๖๘.ความรัก ความเมตตา กับการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมือง : สร้างสื่อสถานการณ์เรียนรู้จากเรื่องของครูคิม


  ชุมชนเรียนรู้นานาชาติ  

ผมสอนในหลักสูตรปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ ของภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ [๑] กลุ่มนักศึกษาที่เหลืออยู่ในปีนี้มี ๒๐ คน มาจากหลายประเทศ คือ จีน จีนทิเบต ภูฏาน กัมพูชา เกาหลี ศรีลังกา มัลดีฟ และมีนักศึกษาไทยด้วย ๒ คน ทั้งหมดเป็นระดับผู้บริหาร และเตรียมตนเองเป็นผู้บริหาร รวมทั้งเป็นเจ้าของโรงเรียนและผู้ประกอบกิจการด้านการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น ธนาคารโลก TICA  มูลนิธิฟอร์ด และส่วนหนึ่งเป็นผู้ศึกษาด้วยทุนส่วนตัว

ห้องเรียนและเวทีเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกนานาชาติอย่างนี้ มีความแตกต่างกันหลายมิติและหลายระดับ นับแต่ความแตกต่างด้านปูมหลังทางสังคม ต่างภาษา ต่างเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ กระทั่งความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งมีมาโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม การเรียนการสอนจึงต้องวางแนวคิดที่แตกต่างจากการปฏิบัติในห้องเรียนโดยทั่วไปในหลายเรื่อง อีกทั้งต้องเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อที่นักศึกษาจากประสบการณ์และปูมหลังที่แตกต่างกัน จะสามารถใช้กรณีศึกษาจากประเทศของตนให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสูงสุด ต้องทำความแตกต่างนานาชาติให้กลายเป็นตัวแปรเชิงบวกให้ดีที่สุด

                     

                      ภาพที่ ๑ กลุ่มนักศึกษานานาชาติกำลังศึกษาดูงานห้องเรียนใต้ร่มไม้ ในฐานการเรียนรู้ เกษตร-ศิลป์
                      ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา เขาชะโงก จังหวัดนครนายก ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

เป็นการยากที่จะสอนกลุ่มผู้เรียนอย่างนี้โดยวิธีถ่ายทอดเนื้อหาและให้ความรู้เชิงเทคนิคแบบเบ็ดเสร็จ เพราะความรู้เชิงทฤษฎีและการให้เนื้อหาแบบความรู้ความจำนั้นจะมีข้อจำกัดตรงที่ว่า ในขณะที่สิ่งอันเป็นที่ยอมรับของคนจากประเทศหนึ่งนั้น ก็อาจจะขัดต่อความเชื่อพื้นฐานของอีกสังคมวัฒนธรรมอื่นได้อยู่เสมอ อีกทั้งผู้ที่มีศักยภาพที่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้น หากเราสอนได้เหมือนกับที่เขาเองก็สามารถหาอ่านจากตำราในประเทศของเขา หรือก็ว่าตามกันเหมือนศึกษาค้นคว้าจากแหล่งความรู้ต่างๆของโลกแล้ว เขาก็ไม่ต้องเสียเวลาในชีวิตเพื่อเดินทางมาเรียนรู้จากประเทศไทยก็ได้ 

ดังนั้น จึงต้องมุ่งให้ได้ประสบการณ์ที่ดีจากสังคมไทยเพื่อนำกลับไปเป็นประสบการณ์ตรงของตนเองที่แตกต่างจากการได้ศึกษาเรียนรู้จากประเทศอื่น และต้องเน้นการเปิดประเด็นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ขยายกรอบโลกทรรศน์ พัฒนาวิธีคิดทั้งความลุ่มลึกและความรอบด้าน และได้เห็นประเด็นที่มีนัยยะต่อการที่จะนำไปศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวางด้วยตนเองต่อไป ต้องมุ่งให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจ มีทักษะการศึกษาค้นคว้า และมีพลังการศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอในชีวิต ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้การศึกษาเรียนรู้ให้เป็นเวทีการทำงานทางปัญญาและได้พัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการอย่างเป็นตัวของตัวเองเพื่อกลับไปทำงานเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองได้ดีที่สุด ไม่ต้องแบกความรู้ความจำที่เหมือนกันไปหมดกลับไป

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมสอนในหัวข้อ   Team Management   ในวิชา Organizational Behavior for Educational Administration and Management ก่อนหน้านั้น ก็เป็นการพานักศึกษาฝึกหัดหาประสบการณ์จากการนำเอาความรู้เชิงทฤษฎีไปใช้กับของจริงและศึกษาดูงานภาคสนาม ให้ได้ความเชื่อมั่นในการเป็นผู้รู้และทำได้ด้วยตนเอง พร้อมกับอยู่ในระหว่างช่วยนักศึกษาพัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์ ผมเลยทำให้ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันไปด้วย เพื่อนักศึกษาจะได้มีข้อมูล วิธีคิด และพื้นฐานการเรียนรู้ที่ลงลึกในเรื่องสำคัญได้อย่างไม่ต้องเริ่มต้นทุกอย่างเป็นศูนย์ไปหมด การพัฒนาแนวคิดและการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างนี้จึงไม่ใช่ทำหน้าที่สอนนักศึกษาอย่างเดียว ทว่า เป็นการหาโอกาสพัฒนาการศึกษาและการเรียนการสอนไปในตัวด้วย โดยเฉพาะบทเรียนครั้งนี้ของผมในการสร้างสื่อสถานการณ์เพื่อการเรียนรู้ ให้เข้าถึงมิติความรัก ความเมตตา กับการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในบริบทใหม่ๆของสังคม ผมทั้งได้เรียนรู้จากสิ่งที่ได้แก่นักศึกษาและได้เรียนรู้แนวคิดการพัฒนาการศึกษาเพื่อเด็กของนักศึกษาที่มีจุดยืนจากหลายกรอบวัฒนธรรม

  สำนึกใหม่เพื่อความไร้พรมแดนด้วยความรักและเมตตาธรรม 

โดยความรู้และความเชี่ยวชาญแล้ว นักศึกษาผมล้วนมีพื้นฐานที่ใช้ได้มากทีเดียว ผมเองเลยก็ได้เรียนรู้จากนักศึกษาไปด้วยหลายเรื่อง บางครั้งระหว่างการนั่งทำงานกับนักศึกษาและให้การปรึกษาทำวิทยานิพนธ์ พอเสร็จแล้ว ผมก็มักจะให้นักศึกษานั่งบรรยายให้ผมฟังสักเรื่องหนึ่งจากประสบการณ์ของเขา เช่น นักศึกษาชาวภูฏานซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาแห่งหนึ่งในประเทศของเขา ผมก็ขอให้เล่าให้ผมฟังหน่อยว่าประเทศของเขาจัดการศึกษาอย่างไร ถึงได้สามารถทำให้หลักสูตรและสถานศึกษาทั้งหมดในประเทศนับแต่ระดับประถมศึกษาของภูฏานเป็นหลักสูตรสองภาษา คือภาษาภูฏานกับภาษาอังกฤษ และนักเรียนกับคนภูฏานรุ่นใหม่นั้นสามารถพูดและใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ร้อยเปอร์เซ็น หรือขอให้นักศึกษาชาวมุสลิมศรีลังกา ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาเช่นกัน แต่พื้นฐานของเขาเป็นลูกหลานของครอบครัวชาวนา ผมก็ขอให้เขาเล่าให้ฟังหน่อยว่าเด็กๆพื้นฐานอย่างเขานั้น เรียนรู้และเติบโตในสภาพแวดล้อมอย่างไร ชีวิตชุมชนกับวิถีการศึกษาสมัยใหม่แยกออกจากกันหรือผสมผสานกันได้อย่างไร โดยศักยภาพแล้ว นักศึกษาของผมจึงเป็นคนเก่ง ภาวะผู้นำและทักษะการปฏิบัติดี ที่สำคัญคือ มีความอ่อนน้อมและให้ความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกและจิตใจผู้อื่นมาก รวมทั้งนักศึกษาชาวไทยด้วย ซึ่งยังเป็นคนหนุ่มคนสาวและสามารถทำงานให้กับสังคมได้อีกนาน

                    

                     ภาพที่ ๒ กลุ่มนักศึกษานานาชาติกำลังศึกษาดูงานฐานการเรียนรู้ เกษตร-ศิลป์ 
                     ของ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา เขาชะโงก จังหวัดนครนายก ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

โดยพื้นฐานอย่างนี้ บวกกับการได้ทุนและมาศึกษาเล่าเรียนเป็นกลุ่มนานาชาติต่างบ้านต่างเมืองอย่างนี้ พวกเขาจึงเป็นคนส่วนน้อย  ผมเลยปูพื้นความคิดและเปิดมุมมองเกี่ยวกับตัวตนของเขาในอีกแง่มุมหนึ่งว่า หากพวกเขาใช้โอกาสอันงามอย่างนี้เพียงรีบๆเรียนให้จบเพื่อกลับไปทำงานและใช้การจบการศึกษาจากต่างประเทศเพื่อได้ตำแหน่งการงานที่สูงขึ้น ก็ไม่น่าต้องจากไกลบ้านมาศึกษาที่ประเทศไทยอย่างนี้ แต่ในฐานะที่เป็นคนส่วนน้อยที่จะมีโอกาสอันงามอย่างนี้และต้องกลับไปเป็นนักบริหารการศึกษาอีกด้วยนั้น เขาควรเป็นคนที่ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นบ้างว่า ในฐานะที่เห็นสังคมโลกที่กว้างขึ้นนั้น หากสะท้อนประสบการณ์เข้าสู่การวางแผนและบริหารจัดการการศึกษาที่เขาจะมีส่วนได้รับผิดชอบแล้วละก็ เขาควรวางความคิดไปยังเป้าหมายที่ยาวไกลไปด้วยว่า ความจำเป็นใหม่ๆของสังคมที่กว้างกว่าขอบเขตการแยกส่วนประเทศต่างๆ จะสามารถสะท้อนลงสู่การจัดการศึกษาเรียนรู้ให้แก่เด็กๆในท้องถิ่นของแต่ละคนได้อย่างไรหรือไม่ หากคิดที่จะริเริ่มและขับเคลื่อนการศึกษาเรียนรู้ในขอบเขตที่ทำได้ ครูผู้สอนและนักบริหารการศึกษาต้องพัฒนาวิธีคิดและมีแนวปฏิบัติอย่างใหม่ของตนเองอย่างไรบ้าง

ผมยกตัวอย่างชี้นำการคิด เช่น ประเด็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาจากกระแสหลักของโลก ความสำนึกต่อการเป็นสังคมเดียวกันที่ใหญ่กว่าประเทศ เป็นต้นว่าชุมชนเอเชีย ชุมชนอาเซียน รวมทั้งเป็นพลเมืองของสังคมโลก เหล่านี้ นอกจากกลับไปทำให้เด็กๆเรียนภาษาอังกฤษและออกไปเป็นนักแข่งขันเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมันได้แล้ว เราทำสิ่งใหม่ให้เกิดความแตกต่างออกจากเดิมอย่างไรกันได้บ้างไหม ให้ได้วิธีคิด วิธีมอง และวิธีสะท้อนแนวคิดเหล่านี้ไปสู่การออกแบบและจัดกระบวนการทำงานเสียก่อน แล้วจึงค่อยเลือกความรู้เชิงเทคนิค เข้าถึงจิตใจ จิตวิญญาณ และความสำนึกร่วมในโลกกว้างที่ดีกว่าเดิมก่อน อย่าศึกษาเรียนรู้เพื่อมุ่งจำเพียงความรู้เชิงเทคนิคซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาล

  ให้สถานการณ์เพื่อเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมนานาชาติ : ต่อยอดบันทึกครูคิม โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ พิษณุโลก [๒]  

เมื่อคิดใคร่ครวญและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งต่างๆที่ควรดำเนินการอย่างผสมผสานเพื่อให้นักศึกษาได้ประสบการณ์การเรียนรู้อย่างบูรณาการให้มากเท่าที่จะทำได้แล้ว พอคิดลงตัวและเห็นภาพในหัว ผมก็ลงมือทำหลายอย่างตามที่คิด

๑.การออกแบบแนวคิดและกระบวนการเรียนรู้ : การสะท้อนการเรียนรู้ออกจากความสำนึกเชิงคุณธรรม จิตใจ และประสบการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตน (Cross-cultural Insigth and Reflection) ผมดัดแปลงแนวคิดนี้จากวิธีสนทนาเพื่อสร้างความระลึกรู้สิ่งที่เป็นค่านิยมและทรรศนะต่อชีวิตของเพลโตและอริสโตเติ้ล กับวิธีสร้างความรู้ขึ้นภายในตนเองผ่านการมีส่วนร่วมจากประสบการณ์การทำงานขับเคลื่อนชุมชนการเรียนรู้และการปฏิบัติการวิจัยแนวประชาคม กระบวนการที่สำคัญก็คือ (๑) การให้สถานการณ์แก่ผู้เรียนชุดเดียวกัน (๒) การตั้งคำถามและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนทรรศนะ อภิปราย และเทียบเคียงกับเงื่อนไขแวดล้อมในสังคมของตน (๓) สรุปและให้ประเด็นสำคัญเพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองต่อไป

๒.สื่อและกระบวนการ เตรียมพาวเวอร์พ้อย ๑๒ กรอบ [๓]   กับวาดรูปบนกระดาษฟลิปชาร์ต ๑ แผ่น ในสื่อพาวเวอร์พ๊อยต์นั้นแบ่งเป็นสื่อและเนื้อหาประกอบการสอน ๓ ส่วน คือ (๑) ๓ กรอบสำหรับเกริ่นนำ วางแนวให้นักศึกษารู้วิธีมีส่วนร่วม และบอกจุดหมายร่วมกัน (๒) ๗ กรอบสำหรับเป็นเนื้อหาการบรรยายให้แนวคิดและทฤษฎี และ (๓)  ปิดท้ายอีก ๒ กรอบ สำหรับตั้งคำถามและให้ทำกิจกรรม ๒ กิจกรรม คือ (๑) อภิปรายและเสวนากันผ่านการเรียนรู้เรื่อง Who is stoler ? [๔] เป็นสื่อการเรียนรู้จากสถานการณ์และการให้ทำกิจกรรม และ (๒) การวิเคราะห์สังคมมิติ Sociogram เพื่อวิเคราะห์และวางแผนสร้างทีมอย่างไม่เป็นทางการผ่านการเรียนรู้ศักยภาพและภาวะผู้นำของปัจเจก ผมนำเอาเครื่องมือปฏิบัติการชุมชนมาให้คนทำงานในสาขาการศึกษาได้เรียนรู้และให้ทดลองทำจริงไปด้วยกัน ซึ่งในแง่การได้เทคนิคบูรณาการนั้น นักศึกษาก็จะได้เรียนรู้มิติสังคมผ่านเครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชนแล้วนำมาใช้บริหารจัดการทางสังคมเพื่อการศึกษาไปด้วย นักศึกษาจะได้รู้จักพฤติกรรมกลุ่มก้อนและอีกมิติหนึ่งของความเป็นชุมชนซึ่งเป็นองค์กรการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมอีกชนิดหนึ่งที่เขาจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ในสถานศึกษากับชุมชนของเขา

๓.บทบาทครูผู้สอนแบบผู้ให้สถานการณ์ เกื้อหนุนและกำกับการเรียนรู้ : การเรียนรู้และศึกษาจากสถานการณ์เป็นกลุ่มนานาชาติอย่างนี้ สิ่งที่จะได้เป็นวิธีคิดและบทสรุปที่เป็นการเรียนรู้จะมาจากภายในตัวผู้เรียนแต่ละคนผ่านการอภิปราย สนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใคร่ครวญและกลั่นกรองอย่างมีสติตื่นรู้ ครูผู้สอนจึงต้องปรับบทบาทจากผู้สอนไปเป็นผู้จัดกระบวนการเงื่อนไขและส่งเสริมบรรยากาศเพื่อสร้างการเรียนรู้ขึ้นด้วยตนเองของทุกคนแทนการเตรียมเนื้อหาที่สำเร็จรูปและสื่อเพื่อบรรยายถ่ายทอดเนื้อหาให้จดจำอย่างเดียว การที่จะทำอย่างนี้ได้ ก็ต้องศึกษาค้นคว้าให้รอบด้านเพื่อทำงานความคิดและออกแบบกระบวนการเงื่อนไขให้ได้ประเด็นการเรียนรู้ที่มีนัยยะเชิงทฤษฎีหลายแง่มุมสำหรับอภิปรายกับนักศึกษา จากนั้น ก็เตรียมกิจกรรม สื่อ ประเด็นคำถาม แบ่งเวลาและซักซ้อมการจัดกระบวนการให้พอดีกับ ๓ ชั่วโมง ผมดึงเอาทั้งวิชาศิลปะ การทำสื่อ การถ่ายทอดและนำเสนอ เข้ามาใช้ทำงานผสมผสานกับเนื้อหาเชิงทฤษฎีที่จะต้องสอน อย่างเต็มที่ รวมทั้งนั่งอ่านประสบการณ์คนทำงานจากทั่วประเทศที่บันทึกถ่ายทอดประสบการณ์ไว้ในเว็บบล๊อก GotoKnow เพื่อนำมาทำเป็นกรณีศึกษา ที่สุดก็เลือกเรื่อง ขออภัย...ครูผิดเอง ของครูคิม 

๔.เรื่องเล่า Who is stoler ? : เพื่อให้นักศึกษาได้เผชิญกับสถานการณ์เดียวกันแล้วได้สะท้อนทฤษฎีการศึกษาและการเรียนการสอนให้มีความเชื่อมโยงกับมิติสังคมและวัฒนธรรม โดยได้เรียนรู้ออกจากตนเองพร้อมไปกับการได้เห็นวิธีคิดต่อเรื่องเดียวกันในโลกกว้างผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเพื่อนนักศึกษานานาชาติไปด้วย ผมได้เลือกเรื่องเล่าขออภัย...ครูผิดเอง[๕] ของคุณครูคิม โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มาทำเป็นสื่อสถานการณ์เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้นักศึกษาสร้างการเรียนรู้ขึ้นจากกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ผมนำเรื่องของคุณครูคิมมาวิเคราะห์เพื่อปรับแต่งให้ได้รายละเอียดตามที่ต้องการโดยยังคงมีเค้าโครงจากเรื่องเดิม จากนั้นก็วาดรูปอย่างง่ายๆแบบการ์ตูนหัวไม้ขีดด้วยอาร์ตไลน์บนฟลิปชาร์ต ๑ แผ่น แล้วก็เตรียมเล่าเรื่องตามที่ต้องการ

สื่อและกระบวนการต่างๆที่ใช้ในครั้งนี้ ผมทำขึ้นอย่างผสมผสานทั้งสื่อที่ทำด้วยมือ พาวเวอร์พ๊อยต์ อินเทอร์เน็ต เว็บบล๊อก ประเด็นคำถามและกิจกรรมระดมความคิด รวมไปจนถึงการเชื่อมโยงเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในที่อันห่างไกลของประเทศเข้ามาสู่ห้องเรียนในอีกกาละเทศะหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดผมออกแบบและจัดวางเป็นองค์ประกอบให้มุ่งส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กันแบบ ๒ ทางของสื่อบุคคล ทั้งผู้สอนและกลุ่มผู้เรียนในห้อง

                      

                       ภาพที่ ๓ รูปวาดแบบการ์ตูนหัวไม้ขีดบนกระดาษฟลิปชาร์ตสำหรับทำเป็นสื่อให้สถานการณ์กรณีศึกษา 
                       วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

 ๕.เรื่องราวที่นำมาเป็นกรณีศึกษา  : “....ครูและนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนในชนบท อยู่ไกลจากรุงเทพหลายร้อยกิโลเมตร เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวฐานะปานกลางถึงค่อนข้างยากจนและยากไร้ ครูผู้สอนเป็นสุภาพสตรี ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนแก่เด็กมากกว่าต้องการให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนตามมาตรฐานของหลักสูตรอย่างเดียว ทว่า ต้องการสร้างเด็กให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม เป็นคนดี มีความสุข มีสำนึกทางสังคมและได้พัฒนาความรับผิดชอบความเป็นส่วนรวมของสังคมด้วยตนเอง การให้เด็กได้ทำกิจกรรมและได้การเรียนรู้ทางสังคมจึงทำควบคู่ไปกับการเรียนการสอนเชิงวิชาการอยู่เสมอ | วันหนึ่งครูก็ทำกิจกรรมในห้องเรียน และระหว่างให้เด็กๆได้ทำกิจกรรมการเรียนอยู่นั้น ครูก็ถอดเสื้อแจ๊คเก๊ตของตนเองแขวนไว้บนเก้าอี้ | พอสอนและทำกิจกรรมเสร็จ เด็กๆและคุณครูก็กลับบ้าน พอกลับถึงบ้าน คุณครูถึงได้พบว่าสตางค์ในกระเป๋าสตางค์ของตนเองที่มีอยู่ ๓ พันได้หายไป สำหรับครูในชนบทแล้ว เงิน ๓ พันเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก แต่ไม่มากเท่ากับที่คุณครูต้องกระทบกระเทือนจิตใจลึกๆเมื่อคิดว่า ผู้ที่เอาไปอาจจะเป็นเด็กๆคนใดคนหนึ่งที่เธอพากเพียงสร้างเขาอย่างสุดจิตสุดใจนั่นเอง | คุณครูเก็บความคิดไว้ ๑ วันว่าจะทำอย่างไรดี ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆไม่ได้ เพราะเด็กๆต้องเติบโตต่อไปอีก การปล่อยให้ผ่านไปอย่างเพิกเฉยเด็กจะรับรู้ผลการกระทำของตนเองต่อสังคมที่ผิดจากความเป็นจริง จึงเริ่มค่อยๆคุยกับเด็กทีละคนและบ้างก็เป็นรายกลุ่ม ไม่พบผู้ที่เอาสตางค์ไปแต่ก็ได้ข้อมูลที่ค่อนข้างสอดคล้องกันพุ่งตรงไปยังเด็กคนหนึ่ง แต่เมื่อได้พูดคุยอย่างไรเด็กก็ไม่ยอมรับ | ๒-๓ วันต่อมา คุณครูตัดสินใจขอความร่วมมือกับตำรวจ ตำรวจเดินทางไปที่โรงเรียน และระหว่างนั้น เด็กที่ถูกต้องสงสัย ก็ได้เข้ามาหาคุณครูและกราบคุณครู | เขาสารภาพต่อคุณครูว่าเขาเป็นคนเอาไป เขาไม่ได้กลัวตำรวจ แต่เขารู้สึกเสียใจเมื่อรำลึกถึงสิ่งที่คุณครูพร่ำสอนและเสียใจที่ทำให้คุณครูของเขาเสียใจ เขานำเอาสตางค์นั้นไปซื้อรองเท้าและของที่วัยรุ่นอยากได้เกือบหมดแล้ว จึงไม่มีสตางค์มาคืนให้ครู คุณครูเองก็รู้สึกเสียใจ แต่ก็กำหนดใจไว้แล้วว่าจะไม่เอาเรื่องเด็ก จึงได้เข้าไปกอดเด็กและให้การอบรมสั่งสอนไปตามสมควร | เด็กกราบขอโทษ ต่อมาก็ตั้งใจเรียนเป็นคนดี..” [๖]

๖.การนำเสนอสถานการณ์และจัดเงื่อนไขการเรียนรู้ : ผมใช้เวลาเล่าประมาณ ๑๐ นาที เสร็จแล้วก็ตั้งคำถามว่า (๑) หากเป็นท่าน ท่านจะทำอย่างไร ? และ (๒) ท่านจะมีวิธีแก้ปัญหานี้โดยใช้ความเป็นทีม ได้อย่างไร ?

  ด้วยคุณธรรม ความรัก และเมตตาธรรม 

นักศึกษาสุภาพสตรีสองสามคน ฟังเรื่องที่ผมเล่าและพรรณาบรรยากาศแวดล้อมของเด็กๆและครูในเรื่องที่เป็นกรณีศึกษาแล้วทำท่าซึมๆขึ้นมาเลยทีเดียว จากนั้น ก็อภิปรายกันอย่างกว้างขวางพอสมควร นักศึกษาซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาคนหนึ่งจากกัมพูชา อภิปรายว่า หากเป็นเขา เขาจะไม่แจ้งตำรวจ รวมทั้งจะไม่ทำให้เพื่อนๆและคนรอบข้างของนักเรียนได้รู้ เขาจะค่อยๆคุยกับเด็กไปอยู่เสมอๆแม้จะไม่รู้ตัวที่แน่ชัด เพราะในสังคมของเขายังเป็นสังคมที่แคบ เรื่องอย่างนี้จะทำให้เด็กๆถูกตีตราซึ่งเด็กจะเติบโตไปในอนาคตได้ไม่ดี

อีกคนหนึ่งเป็นครูและเจ้าของโรงเรียนเอกชนชาวเกาหลี เขาบอกว่าเขาเคยมีประสบการณ์อย่างนี้ที่ประเทศของเขาเองเหมือนกัน และเขาแก้ได้โดยใช้ความเป็นครูของเขากับเด็กอย่างเดียว เขาคิดเหมือนกับเพื่อนชาวกัมพูชา นักศึกษาอีกคนชาวมัลดีฟบอกว่าจะต้องแก้ด้วยตนเองให้ได้ หากต้องทำเป็นทีม ก็จะจำกัดกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องให้แคบที่สุดคือจะเริ่มจากครูแนะแนวและครูผู้ปกครอง จะไม่ให้คนอื่นเข้ามาเป็นทีมในการแก้ปัญหานี้ นักศึกษาชาวจีนก็บอกว่าหากเป็นครูก็จะแก้ไขด้วยตนเองให้มากที่สุด อีกคนหนึ่งชาวศรีลังกาบอกว่าจะแก้ไขด้วยตัวคุณครูเองให้ได้ หากต้องพึ่งทีมและคนอื่นก็จะเริ่มจากครูแนะแนวและครูผู้ปกครองแล้วก็จะขยายไปตามความจำเป็น แต่จะไม่ให้หลุดออกไปสู่คนนอกโรงเรียน นักศึกษาไทยบอกว่าเขาจะนึกถึงผู้ปกครองและเดินไปแก้ปัญหากับผู้ปกครอง

  สรุปบทเรียน  

การให้สถานการณ์เพื่อเปิดประเด็นเรียนรู้และสร้างสัมมาทรรศนะจากหลายกรอบวัฒนธรรมของหลายชาติหลายภาษา แทนการถ่ายทอดเนื้อหาแบบเบ็ดเสร็จให้เป็นความรู้ความจำ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีเมื่อผู้สอนจัดกระบวนการและส่งเสริมการคิดการแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ทุกคนมีวิธีแก้ปัญหาด้วยแนวคิด ทฤษฎี และตัวแบบการพิจารณาที่แตกต่างกัน แต่จุดยืนร่วมกันอย่างหนึ่งของทรรศนะจากต่างสังคมวัฒนธรรมและต่างเชื้อชาติก็คือ คุณธรรมต่อเด็กที่เกรงว่าจะถูกตีตราและรับรู้ตนเองในความเป็นคนไม่ดี ทำให้เติบโตและพัฒนาไปเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคตไม่ได้ การได้ลองย้อนเข้าไปเรียนรู้จิตใจและคุณธรรมบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ในตนเองของแต่ละคน เราก็สามารถมีประสบการณ์ต่อความเป็นสากลบางอย่างอยู่ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายด้วยสัมผัสตรงจากภาวะภายในของทุกคน ด้วยเหตุนี้ เราจึงพอจะมองเห็นภาพสะท้อนอนาคตลางๆของเด็กๆพลเมืองของสังคมโลก ว่าจะได้อยู่ในอ้อมกอดของครูอาจารย์และนักบริหารการศึกษาตัวเล็กๆที่มีความรักและความเมตตาอันกว้างขวาง 

นักศึกษาได้อภิปรายและตรวจสอบการเรียนรู้ตนเองทั้งจากการสะท้อนจิตใจต่อสถานการณ์ที่ให้ และจากการเปรียบเทียบกับหลากทรรศนะของเพื่อนนักศึกษาจากประเทศต่างๆ จากนั้น ผมก็พานักศึกษาทำกิจกรรมอื่นๆในขั้นต่อไปอีก.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กิตติกรรมประกาศ

บทความนี้หากเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านและผู้สนใจ ขอได้รำลึกและมอบความขอบคุณไปยัง คุณครูคิม : คุณครูนพวรรณ พงษ์เจริญ และนักเรียน โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งเว็บบล๊อก GotoKnow และคณะทำงานผู้ดูแลเว็บที่เป็นแหล่งให้คนทำงานได้รวบรวมถ่ายทอดประสบการณ์ไว้ ซึ่งทำให้สามารถนำมาพัฒนาขยายผลสู่กิจกรรมการเรียนการสอนในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ การอ้างอิงภาพ และบทความ

[๑] ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักสูตรเป็น หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารจัดการการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา / M.Ed. : Master Degree Program in Educational Administrationa and Management (International Program)
[๒] คุณครูคิม : นพวรรณ พงษ์เจริญ โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๓ จังหวัดพิษณุโลก : http://gotoknow.org/profile/krukim เมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
[๓] Participatory Team Building and Particiatory Team Management, by Wirat Kamsrichan, Ed.D. in Population Education : http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/TeamManagement.pdf : เมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
[๔] Case Study 2, by Wirat Kamsrichan, Ed.D. in Population Education : http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/view/500505 : เมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
[๕] ขออภัย...ครูผิดเอง โดย ครูคิม : นพวรรณ พงษ์เจริญ โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๓ จังหวัดพิษณุโลก : http://gotoknow.org/blog/krukim/322236 เมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
[๖] ดัดแปลงให้มีข้อมูลในรายละเอียดให้ต่างไปจากเรื่องเดิมโดยกรณีศึกษาดังกล่าวนี้มีเค้าโครงมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
 

หมายเลขบันทึก: 336495เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2010 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ล่าสุด  ผมตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่หอพักของมหาวิทยาลัยว่า ...

  • นิสิตที่ค้างค่าหอพักของมหาวิทยาลัย
  • นิสิตที่เคยทำผิดวินัยในหอพัก
  • นิสิตที่ยื่นหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรมของหอพักยังไม่ครบ
  • นิสิตที่เข้าร่วมประชุมหอพักไม่ถึง 3 ครั้ง

ทั้งหมดนั้น ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หอพัก หรือคณะกรรมการจะพิจารณาตัดสิทธิ์การอยู่หอพักในปีถัดไป  ซึ่งผมฝากให้ลองเปลี่ยนมุมคิดใหม่ในทำนองว่า  คนเหล่านี้ยังมีใจที่จะอยู่ที่หอพักของมหาวิทยาลัยต่อไป  แต่เจ้าหน้าที่แต่ละคนรู้จักนิสิตลึกซึ้งแค่ไหน เข้าใจภาวะที่เขาเผชิญแค่ไหน  ...จึงควรพิจารณาและให้โอกาสกับเขาเหล่านั้น  พร้อมๆ กับการถามย้ำกับตัวเองว่า "รู้จักนิสิตในหอพักแค่ไหน" ...

บางที,นิสิตมีปัญหา เรากลับบีบรัดให้ออกไปเผชิญสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ดูจะลื่นไหล ซับซ้อนมากกว่าในหอพักมหาวิทยาลัย  คิดอีกที มันก็เหมือนผลักเขาไปสู่ชะตากรรมอะไรสักอย่างที่เขายังไม่พร้อม  ซึ่งกรณีเช่นนี้ หอพักก็ไม่ใช่จะเต็มไปทุกห้อง  จึงอยากให้เขาทบทวนแนวคิดเช่นนั้นบ้าง...

นั่นคือสิ่งที่ผมฝาก แต่ไม่ถึงขั้นสั่งการกับเจ้าหน้าที่ หลังจากเข้าไปกำกับดูแลในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา..

...ขอบพระคุณครับ...

สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดินครับ

  • การตัดสินใจต่อเรื่องต่างๆโดยเฉพาะในสังคมการศึกษาซึ่งเกี่ยวข้องกับลูกหลานของเรานั้น เห็นด้วยมากครับที่จะต้องไม่รับรู้และรู้จักความเป็นคนของเขาเพียงเอกสาร กับหลักเกณฑ์การตีกรอบแบบทั่วๆไปอย่างขาดการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้ง
  • มุมมองอาจารย์และแนวการแก้ปัญหาของนิสิต ที่มากยิ่งกว่าให้ความเข้าใจและคุ้มครองดูแลให้เขาได้มีโอกาสเติบโตอย่างไม่มีขีดจำกัดอย่างนี้ เข้ากับวันแห่งความรักดีมากนะครับ เป็นความรักความเมตตาแบบชาวพุทธในเดือนมาฆะบูชาดีอีกด้วย กว้างใหญ่ดีครับ

What a wonderful world

การศึกษาที่สำคัญ คือ การเรียนรู้ ที่สำคัญกว่าการเรียนรู้ คือ กระบวนการเรียนรู้ .. กระบวนการเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น และเป็นส่วนสำคัญก็คือ สื่อการเรียนการสอน ที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ตลอดหลักสูตร และสื่อการสอนที่น่าสนใจก็น่าจะเป็นสื่อที่เกิดจากประสบการณ์ หรือจากบทเรียนชีวิตจริง ..

gotoknow ช่องทางช่วยขยายโอกาสการเรียนรู้ ขยายความรัก แผ่ความเมตตาออกไปสู่วงกว้างขึ้น กี่ชีวิต กี่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพัน หลายหมื่นบันทึก บนชุมชน gotoknow ..

เมื่อเกิดชุมชน ก็คงต้องมีบรรทัดฐาน มีกฏเกณฑ์ .. โรงเรียนที่จะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความศรัทธาของคนในชุมชนนั้นๆ ความรักที่พ่อ-แม่ มีต่อลูก ความรักของครูที่มีต่อลูกศิษย์ นอกเหนือจากการให้ความรัก ให้ความรู้ ให้กำลังใจ ให้โอกาส .. จากสถานการณ์ ของคุณครูคิม ถือว่า เป็นการให้ทั้งความรัก ความรู้ และโอกาส ถึงแม้ว่าเด็กคนนี้จะเคยมีประวัติการขโมยของมาแล้ว แต่การให้โอกาสครั้งนี้ถือว่าได้สร้างคนคนนึง .. ห้องเรียน โรงเรียน ชุมชนนี้น่าอยู่ขึ้นมาอีกเยอะเลย โลกนี้ช่างงดงาม  ..   What a wonderful world

แต่ บางครั้ง บางสถานการณ์ บางโอกาส กฏกติกาของชุมชนนั้นก็ต้องนำมาใช้บ้าง ถ้ามีการทำผิด ฝืนกฏซ้ำๆ เมื่อครูให้โอกาสแล้ว ให้โอกาสอีก ... ผิดครั้งที่ ๑ เรียกว่ากล่าวตักเตือน (ตัวต่อตัว) ผิดครั้งที่ ๒ ทำทัณฑ์บน ผิดครั้งที่ ๓ พบผู้ปกครอง ผิดครั้งที่ ๔ ........ ผิดครั้งที่ ๕ ........   โซ ...... ??!!?    What a wonderful world

ชุมชนเรียนรู้ในห้องเรียนของอาจารย์ นี่ถ้ามีนักศึกษาจากต่างวัฒนธรรม ประเทศแถบฝั่งยุโรปมาบ้าง คงจะมีการแลกเปลี่ยนมากขึ้น และสนุกยิ่งขึ้น .. บางประเทศในยุโรปถือว่าเป็นประเทศที่ซื่อสัตย์ที่สุดในโลก ใครลืมของไว้ที่ใด วันสองวันผ่านไป เจ้าของกลับมาดู ของๆ เขาก็ยังคงอยู่ที่เดิม สภาพเดิม ไม่มีการสูญหายแต่อย่างใด คงไม่ใช่เรื่องการไม่ใส่ใจ แต่เค้าถือว่าเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ บางครั้งเรื่องการลักเล็กขโมยน้อยอาจจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในสังคมของเค้าก็ได้ ป่านนี้เด็กคนนี้อาจจะได้ไปอยู่สถานพินิจที่ไหนสักแห่ง ....   What a wonderful world

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ดิฉันเข้ามาอ่านครั้งหนึ่งแล้วค่ะ  แต่ยังไม่แสดงความคิดเห็น  รออ่านเม้นท์ของท่านอื่น ๆ ด้วยค่ะ
  • ปัญหาของนักเรียนที่บ้านนอกไม่ธรรมดาค่ะ ซับซ้อนมาก  ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากครอบครัว แต่ครอบครัวไม่คิดแม้แต่จะแก้ไข โรงเรียนมีความจำเป็นต้องรับภาระ หาวิธีการต่าง ๆมาแก้ไข นับตั้งแต่ความขาดแคลนไปจนถึงพฤติกรรมที่เป็นปัญหารุนแรง
  • วิธีการแก้ไขก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมด้านความรัก ความเมตตาของครูแต่ละท่าน  การติดตาม การให้แรงจูงใจ การให้ความช่วยเหลือ
  • บางปัญหาก็ใช้เวลานานมาก บางทีคิดว่ายากแต่ก็ง่าย  ยากตอนใช้เวลาค้นพบปัญหาและสาเหตุของปัญหาค่ะ  ส่วนมากผู้ปกครองไม่เข้าใจจึงไม่ให้ข้อมูลที่เป็นจริง  กลัวครูจะลงโทษเด็ก
  • ดิฉันสอนภาษาอังกฤษก็จริง  กว่าจะเริ่มกิจกรรมต้องสอนความเป็นคนดีก่อนประมาณ ๑๐ นาที  แต่เด็กก็ชอบที่จะให้สอนและอยากฟังเรื่องเล่า  เรื่องพระธรรมคำสอนก็ชอบค่ะ
  • นอกจากนั้นก็ไม่ละเลยวัฒนธรรมของคนไทย  อย่างเช่นการต่อต้านการเลียนแบบและนำวัฒนธรรมต่างชาติมาใช้อย่างไม่เหมาะสม
  • การลงโทษเด็ก  จากการเก็บข้อมูลที่โรงเรียน ไม่เป็นผลดีค่ะ เด็กไม่เข้าใจหรือขาดความมีเหตุผล  เขาก็จะหนีหายหรือสร้างปัญหาต่อต้านมากขึ้น ในที่สุดก็เรียนไม่จบภาคบังคับ
  • เด็กคนหนึ่งเรียนไม่จบภาคบังคับ  หรือโรงเรียนไม่ให้โอกาสเขา  ต่อไปในอนาคตสังคมจะเป็นอย่างไร
  • เด็กคนนี้ไม่เคยยิ้มมาเป็นปี ๆ ปัจจุบันเป็นเด็กยิ้มแย้มแจ่มใสห่วงหาอาทรต่อครูค่ะ
  • http://gotoknow.org/blog/krukim/299071
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์และคุณณัฐพัชร์ ที่ร่วมแลกเปลี่ยนค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • เรื่องสื่อจากประสบการณ์ สื่อจากสถานการณ์จริง และการเกิดบทเรียนจากชีวิตจริงนี้ ต้องการวิธีคิดและต้องเรียนรู้ด้วยทรรศนะที่ต่างจากทั่วไปเลยทีเดียวครับ ความรู้ความเข้าใจที่คิดเอาด้วยเหตุผลและวิธีการทางตรรกะนั้น บางทีก็ไม่สามารถเข้าใจและจัดวางตนเองต่อความจริงที่ดีได้ การทำให้มีสถานการณ์เพื่อที่ผู้เรียนจะสามารถมองเข้าไปดูจิตใจตนเองในสถานการณ์ดังกล่าวได้ ก็จะเป็นวิธีหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาอย่างนี้นะครับ
  • อาจารย์ณัฐพัชร์จับประเด็นได้ตรงใจ เพราะแง่มุมหนึ่ง ผมก็อยากทดลองและเรียนรู้ไปด้วยว่า จากบล๊อก GotoKnow สู่กิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ในห้องเรียนแบบเห็นหน้ากัน พร้อมกับเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้คนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการศึกษาเรียนรู้ได้วิเคราะห์และเรียนรู้จากกรณีศึกษาจริงนั้น จะต้องทำอย่างไรและจะได้ผลอย่างไรบ้าง ในบันทึกและบทความนี้เลยก็เป็นการรายงานให้ทราบผลไปด้วยกันไปในตัวนะครับ
  • ผมก็ได้การเรียนรู้ไปด้วยไม่น้อยไปกว่านักศึกษาหลายอย่าง ได้ลองผสมผสานเครื่องมือการทำงานชุมชนเข้ากับเครือข่ายชุมชนในโลกไซเบอร์ ลองทำสื่อและศิลปะแบบทำด้วยมือ วาดรูปและจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าค่าตากันเข้ากับสื่อการเรียนรู้จากเว็บ ก็ลองหาความหมายที่เราต่อเติมและช่วยสร้างไปด้วยกันกับคนอื่นๆ เดินไปทีละนิดแล้วก็เก็บรวบรวมบทเรียนไว้น่ะครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • นึกอยู่พอดีทีเดียวละครับว่าพรุ่งนี้จะลิ๊งค์ไปส่งให้คุณครูคิม
  • เลยก็ได้ตามเข้าไปอ่านเรื่องวินัยเชิงบวกที่คุณครูคิมถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กๆไว้อีกหนึ่งเรื่อง
  • คุณครูคิมมีความสุขในปีใหม่ไทย-จีนมากๆนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

กรณีคล้ายๆกันนี้เคยเจอเหมือนกันนะคะ

เมื่อเจอเรื่องเช่นนี้ สิ่งแรกที่คิดคือไม่มีใครอยากทำความไม่ดีค่ะ

ถ้าเช่นนั้นนักเรียนทำทำไม

ครูต้อยอาศัยความอดทน ใช้เวลา

เด็กน้อยอย่างไรก็เป็นเด็กน้อยค่ะ

เฝ้าติดตามเรื่องเงียบๆ สร้างกิจกรรมให้ตระหนักรู้ถึงข้อดี ข้อเสีย

เปิดทางเลือกให้เด็กน้อย ให้รับรู้และตระหนักว่าสังคมนี้ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด

ความรัก ความเมตตา และการให้อภัยนั้นมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆ

ไม่อยากให้เกิดตราบาปในใจผู้ด้อยโอกาสค่ะ

อาจคิดและกระทำต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกัน

ให้คุณธรรมความละอายใจต่อบาปนั้นเกิดขึ้นด้วยสติของเด็กน้อย

ค่อยๆเติมเต็มหัวใจรักและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความเกรงกลัวต่อ

ผลการกระทำของตนเองด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม

ขอบคุณค่ะ

ปล.ชอบบ้านอ.ที่สันกำแพงค่ะ สงบ และร่มเย็น

ท่านเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านนกกาได้อาศัย

ประทับใจมากค่ะ

ปิดตุลานี้ครอบครัวจะขึ้นไปพักที่บ้านสันกำแพงค่ะ

คงมีโอกาสไปกราบคารวะท่านทั้งสองค่ะ

สวัสดีครับ krutoiting ครับ

  • เป็นการแลกเปลี่ยนทรรศนะที่ยิ่งทำให้เห็นขอบเขตของสิ่งที่ต้องนำมาคิด รวมทั้งเหตุผล ความสำคัญ และแนวทางที่จะต้องใช้วิจารณญาณมาประกอบ ได้หลากหลายแง่มุมมากยิ่งขึ้นนะครับ
  • ในแง่ของการพัฒนาวิธีการสอนและกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสร้างความรู้และสร้างทรรศนะเชิงทฤษฎีขึ้นเป็นตัวตั้งก่อนจากประสบการณ์ของกลุ่มผู้เรียน แล้วจึงวิพากษ์และเสริมแนวคิด-ทฤษฎีที่เพิ่มความรอบด้านและความแข็งแกร่งให้กับแต่ละคน โดยดึงเอากรณีศึกษาที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมอันซับซ้อนและเกิดขึ้นจริงมาเป็นสถานการณ์เพื่อการสร้างประสบกาารณ์ในการเรียนรู้ด้วยกันเป็นกลุ่มอย่างนี้ ก็ให้ผลที่น่าสนใจดีมากเหมือนกันครับ
  • บ้านที่สันกำแพงที่ krutoiting กล่าวถึงนี่ หมายถึงบ้านผมหรือเปล่าครับ หากหมายถึงผมก็ไม่ใช่สันกำแพงหรอกครับ ผมกับภรรยาอยู่บ้านที่สันป่าตองครับ ตอนนี้ทำห้องประชุมกับที่พักสำหรับวิทยากรแนวเพื่อนๆและกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆแบบหมู่มิตรคนทำงานและคนที่ชอบในแนวเดียวกันสัก ๒๐-๓๐ คน เสร็จแล้วครับ
  • กำลังคิดและเตรียมตัวเองอยู่ครับว่าจะไปอย่างไรต่อดี แต่คิดว่าจะประเดิมด้วยกิจกรรมแบบสนุกๆ สบายๆ เพื่อประเมินกำลังตัวเองกันดูก่อนครับ แล้วจะบอกกล่าวแก่ทุกท่านในนี้ด้วยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

"เกษตรศิลป์"

น่าสนใจจังค่ะ

คล้ายๆจะนำเรากลับคืนสู่ธรรมชาติ มากกว่าพึ่งพาเทคโนโลยี่

ใส่ใจธรรมชาติ มากกว่าความต้องการส่วนตัว

ใช่มั๊ยคะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • น่าสนใจมากทีเดียวครับ ประเดี๋ยวจะเขียนรายงานและสังเคราะห์หาบทเรียนสำหรับหาแรงบันดาลใจที่หลากหลาย มาเล่าให้คุณณัฐรดากับผู้สนใจได้ศึกษาครับ
  • แนวของคุณณัฐรดาก็น่าสนใจมากเช่นเดียวกันครับ มันเป็นการนำเอาศิลปะมาเป็นหนทางการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของปัจเจกเหมือนกับพาคนให้เข้าถึงและสัมผัสความงาม-ความลึกซึ้งที่อยู่ในตนเอง พร้อมกับสะท้อนไปสู่มิติอื่นๆของชีวิตเช่น การทำเป็นงานสร้างรายได้ เพื่ออยู่กับความเป็นจริงได้อย่างสมดุลและมีความสุขไปกับความงาม
  • พวกเราได้รับหนังสือของคุณณัฐรดาที่ส่งไปให้อีกแล้วครับ จะนำไปทำกิจกรรมให้สำเร็จประโยชน์อย่างเจตนารมย์ทั้งของผู้เขียนและของทีมที่ทำกันขึ้นมานะครับ

เจริญพรขอบคุณขอรับอาจารย์..

ติดตามบันทึกอาจารย์เกือบทุกๆบันทึก

แต่ไม่ค่อยได้ฝากรอยจารึกไว้ขอรับ..

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหา ธรรมฐิต ครับ

ผมอ่านปูมบุคคลของพระคุณเจ้าแล้วก็ทึ่งครับ
พระลูกชาวบ้านต่างจังหวัดที่ศึกษาอบรมไปจนถึงเปรียญ ๙
แล้วก็ยังคงจำพรรษาอยู่ในวัดต่างจังหวัดนั้น
ต้องนับว่าเป็นแก้ววิเศษและสิ่งหายากที่มีคุณค่ามากของชุมชนนะครับ
เลยต้องขอนุโมทนาการอุทิศตนและการเลือกกิจแห่งชีวิตในวิถีอย่างนี้
ของพระคุณเจ้าครับ

ในหลายหัวข้อของผม อาจจะเป็นแนวคิดและมีวิธีการ
ที่สามารถนำไปเป็นเครื่องมือทำกิจกรรมกับชาวบ้าน
ให้เป็น ธรรมวิจโย ผสมผสานกับกิจกรรมการดำเนินชีวิต การทำการงาน
และการทำมาหากินในชีวิตประจำวันไปด้วยของชาวบ้านก็คงจะได้นะครับ

การเป็นครูและผู้นำทางจิตวิญญาณ ได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางศาสนา
และกิจกรรมที่สาธุชนมักทำด้วยใจ หากมีวิธีช่วยทำโอกาสดังกล่าว
ให้เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต ได้ปฏิบัติธรรมในชีวิตและการงาน
และทำให้เป็นโอกาสที่ชาวบ้านได้เรียนรู้ สร้างภูมิปัญญาชาวบ้าน มากยิ่งๆขึ้น
โดยมีพระเป็นผู้นำคิดและทำ ก็คงจะทำให้ชุมชนชาวบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้
และได้สร้างความรู้ที่งอกออกมาจากชุมชน ได้อย่างงดงามและมากมายนะครับ

เรียนท่านอ.

ครูต้อยขออภัยค่ะ จำผิด

บ้านที่ว่าคือที่สันป่าตอง ห่างเชียงใหม่ 20 กว่ากิโลเมตร

เป็นบ้านที่เรายังไม่เคยไปกันค่ะ

ก็นัดกันว่าปิดเทอมตุลาจะพากันไปชมบ้าน และพักสักระยะ

ขอบคุณค่ะที่ทำให้นึกได้ ใกล้ๆครูต้อยจะแจ้งอ.อีกครั้งนะคะ

เผื่อจะได้ไปกราบคารวะเยี่ยมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ ไปตอนเดือนตุลาหรือครับ อากาศกำลังพอดีเลยนะครับ เหมาะครับเหมาะ

                           

                           

                           

                           

ตอนนี้ที่บ้านสันป่าตองกำลังทำโน่นทำนี่ไปทีละเล็กละน้อยครับ อาคารหลังเขียวอ่อนนั้นข้างบนใช้เป็นที่พักและนั่งประชุมเป็นกลุ่มได้กำลังพอเหมาะสำหรับหมู่มิตร ๒๐-๓๐ คนครับ ข้างล่างก็เปิดออกและดัดแปลงทำกิจกรรมได้หลายอย่างในแนวเราๆนะครับ เป็นต้นว่าใช้เวิร์คช็อป แสดงงานศิลปะ จัดเวทีนั่งคุยกับชาวบ้าน ด้านหน้าเป็นเวทีกลางแจ้งสำหรับนั่งสนทนากับกลุ่มเล็กๆได้ครับ มีสระบัวและบ้านพักของวิทยากรหรืออาคันตุกะแบบคนกันเองพักได้ครับ หมายความว่าพาพวกไปนอนแบบซำเหมา-แบบกึ่งทำงานได้น่ะครับ ด้วยความยินดีเลยละครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท