ชื่นชมคณาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มช. ลุกขึ้นมาโต้แย้ง (๒)


ตอนที่ ๑

บทความเรื่อง “คุณภาพอุดมศึกษา การจัดอันดับมหาวิทยาลัย และความเป็นเลิศทางวิชาการ” โดย ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (ต่อ)

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย (Ranking Systems) และ Time Higher Education-QS: ข้อถกเถียง


          ระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัย (ranking systems) นั้นเป็นประเด็นที่จุดชนวนการถกเถียงมาตลอดยุคสมัยทั้งในต่างประเทศและในไทยเอง กำเนิดของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในยุโรปนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1865 เพื่อต้องการหาคำตอบว่า สิ่งแวดล้อมของสถาบันการศึกษานั้นมีผลต่อการสร้างสรรค์ทางปัญญามากน้อยเพียงใด ซึ่งเริ่มต้นในสายวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังสาขาต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดานับแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา (Anninos 2007) จากนั้น มีการพัฒนาระบบการจัดอันดับขึ้นมาหลากหลายแนวทาง ด้วยวิธีการ (methodologies) ที่แตกต่างกัน (อาทิ วัดจากสถานะชื่อเสียง การวิเคราะห์การอ้างอิงบทความ ผลงานของอาจารย์ สถิติต่างๆ ฯลฯ) ซึ่งใช้วัดคุณภาพทั้งในระดับสถาบัน ภาควิชา และปัจเจกบุคคล ระบบการจัดอันดับสถาบันเช่นอุดมศึกษานั้นมีความแตกต่างไปในแต่ละประเทศ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลกนั้นเพิ่งเริ่มมีขึ้นในปีค.ศ. 2003 แต่กลับมีอานุภาพมหาศาลที่ทั้งสะกดมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้เดินตามและทั้งกลับกลายเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

Note: ระบบการจัดอันดับที่ใช้วัดระดับมหาบัณฑิตศึกษา หรือสาขาวิชาเฉพาะไม่รวมอยู่ในตารางนี้ 
 

          ความแพร่หลายของระบบการจัดอันดับ และการที่มหาวิทยาลัยจำนวนมากเข้าร่วมในการจัดอันดับดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดงานศึกษาเปรียบเทียบระบบต่างๆ ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผล เกณฑ์ที่ใช้ เนื้อหา น้ำหนัก ตลอดจนความเป็นภววิสัยของการจัดอันดับประเภทต่างๆขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระบบการจัดอันดับได้กลายเป็นเครื่องมือที่มหาวิทยาลัยใช้ในการดึงดูดสาธารณชนและนักศึกษาเพื่อเข้ามาเรียนในสถาบันของตน

          Anninos (2007) ได้ประมวลงานศึกษาที่เปรียบเทียบระบบการจัดอันดับ 19 ระบบที่ใช้ในมหาวิทยาลัยทั่วโลกจำนวนมาก ซึ่งต่างก็ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของระบบต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย (โปรดดูตัวอย่างงานศึกษาและข้อวิจารณ์ในภาคผนวก) และนำไปสู่ข้อสรุปว่า การที่จะสร้างระบบการจัดอันดับที่เป็นสากลขึ้นมาเพื่อปรับใช้ในบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศและสามารถที่จะใช้เป็นข้อมูลที่เปรียบเทียบในระดับสากลนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก โดย Anninos เห็นว่า ระบบการจัดอันดับนั้นควรมีลักษณะที่เป็นพลวัตและปรับเปลี่ยนตามบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคมและสภาพแวดล้อมของอุดมศึกษาอยู่เสมอ แต่เท่าที่เป็นอยู่ ตัวระบบการจัดอันดับที่มีอยู่ประเภทต่างๆ นั้นไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสถาบันการศึกษา ขณะที่ Merisotis (2002) เห็นว่า ก่อนที่จะพัฒนาระบบการประเมินใดๆ ของมหาวิทยาลัย ควรจะมีการกำหนดเสียก่อนว่าเนื้อหาและความหมายของคุณภาพในระดับอุดมศึกษานั้นคืออะไร เพื่อจะได้แน่ใจว่าอะไรที่มีความสำคัญ และสำคัญสำหรับใคร และการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยนั้นไม่อาจวางอยู่บนระบบการจัดอันดับเพียงอย่างเดียวได้

          สำหรับในไทยนั้น ความพยายามในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่งริเริ่มอย่างเป็นทางการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการนับแต่ปีพ.ศ. 2549 ก็ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยไปกว่าในต่างประเทศ ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือ ตัวชี้วัดที่เลือกใช้ ความโน้มเอียงในการสร้างมาตรวัดที่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในสายวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะแพทย์ศาสตร์ และไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ศาสตร์ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิจิตรศิลป์ ตลอดจนการไม่คำนึงถึงปัจจัยความไม่เท่าเทียมกันของมหาวิทยาลัยที่ต่างกันทั้งในแง่งบประมาณและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

          ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ในการตอบสนองต่อการวิพากษ์ดังกล่าวนับแต่ปีค.ศ. 2549 เป็นต้นมา สกอ.ได้ปรับกระบวนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยหรือพัฒนากลไกอื่นๆ เพื่อทำให้การประเมินคุณภาพอุดมศึกษามีความรอบด้านและเป็นธรรมมากขึ้นหรือไม่อย่างไร แต่การหันกลับไปยึดถือระบบการจัดอันดับโดย Time Higher Education-QS เป็นมาตรฐานหลักเพื่อนำมหาวิทยาลัยไทยเข้าสู่ระบบการแข่งขันโลกนั้นไม่น่าจะตอบคำถามข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีขึ้นก่อนหน้านี้

          Time Higher Education-QS World University Rankings นั้นเป็นระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในโลก ที่มีการตีพิมพ์ในวารสารประจำปี ซึ่งแสดง 200 อันดับของมหาวิทยาลัยสุดยอดของโลก โดยพิจารณาจาก 1.คุณภาพของงานวิจัย (Research Quality) 2. ความสามารถในการถูกจ้างงานของบัณฑิต (Graduate Employability) 3.ภาพลำษณ์ในระดับสากล (International Outlook) และ 4.คุณภาพของการสอน (Teaching Outlook) โดยมีเกณฑ์ในการจัดอันดับดังนี้ คือ
น้ำหนักของการจัดอันดับ:

• Peer Review Score (40%)
• Recruiter Review (10%)
• International Faculty Score (5%)
• International Students Score (5%)
• Faculty/Student Score (20%)
• Citations/Faculty Score (20%)

(โปรดดูรายละเอียดของตัวชี้วัดแต่ละประเภทในภาคผนวก 2)

 

ข้อวิพากษ์ในระดับสากล

          แม้ว่าระบบการจัดอันดับของ THE-QS จะได้รับการยกย่องว่ามีความละเอียดอ่อนและรอบด้าน แต่ก็เช่นเดียวกับระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสากลประเภทอื่นๆ THE-QS ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงข้อบกพร่องในหลากหลายประเด็น นับตั้งแต่การให้น้ำหนักกับ peer review มากเกินไปถึงร้อยละ 40 ของคะแนนทั้งหมด ตลอดจนวิธีการที่ใช้ในการเก็บข้อมูล น้ำหนักที่ลำเอียง และการไม่สะท้อนคุณภาพหรือเนื้อหาของมหาวิทยาลัย

         Simon Marginson (2007) ศาสตราจารย์ทางด้านอุดมศึกษาจาก Centre for the Study of Higher Education มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการจัดอันดับของ Shanghai Jiao Tong- SJT แล้ว THE-QS มีเป้าประสงค์ที่ค่อนข้างแตกต่างจาก SJT  กล่าวคือ ต้องการจัดอันดับด้วยเกณฑ์ที่มีความเป็นองค์รวมมากกว่า ดังนั้น ครึ่งหนึ่งของตัวบ่งชี้ (indicators) ของ THE-QS จึงประกอบไปด้วยเกณฑ์ว่าด้วยสถานะและชื่อเสียง (reputation) กล่าวคือ 40% ของคะแนนนั้นมาจากการสำรวจชื่อเสียงของสถาบันในหมู่สถาบันวิชาการด้วยกันเอง (peer review) และอีก 10 % มาจากการสำรวจนายจ้างในระดับโลก ซึ่งมีตัวชี้วัดความเป็นนานาชาติอยู่ 2 ชนิด คือ สัดส่วนของนักศึกษานานาชาติ (5 %) และสัดส่วนของอาจารย์ (5 %) และอีก 20% มาจากอัตราส่วนของนักศึกษาต่ออาจารย์ ซึ่งเป็นตัวแทนในการวัดคุณภาพการสอน ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นการวัดเชิงวิจัยโดยดูจากสัดส่วนของงานที่ถูกอ้างอิงของอาจารย์ แต่ Marginson (2007) กลับเห็นว่า ในเชิงวิธีวิทยาแล้ว THE มีข้อบกพร่องอย่างมากมาย ไม่ว่า จะเป็นวิธีการทำวิจัย ทั้งนี้ ไม่เป็นที่เปิดเผยว่าใครเป็นผู้ทำการสำรวจ หรือถูกสำรวจในระบบการจัดอันดับของ the Times  และคำถามที่ใช้นั้นคืออะไร ซึ่งในแง่นี้ การเปลี่ยนตัวเลือกเพียงเล็กน้อยย่อมส่งผลให้ข้อมูลที่ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และทั้งนี้ ข้อมูลยังถูกจัดแต่ง (manipulated) ได้โดยง่ายอีกด้วย 

          จากข้อมูลของ QS Marketing ที่ทำวิจัยการตลาดให้กับ THE-QS การสำรวจนั้นเก็บจากอีเมล์ (email) ตอบรับเพียง 1 % จากจำนวนอีเมล์ที่ส่งออกไป 200,000 ฉบับทั่วโลก ซึ่งจำนวนไม่น้อยขาดความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะใช้เป็นข้อมูลได้ ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ THE-QS ให้น้ำหนักของคำตอบส่วนใหญ่กับประเทศที่สถาบันที่ให้ความเห็น (academic peers) ซึ่งรู้จัก THE-QS เป็นอย่างดี (เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และอื่นๆ) และไม่มีการ re-weighted เพื่อทำให้เกิดความสม่ำเสมอในระดับโลก ซึ่งก็เป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาจากจำนวนร้อยละเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของคำตอบที่ได้รับ ผลการสำรวจจึงมีลักษณะที่ลำเอียงอย่างเห็นได้ชัด

          ข้ออ่อนอื่นๆ ยังได้แก่ ตัวชี้วัดว่าด้วยความเป็นนานาชาติของนักศึกษา ซึ่งสนใจแต่จำนวน แต่ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของหลักสูตรหรือการบริการทางวิชาการ หรือ คุณภาพของตัวนักศึกษาเอง  ส่วนวิธีการวัดคุณภาพของการเรียนการสอนก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจวัดได้เพียงพิจารณาจากสัดส่วนของนักศึกษาต่ออาจารย์ และ THE-QS ให้ความสำคัญกับด้านการตลาดของมหาวิทยาลัยมากเสียกว่าตัวงานวิจัยเอง ซึ่งแนวทางดังกล่าวไปด้วยกันได้ดีกับนโยบายและวงจรการตลาดของประเทศในโลกตะวันตกเช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย แต่กลับขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดสำคัญพื้นฐานว่าด้วยคุณภาพของมหาวิทยาลัยในยุโรป เอเชีย สหรัฐอเมริกาและแคนาดา 

          นักวิชาการอื่นๆ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอนและผันผวนสูงของการจัดอันดับของ THE-QS 1   และมักเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญปีต่อปี ความไม่ชัดเจนในการเลือกกลุ่มตัวอย่างของ peer review การไม่ให้ความใส่ใจต่อรางวัลสำคัญ (เช่น Nobel Prize) หรือผลงานทางการวิจัยระดับโลกที่มหาวิทยาลัยผลิต แม้ว่านับตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 เป็นต้น THE-QS จะได้พยายามเปลี่ยนวิธีการสำรวจและเก็บข้อมูลอันเป็นการตอบรับกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่มี แต่การเน้นที่ peer review ยังคงให้น้ำหนักสูง และด้วยวิธีการที่ยังขาดมาตรฐาน นอกจากนี้ ข้อวิจารณ์สำคัญยังมีต่อการใช้ฐานข้อมูลอ้างอิง (citation database) ซึ่งมีความโน้มเอียงในการใช้ฐานข้อมูลในสายวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ (http://en.wikipedia.org/wiki/Times_Hig her_Education-QS_World_University _ Rankings)  และหากสืบค้นต่อถึงปัญหาอื่นๆ ของ THE-QS แล้วจะพบว่าข้อคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ นั้นในชุมชนวิชาการนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก  อาทิ
 

“The Times Ranking relies too much on biased data such as peer and  employer review (very limited in number and scope, I mean, academics can  only name on average 13 universities when asked to name 30...), and on the  assumption that international staff and student bodies are direct indicators of  university excellence because they choose to go there (incorrect, since  international people are much more prone to going to English-speaking  institutions).”
“The rankings WCUs by THES-QS 2004-2009 were not comprehensive rankings for reflections of real quality. Many universities were missed to the top 200 in 2008, but they've leapfrogged, and highly improvement between 2008, and 2009; i.e., Keio univ was ranked no. 214 [THES 2008], and it's ranked to no. 142 [THES 2009]. Keio U. was improved and changed 72 position in one year. University of Bergen in Norway leapfrogged from 227[2008] to 144[2009], it’s changed 83 position??? and so on. In Thailand, Chulalongkorn U. improved position by leapfrogging 28 places [from 166 in 2008 to 138 place]. Mahidol U., an apex research university, the best university in Thailand [Asian University Ranking by THES-QS 2009], was missed by THES-QS 2009 [released on 8 Oct]. My suggestions are: 1) Berlin Principles by the International Ranking Expert Group[IREG] should adopt for THES-QS 2010+ 2) Try to get rid of stereotyping, and political issues of rankings in all dimensions to enhance more quality, validity, and accountability of the rankings”
“Despite over 17,000 HE institutions worldwide, there is a near-obsession  with the status of the top 100 universities. None of these are in Africa or South America.”
 “Rankings based on citations best record the bio-sciences, making the arts,  humanities and social sciences vulnerable. Professional disciplines, such as  engineering, business and education, which do not have a strong tradition of  peer-reviewed publications, are also under pressure.”
“Rankings have placed a new premium on status and reputation, with a strong bias towards long-established and well-endowed institutions, usually with medical schools, in developed countries. This system makes it impossible for developing country universities to compete with the big players in the United States or Europe. The gap between elite and mass education and between universities in the developed and developing world is likely to widen.”
“One particular problem is that rankings perpetuate a single definition of quality at a time when HE institutions, and their missions, are diversifying. By focusing primarily on research intensity, other dimensions, such as teaching  and learning, community engagement, third mission and innovation, and social and economic impact are ignored.
“In addition, HE institutions are complex organizations with strengths and weaknesses across various departments and activities. Excellence can be defined differently depending upon the criteria or indicators/weightings which are used. By aggregating the score across the various indicators, rankings reduce the complexity of higher education to a single digit score, and  exaggerate differences.”


 

1 Results have been highly volatile. There have been many sharp rises and falls, especially in the second half of the THES top 200 where small differences in metrics can generate large rankings effects. Fudan in China has oscillated between 72 and 195, RMIT in Australia between 55 and 146. In the US, Emory has risen from 173 to 56 and Purdue fell from 59 to 127.”


 

          ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อ THE-QS ตลอดจนระบบการจัดอันดับโดยรวมมาจากมุมมองและจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าความเห็นต่างๆ นี้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็ตามที ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากความคิดเห็นเหล่านี้ คือ ระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในแบบที่เป็นนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามได้ละเลยมิติด้านคุณภาพ จิตวิญญาณของอุดมศึกษา และพันธกิจที่มีต่อสังคมและชุมชนที่สถาบันการศึกษาตั้งอยู่ โดยลดทอนคุณค่าและความหมายของการศึกษาลงเหลือเพียง “แผนการตลาด” เพื่อการแข่งขันกัน สร้างแรงดึงดูดใจให้แก่ลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้ ด้วยการทึกทักเอาว่า ความเป็นสุดยอดของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในโลก คุณภาพของการศึกษาและงานวิชาการและความต้องการของนักศึกษานั้นเป็นสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ ระบบที่เป็นอยู่ยัง “เหมารวม” ว่าศาสตร์ในทุกสาขา สามารถถูกนำมาวัดความเป็นเลิศด้วยมาตรวัดอันเดียวกันที่เป็นสากลได้โดยปราศจากอคติและความลำเอียง

ว่าด้วยทางเลือก
           ความอึดอัดคับข้องใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่เป็นอยู่ได้นำไปสู่ความพยายามจากหลากหลายสถาบันและองค์กรในการสร้างระบบเปรียบเทียบระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยเกณฑ์ที่มีเนื้อหาสาระและมีความละเอียดอ่อนต่อเป้าหมายและคุณลักษณะของศาสตร์ที่แตกต่างกัน ตลอดจนการคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันวิชาการและสังคมชุมชน ในที่นี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความพยายามจาก 2 กรณี คือ แนวทางจัดอันดับทางเลือกจากประเทศเยอรมนี และระบบที่เสนอโดย Washington Monthly

The German alternative 
          ศูนย์การพัฒนาการอุดมศึกษา (The Centre for Higher Education Development (CHE) และหน่วยบริการวิชาการเยอรมัน (The German Academic Exchange Service) และสำนักพิมพ์ Die Zeit ในเยอรมนี ได้พัฒนาแนวทางในการเปรียบเทียบการดำเนินการของอุดมศึกษาซึ่งได้รับการยอมรับจากสาธารณชน นักศึกษา รัฐ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย และปัจจุบันคลังข้อมูลของ CHE ได้ขยายไปยังสวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์และแฟลนเดอร์ และเบลเยียมในส่วนที่ใช้ภาษาเยอรมัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นว่า ระบบของ CHE นั้นน่าจะได้รับการพัฒนาเข้าสู่ระบบของยุโรป
          CHE นั้นสำรวจนักศึกษาจำนวน 130,000 คน และอาจารย์ 16,000 คนจาก 250 สถาบัน โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์และความพึงพอใจของนักศึกษา และข้อแนะนำจากนักวิชาการที่มีต่อตำแหน่งแห่งที่ที่ดีที่สุดในศาสตร์สาขาต่างๆ โดยวางจุดเน้นไว้ในศาสตร์จำนวน 36 สาขาที่มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ CHE ยังได้เสริมข้อมูลเอกเทศจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันวิชาการในสัดส่วน 1 ใน 3 การจัดอันดับของ CHE ตามสาขาวิชานั้นใช้ตัวชี้วัดที่แยกออกจากกัน ทั้งในแง่คุณภาพวิชาการและบริการทางวิชาการ และแยกแยะระดับของอันดับเป็นสามส่วน (top third, middle third หรือ bottom third) โดยปฏิเสธที่จะรวมเอาตัวชี้วัดต่างๆ เข้าเป็นตัวชี้วัดเดี่ยว ไม่ว่า จะเป็นในกรณีรายสาขา หรือรายสถาบันก็ตาม
          CHE เสนอว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีมหาวิทยาลัยสุดยอดมหาวิทยาลัยเดียวที่ดีที่สุดในทุกๆ สาขาวิชาการ และความแตกต่างเพียงเล็กน้อย (ระหว่างสถาบัน) ที่เกิดจากการผกผันแบบสุ่มจากการสำรวจเพื่อจัดอันดับอาจทำให้เกิดการตีความผิดว่า เป็นความแตกต่างอย่างสำคัญ CHE ยังเห็นอีกว่า นักศึกษานั้นมีความต้องการที่แตกต่างกันทั้งในแง่เป้าหมายและพันธะหน้าที่ ข้อมูลของ CHE นั้นผลิตขึ้นและเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษาและสาธารณะผ่านระบบเว็บไซต์ ผู้ใดที่อยากตรวจสอบข้อมูลการเปรียบเทียบ สามารถเลือกสาขาวิชาการและบริการวิชาการที่ตนเองสนใจและทำการจัดน้ำหนักการจัดอันดับด้วยตัวเอง 
          แนวทางแบบ CHE นั้นแสดงให้เห็นถึงปัญหา 3 ประการที่ดำรงอยู่ในระบบการจัดอันดับที่เป็นอยู่ กล่าวคือ ความผิดพลาดของตัวชี้วัดเรื่องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ปัญหาด้านเทคนิคในการสร้างตัวบ่งชี้และตัวชี้วัด และความต้องการในข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการสอนและการเรียนรู้ โดยหลีกเลี่ยงการตกหลุมพรางเรื่องการสร้างและผลของการสร้างตัวชี้วัดเรื่องชื่อเสียงภายใต้ระบบตารางเรียงลำดับ รวมทั้งยังใช้ระบบหลายวัตถุประสงค์เป็นเกณฑ์ แม้ว่าการจัดอันดับแบบ CHE จะมีขอบข่ายของการเปรียบเทียบที่ยังจำกัดอยู่ในการประเมินของนักศึกษา แต่นับได้ว่าเป็นการพยายามย้ายศูนย์กลางอำนาจในกระบวนการเปรียบเทียบจากหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยไปยังผู้ใช้ (user) ของการอุดมศึกษา และเป็นการเปรียบเทียบที่มีศูนย์กลางที่นักศึกษา (student-centered comparison) และมีประโยชน์ต่อผู้ใช้มากกว่าระบบแบบ THE-QS หรือกระทั่ง Shanghai Jiao Tong- SJT (สรุปความจาก Marginson 2007)

Washington Monthly alternative
          นิตยสาร Washington Monthly -WM ของสหรัฐอเมริกานั้นได้พัฒนาระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศที่ค่อนข้างแตกต่างและด้วยมุมมองอุดมศึกษาที่ไม่ยอมดำเนินรอยตามหน่วยงานอิทธิพลกระแสหลัก ทั้งนี้ โดยใช้เกณฑ์ในการวัดจากคุณูปการที่มีต่อสังคม (public good) ในสามมิติด้วยกัน คือ การเลื่อนสถานะทางสังคม--Social Mobility (การรับนักศึกษาและจำนวนนักศึกษาที่จบที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่รายได้ต่ำ)  วิจัย--Research (ผลิตงานวิชาการแถวหน้าและดุษฎีบัณฑิต)และ บริการ--Service (สนับสนุนให้นักศึกษาคืนประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ) WM นั้นให้น้ำหนักกับตัวชี้วัดทั้งสามเท่าๆ กัน ขณะที่แต่ละตัวชี้วัดนั้นมีองค์ประกอบหลายๆ องค์ประกอบ เช่น ในเรื่องการวิจัย WM ใช้ 5 องค์ประกอบในการพิจารณา อาทิ จำนวนเงินที่ใช้ในการสนับสนุนการวิจัยของสถาบัน จำนวนปริญญาเอกในวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่จบของสถาบัน จำนวนศิษย์เก่าของสถาบันที่ได้รับปริญญาเอกในสาขาวิชาต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของสถาบัน จำนวนของอาจารย์ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติโดยเปรียบเทียบกับขนาดของสถาบัน และจำนวนของอาจารย์ใน National Academies โดยเปรียบเทียบกับจำนวนของอาจารย์เต็มเวลา ในส่วนของบริการสังคม พิจารณาจากขนาดของโครงการฝึกอบรม Army and Navy Reserve Officer Training Corps เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบัน จำนวนของศิษย์ที่เข้าทำงานกับองค์กรอาสาสมัคร Peace Corps โดยเปรียบเทียบกับขนาดของสถาบัน และร้อยละของทุน Federal work-study grant ที่ใช้ไปในโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริการชุมชน  ขณะที่ตัวชี้วัดเรื่อง “การเลื่อนสถานะทางสังคม” พิจารณาจากจำนวนนักศึกษาที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน โดยใช้ตัวเลขนักศึกษาที่ได้รับทุนจาก Pell Grant เป็นสำคัญ
          แม้ว่าระบบการจัดอันดับและวิธีการเลือกตัวชี้วัดของ WM จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ถึงความเหมาะสม และความเป็นตัวแทนขององค์ประกอบของตัวชี้วัดต่างๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ข้อเสนอในการจัดอันดับที่เสนอโดย WM นั้น น่าจะเป็นตัวอย่างที่เปิดมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษา ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ “การแข่งขันในตลาด” เพื่อสร้างความร่ำรวยหรือชื่อเสียงเท่านั้น หากแต่วางอยู่บนคุณูปการที่อุดมศึกษาพึงมีต่อสังคม โดยเฉพาะกลุ่มชนที่ด้อยโอกาสในสังคมที่สถาบันการศึกษานั้นได้ดำรงอยู่

ตัวอย่าง National University Ranking (http://www.washingtonmonthly.com/college_guide/rankings/national_university_rank.php
  

ตัวอย่างการจัดลำดับใน Liberal Arts Colleges ranking (http://www.washingtonmonthly.com/college_guide/rankings/liberal_arts_rank.php)

 


มีต่อ

วิจารณ์ พานิช
๑๑ ธ.ค. ๕๒

ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

หมายเลขบันทึก: 320435เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท