The Fifth Annual conference of Asia Pacific Action Alliance on Human Resources for Health



          ผมจะเรียกการประชุมนี้ว่า AAAH 5  ซึ่งจัดในหัวข้อ Human Resources for Health Challenges for Achieving MDGs  ซึ่งก็คือเพื่อเอาชนะความยากจนและอดอยาก  สร้างสุขภาวะ  เอาชนะความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ  ความด้อยการศึกษา  การไม่มีน้ำสะอาดใช้  และเอาชนะปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม   การประชุมครั้งที่ ๕ นี้จัดที่บาหลี ระหว่างวันที่ ๓ – ๖ ต.ค. ๕๓ 

           หลังจบครึ่งวันแรกของการประชุมจริง คือวันที่ ๔ ต.ค.   ผมบ่นกับ นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ. สวรส. ว่า สาระของการประชุมดูมันจะวนๆ อยู่กับประเด็นเดิมๆ   ไม่ค่อยมีข้อมูลที่ชัดเจนจากการวิจัย เพื่อให้เข้าใจสภาพจริงอย่างกระจ่างแจ้งและน่าเชื่อถือ   นพ. พงษ์พิสุทธิ์ซึ่งคุ้นกับวง AAAH นี้ดีบอกว่า ก็มีคนบ่นแบบเดียวกันกับผม  แต่ก็หาคนทำวิจัยเรื่องนี้ยาก  โดยการวิจัยส่วนใหญ่ต้องเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

          ช่วงบ่ายของวันที่ ๔ ต.ค. เป็นการไปดูงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ HRH  กลุ่มแรกไปดูสถาบันผลิต  กลุ่มที่ ๒ ไปดูสถานบริการ   และกลุ่มที่ ๓ ไปดูระบบบริการที่ครอบคลุมถ้วนหน้าของบาหลี   ผมไปกับกลุ่มที่ ๒ ไปดู ๓ ที่ คือ รพ. เอกชน ๑ แห่ง   สถานีอนามัย ๑ แห่ง  ศาลาประชาคม สถานที่สร้างเสริมสุขภาพในภาคประชาสังคม  และสถานบริการการแพทย์แบบดั้งเดิม 

          เห็นได้ชัดว่า รพ. เอกชนให้บริการประชาชนกลุ่มที่ฐานะดี   ส่วนสถานีอนามัยให้บริการแก่คนชนบท และฐานะไม่ดี เขามีเจ้าหน้าที่ ๓๑ คน (หมอ ๓ ทันตแพทย์ ๑) ดูแลประชากร ๒ หมื่นคน ทำงาน ๗.๐๐ – ๑๔.๐๐ น.  เวลาให้บริการ ๘.๐๐ – ๑๔.๐๐ น.   ในขณะที่สถานที่สร้างเสริมสุขภาพภาคประชาสังคม ได้รับการสนับสนุนทั้งจากธุรกิจเอกชนที่ไม่มุ่งกำไร และจากคนในชุมชนเอง   ส่วนสถานบริการการแพทย์แบบดั้งเดิมดูจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก   ตึกรามใหญ่โต เจ้าหน้าที่มาก   แต่ลูกค้าวันละ ๑๕ คนเท่านั้น

          ตอนค่ำมีงานเลี้ยงที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดบาหลี  เป็นวังเก่าเรียกชื่อว่า Jaya Sawa   ส่วนที่ชูโรงคือรำบาหลี ที่มีการแสดงความสามารถในการเคลื่อนไหวทุกสัดส่วนของร่างกายเป็นจังหวะตามเสียงดนตรี   ได้แก่ Saka (Flower) Dance, และ Bird of Paradise Dance   อีกตัวชูโรงคือสุนทรพจน์ของท่านผู้ว่าราชการ และของประธาน AAAH คือ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ  

          วันที่ ๒ ของการประชุม (๕ ต.ค.) ช่วงเช้าเป็นเรื่อง HRH Education in the 21st Century นำเสนอสรุปผลการศึกษาของ Commission on Education of Health Professionals for the 21st Century   เสนอว่าจะต้องปฏิรูปการศึกษาของ HRH ครั้งใหญ่   ให้บุคลากรสุขภาพมีทั้งทักษะด้านวิชาชีพ และทักษะสังคม   เพื่อออกไปทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสังคม   โดยที่ความท้าทายสำคัญคือความไม่เป็นธรรม (inequity) ในสังคม

         ช่วงสายเป็น Parallel Session 4 session พร้อมกัน  เป็นการนำเสนอบทความ   ผมไปเข้า Session : Innovative education to support MDGs ซึ่งมี ผศ. นพ. ปัตตะพงษ์ เกศสมบูรณ์ แห้ง มข.  นำเสนอเรื่อง หลักสูตรใหม่ของการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว  เป็นหลักสูตรที่ทำให้เวชศาสตร์ครอบครัวคึกคักน่าเรียนขึ้นมาก   มีการไปฝึกในต่างประเทศด้วย

         ช่วงบ่ายเป็น Plenary Session : Achievements of the Regional Strategies on HRH in WPRO/SEARO  เอาความสำเร็จมา ลปรร. กัน   แต่วิธีนำเสนอยังติดรูปแบบวิชาการ หรือแบบ bureaucracy แข็งๆ   ไม่เป็น storytelling จึงทำให้บรรยากาศง่วงเหงาหาวนอนเพราะเป็นช่วงบ่าย  ร้อนถึงประธาน AAAH (นพ. สุวิทย์) ต้องปลุกคนด้วยการถามประธานการประชุม (Tim Evans) เรื่องการทำงานด้าน HRH ของ WHO ที่ยังไม่ได้ผลดี  เป็นการตั้งคำถามที่ก่อความเฮาฮากึ่งเล่นกึ่งจริง

          ช่วงเย็น เป็น Parallel Session 4 session   ผมไปเข้าเรื่อง QA in HRH Education and Regulation  ซึ่งผลงานที่มานำเสนอไม่ใช่เรื่อง QA เป็นการตั้งชื่อ session เข้าป่าไปเลย   แต่ก็มีเรื่องของไทย นำเสนอโดย ดร. นงลักษณ์ ปะกายยะ เรื่อง แพทย์จบใหม่จะไปทำงานในชนบทหรือไม่ เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยที่มี research methodology ดี สมกับที่เป็นผลงานของ IHPP  ข้อสรุปคือ non-financial incentives มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเงิน

          ตอนค่ำเรานั่งรถออกนอกเมืองไป ๑ ช.ม. ไปยังเมือง อูบุดอันมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว  ไปที่ Laka Leke (www.lakaleke.com)  เพื่อกินอาหารเย็นและชมการแสดง

          วันที่ ๓ ของการประชุม (๖ ต.ค.) ช่วงเช้าเป็น Parallel Session 2 session  ผมไปเข้าฟังห้อง Teaching of Public Health  ได้ข้อสรุปกับตนเองว่า หลักสูตรสาธารณสุขต้องสร้างความน่าสนใจและการยอมรับนับถือจากวงการต่างๆ ด้วยการเข้าไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ   ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ

           ช่วงสายเป็นการสรุป และพิธีปิดการประชุม   Chief Rapporteur คือ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร มือสรุปในการประชุมนานาชาติ รวมทั้งใน World Health Assembly  สรุปภาพรวมของเรื่อง HRH ได้อย่างครบถ้วนครอบคลุมและกระชับ  สรุปสั้นๆ ได้ว่า ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก  ที่สำคัญยิ่งคือการทำให้ระบบการสร้างคนกับระบบการทำงานเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

         ความเข้าใจใหม่แบบเปิดกะโหลกสำหรับผมคือ   ระบบสุขภาพที่ต้องเน้นความเป็นธรรม กำลังเผชิญความท้าทายจากระบบทุนนิยมที่เน้นกำไรเป็นหลัก  ระบบ HRH ต้องสร้างคนไปทำงานอย่างรู้เท่าทันระบบทุน ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบทุน 

          อยู่กับระบบทุน แต่ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบทุน

          ก่อนปิดการประชุม มีการมอบรางวัล Best Case Stories and Outstanding HRH Award ซึ่งมีคนไทยได้รับรางวัล ๒ คนคือ นพ. ภักดี สืบนุการณ์ ผอ. รพ. สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ. เลย  กับคุณธีระวัฒน์ แดงกะเจา  สอ. บ้านสี่แยกสวนป่า  อ. บางขัน  จ. นครศรีธรรมราช จากผลงานโรงเรียนสอนอาสาสมัคร ให้อาสาสมัครสาธารณสุขมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต  มีการจัดการเรียนรู้ในชุมชนร่วมกัน  เพื่อให้ประชาชนส่งเสริมสุขภาพของตนเองและของชุมชนได้   สู่สุขภาพราคาไม่แพง

 

วิจารณ์ พานิช
๙ ต.ค. ๕๓

 

Plenary Session 1 HRH Challenges to Achieve MDGs

 

บรรยากาศในห้องประชุม

 

บรรยากาศภายในสถานีอนามัย ผู้ชายสวมเสื้อแขนยาวสีขาวคือคุณธีระวัฒน์ แดงกะเจา

 

ศาลาประชาคม สถานที่ชุมนุมเพื่อออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพ

 

สถานบริการการแพทย์ดั้งเดิม

 

วิธีการให้บริการการแพทย์แบบชวาดั้งเดิม เดาว่าเป็นการให้พลังลมปราณ

 

ดอกจันทน์ (Santalum album) ที่เนื้อไม้เป็นไม้จันทน์หอม (sandal wood) สะกัดน้ำมันหอมระเหยได้

 

ต้นจันทน์หอม

 

บรรยากาศในห้องประชุมช่วงเช้าวันที่ ๕ ต.ค. ถ่ายจากเวที

 

Parallel Session 1 Innovative Education คนซ้ายสุดคือ ผศ. นพ. ปัตตะพงษ์ เกศสมบูรณ์

 

 Parallel Session 9 Teaching of Public Health

 

คุณผึ้งมาช่วยให้ผมมีรูปที่ถ่ายในห้องประชุม

 

พิธีมอบตำแหน่งประธาน AAAH จาก นพ. สุวิทย์ ให้ นพ. จุนหัว ประเทศจีน

 

คำสำคัญ (Tags): #531108#aaah5#บาหลี#hrh#aaah
หมายเลขบันทึก: 407064เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท