ตายแล้วเกิดได้อย่างไร?


ตายแล้วเกิดได้อย่างไร?

     ระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องจิตไว้พิสดารมากนักแล้วยังมีเจตสิกอันเป็น เรื่องใหญ่และสำคัญประกอบกับจิตอีก ทั้งจิตก็มิได้คงทนถาวรอยู่ได้ ไม่มีวันตายเหมือนศาสนาอื่น เช่น อาตมันก็หาไม่ จิตย่อมเกิดดับติดต่อกันไปอยู่เสมอ เป็นนิจถี่ยิบ ไม่มีวันหยุดหย่อนกันเลย เรียกว่า เป็นสันตติคือการสืบต่อ จิตที่ดับไปแล้วจะเป็นเหตุปัจจัย(เหตุอื่นร่วมด้วย)ให้จิตใหม่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ แล้วก็เป็นเหตุให้เป็นปัจจัยให้เกิดต่อๆ ไป เกิด - ดับ - เกิด - ดับ อยู่ไม่ขาดสายติดต่อกันไป

     เมื่อจิตมีแต่ความเกิด-ดับสืบต่อกันไปดังนี้แล้ว จิตก็จะไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะล่องลอยไปเที่ยวหาที่เกิด จิตก็ล่องลอยไปไม่ได้ ทั้งการเกิดใหม่ก็มิได้มีแต่จิตเพียงอย่างเดียว เพราะมีรูปเกิดร่วมด้วย ถ้าเช่นนั้นจิตไม่ไปเกิดดอกหรือ? ไปอย่างไรเกิดอย่างไร?

     ผู้ที่มิได้ศึกษาเรื่อง "รูป" อย่างจริงจัง ก็มักจะเข้าใจผิดคิดไปว่า "รูป" ก็ได้แก่ร่างกายและสิ่งของต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องรูปว่า รูปมีจำนวนถึง ๒๘ รูป โดยแบ่งเป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ โดยแยกรูปให้เล็กลงๆ เป็นลำดับ ตั้งแต่เม็ดข้าวเปลือก ๑ เม็ดแยกออกเป็นหลายสิบล้านส่วน ส่วนหนึ่งเหล่านั้น เรียกว่า "ปรมณู" ทุกๆ ปรมาณูเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เรื่อยๆ ด้วยอำนาจของอุณหเตโช คือความร้อน ด้วยเหตุนี้ รูปทั้งหลายจึงเป็น อนิจจัง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกขัง คือความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนคนสัตว์(เป็นการประชุมกัน) ทั้งไม่อาจบังคับบัญชาได้

     ปรมาณูในพระพุทธศาสนา

๑ ธัญญมาส = ๗ อูกา
๑ อูกา = ๗ ลิกขา
๑ ลิกขา = ๓๖ รถเรณู
๑ รภเรณู = ๓๖ ตัชชารี
๑ ตัชชารี = ๓๖ อณู
๑ อณู = ๓๖ ปรมาณ

     นอกจากในเรื่องรูปแล้ว ในพระพุทธศาสนายังได้แสดงถึงเรื่องจิตใจด้วยว่ามีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายตัวไป อยู่ตลอดเวลาโดยรวดเร็ว เหมือนกับสิ่งทั้งหลายที่มิได้มีสิ่งใดแม้แต่อย่างเดียวที่ตั้งอยู่อย่าง มั่นคงได้ ดังนั้นจิตใจจึงอยู่ในฐานะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกันกับรูป

     ในพระพุทธศาสนาถือว่า ตราบใดที่บุคคลยังมีกิเลสอยู่แล้ว ความเกิดก็ไม่มีปัญหา จะต้องเกิดอีกอย่างแน่นอนทีเดียว หากแต่ความเกิดอีกมิได้เป็นไปในรูปแบบของการล่องลอย หรือที่พูดกันโดยทั่วไปว่าวิญญาณล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ หากแต่เป็นไปตามแบบฉบับของการสืบต่อ(สันตติ) ซึ่งมีทั้งจิตหรือวิญญาณ มีทั้งรูปที่เป็นปรมาณูเกิดรวมกัน คือจิตดวงหนึ่งดับลงไปแล้ว(จุติจิต = ตาย) ด้วยอำนาจของเหตุปัจจัยหลายประการ จิตดวงต่อไปก็ได้อุบัติขึ้นมาทันที(ปฏิสนธิจิต = เกิด) ในภพใหม่ชาติใหม่ติดต่อกัน โดยมิได้มีระหว่างคั่น พร้อมด้วยรูปปรมาณูที่เรียกว่า กรรมชรูป

     จิตนั้นมิได้เป็นสสารมิได้เป็นพลังงาน หากแต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยเหตุต่างๆ ทำให้เกิดขึ้นมาแล้วสลายตัวไปโดยรวดเร็ว มิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นอมตะ มิได้เกิดขึ้นมาโดยการดลบันดาลของใคร และอยู่ในฐานะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกันกับบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลาย

     จิตใจนั้นแม้ว่ามันจะมองไม่เห็นเป็นตัวเป็นตน ซ้ำถูกต้องไม่ได้ก็ดี แต่ถึงกระนั้นมันก็มีอำนาจ หรือมีอิทธิพลหลายอย่าง เช่น รู้อารมณ์ได้ เก็บบาปเก็บบุญไว้ก็ได้ ทำน้าที่ปฏิสนธิคือสืบต่อเกิดใหม่ในภพชาติต่อไปได้ เมื่อมีสมาธิมากๆ แล้วแสดงอิทธิฤทธิ์บางอย่างก็ได้ด้วย เรื่องของจิตใจหรือวิญญาณนั้น มิได้ศึกษากันไปลมๆ แล้งๆ หากแต่มีบทพิสูจน์พร้อมบริบูรณ์ ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะได้รู้เห็นจิตใจหรือวิญญาณนี้แจ่มใสชัดเจน อยู่ในใจ(ไม่ใช่มโนภาพ) พ้นจากข้อสงสัยได้แน่นอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางบทพิสูจน์เอาไว้แล้ว

     ในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวรรค แสดงว่าจิตนี้ มีชื่อตั้ง ๑๐ ชื่อ เพื่อแสดงให้รู้ว่าจิตคืออะไร ? คือ

     ยํ จิตฺตํ มโน หทยํ มานสํ ปณฺฆรํ มนายตนํ มนินฺทริยํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ ตชฺช มโนวิญฺญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ ฯ

     ในอัฏฐสาลินีอรรภกถาธิบายว่า

๑. ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต

๒. ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า มโน

๓. จิตนั่นแหละได้รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน ดังนั้นจึงชื่อว่า หทัย

๔. ธรรมชาติคือฉันทะที่มีพอใจนั่นเอง ชื่อว่า มานัส

๕. จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใสจึงได้ชื่อว่า ปัณฑระ

๖. มนะนั่นเองเป็นอายตนะ คือเป็นเครื่องต่อจึงชื่อว่า มนายตนะ

๗. มนะอีกนั่นแหละที่เป็นอินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า มนินทรีย์

๘. ธรรมชาติใดรู้แจ้งอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิญญาณ

๙. วิญญาณนั่นแหละเป็นขันธ์ จึงชื่อว่า วิญญาณขันธ์

๑๐. มานะนั่นเองเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์จึงชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ

     สำหรับปุถุชนทั้งหลาย ผู้ซึ่ง "อนุสัยกิเลส" ยังยึดครองจิตใจอยู่ การกระทำทั้งหมดจึงเป็นกรรมหาเป็นกริยาไม่ เพราะโดนอำนาจภายใน ซึ่งได้แก่กิเลสหนุนหลังให้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมต่างๆ จึงดิ้นให้หลุดออกไปจากภพชาติไม่ได้ ชาติหน้าจึงมีอยู่ร่ำไป การแก้ปัญหาให้แก่ชีวิตจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกชาติ

     อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด คือตัวการที่ทำให้บังเกิดความเร่าร้อน ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เป็นธรรมชาติที่เร้นลับและลึกซึ้งยิ่งนัก ถ้ามิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะไม่มีใครแสดงได้เลย เพราะมันสงบนิ่งอยู่ภายในจิตใจไม่ปรากฏออกมาให้ใครได้ประจักษ์ แต่ฤทธิ์เดชของมันนั้นเหลือหลายนัก ท่านจึงเปรียบอนุสัยกิเลสนี้ว่าเหมือนกับงูที่มีพิษร้ายเพราะว่ามันนอนหลับ จึงไม่เกิดอันตรายกับใครเลย แต่ถ้าผู้ใดทำให้มันตื่นขึ้นมาแล้ว มันก็จะแสดงอำนาจของมันทันที มันก็จะฉกกัด และทำให้ผู้เข้าไปใกล้ถึงแก่ความตายได้

     อารมณ์ที่มากระทบอยู่ทุกๆ วันก็เหมือนกัน เมื่อรูปกระทบกับตาแล้ว มันก็กระเทือนถึงอนุสัย ไม่ว่ารูปนั้นจะดีจะชอบใจ หรือไม่ดีไม่ชอบใจก็ตาม เมื่อกระทบแล้วก็จะเกิดปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกเร่าร้อนขึ้นมาในใจ อันเป็นกิเลสอย่างกลาง และถ้าความเร่าร้อนในใจนั้นมีกำลังมาก มันก็จะไม่เกิดแต่ความเร่าร้อนใจเท่านั้น หากมันก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการแสดงออกซึ่งกิเลสอย่างหยาบทางวาจา หรือทางร่างกายต่อไป

 

ปฏิจจสมุปบาทในอารมณ์ปัจจุบัน

ปฏิจจสมุปบาท

     ปฏิจฺจ (อาศัย) + สํ (พร้อม) + อุปฺปาท (เกิด)
     หมายถึง ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม ได้แก่เป็นธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย จึงทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น

     "ปจฺจยฺ ปฏิจฺจสมุปฺปชฺชตีติ = ปฏิจฺจสมุปฺปาโท"
     ธรรมใดย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัย ฉะนั้นธรรมนั้นชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท

     อีกนัยหนึ่ง "สมุปฺปชฺชนํ = สมุปฺปาโท"
     การเกิดขึ้นด้วยดี คือเกิดขึ้นตามละดับ ชื่อว่า สมุปบาท

     "ยถาสกํ ปจฺจยํ ปฏิจฺจ เตน อวินาภาวี หุตวา สมุปฺปาโท = ปฏิจฺจสมุปฺปาโท"
     การเกิดขึ้นตามลำดับของธรรมที่อาศัยปัจจัยของตนๆ และไม่ปราศจากกันกับปัจจัยของตนนั้นๆ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ธรรมที่เป็นผลมีสังขาร เป็นต้น

     การอุปการะของปัจจัยธรรมต่อปัจจยุบันนธรรม คือธรรมชาติของเหตุที่ทำให้เกิดผล ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท ซึ่งมี ๑๒ องค์ ดังนี้

อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร

สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ

วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป

นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด อายตนะ

อายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ

ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา

ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน

อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ

ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ

ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ

(ส่วน) โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ ย่อมเกิดตามขึ้นมาด้วย

     ความไม่รู้ความจริงในเรื่องชีวิตตามที่มันเป็นจริงแท้ จึงตกเป็นผู้โง่เขลา และความโง่เขลาย่อมสนับสนุนให้บังเกิดการปรุงแต่ง คือการกระทำต่างๆ ให้เป็นบาปบ้างเป็นบุญบ้าง เป็นต้น

     เพราะการปรุงแต่ง คือเกิดการกระทำอันเป็นบาปบ้างเป็นบุญบ้างนี่เอง จึงได้สนับสนุนให้เกิดวิญญาณ คือการรับรู้อารมณ์ขึ้นมาอีก แม้จะได้ตายลงไปแล้วก็ตาม

     เพราะวิญญาณเกิดขึ้นนี่เอง จึงได้สนับสนุนให้เกิดนามคือเจตสิก อันเป็นธรรมชาติที่เกิดร่วมกับจิต และเกิดรูปอันได้แก่กรรมชรูป เป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิต เป็นต้น ให้เกิดขึ้นมาด้วย

     เพราะนามและรูปที่เกิดขึ้นมาแล้วนี้เอง จึงได้สนับสนุนให้เกิดอายตนะ เครื่องรับอารมณ์ทั้ง ๖ มีประสาทตา ประสาทหู เป็นต้น ขึ้นมาอีก

     เพราะมีอายตนะเครื่องรับอารมณ์ทั้ง ๖ แล้ว จึงได้สนับสนุนให้เกิดผัสสะ คือการกระทบ เช่นรับกระทบให้เกิดอารมณ์ทางตา ทางหู เป็นต้น

     เพราะการกระทบอารมณ์ต่างๆ เช่นทางตา ทางหูนี่เอง จึงได้สนับสนุนให้เกิดการเสวยอารมณ์ มีสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์คืออุเบกขาขึ้นมา

     เพราะการเสวยอารมณ์สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์คืออุเบกขานั้น จึงสนับสนุนให้เกิดตัณหา คือความยินดีติดใจในอารมณ์ต่างๆ ก่อให้เกิดการดิ้นรนแสวงหา

     เพราะยินดีติดใจอย่างเหนียวแน่นนี้เอง จึงได้ยั่วยุ สนับสนุนให้บังเกิดการกระทำต่างๆ ขึ้นมาอีก ซึ่งเมื่อได้กระทำลงไปแล้วก็จะหนีบาปหนีบุญไปไม่ได้ เพราะปุถุชนกระทำลงไปไม่บาปก็บุญเท่านั้น

     เพราะการกระทำต่างๆ อันเป็นบาปเป็นบุญดังกล่าวแล้ว จึงได้สนับสนุนให้มีชาติ คือความเกิดขึ้นมาอีกในภพใหม่ชาติใหม่

     เพราะเมื่อชาติคือความเกิดได้ตั้งต้นขึ้นมาแล้ว ก็สนับสนุนให้เกิดความแก่และความตายต่อไป

     และเมื่อชีวิตยังมีอยู่ โสกะ ความโศกเศร้า, ปริเทวะ การร้องให้รำพรรณ, ทุกขะ ทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกาย, โทมมนัสะ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางใจ, และอุปายาสะ ความทุกข์ใจอย่างรุนแรง ก็จะตามชาติ คือความเกิดมาโดยไม่ต้องสงสัย

     ผู้ศึกษาเล่าเรียนมีความเข้าใจ ก็จะบังเกิดความหวั่นไหวหวาดกลัว ไม่อยากจะเข้าใกล้ชาติ คือความเกิด เพราะเมื่อมีตา มีหู ก็จะต้องเจ็บตาเจ็บหูอย่างแน่นอน หรือมีใจแล้วจะหนีความเจ็บใจไปให้พ้นก็ใช่วิสัยที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นเมื่อมีชีวิตขึ้นมาแล้ว จึงต้องแก้ปัญหาเพราะทุกข์มาบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ผู้มีปัญญาจึงเพียรพยายามอย่างสุดกำลังที่จะหนีไปให้ไกล และทำลายการเวียนว่ายตายเกิดนี้เสียให้ได้โดยเร็วที่สุด

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงการตาย กายเกิด ของสัตว์ทั้งหลายไว้ในแนวทางต่างๆ กัน และปฏิจจสมุปบาทก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งถ้าผู้ศึกษาทำความเข้าใจได้ดีเพียงพอหรือละเอียดลึกซึ้งพอสมควรแล้ว ก็จะเข้าถึงความจริงจนพ้นจากความสงสัยไปได้ โดยอาศัยเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกัน ผู้ศึกษาจนเข้าถึงความจริงว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอนเลย มีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นเรื่องที่สมมติขึ้นมาแท้ๆ ประชุมกันอยู่ชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็สลายไป แต่เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยแล้วก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ หมุนเวียนกันอยู่ดังนี้

     ความรู้ความเข้าใจดังกล่าว จะช่วยทำลายล้างความเห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ จะมีชีวิตหรือไม่มีก็ตาม มิใช่ว่าเป็นตัวตน เป็นคนเป็นสัตว์ แท้จริงมิได้มีเลย เมื่อมีเหตุมีปัจจัยมาประชุมพร้อมกันมันก็เกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัยมันก็สลายตัวไป ความเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไป เป็นอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย เหมือนรถยนต์คันหนึ่ง เราตั้งชื่อมันว่าเป็น รถยนต์ ก็เพราะมันมีเหล็กแบบต่างๆ มาประชุมกัน มีเครื่องยนต์ และมียางเข้ามาประกอบ ถ้ารื้อมันออกมาวางไว้คนละที่ มันก็จะมีแต่รูป แต่รถยนต์หายไป

     ผู้ใดได้ศึกษาจนมีความเข้าใจแล้ว ความหลงผิดคือสักกายะทิฏฐิยึดว่าเป็นตัวตน คนหรือสัตว์ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในขณะที่คิดพิจารณา วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในเรื่องตายเรื่องเกิดก็จะค่อยๆ หมดไปจากจิตใจ การยึดถือเอาไว้ผิดๆ ในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรมก็จะสลายตัว จะไม่มีโอกาสหลงเหลืออยู่ได้ ความเห็นว่าเที่ยง, ตายแล้วสูญ เกิดอีกไม่ได้ จะถูกทำลายไป และความเข้าใจว่าชีวิต หรือสิ่งไร้ชีวิตในสากลโลกนี้ต้องมีผู้สร้างก็จะถูกปัญญาเข้าทำลายล้าง และไม่ยึดมั่นถือมั่นผิดๆ อีกต่อไป

     สัตว์ทั้งหลายเมื่อจุติเกิดขึ้น คือถึงแก่ความตายลงแล้ว ถ้ากิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองที่ดองอยู่ภายในจิตใจยังคงมีอยู่แล้ว จะหนีจากการปฏิสนธิคือเกิดขึ้นมาอีกในภพใหม่ชาติใหม่อีกไม่ได้ อาจจะต้องเกิดเป็น เปรต อสุรกาย มนุษย์หรือเทวดาก็ได้ แล้วแต่อำนาจของบาปและบุญที่ได้กระทำเอาไว้

     อันการที่สัตว์ทั้งหลายไปบังเกิดอีกในภพใหม่ชาติใหม่นั้น อาศัยกำลังอำนาจของอารมณ์ที่ได้เมื่อตอนใกล้จะถึงแก่ความตายเป็นตัวผลักส่ง หรือเป็นแรงดันให้ต้องเกิดขึ้นมาอีก เหมือนเราจะไปชียงใหม่ อารมณ์ที่ปรากฏภายในจิตใจก็เป็นเชียงใหม่ นักล้วงกระเป๋าก็มีอารมณ์คือกระเป๋าของคนอื่นๆ มาปรากฏในจิตใจแล้วก็ยังไปที่ๆ มีคนสัญจรไปมา ตามรถ ตามเรือ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน คนที่มีจิตเป็นกุศลชอบทำบุญให้ทาน ระลึกถึงวัดเป็นอารมณ์เสียก่อนแล้วจึงเดินทางไปวัด

     บรรดาผู้ที่ใกล้จะถึงแก่ความตายก็จะมีอารมณ์มาปรากฏอยู่ต่อหน้า ซึ่งอารมณ์เหล่านี้จะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือที่ชั่ว บุญหรือบาปก็ได้ ซึ่งมักจะเป็นอารมณ์ที่ตนได้มีความชำนิชำนาญตั้งแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นส่วนมาก เช่น คนที่ชอบยิงนกตกปลา ก็มักจะเห็นไฟลุกเพื่อต้มสัตว์ เห็นอาวุธคือปืนผาหน้าไม้สำหรับใช้ในการฆ่าสัตว์ ก็จะเป็นตัวการสำคัญในการผลักส่งให้ผู้ถึงแก่ความตายต้องมาเกิดในที่ร้อนๆ ในที่ๆ มีความเจ็บปวดมากๆ นั่นก็คือเมืองนรก ถ้าเห็นเป็นบ้านช่องเห็นปราสาทราชวัง เห็นการทำบุญให้ทาน อารมณ์เหล่านี้ก็จะเป็นแรงดันให้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา

อารมณ์ คืออะไร?

     ธรรมดาของคนที่แก่มากๆ ถ้าอยากจะเดินทางไปไหนหรือจะไปมาหาสู่ใคร ก็มักจะต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนคู่ใจให้ไปด้วยกัน เพื่อนคู่ใจของคนแก่ก็คือไม้เท้าที่จะเอาไว้ค้ำยันเพื่อช่วยในการทรงตัว นั่นเอง

     จิตใจของบุคคลทั้งหลายก็เหมือนกับคนแก่ เพราะไม่มีความสามารถด้วยตนเองที่จะเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีผู้ช่วยเหลือแล้วก็จะเกิดขึ้นมาเองไม่ได้เลย ด้วยเหตุที่ว่าจิตใจนั้นมิได้เกิดขึ้นมาด้วยการดลบันดาลของใคร ทั้งมิใช่เป็นสิ่งกายสิทธิ์ที่จะมีสิทธิพิเศษอะไรด้วย

     จิตใจนั้นจะเกิดขึ้นมาได้ก็จะต้องอาศัย "เหตุ" ซึ่งเป็นไปตามหลักการของธรรมชาติ เหตุให้เกิดจิตใจมีหลายเหตุด้วยกัน แต่เหตุหนึ่งนั้นก็ได้แก่ "อารมณ์" นั่นเอง

     ในปัฏฐานนุทเทสทีปนี แสดงว่า

     "จิตฺเจตสิโกหิ อาลมฺทิตพฺพฏฺเฐน อารมฺมณํ" แปลว่า สภาวะที่สามารถยังให้จิตและเจตสิกธรรมข้องได้นั้นชื่อว่า อารมณ์ ฉะนั้นเมื่อถามว่า อารมณ์คืออะไร ก็ตอบคำถามนี้ได้ว่า อารมณ์คือธรรมชาติที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตหรือจะพูดให้ง่ายขึ้นอีก ก็ว่า อารมณ์ คือธรรมชาติที่จิตใจเข้าไปยึดจับนั่นเอง

     อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีอารมณ์อยู่แล้ว และอารมณ์มาปรากฏอยู่ต่อหน้าก็ตาม จิตก็จะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลยเป็นอันขาด ถ้าไม่มีสถานที่ๆ จะให้มันเกิด ไม่มีสถานที่ทำงาน ไม่มีทวาร หรือไม่มีประตู จิตจะทำงานได้อย่างไรเล่า ฉะนั้น

๑. รูปารมณ์ อันได้แก่คลื่นของแสงที่มากระทบตา เป็นตัวการให้จิตเจตสิกยึดจับ จึงเป็นอารมณ์ทางตา ก่อให้เกิดความรู้สึก "เห็น"

๒. สัททารมณ์ อันได้แก่คลื่นของเสียงที่มากระทบหู เป็นตัวการให้จิตเจตสิกยึดจับ จึงเป็นอารมณ์ทางหู ก่อให้เกิดความรู้สึก "ได้ยิน"

๓. คันธารมณ์ อันได้แก่กลิ่นที่มากระทบจมูก เป็นตัวการให้จิตเจตสิกยึดจับ จึงเป็นอารมณ์ทางจมูก ก่อให้เกิดความรู้สึก "ได้กลิ่น"

๔. รสารมณ์ อันได้แก่รสที่มากระทบลิ้น เป็นตัวการให้จิตเจตสิกยึดจับ จึงเป็นอารมณ์ ทางลิ้น ก่อให้เกิดความรู้สึก "รู้รส"

๕. โผฏฐัพพารมณ์ อันได้แก่การสัมผัสทางกายกับสิ่งที่มากระทบ เป็นตัวการให้จิตเจตสิกยึดจับ จึงเป็นอารมณ์ทางกาย มีความรู้สึกว่า อ่อนหรือแข็ง เป็นต้น

๖. ธรรมารมณ์ อันได้แก่การสัมผัสทางใจ จากตัวการที่มากระทบใจหลายอย่าง คือ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ นิพพาน บัญญัติ เป็นตัวการให้จิตเจตสิกยึดจับ จึงเป็นอารมณ์ทางใจ ก่อให้เกิดความรู้สึกคิดนึกขึ้น

     ความจริงจิตเกิดขึ้นที่ไหน ก็จะดับลงที่นั่น และอารมณ์ก็จะดับลง ณ ที่นั่นด้วย จิตดวงที่ปฏิสนธิเป็นจิตอีกดวงหนึ่งที่สืบต่อไปต่างหาก หาใช่เป็นดวงเดียวกันได้ไม่ เพราะว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะไม่เกิด ไม่ดับ หรือไม่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

     แต่เมื่อจิตดวงหนึ่งดับลงแล้ว ก็มีปัจจัยหลายประการสนับสนุนให้เกิดจิตดวงต่อไป สิ่งต่างๆ เช่น บุญ บาป อัธยาศัยใจคอ ทุกอย่างที่สั่งสมเอาไว้ก็สืบต่อไปยังจิตดวงใหม่ในชาติใหม่

     เมื่อบุคคลใดใกล้จะถึงแก่ความตาย ก็จะเกิดกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง

     อารมณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งสุดท้ายของชีวิตนี่เอง ที่เป็นตัวการส่งให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น

     จิต เจตสิก และกรรมชรูปที่เกิดขึ้นยังภพใหม่ชาติใหม่นี้ เรียกว่า ปฏิสนธิ เป็นจิต เจตสิก และกรรมชรูป ที่สืบต่อมาจากจุติจิตในภพชาติที่แล้วมา

     ความพิสดารของเรื่องการตายการเกิดมิใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ด้วยเหตุนี้ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงดำรงพระชนม์อยู่ เมื่อมีผู้ถามถึงเรื่องนี้ บางทีพระองค์ก็นิ่งเฉยเสีย ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทราบวาระจิตของผู้ถามดีว่าไม่มีความสามารถที่จะเข้า ถึงความจริงในเรื่องที่ลึกซึ้งเหล่านี้ได้ และความเชื่อของท่านผู้นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ(เห็นว่าเที่ยง) สืบต่อมาตั้งแต่อดีตชาติ มีความเหนียวแน่นในความคิดเห็นว่า คนตายแล้วจิตใจล่องลอยไปเกิด ถ้าพระองค์ยอมรับความเกิดในชาติหน้าโดยมิได้ให้หลักการและเหตุผลอย่าง ละเอียด ท่านผู้นั้นก็จะอาศัยคำรับรองจองพระองค์ออกไปเป็นเครื่องมือสนับสนุนความ เห็นผิดของตนให้หนักยิ่งขึ้น ความเสียหายก็จะขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

     นอกจากนั้นพระองค์ก็ทราบในวาระจิตของผู้ถามบางท่านดีว่า มิได้เป็นผู้ที่มีความปรารถนาที่จะทราบเรื่องการตายการเกิดนี้อย่างจริงใจ หากแต่ต้องการจะฉกฉวยโอกาสที่จะแสดงวาทศิลป์อันคมกล้าของตนให้เป็นที่ ประจักษ์แก่ผู้อื่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบความคิดอ่านนี้ดีว่าติดตัวมาหลายชาติแล้ว จึงมิได้โต้ตอบให้เสียเวลา

******

สมถะ

---------------------------------------

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท