รำลึกถึง "ครูโกมล คีมทอง และ ครูรัตนา สกุลไทย" ... ครูเล็ก ๆ ของแผ่นดิน


"ข้าพเจ้าตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า การเป็นครูนั้นมิใช่ของง่ายเลย มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ข้าพเจ้าจะต้องฝึกฝนให้พร้อมและเหมาะสม ความรู้กับวิธีการถ่ายทอดนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ทุกคนอาจมีความรู้อยู่เต็มที่เสมอกัน แต่ถ้าไม่ตระเตรียมค้นคิดใฝ่หาเทคนิคการจะถ่ายทอดแล้ว การสอนก็เหมือนการท่องความรู้ให้นักเรียนฟัง" ... โกมล คีมทอง

"โกมล คีมทอง" ชื่อนี้คุ้นไหมครับ .. เป็นชื่อ มูลนิธิโกมล คีมทอง หรือ สำนักพิมพ์โกมล คีมทอง ซึ่งเวลาที่เดินตามงานหนังสือเราจะพบสำนักพิมพ์นี้อยู่บ่อย ๆ เด็กรุ่นใหม่ ๆ คงไม่รู้จัก คนรุ่นเก่าย้อนไปสัก 30 ปี จึงเคยได้ยินชื่อ โกมล คีมทอง

โกมล คีมทอง คือ ครูคนหนึ่งซึ่งมีปณิธานอันแข็งแกร่ง ยืนหยัดในความเป็นครูจนตัวตายด้วยอายุไม่มากนัก พร้อม รัตนา สกุลไทย เพื่อนรัก ณ บ้านเหมืองห้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในยามที่ประเทศไทยแบ่งขั้วการเมืองเป็นคอมมิวนิสต์ขั้วหนึ่งที่ต่อสู้กับรัฐบาลในสมัยนั้น

คุณหมอ กมล แสงทองศรีกมล ได้ประมวลสรุปเรื่องราวของครูโกมล คีมทอง เอาไว้ในหนังสือ "พลิกเรื่องเรียนรู้ สู่อัจฉริยะ" เห็นชื่อหนังสือ ช่างไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ ... คนที่เป็นครูควรอ่านอย่างยิ่ง ครับ

 

**********************************************************************

ครูเล็ก ๆ ของแผ่นดิน

 

 

คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในปัจจุบัน น้อยคนที่จะทราบว่า โกมล คีมทอง เป็นใคร และยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีกที่จะรู้ว่าเขาเคยทำเคยสร้างอะไรมาบ้าง เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว มีข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวหนึ่งที่โด่งดังมากเกี่ยวกับ บัณฑิตหนุ่มสาวจากจุฬาฯ สองคน ถูกยิ่งเสียชีวิตขณะอุทิศตนเป็นครูเข้าไปตั้งโรงเรียนสอนหนังสือแก่เด็กในท้องถิ่นทุรกันดารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คนหนึ่งนั้นคือ โกมล คีมทอง อีกคนเป็นเพื่อนสาวของเขาที่ชื่อ รัตนา สกุลไทย ความน่าสนใจของชายหนุ่มคนนี้อยู่ตรงที่ว่า เขาเป็นคนหนุ่มที่ไม่เคยลังเลใจในการประกาศปณิธานแห่งชีวิตว่า "จะขอเป็นครูตราบชั่วชีวิต" ตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อยและยังศึกษาอยู่ ทั้งที่ด้วยโอกาสของเขาหลังจากจบการศึกษาแล้ว สามารถไต่บันไดทางการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเสาะหาอาชีพที่ทำให้สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของเขาดีขึ้นได้โดยไม่ลำบากนัก ตามอย่างเพื่อนนิสิตนักศึกษาทั่วไปในสมัยนั้น แต่เขากลับไม่ทำ

 

 

รักและหยิ่งต่ออาชีพครู

คนที่ผมรู้จักเล่าว่า เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา เขาเคยทักถามเพื่อนที่เรียนคณะครุศาสตร์ว่า

"จบแล้วจะไปเป็นครูหรือเปล่า" ปรากฎว่าเพื่อนคนนั้นโกรธมาก ทั้ง ๆ ที่คนถามไม่ได้คิดอะไร ทำไมความรักและความภาคภูมิใจต่ออาชีพครูจึงน้อยนักดังเช่นที่โกมลเคยอยากแก้ไขความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของคนในคณะครุศาสตร์ ในข้อเขียนของเขาเรื่อง ความว่างเปล่า ในหนังสือ เพลิงชมพู

"เคยคิดลามปามมาถึงคณะในฐานะผู้ผลิต ไฉนจึงยัดเยียดให้กันแต่ความรู้ ความคิดที่สำคัญกว่าไม่ได้ให้ การปลูกฝังให้รักและหยิ่งต่ออาชีพ ไม่มีการสร้างอุดมคติแก่นิสิตไม่มี ด้วยเหตุนี้เมื่อจบออกไปแต่ละรุ่น จึงได้คนทำงานครูเป็น 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 40 เปอร์เซ็นต์ ถูกกลืนหายเข้าแดนสนธยาไปเสีย ความผิดพลาด ความสูญเสีย ทั้งนี้ทุกคนตระหนัก ทั้งนิสิตและคณะ แต่ไม่เคยเลยที่จะได้เห็นท่าทีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น"

 

 

 

ครูฝึกสอนที่ต้องสอบใหม่

ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย โกมลรู้สึกผิดหวังมาอยู่เรื่องหนึ่ง คือ การฝึกสอนนักเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในช่วงเทอมแรกของปีการศึกษา 2512 เขาพยายามดำเนินการในแบบที่คณะวางไว้และผสมผสานแบบของเขาเอง ชั่วระยะเวลาสอนครั้งหนึ่ง ๆ นั้น เขาพอใจมาก เด็กนักเรียนทุกคนชอบเขา เห็นว่า ครูโกมลสอนดี มีความรู้ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมาให้เสมอ ๆ เขาเคยพูดว่า อาจารย์นิเทศเคยแนะนำให้เพื่อนนิสิตเอาอย่างเขา แต่เมื่อถึงวันสอบ เขาต้องสอบถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเขาไม่ดำเนินการตามแบบที่ได้วางไว้ตายตัว แต่พยายามค้นหาสาระและจุดหมายของการสอนครั้งนั้น ผลปรากฎว่า เขาต้องสอบใหม่ ผลการสอบครั้งนี้ทำให้เขาผิดหวัง และรู้สึกลังเลในระบบวัดผลการฝึกสอน ที่ถือเอาการสอนเพียงครั้งเดียว ชั่วโมงเดียว เป็นเครื่องตัดสินชีวิตคน

 

 

ครูต้นแบบ

นอกจากโกมลจะได้ซึบซับภาพความเป็นครูจากบิดาของตนแล้ว ในช่วงวัยแรกรุ่น เขายังมีภาพประทับใจต่อครูคนหนึ่ง ซึ่งเคยสอนเขาสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง ที่โรงเรียนบ้านหมี่วิทยา ครูท่านนั้นชื่อ ธวัชชัย เหรียญทอง  จดหมายที่เขาเขียนถึงครูคนนี้ ขณะที่กำลังเป็นนิสิตฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศบ่งชัดว่า เขาได้แบบอย่างแห่งความเป็นครูที่แท้จากครูผู้นี้มาเพียงไร เขาเขียนว่า "คำพูด คำสอนของครูทั้งหมด ตลอดบุคลิก ท่าทาง การปฏิบัติตัวของครู เป็นสิ่งที่ฝังใจผมอยู่เรื่อยมา และมารู้ตัวมากขึ้นเมื่อมาสอนเด็กอยู่ขณะนี้"

 

 

ครูบ้านนอก

โกมลได้ไปปรึกษาอาจารย์สุลักษณ์ว่าจะเลือกทำงานอย่างไหนดี อาจารย์แนะนำเพียงว่า เขาต้องตัดสินใจเอง และบอกแก่เขาว่า

"การเป็นอาจารย์ในกรุงเทพฯ ก็ดี ถ้ามีอุดมคติ คิดจะไปปรับปรุงแก้ไขระบบจากภายใน ก็คงทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ข้อสำคัญของการทำงาน ต้องนึกเสียว่าแพ้บ้างชนะบ้างละ ก็เป็นใช้ได้ อยู่กรุงเทพฯ ก็มีประโยชน์ตรงที่จะตักตวงความรู้ได้อีก มีโอกาสพบปะผู้คนได้มาก ได้เรียนรู้อะไรอีกมาก ส่วนการออกไปเป็นครูบ้านนอกก็เป็นความคิดที่ดี แต่ถ้ามีความฝันไว้มากก็ต้องเตรียมผิดหวังไว้ให้มาก ๆ ด้วย พร้อมกันนั้น การทำอะไร ถ้าไม่ฝัน มันก็เข้าร่องว่าสักแต่ทำไปวัน ๆ ดังเป็นลูกจ้างเขา หรือ ดังคนขายตัวขายอุดมการณ์ทั้งหลายนั่นเอง คนที่มีอุดมคติต้องเตรียมที่จะรับการผิดหวังไว้ โดยเฉพาะในกรณีของสภาพสังคมปัจจุบัน"

 

โกมลไปถึงสถานีรถไฟบ้านส้อง ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองไม่มากนัก เขามีกระเป๋าเดินทางใบย่อมติดตัวมาเพียงใบเดียว แต่มีลังกระดาษบรรจุหนังสือตำราต่าง ๆ อีกสี่ใบ ขณะที่เสื้อผ้าและหนังสือส่วนใหญ่ได้แจกจ่ายแก่เพื่อน ๆ และเด็กยากจนไปหมด นำติดตัวมาเฉพาะที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องใช้ ตามสภาพของการอยู่ป่า เมื่อผู้จัดการเหมืองสั่งให้แม่บ้านจัดเครื่องนอนสำหรับเขา เขาก็ขอรับเอาเพียงเสื่อผืนหมอนใบและผ้าห่มสักผืน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อจะได้ฝึกการกินง่าย

ในขณะนั้นโรงเรียนมีเพียงอาคารชั่วคราว ยังไม่อาจเปิดรับเด็กได้ทันในปีการศึกษาที่จะถึง แต่โกมลคิดว่า เทอมกลางนี้จะเอาเด็กก่อนเกณฑ์มาเริ่มสอนไปพลางก่อน เพราะได้สำรวจเด็กไว้หมดแล้ว แต่ปัญหาคือ จะสอนอะไรแก่เด็กอีกทั้งยังต้องดำเนินการก่อสร้างต่อให้เสร็จ นั่นคือ พื้นของอาคารยังต้องปรับการแบ่งห้อง จัดห้อง การสร้างโต๊ะ เก้าอี้ และส้วม ห้องน้ำ บ่อน้ำ และประปา ไฟฟ้าประจำโรงเรียน ซึ่งต่อมาจากเหมือง

 

เมื่อรับงานเกี่ยวกับโรงเรียนแล้ว โกมลได้ขอเวลาไปศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดชั้นเรียน การจัดอุปกรณ์การสอน ตลอดจนหลักสูตรในท้องที่ต่าง ๆ นับตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในจังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่กรุงเทพฯ รวมถึงการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจากทางราชการ ทั้งยังจะจัดให้มีแผนกอาชีวะ ช่างเครื่องยนต์ ช่างไม้ และการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งไม่ใช่งานเล็กน้อยเลย

อาจารย์สุมนเคยพูดว่า ไม่เคยเห็นลูกศิษย์คนใดเตรียมตัวที่จะออกไปทำงานมากเท่าโกมล เนื่องจากเขาเรียนมาทางด้านสาขามัธยมศึกษา แต่เมื่อต้องไปตั้งโรงเรียนประถม เขาจึงมาขอคำแนะนำจากอาจารย์สุมนซึ่งเป็นครูประถม และยังไปขอความรู้จากอาจารย์ผู้ใหญ่หลายแห่ง ทั้งที่เป็นงานวิชาการและที่เกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียนการสอน ไปขอความร่วมมือจากเพื่อน ๆ ต่างคณะในเรื่องของการออกแบบการก่อสร้างอาคารเรียน บ้านพักครู และสนามเด็กเล่น ไปขอความรู้จากคนที่มีความรู้ทางด้านพืชพันธุ์ไม้ เพื่อนำมาปลูกในบริเวณโรงเรียน เรื่องการทำสวนครัว

 

 

โรงเรียนตัดเสื้อโหล

แนวคิดของครูโกมลนับว่า ล้ำสมัยมาก โดยเฉพาะ การศึกษาที่เริ่มจากฐานคือ ชุมชน ไม่ควรเป็นหลักสูตรที่ถูกบังคับให้เป็นโดยไม่สนใจความต้องการของชุมชน จากข้อเขียน เรื่อง ข้าพเจ้ากลัว โกมลได้กล่าวไว้ว่า

"เรื่องของโรงเรียนแต่เดิมมา เราทำเป็นแบบสำเร็จรูป ทำแบบออกมาแบบหนึ่งแล้วบังคับใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร เหมือนการตัดเสื้อโหลขายอย่างนั้น ความเหมาะสมไม่ค่อยได้คำนึงถึง แต่การศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำกันง่าย ๆ อย่างการตัดเสื้อโหลหรือตัดชุดทหารเกณฑ์ เราน่าที่จะได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างคนในที่ต่าง ๆ ปัญหาของคนในที่ต่าง ๆ ว่ามีอย่างไร สภาพทางการอาชีพที่แตกต่างกันเหล่านี้ เราควรจะต้องนำมาพิจารณาจัดหลักสูตรจัดเรื่องการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป มากกว่าที่จัดให้ทุกอย่างมาอยู่ในฟอร์มหรือแบบเดียวกันหมดทั่วประเทศ นี่เป็นประเด็นกว้าง ๆ ที่อยากจะมาทำเรื่องการโรงเรียนชุมชน"

 

"ข้าพเจ้าตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า การเป็นครูนั้นมิใช่ของง่ายเลย มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ข้าพเจ้าจะต้องฝึกฝนให้พร้อมและเหมาะสม ตลอดระยะแรก ๆ นี้ ข้าพเจ้ามั่นใจ เหมือนดังแม่ทัพผู้นำกองทัพเข้าสู่ยุทธภูมิความลำพองและฮึกเหิมย่อมมีมากสุดที่จะประมาณ แต่แล้วต่อไปและต่อไปอีกเล่า ความลำพองนี้จะมิกลายเป็นความทระนง ความยโส และลืมตัว เมื่อเข้าสอนลืมตัวว่าตัวเองรู้ เพราะการเจนจัดในการทำแต่เรื่องนี้ซ้ำซาก แต่ข้าพเจ้าหารู้ไม่ว่า ความรู้กับวิธีการถ่ายทอดนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ทุกคนอาจมีความรู้อยู่เต็มที่เสมอกัน แต่ถ้าไม่ตระเตรียมค้นคิดใฝ่หาเทคนิคการจะถ่ายทอดแล้ว การสอนก็เหมือนการท่องความรู้ให้นักเรียนฟัง"

 

 

นักเรียนของครูโกมล

ถาวร หนูแก้ว อดีตหัวหน้านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งรุ่นแรกแห่งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา เล่าบรรยากาศสมัยที่ครูโกมลมาสอนหนังสือเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ท่านบอกว่า "มีอะไรเธอก็ถามครูนะ การถามนี้คือความรู้ ไม่ต้องกลัวครู ถ้าเราเป็นคนที่รู้ตัว รู้ฐานะ การคุย เราไม่ต้องกลัวครู แต่เราต้องเกรง การกลัวกับการเกรงมันผิดกัน ไม่เหมือนกัน ถ้ากลัว เราลนลาน ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราเกรง เวลามีอะไรเรากล้าปรึกษา กล้าถาม กล้าพูด" ท่านสอนอย่างนั้น ในตอนนั้น ท่านคงรู้ว่าพวกผมยังอ่านหนังสืออะไรไม่ค่อยได้ จึงยังไม่มีหนังสือให้ พอมาช่วงหลัง ๆ พอเห็นว่า พวกผมอ่าน สะกดหนังสืออะไรได้บ้างแล้ว ท่านก็เอาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับประเทศไทยมาให้อ่าน ผมชอบมากเลย

และถาวรยังเล่าอีกว่า "ครูโกมลของเด็ก ๆ มักพานักเรียนออกมาเรียนคำอ่านนอกห้องเรียน ท่านบอกว่า แสงแดดตอนเช้านี้มันมีประโยชน์ มันจะช่วยบำรุงกระดูกอะไรผมก็จำไม่ค่อยจะได้ ตอนนั่งคุยอย่างนั้น บางคนไปนั่งกอดเอวท่านบ้าง นั่งบนตักท่านบ้าง"

 

สารภี ศรีนุ่ม ลูกศิษย์คนหนึ่งของโกมลเล่าว่า "ครูโกมลชอบเดินไปเยี่ยมบ้านนักเรียน เดินครั้งหนึ่งระยะทางก็สี่ถึงห้ากิโลเมตร ครูสอนดี ไม่ตี พูดเพราะ ไม่ด่าไม่ว่า นักเรียนส่วนมากเป็นเด็กยากจน ครูจะรับนักเรียนที่ยากจนก่อน ฉันไม่มีหลักฐาน ไม่มีสูติบัตร ครูก็ให้เรียน ไม่ถือว่า กินข้าวจากปิ่นโตเดียวกันได้ ไปค้างบ้านไหนใครก็รัก"

เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะแต่งกายธรรมดา ใส่ชุดพื้นบ้าน มีอะไรก็ใส่ไปที่ซื้อมีน้อยมาก เพราะครูไม่อยากให้เด็กนักเรียนลำบาก ในโรงเรียนมีแปลงปลูกผักบุ้ง โดยให้นักเรียนช่วยกันรดน้ำดูแล เมื่อโตพอก็ให้เด็กตัดและมัดกลับบ้าน แม้เหตุการณ์เหล่านั้นจะผ่านมานานกว่า 30 ปี แต่ความทรงจำอันงดงามและความรู้สึกประทับใจยังคงแจ่มชัดในความรู้สึกของเหล่าลูกศิษย์ ครูโกมลจึงเป็นที่รักของเด็กนักเรียน

 

 

ช่วงท้ายของชีวิต

ในเขตพื้นที่ของเหมืองและหมู่บ้านที่โกมลไปอยู่นั้น เป็นพื้นที่อันตรายเพราะอยู่ในเขตปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งโกมลรู้ดีแต่เขาคิดว่าอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เป็นพิษภัยแก่ผู้ใด ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์มีมากเกินไป จนเขาไม่ให้ความสำคัญแก่ปัญหานี้

เขาเคยเขียนจดหมายถึงอาจารย์สุลักษณ์เล่าเรื่องดังกล่าวไว้ว่า "ในช่วงเวลาที่ผมมาอยู่กรุงเทพฯ 10 วัน มียิงกันตายวันละศพ รวมแล้วแปดศพ ข่าวว่าคนยิงนั้นตำรวจคุ้มกันอยู่ด้วยซ้ำ และไม่มีการจับกุมแต่อย่างไร สถานที่ยิงอยู่ห่างจากกิ่งอำเภอไปไม่เท่าไร คนยิงก็รู้เห็นกันอยู่ แต่ไม่มีใครหาญเข้าแสดงตัวว่า เห็นคนยิงชาวบ้านเองก็พรั่นพรึงอยู่เช่นกัน เวลาค่ำคืนจะไม่ค่อยออกเดิน งานศพของคนที่ตายเงียบเหงา เพราะไม่มีคนกล้าไป เราสองคนก็อดหวาดตามคนอื่นไปด้วยไม่ได้ แต่ก็ยังเดินกลางค่ำกลางคืนอยู่อย่างเดิม กลับบ้านห้าทุ่ม เที่ยงคืนประจำคนในบ้านรับรองความปลอดภัยให้ เขาให้คำมั่นว่า ชีวิตครูเขารับรองเอง แต่จะไปเชื่ออะไรกันนัก ชีวิตที่นั่นอยู่ด้วยความรู้สึกว่า เราบริสุทธิ์ใจและให้ความจริงใจต่อเขามากกว่า เราเชื่อมั่นอยู่ว่าเราไม่มีอะไรที่เป็นพิษและภัยกับใคร เราก็น่าจะไม่มีภัยด้วย อีกอย่างหนึ่งก็ได้อาศัยความเชื่อในเรื่องกรรม ซึ่งถ้าได้เคยทำไม่ดีเอาไว้ ก็น่าที่จะได้รับการชดใช้กันเสีย จะหลีกเลี่ยงอยู่ทำไม หรือหลีกเลี่ยงก็ไม่น่าจะเลี่ยงไปได้ อาศัยหลักยึดเสียอย่างนี้ ก็เลยไม่สู้วิตกอะไรนัก"

 

พวกคอมมิวนิสต์เกิดสงสัยครูโกมล คิดว่า เป็นสายลับปลอมตัวมาสืบราชการลับให้กองทัพบก ประกอบกับบทางเหมืองก็รู้เห็นเป็นใจช่วยทางราชการตัดถนนขึ้นไปทางบ้านเหนือคลอง ทำให้ทหารจากค่ายชุมพร ยกกำลังพร้อมลากปืนใหญ่ขึ้นไปถล่มพวกคอมมิวนิสต์ที่หมู่บ้าน ครูเลยถูกระแวงว่ามาอยู่เพื่อติดตามพฤติกรรมชาวบ้าน จึงทำให้ ครูสองคน และเสรี คนนำทาง ถูกยิงเสียชีวิต

 

 

อาทิตย์ดับที่บ้านเหนือคลอง

วันนั้น คือ วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 ทั้งสามคนออกเดินทางจากโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาประมาณเที่ยงวันหลังโรงเรียนเลิก ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า "เขารู้จักกันในงานวันเปิดป้ายโรงเรียน เสรีไปเป็นโฆษก ก็ชวนกันว่า ว่าง ๆ ไปเที่ยวบ้านเหนือคลองด้วยกัน พอไปถึงโรงเรียนที่เหนือคลอง ชาวบ้านเขาบอกให้กลับ กลุ่มที่ไปด้วยบอกว่า ไม่ได้ไปทำอะไร แค่ถ่ายรูป แต่พวกข้างบนกลัวว่า จะถูกทางนายซัก เลยฆ่าปิดปาก" เวลานั้นค่ำแล้ว ชาวบ้านแถวนั้นทราบเรื่องครูถูกยิงบ้างแล้ว แต่ที่เหมืองยังไม่มีใครรู้ รุ่งขึ้นอีกวันจึงรู้กันทั่ว

ครูโกมลของเด็ก ๆ 40 คน ที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขาเสียชีวิตทันที เขามีโอกาสใช้ชีวิตเป็นครูตามปณิธานแห่งชีวิต ในถิ่นทุรกันดารแห่งนั้นได้ไม่ครบปีดีก็ถูกยิงเข้าทางด้านหลังจนเสียชีวิต ขณะที่มือของรัตนาเองก็กำหญ้าแน่น บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่เธอได้รับ ทั้งคู่อายุเพียง 25 - 26 ปี เท่านั้น บรรยากาศของเย็นวันนั้นจึงเยือกเย็นและมืดมนไปทั่วบ้านส้อง ประมาณเดือนสองเดือนหลังจากนั้น พวกในป่าก็ออกโปสเตอร์เผยแพร่ โดยยอมรับว่าเป็นผู้สังหารคนทั้งสามเอง เนื่องจากคิดว่าเป็นสายลับให้แก่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

 

 

อุดมการณ์จะลุกโพลง

ศพของทั้งคู่ถูกส่งมาถึงกรุงเทพฯ ทางรถไฟ พวกเขาได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุของวัดเดียวกัน ในงานนั้น กัลยาณมิตรของโกมลได้ช่วยกันรวบรวมจดหมายและข้อเขียนของเขา รวมถึงประวัติ คำไว้อาลัยและข่าวการตายที่ปรากฎในสื่อมวลชน จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกงานสังสการศพ ใช้ชื่อว่า จดหมายและข้อเขียนของโกมล คีมทอง นำมาตอบแทนแก่ผู้สมทบทุนขั้นต้น เพื่อใช้ก่อตั้งมูลนิธิโกมล คีมทอง ซึ่งตั้งตามนามของเขา

อาจารย์สุลักษณ์เขียนไว้ในคำนำหนังสือที่ระลึกในงานศพเล่มดังกล่าวว่า ต้องการมุ่งที่จะให้เป็นอนุสรณ์แด่ชีวิต เท่า ๆ กับเป็นอนุสรณ์แห่งการตายของโกมล โดยเชื่อว่าจะเป็นพลังส่งต่อยังคนรุ่นใหม่ไปอีกนานแสนนาน ตราบที่คนไทยยังเห็นคุณค่าของคนที่มีอุดมคติ ซึ่งเลือกดำรงชีวิตอย่างเสียสละเพื่อส่วนรวมยิ่งกว่าเพื่อส่วนตัว สิ่งซึ่งโกมลก่อไว้ จักไปลุกในดวงใจของผู้อื่นให้ลุกโพลงตามอย่างเขา

ต่อมาเพื่อนและผู้ใหญ่หลายท่านที่รัก เข้าใจ และตระหนักถึงความเสียสละของเขา ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิของสามัญชนตามชื่อของเขาขึ้น เพื่อสืบสานปณิธาน ความคิด และเป็นเสมือนแบบอย่างแห่งความเสียสละของคนหนุ่ม ผู้สนใจใฝ่รู้ มีความเคารพต่อคนท้องถิ่น อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างจริงใจ

แม้ครูโกมล คีมทอง จะตายไปแล้ว แต่ดอกตูมในวันนี้จากผลงานของเขาจักผลิบานขึ้นในดวงใจของเราในวันต่อไป

 

 

อ่านจบแล้ว ย้อนกลับคิดถึงตัวเองว่า ... เราเป็น "ครู" ได้ครึ่งหนึ่งของหัวใจครูโกมล กับ ครูรัตนา หรือยัง ?

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่าน

 

 

แหล่งอ้างอิง

กมล แสงทองศรีกมล.  พลิกเรื่องเรียนรู้ สู่อัจฉริยะ.  กรุงเทพฯ: ฐานบุ๊คส์, 2551.

http://www.sarakadee.com/feature/2003/02/komol.htm (14 พ.ค.51).

http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=3&d_id=3 (14 พ.ค.51).

http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (14 พ.ค.51).

หมายเลขบันทึก: 182356เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ขอบคุณครับ สำหรับบันทึกที่ปราณีต และมีคุณค่า

การเป็น"ครู" เป็นอาชีพที่เสียสละ มีเกียรติครูใช้พลังเต็มที่กับการสร้างคนเพื่อเป็นกำลังสติปัญญาของชาติ

ให้กำลังครูดีครับ...   :)

คืนนี้ย้อนอ่านบันทึกถึงสองรอบแบบละเอียด...

"....และถาวรยังเล่าอีกว่า "ครูโกมลของเด็ก ๆ มักพานักเรียนออกมาเรียนคำอ่านนอกห้องเรียน ท่านบอกว่า แสงแดดตอนเช้านี้มันมีประโยชน์ มันจะช่วยบำรุงกระดูกอะไรผมก็จำไม่ค่อยจะได้ ตอนนั่งคุยอย่างนั้น บางคนไปนั่งกอดเอวท่านบ้าง นั่งบนตักท่านบ้าง"...

ทำให้นึกภาพจินตนาการความใกล้ชิด ผูกพันระหว่างครูกับลูกศิษย์

ผมดูทีวีช่องหนึ่ง เห็น นร.โผเข้ามากอด ดร.อาจอง ที่โรงเรียนสัตยาไสย ภาพแบบนี้งดงามมากในความรู้สึกครับ

------------------------------------------------------------------

ให้กำลังใจครู Was เขียนบันทึกดีๆอย่างต่อเนื่องนะครับ จะติดตามเสมอ

  • อ่านเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเป็นนิสิต
  • ที่มศว
  • ตอนนั้นเป็นสมาชิกของมูลนิธิที่อยู่ตรงข้ามวัดวิเศษการ ตรงซอยช่างหล่อ
  • อาจารย์ที่ มศว สงขลาเคยเป็นนายกองค์การนิสิตที่จุฬาฯ
  • ท่านเล่าว่า สนิทกับโกมล
  • ชอบอันนี้ครับ
  • เวลานี้เราขาดคนที่ยอมตน
  • เป็นก้อนอิฐ
  • ให้ก้อนหนึ่งที่จบมิด
  • เพื่อให้สิทธิ์ก้อนอื่น
  • ยืนทรนง
  • คนรุ่นหลัง คงไม่ค่อยมีคนรู้จัก
  • ดีใจที่อาจารย์เอามาเขียนครับ

ขอบคุณครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :) ... ก็ใช้เรียบเรียงหลายชั่วโมงเหมือนกันครับ ไม่อยากให้คนปัจจุบันลืมครูดี ๆ น่ะครับ

ขอบคุณ อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ครับ ... ครูดีต้องแวะมาอ่านครูดีครับ

 

“หินก้อน แรกร่วง ลงพื้น ก้อนอื่น ร่วงตาม ทับถม

กลบมิด ก้อนเก่า เจ้าจม สะสม เป็นทาง ให้เดิน”

คนเดือนตุลาอย่างผมนั้นตราตรึงกับครูโกมล คีมทองเป็นที่ยิ่ง เป็นหนึ่งในอุดมคติที่หนุ่มสาวสมัยนั้นยึดเป็นแบบ

นี่เป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้มาเป็นคนเข็นครกขึ้นภูเขา ครับ

ขอบคุณ พี่ บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา) ครับ ... พี่มา ... ถือเป็นการยืนยันถึง คุณความดี ของ ครูโกมล คีมทอง และครูรัตนา สกุลไทย ครับ :)

รายละเอียดมากมาย น่าอ่านมากค่ะ ชื่นชม

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ พี่แจ๋ว jaewjingjing

ตอนแรกว่าจะแบ่งเป็นสองตอน แต่มันอาจจะทำให้เกิดการแย่งความสนใจ และไม่ใส่ใจของคนอ่านได้ครับ

ยาวแค่ไหน ก็ทำให้ได้บันทึกเดียวครับ ลองค่อย ๆ อ่านนะครับ พี่แจ๋ว :)

อ่านจบแบบเร็วๆ ไปแล้วหนึ่งรอบค่ะ

บันทึกของอาจารย์พี่อ่านมากกว่าหนึ่งรอบเสมอค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ไม่รู้จักค่ะ
  • แต่อ่านแล้ว นึกถึงครูดีๆ ทางใต้

 

ขอบคุณ สำหรับบันทึกที่งดงามเล่มนี้

น่าเสยดาย ที่จะมีผู้คนสักกี่ที่จะได้อ่าน โดยเฉพาะคนเป็น...ครู ...

ขอบคุณครับ พี่แจ๋ว jaewjingjing ... ชื่นใจจังที่พี่แจ๋วอ่านมากกว่าสองรอบแสดงว่า ... ตัวหนังสือมันเล็กใช่ไหมครับ อ่านยากไปหน่อยเนาะ เลยอ่านมากกว่าสองรอบ :) ข้อเขียนนี้ดีใช่ไหมครับ ?

สวัสดีครับ หนู morisawa :)

  • สบายดีนะ ช่วงนี้เป็นไงบ้าง ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมเลย
  • ถ้าหนูนึก "ครูจูหลิง" ... ครูโกมล กับ ครูรัตนา คือต้นแบบของครูดี ครับ

บุญรักษา ครับ

ถูกต้องครับ คุณ ครูเอ ... บันทึกนี้จะมีคนสักกี่คนที่ได้อ่าน หรือ เข้ามาถึง เพราะบันทึกอยู่ในสมุดบันทึกที่ไม่ค่อยมีคนสนใจครับ มีเพียงแต่ว่า การบอกต่อเรื่องราวของกัลยาณมิตรครับ ยิ่งไปกว่านั้น สามารถเป็นกำลังใจให้กับคนที่เป็นครูดี ให้ครูหลาย ๆ ท่านนำไปสอนนักเรียน นักศึกษาได้ เพราะนี่คือตัวอย่างของชีวิตครูดี ครูที่สังคมยกย่องมาก ๆ :)

บุญรักษา ครับ

สวัสดีค่ะ คุณ Wasawat Deemarn

ครูปูนำภาพต้นสาระมาฝาก เพื่อเป็นสิริมงคลในวันพระใหญ่วันนี้นะคะ

ขอบคุณครับ คุณ ครูปู  สำหรับต้นสาละ ครับ :)

น.พ.กมล แสงทองศรีกมล

ดีใจอย่างยิ่งตามประสานักเขียนคนหนึ่งครับที่เห็นคุณครู ในบลอค เห็นอ่านหนังสือ พลิกเรื่องเรียนรู้สู่อัจฉริยะ

ที่จริง ครูและอุดมการณ์ของครูเกี่ยวข้องกับการศึกษาและการเรียนรู้อย่างมาก ครูเป็นอาชีพสำคัญมาก

ไม่ได้มาโฆษณาให้หนังสือตัวเอง แต่อยากสื่อให้ทราบว่าในเล่มมีเรื่องศักยภาพสมอง ระบบการศึกษาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาระบบการศึกษาไทยโดย ท่านอดีตนายก อานันท์ ซึ่งดีมากครับ

เป็นกำลังใจให้ครูดี ทุกคนครับ

น.พ.กมล แสงทองศรีกมล

ผู้เขียนหนังสือ พลิกเรื่องเรียนรู้สู่อัจฉริยะ

ขอบคุณมากครับ คุณหมอกมล แสงทองศรีกมล ... หนังสือคุณหมออ่านแล้วรู้สึกติดใจจริง ๆ ครับ ทำให้อยากถ่ายทอดความรู้ต่อไปให้กัลยาณมิตรท่านอื่นเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกันครับ

ขอบคุณที่ให้เกียรติเข้ามาเยี่ยมครับ คุณหมอ :)

P

39. ครูปู
เมื่อ อ. 20 พฤษภาคม 2551 @ 17:33
661372 [ลบ]

สวัสดีค่ะ คุณ Wasawat Deemarn

  • ตั้งชื่อเรื่องจุกอก ยังไม่พอค่ะ
  • เมื่อเช้าตื่นมาเปิดเครื่องปุ๊บ เห็นข้อความของท่านอาจารย์  ทนัน ภิวงศ์งาม     พี่ กัญญา   พี่ นาง กฤษณา สำเร็จ  จนถึง พี่ พี่อักษร ทับแก้ว  นั่งร้องไห้หน้าจอก่อนมาทำงานเลยค่ะ
  • วันนี้คุณยายกับคุณแม่ก็เลยแย่หน่อย เพราะต้องรับโทรศัพท์ทั้งวัน ไม่เป็นอันไปไหน :)
  • เขียนไปด้วยสำนึก แต่ในเวลาที่ยังไม่ได้ตั้งหลัก ก็แกว่งเหมือนกันค่ะ
  • ขอบคุณที่มาเยี่ยมนะคะ
  • สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn
  • ได้ยินชื่อคุณครูโกมล คีมทอง ครั้งแรกจาก ท่านอาจารย์   ลัดดา จาบถนอม (ฉัตรรัตนา) ในช่วงที่เรียนอยู่ปี 3 วิทยาลัยครูเชียงใหม่ (2515) 
  • โดยท่านได้เอาหนังสือ มูลนิธิโกมล คีมทอง มาให้อ่านด้วย
  • ชื่นชมคุณครูโกมล คีมทอง ที่ท่านเป็นต้นแบบของคุณครู
  • ขอบคุณที่ท่านอาจารย์ได้เผยแพร่คุณงามความดี ของคุณครูโกมล  คีมทอง ให้คุณครูรุ่นหลังได้รู้จัก
  • สวัสดีค่ะ

ขอบคุณ คุณ  ครูปู  ครับ :)

ขอบคุณ ท่าน ศน. อาจารย์ เอื้องแซะ ครับที่แวะมาให้กำลังใจครับ

เรียนอาจารย์วสวัต

อ่านที่อาจารย์เกริ่นนำใน Blog ก็รู้แล้วว่าเป็นพวกเดียวกัน น่าสงสารเด็กไทยมากที่ถูกเร่งเรียนจนเครียดไปเกือบจะทั่วประเทศแล้ว และน่าเป็นห่วงการปฏิรูปการศึกษาไทย

ที่ไม่ไปไหนเลย มิหนำซ้ำ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง จะหวังพึ่งนักการเมือง ขั้วหนึ่งก็ดูสิ้นหวัง

อีกขั้วหนึ่งที่ผมเคยไปคุยกับนักการเมืองก็บอกเหมือนว่ารู้ทุกอย่างหมดแล้ว

แต่ผมก็เชื่อมั่นว่าครูดีๆยังมีเหลือ แม้จะถูกระบบทำให้เหลือน้อยลงทุกวัน

การศึกษาและการเรียนรู้และครูสำคัญมากครับ

ผมมีหนังสือหนังสือ พลิกเรื่องเรียนรู้สู่อัจฉริยะ อยู่จำนวนหนึ่ง ตั้งใจจะช่วยบริจาคให้ห้องสมุด หรือให้คุณครูที่ไม่สามารถหาหนังสือได้และสนใจจริงๆ อ่านแล้วไว้ห้องสมุด กรุณาแจ้งชื่อที่อยู่ ที่ [email protected]

เป็นกำลังใจให้ครูและอาจารย์ดีๆ ทุกคนครับ

น.พ.กมล แสงทองศรีกมล

ผู้เขียนหนังสือ พลิกเรื่องเรียนรู้สู่อัจฉริยะ

ขอบคุณครับ คุณหมอกมล แสงทองศรีกมล :) ... ผมจะลองหาห้องสมุดโรงเรียนที่มีครูดี ๆ อยู่ให้เขาเหล่านั้นได้อ่านสิ่งที่คุณหมอได้ถ่ายทอดไว้นะครับ :)

กัญญาณัฏฐ์ ปกป้อง

ฉันได้รู้จักชื่อครูโกมลและครูรัตนาเมื่อ 2514 ขณะที่เรียนอยู่ชั้นป.6 ชอบมากและตั้งใจจะเป็นครูที่ดีให้ได้ เมื่อก่อนครูส่วนใหญ่มีวิญญานของความเป็นครูค่อนข้างมาก ผิดกับเดี๋ยวนี้ครูบางส่วนมีผลประโยชน์แอบแฝง น่าสงสารประเทศไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท