค่าที่ดี หรือเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ส่วนราชการประเทศชาติ และประชาชน


ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องสมุดบันทึกผลงานและคุณงามความดีของข้าราชการพลเรือนสามัญ ไว้เหมือนกัน แต่เมื่ออ่านทวนดูแล้วดูท่าว่าจะชวนทะเลาะก็เลยลบทิ้งไปเสีย  อย่างไรก็ดี ในแวดวงข้าราชการที่ผมรู้จัก เท่าที่สอบถามดูไม่ปรากฏว่ามีใครเขียนบันทึกผลงานและคุณงามความดีนี้เลย  ก็เลยไม่แน่ใจว่า "ข้าราชการดีเด่น" นั้น ท่านได้เขียนสมุดพกที่ว่านี้ด้วยหรือไม่

ท่านอาจารย์สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือฉบับดังกล่าวได้ที่นี่ครับ

# คห.๒ น้องปรางค่ะ

๑. เข้าใจถูกต้องแล้วครับ "เอกสารรายงานการปฏิบัติงาน" ที่ต้องส่งไปให้กรรมการประเมินมิใช่บันทึกการปฏิบัติงานประจำวันหรือประจำเดือนของนักสังคมสงเคราะห์ หากแต่เป็นการบันทึกรายละเอียดกระบวนการให้บริการสวัสดิการแก่ผู้รับบริการทั้งรายบุคคล กลุ่ม หรือชุมชน (หรือเรียกภาษาปากว่า "สรุปรายงานกรณีศึกษา") ตามกรอบที่คณะกรรมการกำหนด (บันทึกหน้าผมจะนำเสนอกรอบที่ว่านี้ละกันครับ)

คณะกรรมการกำหนดให้ผู้ขอรับการประเมินยื่น ๑ กรณีศึกษา โดยเป็นผลการปฏิบัติงานจริงที่มีผ่านมาแล้วไม่เกิน ๓ ปี


๒. เราต้องยอมรับว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมการประเมินแบบเข้มข้นยังคงมีอยู่ในสังคม องค์กรที่เห็นพ้องต้องกันว่าปีนี้ผลการดำเนินงานของหน่วยงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อย่ากระนั้นเลยเราคืน ๒ ขั้นให้ต้นสังกัดไปเสียดีกว่าก็ยังมีอยู่  ดังนั้น การได้รับการประเมินต่ำกว่าร้อยละ ๗๕  นอกจากจะสะท้อนผลการปฏิบัติงานแล้ว  ก็อาจมีผลมาจากวัฒนธรรมองค์กรเช่นว่านี้ด้วยส่วนหนึ่ง (แม้คณะกรรมการจะกำหนดว่าผู้ได้รับการประเมินต้องได้คะแนนเฉลี่ย ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ (จากแบบประเมินทั้ง ๓ ฉบับ) จึงจะถือว่าผ่านการประเมินระดับภายใน)  อย่างไรก็ดี เท่าที่ฟังและอ่านแบบผ่านๆ เห็นว่าระบบการกลั่นกรองและถ่วงดุลระหว่างกันค่อนข้างละเอียดและเชื่อมั่นได้ครับ

๓. ผมว่าลองไปอ่านในเล่มดูละกันนะครับ ในเรื่องนี้ ใช่ว่าผมจะมีปัญหาในการแจงรายละเอียดพฤติกรรมเชิงประจักษ์หรอกนะครับ เพียงแต่เห็นว่าในเมื่อเราทำกันใหญ่โตถึงเพียงนี้ ก็ควรที่จะทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์เสีย เพราะการแจงรายละเอียดตัวชี้วัด ( KPI Template) เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำกันอยู่แล้วในระบบประกัน/พัฒนาคุณภาพ


เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
http://www.m-society.go.th/msosocial.php

สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
http://www.thaisocialwork.org/

#คห.๓ คุณ kanok@love

ถ้าเอาวิชาชีพเป็นตัวตั้ง แล้วคุยเรื่องวิชาชีพกันให้หนัก เปิดเวทีให้กว้าง (อาจใช้เวทีของ ส.น.ส.ท. ทั้งอย่างเป็นทางการและผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในเว็บไซต์ ส.น.ส.ท.) ก็อาจช่วยกลบลบความรู้สึกเช่นว่านั้นได้ครับ

แต่การที่จะไม่ให้รู้สึกอย่างไรเลยนั้น ก็ดูท่าว่าเราจะปฏิเสธความเป็นจริงของสังคมไป เพราะระบบเราก็สอนกันมาอย่างนั้น ผมสิงห์ดำ คุณสิงห์แดง ผมธรรมศาสตร์ คุณจุฬาฯ ผมมหิดล คุณราชภัฏ ผมจบปริญญา คุณจบ ป.๔  ผม.... คุณ....  ผม.... คุณ.... ฯลฯ

ระบบเราก็เป็นมาอย่างนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท