บางส่วนของคำนำหนังสือ "intelligence: เป็นไปได้ด้วยปัญญา"


 

...คำง่ายๆ อย่างเช่น intelligence ซึ่งเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ ถ้าสื่อกันโดยทั่วไป ก็มีความหมายไปในเรื่องของความฉลาดปราดเปรื่อง เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการศึกษา เป็นสิ่งที่สามารถสร้างหรือพัฒนาขึ้นมาได้ แต่หากท่านได้อ่านเนื้อหาข้างในเล่ม ท่านจะพบว่า intelligence กลับเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวทุกคน ผมเลือกใช้คำว่าเชาวน์ปัญญาเพื่อให้ตรงกับเจตนาของ Osho ว่าสติปัญญาหรือปฏิภาณไหวพริบนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน มีอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต ติดอยู่แต่ตรงที่ว่า เงื่อนไขต่างๆ ได้มาบดบังปัญญาที่มีอยู่นี้ เปรียบเสมือนน้ำพุที่พร้อมจะพุ่งออกมาจากพื้นดินแต่ถูกก้อนหินใหญ่ปิดทับเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถพุ่งขึ้นมาได้

 

สิ่งที่ osho เสนอไว้ก็คือ การนำก้อนหินที่ปิดทับนี้ออกไป โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่าการภาวนาหรือที่ท่านใช้คำว่า “Meditation”การภาวนาที่ว่านี้ท่านไม่ได้หมายถึงแค่การทำสมาธิ หากแต่ว่าหมายถึง การฝึกระลึกรู้ ตามดูกาย ตามดูใจ เป็นการฝึกให้สามารถตอบสนองได้อย่างสร้างสรรค์กับปัจจุบันขณะ” Osho ใช้คำว่าตอบสนองหรือ “Response” เพื่อต้องการจะแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำว่าตอบสนองกับคำว่าตอบโต้ (React)” ท่านอธิบายต่อไปว่าการตอบโต้นั้นเป็นเรื่องของความคิด เป็นสิ่งที่มาจากอดีต เป็นสิ่งที่ทำไปโดยไม่รู้ตัวในขณะที่การตอบสนองนั้นเป็นเรื่องของปัจจุบันและเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง

 

หนังสือเล่มนี้ได้วิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนของระบบการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งได้ชี้ช่องทางให้เห็นถึงการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็นไว้ด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเรามีใจที่ กว้างพอพร้อมที่จะรับสิ่งต่างๆ ที่ osho เสนอไว้นี้ และมีใจที่ว่างพอที่จะนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในบริบทของสังคมไทย ก็จะเป็นอานิสงค์ที่ยิ่งใหญ่ต่อการศึกษาของไทยในอนาคต ผมเองรู้สึกได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ในทุกๆ ครั้งที่ได้อ่านผลงานของ osho รู้สึกเสมือนประหนึ่งการเติมเชื้อไฟเข้าไปในใจ ทำให้ไฟในใจลุกโชติช่วงต่อไปได้

 

 งานแปลเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา หากแต่ว่าความซาบซึ้งใจในขณะที่แปลผนวกกับกำลังใจที่ได้จากผู้อ่านที่ส่งผ่านมาทางอีเมล์ ทำให้ผมสามารถทำงานนี้ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ นักอ่านทุกๆ ท่านจากใจจริง ขอขอบคุณ คุณจุมพฏ ศรียะพันธ์ ที่ได้ช่วยอธิบายความหมายของคำบางคำให้กับผม ขอบคุณ คุณปรีดา เรืองวิชาธร กัลยาณมิตรแห่งเสมสิกขาลัย ที่ได้กรุณาสละเวลาเขียนคำนิยม ต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างสวยงาม...

นี่คือบางส่วนของคำนำที่ผมเขียนไว้ในหนังสือครับ                   

คำสำคัญ (Tags): #intelligence#osho#คำนำ
หมายเลขบันทึก: 88652เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

พี่เม่ย เขียนถึงที่มาของคำว่า "เชาวน์ปัญญา" ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/happyhemato/88156

ลองเข้าไปอ่านดู น่าสนใจมากครับ

อ่านแล้วค่อนข้างเข้าใจค่ะ และเชื่อว่าสติปัญญา...สร้างได้ แล้วก็อยากให้หลายๆ คนตระหนักและฝึกฝนตัวเอง (แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไรนัก :-S) แต่คนส่วนใหญ่ใช้ความคิดและตัดสินใจบนพื้นฐานความรู้เดิมที่สั่งสมกันมา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่บอกว่าเราใช้สมองกันน้อยมากเพราะเป็นการทำงานภายใต้จิตสำนึก ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับการทำงานของจิตไร้สำนึกที่จะมีประสิทธิภาพ ชัดเจนและกว้างขวางกว่ามาก ดังนั้นเชาวน์ปัญญาที่ว่านี้น่าจะเกิดจากการทำงานของจิตไร้สำนึกหรือเปล่าคะ 

อ้าว มีชื่อผมด้วย อย่างนี้ต้องไปทวงหนังสือ 8>

Osho เล่นคำได้น่าสนใจครับ อย่างเช่น react กับ response นี่ไหนๆ ก็อ่านอาจารย์ก็ยกมาแล้ว ผมก็ขออนุญาตอวดรู้มั่งก็แล้วกันนะครับ

ในศัพท์ฟิสิกส์ เวลามีแรงกระทำกัน เขาก็ว่า action=reaction กริยา=ปฏิกริยา reaction จึงเป็นผลของ action เป็นผลของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นสิ่งที่คาดเดาได้แน่นอน เช่น ถ้าเราโดนตีก็จะเจ็บ หรือ ถ้าตีสุนัข สุนัขก็กัดเรา นี่ก็ action = reaction

ส่วน response มันมากับ responsible คือความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องของปัจจุบัน คาดเดาไม่ได้ เช่น ถ้าคนตีหัวเรา เราอาจ response อย่างไรก็ได้จะด่า จะยิ้มให้ จะอวยชัยให้พร ได้ทั้งนั้น คือเปลี่ยนให้เราเป็นฝ่าย action ต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่เป็นฝ่าย reaction   แต่ reaction คือแน่นอนว่า หัวจะปูด=แรงที่ตีลงมา ถ้าเรากระทำด้วยความไม่รู้ตัวก็อาจจะมี reaction เหมือนสุนัขได้ คือเขาตีเราปุ๊บ เราก็ชกเขาปั๊บ ตรงนี้อาจจะกล่าวได้ว่าหลายๆ คนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ reaction อยู่ตลอด และไม่มีความสุขจากความรู้สึกที่ว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ ต่างกับคนที่รู้จัก response ซึ่งเป็นฝ่ายเลือกที่จะกระทำ กลับสภาพจากผู้ถูกควบคุมโดยเหตุการณ์เป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์  ซึ่งก็ได้มาจากสติ มีสติจิตก็ไม่ฟุ้งซ่านก็เป็นสมาธิ จิตมีสมาธิเกิดกำลังไปรบกับอวิชชาก็กลายเป็นปัญญา ว่าไปเรื่อยแล้วครับ

สงสัยต้องรีบไปทวงหนังสือที่อาจารย์แล้วครับ ขนาดยังไม่ได้อ่านยังเพ้อเจ้อได้ขนาดนี้

การเรียนรู้เป็นสิ่งที่มนุษย์เราอยู่กับมันตลอดเวลา เกือบทุกนาที เราเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด หรือเรียนรู้เพื่อการเอาชนะคนบนโลก เอาชนะเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน มนุษย์เราห่างเหินกับความดี ห่างเหินกับศีลธรรม น่าเป็นหวงเหลือเกินค่ะ

เห็นด้วยกับ อาจารย์วลัยพร ครับ ....ผมว่าที่คนเราเอาแต่ "แข่งขัน" กัน นั่นเป็นเพราะ "ความกลัว" ครับ ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย - insecure ทำให้เราต้อง "สะสม" ต้อง "แข่งขัน" ต้องพยายาม "ถีบตัว" ให้ขึ้นมาอยู่ "เหนือกัน" หลายครั้งที่ "การแข่งขัน" สร้าง "ความเกลียดชัง" ระหว่างกัน เพิ่ม "ช่องว่าง" ให้คนเรายิ่งห่างกัน

ที่ สคส. เรามองว่ากระบวนการ KM จะช่วยแก้ หรือ ลดปัญหาเหล่านี้ได้ (ไม่มากก็น้อย) ครับ

It's been long since I last wrote ka. Congratulations ka, Ajarn Prapon, on the new book na ka. I missed going to meet you at the Book Fair but appreciate your efforts and intelligence to translate the book ka. Will get to read it for sure na ka.

 

 

หลังจากที่แหววได้หนังสือ “เชาว์ปัญญาที่มีลายเซ็นของอาจารย์ “ซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นปัญญาอย่างหนึ่ง” แหววก็ได้อ่านพร้อมๆกับได้ความรู้ ความประทับใจ-ความงดงาม –และได้ใช้ประโยชน์ทันทีเลยค่ะ โดยความรู้ที่ได้ก็จะผสมผสานกับเล่มอื่นๆในชุดนี้อาทิ “วุฒิภาวะ” , “หลุด (Freedom) “ ที่ชัดมากๆที่ได้นำมาใช้เพราะได้เข้าไปอยู่ในกระแสของความคิดและจิตใจไปแล้ว ก็เรื่องของความรัก-เมตตา เป็นความรักที่บริสุทธิ์ค่ะ แหววชอบความรักแบบนี้เพราะรักแล้วมีความสุข อิ่มเอิบ นับวันยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งให้อิสระแก่กัน ยิ่งมีการตามรู้ ด้วยความไม่ประมาทของจิต ไม่ยึดติด ก็ยิ่งมั่นคงและเป็นสุข เริ่มด้วยเรื่องของลูกสาว เธออายุ 15 ปี พึ่งเข้าเรียนที่มงฟอร์ต เชียงใหม่ เราอยู่ไกลกัน ต้องโทรคุยกันทุกวัน แหววรู้สึกว่าแหววได้นำความรู้นี้มาใช้ แหววให้อิสระที่อิ่มด้วยรักเธอมากขึ้น เมื่อเธอมีปัญหา (มีเรื่องเข้ามาทดสอบพอดีช่วงสงกรานต์) แหววให้ข้อคิดเห็นบางอย่างโดยแหววรู้สึกว่า แหววมั่นคงขึ้นมาก และเธอก็สามารถใช้เชาว์ปัญญาของเธอเองได้ด้วยดี ทั้งที่ตอนแรกเธอเครียด ร้องไห้ ดูเหมือนอะไรๆจะแย่ไปเสียหมด ทุกอย่างจบลงง่ายดาย ด้วยดี สั้นๆ เมื่อเราฟัง รัก เมตตา มั่นคง และจุดประเด็นอะไรเล็กๆ บางอย่างเท่านั้น แหววรู้สึกถึง กิ่งก้าน-ใบแห่งอิสระที่งอกงาม พร้อมๆกับการเจริญของรากแก้วที่หยั่งถึงซึ่งภายใน ทำให้ดอกไม้แห่งเชาว์ปัญญาและสติปัญญา การคิดอ่านแก้ไขปัญหาต่างๆ เบ่งบาน งดงาม และมั่นคงขึ้น นอกจากนี้ก็จะเห็นผลในเรื่องราวของความรัก เมตตา และการปฏิบัติที่งดงามขึ้นกับ คุณพ่อ คุณแม่ พี่ชาย(ที่มิใช่พี่ชายแท้ๆ) เพื่อนร่วมงาน ซึ่งก็เนื่องมาจากความรักและการให้อิสระ ทั้งให้กับตัวเรา(ยกตัวอย่างเช่นกับแม่) และเราให้กับเขาทั้งหลาย พอถึงจุดนี้สิ่งหนึ่งที่ชัดขึ้นอีก คือความรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งในโลกนี้ ซึ่งย้อนกลับมาให้มีเมตตา และการปลดปล่อยอิสระมีมากขึ้นไปอีก อยู่บ้านก็ร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น,ไปอยู่ในที่ทำงานก็มีความสุข และบรรยากาศของมิตรซึ่งอยู่ที่ใจเราเองก็แผ่ขยายผลมากขึ้น ซึ่งก็ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์มากๆนะคะที่นำหนังสือดีๆ เหล่านี้มาให้ได้มีโอกาสได้อ่าน

คุณแหววถ่ายทอดได้ลึกซึ้งมาก ดังเช่นคำพูดที่ว่า ".... พอถึงจุดนี้สิ่งหนึ่งที่ชัดขึ้นอีก คือความรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งในโลกนี้ ซึ่งย้อนกลับมาให้มีเมตตา และการปลดปล่อยอิสระมีมากขึ้นไปอีก อยู่บ้านก็ร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น,ไปอยู่ในที่ทำงานก็มีความสุข และบรรยากาศของมิตรซึ่งอยู่ที่ใจเราเองก็แผ่ขยายผลมากขึ้น..." ผมเชื่อว่าสิ่งที่คุณแหวว "รู้สึก" นี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถ "คิดนึก" เอาได้ ต้องใช้ความรู้สึกและการตระหนักรู้ด้วยตัวเอง ...ผมคงจะขอนำข้อความนี้ไปใช้ในหลายๆ ที่จะครับ แค่อ่านก็ยังทำให้ผมรู้สึกดีมากเลยครับ ขอบคุณ คุณแหววมาก ........ประพนธ์ 23 เม.ย. 2550

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท