อาณาจักรฮิตไตต์


อาณาจักรเก่าแก่ ที่เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

เนื้อเรื่องที่จะลงวันนี้ เป็นเรื่องราวของอาณาจักรๆ หนึ่งที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองเทียบอาณาจักรอียิปต์ ถ้าอย่างนั้น เรามาเข้าเนื้อหากันเลยดีกว่า

ฮัตไต (2,500 - 2,000 ปีก่อนคริสตกาล)

อารยธรรมแห่งแรกบนแผ่นดินอานาโตเลียได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับพัฒนาการและความเจริญรุ่งเรืองของชาวฮัตไต ชนพื้นเมืองดั้งเดิมบนที่ราบสูงอานาโตเลีย ชาวฮัตไตได้สถาปนาอาณาจักรของตนขึ้นในราวปี 2500 - 2000 ก่อนคริสตกาล ประมาณปี 2000 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรของชาวฮัตไตเริ่มเสื่อมอำนาจลง เปิดทางให้ชนต่างถิ่นเข้ามาครอบครองดินแดนอันเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวฮัตไต

ฮิตไตต์ (2,000 - 1,200 ปีก่อนคริสตกาล)

ฮิตไตต์เป็นชนเชื้อสายอินโด-ยูโรเปียน สันนิษฐานกันว่าอพยพเข้ามายังอานาโตเลียจากทางยุโรป โดยผ่านทางคอเคซัสหรือบอลข่านในราวปี 2000 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรฮัตไตกำลังเสื่อมอำนาจลง เมื่อได้เข้ามายังอานาโตเลียแล้ว ชาวฮิตไตต์ได้รับเอาวัฒนธรรมของชาวฮัตไตมาใช้ แม้แต่ชื่อของประเทศหรือดินแดนที่ชาวฮิตไตต์อาศัยก็ยังใช้ชื่อดั้งเดิมที่ชาวฮัตไตใช้เรียกชื่อประเทศตน “The land of Hatti” ชาวฮิตไตต์เป็นชนกลุ่มแรกในอานาโตเลียที่สามารถสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และเป็นปึกแผ่นในดินแดนแห่งนี้ อาณาจักรฮิตไตต์ได้เจริญรุ่งเรืองแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอานาโตเลีย และยังสามารถขยายดินแดนออกไปได้ไกลถึงเมโสโปเตเมีย การรุกรานของฮิตไตต์ต่ออาณาจักรบาบิโลนในเมโสโปเตเมียได้นำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรบาบิโลน ชาวฮิตไตต์ได้รับเอาวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา และระบบกฎหมายของบาบิโลนมาใช้

อาณาจักรฮิตไตต์เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในราวปี 1380 - 1346 ก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยพระเจ้า Suppiluliumas ที่ 1 อาณาจักรฮิตไตต์กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เทียบเคียงได้กับอาณาจักรอียิปต์ การแข่งขันกันในการแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรทั้งสองได้นำไปสู่สงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนคาเดช ในปี 1274 ก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยของพระเจ้า Muwattalis แห่งอาณาจักรฮิตไตต์ และฟาโรห์รามเสสที่ 1 แห่งอาณาจักรอียิปต์ สงครามในครั้งนี้ปรากฏว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด สงครามจึงยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาแห่งคาเดช (Treaty of Kadesh) ในปี 1269 ก่อนคริสตกาล

สนธิสัญญาแห่งคาเดช เป็นสนธิสัญญาสันติภาพที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา เนื้อหาสำคัญกล่าวถึงการสงบศึกและการแลกเปลี่ยนเชลยศึก สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ถูกจารึกในภาษาอัคคาเดียน (Akkadian) ซึ่งเป็นภาษาสากลในยุคนั้น สนธิสัญญาตัวจริงฉบับของฮิตไตต์ เชื่อกันว่า จารึกลงบนแผ่นเงิน ปัจจุบันยังหาไม่พบ แต่ได้มีการค้นพบสำเนาของจริง จารึกลงบนแผ่นดินเหนียว (Cuneiform Tablet) ค้นพบเมื่อปี 1906 ที่เมืองฮัตตูซา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของฮิตไตต์ สนธิสัญญาสันติภาพแห่งคาเดช ฉบับสำเนาของจริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันออก (Museum of Orient Art) ในพระราชวังทอปกาปี นครอิสตันบูล สนธิสัญญาฉบับของอียิปต์ถูกจารึกลงบนผนังวิหารแห่งหนึ่งในประเทศอียิปต์ องค์การสหประชาชาติได้จำลองสนธิสัญญาฉบับนี้ประดับไว้ที่ทางเข้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก

ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพดังกล่าว พระเจ้า Hattusilis ที่ 3 ของฮิตไตต์ ได้ส่งพระราชธิดามาอภิเษกสมรสกับฟาโรห์รามเสสที่ 2 แห่งอียิปต์ อาณาจักรฮิตไตต์และอียิปต์จึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติเรื่อยมาเกือบ 50 ปี จนถึงในราวปี 1190 ก่อนคริสตกาลอาณาจักร ฮิตไตต์ถูกโจมตีโดยชาวทะเล” (Sea Peoples) ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากแถบทะเลอีเจียน เมืองฮัตตูซ่า เมืองหลวงของฮิตไตต์ ถูกทำลายพร้อมกันการล่มสลายของอาณาจักรฮิตไตต์ เรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเทียบรัศมีกับอียิปต์และบาบิโลนได้ถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งในปี 1906 ได้มีการขุดค้นพบคลังเอกสารของกษัตริย์ฮิตไตต์ ที่เมืองฮัตตูซ่า อดีตอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรฮิตไตต์จึงได้ถูกเปิดเผยให้ชาวโลกได้รับทราบ นักโบราณคดีต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี จึงสามารถอ่านจารึกแผ่นดินเหนียวภาษาฮิตไตต์ (Hittite Tablet) ได้สำเร็จ (แต่ไม่ทั้งหมด)

ในปี 1987 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเมืองฮัตตูซาเป็นมรดกโลก เมืองฮัตตูซ่าตั้งอยู่บนยอดเขาที่เต็มไปด้วยโขดหิน ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้างเมืองของชาวฮิตไตต์ ชาวฮิตไตต์มีความเชื่องในเรื่องเทพเจ้าหลายองค์ เมืองหลวงของฮิตไตต์จึงเต็มไปด้วยวิหารที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่เทพเจ้าต่างๆ เมืองฮัตตูซ่าล้อมรอบไปด้วยกำแพงยาวถึง 6 กิโลเมตร ในสมัยที่ยังรุ่งเรืองเมืองฮัตตูซ่าคงจะเป็นเมืองที่ใหญ่มากเมืองหนึ่งในสมัยเมือง 3,000 ปีที่แล้วชาวฮิตไตต์คงจะเป็นชนชาติที่เก็งในด้านการสงครามมากกว่าในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม เพราะร่องรอยที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ค่อยจะมีอะไรที่บ่งบอกถึงความวิจิตรงดงามในทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมมากนัก เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับอียิปต์ ซึ่งเคยเป็นคู่อริของฮิตไตต์

ฮิตไตต์ใหม่ ( 1,200 - 800 ปีก่อนคริสตกาล)

ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรฮิตไตต์ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล อานาโตเลียเข้าสู่ยุคมืดที่ปราศจากศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นระยะเวลานานเกือบ 500 ปี อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างปี 1200-800 ก่อนคริสตกาล ได้มีการก่อตั้งอาณาจักรฮิตไตต์ใหม่ (Neo-Hittite) ขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอานาโตเลียที่ติดกับซีเรียในปัจจุบัน อาณาจักรแห่งนี้ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ในราวศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรแห่งนี้ได้ถูกโจมตีและทำลายลงโดยชาวอัสซีเรีย (Assyria)

ยุคหลังฮิตไตต์ (800-550 ปีก่อนคริสตกาล)

ในราวศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล อานาโตเลียได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งภายใต้อาณาจักรน้อยใหญ่ของชนหลายกลุ่มที่ได้อพยพเข้ามายังอานาโตเลียจากที่ต่างๆ อาณาจักรเหล่านี้ตั้งกระจัดกระจายทั่วไปในอานาโตเลีย อาณาจักรที่สำคัญที่สุดอาณาจักรหนึ่งได้แก่ อาณาจักรฟรีเจีย (Phrygia) นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชาวฟรีเจียอพยพมายังอานาโตเลียจากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปแถบลุ่มแม่น้ำดานูบในราวปี 1250 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยฮิตไตต์ ภาษาของชาวฟรีเจียคร้ายคลึงกับภาษากรีก ในระยะแรกที่อพยพเข้ามายังอานาโตเลียชาวฟรีเจียยังใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน จนกระทั่งในราวปี 738 ก่อนคริสตกาล ชาวฟรีเจียได้พัฒนาและสถาปนาอาณาจักรของตนเองขึ้น โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองกอร์เดียน (Gordion) ในภาคตะวันตกของอานาโตเลีย

อาณาจักรฟรีเจียครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคกลางฃองอานาโตเลียซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรฮิตไตต์ในบริเวณเมืองฮัตตูซา เมืองหลวงของฮิตไตต์ก็ปรากฏร่องรอยหลักฐานการก่อสร้างต่อเติมโดยชาวฟรีเจีย เมืองกอร์เดียนอดีตราชธานีของอาณาจักรฮิตไตต์ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเมืองโพลัดลี (Polatli) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงอังการาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร เมืองกอร์เดียมีขนาดเล็กกว่าเมืองฮัตตูซ่า อดีตราชธานีของฮิตไตต์มาก โบราณสถานสำคัญของเมืองกอร์เดีย คือ เนินฝังศพ (Tumulus) ซึ่งมีปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปมากกว่า 80 แห่ง ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีจะเข้าใจว่าเป็นเพียงเนินเขาธรรมดา อาณาจักรฟรีเจียเจริญรุ่งเรืองอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 100 ปีก็ล่มสลาย โดยในราวปี 650 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรฟรีเจียถูกอาณาจักรลีเดีย (Lydia) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะสันตกเฉียงใต้ของอานาโตเลียแถบทะเลอีเจียนโจมตีและทำลาย

อาณาจักรลิเดียมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองซาร์ดิส (Sardis) สันนิษฐานกันว่าชาวลิเดียเป็นลูกผสมระหว่างกรีกและชนพื้นเมืองในอานาโตเลีย อาณาจักรลิเดียเจริญรุ่งเรืองอยู่ในราวศตวรรษที่ 6-7 ก่อนคริสตกาล ในรัชกาลของพระเจ้า Croesus ซึ่งครองราชย์ในระหว่างปี 563-546 ก่อนคริสตกาล อาณาจักรลิเดียมีความเจริญมั่งคั่งอย่างมาก เนื่องจากเป็นศูนย์การค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย ชาวลิเดียเป็นชนชาติแรกที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ ซึ่งทำด้วยโลหะทองและเงินขึ้นใช้เป็นชาติแรกในโลก ความมั่งคั่งของอาณาจักรลิเดียเป็นที่ล่ำลือไปถึงอาณาจักรเปอร์เซีย พระเจ้าไซรัส (Cyrus) มหาราชแห่งเปอร์เซียได้ยกกองทัพเข้ามายังอานาโตเลีย และสามารถตีกรุงซาร์ดิส (Sardis) เมืองหลวงของอาณาจักรลิเดียได้สำเร็จในปี 546 ก่อนคริสตกาล

 

 

หมายเลขบันทึก: 254720เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท