แม่และ...?....ต้นแบบแห่งการอ่าน


ปรากฏภาพเริ่มต้น คือภาพแม่หญิงชาวบ้านที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนกำลังป้ายน้ำมูกน้ำตาขณะที่อ่านพระเวสสันดรชาดก

          ภาพของหญิงวัยกลางคนที่กำลังร้องไห้  พร้อมกับเอามือป้ายเช็ดน้ำมูกน้ำตาอยู่เนือง ๆ  ในมือถือหนังสือเก่า ๆ มีรอยขาดไปทั่วเพราะผ่านการใช้งาน ผ่านมือมาหลายผู้คน   เด็กในวัยห้าขวบสงสัยยิ่ง   เข้าไปถามแม่ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าทำไมแม่จึงร้องไห้   แม่บอกว่าแม่สงสารกัณหากับชาลีที่ถูกชูชกทำร้าย   ถามแม่ต่อไปว่า
ทำไม  แม่จึงเล่ารายละเอียดให้ฟัง   ก็ฟังไปอย่างนั้นตามประสาเด็ก 

          ในบ้านยายในวัยเจ็ดสิบกว่าในขณะนั้นก็อ่านหนังสือนิยายรายสัปดาห์ในสมัยนั้นยายจะอ่านออกเสียงเบา ๆ  เราก็พลอยได้รับรู้เนื้อหาไปด้วย  พ่อจะอ่านหนังสือพิมพ์ที่พ่อค้าห่อของให้มา หรือไม่ก็ไปยืมหนังสือพิมพ์ของข้างบ้านมาอ่าน   ขณะที่พี่ชายอ่านเพลินจิตต์ฉบับกระเป๋า  เพชรพระอุมา ร้อยป่า  หล่อนเกิดมาเพื่อฆ่า  ทุกคนอ่าน อ่าน และก็อ่าน    เราก็เลยอยากจะอ่านออกบ้าง  ก่อนเข้าโรงเรียน ๑ ปี ประมาณ ๖ ขวบ พ่อจึงสอนอ่านเขียนให้ล่วงหน้า  เราก็ท่อง"พ่อหลีพี่หนูหล่อ"  ได้ก่อนเข้าโรงเรียนเสียอีก    ชั้น ป.๔-๖  เมื่อไปเรียนหนังสือกับพี่สาวที่เพชรบุรี ข้างบ้านเขารับหนังสือ  ทานตะวันซึ่งเพิ่งจะออกใหม่ในขณะนั้นติดใจพระเอก  แดน นักล่าปลาบึกแห่งลุ่มน้ำโขง อย่างมาก การผ่านไปแต่ละสัปดาห์ช้าเหลือเกิน   ในขณะที่พี่สาวซึ่งเป็นพนักงานของ ธกส.  พอจะมีเงินเพื่อเจียดซื้อหนังสือได้บ้างก็รับหนังสือคุณหญิงกับชาวกรุง  ซึ่งเป็นหนังสือที่มีระดับในหมู่นักอ่าน เรารู้จัก ถนัดศอ  โก้บางกอก  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์   ลาวคำหอม  รง วงศ์สวรรค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยอย่างนั้นการอ่านก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

         เมื่อเรียนชั้น ม.ศ.๑ รุ่นพี่เขาอ่านนิยายเรื่อง กลิ่นร่ำ ของบุษยมาส แล้วเดินเล่าให้เราฟังขณะไปโรงเรียน  ฟังแล้วอยากอ่านมาก  เพราะแอบหลงรักพระเอกและสงสารนางเอกเป็นอย่างยิ่ง จึงเริ่มเข้าห้องสมุดยืมหนังสือนิยาย โดยอ่านจากนิยายรักหวานแหววของบุษยมาสและพัฒนาไปสู่ชูวงศ์ ฉายะจินดา  จนหนังสือหมดห้องสมุดทั้งที่โรงเรียนและห้องสมุดประชาชน  และตอนนั้นเริ่มติดนวนิยายจากบางกอก ด้วยถึงขั้นหุ้นกับเพื่อนคนละหนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ เพิ่อซื้อหนังสือบางกอกรายสัปดาห์  และในชั้น ม.ศ.๑  มีโอกาสอ่านเรื่อง ราชาธิราช ในแต่ละคาบครูอ่านให้ฟังและเพื่อนอ่านทีละนิด ๆ มันเชื่องช้าเหลือเกินอยากอ่านอยากรู้เรื่องสมิงพระรามใจจะขาด  ไม่ทันใจเอาเสียเลย จึงต้องไปอ่านเองมาล่วงหน้าพอขึ้น ม.ศ.๒  ครูสอนวิชาภาษาไทยน่ารักมาก สอนเรื่องอิเหนา  อาจารย์เล่าเรื่องย่อให้ฟังจนจบ เราฟังแล้วภาพจินตนาการขณะที่อิเหนาเขียนกลอนบนกลีบดอกไม้จีบนางบุษบาขณะเล่นน้ำ  และภาพอิเหนาแอบซ่อนหลังองค์พระปฏิมา  เหมือนนวนิยายรักโรแมนติกอย่างไรอย่างนั้น  จึงรีบเข้าห้องสมุด เพื่อหาวรรณคดีเรื่องอิเหนามาอ่านจนจบ   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  คุณครูระเบียบ  หล่านาค  เป็นครูที่สอนสนุก ตลกท่านท่องกลอนพระมะ      เหลเถไถให้ฟัง  เกิดความใคร่รู้มาก  ก็ไปหามาอ่านจนจบ แล้วมาท่องให้เพื่อนฟัง  เพื่อนก็ว่าเราบ้าไปเสียแล้ว  โธ่ ! ไม่มีอารมณ์ร่วมเอาเสียเลย  เมื่อได้มีโอกาสไปเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ใน
ตัวเมือง  การอ่านยิ่งพัฒนาไปตามลำดับเพราะหนังสือมีมากขึ้นนอกจากจะอ่านในห้องสมุดของโรงเรียนแล้ว  ยังเป็นมาชิกของร้านเช่าอีกด้วย   เงินที่ได้มาเพียงเล็กน้อยจึงจำเป็นต้องทำธุรกิจเพิ่มคือซื้อขนมในตลาดมาขายเพื่อน ๆ ในห้อง  ได้กำไรวันละ ๑๐ บาท  ก็มากพอที่จะเช่าหนังสืออ่านได้อย่างสบายในวัยนี้นักเขียนที่ชื่นชอบคือพนมเทียน  ทมยันตี  โรสลาเรน  นักเขียนหวาน ๆ อย่าบุษยมาสอ่านไม่ได้แล้วติดการอ่านงอมแงม  บ างครั้งนอนเกือบสว่างถึงขั้นไปโรงเรียนไม่ได้ก็มี  และจากการสั่งสมการอ่านในขณะนั้น  ผลักดันให้เกิดทักษะทางการเขียนเกิดผลงาน ๒ ชิ้น  คือเรียงความเรื่อง "ห้องสมุดคือขุมทรัพย์ทางปัญญา" ได้รางวัลที่ ๒ จากงานสัปดาห์หนังสือ และเรื่องสั้นเรื่อง "ใครผิด"  แต่งได้ดีจนอาจารย์ผู้สอนถามว่าแต่งเองหรือ ?


        ปีการศึกษา ๒๕๒๐(พ.ศ.๒๕๒๑)  มาเรียนวิชาครู ป.กศ.สูง ณ วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี  ก็เป็นสมาชิกของห้องสมุดประชาชนอีกเช่นเดิม  แต่นักเขียนคงผลิตนวนิยายไทยออกมาให้อ่านไม่ทันเสียแล้ว  ประกอบกับขณะนั้นนวนิยายจีนกำลังมาแรง  ทั้งละครและภาพยนตร์ผู้คนให้ความสนใจกันมาก  ไม่ว่าจะเป็นมังกรหยก  ทวนคู่ะท้านภพ  เดชเซียวฮื่อยี้  เมื่อดูหนังเกิดอรรถรสประทับใจมาก  พี่ชายเช่าหนังสือมังกรหยกมาอ่านเป็นชุดโกเล้งกำลังดังเต็มที่  ลองหยิบหนังสือของพี่ชายมาอ่าน  เริ่มแรกอ่านค่อนข้างยาก เพราะชื่อตัวละครจำยาก และมีหลายตัว  เราไม่ชินต่อชื่อภาษาจีนพลิกกลับไปกลับมา  พี่ชายจึงสอนว่าให้อ่านไปเรื่อย ๆ  แล้วมันจะเข้าใจและเกิดมโนภาพเอง  จริงด้วยลองอ่านแบบไม่รู้ไม่ชี้  ผ่านไปเรื่อย ๆ ก็จำได้เอง   เมื่ออ่านติดก็อีกนั่นแหละ นวนิยายจีนในห้องสมุดและร้านเช่าก็อ่านหมดแล้วเช่นกัน

          ปัจจุบันด้วยวัยและปัญหาเรื่องสายตา การอ่านหนังสือจะเป็นการอ่านฉบับย่อ ๆ  โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องย่อทางโทรทัศน์และวารสารคู่สร้างคู่สม   ซึ่งคราใดที่เพื่อน ๆ เห็นเราอ่านหนังสือคู่สร้างคู่สมเขาจะยิ้มเหมือนเราเป็นตัวประหลาด  หนังสือเหล่านี้น้ำเน่าจริงหรือ   เราเป็นคนหนึ่งที่ซื้อและอ่านหนังสือเหล่านี้  กล้าพูดได้เลยว่าใครก็ตามที่เบะหน้าเมื่อเห็นชื่อหนังสือคู่สร้างคู่สมแสดงว่าไม่รู้จริง ไม่ใช่นักอ่าน  เพราะวารสารเล่มนี้เป็นหนังสือสารคดี  มีสาระที่หลากหลายมีความเป็นไทยและเป็นสากล  มีเรื่องราวตั้งแต่ชาวบ้านถึงศักดินา   มีเนื้อหาตั้งแต่บ้านนอกถึงนานาชาติ   เข้มงวดไปด้วยการเขียนสะกดคำ   เราจึงไม่อายเลยที่จะถามหาหรือยื่นเงินเพื่อซื้อหนังสือเล่มนี้

        เมื่อทั้งชีวิตได้สั่งสมการอ่านมาโดยตลอดก็เกิดความรู้สึกว่าถึงเวลาแห่งการแบ่งปันแล้ว  เพราะยังมีผู้คนอีกมากมายที่ขาดโอกาส   ยิ่งเมื่อ พ.ร.บ. แสดงความชัดเจนออกมาว่านักเรียนต้องเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้นักเรียนและครูต้องสามารถสืบค้นข้อมูลด้วยตนเองได้   แต่ขณะนั้นแหล่งเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ตมีเนื้อหาให้เด็ก ครูและผู้สนใจสืบค้นข้อมูลได้เพียงพอก็เปล่า  เราจึงเริ่มต้นจัดทำแหล่งเรียนรู้ภาษาไทยทางอินเตอร์เน็ต ชื่อว่าห้องเรียนสีชมพู (www.st.ac.th/bhatips )ซึ่งหมายถึงห้องเรียนแห่งความรัก ความอบอุ่น  ความเอื้ออาทรด้วยการแบ่งปันทรัพยากรทางปัญญา ทั้งเรื่องที่มาจากวรรณคดี วรรณกรรม จากการสืบค้น และที่เกิดจาการสังเคราะห์หล่อหลอมสัปดาห์ละเรื่องสองเรื่องสั่งสมมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๔    เริ่มจากเนื้อหาที่ตรงกับหลักสูตรช่วงชั้นที่สอน  เรื่องที่ร้องขอมาจากครูนักเรียนนักศึกษา และ ผู้สนใจจากที่ต่าง ๆ ที่ขอผ่านเว็บบอร์ด  สมุดเยี่ยมและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) เมื่อทำแต่ผู้เดียวไม่ทันก็หันมาใช้เหล่าสมาชิกตัวน้อยให้ช่วยอ่านศึกษาค้นคว้าและนำเสนอผ่านเว็บบอร์ดด้วย  ปัจจุบัน ช่วงชั้นที่ ๓และ ๔  ใกล้สมบูรณ์แล้ว    นอกจากนั้นยังได้บริจาคหนังสือให้กับผู้ด้อยโอกาสในทัณฑสถานครั้งละหลายสิบเล่ม   เป็นสมาชิกของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กของครูหยุยที่บริจาคเงินเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กด้อยโอกาสเป็นรายปี  และบริจาคเงินเพื่อซื้อหนังสือให้กับห้องสมุดของโรงเรียน   เมื่อมองพฤติกรรมการอ่านของตนเองและผลงานการถ่ายทอดมวลประสบการณ์ทางการอ่านที่ปรากฏในแหล่งเรียนรู้ห้องเรียนสีชมพู ก็เกิดคำถามว่าใครทำให้เราเป็นเช่นนี้    ก็ปรากฏภาพเริ่มต้น คือภาพแม่หญิงชาวบ้านที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนกำลังป้ายน้ำมูกน้ำตาขณะที่อ่านพระเวสสันดรชาดก  คนรอบข้างในครอบครัว  ครอบครัวของเรา ครอบครัวที่ยากจน เป็นชาวนาที่ไม่มีนาเป็นของตนเองต้องเช่านาเขาทำ  แม่มีลูกถึง ๙ คน  สภาพบ้านคือฝาไม้ไผ่ขัดแตะโย้เย้  มีร่องรอยไม้ไผ่หลุดหักเนื่องจากแรกพัดพาของกระแสน้ำในคราน้ำท่วม และครูอาจารย์ท่านต่าง ๆ              

          ปัจจุบันที่เราได้ผ่านการอ่าน การเรียนรู้  เป็นครูสอนนักเรียนฝึกฝนให้เด็กอ่านออกเขียนได้มาเป็นเวลา ๒๖ ปี  เกิดความทึ่งในตัวแม่อย่างยิ่ง  ทึ่งเพราะแม่ไม่เคยเข้าโรงเรียน  ภาษาในเวสสันดรชาดก  เป็นภาษาที่ค่อนข้างยาก  ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีสันสกฤต   แม่อ่านแล้วแม่ร้องไห้  แสดงว่านอกจากแม่จะอ่านออกแล้วแม่ยังจับใจความสำคัญได้ และตีความแตกอีกด้วย  ปัจจุบันแม่อายุ ๘๑ ปี แม่ก็หันมาอ่านคำสอนทางศาสนาบทสวดต่าง ๆ  พร้อมกับชี้แนะให้เราอ่าน   คราใดที่เราทุกข์หนังสือคำสอนทางศาสนาจึงเป็นยาขนานเอก  จากภาพที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ คือคำตอบว่าทำไมเราจึงรักการอ่าน  ทำไมจึงอ่านเป็นนิสัย  ทำไมจึงมีพลังแห่งการจัดทำแหล่งเรียนรู้เพื่อผู้อื่นมากมายเช่นนี้  คำตอบก็คือ เพราะแม่ คนในครอบครัว  คุณครูและคนรอบข้างเป็นนักอ่านนั่นเอง
          

หมายเลขบันทึก: 42850เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท