วิทยาศาสตร์ & ปรัชญา ใน 'วาทะฮ่องเต้'


ในยามมีฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าดังครืนๆ จงอย่าเข้าไปยืนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นอันขาด

 

 

 

 


 

 มน & นิ ลูกรัก 

พ่อเคยอ่านหนังสือดีเล่มหนึ่งคือ วาทะฮ่องเต้

ซึ่งคุณอดุลย์ รัตนมั่นเกษม แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ ถิงซิ่นเกอะเอี๋ยน

 

หนังสือเล่มนี้รวบรวมพระราโชวาทของคังซีฮ่องเต้ที่พระราชทานแก่พระโอรสทุกพระองค์ และสำเร็จเป็นเล่มได้เนื่องจากซื่อจงฮ่องเต้พระโอรสโปรดให้เรียบเรียงจัดทำขึ้นหลังจากที่คังซีฮ่องเต้เสด็จสวรรคตแล้ว (ชื่อ ‘ซื่อจงฮ่องเต้’ นี่คงไม่คุ้นหูเท่าไร แต่ถ้าพูดถึง ‘หย่งเจิ้ง’ หรือ องค์ชาย 4 ในเรื่องศึกสายเลือด หลายคนคงจะร้องอ๋อ)

ทำไมวาทะของคังซีฮ่องเต้จึงน่าสนใจนัก?

เหตุผลก็คือ คังซีฮ่องเต้เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และอยู่ในสิริราชสมบัตินานถึง 61 ปี ทำให้พระองค์ทรงมีความรอบรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งเหลือคณานับ

คังซีฮ่องเต้

ลองดูตัวอย่างคำสอนในหนังสือเล่มนี้ เช่น 

“เม่งจื๊อกล่าวว่าการสังเกตดูคน ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าสังเกตดูที่ตาของเขาเพราะตาไม่สามารถปกปิดความชั่วร้ายของคนได้”

“นิสัยฉันนั้นชอบซักชอบถาม แม้แต่คนไม่มีความรู้ที่หยาบกระด้างมาก ก็มีคำพูดที่จี้ถูกเหตุผลเหมือนกัน ซึ่งฉันไม่ละทิ้งคำพูดเช่นนี้แน่นอน จะต้องสำรวจตรวจสอบที่มาที่ไปให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วจดจำใส่ใจไว้ และฉันไม่คิดว่าตัวเองรู้มากเก่งมาก จนละทิ้งข้อดีของคนอื่นเป็นอันขาด”

“วิชาโหราพยากรณ์ทั้งหลาย อาทิ จื่อผิง ลิ่วเหยิน และฉีเหมิน เกิดจากคนรุ่นหลังเอาหลักการของธาตุทั้งห้าที่มีการข่มและหนุนกันจนเกิดวิวัฒนาการขึ้น โดยเอาสาระความหมายนั้นๆ มาใช้ ซึ่งถึงแม้จะล้ำเลิศแยบคายยิ่งนัก แต่ชื่อเทพหรืออสูรนั้น คนเป็นผู้ตั้งขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งถ้าว่ากันตามเหตุผลจริงๆ แล้ว ก็คงเชื่อได้ยาก 

คนเราหากเรียนวิชาใด ก็มักเอนเอียงรักในวิชานั้น ด้วยเห็นว่ามีความลึกซึ้งล้ำเลิศเสียยิ่งนัก จึงเที่ยวโอ้อวดแก่คนทั่วไป ฉันเองก็เคยค้นคว้าสรรพวิชาเหล่านี้เหมือนกันในยามว่าง เพื่อตรวจสอบรากเหง้าต้นตอของมัน จนเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่งหมดสิ้นทุกอย่าง จึงรู้ว่ามัน (ทำนาย) ไม่แม่นยำ และไหนเลยจะเทียบหลักธรรมที่อริยบุรุษในสมัยโบราณสั่งสอนเอาไว้ได้


เห็นตัวอย่างคำสอนเพียงเท่านี้ ก็คงจะพอรู้สึกได้แล้วว่าคังซีฮ่องเต้มีความเป็นปราชญ์มากเพียงไร

อย่างไรก็ดี ในบรรดาคำสอนทั้งหมดนี้ มีคำสอนหนึ่งซึ่งเตะตาพ่ออย่างจัง นั่นคือ 

 

“ในยามมีฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่าดังครืนๆ จงอย่าเข้าไปยืนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นอันขาด
เมื่อก่อนคนเฒ่าคนแก่เคยพูดเตือนไว้เสมอ ฉันเองก็เคยได้ยินมากับหูตัวเอง พวกเธอจงจำใส่ใจไว้”

 

มองจากมุมวิทยาศาสตร์ คำสอนนี้ถูกต้อง 100% เพราะหลักการข้อหนึ่งเกี่ยวกับฟ้าผ่าก็คือ ในบริเวณหนึ่งๆ ที่เกิดฝนฟ้าคะนอง สายฟ้าอาจจะฟาดเปรี้ยงลงมาที่ตำแหน่งใดก็ได้ แต่จุดที่อยู่สูงกว่าจะมีโอกาสถูกฟ้าผ่ามากกว่า

ดังนั้น ต้นไม้สูงใหญ่จะมีโอกาสถูกฟ้าผ่าค่อนข้างมาก และหากใครไปอยู่ใกล้ๆ ตอนที่ต้นไม้ต้นนี้ถูกฟ้าผ่า ก็จะได้รับอันตรายได้ ไม่ว่าจะ

  • ถูกกระแสไฟฟ้าไหลเข้าตัวโดยตรงหากสัมผัสกับต้นไม้
  • ถูกไฟแลบจากด้านข้าง (side flash) หรือ
  • ถูกกระแสที่ไหลมาตามพื้น (ground current) ทำร้าย

ถ้าหนูสนใจรายละเอียด ก็เข้าไปอ่านเรื่อง คุณควรทำตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูก 'ฟ้าผ่า' ? ได้นะ

นั่นคือ ไม่ว่าในกรณีใด ใครก็ตามที่อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ที่ถูกฟ้าผ่าก็ไม่ปลอดภัยทั้งนั้น คนโบราณคงจะสังเกตเห็นว่ามีคนหรือสัตว์ล้มตายใต้ต้นไม้ใหญ่หลังเกิดฝนฟ้าคะนอง จึงสอนไว้เช่นนั้น

นี่คือ การตีความแบบเถรตรงของพ่อเอง
    

แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2550 พ่อได้ให้สัมมนาเรื่องลมฟ้าอากาศกับชมรมนักนิยมธรรมชาติ ในระหว่างการพูดคุยกันนั้น พ่อได้พาดพิงถึงคำสอนที่ว่า “อย่าอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่เมื่อมีฝนฟ้าคะนอง” นี้ด้วย

พอขยายความตามมุมมองทางวิทยาศาสตร์อย่างที่เล่าไปแล้วเสร็จปุ๊บ สมาชิกของชมรมฯ คนหนึ่ง คือ คุณชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี ก็ได้กรุณาชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า คำสอนนี้อาจมาจากปรัชญาจีนก็เป็นได้

กล่าวคือ...

หากเปรียบต้นไม้ใหญ่เป็นเสมือนหนึ่งผู้มีอำนาจ (หรือเคยมีอำนาจ) และฝนฟ้าคะนองเป็นปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าผู้มีอำนาจนั้นแล้วไซร้...

การเตือนไม่ให้เราไปอยู่ใกล้ๆ ต้นไม้ใหญ่ [ผู้มีอำนาจ] ก็เนื่องจากว่า หากต้นไม้นั้นถูกฟ้าผ่า [ผู้มีอำนาจโดนเล่นงาน] เราก็จะพลอยฟ้าพลอยฝน โดนลูกหลงไปด้วยนั่นเอง!

การตีความในเชิงเปรียบเทียบเช่นนี้ทำให้คิดได้ว่า วาทะของคังซีฮ่องเต้นี่ล้ำลึกเหลือหลาย คือ

จะมองระดับวิทยาศาสตร์พื้นฐานก็ถูกต้อง หรือ

จะมองระดับปรัชญาชีวิตก็ยังได้อีก

 

เห็นความลุ่มลึกของคำสอนของผู้มีสติปัญญาที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนานไหมลูก?

 

รัก

พ่อ



ขุมทรัพย์ทางปัญญา

  • หนังสือ วาทะฮ่องเต้ สำนักพิมพ์ชุมศิลป์ธรรมดา พิมพ์ครั้งแรก 2540 (ISBN 974-89918-8-1) จัดจำหน่ายโดย บริษัทชนนิยม จำกัด โทร. (02) 552-4070, 970-5759, 970-6586
  • ชมรมนักนิยมธรรมชาติ : http://www.naturethai.org


ประวัติของบทความ

  • ดัดแปลงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ท่องเวลา ผ่าอารยธรรม นสพ. กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นจุดประกายเสาร์สวัสดี เสาร์ 2 มิถุนายน  2550
  • นำลงใน G2K ครั้งแรกในบล็อก วิทยาศาสตร์ในข่าว & เรื่องราวรอบตัว ต่อมาจึงย้ายมาอยู่ที่บล็อก เขียนไว้ให้ลูกอ่าน

คำสำคัญ (Tags): #วาทะฮ่องเต้
หมายเลขบันทึก: 108271เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดียามเช้าด้วยความระลึกถึงค่ะ อาจารย์บัญชา

ดิฉันแวะมาอ่านบันทึกนี้สองรอบแล้วค่ะ  อ่านเพลินดี แล้วก็ชอบคำนี้จริงๆ

                          .... ผ่านร้อนผ่านหนาว ...

เคยอ่านเจอคำคมฝรั่งที่ว่า  "ประสบการณ์สอนเราว่า... ประสบการณ์ไม่ได้สอนอะไรเลย"    ดิฉันนึกแย้งเขาในใจว่าอย่างน้อยเราก็   "ได้"   ประสบการณ์   อะค่ะ   : )

สวัสดีครับอาจารย์สุขุมาล

         ผมย้ายบันทึกนี้มาไว้ตรงนี้ เพราะคิดว่าน่าจะเหมาะกว่าครับ

         คำคมที่อาจารย์พูดถึงทำให้นึกถึงที่คล้ายๆ กันคือ "ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย" (ก็เลย "ซ้ำรอย" อยู่เรื่อยไงครับ)

         เมื่อวานเพิ่งเปิด "ศูนย์รีไซเคิลประจำบ้าน" ให้ลูกมาร่วม (เล่น) ด้วย เอาไว้จะเขียนเล่าให้ฟังในเร็ววันครับ :-)

 

ขอขอบคุณอาจารย์บัญชา...

  • ติดตามอ่านข้อคิด และความรู้จากบันทึกของอาจารย์มาหลายตอนแล้ว 
  • แวะมาอ่าน และขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อาจารย์หมอวัลลภ

          ด้วยความยินดีครับ ^__^

มาอ่านก่อนไปทำงาน เอา จดหมายถึงลูก   มาฝากอาจารย์ด้วย

บังเอิญว่าฉบับนี้สอดแทรกข้อคิดหนังสือให้เขานิดหน่อยค่ะ

สวัสดีครับ คุณหมอจริยา

          ได้แวะไปอ่าน จดหมายถึงลูก แล้วครับ 

          ถ้าเวลาผ่านไปนานๆ กลับไปอ่านอีกที อาจจะได้ความรู้สึกอีกแบบนะครับ ^__^

สวัสดีค่ะอ.บัญชา

บล็อกนี้เป็นบล็อกที่ชอบมากค่ะ...แอบมาเป็นแฟนประจำทุกครั้งค่ะ

อ่านแล้วยิ้ม ๆ ไม่มีคอมเม้นท์ แต่คิดต่อในใจค่ะ...“ในยามมีฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่าดังครืนๆ จงอย่าเข้าไปยืนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นอันขาด

และหากตีความโดยอีกนัยหนึ่ง...ก็ยิ่งเห็นจริงเห็นจังกับสัจธรรมนี้อย่างยิ่งค่ะ...

แต่มีบางโอกาสที่บางคนก็อาจท้าทายและเลือกที่จะยอมอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ (ผู้เคยมีอำนาจ) ที่ตนมั่นใจและเชื่อว่าเป็นคนดี ควรค่ากับการยอมอยู่ใต้ร่มเงา แม้อาจจะได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า (ผู้มีอำนาจ)

ดูไร้สติและสิ้นคิดไปหน่อยนะคะ ... แต่หากใครอยากทำ คนไม่มีราก ก็ยินดีจะสนับสนุนและทำเช่นเดียวกันค่ะ

ให้มันรู้กันไปว่า...ความดีความถูกต้อง (อาจเทียบกับข้อยกเว้นทางวิทยาศาสตร์-ฟ้าไม่ผ่าต้นไม้นี้ ...) มันหมดไปจากโลกนี้แล้ว....

ไม่เชื่อก็เลือกที่จะไม่ลบหลู่ แต่ก็ยังคงทำตามที่คิดว่าถูกต้องต่อไปค่ะ

ว้า...เขียนมากมาย ไม่ค่อยรู้เรื่อง ... คุยกันให้ปวดหัวเล่น ๆ นะคะ


เมื่อวานได้รับหนังสือ 2 เล่มที่อาจารย์กรุณาส่งมาให้แล้วค่ะ

ต้องบอกว่า ถูกใจมาก ๆ ค่ะ โดยเฉพาะ เล่ม "การสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย" อ่านจบไปแล้วอย่างมีความสุขค่ะ

ส่วน ไควอนตัมกับดอกบัว" นี่ สแกนดูแล้ว น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ แต่ยังไม่กล้าอ่าน เกรงว่าจะไม่ยอมหยุดอ่านจนกว่าจะจบ ... เป็นอันไม่ต้องทำงานที่เร่งด่วนค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

(^___^)

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

        - โอ้โห! อ่าน "การสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย" จบไปแล้วหรือครับเนี่ย - ดีจังครับ หวังว่าจะได้นำไปใช้ประโยชน์นะครับ

        - เล่ม "ควอนตัมกับดอกบัว" นี่โหดสุดๆ ครับ แปลไปสักพัก...วางทิ้งไว้ก่อน...เหตุผลก็คือ แต่ละประเด็นที่ทั้งพระทั้งนักฟิสิกส์นำมาคุยกันนั้นลึกซึ้งทั้งนั้นเลย แถมยังแม่นยำ (เป็นส่วนใหญ่) อีกต่างหาก!

         เล่มนี้จริงๆ แล้ว ท่าน อ.กุลศิริ แปลครึ่งเล่มแรกครับ แล้วก็หยุดเลย คืนสำนักพิมพ์ ผมเผลอใจไปรับช่วงต่อ เอาไปดองไว้นานทีเดียว...ร่วมปี...กว่าจะทำใจแปลจนจบได้ - พอจบนี่ เหมือนยกดาวอังคารออกจากอก (ยิ่งกว่ายกภูเขา...แหะ..แหะ)

        - บล็อกนี้นานๆ เขียนทีครับ ต้องมีแรงบันดาลใจสูงสุดจริงๆ ถ้าทิ้งไว้นานๆ ลูกสาวผมอาจจะลุกขึ้นมาทำบล็อก "เขียนไว้ให้พ่ออ่าน" บ้างก็เป็นได้ ;-) 

หากมี บล็อก "เขียนไว้ให้พ่ออ่าน"

อย่าลืมตามคนไม่มีรากมาอ่านด้วยหนะคะ

(^___^)

ลืมบอกค่ะว่า....

อ่านแล้วได้ประโยชน์มาก ๆ ค่ะ กำลังจะส่งต่อให้หลานสามใบเถาอายุ 11- 8 - 5 ปีอ่านค่ะ

(^___^)

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

         หลานๆ ทั้ง 3 อายุไล่เลี่ยกับลูกสาวผมเลยครับ 12 & 9 ปี ครับ

ด้วยความเป็นน้องใหม่ พึ่งมีโอกาสได้ติดตามอ่าน ชอบ blog นี้ของอาจารย์มากเลยค่ะ ลูกสาว สองคน วัยเดียวกันกับน้องมน น้องนิ เลยค่ะ คนเล็กบอกว่า อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นโอกาสอันดีที่มีโอกาสได้รู้จักอาจารย์ ขอคำแนะนำด้วยนะคะ

สวัสดีครับ คุณนก Giant bird

        ดีจังครับ เด็กๆ ในวัยนี้จะเติบโตไปพร้อมๆ กัน

        ได้พาลูกสาว 2 คนแวะไปเยี่ยมแบบเสมือนจริง (virtual visit) แล้วครับ

        ลูกคนเล็กชอบวิทยาศาสตร์หรือครับ งั้นเดี๋ยวผมนำบันทึกที่น่าจะเหมาะกับเด็กวัยนี้ไปฝากครับ โปรดรอสักครู่

ขอบพระคุณมากคะอาจารย์ จะรอติดตามค่ะ

หนังสือเล่มนี้ธรรมฐิตอ่านแล้ว

เห็นความลุ่มลึกอย่างอาจารย์เอ่ยเอื้อนจริงๆขอรับ..

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

         ดูเหมือนพระคุณเจ้าจะชอบอ่านและอ่านหนังสืออย่างหลากหลายทีเดียวนะครับ

ให้อาหารกายเสร็จสรรพลืมปิดคอมพ์นี่(สัญญาไม่เที่ยงอีกแล้ว)

เลยแวะมาเยี่ยมอาจารย์ซะเลย

การอ่านเป็นโรคประจำตัวธรรมฐิตเสียแล้วขอรับ...

หนังสือแปลของอาจารย์ก็เคยอ่านนะ

อย่างเล่มล่าสุด(ไม่รู้มีใหม่กว่านี้หรือเปล่า)..ควอนตัมกับดอกบัว..

ได้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์เยอะมาก(แม้ไม่เข้าใจก็เหอะ)

การอ่านเป็นการต่อยอดในการเรียนรู้เพื่อนำมาสู่วิถีแห่งการปฏิบัติได้ดีเยี่ยมขอรับ..

แต่ที่แน่ๆธรรมฐิตยังเขลาอยู่นั่นเองขอรับอาจารย์...

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

         หนึ่งในคนแปล คือ ผม ก็ยังเขลาอยู่ครับ คือเรื่องทางวิทยาศาสตร์นี่ ก็พอไหว แม้จะหลายสาขาหน่อย แต่ก็ยังพอจับประเด็นใหญ่ๆ รวมทั้งรายละเอียดย่อยๆ ได้

          แต่เรื่องพุทธสายวัชรยานนี่ ต้องพูดว่า ยังไม่ get เท่าไรครับ ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท