BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

บ่อน, เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม และกฎหมาย


บ่อน, เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม และกฎหมาย

บ่อน คือ สถานที่เล่นการพนัน ซึ่งมีทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย... สำหรับเมืองไทย บ่อนเกือบทั้งหมดผิดกฎหมาย... เมื่อว่าตามหลักพระพุทธศาสนา การเล่นพนันจัดเป็น อบายมุข (ประตูแห่งความเสื่อม) แต่มีกรณีพิเศษคือ ต้องเล่นบ่อยๆ (ประกอบเนืองๆ ) และ มีความมัวเมาในการเล่น (เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท) ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้บ้างแล้ว (ผู้สนใจลองดู  เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑๑ เป็นต้น)

เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม คือการกำหนดว่าการกระทำนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่  แต่ไม่มีบทลงโทษทางบ้านเมือง... ขณะที่ กฎหมาย แม้จะกำหนดถูกผิดและบทลงโทษไว้ชัดเจน แต่ก็มักจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปตามยุคสมัย...

เมื่อมาพิจารณากรณีบ่อน ซึ่งเริ่มมาสู่การถกเถียงอีกครั้งว่าควรจะอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ? ก็ลองมาดูในแง่มุมของเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ ๓ กลุ่ม กล่าวคือ

  • ประโยชน์นิยม
  • ลัทธิคานต์
  • ทฤษฎีคุณธรรม

...............

ประโยชน์นิยม ถือว่า การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่มีประโยชน์ที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด (ผู้สนใจเพิ่มเติมลองดู ประโยชน์นิยม ๑. เป็นต้น)... ดังนั้น ถ้าถือตามหลักการนี้ การอนุญาตให้บ่อนการพนันถูกกฎหมายก็น่าจะเหมาะสม กล่าวคือ...

ใครๆ ก็รู้ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบเล่นการพนัน และบ่อนเถื่อนก็มีอยู่ทั่วไป ซึ่งเชื่อกันว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายฝ่าย (เช่น ตำรวจ) มีรายได้อยู่กับกิจกรรมนี้  ถ้าจัดการให้บ่อนถูกกฎหมาย รายได้ส่วนนี้ก็จะได้เป็นของรัฐ มิใช่ว่าเป็นของใครบางกลุ่มบางคนดังเช่นปัจจุบัน...

นอกจากนี้ เมื่อเปิดบ่อนการพนัน อาจส่งเสริมอาชีพหรือสร้างงานด้านนี้ได้อีกหลายอย่าง เช่น การท่องเที่ยว...

.....ฯลฯ.....

.............

ลัทธิคานต์ ถือว่า การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่เราต้องการให้ทุกคนกระทำอย่างนั้น (ผู้สนใจเพิ่มเติมดู ลัทธิคานต์ ๑.เป็นต้น)... ดังนั้น ถ้าถือตามหลักการนี้ การอนุญาตให้บ่อนการพนันถูกกฎหมายก็่น่าจะไม่เหมาะสม กล่าวคือ....

ใครๆ ก็รู้ว่า การพนันเล่นไปแล้ว ติด เลิกได้ยาก คนฉิบหายหรือล้มเหลวในชีวิตเพราะการพนันมีเยอะแยะโดยไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง... เราห่วงลูกหลานของเรา ห่วงประเทศชาติของเรา ต้องการให้ลูกหลานและประเทศชาติของเราีมีความเจริญมั่นคง การพนันจะให้ถูกกฎหมายไม่ได้เด็ดขาด...

นอกจากนี้ เมื่อเปิดบ่อนการพนัน เท่ากับเป็นการส่งเสริมอาชญากรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมา เช่น การปล้นจี้...

........ฯลฯ.....

...........

ทฤษฎีคุณธรรม ถือว่า การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่ตรงหรือใกล้เคียงกับบุคลในอุดมคติ (ผู้สนใจเพิ่มเติมดู จริยศาสตร์คุณธรรม ๑.เป็นต้น)... ดังนั้น ถ้าถือตามหลักการนี้ การอนุญาติให้บ่อนการพนันถูกกฎหมายหรือไม่ มิใช่ประเด็นสำคัญ กล่าวคือ...

จริงอยู่ว่าการพนันอาจทำให้คนฉิบหายได้ แต่บางคนเค้าก็ไม่เล่น แม้ใครจะชวนอย่างไรก็ตาม... บางคนเล่นบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อสนุกสนานกับเพื่อนๆ เป็นต้นเท่านั้น มิได้มัวเมาจนกระทั้งฉิบหายไปกับการพนัน...

นอกจากนี้ คุณค่าของการพนันก็มีหลายอย่างเช่น คลายเหงา ลับสมองลองปัญญา ก่อให้เกิดความรื่นเริง ทำให้มิตรภาพระหว่างบุคลแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น....

.........ฯลฯ.........

..............

 

ผู้เขียนคิดจะเขียนหนังสือสักเล่มว่าด้วยเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว แต่ยังคงขี้เกียจเขียนเหมือนเดิม โอกาสนี้จึงนำมาเล่าย่อๆ....

 

หมายเลขบันทึก: 168926เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2008 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

นมัสการพระคุณเจ้า

          ผมขออนุญาต ลปรร.ด้วยคนครับ และขอให้กำลังใจพระคุณเจ้าที่จะเขียนหนังสือขึ้นมาเตือนสติสังคมไทยยุคปัจจุบัน ผมอยากจะให้วงการของพระสงฆ์หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์อาจจะเป็นมหามกุฏ หรือมหาจุฬาก็ได้ครับ น่าจะทำวิจัยซักชี้นหนึ่งเกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินความผิดถูกในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องการจะทำการพนันให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายในประเทศไทยด้วยครับ ว่าสังคมไทยได้ติดสินความผิดถูกของการพนันอยู่ที่จุดไหน แล้วทำเวทีประชาพิจารณ์ครับ กระผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

ไม่มีรูป

ประภาพรณ์

 

  • อนุโมทนา...

เจริญพร

  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • บางที่ก็ต้องให้มัวเมากันจนอิ่มจึงจะเห็น นิพพิทา นะครับ

 

นมัสการครับ

             ตามความคิดส่วนตัวของผมนะครับ ผมว่านักการเมืองไทยหลายคน  เป็นประเภทประโยชน์นิยมครับ 

             เพราะเขามักจะนิยามการเมืองว่าเป็นเรื่องของประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

             ทั้งนี้ ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะมาด้วยวิธีการใด

             และที่สำคัญ  เป็นที่ถูกอกถูกใจของประชาชนหลายคน

                                               ขอบคุณครับ

P

กวินทรากร

 

  • นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด
  • ิราคา วิมุจฺจติ เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น

แต่ประเภท เบื่อๆ อยากๆ นี้ มีอยู่ทั่วไป...

เจริญพร

 

P

small man

 

  • ประโยชน์นิยม เข้าใจง่าย และจับต้องได้เป็นรูปธรรม มิใช่แนวคิดเพ้อฝัน กลุ่มที่่่่่่่่่่่่ยอมรับแนวคิดนี้จึงมีมาก....

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

    ไม่ได้เข้ามานานครับผม มาขออนุญาตแลกเปลี่ยนเพิ่มอีกนิดเรื่องความนิยมครับ

  • ทุนนิยม
  • วัตถุนิยม
  • บริโภคนิยม
  • พัังนิยม

ว่าไปสังคมไทยเราก็วนอยู่กับเรื่องเหล่านี้นะครับ หวย บ่อน การพนัน อบาย เหล้า บุหรี่ ฯลฯ  จะมีใครกล้าทุบหม้อข้าวตัวเองนะครับ ในยุคอนาคตข้างหน้า

ทำให้ผมนึกพระท่านหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า เราจะเป็นสัตว์ประเสริฐได้ก็ต้องเมื่อจิตผ่านการฝึกฝนแล้ว... นั่นแสดงว่าเราเกิดมาเบื้องต้นไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ประเสริฐมาตั้งแต่เกิด แต่จะประเสริฐหรือไม่ในภายหลัง? ไม่ทราบว่าหลวงพี่เห็นอย่างไรครับ

ต่อไปบ้านผมต้องเปลี่ยนชื่ออำเภอครับ.... ตอนนี้มีอยู่สามบ่อน คือ สนามชนโค (บ่อนวัวชน)  สนามชนไก่ (บ่อนไก่)  สนามกัดปลา (บ่อนปลากัด) ต่อไปก็จะมีอะไรออกมาเป็นสวนสัตว์แน่ๆ อิๆๆๆๆ

กราบขอบพระคุณครับ

P

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

 

  • เราจะเป็นสัตว์ประเสริฐได้ก็ต้องเมื่อจิตผ่านการฝึกฝนแล้ว... นั่นแสดงว่าเราเกิดมาเบื้องต้นไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ประเสริฐมาตั้งแต่เกิด แต่จะประเสริฐหรือไม่ในภายหลัง

หลวงพี่มีความเห็นว่า... อาจารย์เม้งใช้ การปฏิเสธหน้าหน้าแล้วปฏิเสธหลัง ซึ่งผิดกฎตรรกศาตร์ กล่าวคือ

  • สัตว์ฝึกฝนจิตแล้ว จึงเป็นสัตว์ประเสริฐ (P - Q)
  • สัตว์ที่ยังไม่ได้ฝึกจิต  จึงยังไม่ได้เป็นสัตว์ประเสริฐ (n P - n Q)

นี้ถอดมาจากการอ้างเหตุผลของอาจารย์เม้ง

..........

เพราะตามกฎตรรกศาสตร์พื้นฐาน

  • ถ้า P ถูก Q ถูก (ถ้าหน้าถูก หลังถูก)
  • ถ้า Q ผิด  P ผิด (ถ้าหลังผิด หน้าผิด)
  • (แต่) ถ้า P ผิด Q ไม่แน่ (แต่ถ้าหน้าผิด หลังไม่แน่)

หลวงพี่มีความเห็นอย่างนี้ (........)

เจริญพร

กราบขอบพระคุณหลวงพี่ครับผม

    ยอดจริงๆ ครับ สมเป็นนักตรรกศาสตร์จริงๆ ครับ

ทำให้ผมนึกพระท่านหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า เราจะเป็นสัตว์ประเสริฐได้ก็ต้องเมื่อจิตผ่านการฝึกฝนแล้ว... นั่นแสดงว่าเราเกิดมาเบื้องต้นไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ประเสริฐมาตั้งแต่เกิด แต่จะประเสริฐหรือไม่ในภายหลัง? ไม่ทราบว่าหลวงพี่เห็นอย่างไรครับ

ประพจน์ย่อยๆ ที่หลวงพี่คิดมาแล้วน่าสนใจครับ ลองถอดๆ กันดูครับ ว่ามีประพจน์ย่อยๆ อะไรบ้างครับ ผมเองก็ห่างหายในการแปลความว่านานเพื่อแยกเป็นประพจน์ ทั้งๆที่เราคลุกคลีกับตรรกศาสตร์อยู่ทุกวัน

  • เราจะเป็นสัตว์ประเสริฐ (Q) ได้ก็ต้องเมื่อจิตผ่านการฝึกฝน (P) แล้ว  (Q <-->P)
  • (Q <-->P) มีค่าความจริงตรงกับ (P <--> Q)
  • (Q <-->P) มีค่าความจริงตรงกับ (Q --> P) ^ (P --> Q) ใช่ไหมครับ เราแปลไปกลับมาได้ ระหว่างคำเชื่อม ...ก็ต่อเมื่อ... กับคำเชื่อม ถ้า...แล้ว...
  • คราวนี้อยู่ที่เรานะครับ จะเห็นว่า ผมตีความคำว่า ก็ต้องเมื่อ  เป็น ก็ต่อเมื่อ
  • ความหมายหลักๆ คือ เราเป็นสัตว์ประเสริฐได้ก็ต่อเมื่อจิตเราผ่านการฝึกฝนแล้ว  มีความหมายเท่ากับว่า ถ้าเราเป็นสัตว์ประเสริฐแล้วจิตเราผ่านการฝึกฝนมาแล้ว และ ถ้าจิตเราผ่านการฝึกฝนแล้วเราเป็นสัตว์ประเสริฐด้วย

จุดที่น่าสนใจของประพจน์ประโยคต่อไป ก็คือการตีความประพจน์ซับซ้อนให้เป็นประพจน์ย่อยนี่หล่ะครับ ส่วนการพิสูจน์ตามหลักคณิตศาสตร์นั้นไม่ได้ตื่นเต้นใดๆ

คราวนี้  เราเกิดมาเบื้องต้นไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ประเสริฐมาตั้งแต่เกิด แต่จะประเสริฐหรือไม่ในภายหลัง?

จะเขียนเป็นประพจน์ย่อยๆ ว่าอย่างไร เพื่อเทียบกับว่า หากด้านบนมีค่าความจริงเป็นจริงเสมอ

  • เราเกิดมาเบื้องต้น (ทุกคนเกิดมา) อันนี้เป็นจริงว่าุทุกคนเกิด
  • คำว่า ไม่จำเป็น แปลเป็นภาษาทางตรรกศาสตร์ว่าอย่างไร? (เป็นหรือไม่เป็นก็ได้)
  • แต่จะประเสริฐหรือไม่ในภายหลัง?
    แปลว่าอะไร....

ผมฝากไว้ก่อนแค่นี้ครับ ให้ช่วยกันตีความต่อครับ เห็นไหมครับ ว่าทางกฏหมายก็ต้องการการตีความ ตีกันจนน่วม ตีความได้ครับ แต่อย่าไม่พอใจแล้วตีหัวกันครับ เดี๋ยวจะได้กฏตรรกะใหม่ๆ ครับ

กราบขอบพระคุณมากครับ

 

P

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

 

  • ทำท่ามึน ?

เห็นด้วยกับอาจารย์เม้ง ในประเด็นว่า....

  • เราเกิดมาเบื้องต้น (ทุกคนเกิดมา) อันนี้เป็นจริงว่าุทุกคนเกิด

ซึ่งประเด็นนี้ จะทำให้เราได้ ความเป็นคน ซึ่งจัดเป็น สภาวลักษณะ (Property) นั่นคือ มีอยู่เป็นอยู่ได้โดยตัวมันเอง

 

ขณะที่คำว่า ประเสริ็ฐ เป็น จรสมบัติ (Accident) ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความเป็นคน ไม่สามารถมีอยู่เป็นอยู่ได้โดยตัวมันเอง

ความเป็นคน ต้องคงอยู่ เพราะถ้าไม่มีแล้ว... ประเสริฐ (และ/หรืออื่นๆ) ก็มีไม่ได้... นี้เรียกว่า ความจำเป็น

ประเสริฐ ต้องอาศัย ความเป็นคน ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้... นี้เรียกว่า ความไม่จำเป็น

............

ตามนัยข้างต้น บ่งชี้ว่า

  • แต่จะประเสริฐหรือไม่ในภายหลัง?
  • แปลว่าอะไร....

เป็นเพียงการสงสัยว่า จรสมบัติ (Accident) ซึ่งในที่นี้คือ ประเสริฐ จะเกิดหรือไม่ในอนาคตเท่านั้น

เจริญพร

นมัสการครับผม

ผมคิดว่า "สมการ" มนุษย์เป็นสมการเชิงซับซ้อน และอาจจะ miss-leading ถ้าเราพยายามทำให้เป็นเชิงเดี่ยวเกินไป

สมมติ "ทำดี ได้ดี และ ทำชั่ว ได้ชั่ว"

เผอิญผลที่จะออกมานั้น มันไม่ได้ชัดเจนอย่างที่ผัสสะเราจะบอกได้ เล่นการพนันบางคนเกิดได้ ร่ำรวย ก็ร้อง "เอ้า... รวย แปลว่าดี คุณสมบัติสะท้อน เล่นการพนันแล้วรวย คุณสมบัติถ่ายทอด เล่นการพนันก็น่าจะดี"

แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความโลภถูกหว่านลงไปแล้ว......

พวกเรามักจะอภัยใน "ความผิดเล็กๆน้อยๆ" เพราะเราไม่เชื่อในความซับซ้อนของกรรมและวิบาก (อันกลไกของกรรม เป็น "อจินไตย" หรือ imponderable issue) 

ผมสัมภาษณ์เด็กสอบเข้าแพทย์ ถามว่าลอกข้อสอบดีไหม ไม่ดีเพราะอะไร ส่วนหนึ่งตอบว่าไม่ดี เพราะถูกจับได้จะเป็นโทษ ความหมายโดยนัยยะก็คือ "แล้วถ้าไม่ถูกจับล่ะ??"

จะเห็นว่าวิธีการคิด ผิด/ถูก เริ่มบิดเบี้ยว คนลอกข้อสอบ กลายเป็น "ธรรมดา"​ กลายเป็น "นิจศีล" ของที่ทำกันอยู่สม่ำเสมอ คะแนนก็ดีนี่นา แต่เมล็ดพันธุ์อะไรบ้างที่ได้หว่านเพาะลงไปในจิตใจ ที่จะงอกงามอย่างละเอียด ในตัวตน ในกระบวนคิด

มีใครคิดถึงกันบ้างไหม?

เหมือนรัฐบาลอนุญาตให้สื่อลามกถูกกฏหมาย วางขายกันเกลื่อนเมือง สมควรไหม? ถ้าคนเถียงว่า ก็บางคนก็ชอบ เป็นสิทธิของเขา แล้วก็ควบคุมตนเอง เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็น consenting adult แต่นี่เป็นการพูดโดยไม่ได้ปกป้องคนที่ควรปกป้อง ได้แก่ เยาวชน ที่ยังไม่ mature ยังควบคุมตนเองไม่ได้

ปล่อยเป็นตามยถากรรม เพราะความเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดของแค่ผู้ใหญ่บางคน

สังคมพึงดูแลผู้เปราะบาง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ เพราะเราต่างก็อยู่ในนิเวศเดียวกัน เราเอาตัวรอดได้ แต่คนอื่นไม่ แล้วเราจะมีความสุขได้จริงหรือ?

P

Phoenix

 

ความเห็นและความตระหนักของอาจารย์หมอ น่าจะอยู่ในแนวคิดทฤษฎีคุณธรรม ซึ่งเน้นที่การอบรมบ่มอุปนิสัยของคนให้เป็นไปในสิ่งที่พึงปรารถนา มากกว่าการที่จะเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์เชิงบังคับ...

การแก้ปัญหาต่างๆ อาจทำได้ยาก ถ้าไร้อำนาจ ดังนั้น ถนนทุกสายจึงมุ่งสู่อำนาจ... แต่เมื่อมีอำนาจแล้วก็มักจะเก็บอุดมการณ์ไว้ในลิ้นชัก  แล้วมัวเมาอยู่ในอำนาจ...

และยังมีคนอยู่อีกมากที่ไร้อำนาจ หรือไม่มีโอกาสที่จะดำเนินการในสิ่งที่พึงปรารถนาได้ ก็ได้แต่บ่นไปวันๆ...

อาตมาก็ได้แต่ บ่น ไปวันๆ เหมือนกัน....

เจริญพร

 

นมัสการครับ

อำนาจที่มาจาก strong will และ intention นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ทันใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราพึงท้อแท้

ยอดเขาสูง จะปีนขึ้นไป ก็ยังต้องเริ่มต้นก้าวเล็กๆเสียก่อน ถ้าเงื่อนไขคือ "ต้องเห็นผลในยุคของเรา ในมือเรา" ก็คงจะไม่ได้ทำอะไรอีกเยอะทีเดียว

เกลียวพลวัตรแห่งสังคม เกิดขึ้นด้วย momentum ที่เป็นพยุหะ จึงเกิดความงามขึ้น เหมือนเกลียวกาแลกซีที่สวยงาม แต่สิ่งที่อยู่ในกาแลกซีนั้นๆหาได้มองเห็นไม่

ถนนทุกสายที่เราใช้ชีวิต ผมว่าไม่ได้มุ่งสู่อำนาจ แต่ถนนนี้เองที่เราใช้ชีวิตคือ "อำนาจ" ในตัวมันเอง เราไม่ใช้ แต่มีคนอื่นใช้ ถนนนี้ก็จะมุ่งไปตาม "พลัง" ที่ขับดัน

ขอบ่นด้วยคน และบ่นทุกเมื่อเชื่อวันครับ นีเป็น "อำนาจ" ที่พอจะมีอยู่บ้่าง แฮ่ะๆ 

P

Phoenix

 

  • ขอบ่นด้วยคน และบ่นทุกเมื่อเชื่อวันครับ นีเป็น "อำนาจ" ที่พอจะมีอยู่บ้่าง แฮ่ะๆ

นี้คืออำนาจของปัจเจกชน... และคงจะด้วยเหตุผลทำนองนี้ กลุ่มปรัชญาอัตถิภาวนิยม จึงบอกว่า...

  • มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ
  • มนุษย์ถูกสาปให้แสดงออก

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท