ย้อนเวลา 29 ปี เพื่อตามหาเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้บุญชัย: บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า: กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน 1


ตาม ทฤษฎีหกเด็ก แล้ว บุญชัยคือตัวแทนของ “เด็กกลุ่มที่ 1 หรือเด็กที่เกิดในสถาพยาบาล” ที่จะต้องดำเนินการให้สถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการเกิด

ย้อนเวลา 29 ปี เพื่อตามหาเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้บุญชัย:

บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า: กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน 1

โดย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล*
อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 

6 สิงหาคม 2553

ในบรรดาลูกทั้ง 8 คน (มีชีวิตถึงปัจจุบัน 5 คน) ของป้าสันที มีเพียง บุญชัย ลูกชายคนสุดท้องเท่านั้นที่คลอดที่โรงพยาบาล เวล #x000A; านั้นป้าสันที สามีและลูกๆ อาศัยอยู่ที่บ้านทุ่งก้างย่าง อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ป้าสันทีไม่เคยฝากท้องลูกคนไหนกับโรงพยาบาล ตามประสาของชาวบ้านทั่วไป อีกทั้งอยู่ห่างไกลตัวเมือง จะมีก็เพียงเพื่อนบ้านและหมอตำแยที่ร่วมรับรู้ว่าหากว่าบ้านไหนจะมีการคลอดลูก หญิงสาวที่เคยผ่านมามีลูกก็จะมาช่วยหมอตำแยในการทำคลอด
 
แต่กรณีของบุญชัย ป้าสันทีเล่าว่า “คลอดยากเหลือเกิน มันไม่ยอมออกมาเสียที” สามีของป้าจึงตัดสินใจพามาหาหมอที่อำเภอท่ามะกา โดยพามาที่โรงพยาบาลท่าเรือ เพราะครั้งหนึ่งสามีของป้าสันทีเคยมารักษาโรคไข้เลือดออกที่นี่
 
เมื่อคลอดเด็กชาย บุญชัย ก่อนกลับบ้าน ทางโรงพยาบาลได้ออกหนังสือ “สมุดบันทึกสุขภาพ” ให้กับป้าสันที ป้าเก็บเอกสารเล่มนี้ไว้อย่างดี จนกระทั่งวันที่ป้าสันทีป่วย การไปรับตัวป้าที่บ้านเพื่อพาไปโรงพยาบาล ทำให้เอกสารหลายอย่างที่ถูกเก็บไว้อย่างดี ถูกมองเห็นโดยคนนอกครอบครัว[1]

ตาม ทฤษฎีหกเด็ก
[2] แล้ว บุญชัยคือตัวแทนของ “เด็กกลุ่มที่ 1 หรือเด็กที่เกิดในสถานพยาบาล” ที่จะต้องดำเนินการให้สถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการเกิด

เดือนกรกฎาคม 2553 ภายใต้ ‘หมวก’ ของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการพิสูจน์สถานะบุคคลที่ตกหล่นจากการพิสูจน์สัญชาติพม่า กรณีนางสันทีและครอบครัว คณะทำงาน
[3]  ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อติดตามให้ทางโรงพยาบาลออกเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ย้อนหลังให้กับบุญชัย

ด้วยการประสานงานล่วงหน้า ผู้บริหารของทางรพ. ท่าเรือ พร้อมกับเจ้าหน้าที่หน้าห้องคลอดได้ให้เวลาพูดคุยกับคณะทำงาน คณะทำงานได้ซักซ้อมความเข้าใจถึงหน้าที่ของสถานพยาบาลตามมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ในการออกเอกสารรับรองการคลอด ซึ่งทางรพ.เข้าใจดีถึงหน้าที่ของโรงพยาบาลในฐานะผู้ทำคลอด ผู้แทนของรพ. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทางรพ. จะดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้กับเด็กทุกคนที่มาคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่คำนึงว่าเด็กมีสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเกิดน้ำท่วมห้องเก็บเอกสารซึ่งอยู่ชั้นใต้ดิน ทำให้สมุดบันทึกหน้าห้องคลอด และเอกสารจำนวนหนึ่งสูญหายและเสียหาย
[4] เหลือเพียงบันทึกหน้าคลอดที่จัดทำขึ้นใน 2527 จนถึงปัจจุบันเท่านั้น

ในระหว่างที่คณะทำงานชี้แจงถึงข้อเท็จจริงของครอบครัวป้าสันที และบุญชัย มีความชัดเจนว่าผู้แทนของรพ. รับฟังอย่างตั้งใจและมีท่าทีระมัดระวัง และได้ให้ความสนใจกับสมุดบันทึกสุขภาพของบุญชัย เพราะปัจจุบันทางโรงพยาบาลไม่ได้ใช้สมุดดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ทางรพ. ได้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของและทีมผู้บริหาร
 
อย่างไรก็ดี ผู้แทนของรพ.ท่าเรือ ก็ยอมรับว่า สมุดบันทึกสุขภาพของบุญชัยนั้น เป็นสมุดบันทึกสุขภาพที่เป็นทางป ฏิบัติของรพ.ท่าเรือ ทำให้เชื่อได้ว่าบุญชัยมาคลอดที่รพ.จริง

ร่วม 3 ชั่วโมงของการทำความเข้าใจกับกรณีศึกษา ข้อกฎหมายและทางปฏิบัติของสถานพยาบาลในการรับรองการเกิดของเด็ก ท้ายที่สุดทางรพ.ท่าเรือก็ออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับบุญชัย
 
ถ้าไม่นับสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน ที่ป้าสันทีผู้เป็นแม่รวบรวมเก็บไว้ ตั้งแต่บุญชัยเรียน ป.1-3  กล่าวได้ว่า วันนี้ บุญชัย มีเอกสารที่สะท้อนถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเขา เป็นเอกสารที่รับรองจุดเกาะเกี่ยวระหว่างตัวเขากับ “สถานที่เกิด” คือ โรงพยาบาลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี มันยืนยันได้ดีว่าเขาเกิดในประเทศไทย ซึ่งภายใต้พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 บุญชัยคือ “คนไทยตามมาตรา 23” นั่นหมายความว่า เขาต้องรวบรวมเอกสารและพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก เพื่อยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน
 
สำหรับคนทำงานแล้ว กรณีของบุญชัย-ตัวแทนของเด็กกลุ่มที่ 1 คือเด็กที่เกิดในสถานพยาบาล-ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเราไปแล้ว ในการดำเนินการเพื่อขอออกเอกสารรับรองการเกิดย้อนหลัง

และสำหรับกรณีของบุญชัยนี้ พวกเราได้ย้อนเวลากลับไปถึง 29 ปี

อย่างไรก็ดี การได้รับหนังสือรับรองการเกิดนี้ เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ครบขั้นตอนและถูกต้อง บุญชัยยังต้องเดินไปอีกสองขั้นตอน นั่นคือ ขั้นตอนที่สอง-การแจ้งเกิดกับหน่วยงานทะเบียนราษฎร เพื่อขอรับสูติบัตร และขั้นตอนที่สาม-คือการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้า

 

----------------------------

 

*อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT)

 

[1] กิติวรญา รัตนมณี โครงการบางกอกคลินิก ภายใต้กองทุนคนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, 7 มกราคม 2553, เมื่อป้าสันที(แสนถี) คนไร้สัญชาติป่วยหนัก ... เราจะดูแลราษฎรไทยกัน อย่างไร? ตอน 1 http://gotoknow.org/blog/h4s/325277 และตอน 2http://gotoknow.org/blog/h4s/325663
[2]  วีนัส สีสุข “ทฤษฎีหกเด็ก” ใน “3 สูตรสำเร็จเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ครบขั้นตอนและถูกต้อง : คู่มือเล่มที่ 1 สำหรับผู้ปฏิบัติงานและเจ้าของปัญหา”, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, มีนาคม 2553
[3] (1) กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, (2) ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ในฐานะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), (3) นายวัฒชนะ วงศ์สินนาค เจ้าหน้าที่ กสม. (4) พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ฝึกงานโครงการบางกอกคลินิค และ (5) กรกนก  วัฒนภูมิ นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
[4] สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐพบว่า สาเหตุของการสูญหายและเสียหายของ บันทึกหน้าห้องคลอดของโรงพยาบาลหลายกรณีอาจเป็นเหตุสุดวิสัย คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม ถูกปลวกกัดกิน รวมถึงสูญหายระหว่างการย้ายสถานที่ทำการ
หมายเลขบันทึก: 383097เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กรณีของบุญชัย ประสบปัญหาเรื่องชื่อ-นามสกุล-วัน/เดือน/ปี เกิด ของเขาเอง และของพ่อแม่ ที่ไม่ตรงกับปัจจุบันไหมครับ

หากเจอแก้ไขอย่างไรครับ อธิบายด้วยเหตุผลใด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยินดีแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในชั้นของหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.20/1 และในขั้นตอนต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท