สภามหาวิทยาลัยมหิดลเยี่ยมชื่นชมบัณฑิตวิทยาลัย



          วันที่ ๒๒ เม.ย. ๕๓ ผมตกใจมากที่ได้รับทราบว่าจำนวนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬาฯ มีถึงกว่า ๑๓,๐๐๐ คน   และของมหิดลมีกว่า ๖,๐๐๐ คน   มช. กว่า ๙,๐๐๐ คน   แสดงว่ามหาวิทยาลัยไทยจำนวนหนึ่งได้ทำหน้าที่สร้างคนระดับหลังปริญญาตรีให้แก่ประเทศอย่างน่าชื่นชมยิ่ง   โดยที่ประเด็นท้าทายคือคุณภาพ 

 

          อุดมศึกษาไทยกำลังอยู่ในระยะของการพัฒนาสู่ สภาพที่ระบบมี self-reliance / self-sustainability ในระดับหนึ่ง   ซึ่งหมายความว่า เรามีขีดความสามารถในการสร้างอาจารย์รุ่นใหม่คุณภาพสูงของเราเองได้   โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินส่งไปเรียนในต่างประเทศ     

          อ่านเอกสารสรุปการดำเนินงานของบัณฑิตวิทยาลัยได้ที่นี่    และดู ppt ที่ท่านคณบดี ศ. นพ. บรรจง มไหศวริยะ นำเสนอต่อคณะผู้ไปเยี่ยมชื่นชมได้ที่นี่

          เห็นได้ชัดเจนว่า บัณฑิตวิทยาลัย คือกลไกจัดการคุณภาพของบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างแท้จริง   เป็นปัจจัยบวก ไม่ใช่ปัจจัยลบหรือตัวบั่นทอน   และการจัดการให้เกิดการเรียนรู้และปลูกฝังด้านจริยธรรมวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง   ผมชื่นชมความเอาจริงเอาจังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมวิชาการที่ท่านคณบดีนำเสนอ เป็นอย่างยิ่ง  

 

          ผมจำได้ว่า เมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อน   เกิดกระแสว่าควรยุบบัณฑิตวิทยาลัย   เพราะเป็นปัจจัยลบ ไม่ใช่ปัจจัยบวก   คือเป็น “อำมาตยาธิปไตย” (bureaucracy) ที่ไม่มีการสร้างคุณค่าเพิ่ม   จากที่คณะ/ภาควิชา เขาทำกันอยู่แล้ว   แต่มาเห็นการดำเนินการของบัณฑิตวิทยาลัย ม. มหิดล   เห็นคุณค่าเพิ่มด้านการจัดการคุณภาพอย่างชัดเจน น่าชื่นชมมาก  

 

         บัณฑิตวิทยาลัยเป็นกลไกสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ

 

         นี่คือการจัดการมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ที่ถือเป็นตัวอย่างได้

          นโยบายของมหาวิทยาลัยคือ ไม่มีการเปิดหลักสูตรแอบอ้างหาเงินเป็นเป้าหมายหลักแต่อ้างเหตุผลอื่น   เป้าหมายของบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายเดียวคือสร้างสรรค์นักวิชาการ และสร้างสรรคืผลงานวิชาการ/วิจัย  

         มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ต้องการหาเงินจากการจัดหลักสูตรใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาเข้ากระเป๋ามหาวิทยาลัย หรือเข้ากระเป๋าส่วนบุคคล   เราจะระแวดระวังไม่ให้มีการหลุดรอดนโยบายนี้ไป  

          ดังนั้น การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหิดลเมื่อเทียบกับคุณภาพแล้ว   ค่าเล่าเรียนถูกกว่าทื่อื่นมาก   เพราะเราคิดว่ากำไรของกิจการนี้ไม่ใช่เงิน แต่เป็น “ปัญญา” ที่เพิ่มพูนขึ้นในตัวบัณฑิต และในประชาคมหิดล     

          การนำเสนอของ ผศ. ดร. ศิริพร แย้มนิล เรื่องการพัฒนาบุคลากร (ซึ่งมี ๒๐๐ คนเศษ) โดยใช้เทคนิคการจัดการ HRD / OD สมัยใหม่ น่าชื่นชมมาก   ผมจึงขอ ppt มาให้ผู้สนใจ ดูได้ที่นี่    และการนำเสนอเรื่องกิจกรรมนักศึกษา โดย อ. สมบัติ รองคณบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาและประกันคุณภาพ ร่วมกับนักศึกษา ก็น่าประทับใจมาก   ในการพัฒนาจิตอาสาหรือจิตสำนึกต่อบ้านเมือง/ชุมชน ให้แก่นักศึกษา   ผมจึงนำ ppt ที่ใช้นำเสนอมาลงไว้ที่นี่ 

 

         ผมชื่นใจที่ได้ประจักษ์ชัด   ว่าบัณฑิตวิทยาลัยกำลังทำหน้าที่ขับเคลื่อนความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ร่วมกับคณะต่างๆ อย่างคึกคักเข้มข้น

 

 

วิจารณ์ พานิช
๙ พ.ค. ๕๓
             
        

หมายเลขบันทึก: 359523เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2010 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท