๖๙.เกษตร-ศิลปะ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา : การศึกษาแนวปฏิรูปเพื่อสร้างพลเมืองอย่างเป็นองค์รวม


".....ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ที่มีความเป็นบูรณาการและมุ่งพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม จึงเป็นหนทางหนึ่งของการศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสังคมอย่างรอบด้าน ลดภาวะปัญหาและมีความยั่งยืนในการพัฒนามากขึ้น .."

เมื่อ ๓-๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมกับคณาจารย์และหลักสูตรปริญญาโท สาขาการบริหารจัดการการศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) [๑] ของภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พานักศึกษาไปศึกษาดูงาน ซึ่งเป็นการรวมเอาการศึกษาดูงานภาคสนามกับการฝึกประสบการณ์เพื่อนำเอาสิ่งที่เรียนรู้เชิงทฤษฎีในห้องเรียนไปใช้จริง มาดำเนินการด้วยกัน ผมได้รับมอบหมายจากทีมให้เป็นผู้ออกแบบกระบวนการนี้พร้อมกับเป็นผู้นำกิจกรรมให้ทีมได้ทำด้วยกันทั้งนักศึกษาและคณาจารย์

เมื่อดำเนินการไปแล้วก็ได้พบกับสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง จึงอยากนำมาบันทึกและรายงานเก็บรวบรวมไว้เพื่อเป็นแนวการพัฒนาทั้งสำหรับตนเองและผู้สนใจ ต่อไป

 แนวคิดหลักและวัตถุประสงค์ของบันทึก

ส่วนที่น่าสนใจที่จะนำมาถ่ายทอดไว้นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ได้ศึกษาดูงานกัน คือ   เกษตร-ศิลปะ   จากห้องเรียนธรรมชาติ ของ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษานครนายก บทความนี้จะนำมาเล่าให้เห็นถึงภาพสะท้อนของเรื่องที่สังคมไทยและสังคมโลกให้ความสำคัญ แล้วงานด้านการศึกษาได้นำมาแปรสู่โครงการปฏิบัติในโรงเรียน เช่น แนวคิดและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ที่นำเอาศิลปะ สุนทรียภาพและมิติด้านในของมนุษย์มาเป็นแกนบูรณาการสาระการเรียนรู้ในทุกด้านทั้งศาสตร์และศิลป์ มิติจิตใจและความละเอียดอ่อนของมนุษย์ สะท้อนออกมาเป็นผลงาน เกษตร-ศิลปะ รวมทั้งการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมของเด็กและเยาวชน ชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดุลยภาพของความเป็นท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์

  การฝึกประสบการณ์และกระบวนการเรียนรู้เป็นทีม (Team Approach and Coaching

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ต้องทำให้นักศึกษาได้สิ่งสำคัญ ๒ อย่างคือ การศึกษาดูงานภาคสนาม กับการได้ฝึกประสบการณ์ที่เสริมความเป็นนักบริหารการศึกษาและคนทำงานด้านการศึกษา รวมทั้งบางส่วนควรจะได้สัมผัสกับกิจกรรมให้รู้จักความเป็นครูและผู้สอน

ความสำคัญของการศึกษาดูงานนั้น ก็จะเป็นโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศไทย ในด้านการบริหารจัดการการศึกษาภายใต้สภาวการณ์ต่างๆ นักศึกษาจะได้เห็นตัวอย่างตามความสนใจหลากหลายจากแหล่งศึกษาดูงานที่ได้เลือกสรรให้เป็นกรณีศึกษา

ส่วนในด้านการฝึกประสบการณ์และได้เรียนรู้อย่างบูรณาการนั้น นักศึกษาก็ควรได้มีประสบการณ์ต่างๆแก่ตนเองเพื่อจะได้มีความมั่นใจและมีความเป็นผู้นำในความเป็นคนทำงานการศึกษาและเป็นนักบริหารการศึกษา เช่น การได้วิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาจากสภาพความเป็นจริงของสังคม การได้มีโอกาสพูด ถ่ายทอด เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพการเป็นผู้สอน การวางแผนและบริหารจัดการกิจกรรมทางการศึกษา รวมทั้งได้นำเอาความรู้เชิงทฤษฎีทุกด้านมาใช้ในสถานการณ์จริง การเก็บรวบรวมข้อมูลและการเขียนรายงาน

โดยปรกติแล้วการฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาจะต้องใช้เวลาหลายเดือนและต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษาสูง นักศึกษาที่ได้รับทุนที่อุดหนุนกิจกรรมอย่างนี้ด้วยจากบางแหล่งทุนเท่านั้นที่จะสามารถฝึกประสบการณ์ในลักษณะดังกล่าวได้

แต่เนื่องจากระยะเวลาสั้น อีกทั้งเป็นกลุ่มนักศึกษานานาชาติ การที่จะนำทั้งสองอย่างมาดำเนินการด้วยกันจึงเป็นเรื่องยาก ทว่า การที่จะต้องทำให้กระบวนการเรียนการสอนที่นักศึกษาจะได้มีคุณภาพและมีความหมายดีที่สุดต่อการสร้างคนให้ออกไปเป็นผู้นำการพัฒนาของสังคมนั้น แม้นมีข้อจำกัดทั้งเวลาและทรัพยากรแทบทุกด้าน ก็จะทำไปตามบุญตามกรรมให้หย่อนไปจากความรู้ที่เราเองก็รู้ดี ไม่ได้ ดังนั้น เลยก็ต้องนำเอาข้อจำกัดทั้งหลายมาคิดและออกแบบดำเนินการต่างๆให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำกันได้ ผมเห็นสปิริตของทีมในครั้งนี้ว่าเป็นการช่วยกันแก้ปัญหาด้วยวิชาการ ความรู้ และความเป็นครูอย่างแท้จริง 

ผมออกแบบให้ตลอดกระบวนการเป็นกระบวนการสอนซึ่งทีมอาจารย์ทั้งหมดจะมีบทบาทเป็นกลุ่มพี่เลี้ยงและจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นทีม(Team Approach and Coaching) สอดแทรกอยู่ในเกือบทุกกิจกรรม ทีมอาจารย์พี่เลี้ยงจะเป็นทีมสหวิทยาการที่คอยประกบนักศึกษาทั้งเรียนรู้ไปด้วยกันและได้ปฏิสัมพันธ์ทางวิชาการให้ได้ทรรศนะทางวิชาการต่อกรณีต่างๆที่ลุ่มลึกและรอบด้าน แม้จะมีข้อจำกัดมากแต่ด้วยกระบวนการในลักษณะดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จริงและอยู่กับสถานการณ์ซึ่งมีเงื่อนไขการเรียนรู้ผสมผสานไปด้วยอย่างเข้มข้น

ผมจัดเวิร์คช็อประดมความคิดทั้งอาจารย์และนักศึกษาให้พัฒนาแกนหลักของเนื้อหาการศึกษาดูงาน จนได้หัวข้อหลักที่สะท้อนประเด็นอนาคตทั้งของสังคมไทยและสังคมโลกหลายอย่าง คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษา จากนั้น เพื่อเห็นการแปรไปสู่ภาคปฏิบัติของสังคมในเรื่องเหล่านี้ ก็เลือกแหล่งเรียนรู้ ๒ แห่งคือ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา จังหวัดนครนายก และโรงเรียนสาคลีวิทยา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เวลา ๓ วัน ๒ คืน

                             

                              ภาพที่ ๑ คณาจารย์และกลุ่มนักศึกษานานาชาติ หลักสูตรการบริหารจัดการการศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาดูงานโรงเรียนปิยชาติพัฒนา สพท.นครนายก โรงเรียนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คุณครูฐิติพงศ์ ชาติทอง หัวหน้าห้องเรียนธรรมชาติเกษตร-ศิลปะ กับ ดร.วารุณี ศุภบัณฑิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนปิยชาติพัฒนาและหัวหน้าหมวดวิชาภาษาต่างประเทศ เป็นวิทยากรบรรยายและนำชม 

ผมได้ ดร.ภัทรียา กิจเจริญ มาเป็นทีมทำไปด้วยกัน ซึ่งดร.ภัทรียานี้เป็นอาจารย์รุ่นใหม่จบการศึกษาจากต่างประเทศ มีความรอบด้าน และเป็นข่ายการทำงานกับศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนพานักศึกษาและคณาจารย์ไปนั้น ผมกับ ดร.ภัทรียาก็ช่วยกันออกแบบกระบวนการทั้งหมด ให้ครอบคลุมการศึกษาดูงานและจะทำให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ไปกับทีมอาจารย์ไปด้วยหลายด้าน ประกอบด้วยการฝึกประสบการณ์การวิจัย การวิเคราะห์สังคมมิติกับการวางแผนและบริหารจัดการทีมอย่างมีส่วนร่วม การเรียนรู้การบริหารจัดการและการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ๒ แห่งในทุกมิติ การถอดบทเรียนและนำเสนอผลการเรียนรู้เป็นกลุ่ม การประเมินผลโดยสังเคราะห์บทเรียนและเขียนรายงานถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการทำโครงการจัดสัมมนาและนำเสนอบทเรียนร่วมกันซึ่งทั้งหมดจะทำให้นักศึกษาได้ผ่านประสบการณ์ภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้นตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลังผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้วผมก็จะให้นักศึกษาประเมินผลโดยการเขียนถ่ายทอดบทเรียนอย่างมีโครงสร้างที่จะสามารถสะท้อนการสังเคราะห์ประสบการณ์ทั้งมวลของนักศึกษาออกมาเป็นรายงานตนเอง ๒-๓ หน้ากระดาษ A4 หลังประชุมปรึกษาหารือและช่วยกันปรับแต่ง กระทั่งลงตัวอย่างที่ทุกคนต้องการแล้ว ทุกอย่างก็ดำเนินการไปตามที่วางแผนไว้ได้ทุกประการ

  โรงเรียนปิยชาติพัฒนา สพท.นครนายก และโครงการนำร่องการศึกษาเพื่อการปฏิรูป 

โรงเรียนปิยชาติพัฒนา เป็นโรงเรียนมัธยม ๑-๖ ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ ตามพระดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อจัดเป็นสวัสดิการทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานของครอบครัวทหาร ตั้งอยู่ในชุมชนด้านหน้าของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ เขาชะโงก จังหวัดนครนายก ทว่า เมื่อดำเนินการจริง นักเรียนของโรงเรียนปิยชาติพัฒนาก็มีทั้งลูกหลานครอบครัวทหารและลูกหลานชาวบ้านจากชุมชนโดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง

ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ นี้โรงเรียนปิยชาติพัฒนามีนักเรียนจำนวน ๑,๐๗๓ คน มีครูทั้งหมด ๕๓ คน เป็นครูชาวไทย ๔๙ คน ครูฟิลิปปินส์ ๒ คน ครูญี่ปุ่น ๑ คน และครูอาสาสมัครชาวจีน ๑ คน ผู้อำนวยการของโรงเรียนคนปัจจุบัน คือ นายสรยุทธ สืบแสงอินทร์ โรงเรียนมีวิสัยทัศน์มุ่งการเป็นโรงเรียนเพื่อชุมชนที่จัดการศึกษาอย่างมีมาตรฐานและสนองแนวพระดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เด็กๆ ที่เดินมาสมัครเข้าเรียนโรงเรียนปิยชาติพัฒนานั้นโรงเรียนจะรับเข้าเรียนทั้งหมด

กระบวนการเรียนรู้ต่างๆของโรงเรียนปิยชาติพัฒนาจะเน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการและมีการเรียนรู้จากการทำโครงงานที่บริหารจัดการโดยนักเรียน มีทางเลือกให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองไปได้หลายแนวทาง ไม่ชอบเรียนวิชาการก็มีการเรียนรู้พัฒนาอาชีพให้เลือกเพื่อให้เด็กได้ออกไปเป็นพลเมืองที่ดี พึ่งตนเองในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ แต่ก็จะบูรณาการพื้นฐานทางวิชาการเพื่อที่เด็กจะสามารถพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ให้แก่ตนเองได้ภายหลัง

ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆให้แก่เด็กไปด้วย ทั้งต่อปัญหาความยากจน ปัญหาทุพโภชนาการและพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งปัญหาสังคม อนามัยเจริญพันธุ์ และการสร้างประสบการณ์ชีวิต เช่น โครงการสวนพฤษศาสตร์โรงเรียน | ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์พันธุกรรมพืช | โครงการเษตร-ศิลปะและเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน | โครงการอาหารกลางวัน | ห้องสมุดและศูนย์วิทยบริการ | ศูนย์การเรียนรู้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ | ธนาคารและบริษัทนักเรียน | เหล่านี้เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่พลเมืองและสังคมไทยยังขาดแคลน การเรียนรู้โดยการแก้ปัญหาพร้อมกับลงทุนไปที่การสร้างเด็ก จึงเป็นทั้งการแก้ปัญหาและการวางพื้นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

                             

                             ภาพที่ ๒ หน้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาชะโงกและโรงเรียนปิยชาติพัฒนา แวดล้อมด้วยชุมชนและสภาพที่เป็นธรรมชาติ เหมาะสมต่อการหล่อหลอมและกล่อมเกลาให้เด็กได้พัฒนาการเรียนรู้เพื่องอกงามเติบโตอย่างเป็นองค์รวม

                            

                             ภาพที่ ๓ ห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลปะ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา เขาชะโงก จังหวัดนครนายก

                            

                             ภาพที่ ๔ นักเรียนเดินเรียนเป็นกลุ่ม พัฒนาทักษะสังคม การทำงานและดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่น พร้อมกับเป็นกลุ่มนักสำรวจ ผจญภัยและเล่นเพื่อความงอกงามเติบโตอย่างเป็นตัวของตัวเองร่วมกับผู้อื่น  

นอกจากนี้ ก็มีโครงการที่ดำเนินการเป็นโครงการเพื่อศึกษาและพัฒนาสำหรับการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี การศึกษาเรียนรู้บางส่วนได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และมหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ ประสานมิตร การบริหารจัดการโรงเรียนเน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้ปกครองและโรงเรียน

  เกษตร-ศิลปะ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา  

โรงเรียนปิยชาติพัฒนามีโครงการห้องเรียนธรรมชาติเกษตร-ศิลปะ จัดเป็นสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมโดยพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ให้เป็นฐานการเรียนรู้อย่างบูรณาการจำนวน ๑๔ ฐานด้วยกัน ประกอบด้วย ฐานการเรียนที่ ๑  ฐานการเรียนศิลปะพื้นฐาน แบ่งออกเป็น ๒ ฐานย่อย วาดรูปให้ง่ายๆ  กับวาดเส้นพื้นฐาน | และฐานการเรียนรู้ที่ ๒ ฐานการเรียนรู้พุนธุ์ไม้น้ำ แบ่งออกเป็นฐานย่อย ๒ ฐานการเรียนรู้ คือ ไม้น้ำกินได้ และไม้น้ำสวยงาม | ฐานการเรียนรู้ที่ ๓ พิพิธภัณฑ์ชาวนา | ฐานการเรียนรู้ที่ ๔ สวนผักสวยงาม | ฐานการเรียนรู้ที่ ๕ สมุนไพรใกล้ตัว | ฐานการเรียนรู้ที่ ๖ เพาะพันธุ์ปลา | ฐานการเรียนรู้ที่ ๗ สวนเฟิร์นนานาชนิด | ฐานการเรียนรู้ที่ ๘ ไม้ใบได้ประโยชน์ | ฐานการเรียนรู้ที่ ๙ ศึกษารวบรวมพันธุ์ดอกหน้าวัว | ฐานการเรียนรู้ที่ ๑๐ รวบรวมพันธุ์ลั่นทม | ฐานการเรียนรู้ที่ ๑๑ สวนกล้วย | ฐานการเรียนรู้ที่ ๑๒ เรียนรู้คู่บ้านเกิด | ฐานการเรียนรู้ที่ ๑๓ รวมพันธุ์เฮลิโดเนียและตระกูลเบิร์ด | ฐานการเรียนรู้ที่ ๑๔ สวนหินทั่วถิ่นไทย      

                             

                              ภาพที่ ๕ การจัดหน่วยเรียนรู้เป็นประสบการณ์เบ็ดเสร็จชุดย่อยๆ แล้วพัฒนานวัตกรรมการศึกษาแบบฐานการเรียนรู้ (Learning Modules) จำนวน ๑๔ ฐานการเรียนรู้ ทุกฐานมีวัตถุประสงค์ ใบงาน และคู่มือการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองของกลุ่มผู้เรียน [๒]

ห้องเรียนธรรมชาติเกษตร-ศิลปะ เป็นห้องเรียนกลางแจ้งและศึกษาเรียนรู้จากการทำจริงบนพื้นที่เกือบ ๔ ไร่ ออกแบบและจัดวางองค์ประกอบต่างๆโดยทำการเกษตรที่สามารถได้ผลผลิตซึ่งนำไปสู่การทำโครงการอาหารกลางวันและโครงการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพได้ด้วยตนเองของนักเรียน ผสมผสานการจัดสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และแหล่งประสบการณ์หลากหลายรูปแบบเพื่อบูรณาการการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ คุณธรรมจริยธรรม สำนึกความเป็นส่วนรวม ทักษะสังคม ทักษะการบริหารจัดการและความรับผิดชอบตนเองด้วยสำนึกความเป็นพลเมืองทั้งต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่อย่างพอเพียง และความสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

                        

                         ภาพที่ ๖ ห้องเรียนใต้ร่มไม้ นักเรียนจะนั่งเรียนพื้นฐานทางทฤษฎีใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่นของห้องเรียนธรรมชาติ

                        

                          ภาพที่  ๗ นั่งเรียนด้วยบรรยากาศสบายๆ แวดล้อมด้วยความเป็นธรรมชาติและผู้เรียนก็มีโอกาสพัฒนาวิธีเรียนรู้ที่ได้ใช้ศักยภาพการเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างเต็มที่

                        

                         ภาพที่  ๘ บางส่วนนั่งรวมกลุ่มทำงาน ผลงานและการทำกิจกรรม  เป็นการแสดงออกทางการเรียนรู้และได้ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง เอื้อให้เกิดโอกาสได้พัฒนาอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น ทั้งทางด้านพัฒนการทางกาย ทักษะการปฏิบัติและเคลื่อนไหว ทักษะสมองทั้งความรอบด้านและความแตกฉานเชิงลึกในสิ่งที่ปฏิบัติได้ จิตใจ จิตวิญญาณ การรวมกลุ่ม คุณธรรมและจริยธรรมทั้งต่อตนเองและต่อส่วนรวม รวมไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

  ปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองอย่างเป็นองค์รวม 

กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการและการพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวมในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการศึกษาแนวปฏิรูปเพื่อสนองตอบต่อวิกฤติปัญหาหลายอย่างของสังคมที่สืบเนื่องกับความเป็นโลกแห่งการแยกส่วน ซึ่งทำให้กระบวนทรรศน์การพัฒนาสุดขั้วไปในทางเป็นกลไก แยกส่วนกายกับจิตใจ ความเป็นวัตถุและมิติคุณค่า รวมทั้งลดทอนพลังการเรียนรู้ซึ่งทำให้ผู้คนมีทักษะที่จำกัดอยู่กับเพียงบางด้าน สามารถแข่งขันทำงานเพื่อให้ได้เงินและบรรลุความสำเร็จทางวัตถุ แต่ไม่สามารถมีความสุขและไม่สามารถพัฒนาตนเองให้ยกระดับสู่คุณค่าของชีวิตที่สูงขึ้นอยู่เสมอ ก่อให้เกิดสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด แยกส่วนความสุขของปัจเจกออกจากสวัสดิภาพและความสุขของส่วนรวม ขาดพลังการดูแลสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกัน สูญเสียความสมดุลในสุขภาวะสาธารณะ

                             

                              ภาพที่ ๙ นักเรียนทำงานของตนเองในห้องเรียนธรรมชาติ และกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาดูงานในห้องเรียนธรรมชาติ ศูนย์การเรียนรู้เกษตร-ศิลปะ ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา

นอกจากนี้ ภาวะที่กล่าวถึงในข้างต้น ก็เชื่อกันว่าเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงออกไปสู่วิกฤติอื่นอีกอย่างซับซ้อนทั้งของท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ อีกทั้งเป็นผลสืบเนื่องของการจัดการศึกษาเรียนรู้แบบแยกส่วนด้วยเช่นกัน ดังนั้น หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้ได้คุณลักษณะพลเมืองที่ถึงพร้อมในการเป็นผู้มีความรู้  เห็นความเป็นจริงที่เชื่อมโยง เป็นระบบ สามารถนำไปปฏิบัติและใช้ดำเนินชีวิตได้ในหลายมิติ รวมทั้งมีความสมดุลทั้งกายใจและความเป็นปัจเจกกับส่วนรวม จึงเป็นหนทางหนึ่งของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งมุ่งให้การจัดการศึกษาเรียนรู้ได้เป็นกระบวนการสร้างคนและสร้างพลังปัจจัยชุมชน เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบที่นำไปสู่การปฏิรูปสังคมอย่างรอบด้านและส่งเสริมความยั่งยืนในการพัฒนามากยิ่งๆขึ้น

วิธีดำเนินการของโรงเรียนปิยชาติพัฒนาเพื่อสะท้อนแนวคิดและแนวทางดังกล่าวสู่การดำเนินการให้บังเกิดผลทางการปฏิบัติก็คือ เปิดห้องเรียนออกไปสู่ธรรมชาติ และผสมผสานเกษตรกับศิลปะเป็นหน่วยเรียนรู้เกษตร-ศิลปะ ๑๔ ฐานการเรียนรู้ โดยมีครูผู้สอนและดูแลศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวเพียง ๑ คน คือ ครูฐิติพงศ์ ชาติทอง

                       

                       ภาพที่ ๑๐ ฐานการเรียนรู้ศิลปะ ในห้องเรียนธรรมชาติ

ฐานการเรียนรู้ศิลปะในห้องเรียนธรรมชาติ ออกแบบทำเป็น ๒ ฐานการเรียนย่อย โดยเริ่มจากพื้นฐานอย่างง่าย การวาดเส้น แรเงา จากรูปทรงเหลี่ยมเรขาคณิตและแสงเงาแบนๆอย่างง่าย ไปสู่รูปทรงกลมและทรงกรวย ซึ่งต้องใช้ทักษะการวาดเส้นและการแรเงาแบบเกลี่ยที่ซับซ้อนขึ้น จากนั้น ก็เป็นฐานย่อยที่สอง ซึ่งยกระดับไปสู่การวาดหุ่นปูนรูปคนทรงเรขาคณิต กระทั่งไปสู่การวาดหุ่นปูนรูปคนซึ่งมีกายวิภาคมนุษย์ที่สลับซับซ้อน

เมื่อสามารถวาดได้ครบทุกฐานการเรียนรู้ ก็จะได้ผลงานที่สะท้อนความรู้และความสามารถปฏิบัติได้ครบ ได้พื้นฐานทางศิลปะและสุนทรียภาพ ใช้เป็นพื้นฐานถ่ายเทไปสู่การเรียนรู้ เกษตร-ศิลปะ คือการจัดสวนและการวาดภาพหุ่นนิ่งในธรรมชาติ รวมทั้งทำงานความคิดและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกมาได้อีกต่อไป

                      

                       ภาพที่ ๑๑ สวน แปลงผัก แมกไม้และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ที่เป็นห้องเรียนของนักเรียนในธรรมชาติ

                      

                       ภาพที่ ๑๒ คุณครูฐิติพงศ์ ชาติทอง กำลังอธิบายวิธีสร้างความรู้ การวิจัยและทดลอง พัฒนาผู้เรียนอย่างบูรณาการ ทั้งศึกษาค้นคว้าสีสันจากธรรมชาติ การบันทึกต้นไม้และวัตถุดิบทั้งในแง่ของการเกษตรและการศึกษาผลต่อการนำไปทำเป็นวัตถุดิบให้สีเพื่อทำงานศิลปะ นักเรียนได้วิธีบันทึกและเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสีจากใบไม้และธรรมชาติ ทั้งจากชนิดที่แตกต่างกันและจากการเปรียบเทียบตามระยะเวลาต่างๆ

                      

                       ภาพที่ ๑๓ การจัดห้องเรียนธรรมชาติ เป็นทั้งห้องเรียนเกษตร-ศิลปะ และก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนที่ร่มรื่น ผู้เรียนไม่เพียงเข้าถึงปรัชญาชีวิตและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าการอธิบายจากการสอนในห้องเรียน ที่สำคัญคือ สำนึกในความเป็นพลเมืองที่สามารถรับผิดชอบสิ่งต่างๆได้อย่างกว้างขวางด้วยความจริงจัง 

  สร้างการเข้าถึงความเป็นตัวของตัวเอง  การประเมินจากกิจกรรมที่ไปไกลกว่าการประเมินและการทดสอบ 

การประเมินผลของศูนย์การเรียนรู้เกษตร-ศิลปะนั้นทั้งสร้างสรรค์และก้าวหน้าในทางวิชาการอย่างยิ่ง ผู้เรียนจะมีโอกาสทำงานแสดงผลงานของตนเองจากของจริง ทั้งการทำสวน การดูแลพืชผักสวนเกษตรและห้องเรียนกลางแจ้ง ที่สำคัญคือ การให้ผู้เรียนได้ทำผลงาน ศิลปะของการจัดสวนและการจัดแสดงผลงานทางเกษตร-ศิลปะ

                             

                              ภาพที่ ๑๔ ผลงานของผู้เรียนผสมผสานทั้งผลงานทางศิลปะและผลงานทางด้านเกษตร ผลงานศิลปะสะท้อนออกถึงการใช้ความรู้พื้นฐานทั้งทางด้านเรขาคณิต คณิตศาสตร์ ความสัมพันธ์เชิงมิติ การบันทึกและศึกษาค้นความธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สมนุไพร รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ผลงานด้านเกษตร แสดงออกถึงการใช้ความรู้ทางวิยาศาสตร์ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมุนไพร ภูมิปัญญาท้องถิ่น

โรงเรียนโดยศูนย์การเรียนรู้เกษตร-ศิลปะ มีห้องนิทรรศการแสดงผลงานของผู้เรียนอยู่ในห้องเรียนธรรมชาติ เมื่อผู้เรียนได้ฝึกฝนประสบการณ์จากฐานการเรียนรู้ต่างๆแล้ว ก็จะมีกิจกรรมให้บูรณาการทักษะและประสบการณ์จากการเรียนรู้โดยให้ทำผลงานวาดรูปหุ่นนิ่งและจัดสวน ผู้เรียนทุกคนที่ทำผลงานออกมาได้ ก็จะได้คะแนน A ทุกคน โดยไม่มีการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ผู้อื่น

                             

                              ภาพที่ ๑๕ ห้องแสดงผลงานของนักเรียน เป็นอาคารจัดแสดงผลงานอย่างเป็นสัดส่วนอยู่ในสวนเกษตรและแวดล้อมด้วยธรรมชาติที่ร่มรื่น ในอาคารดังกล่าวมีประติมากรรมพระพิฆเนศ องค์เทพแห่งศิลปวิทยา ผู้เรียนจึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ให้ประสบการณ์ทางด้านจิตวิญญาณ ลึกซึ้งไปถึงคุณธรรมและจริยธรรมวิชาชีพ

                         

                               ภาพที่ ๑๖ เกษตร-ศิลปะ : หลังจากการฝึกปรือทั้งการดูแลสวนเกษตรและพื้นฐานทางด้านจิตรกรรม นักเรียนก็จะได้ทำกิจกรรมสะท้อนผลการเรียนรู้สู่การทำงานงานจริงโดยการจัดสวน ใช้พื้นฐานทางศิลปะ สุนทรียภาพ ตลอดจนการเข้าถึงจิตวิญญาณของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาสะท้อนสู่ผลงานการจัดสวน ซึ่งฝีมือของนักเรียนได้รับรางวัลระดับประเทศต่อเนื่องหลายปี อีกทั้งสามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้และเป็นพื้นฐานในการศึกษาสายอาชีวศึกษาให้เด็กได้อย่างดี

ครูผู้สอนเชื่อว่าการทำได้และความมีศิลปะนั้นสะท้อนออกมาจากความเป็นตัวของตัวของตัวเอง ของปัจเจกทุกคน จึงไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับใคร จุดหมายการเรียนรู้ของโรงเรียนมุ่งให้ผู้เรียนทำได้และสามารถนำไปใช้เพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมได้ ดังนั้น การเรียนรู้และการได้พัฒนาตนเองไปตามความสามารถของตนเองจึงถือว่าเป็นการบรรลุความเป็นตัวของตัวเองได้สูงสุด จึงควรได้คะแนน A ทุกคน.

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  กิตติกรรมประกาศ   :

ผู้เขียนขอขอบคุณหลายท่านที่ทำให้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมและศึกษาดูงานไปกับนักศึกษา รวมทั้งการจัดการเรียนรู้ ห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลปะ ที่ได้นำมาบันทึกไว้ในบทความนี้ คุณครูฐิติพงศ์ ชาติทอง ครูผู้ดูแลห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลปะ  ผอ.สรยุทธ สืบแสงอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปิยชาติพัฒนา ดร.วารุณี ศุภบัณฑิต รองผู้อำนวยการ คณะผู้บริหาร ครูและนักเรียนโรงเรียนปิยชาติพัฒนา นอกจากนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ อาจารย์ ดร.สุมาลี นาคประดา ทีมอาจารย์ในหลักสูตรเดียวกันกับผู้เขียนและเป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ ๒ ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา ที่ได้ประสานงานการศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง ดร.สุมาลีเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ที่ได้รับทุนพัฒนาความเป็นเลิศในการสอนวิทยาศาสตร์จนจบการศึกษาปริญญาเอกจากต่างประเทศแล้วกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ระยะหนึ่ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยมหิดล

 หมายเหตุและเชิงอรรถ   :

[๑] ปัจจุบัน ได้ปรับปรุงหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อ จาก ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, ศษ.ม. สาขาการบริหารการศึกษา เป็น ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, ศษ.ม. สาขาการจัดการการศึกษา และจะใช้ชื่อดังกล่าวโดยเริ่มในรุ่นปีการศึกษา ๒๕๕๓

[๒] ข้อดีของการจัดฐานการเรียนรู้ (Learning Module) เป็นหน่วยประสบการณ์ย่อยๆ ก็คือ ทุกฐานเรียนรู้จะมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ใบงาน คู่มือ และการตรวจสอบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้เรียนแต่ละกลุ่มและแต่ละคนก็จะสามารถออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ตนเองและกลุ่มได้ตามความถนัดและความพร้อมที่จะเรียน จะเริ่มต้นเรียนฐานการเรียนรู้ใดลำดับก่อนหลังอย่างไรก็ได้ ชอบที่จะเริ่มจากฐานการเรียนรู้ใดก็หารือ วางแผน และเรียนไปด้วยกัน เมื่อได้ประสบการณ์ครบแล้ว ก็จะสามารถบูรณาการประสบการณ์ให้ปฏิบัติเพื่อใช้ความรู้ได้อีกระดับหนึ่ง จุดแข็งของการเรียนรู้แบบฐานการเรียนรู้จึงได้แก่ความเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นไปตามความพร้อมและเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาการรับผิดชอบตนเอง.

หมายเลขบันทึก: 337768เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)
  • เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาที่ดีมากเลยครับ
  • ผู้เรียนมีความสุขได้ A ทุกคนโดยไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่เขียนให้อ่าน

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

ผมเคยให้คะแนนนักศึกษาให้ได้ A เกือบทั้งห้องด้วยแนวคิดอย่างนี้เหมือนกันครับ ยังคิดอยู่ว่ามันผ่าเหล่าผ่ากอจากคนอื่นมากไปหรือไม่ พอไปเห็นคุณครูของโรงเรียนปิยชาติพัฒนาทำและอธิบายวิธีคิดให้ฟังแล้วก็ร้องฮ๊อเลย

ที่ชอบมากอีกเรื่องหนึ่งคือห้องสมุด ห้องค้นคว้าและห้องอ่านหนังสือครับ โรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัดที่มีห้องสุมด ห้องอ่านหนังสือ และห้องศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นสัดส่วนนั้น เป็นทรัพยากรการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาความเป็นผู้เรียนรู้ให้กับนักเรียน ที่มีความหมายมากจริงๆเลยนะครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมากด้วยเช่นกันก็คือ ห้องเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งสอนโดยคุณครู ๒ คน คือครูฟิลิปปินส์กับคุณครูคนไทย สอนโดยเทคโนโลยีพื้นๆครับอาจารย์ คือ กระดานชอล์คและปากเปล่าของครู ทว่า คุณครูแบ่งนักเรียนทั้งห้องออกเป็น ๒ กลุ่ม แล้วก็เล่นเกมส์กัน ทั้งผมและกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทนานาชาติที่ไปจากมหาวิทยาลัยกัน ยืนดูแล้วก็ตะลึง สนุก ขบขัน เป็นการสอนและกระบวนการเรียนรู้ที่แสนฉลาดและปราดเปรื่องในวิธีคิดสร้างสรรค์มากจริงๆอาจารย์

เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าการสอนไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้และการทำงานงานของสมองที่เบ็ดเสร็จแข็งๆ ทว่า เป็นความรักและความริเริ่มสร้างสรรค์จากภายในของมนุษย์ที่มีพลังจริงๆ คงจะเหมือนกับในรูปที่อาจารย์เล่นกับเด็กๆนะครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ชอบตรงการเรียนรู้ที่อยู่ในวงล้อมของธรรมชาติ ห้องเรียนธรรมชาติ
  • เป็นการศึกษาเรียนรู้ที่ลงลึกถึงฐานรากของชีวิตได้
  • เจริญพร

น่าชื่นชมมากบรรยากาศสบายๆร่มรื่น สวยงามและผลที่ได้คุ้มค่าจริงๆค่ะ...

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • เป็นการศึกษาเรียนรู้ที่หยั่งลึกลงไปถึงฐานรากของชีวิตอย่างที่พระคุณเจ้าว่านี้เลยครับ รวมทั้งเป็นการศึกษาเรียนรู้ที่ลดความแปลกแยกกับฐานรากของสังคมไทย ของคนรุ่นอนาคตอีกด้วยนะครับ
  • ห้องเรียนธรรมชาติอย่างนี้ ผู้เรียนคงได้พลังชีวิตเป็นประจุแน่นอยู่ในตนเอง เติบโตไปก็คงมีความทรงจำและความอิ่มเต็มในชีวิตด้วยวิถีที่อยู่ใกล้ความเป็นธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกตนเองเลยนะครับ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก คุณครูอ้อยเล็กเห็นก็คงจะได้กำลังความคิดมากมายเลยนะครับ

สวัสดีค่ะ

  • อ่านจบลงด้วยความสุข  ที่ได้เห็นประเทศไทยมีการจัดการศึกษาแบบนี้
  • สุดยอดของเด็กแต่ละคนที่สามารถออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง 
  • ขอกลับไปอ่านอีกหลาย ๆเที่ยวค่ะ  ขอขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

P...พี่วิรัตน์เดาใจถูกจังค่ะ...ได้แนวคิดมากๆเลยค่ะ..อย่างที่เคยเรียนถามพี่อาจารย์ไว้นานแล้ว..วันนี้พี่อาจารย์ได้นำแนวทางจากการไปเยี่ยมชมและเห็นทางที่น่าจะเป็นไปได้ในอีกหลายโรงเรียนและอีกหลายสังกัด..มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน..ขอบคุณค่ะ..

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตามมาอ่านเกษตรศิลปะค่ะ

เป็นงานที่สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ได้ดีนะคะ ท่าทางเด็กๆสนุกกันจังค่ะ เรียนกับธรรมชาติ เรียนจากธรรมชาติ

มีดอกบัวมาฝากด้วยค่ะ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

                            

                           

                           

                           

การนำเอาการจัดฐานการเรียนรู้ มาจัดสวนและห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลปะ หน่วยเรียนเบ็ดเสร็จในฐานการเรียนรู้ย่อยๆ ถึง ๑๕ ฐาน บนพื้นที่ ๓-๔ ไร่ ทำให้สามารถพัฒนาการบรรลุจุดหมายการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมและแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ครอบคลุมไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรการเรียนรู้ เป็นต้นว่า ศูนย์การเรียนรู้นี้ มีคุณครูฐิติพงศ์ ชาติทอง เพียงคนเดียวเท่านั้น การใช้รูปแบบกการจัดฐานการเรียนรู้อย่างนี้ เลยกลายเป็นการแก้ปัญหาการขาดครูที่บรรลุจุดหมายการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

แล้วดูบรรยากาศการจัดกลุ่มการเรียนรู้ที่ให้วางแผนและบริหารจัดการกลุ่มกันเองด้วยละก็ เหมือนกับเป็นกลุ่มสำรวจและผจญภัยที่เหมือนกับบรรยากาศการปีนป่ายในสวนหลังบ้านซึ่งให้จิตวิญญาณและเจือลมหายใจของสังคมเกษตรกรรมมากเลยนะครับ เด็กสองคนที่พายเรือในสระน้ำนั่นก็กำลังสำรวจและหมั่นดูแลการปลูกพืชน้ำของกลุ่ม บ้านที่อยู่บนฝั่งนั้น เป็นบ้านพักครูทำเองของคุณครูผู้สอนและดูแลห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลปะ น่าสนุกและมีสีสันทั้งการเรียนรู้ของเด็กๆและการใช้ชีวิตของคุณครูดีจริงๆ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก เอารูปมาฝากน้องคุณครูอ้อยเล็กอีกนะครับ

                            

                           

                           

คุณครูอ้อยเล็กดูเขาจัดสตูดิโอกลางแจ้งให้เป็นห้องเรียนจิตรกรรมในห้องเรียนธรรมชาติให้แก่เด็กสิครับ เป็นการจัดฐานการเรียนรู้ พร้อมไปกับจัดวางให้หุ่นสำหรับเป็นฐานการเรียนรู้ฐานย่อยๆหลายฐาน ทำหน้าที่เป็นประติมากรรมจัดวางกลางแจ้ง ตบแต่งอาณาบริเวณให้มีองค์ประกอบสุนทรียภาพในแง่ของงานศิลปะได้อีกด้วย คิดและทำได้ซับซ้อนหลายชั้นดีจริงๆ

คุณครูอ้อยเล็กสังเกตหุ่นที่ติดตั้งไว้แต่ละชิ้นแล้วก็ต้องเห็นภาพและเข้าใจถึงการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ตามลำดับค่อยเป็นค่อยไปได้อย่างกระจ่างของคนทำเลยทีเดียว นับตั้งแต่การฝึกหัดเขียนรูปทรงเรขาคณิตอย่างง่ายๆซึ่งสามารถถ่ายเททักษะจากวิชาเรขาคณิตมายกระดับการศึกษาเพิ่มขึ้นในด้านความสัมพันธ์เชิงมิติ ที่ซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งไปสู่หุ่นปูประกอบสร้างการใช้รูปทรงเราขาคณิตให้เป็นการได้แนวคิดและวิธีคิดพื้นฐานสำหรับเข้าใจปริมาตรและแสงเงา ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการเห็นสรรพสิ่ง แล้วก็ค่อยๆพฒนาไปสู่หุ่นคนและหุ่นนิ่ง กระทั่งนำไปบูรณาการและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆของเกษตร-ศิลปะ อย่างผสมผสานต่อไป

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ ต้องขอบคุณคุณณัฐรดาล่ะซีครับที่เข้าไปดูรูปแล้วถามถึงเกษตร-ศิลปะ เลยทำให้คิดว่าควรจะแยกเขียนเรื่องนี้ไว้ให้กับคอศิลปะและนักศึกษาทางศิลปะ รูปดอกบัวงามจริงๆนะครับ เห็นพลังสมาธิดีจริงๆ จนคนดูก็ได้ทั้งความสวยงามและได้ความสงบนิ่งที่ส่งออกมาจากสีสันและริ้วรอยฝีแปรงไปด้วยเลยนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เห็นความตั้งใจจัดพื้นที่ให้กลายเป็นห้องเรียนกษตรศิลปะแล้วชื่นชมค่ะ

เพื่อเด็กๆโดยแท้นะคะเนี่ย

เกษตรศิลปะ หากจะมองว่าเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การวาดภาพวาดพฤกษศาสตร์ หรือภาพวาดวิทยาศาสตร์ ก็น่าจะได้ใช่มั๊ยคะอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • โรงเรียนบ้านนอกก็ทำได้นะคะ  หากมีผู้นำกล้าคิดกล้าทำ  ถ้าคิดจากผู้บริหารมีความเป็นไปสูงค่ะ  หากคิดจากครูไม่มีวันค่ะ
  • คนรวย ๆ สักคนน่าจะอุทิศตนสร้างโรงเรียนแบบนี้ให้กับสังคมบ้างนะคะ  เช่นเดียวกับโรงเรียนสัตยาไส และโรงเรียนลำปลายมาศ
  • ใกล้ ๆ โรงเรียนครูคิมมี ๑ โรงค่ะ  น่ารักมาก ๆ อยากจะขอเข้าไปช่วยราชการที่นี่ก่อนลาออกจากราชการจังค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  

น่าจะเป็นแนวให้พื้นฐานศิลปะ-พฤกษศาสตร์-และวิทยาศาสตร์ ได้เป็นอย่างดีเหมือนข้อสังเกตของคุณณัฐรดาเลยนะครับ ดูแล้วเด็กที่ชอบแนวนี้ ผมว่าคงจะมีวิธีคิด การศึกษาเรียนรู้และแนวการพัฒนาตนเองอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่เหมาะสำหรับการพัฒนาตนเองเป็นนักวาดรูปพฤษศาสตร์ นักวาดรูปทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่ไม่ใช่เป็นคนเชี่ยวชาญทางเทคนิคเฉพาะด้านอย่างเดียว ทว่า ได้รับการปลูกฝังให้พื้นฐานจิตใจ สำนึกและคุณธรรมต่อสังคม รวมทั้งการกล่อมเกลาความเป็นพลเมืองที่ไม่แยกส่วน ละเอียดอ่อน ใส่ใจการดำรงอยู่ที่กลมกลืน พอเพียงแก่ตนเอง มีดุลยภาพทั้งในตนเองกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พื้นฐานอย่างนี้ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับกระบวนทรรศน์การพัฒนาในแนวทางใหม่ๆในหลายเรื่อง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง สังคมและวัฒนธรรม จึงอาจจะดูเหมือนว่าเป็นการริเริ่มเล็กๆน้อยๆ ทว่า มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางเลือกของการพัฒนาใหม่ๆที่มีความยั่งยืนมากขึ้น และสะท้อนการพัฒนาในแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดีนะครับ

ดูตัวอย่างวิธีการอย่างที่คุณครูฐิติพงศ์ ชาติทอง สาธิตและอธิบายให้ดูนี่ ก็เห็นได้ชัดเจนเลยครับว่า กระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของผู้เรียน ต้องวางวิธีคิดกับกระบวนการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กที่ไปกันได้อย่างลงตัวของวิทยาศาสตร์ ศิลปะ กับทักษะการนำไปใช้ในชีวิตจริง ผมว่าคุณณัฐรดาก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานและมีบทเรียนจากประสบการณ์ตรงในแนวนี้อย่างดีเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

คุณครูคิมเข้ามาพอดี ผมต้องขออภัยที่เข้ามาเพิ่มรายละเอียดใน คห.๑๕ ที่คุยกับคุณณัฐรดาแล้วก็โพสต์ใหม่ พอดึงอันเก่าออก ข้อความแก้ไขเพิ่มเติมเลยอยู่ต่อจาก คห.๑๔ ของคุณครูคิม แต่ก็เป็นการสนทนาต่อเนื่องกันได้นะครับ

โรงเรียนบ้านนอกอย่างที่คุณครูคิมกล่าวถึงนั้น มีความริเริ่มที่เกิดจากการเรียนรู้และแก้ปัญหาเองอยู่อีกเป็นจำนวนมากนะครับ หลายอย่างสะท้อนภูมิปัญญาที่กลมกลืนและสนองตอบต่อเงื่อนไขแวดล้อมของท้องถิ่น แง่มุมนี้ ก็ควรให้ความสำคัญมากเหมือนกันนะครับ

แต่วิธีมองและวิธีถอดบทเรียน ดึงแง่มุมที่ให้ความบันดาลใจและให้การเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เติบโตงอกงามต่อไปนั้น ก็มีส่วนมากเหมือนกันครับ หากมีคนช่วยๆกันเรียนรู้และนำมาถ่ายทอดสื่อสารให้สังคมได้เรียนรู้ ก็จะเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงในทางเลือกใหม่ๆ ที่เป็นการริเริ่มของชุมชนและโรงเรียนบ้านนอก เพิ่มโอกาสการพัฒนาของส่วนรวมได้มากยิ่งๆขึ้น เลยก็เห็นด้วยในแนวทางหลายอย่างที่คุณครูคิมและหลายท่านก็กำลังทำนี่แหละครับ

การมีช็อบเล็กๆอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และจัดทำอะไรหลายๆอย่างได้อย่างเหมือนกับจัดนิทรรศการแสดงผลงานนี้ ทั้งครูทั้งลูกศิษย์คงเรียนกันอย่างมีความสุขเหมือนในภาพที่พี่อาจารย์เอามาฝากนะคะ...โรงเรียนนี้โชคดีจังที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆฝ่าย...ว่างๆจะไปเที่ยวชม..วันไหนพี่อาจารย์จะไปอีกอย่าลืมน้องอ้อยเล็กห้อยไปด้วยนะ..อยากไปดูจังๆค่ะ...

ดูจากการจัดวางองค์ประกอบ ออกแบบกิจกรรมและสร้างปฏิสัมพันธ์กันขององค์ประกอบต่างๆแล้ว สะท้อนการออกแบบทางความคิดและมีความแยบคายลึกซึ้งต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้มากทีเดียวครับ แต่ฟังคุณครูคุยให้กลุ่มผู้ศึกษาดูงานฟังแล้วยังไม่สาแก่ใจเลย เข้าใจว่าคงเกรงว่าคนทั่วไปจะเข้าไม่ถึงและเวลาไม่พอที่จะให้ประสบการณ์กันได้อย่างลึกซึ้ง หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นธรรมชาติของคนที่ชอบเก็บพลังให้สะท้อนลงไปที่การทำงาน ไม่ชอบคุย เลยมักคุยถ่ายทอดออกมาไม่ได้อย่างที่สะท้อนอยู่ในงาน เลยคิดว่าสักวันอยากจะไปนั่งคุยเองอีกครับ ชอบมากครับ ลูกบ้าแกเยอะดี

ผมคิดว่า แนวคิดที่สะท้อนอยู่ในงานนั้นไปไกลมากกว่าเรื่องศิลปะ-กับเกษตรกรรมในนิยามแบบทั่วไป ดูแล้วเป็นกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่พาคนให้เข้าถึงความสามารถในการมีความสุขและบรรลุอิสรภาพในชีวิตด้วยการเดินทางเข้าสู่ภายในตนเอง ชีวิตที่สามารถค้นพบความอิ่มเต็มในตนเองได้ง่ายนั้น ก็สร้างสุขภาวะให้เกิดแก่สังคมภายนอกด้วยการมีส่วนร่วมของตนเองได้มากขึ้น 

ผมได้เรียนรู้จากความเป็นจริงของสังคมอยู่เสมอว่า วิธีคิดที่บอกว่า พัฒนาตนเองและแสวงหาสิ่งต่างๆให้กับตนเองให้มากพอก่อน จึงจะสามารถแบ่งปันและดูแลส่วนรวมร่วมกับผู้อื่นได้นั้น ฟังดูมีเหตุมีผลดีมากทีเดียวนะครับ แต่ยากที่จะเป็นได้จริง เพราะในความเป็นจริงนั้น มนุษย์มีธรรมชาติที่ถมไม่เต็ม ตลอดชีวิตจึงอาจจะอุทิศให้กับการแสวงหาให้กับตนเองอย่างไม่สิ้นสุด

ในขณะที่คนซึ่งมีวิธีเรียนรู้ยกระดับภาวะภายในตนเองนั้น ต่อให้ยากจนและไร้โอกาสเพียงไหน ก็พอเพียงและอิ่มเต็ม แบ่งปันช่วยเหลือและร่วมสร้างสุขภาวะของสาธารณะกับคนอื่นได้ในทันทีทุกทีไป ผมเห็นที่โรงเรียนปิยชาติพัฒนามีวิชาช่วยทำให้เด็กค้นพบความมั่งคั่งร่ำรวยจากภายในตัวเองของคนน่ะครับ ผมเห็นเด็กพายเรือและขุดดินด้วยนะครับ ดูแล้วก็สัมผัสได้ว่าเป็นการพายเรือและขุดดินที่ออกมาจากความเป็นหนึ่งกับชีวิตจิตใจ อ๊ะ คุยเป็นสำนวนกวีรำพึงเชียวนะนี่

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • อ่านแล้วมีความสุขค่ะ และได้แนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้มากมาย
  • จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดเล็ก ๆ นะคะ แต่มากด้วยธรรมชาติ การจัดการเรียนรู้ทางธรรมชาติได้ทั้งความคิด ส่งเสริมจิตปัญญา และสุขภาพจิตดี มีจิตใจอ่อนโยนจากงานศิลปะ สุดยอดจริง ๆ ค่ะ ชื่นชมมาก ๆ ค่ะ
  • เกิดคำถามในบริบทของตัวเองแล้วล่ะค่ะ...อิ อิ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ....^_^

สวัสดีวันหยุดค่ะอาจารย์

วันก่อนแม่ชีท่านหนึ่งทราบว่าดิฉันวาดสีน้ำแนวพฤกษศาสตร์อยู่ ท่านจึงบอกว่าให้สอนท่านบ้าง ท่านกำลังทำงานเกี่ยวกับวิปัสสนาแนวใหม่ ที่ใช้ศิลปะเป็นจุดเริ่ม จึงนึกขึ้นได้ว่า ดิฉันใช้ประโยชน์จากสมาธิที่ได้จากศิลปะแขนงนี้อยู่ แต่ไม่ได้สรุปเป็นเรื่องเป็นราว แต่ท่านเห็นแนวทางแล้ว จึงคิดสานต่อให้เป็นรูปร่าง

ดิฉันเห็นว่าเชื่อมโยงกับเกษตรศิลปะได้ จึงอยากเรียบเรียงและนำมาเรียนเสนอค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่เราจะได้จากศิลปะแนวนี้โดยอัตโนมัติเมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง นั่นคือการวิปัสสนาโดยใช้จิตที่เป็นสมาธิอันได้จากวิธีธรรมชาติ (ซึ่งไม่ใช่ได้จากการบังคับเอาด้วยกรรมฐาน)

ในขณะที่ทำงานศิลปะจากการถ่ายทอด "ธรรม" คือความจริงตามธรรมชาติ ตามที่ตามองเห็น ปราศจากการแต่งเติม (สังขาร) เราย่อมต้องใช้สมาธิระดับหนึ่ง (ขณิกสมาธิ) เมื่อตัดนิวรณ์ต่างๆได้ จิตจดจ่อกับลมหายใจและอิริยาบทปัจจุบัน (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ทั้งด้านพัฒนาการทางศิลปะ และทางจิต วันหนึ่งย่อมสร้างผลงานออกมาได้ตามที่จิตหวัง

เมื่อได้งานตามที่ต้องการ คือถ่ายทอดงานศิลป์ออกมาตามธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์

ปราโมทย์เป็นองค์ธรรมเริ่มต้น ที่นำไปสู่สมาธิ (ปราโมทย์ - ปิติ - ปัสสัทธิ - สุข - สมาธิ) หากสมาธิที่ได้ครั้งหลังนี้ เป็นสมาธิที่หนาแน่นขึ้น เราสามารถใช้จิตที่เป็นสมาธิในระดับนี้ไปสอดส่องและหยิบธรรมใดธรรมหนึ่ง (ธัมวิจยะ) ขึ้นมาพิจารณาได้

ซึ่งจิตที่เป็นสมาธิระดับอุปจารสมาธิสามารถพิจารณาธรรมต่างๆได้อย่างชัดเจน หากประกอบด้วยการมีกัลยาณมิตตา จะสามารถแจ้งในธรรมนั้นๆได้

จึงเป็นผลประโยชน์อีกด้านที่ได้จากการทำงานศิลปะโดยปราศจากการปรุงแต่งค่ะ

แต่อย่างไรก็ดี ดิฉันมองว่าเป็นดาบสองคม คือในระหว่างการฝึก หากเด็กไม่ทราบเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เด็กอาจบั่นทอนจินตนาการของตนไป เพราะชินกับการถ่ายทอดความจริงตามธรรมชาติ (ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า การลอกภาพ ก็น่าจะได้มังคะ)

หรือถ้าเด็กอดทนไม่พอ (วิริยะ) ไม่รอให้การพัฒนาทางด้านฝีมือ และทางธรรม (คือไม่มีการแสวงหาความรู้ทางธรรมเพิ่มเติม ไม่มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็น ไม่มีการปรับทัศนคติให้ถูกต้องตามธรรม ไม่มีโยนิโสมนสิการ) ให้ผสมผสานกัน และก้าวล่วงนิวรณ์ไม่ได้ ก็อาจไม่บรรลุผล จนอาจละทิ้งไปได้เสียก่อน

จึงเรียนเสนอมาตามประสาตนว่างงานค่ะ

สวัสดีครับคุณสีตะวันครับ

  • การนำเอาฐานชีวิตทางด้านเกษตรกรรมมาเป็นตัวชูโรง แล้วก็หยั่งสู่ความงามด้วยวิธีการทางศิลปะ ให้เข้าถึงองค์ประกอบการพัฒนาที่บูรณาการของความงาม ความจริง และความดี และมีความเป็นองค์รวม ผสมผสานทั้งคุณค่าทางวัตถุกับจิตใจ การใช้สอยประโยชน์ของมนุษย์กับความสมดุลและยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแสวงหาความรู้จากภายนอก กับการรู้จักภาวะตนเองจากภายใน เหล่านี้ มีเค้าเงื่อนที่แนบแน่นอยู่กับความเป็นสังคมไทยอยู่แต่เดิมมากเหมือนกันครับ
  • อย่างที่มีเจ้าพระองค์หนึ่ง คือ หม่อมเจ้าสิทธิพรกฤดากร ซึ่งถือกันว่าเป็นพระบิดาเกษตรแผนใหม่ของไทย ก่อตั้งวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ที่พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ดังปัจจุบัน ก่อตั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งบุกเบิกและเป็นตัวแบบเชิงอุดมคติของสังคมหลายอย่าง โดยเฉพาะการเดินออกไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร กระทั่งตกผลึกให้บทสรุปความหมายแห่งชีวิตและสะท้อนทรรศนะต่อความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายว่า 'เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง' ก็เป็นการเรียนรู้จากของจริงจากการเป็นชีวิตเกษตรกร ที่ให้ทรรศนะพื้นฐานเกี่ยวกับ ความจริง ความดี ความงาม เชื่อมโยงให้เห็นความเป็นองค์รวมและความเป็นบูรณาการกันอยู่ของเกษตร วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และองค์ประกอบด้านคุณธรรมจริยธรรม ที่ชัดเจนมากทีเดียวครับ

                                Cimg1270

                                เมื่อใช้แนวคิดอย่างนี้ มองกลับไปยังวิถีสังคมเกษตรกรรม รวมทั้งการดำเนินชีวิต ที่มีการผลิตและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกมาจากประสบการณ์ชีวิต ก็พอจะมองเห็นบางแง่มุมของ ความมีศิลปะและความสำนึกต่อความงาม ว่าเป็นพลังชีวิตและพลังสังคมที่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆของผู้คนอยู่ด้วยเสมออีกมิติหนึ่ง ดูจากรูปคันไถข้างบนแล้ว เราก็จะเข้าใจได้มากขึ้นถึงวิธีคิดและเหตุผลของมนุษย์ในการสร้างสรรค์การผลิตว่า พลังอะไรที่ทำให้คันไถแข็งแรงและไถนาได้อย่างดีพร้อมกับต้องสวยงามอย่างที่เห็นด้วย... ธรรมชาติในความเป็นศิลปะและสุนทรียภาพภายใต้วิถีชีวิตเกษตรกรรม...เป็นคำตอบ จึงหากจะกล่าวว่า เกษตร-ศิลป์ มุ่งความนัยไปยังทั้งอาหารกายกับอาหารใจ เพื่อการหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ก็พอจะได้นะครับ อ้างอิงภาพจาก : คุณเสวก ใยอินทร์ ภาพคันไถและเครื่องมือเกษตรกรรมของชาวบ้านอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนองกลับ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/322873

  • การเกิดคำถามใหม่ๆเกี่ยวกับตนเอง เป็นงานของจิตแห่งพุทธะนะครับ เคยได้ยินครูอาจารย์ท่านให้ความรู้ประดับสติปัญญาไว้ว่า เป็นจิตที่จะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ครับ เลยขอแสดงความยินดีกับความงอกงามเล็กๆที่เกิดขึ้นครับ

สวัดีครับคุณณัฐรดาครับ

ขออนุโมทนาอย่างสุดซึ้งเลยครับที่ให้ปัญญาและความเจริญสติอย่างยิ่งนะครับ เป็นระบบ ง่าย แจ่มชัด เข้าใจเรื่องที่ลึกซึ้งทั้งสองด้านคือศิลปะกับการภาวนาได้เป็นอย่างดีครับ ตัวหนังสือคุณณัฐรดาให้อารมณ์เจริญสติภาวนาดีนะครับ

เลยขอถือโอกาสชวนเชิญท่านอื่นๆแวะไปเดินดูงานศิลปะ ที่เอาเรื่องราวชุมชนเกษตรกรและวิถีเกษตรกรรมมาเป็นเนื้อหาทดลองหาความหมายบางด้านผ่านการจัดองค์ประกอบในภาษาศิลปะดู เพื่อศึกษาวิธีเดินเข้าหาความจริงจากแง่ความงามที่จะสามารถทะลุออกไปสู่การเข้าถึงความรู้และความจริงในพรมแดนของวิทยาศาสตร์

และเมื่อเดินเข้าหาความจริงความรู้จากวิถีวิทยาศาสตร์ก็สามารถเดินทะลุออกไปถึงพรมแดนด้านสุนทรียภาพ ความงาม และความซาบซึ้งทางจิตใจ ภาพชุดนี้ผมลองทำวิจัยสร้างความรู้กับศิลปะให้ไปด้วยกันน่ะครับ

       Lotusplanting Healthyliving  

                    Warmimg

ภาพชุดนี้คุณณัฐรดาได้เห็นจนเจนตาแล้วครับ เพราะได้คุยกันมาเกือบสองปีแล้ว แต่ขอนำมาฝากท่านอื่นๆและผู้สนใจทั่วไปที่อยากเปลี่ยนอริยาบทชีวิตสักแวบให้แวะไปดูแกลลอรี่ออนไลน์ที่นี่ครับ ในหยาดเหงื่อ แรงงาน และผู้คน มีความรักและความงาม ในบล๊อก OKNation ศิลปะวิถี : เพื่อความรอบรู้ ลุ่มลึก รื่นรมย์

 อ้างอิงภาพ  :

สองภาพบนจาก ศิลปะวิถี : เพื่อความรอบรู้ ลุ่มลึก รื่นรมย์  ในบล๊อก OKNation  http://www.oknation.net/blog/silpa และ ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ศิลปะและสุนทรียภาพในชีวิตและการงาน ในบล๊อก GotoKnow http://gotoknow.org/blog/civil-learning/223609

ภาพล่าง :  ซุ้มฟางสำหรับนอนและการนั่งผิงไฟในฤดูหนาวของชาวนา ชีวิตชนบทของชาวนาและชุมชนเกษตรกรรม ใน เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะของคนหนองบัว ในบล๊อก GotoKnow http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169?page=4 และ วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในบล๊อก GotoKnow  http://gotoknow.org/file/wiratkmsr?page=15

ภาพชุดของอาจารย์งดงามเสมอ

ดูแล้วดูอีกก็ไม่เบื่อค่ะ

โดยเฉพาะ สองภาพบน เห็นความเชื่อมโยงของธรรมชาติและธรรมอย่างชัดเจนเลยค่ะ

ดิฉันเขียนมาเสียยืดยาว แต่อาจารย์อธิบายด้วยภาพเพียงภาพสองภาพ ก็ครอบคลุมหมดแล้ว

อนุโมทนาด้วยค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ ขอให้มีความสุข มีความบันดาลใจ และได้ความงอกงามเสมอจากทุกกิจกรรมของชีวิตเลยนะครับ

แอบมาชมเกษตรศิปละอีกครั้งค่ะ

สนใจจริงๆค่ะ

งานแนวที่คุณณัฐรดาทำนั้น คิดว่าก็เชื่อมโยงกับวิธีคิดเกษตร-ศิลป์มากเลยนะครับ อันที่จริงจะเป็นแนวทรรศนะที่สะท้อนความเป็นสังคมไทยในฐานะสังคมเกษตรกรรมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งเลยนะครับ เพราะการทำงานศิลปะกับวิถีชีวิืตและการทำมาหากินนั้น เป็นเนื้อหาที่สะท้อนกันและกันอย่างแยกกันไม่ออก อย่างรูปที่ผมวาดลายเส้นนั้น ก็เป็นเนื้อหาจากชุมชนและสังคมเกษตรกรรมแทบทั้งสิ้น  แทบจะเรียกได้ว่า ความเป็นสังคมเกษตรกรรมและชีวิตชุมชนเกษตรกรรมนั้น เป็นทั้งเนื้อหาและแรงบันดาลใจสำหรับการสร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับการแสดงออกทางปัญญาและความเป็นสุทรียภาพในสังคมไทยได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียวครับ อย่าว่าแต่ทางด้านการเขียนรูปเลย สาขาอื่นๆ เช่น เพลงลูกทุ่ง นาฏดนตรี ก็แทบจะเป็นเกษตร-ศิลป์อยู่ด้วยเช่นกันนะครับ เป็นแนวการทำงานที่ให้การเรียนรู้ทางสังคมไปด้วยดีมากทีเดียวครับ

e-Learning และการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างผสมผสาน
เพื่อบูรณาการประสบการณ์และมิติการเรียนรู้แบบองค์รวม

Learningartforeat3 Learningartforeat14 

ภาพซ้าย เรือนเพาะชำและลานเตรียมกลุ่มผู้เรียนใต้ร่มไม้ ด้านข้างมีห้องค้นคว้า e-Learning ให้นักเรียนเข้าไปศึกษาค้นคว้าเนื้อหาเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้ต่างๆได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความรู้และการจัดการความรู้เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ อยู่ท่ามกลางสวนสมุนไพร ทำให้ผู้เรียนได้แหล่งประสบการณ์และเกิดการจัดการความรู้อย่างผสมผสาน สนองตอบต่อการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งทางด้านทฤษฎี ของจริง และการปฏิบัติได้หลายมิติ อีกทั้งมีความเป็นองค์รวม ทั้งการได้ทักษะและกิจกรรมทางกาย การพัฒนาจิตใจ สติปัญญา สมอง ความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นชุมชน ความสำนึกต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเกิดทักษะทางด้านเทคโนโลยีที่มีการประยุกต์ใช้อย่างพอเพียงและได้การเรียนรู้ถึงความสมเหตุสมผลในการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้และแก้ปัญหาของมนุษย์

ภาพขวา เป็นการนำเอาทรัพยากรเรียนรู้ซึ่งสะท้อนภูมิปัญญาชุมชน รวมทั้งเป็นวิทยาการและเทคโนโลยีการผลิตในวิถีชีวิตของชุมชน มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาเรียนรู้

ศูนย์การเรียนรู้และห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลป์ ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา  นอกจากจัดกระบวนการเรียนรู้ผสมผสานโดยมุ่งให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ระดับปฏิบัติ และได้ประสบการณ์ตรงในการจัดการเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต การบรรลุสู่จุดหมายอย่างเป็นองค์รวม ทั้งมีความรอบด้านรอบรู้และลึกซึ้งดังกล่าว ได้มีการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ออกเป็นหน่วยประสบการณ์ย่อย ๑๕ หน่วย จากนั้น ก็นำมาเป็นกรอบในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยจัดเนื้อหาและทรัพยากร ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมต่างๆของผู้เรียน แล้วจัดวางเป็นฐานการเรียนรู้ (Learning Module)

ในฐานการเรียนรู้ต่างๆ กิจกรรมผู้เรียน ทรัพยากรการเรียน สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขและความพร้อมอันหลากหลายของผู้เรียนได้มีการจัดเตรียมไว้อย่างหลากหลายและเหมาะสม บางสิ่งเป็นการมุ่งให้ประสบการณ์ตรง ความชัดแจ้ง และความเป็นรูปธรรมของประสบการณ์เรียนรู้ เช่น การจัดฐานการเรียนรู้ให้มีของจริงได้สังเกตและทำกิจกรรม ด้วยตัวนักเรียนเอง

บางสิ่งมุ่งให้ประสบการณ์ที่รอบด้านและเสริมศักยภาพในการเข้าถึงวิทยาการและความรู้ทั้งของท้องถิ่นและของโลกด้วยการผสมผสานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็น e-Learning เข้าสู่ห้องเรียนธรรมชาติให้นักเรียนสามารถทำการศึกษาค้นคว้าร่วมกับการศึกษาจากของจริงในห้องเรียนธรรมชาติ

    หมายเหตุ :  จำนวนการจัดฐานการเรียนรู้   

รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนฐานการเรียนรู้นี้ เมื่อตอนได้ฟังจากการบรรยายและเดินชมก็ได้ทราบว่ามีจำนวน ๑๔ ฐาน แต่ตอนเดินดูป้ายให้ข้อมูลแต่ละหน่วยการเรียนรู้  ป้ายสุดท้ายก็เป็นป้ายที่ ๑๕ แสดงลำดับว่ามี ๑๕ ฐานการเรียนรู้ ส่วนรายละเอียดในแผ่นพับเกี่ยวกับห้องเรียนธรรมชาติเกษตร-ศิลป์ก็ระบุว่ามี ๑๕ ฐานการเรียนรู้ ทว่า ข้อความหายไปฐานหนึ่ง จึงมีอยู่เพียง ๑๔ ฐานหลักๆ

นอกจากนี้ในฐานการเรียนรู้ที่ ๑ และ ๒ ได้แบ่งออกเป็นฐานย่อยอีกฐานละ ๒ ฐานย่อย ดังนั้น ฐานการเรียนรู้ทั้งหมดจึงมีอยู่ ๑๖ ฐานด้วยกัน ผมจึงได้ขอข้อมูลจากคุณครูฐิติพงษ์เพิ่มมาให้ คุณครูบอกว่าหากเป็นฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมเกษตร-ศิลป์ก็มีอยู่ ๑๔ ฐานการเรียนรู้ เลยขอนำรายละเอียดมาเพิ่มเติมไว้ให้ในที่นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดหน่วยการเรียนรู้ย่อยๆที่เบ็ดเสร็จอยู่ในตนเองนั้น เราสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมได้อยู่ตลอดเวลา 

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้เรื่องเกษตรศิลป์ที่อาจารย์เขียนไว้ในความเห็นเพิ่มเติมค่ะ

  สวัสดีครับคุณณัฐรดา   มีอีกหลายแง่มุมเหมือนกันครับที่นำมาศึกษาได้ มีความสุขในวันหยุดนี้นะครับ

น่าชื่นชมท่านผอ.สรยุทธ สืบแสงอินทร์มากค่ะที่ท่านได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระดำริของสมเด็จพระเทพ

ไปดูงานที่โรงเรียนปิยชาตินี้มาปีหนึ่งพอดีเลยครับ
แต่ก็ยังจำความประทับใจผอ.ของโรงเรียน รอง ผอ.และคุณครูทุกท่านได้ครับ

มูลนิธิสยามกัมมาจลฯ ได้พาน้อง รร.เศรษฐกิจพอเพียง ไปจัดค่ายเยี่ยมชมที่นี่ หลายรุ่น ประทับใจมากค่ะ..ให้ทั้งความร่มรื่นสวยงามและประโยชน์บริโภค..

-สวัสดีครับอาจารย์..

-แวะมาเยี่ยม/ชมกิจกรรม ครับ..

-เกษตร/ศิลปะ นำมารวมกันได้อย่างลงตัว ...

-ขอบคุณครับ..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
นักศึกษาชาวต่างประเทศไปศึกษาดูงานที่นี่ ก็เป็นที่สนใจและได้ความประทับใจมากครับ

สวัสดีครับคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ
เกษตร-ศิลป์ สำหรับสังคมไทยแล้วละก็ นับว่าเป็นการบูรณาการกันที่ลงตัวและเป็นองค์ประกอบที่งดงามมากเลยละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท