กฤษณพงศ์ กีรติกร : การปฏิรูปการศึกษา (๒)


 

ตอนที่ ๑

          ผมขอบทความที่มองระบบการศึกษาไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน   และเห็นภาพเชิงประวัติศาสตร์ ของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาที่ดีและเก่งที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย   เอามาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้   โดยที่บทความนี้ยาวกว่า ๕๐ หน้า    จึงทยอยลงหลายตอน
          ขอชักชวนให้ค่อยๆ อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะได้ประโยชน์มาก
    

 

วิกฤติ    กระบวนทัศน์  มโนทัศน์  เพื่อการปฎิรูปการศึกษา
กฤษณพงศ์ กีรติกร


ต่อจากตอนที่ ๑


          ช่วงทศวรรษ 2540   ประเทศไทยเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์   ประเทศไทยเห็นแต่โอกาสแต่ไม่เห็นภัยคุกคามของโลกาภิวัตน์    ในกระบวนการโลกาภิวัตน์นี้   ไทยเปิดประเทศและผูกประเทศกับโลกภายนอกทั้งทางเศรษฐกิจ   การเมือง   และข้อมูลข่าวสาร   ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ   ข้อมูลข่าวสาร  เงิน  และความรู้เคลื่อนเข้าออกประเทศไทยด้วยความเร็วของแสง 
          ไทยพบวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540   นอกจากนั้นพบว่าว่าความสามารถในการแข่งขันและความสามารถเชิงเปรียบเทียบลดลง    ประเทศปรับตัวได้ช้า  เหตุผลหลักหนึ่งคือคุณภาพของคนต่ำ    สืบเนื่องจากคุณภาพการศึกษาทุกระดับตกลง  ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะถูกบีบจากด้านบนและด้านล่าง (nut cracker effect)    ด้านบนเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเซียตะวันออกที่มีความหน้าทางเทคโนโลยี  ด้านล่างเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า 
          อุดมศึกษาไทยถูกลากเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์นี้   จากมิติเศรษฐกิจและมิติการใช้ประโยชน์   อุดมศึกษาไทยก็พบว่าโลกโลกาภิวัตน์ให้ทั้งโอกาสและภัยคุกคาม   สถาบันอุดมศึกษาส่วนหนึ่งพยายามปรับตัว   แต่จำนวนมากยังไม่รู้สึกร้อนหนาว   จากมิติจิตวิญญาณสังคม  ในสองทศวรรษของ 2530 และ 2540    การเปิดของสังคม   เทคโนโลยีสารสนเทศ  และกระแสฐานของรัฐธรรมนูญปี 2540    สำนึกทางสังคมและการเมือง   ไม่ถูกผูกขาดด้วยสถาบันอุดมศึกษาต่อไป   ฐานสำนึกจิตวิญญาณสังคมเป็นสาธารณะมากขึ้น  จะเห็นได้จากเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ 2535     จนในปี 2551/2552    เห็นการต่อสู้ของตัวแทนเสื้อสองสีที่มีฐานสาธารณะ  บนของเจตนารมณ์เดียวกับทศวรรษ 2510 (โดยไม่พูดถึงตัวบุคคลและผลประโยชน์แอบแฝง)    ฝ่ายหนึ่งต้องการรัฐบาลที่จริงใจกับประชาชน  ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง  และมีความสุจริต  อีกฝ่ายหนึ่งต้องการสังคมเห็นประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงโอกาส   สิทธิประโยชน์และทรัพยากรอย่างทัดเทียม        
          ในมุมการวิเคราะห์ส่วนตัวของผม   วัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทยยังไม่นานเหมือนกับจีน  ญี่ปุ่น  หรือเกาหลี   ซึ่งมีฐานวัฒนธรรมขงจื้อที่ให้คุณค่าแก่การเรียนรู้   ที่มีมาช้านานนับพันปี  หรือการเรียนรู้ในยุโรปตั้งแต่สมัยกลาง    ผมเห็นว่าการศึกษาไทยอย่างเป็นระบบเพิ่งจะเริ่ม  ก่อนรัชกาลที่ 5   ประเทศมีโรงเรียนต่างๆ สำหรับราชกุมารและลูกหลานขุนนาง   มีการสอนหนังสือในวัดสำหรับเด็กชาย    ถ้าดูประวัติศาสตร์   การศึกษาในระบบโรงเรียนเริ่มจริงๆ ในรัชกาลที่ 5    ที่ทรงเริ่มการศึกษาเพื่อปวงชน   โรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกคือโรงเรียนวัดมหรรณพารามตั้งขึ้นเมื่อปี 2428   
          ผมจึงมองว่าคนไทยส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มเข้าสู่การศึกษาอย่างเป็นระบบมาประมาณ 120 ปี(แต่ยังไม่ถึงคนส่วนใหญ่จนอีก 60-70 ปีหลังจากนั้น   คือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ที่โรงเรียนประชาบาลเข้าถึงชนบทได้)    จากรัชกาลที่ 5  เรามีกระทรวงศึกษาธิการ  เกิดสถาบันพัฒนาข้าราชการซึ่งพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุไม่ถึงหนึ่งร้อยปี   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดตามมาหลังจากนั้นประมาณยี่สิบปี    ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมีการตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง คือด้านแพทยศาสตร์  เกษตรศาสตร์  และศิลปากร   ในทศวรรษ 2500    จัดตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคคือที่สงขลา/ปัตตานี   ขอนแก่น  และเชียงใหม่   ในยุคนั้นคนเรียนมหาวิทยาลัยได้ปริญญา   ปริญญาเบิกทางสิ่งที่อาจารย์ชัยอนันต์  สมุทวนิชเรียกว่าฐานานุภาพ(Status symbol)   คนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นคนส่วนน้อย   จบแล้วมีงานทำ   ปริญญาเป็นใบเบิกทางการมีงานทำโดยไม่มีคำถามเรื่องคุณภาพ   ปริญญาเป็นกลไกขยับฐานะทางสังคม( Social mobility)

 

 
          บทความชุดนี้เป็น master piece ด้านให้ความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย    ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จึงจะได้รับประโยชน์เต็มที่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๒

 

 

หมายเลขบันทึก: 263703เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรี่ยน ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ตามาเรียนจาก กูรู ครับ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ
  • ตามท่านอาจารย์ jj มารับความรู้จากกูรูอีกคนค่ะ
  • ได้รับความรู้เต็มเปี่ยมจริงๆ
  • เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากๆ
  • ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ

  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • อ่านจบตอนที่ ๒ แล้วค่ะ

ขอบคุณมากมาย

เข้าใจมากขึ้น

ขอบคุณครับที่ให้ความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท