279 ไปดูสุสานมูโอต์ที่หลวงพระบาง


นี่คือเรื่องราวของ สุสานมูโอต์ และชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนความสัมพันธ์กับสยามประเทศในยุคนั้น ทำให้ทราบพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่นำพาประเทศรอดพ้นการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสไปได้... ได้ความรู้สึกดีดีต่อประเทศชาติ มากมายทีเดียวครับ...

เพราะคำกล่าวของท่านอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริที่ว่า  ...หลุมศพนี้..ช่างน่า นอนตาย และงดงามเสียนี่กระไร.... (ในหนังสือที่ชื่อ The Mekong: From Dza Chu-Lancang-Tonle Thom to Cuu Long) ทำให้ผมต้องหาทางไปดูสถานที่แห่งนี้ เมื่อคราวไปหลวงพระบางครั้งที่สองที่เพิ่งผ่านมา...   

ผมเอ่ยปากถามคนขับรถวันนั้น ก็เป็นชาวหลวงพระบางที่ ออกรถตู้ มารับจ้างนักท่องเที่ยว น้องคนนี้ชื่อ ต้น เขาบอกว่าไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน เราไปถามคนขับรถรับจ้างคนอื่นๆแถวนั้น เขาบอกว่าอยู่ริมน้ำคานใกล้บ้านนุ่น ออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร ต้น จึงรู้ทางแต่ก็สารภาพว่าไม่รู้เรื่องสุสานนี้จริงๆ ??  สะท้อนหรือเปล่าว่า น้อยคนนักที่จะมาดูสุสานนี้ ? 

ระหว่างทางเป็นลูกรังกับฝุ่นตลบ เหมือนวิ่งจากหลวงพระบางไปไชยบุรีไม่ผิด แต่ที่แย่กว่าเพราะต้องเลาะไปตามลำน้ำคานโค้งไปมาคนที่เมารถก็คงไม่ชอบ ส่วนผมเองนั้นชอบที่ได้ดูน้ำคานอันสวยงามเบื้องล่างนั่น ซึ่งน้ำใส สวย เบื้องล่างท้องน้ำเขียวขจี แน่นอนเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นั่นคือ ไคน้ำ หรือไกบ้านเรา หรือสาหร่ายน้ำจืด ที่ขึ้นชื่อลือชานักในเรื่องคุณค่าทางอาหาร ผมและเพื่อนๆบอกให้จอดรถและถ่ายรูปแต่ก็ไม่สวยเท่าที่ต้องการเพราะอยู่สูงเกินไป   

วงกลมแดงนั่นคือที่ตั้งของสุสาน มูโอต์ 

พักเดียวเราก็มาถึงสถานที่สุสาน อองรี มูโอต์ (ระยะทางวัดโดย Google เท่ากับ 5.29 กม.)ขอทบทวนประวัติคนนี้สักนิดหนึ่งครับ 

...........ในสมัยที่ลาวและกัมพูชายังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ากรุงเทพฯ ในรัชสมัยรัชการที่ 4 มีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเข้ามาสำรวจดินแดนสยาม ลาว กัมพูชา เมื่อปี 2401-2404 นายคนนี้ชื่อ อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่ได้รับทุนจากอังกฤษ….   

          เขาสำรวจทั่วดินแดนลุ่มน้ำโขง เขามากรุงเทพฯ จันทบุรี เพชรบุรี สระบุรี  ครั้งสำคัญคือเลาะลัดจากตราดไปเมืองกัมปอต เดินต่อไปยังอุดง เมืองหลวงกัมพูชาสมัยนั้น แล้วขึ้นตนเลธมจนถึงนครวัด แล้วกลับเข้ากรุงเทพฯ          

            ในปี 2404 เขาเดินทางเข้าสู่ที่ราบสูงโคราช ไปชัยภูมิ เข้าปากลายแล้วขึ้นไปหลวงพระบาง ได้ไปเฝ้าเจ้ามหาชีวิต จันทราช และในที่สุดมูโอต์ก็เป็นไข้ป่าและเสียชีวิตที่หลวงพระบาง เมื่อ 29 ตุลาคม 2404 อายุเพียง 35 ปี ศพของเขาฝังที่ริมน้ำคานด้านเหนือหลวงพระบาง          

           บันทึกของเขาที่น้องชายและภรรยาเขาตีพิมพ์ขึ้นภายหลังนั่นเองทำให้นครวัดนครธมกลายเป็นสิ่งเลื่องลือถึงความมหัศจรรย์ของโลกตะวันออก และเป็นผลทำให้ฝรั่งเศสสนใจในดินแดนอินโดจีนอย่างมหาศาลจนในที่สุดก็เข้ามายึดครองเป็นอาณานิคม           

            การสำรวจแม่น้ำโขงไม่ได้สิ้นสุดที่ มูโอต์เท่านั้น ยังมีอีกชุดหนึ่งคือ ดู ดาร์ต เดอ ลาเกร (Dudart de Lagree) ในปี 2409 วัตถุประสงค์เพื่อเส้นทาง ประตูหลังเข้าสู่เมืองจีน ทีมสำรวจชุดนี้มีนายทหารหนุ่มที่ คลั่งแม่น้ำโขงชื่อ ฟรานซีส การ์นิเยร์ มาด้วย  ชื่อบุคคลเหล่านี้จะปรากฏบนสุสานของมูโอต์ด้วย....    

เส้นทางเข้าถึงสุสานเหมือนถูกพัฒนามาเมื่อเร็วๆนี้เอง มีสะพานไม้ไผ่ข้ามลำห้วยปูพื้นด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ ทำราวจับและกันตกลงไปในห้วยพอใช้ได้ เส้นทางเดินไปถูกปรับให้เป็นทางชั่วคราวดูสะอาด เข้ากับบรรยากาศดี เบื้องล่างซ้ายมือคือแม่น้ำคาน ใส เขียวขจีด้วยไคเต็มท้องน้ำ ผมละตื่นเต้นที่จะเห็นตัวสุสาน....   

คุณครูสาวพาเด็กๆมาทำความสะอาดสุสานมูโอต์ทุกสัปดาห์ 

เราเดินมาสัก 50 เมตรก็มาถึงสถานที่ เราแปลกใจที่มีเด็กๆอยู่กันเต็ม(ประมาณ 30 คน) ต่างก็กวาดใบไม้ ทำความสะอาดบริเวณสุสานทั้งหมด มีสาวใหญ่สองท่านคุมการทำงานของเด็กๆ  ผมเข้าไปสอบถามทันที เป็นใคร มาทำอะไร มาจากไหน มากับใคร ทำไมถึงมา มาบ่อยไหม....คำตอบคือ เป็นคณะเด็กนักเรียนของโรงเรียนประจำหมู่บ้านนุ่นเหนือขึ้นไปไม่ไกลมากนัก คุณครูสองท่านเป็นคนพามาทุกต้นสัปดาห์ เป็นคำสั่งของท่านเจ้าแขวงหลวงพระบางให้มาทำความสะอาด... 

ผมถามเธอว่าเธอรู้จักประวัติคนที่นอนในสุสานนี้ไหม เธอรู้จักครับ..??   

เธอแสดงความยินดีที่เรามาเที่ยวสุสานแห่งนี้ ที่เธอเด็กนักเรียนและชาวบ้านใกล้ๆแห่งนี้มีส่วนมาดูแล... 

ผมนึกถึงการจัดการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ว่าเขาทำได้ดี ที่เอานักเรียนมาช่วยกันทำความสะอาดบริเวณแห่งนี้และหากครูท่านนี้จะถือโอกาสบรรยายประวัติศาสตร์นายคนนี้กับหลวงพระบาง กับประเทศลาว ต่อหน้าสุสาน และสถานที่ทางประวัติศาสตร์จริงแห่งนี้ ผมว่ามันน่าเรียนยิ่งนัก...   

เด็กนักเรียนตั้งใจทำความสะอาดกันเต็มที่อย่างมีความสุข แบ่งกันรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆจนทั่วบริเวณ แม้ว่าสถานที่จะยังไม่ได้ลงทุนมากนักในการปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ก็ดีมากสำหรับผมเห็นเช่นนั้น ร่มรื่น แต่ไม่น่านอนตาย อย่างท่านอาจารย์ชาญวิทย์กล่าว อิ..อิ..   

ถ้าถามถึงความสมบูรณ์ของการให้ความรู้ที่เรียกว่า สังคมแห่งการเรียนรู้นั้น ผมว่า ยังขาดบางอย่างไป ซึ่งสำคัญมากๆ เหมือนกับ หลายๆแห่งในเมืองไทยก็ขาดสิ่งที่ผมจะกล่าวนี้ คือ.... ขาดอะไรสักอย่างที่อธิบายถึงสุสานแห่งนี้ เขาเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หลวงพระบางและลาวอย่างไร  ทำไมถึงมาอยู่ในสุสานแห่งนี้..ฯลฯ ไม่มีแผ่นป้ายบรรยายข้อความดังกล่าว  มีผู้รู้ประวัติศาสตร์จากการอ่านหนังสือเท่านั้น  แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจริงๆคงจะน่าฟังน่าศึกษามากกว่า แต่ไม่มี.. คนมาดูที่ไม่ทราบประวัติศาสตร์ก็จะไม่สัมผัสพัฒนาการของสังคมแห่งนี้ไป ...   

ชื่อบุคคลและพ.ศ.มันบอกอะไรแก่คนทั่วไปบ้าง หากไม่มีการบรรยายก็ไม่ทราบว่ามันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคนี้อย่างไร น่าเสียดายที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบางไม่ได้ทำสิ่งนี้ไว้ ผมคงมีโอกาสสะท้อนเรื่องนี้ให้เจ้าเมืองบ้างในโอกาสข้างหน้า 

บันทึกผมน่าจะจบลงตรงนี้ แต่หากท่านสังเกตที่ตัวสุสานจะมีชื่อ  “Pavie” อยู่ด้วย ผมคุ้นๆชื่อนี้จริงๆ อีตาหมอนี่เกี่ยวข้องกับไทยมากมายนัก  

ทำให้ผมต้องย้อนไปทบทวนประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อจะทราบประวัติ ซึ่งก็พบว่า คนชาติเดียวกับมูโอต์ คือเป็นฝรั่งเศสที่รัฐบาลเขาส่งมาปกครองญวนซึ่งฝรั่งเศสเอามาเป็นอาณานิคม และPavie ก็คิดขยายอาณานิคมไปทางตะวันตกคือ เขมรลาว ไทย ซึ่งสมัยนั้นลาว เขมรส่วนใหญ่เป็นประเทศราชของไทยในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 และที่ 5 ขอนำบางส่วนมาลงไว้ดังนี้  

               ในรัช สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ฝรั่งเศสได้ส่งเมอซิเออร์ เดอมองติญี (Monsieur de Montigny) เป็นราชทูตเข้ามาเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทย โดยยึดถือแนวทาง การทำสัญญาเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่ได้ทำไว้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ได้เริ่มมีกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ กงสุลฝรั่งเศสคนแรกคือ คองต์ เดอ คาสเตลโน (Conte de Castenau)  

               ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทยได้ส่งพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ไปทำสัญญากับฝรั่งเศสเรื่องเมืองเขมรกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ตามสัญญาฉบับนี้ไทยยอมรับรู้ว่าเขมรอยู่ใต้ความคุ้มครอง ของฝรั่งเศส ส่วนเมืองพระตะบองและเสียมราฐนั้น ฝรั่งเศสยอมให้ไทยปกครองตามเดิม ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสเริ่มแบ่งเขตแดนไทยกับเขมรบริเวณทะเลสาบกับแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยต้องการเมืองจงกัล เมืองโซเตียน เมืองมโนไพร และเมืองท่าราชปริวัตรเป็นของไทย 

                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ไทยได้ส่งพระยาราชวรากูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) ไปเจรจากับฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนและการภาษี จับปลาในทะเลสาบ การเจรจาปัญหาเขตแดนไม่คืบหน้านัก เนื่องจากฝรั่งเศสเริ่มทำสงครามกับเยอรมนี  

               ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ไทยยกกำลังไปปราบฮ่อ โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ฝรั่งเศสได้กล่าวหาไทยว่าถือโอกาสรุกล้ำเข้าไปในดินแดนลาว ซึ่งอยู่ในอำนาจของญวน ซึ่งฝรั่งเศสกำลังจัดการปกครอง เมืองญวนอยู่ ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำอนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง โดยมี ม.ปาวี (Auguste Pavie) เป็นไวซ์กงสุล (Viee Consul) ประจำเมืองหลวงพระบาง เพื่อทำหน้าที่ดูแลความเคลื่อนไหวของไทยในดินแดน ลาว และสำรวจการสร้างทางระหว่างตังเกี๋ยกับแม่น้ำโขง  

                ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ไทยกับฝรั่งเศสได้เจรจาเรื่องปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับญวน โดยตั้งกรรมการผสม โดยมี ม. ปาวี เป็นหัวหน้าคณะ ออกทำการสำรวจแผนที่และภูมิประเทศชายแดน และในปีต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันว่า กองทหารไทยจะไม่เข้าไปในแคว้นสิบสองจุไทย ส่วนในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นพวน คงให้อยู่ใน สถานะเดิมคือ ทหารฝ่ายใดตั้งอยู่ที่ใดก็ให้คงอยู่อย่างนั้น ห้ามรุกล้ำเขตซึ่งกันและกัน จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันที่กรุงเทพ ฯ ส่วนทางด้านคำเกิด คำม่วน กองทหารไทยยกไปตั้งจนถึงเขตแดนญวน ม.ปาวี ก็ได้ทำความตกลงกับ ข้าหลวงเมืองหนองคาย ให้ต่างฝ่ายต่างรักษาสถานะเดิม คือให้ฝ่ายไทยอยู่ที่คำม่วน ฝรั่งเศสอยู่บ้านนาเป  

               ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ม.ปาวี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นไวซ์กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ และได้เลื่อนฐานะเป็นราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๕ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสชื่อ ม.เดอลองดล์ ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาดินแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมร รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบ และให้รับดำเนินการต่อไป จากนั้นฝรั่งเศสได้ยกกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการใช้กำลัง ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ใน ร.ศ.๑๑๒  

นี่คือเรื่องราวของ สุสานมูโอต์ และชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนความสัมพันธ์กับสยามประเทศในยุคนั้น ทำให้ทราบพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่นำพาประเทศรอดพ้นการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสไปได้... 

ได้ความรู้สึกดีดีต่อประเทศชาติ มากมายทีเดียวครับ... 

------------------------ 

หมายเหตุ: ข้อมูลจาก จดหมายเหตุแดนสยาม oursiam.net 

หมายเลขบันทึก: 161686เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2008 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ป้าแดงเคยบอกว่า ไม่รู้จัก ก็เพราะคนส่วนใหญ่หรือว่าทัวร์พาเที่ยวไม่รู้จักนี้เอง ค้นในเวบท่องเที่ยวก็ไม่มีใครเคยพูดถึง

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับป้าแดง

  • ผมเดาเอาว่ามีหลายเหตุผลครับ
  • หนึ่ง ไม่รู้จริงๆ เหมือนบ้านเราแหละมีหลายสถานที่ที่เป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่รู้จัก นี่คือความบกพร่องของสังคมแห่งการเรียนรู้ไงล่ะครับ คนที่รับผิดชอบไม่ได้จัดการส่งเสริมการเรียนรู้
  • สอง คนพลวงพระบางรู้ แต่หากพูดถึงบุคคลเหล่านี้แล้วไปสกิดต่อมความรู้สึกไม่ดีต่อเขา จึงอยากจะลืมมันเสีย.. เหมือนเราไปเยี่ยมพระราชวังเจ้ามหาชีวิตของลาวที่หลวงพระบาง เมื่อตอนพาไปกราบพระบาง(ซึ่งประวัติศาสตร์นำมาจากเขมร)  เราก็ไปกราบหลายคนขอหวยด้วยซ้ำไป ผมได้ยินชัดเจน..อิอิ .ไปขอหวยถึงต่างประเทศโน้น...พระบางคู่กับพระแก้วมรกต เขาไม่กล่าวถึงพระแก้วเลย...หากเป็นคนเที่ยวเป็นชาวต่างชาติ เขาคงพูดว่า ....แต่ก่อนมีพระแก้วมรกตอยู่ตรงนี้ แล้วราชอาณาจักสยามมาปล้นเอาไป..อะไรทำนองนั้น....
  • สาม รู้แต่ไม่อยากพาไปเพราะเส้นทางไม่สดวกในการพาเข้าไป ฝุ่นมาก ถนนลูกรัง รถสวยๆใหม่ๆเสียดายตายเลย รถนำเที่ยวเขาก็ขี้เกียจพาไปเพราะเขาต้องกลับมาล้างรถอีก รถก็มีชั่วโมงซ่อมเร็วขึ้นอีก... คนขับรถที่ผมนั่งไปนั้นตอนต้นก็อิดออดที่จะพาไป แต่เราย้ำว่า จะไปดู..เขาก็ถึงพาไป...

 

ตามพ่อครูบา  มาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

สวัสดีครับพี่บางทราย

เมื่ออ่านจบมีคำถามขึ้นมาว่า "ทำไมคนลาว คนเขมร จึงมีความรู้สึก(คิด)ว่า คนไทยไม่ดี เอาเปรียบ" แต่ความรู้สึกที่คนเหล่านี้มีต่อพวกฝรั่ง(เศษ)เป็นอย่างไรครับ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ พี่บางทราย

แฮ่ๆๆๆๆ (พี่บุ๊ค) ที่เราคุ้น ๆ นี่เอง

ขอบคุณค่ะ ที่เอาเรื่องราวประเทศเพื่อนบ้านมาฝาก

แล้วจะมาเก็บเกี่ยวความรู้ไปเยอะ ๆ เพื่อเป็นวิทยาทานต่อๆ ไปนะคะ

ขอบคุณค่ะ

จากสาวขอนแก่น แดนอีสาน บ้านเฮา ชาว มข. จ้า

สวัสดีครับท่านครูบาครับ P  3. ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ดีใจที่ได้เข้าห้องเรียน แห่งนี้

เรื่องมันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย ผมเลยเก็บมาต่อเนื่องครับ อย่างน้อยที่สุดก็ทบทวนความทรงจำของเรากันเองครับ

การทวนประวัติศาสตร์ หรือย้อนหลังดูกำพืดเราบ้างก็ดีนะครับ ไม่หลงลืม ทำให้การก้าวไปข้างหน้า สุขุมมากขึ้นครับ

น้องหนิงครับ P 4. DSS "work with disability" ( หนิง )


ตามพ่อครูบา  มาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

 หากเราลืมประวัติศาสตร์เท่ากับเราไม่เรียนรู้วัฏจักรของสังคมโลก เลยลากไปจนถึงประวัติศาสตร์เราครับ

สวัสดีครับอาจารย์ P 5. ภูคา

เมื่ออ่านจบมีคำถามขึ้นมาว่า "ทำไมคนลาว คนเขมร จึงมีความรู้สึก(คิด)ว่า คนไทยไม่ดี เอาเปรียบ" แต่ความรู้สึกที่คนเหล่านี้มีต่อพวกฝรั่ง(เศษ)เป็นอย่างไรครับ...

คนลาวและคนเขมรมีความคิดว่าคนไทยเอาเปรียบเพราะเขาเองก็เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ในฉบับของเขา ในสำนึกของเขา ในวิธีการสั่งสอนของเขา เขาอาจจะมีความรู้สึกเหมือนกับเรารู้สึกเสียกรุงแก่พม่า.... แต่เราไม่แสดงออกมากนัก  แต่ลาวและเขมรแสดงออกมากกว่า  และประวัติศาสตร์เขาเปรียบเทียบด้วยว่า ญวนกับเขานั้นเมื่อเทียบกับไทยกับเขานั้น ญวนให้ความช่วยเหลือเขามากกว่า....เราไปเผาเมืองเขาจนเกลี้ยงทั้งเวียงจันทร์ และเมืองนคร....จนต้องย้ายเมืองหลวงไป...

ส่วนเขากับฝรั่งเศส เป็นความรู้สึกที่พี่เองก็อยากรู้เหมือนกัน ไม่มีโอกาสถามครับ และอยากจะถามแต่ยังไม่กล้า เพราะต้องสนิมสนมพอสมควร รู้ใจกันพอสมควรจึงจะถาม  หากได้ไปอีกจะลองหาโอกาสถามครับ...

แต่พี่ไปพบชาวบ้านที่เขาบอกว่าผืนแผ่นดินที่เขาอยู่นั้นเคยเป็นดินแดนไทนมาก่อน...???  น่าสนใจแมะ  เดี๋ยวจะเขียนเล่าให้ครับ....

 

สวัสดีครับ P 6. บัวปริ่มน้ำ


แฮ่ๆๆๆๆ (พี่บุ๊ค) ที่เราคุ้น ๆ นี่เอง  ขอบคุณค่ะ ที่เอาเรื่องราวประเทศเพื่อนบ้านมาฝาก แล้วจะมาเก็บเกี่ยวความรู้ไปเยอะ ๆ เพื่อเป็นวิทยาทานต่อๆ ไปนะคะ จากสาวขอนแก่น แดนอีสาน บ้านเฮา ชาว มข. จ้า

 

ยินดีรู้จักกันครับ อยู่ใกล้กันนี่เอง เราอาจจะเดินวนทางกันจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้วมังครับ  หากจำได้ก็ทักทายกันนะครับ ผมก็วนๆอยู่ที่ rdi นั่นแหละครับ 

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อ.บางทราย

  • อิจฉาอาจารย์จังเลย ได้ไปเที่ยวซอกแซกแบบที่ยายกาแฟชอบเลย
  • แต่ตอนที่ไป อดซอกแซก เพราะหัวเดียวกระเทียมลีบไม่รู้จักใคร
  • ได้แต่เดินเที่ยวจนขาบวม ค่ะ
  •  นึกภาพตามสุสานมูโอต์นี้ ตอนแรกเริ่มทำใหม่ ๆ น่าจะสวย เพราะตั้งอยู่บนเขาและติดริมแม่น้ำ
  • และน่าไปนอนตายจริง ๆ
  • แต่ภฺมิทัศน์ที่เปลี่ยนไป ต้นไม้ที่สูงขึ้น รักชัฎขึ้นคงทำให้ เปลี่ยนไปเยอะ
  • คนเรายิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม  บางคนตายไปไม่มีกระทั่งสุสานนะคะ

         < ----- เอากาแฟ ถ้วยใหญ่ ๆมาฝากค่ะ

  • สนุกค่ะ
  • สนใจกระทู้คุณภูคาด้วยคนค่ะ    เหมือนกับที่สงสัยว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นสมัยนี้รู้สึกยังไงกับอเมริกา / รู้หรือเปล่าว่าอเมริกาทำอะไรไว้กับบรรพบุรุษของตัวเอง 

สวัสดีครับน้องสาวกาแฟ..

กำลังหิวกาแฟพอดี  ชอซดก่อนนะ...แฮ่....ชื่นใจ..

การศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนได้เปรียบเรื่องสถานที่น่ะครับ เมื่อโอกาสมาก็เอาเล้ยยย...ไปเลย ไปสัมผัส ของจริง สัมผัสประวัติศาสตร์ และจินตนาการไปต่างๆมากมาย  ยิ่งเห็นชุมชนมีส่วนร่วมเช่นนี้ก็ยิ่งชื่นใจ

เป็นไปได้ครับที่สมัยก่อนคงสวยมากกว่านี้  แต่ปัจจุบันก็ โอเคนะครับ ที่ยังไม่มีใครต่อใครมามากจนเกินความสงบ... มันก็สวยและสอนชีวิตเราได้ดีว่านี่คือสุดท้ายของคน คงเหลือแต่ประวัติใครทำดีคนก็เล่าลือกันไป ชื่นชมกันไป ใครทำไม่ดี ก็ฮื่ม.....

สุสานฝรั่งน่าไปชมมากกว่าสุสานไทย....จริงแม๊ะ...น้องกาแฟ..ครับ

ว่าแล้วก็ขอซดหน่อย...

ขอบคุณครับกาแฟอร่อย...นั่นแน่ะ...

อ้อ  มีอีกแห่งคือวังของท่านเจ้าเพชรรัตน์ น้องกาแฟไปไหม...อยู่ที่หลวงพระบางนี่แหละ....อิอิ....เดี๋ยวจะเขียนถึง

P
ค่ะ อ่านแล้ว รู้สึกรักเมืองไทย เป็นบุญของเราที่มี...

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ช่วงนั้นน่าเสียวไส้มากว่า จะต้องเป็นเหยื่อนักล่าแน่ๆ
เราต้องรู้ ประวัติตัวเราเองนะคะ พิพิธภัณฑ์เปิดแล้วอย่าลืมไปค่ะ
สวัสดีครับ  P  12. ดอกไม้น้อย

  • สนุกค่ะ
  • สนใจกระทู้คุณภูคาด้วยคนค่ะ    เหมือนกับที่สงสัยว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นสมัยนี้รู้สึกยังไงกับอเมริกา / รู้หรือเปล่าว่าอเมริกาทำอะไรไว้กับบรรพบุรุษของตัวเอง

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยม น่าสนใจความรู้สึกของคนเหล่านั้น ผมเองก็ทำงานกับคนญี่ปุ่น แต่ไม่เคยถามสิ่งนี้  คงต้องถามสักวัน  แต่ในทัศนะผมคิดดังนี้ครับ

  •   ขึ้นกับว่า generation นั้นๆมีความใกล้ชิดกับเหตุการณ์นั้นๆมากน้อยแค่ไหน
  • generation นั้นถูกสั่งสอนอบรมภายในครอบครัว สังคม โรงเรียน และ....อย่างไร
  • ขึ้นกับการปรับทัศนคติว่านั่นคืออดีต เพียงเป็นอดีต มุ่งสู่อนาคต สร้างอนาคตดีกว่า
  • อย่างไรก็ตามถามเขาดีกว่าครับ  หากมีโอกาสจะถามครับ
สวัสดีครับท่านพี่ใหญ่
P
ค่ะ อ่านแล้ว รู้สึกรักเมืองไทย เป็นบุญของเราที่มี...

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ช่วงนั้นน่าเสียวไส้มากว่า จะต้องเป็นเหยื่อนักล่าแน่ๆ
เราต้องรู้ ประวัติตัวเราเองนะคะ พิพิธภัณฑ์เปิดแล้วอย่าลืมไปค่ะ
จริงๆครับพี่ใหญ่ ผมบันทึกเรื่องนี้จึงต้องย้อนไปทบทวนประวัติศาสตร์เรา และก็รู้สึกเช่นที่ท่านพี่ใหญ่กล่าวจริงๆครับว่า เป็นบุญเหลือเกินที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่มีสติ
ในประวัติศาสตร์ยังบอกด้วยว่า เราเกือบพลาดท่าหากเราไปเชื่อนายทหารชาวเดนมาร์กที่มารับราชการและทูลแนะทางออกโดยการให้เอาเรือของเราแล่นชนเรือฝรั่งเศสที่ปิดปากอ่าว  แต่พระองค์ท่านประเมินว่า นั่นคือการประกาศทำสงคราม และกำลังอาวุธเราสู้ไม่ได้  จึงเลือกทางที่สามคือยอมเสียดินแดน เหมือนกับเสียแขนดีกว่าเสียชีวิต...
ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับพี่บางทราย

น่าศึกษามากครับ ...เรื่องเหล่าผมนี้ไม่มีทางรู้เลยถ้าไม่ได้มาอ่านและดูรูปตรงนี้...เคยไปหลวงพระบางมาครั้งนึงครับ..ไปถ่ายรูปงานสถาปัตยกรรมแต่ก็ไม่ได้ละเอียดถึงเพียงนี้

ขอบคุณสำหรับความรู้....จะคอยติดตามครับ

โอชกร

สวัสดีครับน้อง P  17. โอชกร - ภาคสุวรรณ

บังเอิญพี่ไปเข้าร่วมประชุมเรื่องวิกฤติแม่น้ำโขงเทื่อปีก่อนๆ โดยนักวิชาการไทยทั้งหมด และมีเอกสารออกมาพี่ตุนไว้หลายเล่ม เมื่อบทบาทหน้าที่เราเข้ามาเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงจริงๆก็ฟื้นข้อมูลเหล่านั้น  และก็รู้อะไรอะไรมากขึ้น  จึงเอามาถ่ายทอดน่ะครับ มันเกี่ยวข้องกับเรามานานในอดีต  เราลืมไปแล้ว เลยทบทวนกันครับ

 

ตามมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และได้เห็นในสิ่งที่ทัวร์ไม่มีวันพาไปค่ะ และขอโทษอีกครั้งที่เคยให้ข้อมูลที่สับสนเรื่องที่ฝังศพมูโอต์นะคะ

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งของประเทศตัวเองและประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อนำมาพิจารณาอย่างมีสติ ทำให้ได้ข้อคิดมากมายและทำให้เราไม่หลงตัวเองนะคะ อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่จะเท่าทันนานาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะการรุกราน หรือการเข้าครอบครองพรางมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากเราไม่มีความภูมิใจในชาติของตน ไม่เข้มแข็งทางวัฒนธรรม ก็กลายเป็นอาณานิคมของเขาในอีกรูปแบบหนึ่ง

ที่จริงเขาอาจไม่ได้มีเจตนาจะครอบงำทางวัฒนธรรม เพียงแต่เป็นการแสวงหาประโยชน์อย่างโลกทุนนิยม ธรรมดาๆ ที่ประเทศไหนๆก็ทำเช่นนี้ พอหลงอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยทุน ก็จะหาตัวเองไม่เจอ เท่านั้นเอง ใช่มั้ยคะ

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับ P  19. คุณนายดอกเตอร์ 

ตามมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และได้เห็นในสิ่งที่ทัวร์ไม่มีวันพาไปค่ะ และขอโทษอีกครั้งที่เคยให้ข้อมูลที่สับสนเรื่องที่ฝังศพมูโอต์นะคะ

ถ้าที่ไม่ได้อ่านงานของอาจารย์ชาญวิทย์ไปก่อนก็คงไม่มีโอกาสได้รู้จักมูโอต์ และไม่มีโอกาสได้ไปดูสุสานของเขาหรอกครับ เรื่องสับสนข้อมูลนั้นไม่เป็นประเด็นเลยครับน้องนุชครับ..

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งของประเทศตัวเองและประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อนำมาพิจารณาอย่างมีสติ ทำให้ได้ข้อคิดมากมายและทำให้เราไม่หลงตัวเองนะคะ อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่จะเท่าทันนานาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะการรุกราน หรือการเข้าครอบครองพรางมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากเราไม่มีความภูมิใจในชาติของตน ไม่เข้มแข็งทางวัฒนธรรม ก็กลายเป็นอาณานิคมของเขาในอีกรูปแบบหนึ่ง

พี่ให้ความสำคัญเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากก็ตอนอ่านงานของอาจารย์ดร.นิธิ และอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์นี่แหละครับ และหาโอกาสศึกษาอยู่เสมอ เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ ก็เข้าใจเรา เข้าใจเขาโดยเฉพาะพฤติกรรมต่างๆที่เพื่อนบ้านมีต่อเรานั้น ประวัติศาสตร์เป็นเงื่อนไขมากจริงๆ เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่สัมผัสความจริงนี้ครับน้องนุชครับ 

ที่จริงเขาอาจไม่ได้มีเจตนาจะครอบงำทางวัฒนธรรม เพียงแต่เป็นการแสวงหาประโยชน์อย่างโลกทุนนิยม ธรรมดาๆ ที่ประเทศไหนๆก็ทำเช่นนี้ พอหลงอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยทุน ก็จะหาตัวเองไม่เจอ เท่านั้นเอง ใช่มั้ยคะ

เห็นด้วยครับ  เพียงแต่ว่าวัฒนธรรมมันมากับตัวบุคคล การปฏิบัติ เลยเข้าไปผสมผสานกันกับของเจ้าถิ่น..  ขอบคุณครับน้องนุช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท