เล่าเรื่องงานเบาหวานที่ฮานอย (๒)


ใช้เวลาในการนำเสนอมากกว่าปกติเพราะต้องมีการแปลเป็นภาษาเวียดนาม

ตอนที่

วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒

วันนี้เรามีการประชุมที่ National Hospital of Endocrinology เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. คุณ David มารับที่โรงแรมเวลา ๑๑ น. นั่งรถแทกซี่ไปแวะที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งเพื่อคุยเตรียมการว่าจะนำเสนออะไรบ้างและกินอาหารกลางวัน ขณะนั้นยังไม่ถึงเวลาพักเที่ยง ที่ร้านยังไม่มีลูกค้าและเงียบจึงคุยกันได้ แต่พอเที่ยงแล้วมีคนเข้ามากินอาหารกันเต็มร้าน (เรานั่งที่ชั้น ๓) ทุกโต๊ะคุยกันเสียงดังมาก

หลังรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เรานั่งรถแทกซี่ไปยังโรงพยาบาลต่อ แทกซี่จอดให้เราลงริมถนน ทำมือบอกให้รู้ว่าไม่เข้าไปส่งเพราะในซอยแคบ เราต้องเดินเข้าซอยไปเอง ตัวโรงพยาบาลมีสภาพเป็นอาคารเก่าๆ บริเวณแคบ ไม่กว้างขวาง เทียบไม่ได้กับโรงพยาบาลในบ้านเรา ด้านหน้ามีผู้ป่วยและญาติอออยู่ส่วนหนึ่ง เหมือนกำลังติดต่อรับคิวอะไรทำนองนั้น (ไม่กล้าถ่ายรูปมาให้ดู) 

คุณ David พาไปที่ห้องทำงานของ Prof.Binh พบหมอผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า Prof.Binh ติดธุระจะมาพบพวกเราภายหลัง แล้วพาเราเดินไปยังห้องประชุม ณ อีกตึกหนึ่ง ดิฉันจำได้ว่าเคยพบกับคุณหมอคนนี้อย่างน้อย ๓ ครั้ง ที่ประเทศไทย (โรงพยาบาลเทพธารินทร์) ที่มะนิลา และกัวลาลัมเปอร์ ที่จำเธอได้เพราะเธอตัวเล็กๆ เมื่อถึงห้องประชุม ดิฉันจึงถามว่าเราเคยเจอกันที่นั่นที่นี่ใช่ไหม เธอนึกขึ้นได้ส่งเสียงดังดีใจแล้วเข้ามากอด ชื่อของเธอออกเสียงว่านาม

กว่าผู้เข้าประชุม (ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ มีพยาบาลมาไม่กี่คน) จะมาครบและได้เริ่มการนำเสนอได้ก็เลยเวลาไปประมาณ ๒๐ นาทีแล้ว ใช้เวลาในการนำเสนอมากกว่าปกติเพราะต้องมีการแปลเป็นภาษาเวียดนาม มีคุณหมอผู้ชายคนหนึ่งทำหน้าที่นี้ คุณ David นำเสนอข้อมูลจาก RAPIA ประมาณ ๓๐ นาที ด้วยสไลด์ที่ใช้ภาษาเวียดนาม หลังการนำเสนอมีคำถามเกี่ยวกับข้อมูลในรายงาน การคิด cost ราคาของอินซูลิน ฯลฯ บางคนก็ให้ข้อเสนอแนะ ผู้เข้าประชุมมีการ discuss กันเองด้วย ซึ่งเราก็ฟังไม่รู้เรื่อง

 

ในห้องประชุม

๑๕.๔๕ น.คุณ Marg McGrill พูดถึงความสำคัญของ Diabetes Education การพัฒนาพยาบาลให้สามารถทำหน้าที่เป็น educator ซึ่งจะสนับสนุนการทำงานของแพทย์ได้ แสดงให้เห็นภาพของการทำงานแบบ Acute care model ที่ใช้ได้ดีเฉพาะกับความเจ็บป่วยระยะสั้นๆ องค์ประกอบสำคัญของ Chronic care model การทำงานแบบ collaborative team approach บทบาทของ Diabetes specialist nurse/Educator ความสำคัญของภาษากายใน clinical consultation หลีกเลี่ยงการทำตัวแบบ school teacher รวมทั้ง concept ของ nurse-led clinic

 

ซ้าย คุณ David ขวา Marg McGrill

คุณ Marg บอกว่าการให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ education resources มาก แค่มีปาก มีหูสำหรับฟัง และมีใจก็พอ tools ก็สามารถทำได้เอง เช่น อาหารที่ไปซื้อจากตลาด ภาพวาด ฯลฯ ให้ข้อมูลว่า IDF จะช่วยอะไรได้บ้าง

ส่วนประกอบที่จะทำให้ diabetes service ประสบความสำเร็จ เช่น health system ที่เหมาะกับโรคเรื้อรัง ภาวะผู้นำ clinical guidelines การมี continuing professional education เป็นต้น ทางออกของเวียดนามมีอะไรได้บ้าง

ดิฉันนำเสนอต่อจากนั้น เนื่องจากเวลาเหลือน้อยจึงตัดสไลด์ข้อมูลสถานการณ์เบาหวานในประเทศไทยออก เล่าถึงพัฒนาการของ diabetes education ของบ้านเรา มีภาพกิจกรรมการให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยในรูปแบบต่างๆ พอมาถึงเรื่องของการใช้ KM ปรากฏว่าคุณหมอที่ทำหน้าที่แปล งุนงง บอกว่า “very new concept” ดิฉันเองก็อธิบายเป็นภาษาอังกฤษไม่เก่ง ถูไถไปจนจบและหมดเวลา

 

Prof.Binh (เสื้อขาว) มาตอนจบ

Prof.Binh จัดรถไปส่งพวกเราที่โรงแรมและนัดหมายเลี้ยงอาหารกลางวันในวันรุ่งขึ้น สภาพการจราจรในท้องถนนช่วงเลิกงานคึกคักมาก เราได้เห็นว่ารถทุกชนิดใช้พื้นที่บนท้องถนนได้เท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน มอเตอร์ไซด์ รถเก๋ง รถบัส....

กลับถึงโรงแรมประมาณ ๑๗.๓๐ น. เก็บของแล้วก็ไปที่ Lake เมื่อวาน นั่งพักและดื่มเครื่องดื่มเบาๆ หลังจากนั้นคุณ David พาพวกเราไปรับประทานอาหารเย็นที่ Sen Tay Ho ภัตราคารใหญ่ที่อยู่ไปทางอีกด้านหนึ่ง ระหว่างทางผ่านทะเลสาบอื่นอีก ไปถึงร้านเวลา ๑๙.๓๐ น. มีคนมากินอาหารที่นี่เยอะมาก เจอกลุ่มคนไทยด้วย มีอาหารบุฟเฟต์ทั้งของเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น แบบไทยๆ ก็มี เช่น ผัดไทย (แต่ไม่เหมือน) ใน guide book พูดถึง "Big Buffet" ถ้าถามถึงความอร่อย ก็ต้องบอกว่างั้นๆ แหละ ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่พิเศษ

กลับถึงโรงแรมที่พักเวลา ๒๑.๓๐ น. พรุ่งนี้จะไปที่โรงพยาบาลเด็ก ดิฉันจะปรับสไลด์ใหม่ ตัดให้สั้นลงและเพิ่มภาพกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้อินซูลิน โชว์บันทึก "เยี่ยมบ้าน ๓ ประสาน" ของทีมพุทธชินราชด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 255859เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2009 06:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท