วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๓. จินตนาการชีวิตนักวิชาการรับใช้สังคมไทย



ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒

 

          ชีวิตของนักวิชาการสายรับใช้สังคมไทยน่าจะทำงานอยู่ในสถานที่ทำงาน กับในสถาบันวิชาการ ประมาณอย่างละครึ่ง   มีความใกล้ชิดและเข้าใจวัฒนธรรมของทั้งที่ทำงาน และวัฒนธรรมวิชาการ    สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องทั้งกับคนทำงาน และกับนักวิชาการ 

           ผมมองว่าใน ๑๐ ปีข้างหน้า นักวิชาการสายพันธุ์นี้จะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ ๖๐ ขึ้นไป ของประชากรอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย 

          นักวิชาการกลุ่มนี้ทำงานวิชาการแบบเข้าไปทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้เคียงบ่าเคียงใหล่ อย่างเท่าเทียมกันกับชาวบ้าน กับคนในบริษัท ในโรงงาน กับหน่วยราชการ กับองค์กรไม่ค้ากำไร และในบริบทอื่นๆ   ในลักษณะที่เป็น interactive learning through action   คือเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกัน และเรียนรู้ร่วมกัน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ไม่ใช่เอาความรู้ไปช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ใช่ไปสอนชาวบ้าน ไม่ใช่ไปถ่ายทอดความรู้หรือเทคโนโลยีให้ชาวบ้าน   คือไม่ทำตัวเป็น “ผู้รู้”   แต่ทำตัวเป็น “ผู้เรียนรู้”   เข้าไปร่วมเรียนรู้กับ “ภาคชีวิตจริง” (real sector)

          นักวิชาการรู้มากกว่าในเชิงทฤษฎี   แต่ผู้ปฏิบัติงานรู้มากกว่าในเชิงปฏิบัติ   นักวิชาการไปร่วมทำงานกับฝ่ายปฏิบัติ   แล้วตั้งวง ลปรร. หรือ AAR กัน   จะเกิดความเข้าใจปัจจัยที่ช่วยให้ทำงานได้คุณภาพสูงขึ้น มีประสิทธิผล หรือประสิทธิภาพมากขึ้น   และนักวิชาการจะเอาความรู้เชิงทฤษฎีเข้าไปเสริมให้แก่ผู้ปฏิบัติแบบไม่ใช่สอน   แต่แบบ ลปรร. กัน ด้วยท่าทีของคนเสมอกัน   ผู้ปฏิบัติจะได้ความรู้ทฤษฎีสำหรับนำมาใช้ทำ CQI ของตน   นักวิชาการเก็บประเด็นโจทย์วิจัยเอาไปทำวิจัยต่อ   ได้ผลวิจัยอย่างไร ก็ทดสอบการประยุกต์ใช้โดยเอามาตีความผลที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มทำ CQI ของผู้ปฏิบัติงาน  

          ทำเป็นวงจรต่อเนื่อง จะเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างการทำงานกับการปฏิบัติวิชาการ/วิจัย ในสายวิชาการรับใช้สังคมไทย   จนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

          นักวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานของตนใน PLoT (Public Library of Thailand) ซึ่งมีหลายสายวิชาการประยุกต์    ซึ่งจะต้องช่วยกันคิดว่าจะจัดหมวดหมู่อย่างไร   ที่สำคัญคือต้องไม่ใช่สายวิชาการตามแนววิชาการนานาชาติ ที่เน้นสาขาวิชาการเป็นหลัก   PLoT น่าจะเน้นบริบทของการประยุกต์ใช้เป็นหลัก  

          PLoT จะช่วยประกาศเกียรติคุณหรือความสามารถของนักวิชาการท่านนั้นๆ ให้ฝ่าย “ผู้ใช้” ได้รับทราบ   และประกาศผลสำเร็จของผลงานวิชาการให้สังคมรับทราบ   จนต้นสังกัดของนักวิชาการท่านนั้นมั่นใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเลื่อนตำแหน่งวิชาการ หรือเลื่อนฐานะทางวิชาการในรูปแบบอื่นให้   ก็จะให้เจ้าหน้าที่รวบรวมผลงานและหลักฐาน societal impact จาก PLoT สำหรับเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ   และสำหรับให้ความมั่นใจต่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่ peer review ของผลงานนั้น 

          ตอนจะตีพิมพ์ใน PLoT ก็มี peer review ต่อต้นฉบับที่ส่งมาขอตีพิมพ์เผยแพร่    และเมื่อจะขอเลื่อนตำแหน่งวิชาการ (โดยเจ้าตัวไม่ต้องขอเอง) ก็มีกลไก peer review อีกครั้ง   เป็นกลไกของความเข้มงวดจริงจังของการพิจารณาคุณภาพของผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทย   โดยมีข้อมูลผลดีที่เกิดขึ้นต่อสังคมไทย (societal impact) เป็นหลักฐาน   หลักฐานนี้ส่วนหนึ่งจะอยู่ใน PLoT  

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ค. ๕๓

        รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ แห่ง มอ. อี-เมล์มาให้ความเห็นเมื่อวันที่ ๔ ส.ค. ๕๓ ดังนี้

เรียน คุณหมอวิจารณ์

ผมติดตามอ่านบ้าง ไม่ได้อ่านบ้าง  ขอ share ตอนนี้ด้วยคนครับ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจินตนาการสูง  ขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีกติกาทางสังคมที่เรียกว่า ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม  ที่พัฒนามาเป็นกฏการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นจารีตหรือกฏหมาย  มนุษย์จึงทำตามจินตนาการที่ตนต้องการไม่ได้หมด  แม้ว่าส่วนลึกแล้วจะมีความต้องการตามสัญชาตญาณ

 การมีจินตนาการทำให้มนุษย์มีการ "ประเมินและคาดการณ์" ไปล่วงหน้าได้  ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ต้องการ "ได้ดี" ที่เป็น "โอกาส" ของชีวิต  ดังนั้น มนุษย์จึงใช้ทั้ง "จินตนาการ" และ "กติกา" สร้าง "โอกาส"  โดยเฉพาะโอกาสของตนเอง  ดังนั้น เราต้องสนใจเรื่องกติกาด้วย

 หากต้องการงานวิชาการรับใช้สังคม เราต้อง invent กติกาวิชาการที่กำหนดโอกาสของนักวิชาการเสียใหม่  ให้เป็นกติกาที่เขาต้องจินตนาการใหม่  ปฏิบัติไปในทางใหม่ ที่เป็นทางโอกาสของทั้งสังคมและของตัวนักวิชาการเอง


        

หมายเลขบันทึก: 379730เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากให้เป็นจริงครับ..

ขออนุโมทนาครับ

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

     กระผมดีใจและรู้สึกยินดีต่อการเคลื่อนไหวอย่างมาก กระผมเองก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ในวงวิชาการแบบมหาวิทยาลัยนี้ได้นานเท่าไหร่ สิ่งละอันพันละน้อย มันมากกว่าที่กระผมคิดไว้ นับตั้งแต่เลขาฯ ออกไปกระผมก็มาทำงานเอกสารไปด้วย ยังมีอีกเยอะในโลกแห่งมายา ไม่อยากจะมาบ่นในเวทีที่แลกเปลี่ยนครับผม กระผมเป็นสุขที่ได้ ลปรร. กับเวทีที่มีชีวิตชีวา กระผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้าน กับเครือญาติ รวมทั้งได้ทำเกษตรพอเพียงด้วย นี่คือเวทีที่ชดเชยความสุขของกระผมจากของแห้ง กระผมยืนยันได้ว่า งานวิจัยส่วนมากในปัจจุบัน ยังห่างไกลความจริง เรื่องมันยาวที่จะเล่าครับผม บริบทที่เราทำวิจัยกับความจริง ห่างไกลกันพอสมควร เราไม่ได้ทำงานวิจัยเคียงบ่า เคียงไห่ล หรือชี้นำสังคม มีโจทย์บนเงื่อนไขความจริงเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่มันไปคนละทาง ตีพิมพ์นับร้อยๆเรื่อง ยังไม่ได้ยกระดับวิถีชีวิตได้เลย เราต้องกลับมาอยู่กับ "สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่" และ ใช้สิ่งนี้พัฒนาต่อยอด การคิดอะไรไกลตัวมาก...บางครั้งก็ดังวาดวิมานในอากาศจนไร้ฐานยืน เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรเลย กับวิถีชีวิตเงื่อนไขความจริง....มาวาดวิมานบนความจริงด้วยกันครับผม...กระผมเองก็เสียดายชีวิต เวลา แรง และทรัพยากรที่จะไปวาดวิมานในอากาศ....กระผมจึงกลับมาวาดวิมานดิน...เป็นวิมานดินที่พักพิงได้อบอุ่น เพราะมันสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมและสุขใจด้วยครับผม 

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท