สารต้านอนุมูลอิสระในชา-อาหาร ตอน ๑


ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปทำบุญที่ศรีลังกาในระหว่างวันที่ 20-27 กุมภาพันธ์ 2550 พบหนังสือ "ชาเพื่อสุขภาพ (Tea for health)" ของท่านอาจารย์ดอกเตอร์ทิซซา อมรคุณ

Hiker

ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปทำบุญที่ศรีลังกาในระหว่างวันที่ 20-27 กุมภาพันธ์ 2550 พบหนังสือ "ชาเพื่อสุขภาพ (Tea for health)" ของท่านอาจารย์ดอกเตอร์ทิซซา อมรคุณ แห่งสถาบันชาศรีลังกาในร้านขายชาชานเมืองแคนดี้ (Mlesna tea centre)

ท่านอาจารย์อมรคุณเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์การชาไว้อย่างน่าอ่าน พร้อมแสดงเหตุผลที่ควรดื่มชา มีภาพ ตาราง และกราฟประกอบพร้อม ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง...

    ภาพที่ 1:

หนังสือ "ชาเพื่อสุขภาพ (Tea for Health. Tissa Amarakoon, Ph.D.)"

ศรีลังกาเป็นประเทศที่ปลูกชา และส่งออกชาชั้นนำของโลก... น่าดีใจที่ศรีลังกามีสถาบันวิจัยชาแห่งชาติไว้ทำการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และส่งเสริมให้คนทั่วโลกดื่มชา

หนังสือเรื่อง "ชาเพื่อสุขภาพ (Tea for health)" กล่าวถึงประวัติเรื่องชาว่า...

เมื่อ 4,744 ปีมาแล้ว (2,737 ปีก่อนคริสตกาล / 2737 BC) ใบชา 2-3 ใบปลิวไปตกในน้ำดื่มของจักรพรรดิเฉิน นัง (Shen Nung) โดยบังเอิญ พระองค์ทรงพบว่า น้ำชามีรสดีกว่าน้ำร้อน

พระองค์เชื่อว่า ชาเป็นเครื่องดื่มที่ดีกับสุขภาพ และเป็นยาครอบจักรวาล (panacea) รักษาโรคนิ่ว ไข้ การติดเชื้อในทรวงอก (เข้าใจว่า น่าจะเป็นปอดบวม หรือวัณโรค – ผู้เขียน) และเนื้องอกในสมองได้ นอกจากนั้นยังเชื่อว่า กำจัดพิษได้อีก 72 ชนิด

ผู้ที่มีสิทธิ์ดื่มชาในยุคแรกสุดนั้น... มีเพียงจักรพรรดิ และองคมนตรี ต่อมาจึงค่อยๆ แพร่ไปเป็นเครื่องดื่มของสามัญชน

ปลายศตวรรษที่ 6 (ประมาณ 1,400 ปีก่อน)... คนจีนนิยมดื่มชาเป็นยา และเครื่องดื่ม ความเชื่อว่า ชาเป็นยาชั้นดีได้แพร่หลายไปทั่วโลก

    ภาพที่ 2:

กาน้ำชาแบบศรีลังกา ด้านหน้าร้านชา (Mlesna tea centre) เมืองแคนดี้ ศรีลังกา

    ภาพที่ 3:

ทางเข้าร้านชา ทำเป็นปูนปั้นรูปพระจันทร์ครึ่งดวง (half-moon) ซึ่งนิยมสร้างเป็นทางเดินขึ้นโบสถ์ หรือวิหาร

    ภาพที่ 4:

ภาพวาดแบบศรีลังกาในร้านชา เมืองแดนดี้ ศรีลังกา โปรดสังเกตกลองศึกสำหรับกษัตริย์นำหน้าช้างทรงของเทวดา (อาจเป็นรูปพระอินทร์)

    ภาพที่ 5:

ร้านชาที่เมืองแคนดี้สร้างคร่อมหินน้ำตก... ศรีลังกามีภูเขา และพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ แบบที่ศัพท์ปักษ์ใต้เรียกว่า "ควน (= ภูเขาดินเป็นเนิน)" เต็มไปหมด มีที่ราบค่อนข้างน้อย การสร้างบ้านเรือนจึงต้อง "อิงเขา" หรือสร้างบนที่ลาดชันกันมาก

    ภาพที่ 6:

บรรยากาศที่เคาน์เตอร์คิดเงินร้านชา มีเครื่องยิงบาร์โค้ด เสร็จแล้วพิมพ์ใบเสร็จจากคอมพิวเตอร์พร้อม

น่ายินดีที่ผู้หญิงชาวศรีลังการักษาการแต่งกายแบบดั้งเดิม (ส่าหรี + สไบ) ได้ดีมาก

ผู้ชายศรีลังกาประมาณ 90-95% นุ่งแบบสากล ที่จะนุ่งโสร่งแบบศรีลังกามีน้อย ยกเว้นเวลาไปวัด มีผู้ชายบางส่วนจะนุ่งเสื้อขาว โสร่งขาว และมุสลิมที่รักษาชุดแต่งกายประจำชาติ(โสร่ง)ไว้ได้

    ภาพที่ 7:

ของที่ระลึก... ด้านในเป็นถ้วยชาเซรามิค

    ภาพที่ 8:

เมื่อเปิดถุงออกมา... จะเห็นด้วยชาพร้อมถุงชาผนึกอย่างดีด้านใน 2 ถุง

ปี 1675 (พ.ศ. 2218) โธมัส การ์เวย์นำชาไปจำหน่ายในโรงน้ำชาที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร(หมู่เกาะอังกฤษ) ท่านโฆษณาว่า ชาเป็น "ยาครอบจักรวาล (panacea) ไว้อย่างนี้ครับ...

"ชาช่วยให้สดชื่น แก้ปวดหัว เวียนหัว มึนหัว แก้ภาวะม้ามอุดตัน (ไม่ทราบโรคอะไร - ผู้เขียน)

ชาผสมกับน้ำผึ้ง (ไม่ใช่น้ำตาล) มีฤทธิ์แก้นิ่วเม็ดน้อยเม็ดใหญ่ ช่วยล้างไต และล้างท่อไต

ชาช่วยแก้ปัญหาการหายใจลำบาก โดยทำให้ทางเดินหายใจที่อุดตันเปิดโล่งออก

ชาแก้ภาวะ ‘Lipitude distillations (Lippitude = ปวดตา ตาเห็นไม่ชัด น่าจะเป็นโรคต้อหิน หรือ glaucoma) ทำให้สายตาแจ่มใส

ชาแก้ภาวะ ‘Lastitude, and cleanseth and purisieth’ (ไม่ทราบอะไร – ผู้เขียน) และแก้โรคตับร้อน (hot liver – นี่ก็ไม่ทราบว่า โรคอะไรอีก)

ชารักษาโรค ‘ Crudities’ (ความหยาบกระด้าง) โดยเฉพาะผู้ชายที่มีรูปร่างอ้วนหนา ทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง เพิ่มความอยากอาหาร ช่วยย่อย เช่น ในรายที่กินเนื้อมาก ฯลฯ

ชาแก้ฝันร้าย ช่วยให้สมองโล่ง และช่วยให้ความจำดี"

การโฆษณายาครอบจักรวาล (panacea)... ไม่ว่าจะเป็นวิตะมิน สารต้านอนุมูลอิสระ หรืออาหารเสริมทุกวันนี้ก็โหมกระหน่ำ(ดุเดือดเกินจริง)ไม่น้อยกว่าคำแนะนำของจักรพรรดิเฉิน นัง หรือคุณโธมัส การ์เวย์เหมือนกัน

ทุกวันนี้คงไม่มีใครเชื่อว่า ชาจะรักษาโรคได้มากมายอย่างนั้นอีกแล้ว แต่คนทั่วโลกต่างยอมรับกันว่า ชาเป็นเครื่องดื่มชั้นดี และเป็นสมุนไพรที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ชั้นดี

คนเราได้น้ำที่ปนมาในอาหารประมาณครึ่งหนึ่ง ได้น้ำจากการดื่มน้ำอีกครึ่งหนึ่ง... ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากดื่มชาแทนน้ำ

ชาเป็นเครื่องดื่มอันดับ 1 ของโลก กล่าวกันว่า ชาเป็นรองน้ำเปล่าเท่านั้น ชาได้มาจากการเก็บหน่อ (bud) และใบอ่อนบนสุด 2 ใบจากต้นชา (Camellia sinensis)

ชาแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ชาดำ ชาเขียว และชาอูหลง (Oolong)

สัดส่วนการดื่มชาทั่วโลกพบว่า ชาดำเป็นชาที่ดื่มกันมากที่สุด (78%) รองลงไปเป็นชาเขียว (20%) และชาอูหลง (2%) ตามลำดับ

ชามีสารพฤกษเคมีคือ กลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) หลายชนิด โพลีฟีนอลในชามีหลายชนิด ชนิดที่มีมากที่สุดได้แก่ ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ซึ่งนิยมเรียกว่า "คาเธชินส์ (cathechins)"

    ตารางที่ 1: แสดงปริมาณสารพฤกษเคมีโพลีฟีนอลส์ในอาหาร

อาหาร

มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค

ชาดำ

120-300

ชาเขียว

100-200

ไวน์แดง

40-140

แอปเปิล

6-15

ถั่วเหลือง(แห้ง)

76-207

เต้าหู้

35-63

หัวหอม

28

บลูเบอรี่

2-36

เชอรี (Tart cherries)

26-33

ผักกาด kale

22

ผักสลัดแก้ว (leaf lettuce)

17

ตารางข้างต้น (ตารางที่ 1) แสดงให้เห็นว่า ชาดำและชาเขียวมีสารโพลีฟีนอลส์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง

สารโพลีฟีนอลส์มีเฉพาะในผลิตภัณฑ์พืช ไม่พบในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ท่านที่กินอาหารจากพืช เช่น ถั่วเหลือง เต้าหู้ หัวหอม ฯลฯ จะได้สารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากทุกวัน

สารโพลีฟีนอลส์ในไวน์แดงมาจากเปลือก และเมล็ดองุ่น

การดื่มแอลกอฮอล์(เหล้า เบียร์ ไวน์...)เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อโรคมากมาย เช่น มะเร็งช่องปาก ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ ฯลฯ การกินองุ่นน่าจะปลอดภัยกว่าการดื่มไวน์

ชามีฟลูออไรด์ค่อนข้างสูง ทำให้ชามีส่วนช่วยป้องกันฟันผุได้ คนอังกฤษ(สหราชอาณาจักร)ได้ฟลูออไรด์จากชาวันละ 0.6-2.7 มิลลิกรัม ส่วนคนออสเตรเลีย อินเดีย และศรีลังกาได้รับฟลูออไรด์จากชาวันละ 0.5-2 มิลลิกรัม

ชาแบ่งเป็น 3 ประเภทตามกระบวนการผลิตได้แก่ ชาดำ เช่น ชาจีน ชาฝรั่ง ฯลฯ ชาเขียว และชาอูหลง

    แนะนำให้อ่าน:

    แหล่งที่มา:

หมายเลขบันทึก: 83444เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบพระคุณ อาจารย์หมอ ครับพี่นำความรู้ดีๆ มาฝาก

  • ผมชอบดื่มชาอู่หลง ครับ ส่วนมากจะดื่มตอนบ่ายๆ หรือหลังมื้อเที่ยง
  • แต่ชาดำ ไม่รู้จักครับ มารู้จักก็ตอนอ่าน Blog ของอาจารย์นี่แหละครับ (ความรู้ใหม่)

ขอขอบคุณ... คุณสาทิตย์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ชาดำในหนังสือ Tea for health คือ ชาจีนกับชาฝรั่งครับ
  • เข้าใจว่า ต่างกันที่ความนิยม... ชาจีนนิยมดื่มเปล่าๆ ชาฝรั่งนิยมดื่มเติมโน่นเติมนี่ เช่น เติมนม เติมน้ำตาล เติมมะนาว ฯลฯ

ขอขอบคุณครับ...

  • ผมเพิ่งสามารถเลิกดื่มกาแฟได้อย่างเด็ดขาดเมื่อต้นเดือนมกราคม 2550 นี้เอง (ลิงค์)
  • สำหรับชานานๆ จึงจะได้ดื่มซักครั้ง 
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำความรู้เรื่องชามาแบ่งปัน (แต่ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยนใจไปดื่มชานะครับเพราะกลัวว่าติดแลเว จะทำให้ต้องดื่มทุกวัน)
ใช่ ชาซีลอน มั้ยครับอาจารย์ ที่มีชื่อในศรีลังกา
P

นักลงทุนเงินน้อย: ผมขออนุญาตตอบนะครับ  ว่าใช่ ซีลอน = ศรีลังกา (ถูกเปล่า?)

 

ขอบคุณ

P
นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ มากครับ :-)

 

ชอบชา แต่ว่าหาดื่มยากสักหน่อย (ไม่เหมือนกาแฟที่มักมีแจกตามที่ทำงาน) 

  

ขอขอบคุณ... คุณสิงห์ป่าสักและท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ขอแสดงความยินดีที่เลิกกาแฟได้ครับ
  • ผมเองก็เพิ่งเลิกกาแฟชนิดมีคาเฟอีนได้ไม่กี่เดือนมานี้เอง...

กาแฟ...

  • ตอนนี้ยังดื่มกาแฟชนิดไม่มีคาเฟอีนอยู่ครับ...
  • ดื่มด้วยความติดในรสชาด และทราบมาว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟ + ชา

ไม่ยึด ไม่ติด...

  • ท่านที่ไม่ยึด ไม่ติดอะไรเลย (พระอรหันต์)... คงจะมีความสุขมากทีเดียว
  • ขนาดผมเลิกกาแฟชนิดมีคาเฟอีนได้ ยังรู้สึกได้ถึงเสรีภาพขนาดน้อยๆ เลย

ขอขอบคุณครับ...

ขอขอบคุณ... คุณนักลงทุนเงินน้อยและท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ถูกแล้วครับ... 'Ceylon' เป็นชื่อหนึ่งของศรีลังกาก่อนปี 1972

ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Sri_Lanka

  • 'Ceylon tea' = 'Srilanka tea'
  • ขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ...

ขอขอบคุณ... คุณวีร์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • คำตอบถูกแล้วครับ
  • "ซีลอน" เป็นชื่อเก่าของประเทศศรีลังกา
  • ต่อไปเป็นลิ้งค์ภาษาไทยของวิกิพีเดียครับ...

ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2

ดีเหมือนกัน...

  • ช่วยกันถาม ช่วยกันตอบ
  • ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น... ทำลิ้งค์เฉลยคำตอบไว้เลย เพราะจะทำให้สะดวกต่อการอ้างอิง หรือค้นหาเพิ่มเติม

ขอขอบคุณครับ...

ขอบพระคุณมากๆจากคนรักชาค่ะ ถูกใจที่สุดเลยค่ะ

เพิ่มนิดนึงค่ะ เรื่องฟลูโอไรด์ในชาี่ เข้าใจว่าต้องดูว่าชาปลูกที่ไหนด้วยค่ะ เพราะมันมาจากดินที่ใช้ปลูก ตอนเรียนป.ตรีที่คณะ จำได้ว่า อ.สอนไว้ว่า ดินในประเทศที่มีภูเขาไฟคือดินที่ใช้ปลูกชาแล้วมีฟลูโอไรด์ค่ะ

ชาที่นำมาทำวิจัย เรื่องผลป้องกันฟันผุที่แรกๆก็ที่ศรีลังกานี่แหละค่ะ  

เมื่อกี้มัทเองค่ะที่เขียนเรื่องฟลูโอไรด์

 

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท