ถึงคราวปฏิรูปใหญ่การศึกษาของบุคลากรสุขภาพ



          ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ที่นี่   บัดนี้รายงานของคณะทำงาน GCEHP เรื่อง  Health professionals for a new century: transforming education to strengthen health systems in an interdependent world ได้ลงตีพิมพ์ในวารสาร Lancet แล้ว   สามารถ download ได้ที่นี่ 

          เมื่อร้อยปีก่อน หรือตอนต้นศตวรรษที่ ๒๐ Flexner Report ได้ก่อการปฏิรูปการศึกษาของบุคลากรสุขภาพ จากแนว experience-based   ให้เป็น science-based และต่อมาเพิ่ม problem-based   มีผลให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว   นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่   แต่บัดนี้ถึงทางตัน   ต้องการการปฏิรูปใหญ่อีกครั้งหนึ่ง สำหรับศตวรรษที่ ๒๑  เพราะโลก สังคม ปัญหาสุขภาพ และระบบสุขภาพ เปลี่ยนแปลงไปมาก จนระบบการศึกษาที่ใช้ในการผลิตบุคลากรสุขภาพตามไม่ทัน

          เป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่าแนวทางการศึกษาของบุคลากรสุขภาพสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ จะต้องมีลักษณะต่อไปนี้ประกอบกัน

•  ยึดถือผู้ป่วย และประชากร (ชุมชน) เป็นศูนย์กลาง
•  ใช้หลักสูตรแบบ competency-based
•  จัดการศึกษาแบบ interprofessional & team-based   เพื่อบ่มเพาะทักษะและนิสัยด้านความสัมพันธ์แนวราบ
•  ใช้ IT ช่วยเสริมการเรียนรู้
•  ปลูกฝังทักษะด้านนโยบาย การจัดการ และภาวะผู้นำ
•   ใช้ทรัพยากรจากทั้งโลก เพื่อสนองการแก้ปัญหาในพื้นที่

          รายงานนี้เสนอให้ระบบการศึกษาของบุคลากรสุขภาพ มีส่วนแก้ไขปัญหาต่อไปนี้ของระบบสุขภาพ

•   การแยกตัวระหว่างวิชาชีพสุขภาพต่างวิชาชีพ ที่เขาเรียกว่า professional silos หรือ professional tribalism
•   การที่บุคลากรในวิชาชีพสุขภาพหย่อนทักษะด้านการทำงานเป็นทีม  และทักษะด้านภาวะผู้นำสำหรับดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบอย่างต่อเนื่อง
•   การที่บุคลากรในวิชาชีพสุขภาพมีความรู้และทักษะแคบ จำกัดอยู่เฉพาะด้านเทคนิค   ขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะด้านกว้าง และเกี่ยวข้องกับสังคม ชุมชน  และระบบสุขภาพ 

          การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหามี ๒ ด้าน คือ Interdependence กับ Transformative Learning

          Interdependence หรือการเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกัน ต้องเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ   อย่างน้อยต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ใน ๓ ด้านใหญ่ๆ ได้แก่

๑. เปลี่ยนจากการศึกษาที่ต่างวิชาชีพต่างดำเนินการ ไปสู่สภาพที่ประสานสอดคล้องกัน
๒. เปลี่ยนจากดำเนินการอยู่ในสถาบันเดียว สู่การดำเนินการเป็นเครือข่าย  ภาคีพันธมิตร และการรวมกลุ่ม
๓. เปลี่ยนจากสภาพที่สถาบันคิดแต่เรื่องภายในของตน สู่การมองโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเนื้อหา เครื่องช่วยสอน และนวัตกรรมด้านการเรียนรู้   และร่วมมือกันเป็นเครือข่ายในประเทศ และระดับโลก ในการปฏิรูปใหญ่ของตนเอง 

          การเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ หมายถึงการปฏิรูปเชิงสถาบัน (institutional reform)

           Transformative Learning เป็นผลที่มุ่งหวังของการปฏิรูปการเรียนรู้ใหญ่นี้   ซึ่งผมมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน  ทั้งในระดับบุคคล  ระดับหลักสูตร  และระดับสถาบัน   โดยรายงานนี้ได้สรุปการปฏิรูปไว้ดังนี้

          ระดับการเรียนการสอน

• Competency-driven
• Interprofessional & transprofessional education
• IT-empowered
• Local – global
• Educational resources
• New professionalism

          ระดับสถาบัน

• Joint planning
• Academic systems
• Global networks
• Culture of critical inquiry

          การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำได้ยาก จะติดที่ความเข้มแข็งหลากหลายด้านของศาสตร์ เทคโนโลยี และวิชาชีพ  การดำเนินการต้องทำต่อเนื่องยาวนาน น่าจะใช้เวลากว่า ๑๐ ปี   และต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่ายการปฏิรูประดับโลก  ภูมิภาค และประเทศ

          เราจะเริ่มทำความเข้าใจและปรึกษาหารือกันในการประชุม PMA Conference 2011 ที่โรงแรม เซนทารา แกรนด์  เช้าวันที่ ๒๘ ม.ค. ๕๔  ตามด้วย Lunch Symposium   โดยเชิญคณบดี (หรือผู้แทน) ของคณะแพทยศาสตร์  พยาบาลศาสตร์  และสาธารณสุขศาสตร์ ทั่วประเทศ เข้าร่วม   จดหมายเชิญจะไปถึงท่านเหล่านี้ในไม่ช้า

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๑ ม.ค. ๕๔
        

หมายเลขบันทึก: 419539เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 06:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นับเป็นแนวคิดแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีมากๆเลยครับ เพราะปัจจุบันการทำงานเป็นทีม การมองปัญหาและวิเคราะห์ร่วมกันอย่างรอบด้านยังมีน้อย การทำงานแนวดิ่งได้สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาระบบสุขภาพที่ซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้ หากแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมือของทุกสถาบัน เราคงได้บุคคลากรด้านสุขภาพที่เป็นมืออาชีพและทีมงานมืออาชีพออกมาเพื่อแก้ปัญหาและยกระดับภาวะสุขภาพของคนได้ให้ดีขึ้นได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท