ความเข้าใจ "ใหม่" เกี่ยวกับ Dialogue


ถ้าในวงที่พูดคุยกันอยู่นั้น “ต่างคนต่างคิด” ถึงจะฟังกันอย่างตั้งใจก็ไม่อาจจัดว่าเป็นวง Dialogue

        ผมได้ดู DVD ที่ท่านกฤษณะมูรติพูดไว้ที่เมือง Saanen ประเทศ Switzerland เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2522 ในหัวข้อ “Can Goodness, Love, Truth Be Born of Discipline?” ฟังแล้วเกิดความเข้าใจในเทคนิค Dialogue ขึ้นมาอีกมุมหนึ่ง แต่ก่อนเวลาที่มีคนถามผมว่า “Dialogue คืออะไร? ผมมักจะอธิบายแบบสั้นๆ ไม่ค่อยจะได้ แต่หลังจากที่ได้ดู DVD เรื่องนี้ทำให้ผมตอบได้อย่างสั้นๆ (ตามความเข้าใจของผม) ว่า . . . “Dialogue คือ The Art of Listening and Thinking Together”

        ที่ Dialogue เป็น  “The Art of Listening” ก็เพราะ Dialogue นั้นเน้นกันที่การฟังเป็นส่วนใหญ่ เป็นการฟังอย่างตั้งใจ แต่ต้องไม่ใช่การจ้องเพ่ง การฟังอย่าง ตั้งใจ กับการฟังอย่าง จ้องเพ่ง นั้นไม่เหมือนกันนะครับ อย่างแรกในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Listen Attentively” ส่วนการฟังแบบจ้องเพ่งหรือจดจ่อนั้นน่าจะตรงกับคำว่า “Concentration” มากกว่า จะเห็นได้ว่าเป็นการฟังที่มีลักษณะแตกต่างกันไป . . . ในหลายๆ ครั้งเมื่อพูดถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมถูกถามเป็นประจำก็คือคำถามที่ว่า . . . แล้วที่ผ่านมาคนทั่วไปนั้นฟังแบบไหน แบบ Attentively หรือว่าแบบ Concentration ? ซึ่งผมก็มักจะตอบไปว่า ไม่ใช่ทั้งสองแบบ 

        เพราะคนทั่วไปมักจะฟังกันอย่าง ทิ้งๆ ขว้างๆ ฟังอย่างมี ตัวกรอง คือเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่ต้องการได้ยิน ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกน้องบอกอะไร ก็มักจะเปรียบเทียบอยู่ในใจว่าตรงกับเราไหม ถ้าไม่ตรงก็บอกว่า ไม่ใช่ รีบพูดสวนออกไปทันที ทำให้ไม่ได้ฟังลูกน้องอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็เป็นการฟังแบบ ผ่านๆ แบบ ขอไปที ทำท่าประหนึ่งว่ากำลังตั้งใจฟังทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วกำลังคิดเรื่องอื่นอยู่ เป็นการฟังแบบผิวเผิน ฟังอย่างเพลิดเพลิน หรือฟังเพียงเพื่อต้องการข้อมูล (บางส่วน) มาใช้ตัดสินใจ แต่ไม่ได้ ทุ่มเทจิตใจ ให้กับการฟังอย่างเต็มที่ เป็นการฟังที่ หย่อนเกินไป หรือไม่ก็ฟังแบบจดจ่อหรือ ตึงเกินไป ใครก็ตามที่ฟังแบบ “Attentively” ถือว่าเป็นผู้ที่ยึด ทางสายกลาง คือไม่หย่อนและตึงจนเกินไป ให้ความสำคัญกับที่สิ่งกำลังฟัง ใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ ตรงหน้า ผมว่านี่แหละครับ ศิลปะของการฟัง

        สำหรับประเด็นที่บอกว่า Dialogue เป็น “The Art of Thinking Together” นั้น ถึงการฟังจะสำคัญ แต่ผมมองว่า การคิดร่วมกัน ก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าในวงที่พูดคุยกันอยู่นั้น ต่างคนต่างคิด  ถึงจะฟังกันอย่างตั้งใจก็ไม่อาจจัดว่าเป็นวง Dialogue ได้ เพราะในวง Dialogue ควรจะมีการสะท้อนความคิดที่อยู่ในหัวของแต่ละคนออกมาด้วย โดยไม่ต้องเกร็งว่าสิ่งที่ตนคิดนั้น ผิดหรือถูก ประการใด ต้อง ก้าวข้าม สิ่งเหล่านี้ไปให้ได้ ต้องไม่มี การตัดสิน ใดๆ ปล่อยให้มันไหลไป โดนไม่ต้องไป กะเกณฑ์ ไม่ต้องพยายามนำไปสู่ ข้อสรุป ใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากที่ได้ฟังอย่างเต็มที่ ได้มีการใคร่ครวญ เกิดมี ความคิด ขึ้นภายในก็ถ่ายทอดสิ่งนั้นออกไป ตั้งใจฟังทุกสิ่งทุกอย่างที่แต่ละคนแบ่งปัน เป็นการคิดร่วมกัน นี่แหละครับ Dialogue ที่ผมเข้าใจ

หมายเลขบันทึก: 243266เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

     ตอนนี้ผมกำลังทำ เวทีครอบครัวอยู่ครับ  ออกเดินสายไปตามท้องที่ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ และ พอมีเวลา

      ผมใช้หลักการDialougueนี่แหละครับ   ได้การสนทนาที่พรั่งพรูออกมาอย่างมากมาย

      พรุ่งนี้ ผมจะไปที่ อบต.สะตอ  วันเสาร์ ไป อบต.เกาะช้างใต้

      ได้แนวคิดของท่านอาจารย์ไปเสริม  “The Art of Thinking Together ดีมากครับ

การฟังอย่างตั้งใจ ต้องมีสมาธิดีด้วยนะคะ จึงจะเข้าใจ

ฟัง อย่างมีสติ รู้ว่าตอนนี้เราไม่เห็นด้วย เราอยากจะขัดแย้ง เราอยากตอบโต้ แต่เราก็ห้อยแขวนไว้ก่อน เราสามารถพูดคุยได้ด้วยความมีสติ ไม่ตอบโต้เพราะโกรธ ใช่ไหมคะอาจารย์

ตามมาอ่านจนจบเพราะสนใจ แล้วก็มาถูกใจ ข้อความนี้มากค่ะ

Dialogue คือ The Art of Listening and Thinking Together”

สวัสดีครับ อาจารย์

ได้อ่านที่อาจารย์เขียนแล้วทำให้ผมนึกไปถึง CD ของพระอาจารย์ปราโมช ปราโมชโชเลยครับ

มีอยู่ตอนนึงที่ท่านกล่าวถึงการปฏิบัติดูจิตว่า...

...การปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ ถ้าไม่ "เผลอ" ก็ "เพ่ง" เลยไปไม่ถึงไหน...

ผมคิดว่าคงมีนัยยะคล้ายๆ กับที่อาจารย์กล่าวเลยครับ

หากอาจารย์มีเวลาว่าง
อยากรบกวนให้อาจารย์ช่วยอ่านบันทึกประสบการณ์ข้างวง Dialogue ครั้งหนึ่งในที่ทำงานครับ

http://gotoknow.org/blog/observer/242858

ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณท่านอาจารย์ครับ ที่สรุปให้ได้สั้น และ ชัดเจนมาก
  • ติดตามบันทึกของอาจารย์ประจำครับ

สวัสดีครับ

  • ทบไป ทวนมา ก็พบว่าเป็นจริงอย่างที่อาจารย์เชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟังของผู้บริหารที่มีตำแหน่งสูงๆหลายคนมักจะ ฟังกันอย่าง ทิ้งๆ ขว้างๆจริงๆครับ
  • ที่ ...  ทำท่าประหนึ่งว่ากำลังตั้งใจฟัง  นั้นเจอบ่อยมากครับ
  • ขอบพระคุณครับ

เข้ามาทักทายทุกๆ ท่าน . . . อาจารย์ Handy หายไปไหนมาครับ . . . ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยจะเห็น

อ. ประพนธ์ครับ ผมเขียนบล็อกถึงเรื่องที่ไปนั่งสนทนากับ อ. เมื่อวานนี้ (แบบคร่าวๆ แบบเต็มต้องรอเจริญชัย) ไว้ที่นี่ครับ

http://www.isriya.com/node/2471/talking-with-dr-prapon

ผมเข้าไปอ่านมาแล้วครับ สำหรับท่านที่สนใจ คลิกที่ link ได้เลยครับ -->

http://www.isriya.com/node/2471/talking-with-dr-prapon

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมเองยังเข้าใจเป็น concentration มาตลอด ... พยายามขายความคิดหัวหน้าว่า competency ที่แบงก์ต้องการคือ deep listening มากกว่า presentation ... เคยจัด workshop "Dialogue" แล้ว 2 ครั้งแต่ยังซื้อใจผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ได้ ... อาจารย์สบายดีนะครับ

ชอบคำอธิบายความหมายของอาจารย์มากๆ เลยค่ะ ประสบปัญหาการอธิบายให้ใครต่อใครเข้าใจว่า Dialogue คืออะไรแบบสั้นๆ ไม่ได้เหมือนกัน แต่ก็พยายามอธิบายนะ เพราะมัน Work จริงๆ (ใครไม่ลอง ไม่รู้) มั่นใจว่าถ้าผู้คนในโลกใบนี้ใช้ Dialogue กันมากพอ โลกใบนี้ก็คงมีสันติภาพมากขึ้น

ผมก็รู้สึกเหมือนกันกับ "เพชร" ที่ว่า "ถ้าคนใช้ Dialogue กัน โลกนี้ (ประเทศ หรือ องค์กร) ก็คงมีสันติภาพมากขึ้น"

ขอบคุณคะ อาจารย์ ที่ให้มุมมองชัดเจน ..ให้ความสำคัญกับที่สิ่งกำลังฟัง ใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ “ตรงหน้า” ผมว่านี่แหละครับ “ศิลปะของการฟัง” ซึ่งปฎิบัติได้ยากมากเลยคะ จากประสบการณ์ตนเอง เพราะกลไกที่สร้าง ความสนใจ - attention มาตลอดคือ - เป็นเรื่องใหม่ - เกี่ยวกับตัวเรา - มีคำถามในใจที่ต้องการหาคำตอบ ซึ่งเหมือนเป็น "ตัวกรอง" ที่อาจารย์กล่าว บรรยากาศในวงสุนทรียสนทนา มีความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่ตัดสิน สร้างความสัมพันธ์ เหล่านี้เป็นตัวช่วย แต่ การใส่ใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มีพื้นฐานจากการเจริญสติ อย่างที่คุณ paula ว่า เป็นสิ่งที่สร้างกันไม่ได้สั้นๆ จึงอาจอธิบาย เหตุใดการจัด workshop จึงไม่เห็นผลทันตา ( มีประสบการณ์คล้ายคุณ miyuki คะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท