คำนำหนังสือ “ครูเพื่อศิษย์” เติมหัวใจให้การศึกษา


 
          หนังสือเล่มนี้จะเปิดตัวในงานระพีเสวนา “ครูเพื่อศิษย์” เติมหัวใจให้การศึกษา ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓  และงานประชุมวิชาการประจำปี จิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๓ “ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของมนุษย์” ในวันที่ ๒ – ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓  ที่โรงแรมรามา การ์เด้นท์

 

คำนำ
หนังสือ “ครูเพื่อศิษย์” เติมหัวใจให้การศึกษา

 

          “ผมขอตั้งจิตอธิษฐานให้สังคมไทยทั้งสังคมช่วยกันบูชา “ครูเพื่อศิษย์”ด้วยวิธีการต่างๆ   เน้นที่การบูชาด้วยเครื่องมือในการทำงาน “เพื่อศิษย์”   คือไม่ใช่แค่ยกย่องเฉยๆ แต่ช่วยกันอำนวยความสะดวก หรือเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริมให้ “ครูเพื่อศิษย์” ทำงานสะดวกขึ้น มีพลังมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้ทำงานเป็นกลุ่มก้อน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย สร้างพลังของ “ครูกู้แผ่นดิน” ขึ้นในแผ่นดินไทย”

 

         ข้อความข้างบนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำนำหนังสือ “การศึกษาไทย ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ สู่เส้นทางแห่งอาจาริยบูชา ‘ครูเพื่อศิษย์’” ซึ่ง สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) กรุณาจัดพิมพ์ขึ้นเป็น สคส. ปีใหม่ ๒๕๕๓   เป็นการส่งความสุขด้วยกุศลจิตที่มุ่งบูชาครู ที่เป็น “ครูเพื่อศิษย์”   หวังให้ครูเพื่อศิษย์รวมพลังกันกู้แผ่นดิน ด้วยการทำงานปฏิรูปการศึกษาจากห้องเรียน จากวิญญาณและปฏิบัติการเพื่อศิษย์

 

         หนังสือ “การศึกษาไทย ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ สู่เส้นทางแห่งอาจาริยบูชา ‘ครูเพื่อศิษย์’” เล่มนี้ สามารถ ดาวน์โหลดได้จาก เว็บไซต์ ของ สคส. (www.kmi.or.th)   และเข้าใจว่าในเวลาประมาณ ๘ เดือนได้มีผู้ ดาวน์โหลด ไปเผยแพร่กว่าพันราย
 

          ข้อความในหนังสือเล่มนี้มาจากบันทึกส่วนหนึ่งใน บล็อก http://gotoknow.org/blog/thaikm  และ http://gotoknow.org/blog/council   ที่ผมบันทึกเรื่องราวต่างๆ เพื่อสื่อสารกับสังคมวงกว้างในเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม  และประเด็นหนึ่งที่ผมเขียนคือเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ หรือปฏิรูปการศึกษา   และภายใต้หัวข้อนี้ผมได้แสวงหาเรื่องราวของ “ครูเพื่อศิษย์” มาเล่า เพื่อยกย่องให้กำลังใจ และเพื่อเป็นลู่ทางในการสร้างเครือข่าย “ครูเพื่อศิษย์”

          หนังสือ “การศึกษาไทย ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ สู่เส้นทางแห่งอาจาริยบูชา ‘ครูเพื่อศิษย์’” ได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่ ๒ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่มโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ( สสค. – www.QLF.or.th) ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓   สำหรับใช้ในกิจกรรมของสำนักงานฯ

          บัดนี้ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มดำเนินการขยายหนังสือเล่มดังกล่าว ออกเป็นเล่มใหม่ ในชื่อ “’ครูเพื่อศิษย์’ เติมหัวใจให้การศึกษา”   โดยได้เพิ่มเติมบันทึกเกี่ยวกับ “ครูเพื่อศิษย์” ที่ผมเขียนต่อเนื่องเรื่อยมา ลงใน บล็อก ดังกล่าวข้างต้น   รวมทั้งได้รวบรวมบันทึกของคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร เกี่ยวกับ “ครูเพื่อศิษย์” ที่ลงใน บล็อก http://gotoknow.org/blog/mhsresearch   มารวมไว้ด้วย   และจัดเป็นหมวดหมู่ให้อ่านง่ายขึ้น   สำหรับใช้เผยแพร่ในงานระพีเสวนา “ครูเพื่อศิษย์” เติมหัวใจให้การศึกษา ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓  และงานประชุมวิชาการประจำปี จิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๓ “ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของมนุษย์” ในวันที่ ๒ – ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓

          “ครูเพื่อศิษย์” เริ่มที่ใจ ต่อด้วยการลงมือทำ พิสูจน์ด้วยการกระทำอย่างต่อเนื่อง และมีความสุขจากการกระทำนั้น   ผมเชื่อว่า “ครูเพื่อศิษย์” ที่แท้จริงนั้น แม้จะไม่มีคนเห็นคุณงามความดี ไม่ได้รับการยกย่อง ไม่ได้รับผลตอบแทน ก็จะยังทำหน้าที่ “ครูเพื่อศิษย์” อย่างไม่ย่อท้อ   เพราะท่านเหล่านี้ทำด้วยใจ   ทำด้วยใจที่หวังดี เห็นคุณค่าของศิษย์ที่เป็นเยาวชน เป็นอนาคตของชาติ   และด้วยความสุขต่อปฏิสัมพันธ์กับศิษย์ที่น่ารักเหล่านั้น

          นี่คือ “ครูระดับ ๖” ตามความเห็นของครู Rafe Esquith ดังรายละเอียดในหนังสือเล่มนิ้   เป็นครูที่ใช้ความเป็น “ครูเพื่อศิษย์” นั้นเองเป็นเครื่องมือฝึกฝนยกระดับ “จิตตปัญญา” ของตนเอง   การทำหน้าที่ครู กลายเป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อการยกระดับจิตใจของตนเอง

          อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีโอกาส   ปฏิสัมพันธ์กับศิษย์ในสถานการณ์ต่างๆ ที่มีทั้งความทั้งรื่นรมย์และเจ็บปวดขมขื่น คือโอกาสในการปฏิบัติธรรม โอกาสในการฝึกฝนตนเอง เพื่อยกระดับจิตใจของตนเอง ให้เป็น “โพธิสัตว์”   และหนึ่งในคุณสมบัติของ “โพธิสัตว์” คือความเมตตา หวังดีต่อผู้อื่น แม้ผู้นั้นจะสร้างความยากลำบากหรือความเดือดร้อนให้แก่ตน   สภาพเช่นนั้นคือ unconditional love เมื่อมองจากมุมของจิตวิทยา  

          ครูที่มี unconditional love ต่อศิษย์นั้น ศิษย์จะสัมผัสได้ด้วย “สัมผัสที่หก” และจะสร้างความอบอุ่นในจิตใจของศิษย์อย่างหาที่เปรียบมิได้   และศิษย์จะสนองตอบด้วยความรักความเชื่อมั่น (trust) ซึ่งครูก็จะสัมผัสได้เช่นเดียวกัน   สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ที่มีคุณค่าและพลังเหลือประมาณ – พลังแห่งความรัก

          การศึกษาที่มีแต่วิชา การสอบวัดผล และผลประโยชน์ของครูและผู้บริหารการศึกษา เป็นการศึกษาที่แล้งน้ำใจ   เราต้องช่วยกันทำให้การศึกษาไทยไม่ตกลงไปอยู่ในภพภูมินั้น   ที่น่าจะเป็น “นรกภูมิ” ที่ทำลายทั้งตัวครูเอง และทำลายศิษย์   เราต้องช่วยกันทำให้การศึกษาไทยอยู่ใน “พุทธภูมิ” คือโลกแห่งการทำความเพียรฝึกฝนตนเอง และช่วยเหลือศิษย์ ให้ยกระดับจิตใจสู่ “โพธิสัตว์”   ผ่านความรักความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน   ที่แสดงออกผ่านการกระทำ และการรับผลแห่งการกระทำนั้น   คือผลของการเป็น “ครูเพื่อศิษย์”

          ผมขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กรุณามอบหนังสือ Teach Like Your Hair’s on Fire เขียนโดยครู Rafe Esquith ซึ่งเมื่อผมอ่านแล้วจึงเกิดแรงบันดาลใจเขียนบันทึกเรื่อง “ครูเพื่อศิษย์” ลง บล็อก เป็นปฐมเหตุให้เกิดหนังสือเล่มนี้   ขอขอบคุณ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี ที่มีจิตกุศล จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้   ขอขอบคุณ คุณโสภาพรรณ สุริยะมณี แห่งสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ช่วยนำเอาบันทึกเหล่านี้ลง บล็อก  และช่วยรวบรวมบันทึกที่เกี่ยวกับครูเพื่อศิษย์สำหรับลงในหนังสือเล่มนี้   และขอขอบคุณคุณชุติมา อินทรประเสริฐ และคุณนภินทร ศิริไทย แห่ง สคส. ที่ช่วยจัดทำหนังสือ “การศึกษาไทย ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ สู่เส้นทางแห่งอาจาริยบูชา ‘ครูเพื่อศิษย์’”  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือ “’ครูเพื่อศิษย์’ เติมหัวใจให้การศึกษา” เล่มที่ท่านถืออยู่นี้

 

วิจารณ์ พานิช
๙ กันยายน ๒๕๕๓ 
                 

หมายเลขบันทึก: 402221เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2010 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณครับ อาจารย์หมอ ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอที่เคารพ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นค่ะ

การศึกษาที่มีแต่วิชา การสอบวัดผล และผลประโยชน์ของครูและผู้บริหารการศึกษา เป็นการศึกษาที่แล้งน้ำใจ 

จากข้อความนี้  ถ้าหากผู้บริหารไม่มีความเข้าใจการจัดการศึกษา  ครูที่มีจิตวิญญาณเพื่อศิษย์เพียงคนเดียว ก็ล้มเหลวได้ค่ะ

จากประสบการณ์จริง ผู้บริหารยังมีการสั่งให้ครูหยุดการสอนปกติ  เพื่อบังคับให้นำเด็กมาติวเอ็นทีหรือโอเน็ตค่ะ

หลาย ๆแห่งยังเป็นแบบนี้ค่ะ  เพราะเขตการศึกษาเล็งเป้าที่ตัวเลขจากผลสัมฤทธิ์ในการสอบค่ะ

  • สวัสดีครับ อาจารย์วิจารณ์
  • "ครูดี หมอดี ข้าราชการดี นักการเมืองดี ประเทศชาติมั่นคง มีความผาสุก" ครับ
  • ชื่นชม "ครูเพื่อศิษย์" มากครับ ได้แนวทางการเป็นครูทีดี
  • ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ
  • ครูฐานิศวร์  ผลเจริญ ร.ร.กระสังพิทยาคม จ.บุรีรัมย์

จะติดตามอ่านได้จากไหน...

มีจำหน่ายร้านไหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท