อาหารลดโคเลสเตอรอล


...ท่านที่มีโคเลสเตอรอลสูงอย่าเพิ่งตกอกตกใจ เรื่องนี้ปรับเปลี่ยนแก้ไขกันได้...มีคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารลดโคเลสเตอรอลไว้อย่างนี้ครับ...

  

คนขับรถโรงพยาบาลท่านหนึ่งปรึกษาผู้เขียนเรื่องโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ท่านบอกว่า เมื่อก่อนทำงานสนาม ดูแลต้นไม้ในโรงพยาบาล ผลตรวจเลือดปกติ พอเปลี่ยนมาขับรถปรากฏว่า สูงขึ้นมาก

ผู้เขียนสังเกตว่า ผลการตรวจสุขภาพประจำปีของคนในโรงพยาบาลมีความผิดปกติที่พบบ่อย 3 เรื่องได้แก่ โคเลสเตอรอลสูง น้ำหนักเกินมาตรฐาน และความดันเลือดสูง

อาจารย์ทันตแพทย์โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งสังเกตว่า เรื่องหูตึงก็พบบ่อย ผลการตรวจคนในโรงพยาบาลพบหูตึงประมาณครึ่งหนึ่ง

ผู้เขียนเข้าใจว่า เรื่องหูตึงน่าจะเป็นผลจากการฟังเพลงดังมาก โดยเฉพาะทางเหนือจะเปิดเพลงในงานต่างๆ ดังมาก

ผู้เขียนไปงานศพหลานเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกรถสิบล้อทับหน้าอก เขาตั้งลำโพงยักษ์ไว้หน้าโบสถ์ พอเดินผ่านรู้สึกทันทีว่า ผิวหนังสั่นสะเทือนไปหมด จึงต้องรีบเดินหนีไปทางอื่น

ท่านที่มีโคเลสเตอรอลสูงอย่าเพิ่งตกอกตกใจ เรื่องนี้ปรับเปลี่ยนแก้ไขกันได้

เว็บไซต์เมโยคลินิก (www.mayoclinic.com) มีคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารลดโคเลสเตอรอลไว้อย่างนี้ครับ...

  1. กินข้าวโอ๊ต:                                           
    ผลิตภัณฑ์จากพืชหลายชนิดมีเส้นใยชนิดละลายน้ำได้ เส้นใยเหล่านี้ช่วยดูดซับน้ำดีในลำไส้ ซึ่งมีโคเลสเตอรอลปนอยู่ภายใน และขับออกไปพร้อมกับอุจจาระ
    พืชที่มีเส้นใยละลายน้ำได้มักจะมีลักษณะเป็นเมือกหรือเจล
    เช่น ข้าวโอ๊ต ถั่วหลายชนิด แอปเปิ้ล ลูกพรุน มะเขือเทศ กระเจี๊ยบ ฯลฯ
    การกินข้าวโอ๊ตวันละ 1.5 ถ้วย(1 ถ้วย = 240 มล.) หรือกินเส้นใยละลายน้ำวันละ 5-10 กรัมช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) ได้ประมาณ 5 %
  2. เมล็ดพืช:                                              
    เมล็ดพืช เช่น วอลนัท เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ฯลฯ มีน้ำมันชนิดดี ช่วยลดโคเลสเตอรอลได้ แต่น้ำมันเหล่านี้ก็มีแคลอรี่สูง อาจทำให้อ้วนได้ จึงควรกินไขมันชนิดเลว เช่น เนยแข็ง เนย อาหารมัน อาหารทอด ฯลฯ ให้น้อยลง และกินเมล็ดพืชแทน
    การกินเมล็ดพืชก็คล้ายกับอะไรๆ อีกหลายเรื่องในชีวิตที่ว่า “Too much is not enough” หรือ “มากไปก็ไม่ดี” การกินให้น้อยหน่อยจะให้ผลดีกว่าการกินคราวละมากๆ

  3. ปลาทะเล:
    การศึกษาเมื่อ 30 ปีก่อน (1970s) พบว่า ชาวเอสกิโมในเกาะกรีนแลนด์เป็นโรคหัวใจน้อยกว่าประชากรกลุ่มอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากชาวเอสกิโมกินน้ำมันชนิดดี(โอเมก้า-3)ในปลาทะเล ปลาวาฬ และแมวน้ำ
    แนะนำให้กินปลาทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ส่วน(ประมาณ 2 ฝ่ามือ) เช่น ปลาแมคเคอเรล ทูน่า แซลมอน ฯลฯ ช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ป้องกันหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และช่วยลดโอกาสเกิดภาวะเลือดจับตัวกันเป็นลิ่ม(อุดเส้นเลือด)
    การกินปลาทอดและแซนวิชปลาไม่ได้ให้ผลดีต่อการป้องกันโรคหัวใจ ปลาทอดที่วางจำหน่ายมักจะใช้น้ำมันชนิดไม่ดี เช่น น้ำมันปาล์ม ฯลฯ มาทอดปลา กระบวนการทอดทำให้เสียน้ำมันปลาจากปลาตกไปเจือจางในกะทะ และเกิดการดูดซับน้ำมันชนิดไม่ดีเข้าไปในเนื้อปลา
    ส่วนแซนวิชปลามักจะใช้ปลาทะเลที่มีน้ำมันน้อย เนื่องจากเมื่อทิ้งไว้นานจะเสี่ยงต่อกลิ่นคาว ทำให้ไม่ได้น้ำมันปลาซึ่งเป็นน้ำมันชนิดดี
    น้ำมันพืชที่มีสารตั้งต้นของโอเมก้า-3 สูงได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง และคาโนล่า การใช้น้ำมันชนิดดีควรใช้แต่น้อย เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด

  4. สเตนอลหรือสเตอรอลจากพืช:
    สารสเตนอลหรือสเตอรอลจากพืช (plant stenol / sterols) มีส่วนช่วยยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอล ทำให้โคเลสเตอรอลชนิดร้ายในเลือด (LDL) ลดลง มีการเติมสารเหล่านี้ลงในผลิตภัณฑ์อาหารในต่างประเทศ เช่น น้ำส้ม เนยเทียม ฯลฯ
    น้ำมันพืชชนิดดี เช่น น้ำมันรำข้าว ฯลฯ มีสารช่วยยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลในอาหาร การใช้น้ำมันพืชชนิดดีควรใช้แต่น้อยจึงจะได้ผลดีที่สุด

  5. กินไขมันให้น้อย:
    โคเลสเตอรอลในเลือดส่วนใหญ่ 70 % สร้างขึ้นใหม่ที่ตับ การกินอาหารที่มีไขมันสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันนม น้ำมันปาล์ม น้ำมันสัตว์ การกินเนื้อแดง(สัตว์ใหญ่ เช่น หมู วัว แพะ แกะ ฯลฯ)มากเกิน 3 ส่วนต่อสัปดาห์(ประมาณ 3 ฝ่ามือ) ฯลฯ หรือกินไขมันทรานส์ เช่น คอฟฟี่เมต เนยเทียม เบเกอรี่(มีเนยเทียมมาก) ฯลฯ มีส่วนทำให้ร่างกายสร้างโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น โคเลสเตอรอลส่วนน้อย 30 % มาจากอาหาร จึงควรเน้นการลดอาหารมัน ลดไขมันอิ่มตัว และลดไขมันทรานส์ให้มาก

ขอแนะนำ...                                                    

ขอแนะนำ...                                                    

    แหล่งที่มา:                                       

  • ขอขอบคุณ > Mayo clinic staff. http://www.mayoclinic.com/health/cholesterol/CL00002 > February 22, 2006.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพมีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ > 18 กรกฎาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 16356เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัดีค่ะคุณหมอ คำแนะนำของคุณหมอ ได้นำไปปฏิบัติ ได้ไปไปตรวจเช็ค โคเลสเตอรอล ก็ลงมาแล้วค่ะ เหลืออยู่ที่ 229 คุณหมอที่ตรวจให้คุมอาหารอีกต่อไปค่ะ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของคุณหมอนะคะ

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณ และขอแสดงความยินดีด้วยครับ
  • เรื่องความพยายามลดโคเลสเตอรอลในเลือดของ
    คุณสุวรรณาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า
    คนเรามีศักยภาพที่จะ "ทำอะไรดีๆ" ได้มากกว่า
    ที่(เรา)คิด
  • ขอขอบคุณอีกครั้ง...
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท