Deep listening (revisited)


ผมติดค้างอาจารย์จันทวรรณไว้ในข้อคิดเห็นอันหนึ่งเมื่อเดือนก่อน ว่าจะต้องเขียนเรื่อง Deep listening ตามสไตล์ (และตามความเข้าใจ) ของตัวเองในบริบทของคนเป็นนาย แต่ว่าแค่ชื่อ Deep listening ก็มีปัญหาซะแล้วครับ

คำว่า Deep listening นี้ เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในสหรัฐ มีนิยามอย่างสั้นว่า "Deep listening® is...listening in every possible way...to everything possible to hear...no matter what one is doing...Such intense listening involves...the sounds of daily life...of nature...of one's own thoughts...as well as musical sounds...Deep listening is a life practice. -- Pauline Oliveros" (คำอธิบายอย่างยาว)

ผมไม่ชอบคำอธิบายนี้ครับ คุณ Pauline Oliveros เป็นศิลปิน ซึ่งชื่นชมทุกรายละเอียด ทุกเสียง

ในเรื่องของการบริหาร แม้ว่าจะต้องใส่ใจทุกรายละเอียด แต่การที่สนใจในทุกรายละเอียด จะนำไปสู่อาการธาตุไฟเข้าแทรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การฟัง (listening) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในกระบวนการสื่อสาร/การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น; การฟังต่างกับการได้ยิน ในแง่ที่การฟังมุ่งหาความหมายเพื่อที่จะเข้าใจผู้พูด การฟังมีสติกำกับอยู่ แต่การได้ยินนั้นเสียงผ่านมาเข้าหูเฉยๆ

ผมชอบที่อาจารย์มาลินีเขียนเรื่อง Deeplistening อีกที อีกหลายๆที เมื่อสี่เดือนก่อน ซึ่ง quote ข้อความมาจากนักศาสนปรัชญา J.Krishnamurti (แฟนประจำของบล๊อก Being a boss กรุณาอ่านให้ได้ครับ ท่านจะชอบแน่ๆ)

ถ้าวัตถุประสงค์ของการฟังอยู่ที่การเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง การพูดสวน/การพูดแทรก/การเถียง/การโต้แย้ง อาจจะเป็นสัญญาณเตือนให้สังเกตตัวเองได้ว่าเราไม่ได้ฟังเขา เราไม่ได้ต้องการจะเข้าใจเขา เราไม่รู้ว่าเขาพูดอยู่เพื่ออะไร และเราก็ไม่สนใจเขาด้วยซ้ำไป

หลังจากฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เราควรสอบทานความเข้าใจให้ชัดว่าสิ่งที่เราเข้าใจ เป็นสิ่งที่เขาต้องการสื่อมาจริงๆ (Active listening)

แต่แม้เป็น Active listening ก็ยังไม่แน่ว่าเราจะเข้าใจ เพราะว่าประสิทธิภาพของกระบวนการสื่อสารความคิดนั้น มีทั้งผู้ส่งและผู้รับ หากผู้พูด พูดไม่รู้เรื่องก็เหนื่อยเปล่า หากผู้ฟังไม่มีพื้นฐาน ต่อให้พูดไปนานก็เปล่าประโยชน์ เช่นถ้าเอาความรู้ระดับปริญญาเอกไปพูดให้เด็กมัธยมฟัง ก็คงจะงงเป็นไก่ตาแตก แต่ถ้าเอาความรู้ระดับ Ph.D. ตามนิยามแบบของ ดร.บัญชา ไปพูดให้เด็กประถม เขาอาจจะเข้าใจ; อาจมีเรื่องน่าประหลาดใจหากเอาความรู้ของเด็กๆ ไปเล่าให้พวกความรู้สูงๆ แล้วกลับไม่เข้าใจ เปรียบเหมือนคนอ่านหนังสือใกล้ตาเกินไป แทนที่จะชัด-กลับอ่านไม่ออก

ในบริบทของคนเป็นนายนั้น การตัดสินใจน่าจะเป็น informed decision มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจ ยืนห่างในระยะที่เหมาะสม ไม่ใกล้เกินไป-ไม่ไกลเกินไป มองให้เห็นประเด็นจากหลายๆ มุม จึงจะเป็นการตัดสินใจที่ดี แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยอคติ/ด้วยการตัดสินใจไว้ก่อนแล้ว/ด้วยการได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง/ด้วยการไม่รู้เรื่องแล้วยังวางฟอร์มว่ารู้เรื่องดี ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเสียเวลาฟังต่อไป

ฟังแค่ไหนจึงพอ

เรื่องนี้ตอบยากครับ แล้วแต่ว่าต้องการอะไร

หากจะฝึกวิชาจนบรรลุขั้นสูงสุด ก็ฟังจนเข้าใจแม้สิ่งที่ไม่ได้พูด เรื่องนี้ทำได้จริงๆ จากการอ่านบุคลิกภาพของผู้พูด ดูนิสัยใจคอ ประเมินร่วมกับข้อมูลอื่นที่ได้รับทราบมา (เป็นนายคน ถ้าอ่านลูกน้องไม่ออก จะเรียกตัวว่าเป็นนายได้อย่างไร)

สิ่งที่จะช่วยให้เข้าใจผู้พูดได้ดีที่สุด คือการถามคำถามที่ถูกต้อง แต่ปัญหาก็คือคำถามนั้นคืออะไร?!?!

หมายเลขบันทึก: 85126เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2007 02:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

คุณโยม....

เข้ามาเยี่ยม วันนี้ลอกอินไม่ได้

เจริญพร

พระอาจารย์วันนี้จำวัดดึกนะครับ

สวัสดีครับ

  • ขอบคุณบันทึกนี้ของอาจารย์มากครับที่ทำให้ผมได้ความรู้ที่ลึกและกว้างมากขึ้นครับ
ยินดีที่คุณหมอรู้สึกว่าได้ประโยชน์ครับ สิ่งที่ช่วยให้คุณหมอเข้าใจนั้นมีอยู่พร้อมแล้วในตัว (ยูเรก้า) เพราะถ้าไม่มี ผมเขียนอย่างไรคุณหมอก็จะไม่รู้สึกว่าเข้าใจ-ได้ประโยชน์หรอกครับ ผมจึงไม่สามารถที่จะรับสมอ้างเป็นอาจารย์ครับ (แต่ก็ขอบคุณที่เรียก-ฟังแล้วรู้สึกดีครับ)
P

ตอบคำถามเมื่อคืน ว่าไม่ได้จำวัดทั้งคืน...

คอมไม่ปัญหามานานแล้ว เมื่อวานล็อกอินไม่ได้ ก็เลยลองลงซ้ำ...

ยิ่งกว่าเดิม จอเป็นลูกคลื่น แก้ก็ไม่ได้ จึงฟอเม็ตเครื่องใหม่...ดูบอลไปพลาง เช้าก็บิณฑบาตร กลับมาก็ฉันข้าวแล้วจำวัดราว หนึ่งโมงเช้า...

อาตมานิสัยนอนดึกมาตั้งแต่เล็กๆ...ยิ่งอายุมากก็ยิ่งนอนดึก...

เคยอ่านบันทึกเก่าๆ ของคุณโยมว่านอนดึก บางคืนก็สว่าง อาตมาก็รู้สึกว่าคล้ายๆ กับโยม

เจริญพร   

ขอเข้ามาร่วมวงด้วยครับ ในทางจิตเวชนั้นเรื่องการฟังสำคัญมากๆ เลยครับ เขามีหลายคำ เช่น listening with the third ear, read between the lines, active listening, สมัยหลายสิบปีก่อนที่ทางจิตเวชยังเน้นเรื่องของการทำจิตบำบัดแนวลึก ผู้ฟังจะต้องเอามาเล่าให้อาจารย์ที่ควบคุมอีกที แล้วแปลความว่าหมายความว่ายังไง อาจารย์ก็จะแย้งหรือตั้งข้อสังเกตให้คิด

อีกข้อที่ตอนเรียนเขาจะเน้นคือการฟังนอกจากจะฟังเขาแล้ว ยังต้องฟังเราด้วยว่า เรารู้สึกยังไง เวลาที่เขาเล่าเรื่องแบบนี้ ตอนนี้เราหงุดหงิดหรือเปล่า อืม ทำไมพอคนนี้เข้ามาหาเราทีไร เราจะอึดอัดทุกทีนะ ขณะฟัง บางครั้งก็ต้องจินตนาการว่าเราเป็นบุคคลที่สามที่มองดูคนสองคนสนทนากันอยู่

สวัสดีครับ ทุกท่าน

       ขอแจมด้วยคนครับ เพราะว่าสนใจ แถมถูกพาดพิงเรื่องความหมายของ Ph.D. (= Poor and hungry Dude etc.) ด้วยครับ  ^_^

       ผมมีแนวคิดประหลาดๆ ออกแนวนิยายวิทยาศาสตร์นิดๆ แต่มีข้อมูลและข้อสังเกตสนับสนุนมาเสนอ เผื่อจะทำให้การอภิปรายประเด็นนี้ฉีกแนวออกไป แต่หากไม่ได้เรื่อง ก็ลบทิ้งได้ครับ

       แนวคิดนี้มีฐานการคิดดังนี้ครับ (เพิ่งมั่วขึ้นมาเมื่อกี้...อดทน "ฟัง" เอ้ย! อ่านหน่อยนะครับ...อิอิ)

       A. สมมติฐาน "คนช่างพูด" :

            จำได้เลาๆ ว่าอาจารย์ระวี ภาวิไล เคยเปรียบความคิดที่วนเวียนไปมาในหัวของแต่ละคนว่าเป็น "คนช่างพูด" โดย "คนช่างพูด" คนนี้พูดอยู่เกือบตลอดเวลา

             A1 - ถ้าการเปรียบเทียบแบบนี้พอใช้ได้ จะพอพูดได้ไหมครับว่า การที่การฟังผู้อื่นให้เข้าใจอย่างยากลำบากเหลือเกินนั้น เกิดจากเสียงของ "คนช่างพูด" ขัดขวางอยู่นี่เอง

             A2 - มองกลับเข้ามาภายใน - เอาเข้าจริงแล้ว แม้ "คนช่างพูด" จะอยู่กับเราตลอด และพูดอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ไม่เคยใส่ใจ "เขา" จริงๆ (ลองถามตัวเองว่า เมื่อ 5 นาทีก่อน "คนช่างพูด" พูดว่าอะไร?)

              A3 - อย่างไรก็ดี มีคนเคยสอนว่า เวลาที่เราตัดสินใจลำบาก เนื่องจากทางเลือกแต่ละทางดูดี หรือแย่พอๆ กัน ก็ให้ "ฟังเสียงจากภายใน" ของตัวเราเอง - แบบนี้ดูเหมือนว่า ในภาวะวิกฤติ "คนช่างพูด" กลับเป็นผู้ที่ครุ่นคิดได้ลึกซึ้ง และน่าจะชี้แนะทางออกที่ดีที่สุดให้

           B. ข้อเท็จจริงบางประการ "ประสบการณ์ซินเนสทีเซีย (synesthesia)"

                มีปรากฏการณ์น่าพิศวงอันหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจจะเกี่ยวกับเรื่องการฟังอย่างอ้อมๆ ก็ได้ นั่นคือ ซินเนสทีเซีย (synesthesia/synaesthesia)

                กล่าวแบบย่อๆ ก็คือ คนที่มีประสบการณ์นี้ จะแปลการรับรู้ของประสาทสัมผัสอย่างหนึ่งไปเป็นอย่างอื่น เช่น เห็นตัวเลขหรือตัวหนังสือเป็นสี (colored letters and numbers) ฟังเพลงแล้วรู้สึกคันที่ผิวหนัง และอีกมากมาย

                มีสมมติฐานหนึ่งบอกว่า อันที่จริงทุกคนมีประสบการณ์นี้ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยเด็ก แต่มันค่อยๆ เลือนหายไป เมื่ออวัยวะสัมผัส และการตีความในสมองแยกชัดเจนมากขึ้น

                เรื่องนี้ หากนำไปรวมกับสมมติฐาน C ต่อไปนี้ อาจทำให้เห็นอะไรบางอย่างเพิ่มเติม....

            C. สมมติฐาน "การอ่าน = การได้ยิน"

               เคยสังเกตตัวเองว่า เวลาเราอ่านอะไรก็ตาม ดูเหมือนจะเป็นการออกเสียงให้ตัวเองฟัง มันก้องๆ อยู่ในหัว

               เช่น หากอ่านร้อยกรอง (หรือแม้แต่ร้อยแก้ว) อย่างมีจังหวะจะโคน เสียงนี้ก็จะมีจังหวะที่ชวนให้จำง่าย & จำได้นาน

               ผมขอเสนอต่อไปว่า เป็นไปได้ไหมที่ว่า ภาพที่เราเห็น ความรู้สึกต่างๆ ทั้งรส สัมผัส (ร้อน-หนาว) ฯลฯ อยู่แทบตลอดเวลานั้น บางส่วนได้ถูกแปลงไปเป็น "เสียง" ของ "คนช่างพูด" (นอกเหนือจากความคิดที่เราเรียกแบบเหมารวมว่า เกิดจากจิต)

               นี่เองที่ทำให้บางคนหลับตา (ลดข้อมูลภาพจากตา) นั่งนิ่งๆ (ลดการสัมผัสทางกาย) หายใจลึกๆ ฯลฯ เมื่อต้องการตั้งใจฟัง (ส่วนจะฟังแล้วเข้าใจแค่ไหนอย่างที่อภิปรายกัน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

           หากคิดตามแนวนี้ ก็สนับสนุนคำกล่าวที่ว่า  

           การฟังนั้นยากนัก แม้แต่การฟังตนเองก็ตามทีเถอะ เพราะว่าเสียงจากภายใน ("คนช่างพูด") นี้ มีเหตุปัจจัยมาจากหลากทิศทางนั่นเอง ;-)

 

ขอบคุณครับ

เข้ามาลงชื่อว่ายังเกาะติดเรื่องนี้อยู่...

คุณหมอมาโนชเล่ามา ทำให้อาตมานึกถึง ซิกมันด์ ฟรอยด์...

ความเห็นของ อาจารย์ดร. บัญชา น่าสนใจครับ... อาจารย์น่าจะให้ความเห็นต่อนะครับ...

เจริญพร 

สวัสดีครับ

  • รู้สึกดีใจที่อาจารย์ตอบ comment ครับ
  • ตามไปอ่านที่ลิงค์เช้านี้ตอนอยู่เวรดึก ยิ่งโดนใจมากขึ้นครับ
  • ได้ปริ้นไว้อ่านและแจกกัลยาณมิตรในที่ทำงานครับ
  • ตอนที่เป็น นศพ  ผมเคยชอบอ่านงานเขียนของท่านกฤษมูรติมากครับ(แม้ว่าตอนนั้นจะไม่ค่อยรู้เรื่องนัก)
  • จริงๆครับ  คือผมว่าผมเพิ่งจะฟังเป็นจริงๆก็เมื่อไม่นานมานี้เอง  และคิดว่ามันก็อาจจะยังไม่ค่อยดีพอครับ  ต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก

ต้องขออภัยที่หายไปสองวันครับ รู้สึกเหมือนขาดอะไรไปก็ไม่รู้ แต่ที่หายไปเพราะต้องค้นข้อมูลเพื่อไปบรรยายซึ่งพูดเสร็จไปเมื่อเช้าแล้วครับ (ง่วงแทบตาย! สงสารคนฟัง)

ความจริงผมก็แวะมาอ่านแต่ไม่มีเวลาตอบ รู้สึกยินดีที่มีความคิดเห็นคุณภาพงอกเงยขึ้นที่นี่ โดยบล๊อกเกอร์คุณภาพที่มีแฟนคลับเยอะนะครับ

Deep listening ในความเข้าใจของผม-ในบริบทของคนเป็นนาย นั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า วัตถุประสงค์ของการฟังอยู่ที่การเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง ครับ ใช้ทักษะในการฟังแยกแยะ สาระ-ประเด็น ออกจาก ข้อมูลเสริม-อารมณ์-สัญญาณรบกวนต่างๆ นำสิ่งที่ได้รับฟังมา มาประมวลกับข้อมูลที่มีอยู่เดิม เพื่อหาความหมายใหม่ หาความรู้-ความเข้าใจใหม่ หาทางออกสำหรับประเด็นที่ต้องการจะแก้ไข

นอกจากนั้น ผมยังเห็นว่าการฟังเป็นทักษะจำเป็นของชีวิตที่ฝึกได้ครับ เราเลือกเองและเลือกวิธีเองว่าจะหรี่เสียง"คนช่างพูด"ลงหรือไม่-อย่างไร; สมาธิในการฟังสามารถหรี่เสียง"คนช่างพูด"ลงได้ แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องฝึกครับ

การฟังเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ในการดำรงชีวิต (นอกเสียจากจะปลีกวิเวก ไม่พบปะใครเลยจริงๆ) ในเมื่อการฟังเป็นเครื่องมือ เราก็เป็นคนเลือกใช้ และการฟังไม่ใช่จุดหมายปลายทางครับ

ศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา (FIBO/KMUTT/MTEC/OLPC) เคยเขียนบทความไว้อันหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งผมชอบและเขียนความเห็นไว้ในบล๊อกภายในบริษัท ขอตัดตอนบทความดั้งเดิมเฉพาะต้นกับท้ายมาฝากให้คิดครับ

        ได้ยินมาว่า มีการศึกษาวงสวิงและการตีกอล์ฟของแชมป์อย่างคุณไทเกอร์ วูดส์ รายงานการศึกษามีความหนาถึง 2,000 หน้ากระดาษ A4 โดยมีประเด็นการศึกษาครอบคลุมด้านโครงสร้างของข้อแขน ข้อมือ และกระดูกส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนถึงพลศาสตร์การเคลื่อนไหว ผมกำลังค้นหาเอกสารนี้อยู่ สิ่งที่ผม “ทึ่ง” มากกว่าผลการศึกษานี้ คือ คุณไทเกอร์ วูดส์ ไม่เห็นจำเป็นต้อง “รู้” อย่างที่รายงานการศึกษานั้นพยายามจะรู้ แต่ก็ตีกอล์ฟเป็นแชมป์มาแล้วหลายสมัย ในขณะเดียวกัน คนอย่างผมที่มีพื้นฐานวิศวกรรมอาจมีความเข้าใจรายงานการศึกษานั้น ตั้งใจอ่านไปมาหลายรอบ ก็ไม่สามารถตีกอล์ฟได้เก่งเหมือนแชมป์ไทเกอร์ วูดส์ ได้เลย!!

        ความรู้และความสามารถด้านกอล์ฟในระดับแชมป์นี้ จึงไม่สามารถถ่ายทอดผ่านคำพูดหรือตัวอักษรได้ (Tacit Knowledge)

        อันที่จริง มีความรู้นานัปการ ในลักษณะนี้ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเรามีอยู่มาก แม้ว่าท่านเหล่านั้นได้เกษียณจากการทำงานปกติไปแล้วก็ตาม หากผู้เยาว์อย่างพวกเราเคารพท่าน มีโอกาสทำงานรับใช้ท่านเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด หรือได้สัมผัส

        เพียงแค่ “วิธีคิด” ของท่าน ก็สามารถเห็นทางสว่างและความจริง ที่ยากต่อการสื่อสารให้ครบถ้วนด้วยการพูดหรือเขียนได้

        ...เรื่องทางเทคโนโลยี ตัดออกเนื่องจากไม่อยู่ในประเด็นนี้...

        ขอเน้นว่าเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้จากการปฏิสัมพันธ์ หรือปฏิบัติ มากกว่าการ ฟัง พูด อ่าน เขียน เรื่องนี้ก็เป็นความจริงในการศึกษาพุทธศาสนา ต่อให้ฟังเทศน์เก่ง คิดตามที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ สั่งสอนได้ดีเพียงใด หากไม่ปฏิบัติด้วยตนเอง ก็ไม่มี "ทางรู้” เลย มีได้แต่เพียง “ตัวกู ไม่มีตัวกูของกู” เท่านั้น

เรื่องประสบการณ์ซินเนสทีเซีย ผมว่าน่าสนใจมากเลยนะครับ ยิ่งประโยคของอาจารย์บัญชาที่บอกว่า คนที่มีประสบการณ์นี้ จะแปลการรับรู้ของประสาทสัมผัสอย่างหนึ่งไปเป็นอย่างอื่น

ขอพูดนอกเรื่องซินเนสทีเซียนะครับ ผมเคยอ่านเขียนบันทึกในบล๊อกภายในบริษัท อ้างอิงบทความหลายอันที่พูดถึง "กล่องความรู้" หรืออะไรทำนองนั้น แต่หาบทความเก่าๆยังไม่เจอ เมื่อกี้เลยโทรไปถาม CKO เธอแนะว่าเป็นคำว่า "ลิ้นชัก" หรือเปล่า ค้นหาทั้งกล่อง-ทั้งลิ้นชัก ก็ไม่เจอทั้งคู่ เอาเท่าที่จำได้ลางๆ ตามการตีความของผมก็แล้วกันครับ ผิด-ถูกผมไม่รับผิดชอบนะครับ!

  1. อะไรจะปิ๊ง/ไม่ปิ๊ง รู้เรื่อง/ไม่รู้เรื่อง เข้าใจ/ไม่เข้าใจ อาจจะไม่ใช่ประเด็นของสิ่งที่รับเข้ามาใหม่แต่อย่างเดียว (โดยเฉพาะความรู้ขั้นสูง)

  2. ความรู้-ประสบการณ์ที่ได้มา สมองจัดเก็บเป็นกล่องๆ เมื่อมีสิ่งที่มากระทบ สมองก็จะดึงออกมา เทียบเคียงดูว่าสัมพันธ์กันไหม ถ้าใช่ก็เอาของเก่า+ของใหม่เก็บใส่กล่องเดียวกัน -- เรื่องนี้อธิบายปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่างครับ:

        (๑) พูดเรื่องอะไรสักครั้ง เหล่าคนฟังดันคิดกันไปคนละทางสองทาง เพราะว่าประสบการณ์ไม่เหมือนกัน พื้นฐานไม่เหมือนกัน การตีความจึงไม่เหมือนกัน ความเข้าใจ+อรรถประโยชน์ก็ไม่เท่ากัน เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นกับผู้พูด บรรดานักพูดมืออาชีพ จึงแนะมือใหม่ว่า know your audience

        (๒) แม้จะไม่ได้ประโยชน์ในวันนี้ แต่ข้อมูลก็ไปลงกล่องแล้ว ถ้าผู้ฟังเลือกที่จะเก็บข้อมูลไป; ถ้าเชื่อเลย ลงกล่องนึง ถ้าเก็บไว้พิจารณา ก็อาจจะลงอีกกล่องนึง (ลงกล่องนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะลืมไปเลย)

        (๓) ก็จะไม่ลืมได้ยังไงล่ะครับ กล่องหมด ก็ต้องเอากล่องเก็บขยะหรือสิ่งที่ไม่ได้ใช้มารีไซเคิลไง

        (๔) ข้างบนก็เป็นตัวอย่าง ทั้งผมและ CKO รู้ว่าเราพูดเรื่องเดียวกัน จำได้กันทั้งคู่ว่าเคยอ่านผ่านตาเพราะอยู่บนบล๊อกของบริษัทนานมาแล้ว -- ทั้งคู่หมายถึงเรื่องเดียวกัน แต่ภาพในสมองต่างกัน; คนงานยุ่ง(ช)เรียกกล่อง แต่คนมีระเบียบ(ญ)เรียกลิ้นชัก ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องเดียวกัน

  3. คนหัวไวคือคนที่เปิดกล่อง เพื่อค้นหาข้อมูลได้เร็ว ดังนั้นคุณลักษณะหัวไวจึงฝึกฝนได้; สิ่งที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือความเป็นคนช่างสังเกต เพราะว่าความช่างสังเกต จะแยกแยะกล่องได้เร็ว

  4. ถ้ามั่วตามนี้ อาจอธิบายประสบการณ์ซินเนสทีเซียได้ครับ (อธิบายได้ไม่ได้แปลว่าถูกต้อง)
ข้อมูลเพิ่มเติม:
P

อ่านเรื่องกล่องหรือลิ้นชักมาก็นึกถึงคำของเพื่อน ซึ่งเค้าอ้างว่า

มีคนถามนโปเลียนว่าทำไมจำสามารถวิเคราะห์สถานการณ์แนวรบต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน และบางครั้งก็อาจพักเพื่อเขียนจดหมายหาคนรักได้ ทำนองนี้...

นโปเลียนว่าสมองเหมือนลิ้นชัก ถ้าต้องการเรื่องใดก็เปิดเรื่องนั้นออกมา ถ้าไม่ต้องการก็เก็บไว้ ทำนองนี้....

น่าจะเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน...

เจริญพร

 

นโปเลียนเขียนไว้ดังนี้ครับ:

But it was Napoleon himself who gave the most significant insight into the workings of his own mind. He wrote:

'Different subjects and different affairs are arranged in my head as in a cupboard. When I wish to interrupt one train of thought, I shut that drawer and open another. Do I wish to sleep? I simply close all the drawers, and there I am - asleep.' 

สรุปว่าเป็นตู้ติดผนัง (cupboard) ซึ่งมีลิ้นชัก (drawers) ครับ

ลิงก์ข้างบน ยังพูดถึงผู้มีความจำเป็นเลิศอีกคนหนึ่งคือฮิตเลอร์ว่า:

Hitler was easily able to recall exact calibres of guns, the locations of military units, or submarine positions. His memory was not the general, imaginative variety developed by the normal person, rather that perfect system of recall which characterises the autistic or savant mind, and which had profound effects upon his thinking. Remembering was automatic, precise and absolute.

Hitler, like Napoleon, had a gift for simplifying vast amounts of data into what seemed like logical arguments, which he would string together when making speeches or decisions. Also like Napoleon, he was a voracious reader, a gleaner of facts which he stored without error.

There was also a correspondence in the attitudes of Hitler and Napoleon to their mothers. Both mothers, although different in character, could easily have set the conditions for drastic withdrawal - Klara Hitler doted upon her son, while Letizia Buonaparte was a formidable and intrusive authority from whom Napoleon was ever trying to free himself. Whether the two resulting minds were founded in the same problem is perhaps not so relevant as the similarity in dynamic.

P

ประเด็นความจำของฮิตเลอร์นี้ก็เคยพบ เค้าเล่ามาว่า ฮิตเลอร์เดินวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ เจอคนรุ่นราวเดียวกันก็ชวนคุย... หลายปีต่อมา คนนี้เจอฮิตเลอร์อีก ฮิตเลอร์ก็ถามถึงลูกคนโน้นคนนี้ว่าเป็นอย่างไร...  สร้างความปลื้มใจให้เค้ามาก เพราะพบท่านผู้นำเพียงครั้งเดียว... นอกจากจะจำเค้าได้แล้ว ฮิตเลอร์ยังสามารถจำเรื่องไร้สาระส่วนตัวของเค้าได้...ประมาณนี้

ต่อประเด็นออกไป เค้าว่า ฮิตเลอร์กับมุสโสลินีต่างกัน... ในยามครองอำนาจ คนบ้านเดิมและญาติพี่น้องของฮิตเลอร์ก็ยังคงเหมือนเดิม...แต่มุสโสลินีพาญาติพี่น้องและคนบ้านเดิมมาทำงานเป็นบริวารอยู่ใกล้ๆ

ทบทวนความจำ ครับ

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ & สวัสดีครับทุกท่าน

         ผมนำบทความเรื่อง ปรากฏการณ์ซินเนสทีเซีย ที่เคยเขียนเอาไว้มาโพสต์ลงใน G2K เพื่อเป็นข้อมูลครับ

         ช่วงนี้หายไปหลายวันเพราะออกไปให้สัมมนาติดๆ กัน วันนี้ก็ต้องกลับมาเคลียร์งาน เพิ่งจะมีโอกาสเข้ามานี่ละครับ

         ผมขอเวลาไปทบทวนข้อมูลในประเด็นนี้ซะหน่อย แล้วเดี๋ยวจะกลับมาใหม่นะครับ ท่าทางน่าสนุกดี เกี่ยวกับ Cognitive Science ซะด้วย ;-)

ข้อความของดร.บัญชาที่ว่า เป็นไปได้ไหมที่ว่า ภาพที่เราเห็น ความรู้สึกต่างๆ ทั้งรส สัมผัส (ร้อน-หนาว) ฯลฯ อยู่แทบตลอดเวลานั้น บางส่วนได้ถูกแปลงไปเป็น "เสียง" ของ "คนช่างพูด" นั้นน่าสนใจครับ เป็นข้อสังเกตที่แหลมคมทีเดียว ผมเองก็คิดว่ายั้งงั้นนะครับ ข้อมูลที่เรารับรู้ นั้นมันมาแบบ global ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ผมว่ามันรวมผสมผสานเป็นข้อมูลเข้ามาในตัวเราโดยบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัว 

การฟังของเรา ถ้าจะพูดในความหมายที่กว้างแล้วก็คือ การเปิดใจรับข้อมูล โดยสังเกตที่มาของข้อมูลทุกมิติ ซึ่งข้อมูลบางอย่างมันอาจเข้ามาในลักษณะที่ละเอียดอ่อน ที่ผมคิดว่าต้องเป็นคนที่มีพรสวรรค์หรือคนที่ผ่านการฝึกฝนเขาจะรับข้อมูลชนิดนี้ได้เร็ว เช่น การอ่านคนแม่น หรือรู้ทันว่าคนๆ นี้ที่พูดนั้่นจริงไหม หรือมีอะไรแฝงอยู่  ผมไม่แน่ใจว่านอกจากข้อมูลที่มาตามประสาทสัมผัสทั้งห้าแล้ว จะยังมีข้อมูลในมิติอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในการรับรู้ของเราโดยเราไม่รู้ตัวหรือไม่ จึงทำให้เกิดลักษณะของคนบางคนที่เป็นแบบมี sixth sense คือการรับรู้ในมิติอื่นๆ ของเขาแรงมากกว่าคนธรมดา

ผมว่าคนธรรมดาเราก็น่าจะมีนะครับ แต่มันไม่แน่ไม่นอน และขึ้นๆ ลงๆ บังคับไม่ได้ บทจะมาก็มา คล้ายๆ กับรู้โดยกึ๋น ว่าไอ้หมอนี่ไว้ใจไม่ได้ แต่ถามก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าอะไรในตัวเขาที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น

 

ชอบบันทึกนี้มากค่ะคุณ Conductor ได้ความรู้หลากหลายเหลือเกิน จินตนาการไปแล้วทำให้คิดไปถึงภาพนักปราชญ์ชาวกรีกยืนล้อมวง discuss กันค่ะ :)

deep listening คงต้องมาควบคู่กับ Appreciative inquiry เพื่อให้เกิดบรรยากาศของมิตรภาพและการเปิดใจค่ะ

ดิฉันเองไม่ค่อยเจอผู้เจอคนเท่าไรค่ะ :) จึงไม่ค่อยได้ฝึกฝน deep listening

แต่ปรากฎว่า มีโอกาสฝึก deep reading บนบล็อกอยู่บ่อยๆ ค่ะ โดยเฉพาะต้องนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์ user requirement สำหรับ system development ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท