มหกรรม KM เบาหวาน ครั้งที่ ๒ : เรียนรู้ R2R


R2R หัวใจคือการพัฒนางาน กำไรคือการตีพิมพ์เผยแพร่

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๑ (ภาคเช้า)

เราเริ่มการประชุมตั้งแต่ ๐๘.๓๐ น. เช่นเคย ผู้เข้าประชุมทยอยกันมาแต่เช้าเรื่อยๆ ชั่วโมงแรกเป็นเรื่องของ R2R “ยกระดับงานประจำด้านเบาหวานสู่งานวิจัย” มี รศ.นพ.สุภมัย สุนทรพันธ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.กะปุ๋ม นิภาพร ลครวงศ์ จากโรงพยาบาลยโสธร เป็นวิทยากร และ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ เป็นผู้ชวนคุย ดร.กะปุ๋มบันทึกเรื่องนี้ไว้ถึง ๓ ตอน อ่านได้ที่นี่ (, , )

 

ซ้าย รศ.นพ.สุภมัย กลาง ดร.ยุวนุช และขวา ดร.นิภาพร

อาจารย์สุภมัยมีความตั้งใจสูงมากที่จะมาทำหน้าที่วิทยากร ด้วยความไม่แน่นอนว่าสนามบินหาดใหญ่จะปิดหรือเปล่า จึงติดต่อกับเราล่วงหน้า เมื่อรู้ว่ามีผู้เข้าประชุมมาร่วมงานล้นหลาม อาจารย์จึงขอให้คืนตั๋วเครื่องบิน หาดใหญ่-กรุงเทพ และลงทุนนั่งรถโดยสารจากหาดใหญ่ไปขึ้นเครื่องบินที่นครศรีธรรมราช เรียกว่า spirit สูงจริงๆ

อาจารย์นุชก็เตรียมตัวเป็นผู้ชวนคุย มานอนค้างที่โรงแรมของศูนย์ประชุมล่วงหน้า และตั้งคำถามแบบคนที่ไม่รู้เรื่อง R2R แทนคนฟังได้อย่างที่เราอยากได้

 

ผู้เข้าประชุมยังเต็มห้องเช่นเคย

ช่วงต้นๆ ดิฉันไม่ได้อยู่ในห้องประชุม มานั่งฟังตอนที่อาจารย์สุภมัยพูดถึงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการที่จะพัฒนางานประจำ ที่มี “ม” หลายตัว เช่น หมกหมุ่น มองนอกกรอบ ไม่เชื่อใครง่ายๆ

ดร.กะปุ๋มบอกว่า R2R ไม่ใช่งานวิจัย แต่เป็นการพัฒนางานประจำ เริ่มต้นจากการกระตุ้นต่อม “เอ๊ะ” ให้เกิดก่อน ถ้าต่อม “เอ๊ะ” ไม่ทำงาน เราจะเบื่อ พอ “เอ๊ะ” เกิดขึ้น จะทำให้เราสนุกกับการทำงาน แม้ว่างานจะมีปัญหาอุปสรรค แต่คนทำงานจะไม่ท้อ เมื่อเกิดผลงานก็จะมีกำลังใจ พร้อมกับยกตัวอย่างทีมเบาหวาน รพ.ยโสธร

R2R สำคัญอย่างไร - R2R ทำให้การทำงานแต่ละวันมีความหมาย มีคุณค่า คนทำงานสนุก ถ้าทำไปเรื่อยๆ คนจะเบื่อหน่าย การเอากระบวนการวิจัยมาใช้ทำให้การทำงานแต่ละวันมีคุณค่ามีความหมายมากขึ้น

อาจารย์สุภมัย บอกว่าทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ประหยัดขึ้น แต่คุณภาพงานไม่เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างการตรวจ urine microalbuminuria ฝรั่งแนะให้ใช้ปัสสาวะช่วงเช้า ไม่ควรหลังเที่ยง และควรตรวจ Cr ในปัสสาวะด้วย ไม่ให้ตรวจ albumin เฉยๆ อาจารย์สุภมัยไม่เชื่อ ไป review literature ดู พบแต่ใน type 1 ไม่ได้พูดถึงใน type 2 อาจารย์ศึกษาแล้วพบว่าต้องกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะค่าจะแกว่ง และไม่จำเป็นต้องตรวจ urine Cr หลังจากนั้นไม่กี่ปีที่ผ่านมาฝรั่งก็ตีพิมพ์เรื่องนี้

R2R อาจจะเริ่มจากการแก้ปัญหาหน้างานก่อนก็ได้ ดร.กะปุ๋มบอกว่าอย่าพยายามคิดแยกส่วน เราทำ R2R ก็ตอนที่เราทำงานนั่นแหละ ไม่ใช่คิดว่าจะทำวิจัยแบบไหน ให้เริ่มจากคิดหาคำตอบ จากคำถาม ไปถามผู้ที่รู้วิจัยว่าควรทำแบบไหนถึงจะได้คำตอบ ข้อมูล R2R อยู่หน้างานอยู่แล้ว จุดต่างจากการทำงานทุกวันคือมีการบันทึกเกิดขึ้น เวลาปิ๊งแว๊บก็จดบันทึกไว้ เวลาเลิกงานก็ไปศึกษาเพิ่มเติม หาข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการ (สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือการจดบันทึกและการเขียนรายงาน)

อาจารย์สุภมัยเปรียบเทียบการทำงานแบบเดิมๆ ว่าในวันที่ออก OPD ตนเองเหมือนเด็กที่ตื่นเช้ามางอแงเรื่องไปโรงเรียน มาคิดใหม่ว่าทำอย่างไรให้การออก OPD สนุก......จับผู้ป่วยทุกคนเข้างานวิจัยให้หมด ความรู้สึกเวลาลง OPD ในงานประจำก็หายไป การตรวจผู้ป่วยมีการหาข้อมูลละเอียดขึ้น ใช้เวลามากขึ้น (R2R เนียนในเนื้องาน)

ทำ R2R แล้วเกิดอะไรขึ้น
ดร.กะปุ๋ม บอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เกิดข้างใน ภายในจิตใจ ทำให้ทำงานสนุกขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เช้าขึ้นมาอยากไปทำงาน อยากรู้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นไหม เพราะเราใส่วิธีการใหม่เข้าไป ประชาชน คนไข้ ลูกค้า ได้ประโยชน์

อาจารย์สุภมัย บอกว่าเห็นผลโดยตรงต่อผู้ป่วยชัดเจน ยกตัวอย่างผู้ป่วย GDM หลังคลอด ๖ สัปดาห์ต้องมาทำ OGTT ถามง่ายๆ ว่าทำไมต้อง ๖ สัปดาห์ ถ้านานกว่านั้นน่าจะดี เพราะช่วงแรกๆ ลูกยังเล็ก มีความไม่สะดวกมีภาระเยอะแยะ

จุดประกายแก่น้องใหม่แล้ว จะให้กำลังใจอย่างไร
ดร.กะปุ๋ม เมื่อมี “เอ๊ะ” เกิดขึ้นในงานของเรา ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องวิจัยว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องตั้งต้นจากการเรียนวิจัย ห coach ได้ R2R ไม่ใช่การทำวิจัย เป็นการพัฒนางานของเราด้วยกระบวนการวิจัย กำลังใจจะเกิดขึ้นขณะทำงาน ดร.กะปุ๋มยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า R2R หัวใจคือการพัฒนางาน กำไรคือการตีพิมพ์เผยแพร่

อาจารย์สุภมัยกล่าวว่าต่อม “เอ๊ะ” สำคัญ แต่ต้องกัดไม่ปล่อย มุ่งมั่น ย้อนเล่าเรื่องตอนอาจารย์เริ่มกินมังสะวิรัติ แรกๆ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ ทรมานมาก พอผ่านปีแรกไปความอยากลดลง ปีต่อๆ ไป ก็ลดลงไปเรื่อยๆ พอข้ามพ้นอุปสรรคมาแล้ว ก็สบาย

ดิฉันต้องขอขอบคุณอาจารย์สุภมัย ดร.กะปุ๋ม และอาจารย์ยุวนุช ที่ทำให้พวกเราชาวเครือข่าย KM เบาหวาน ได้เข้าใจ R2R มากขึ้น หวังว่างานมหกรรม KM เบาหวานครั้งต่อไปในปีหน้า เราคงจะมีเรื่องราว R2R เบาหวานมาแลกเปลี่ยนกัน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 207453เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณอาจารย์ด้วยครับที่สรุปให้อ่านอีกครั้ง

น่าเสียดายเหมือนกันครับที่ไม่ได้ฟัง มัวมุ่งมั่นกับฐานมากไปหน่อยน่ะครับ

ดีใจที่ได้มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยค่ะ ยังรู้สึกว่าได้มาช่วยอาจารย์น้อยจัง สิ่งที่อาจารย์ทำมีคุณค่าต่อสังคมอย่างมากค่ะ มาร่วมงานด้วยความศรัทธาจริงๆค่ะ ยังเป็นโอกาสได้พบดร.กะปุ๋มตัวจริงด้วย เคยเจอแต่ในบล็อก ได้พูดคุยกับคุณหมอสุภมัยและดร.กะปุ๋มแล้วเบิกบานนะคะ รู้สึกว่าการทำงานเป็นความสุขกับตนเองและยังประโยชน์ให้ผู้เจ็บป่วยด้วยควบคู่กันไป

ขอบคุณอาจารย์ค่ะที่กรุณาไปบอกข่าวลิงค์จูงมือมาอ่าน หมู่นี้ห่างบล็อกไปมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท