ทำไมถึงมาเรียนวิศวกรรมโยธา?


ดิฉันประเมินว่าเขาเลือกมาเรียนตามกระแสเพื่อน กระแสครอบครัว กระแสสังคม และค่านิยมที่คนมองวิชาชีพนี้...

ทำไมถึงมาเรียนวิศวกรรมโยธา?... 

คำถามนี้เป็นคำถามที่ดิฉันใช้ถามนักเรียนที่สอบติดที่ภาควิชาฯ ตอนสอบสัมภาษณ์เสมอ..

ส่วนใหญ่ดิฉันก็จะได้คำตอบประมาณว่า..

  • เพราะชอบเป็นวิศวกร..อยากเป็นวิศวกร..

  • ที่บ้านอยากให้เรียน..  

  • คิดว่าเป็นสาขาที่ดี..

  • ไม่แน่ใจ แต่คิดว่าดี..

  • เพราะน่าจะรวย..  (คำตอบนี้มีจริงๆ ค่ะ ประมาณว่าเด็กคิดว่ามั่นคง)

  • ฯลฯ

ดิฉันมักจะถามต่อว่า..

รู้ไหมว่าวิศวกรโยธาทำอะไรบ้าง...

คราวนี้แหละค่ะ เงียบกันไปพักนึงค่ะ บางคนพอจะรู้จักวิชาชีพบ้างก็บอกว่า "สร้างตึก สร้างถนน สร้างบ้าน ทำรถไฟฟ้า ฯลฯ" (อันสุดท้ายนี่ไม่ใช่เลยนะคะ)  บางคนก็ไม่รู้เลยค่ะ... ตอบว่า "ก็เป็นวิศวกรโยธา...ครับ/ค่ะ"

ประเด็นของดิฉันก็คือ เด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่ มาด้วยความรู้สึก อยากมี อยากเป็น อยากได้ แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองอยาก...บางคนก็ติดเข้ามาเรียนเพราะเลือกไว้หลายอันดับ เลือกสาขานี้ไว้เผื่อได้ 

เวลาเข้ามาเรียนแล้ว ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็จะฝืน เรียนก็ไม่ค่อยได้ดี จบออกไปก็ไม่ชอบ ต้องฝืนทำเพราะเป็นอาชีพแล้ว ความใส่ใจในการเรียนหรือการทำงานก็ลดลง แล้วก็ส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวม.. ยิ่งถ้าเป็นวิชาชีพที่ต้องการจริยธรรมและคุณธรรมสูงแล้ว ก็คงแย่ถ้ามีคนในวิชาชีพไม่ค่อยมีความรู้ หรือความรับผิดชอบในวิชาชีพ เพราะขาดบางสิ่งบางอย่างไป กลายเป็นว่าคุณภาพในการอุดมศึกษาของเราไม่ดีไปด้วย เพราะผลิตคนที่คุณภาพไม่ถึง (ไม่ใช่คนไม่ดีนะคะ แต่เป็นคนที่น่าจะทำงานสร้างสรรค์ให้กับสังคมได้ดีกว่านี้ แต่ไม่ได้อยากจะทำ หรือทำไม่ได้ ทำไม่เป็น..)

ดิฉันประเมินว่าเขาเลือกมาเรียนตามกระแสเพื่อน กระแสครอบครัว กระแสสังคม และค่านิยมที่คนมองวิชาชีพนี้...

แล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้กันในหลายๆ สาขา ที่ได้นักเรียนที่เรียนเพียงเพื่อให้มีใบปริญญาตามค่านิยมสังคม ไม่ได้ชอบ แต่มาตามกระแส  ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเรามากันถูกทางหรือเปล่าคะ...  หรือดิฉันคิดไปเอง???

หมายเลขบันทึก: 94526เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)
  • สวัสดีครับพี่กมลวัลย์
  • พี่สบายดีนะครับ
  • ชอบมากๆ เลยครับบทความนี้ และผมก็ขอประยุกต์ไปยังสาขาอื่นๆ ด้วยครับ ก็คงทำนองเดียวกันเลยครับ
  • มีสาขาใดบ้างครับ ที่เข้ามาแล้วเด็กบอกว่า อยากให้ อยากทำสิ่งนั้นให้กับสังคม อยากให้ความรู้ ชอบเพราะว่าได้อยู่กับชุมชนที่แท้จริง ได้ให้ความรู้กับเกษตรกร ชาวนา หรือว่าให้โอกาสทางการศึกษากับคนพิการ หรือว่าช่วนชุมชนสลัมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากคำว่า อยากได้นั่น ได้นี่ อยากมีเงินเดือนมาก อยากเป็นผู้บริหาร
  • เราจะทำอย่างไร ให้เปลี่ยนแฟชั่น อยากได้ อยากมี เป็นอยากให้ อยากยิ้ม
  • ส่วนอันนี้ผมจะเขียนไว้สำหรับสาขาคอมพ์ ที่พี่ไปเขียนไว้ในบันทึกการศึกษานะครับ P รวมพลัง G2K เพื่อ...การศึกษา....ปัญหาและแนวทางแก้ไข

    ว่า

    ส่วนเรื่องสาขาการเรียนก็เช่นกันครับ เราต้องกระจาย ผมจะบอกว่า คนที่หันไปเรียนคอมพ์กันจริงๆ เราผลิตคนให้สร้าง หรือเราผลิตคนให้ใช้โปรแกรมต่างชาติครับ (ประโยคนี้เจ็บนะครับ หากเอาไปคิดให้ลึกๆ ผมต้องการเขียนให้เจ็บเพราะว่า วันข้างหน้าเราจะเจ็บมากกว่านี้ หากเรามีแต่คนใช้ ไม่มีคนสร้าง)
  • พอเรียนกันหนักๆ แล้วล้นตลาดก็ตกงานกันอีกครับ ผมเขียนบทความเรื่องหนึ่งไว้นานแล้ว เรื่อง เมื่อไหร่บ้านเมืองเราจะถึงเวลา สร้างเอง ผลิตเอง ใช้เอง
  • ที่พี่ยกตัวอย่างมาคือ การเลือกเรียนนะครับ ต่อไปการเลือกประกอบอาชีพอีกครับ ทางการเกษตรก็เลือกปลูกพืชกันอย่างไร ตามแฟชั่นเช่นกัน ปลูกตามๆ กัน เมื่อราคาสูง ตอนนี้ก็กระแสปลูกยางพารา แล้วไปปลูกกันในนา แปลงนาข้าวน้ำลึกเป็นสวนยาง ตามไปถกกันให้ถึงรสชาติได้ที่นี่ นะครับ ปลูกยางในทุ่งนา เสียทั้งเวลาและนาข้าว
  • ตอนนี้ยังไม่สายหรอกครับ หากเราจะสร้างแนวทางการบริหารจัดการให้เข้ากับสังคมไทย และรากเหง้า รากแก้วของไทย ก่อนจะสายไปนะครับ การศึกษาก็เป็นคำตอบที่สำคัญมากๆ ในโจทย์นี้นะครับ  
  • ขอบคุณพี่มากๆ เลยนะครับ
P

สวัสดีค่ะ

ชอบใจบันทึกนี้เพราะมีเรื่องจริงเกี่ยวกับลูก

ลูกชายเรียนดีตอนอยู่เดรียมอุดมศึกษา อยากให้ลูกเป็นหมอ  ประชุมผู้ปกครอง   อาจารย์อยากให้เรียนต่อแพทย์

ลูกเรียนม.5 ไม่เรียนม.6 แล้วสอบวิชาเดียวคือ วิศวกรรม ไม่เลือกอย่างอื่นเลย ดิฉันถามว่า ทำไมไม่เลือกแพทย์อันดับหนึ่ง ลูกบอก

แม่จ๋า แม่เลี้ยงลูกมาจนโตแล้ว อย่าบังคับใจลูกเลยนะจ๊ะ ลูกไม่ชอบเป็นหมอ

ดิฉันอึ้ง ยินยอมแต่โดยดี

พออยู่ปี 3 คุยกัน เขาบอกว่า เขาอยากเป็นFund Manager เพราะช่วงนั้น ดิฉันนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ และแบ่งหุ้นให้เขาๆเอาหุ้นไป tradeในตลาด ทำเงินได้มากพอควรสำหรับเด็ก

ต่อมาเขาจบปริญญาโท MBA-Finance  มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาการเงินจนบัดนี้ เดินทางบ่อยมาก ทำงานหนัก แต่enjoy lifeเพราะผลตอบแทนดี

นี่คือสิ่งที่เขาเลือกโดยไม่ตามใครเลยแม้แต่แม่ เลือกเพราะชอบจริงๆ

ทุกวันนี้ ดีใจที่ไม่บังคับลูก ทนไม่ได้ที่จะให้ลูกเป็นทุกข์เพราะเราค่ะ

  • เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตดีจริงๆ
  • คิดแล้วนึกถึง ดร ทิพวัลย์ จังเลยครับ
  • ขอบคุณมากครับที่ให้แนวคิดในการสอนนักศึกษา

สวัสดีค่ะน้อง P เม้ง สมพร ช่วยอารีย์ ---------> http://www.somporn.net ---------> http://www.schuai.net

ขอบคุณมากนะคะที่ชอบบทความ

ดิฉันว่าคงยากที่จะมีนักเรียนสักคนเดินเข้ามาแล้วบอกว่าอยากทำให้ดีกว่านี้ อยากให้ จริงๆ แล้วอาจมีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อยมากๆ ในสังคมปัจจุบัน อันนี้ดิฉันไม่โทษเขา เพราะว่าสังคม groom หรือตกแต่งเขามาเป็นอย่างนั้น

เรื่องที่น้องเม้งพูดถึงสอนวิศวกรคอมพ์ให้เป็นผู้สร้าง ไม่ใช่ผู้ใช้ นั้น พี่เห็นด้วยเต็มๆ ค่ะ แล้วก็ในทุกสาขาเลยค่ะ งานวิศวกรรมเป็นงานสร้าง เป็นงาน creative ไม่ใช่เป็น user เพียงอย่างเดียว รอ command ขึ้นหน้าจอแล้วกดปุ่ม ค่ะ

คงต้องสอนกันอีกมากค่ะ ไม่ใช่สอนความรู้เฉยๆ แต่ต้องสอนให้คิดเป็น ทำเป็นด้วย งานหนักค่ะ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำและควรทำ 

แล้วจะแวะไปอ่านบันทึกที่ link ไว้นะคะ

สวัสดีค่ะคุณ P sasinanda

ขอบคุณมากเลยค่ะ ที่ share เรื่องจริง และเป็นตัวอย่างดีๆ ให้พวกเราได้รับฟัง

ดิฉันก็คิดเสมออย่างค่ะว่าถ้าเราได้ทำสิ่งที่เราชอบแล้วเราจะอยากทำ อยากพัฒนา ให้มันดีขึ้นๆ เรื่อยๆ ค่ะ แล้วพอมาถึงจุดหนึ่ง การอยากทำ อยากพัฒนานั้นจะเปลี่ยนจากการทำให้ตัวเอง ครอบครัว เป็นทำให้คนอื่น และสังคม (จากทฤษฎีบันได ๕ ขั้นของ Maslow จะเห็นได้เลยว่าถ้าคนยังไม่ผ่านขั้น basic needs กับ safety needs เขาจะยังให้ไม่ได้ค่ะ)

ดิฉันดีใจแทนลูกชายของคุณ sasinanda นะคะ ที่คุณพ่อ คุณแม่ ให้โอกาสเขาเลือก แล้วเขาได้เลือกสิ่งที่เขาชอบ แล้วประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ตัวเองทำ แม้ทำงานหนักก็จะไม่เหนื่อย ไม่ท้อ แต่ต้องระวังเรื่องสุขภาพนะคะ เดี๋ยวจะทำงานหนักไป ยิ่งต้องเดินทางเยอะๆ ด้วย ยิ่งจะเหนื่อยง่ายค่ะ

ขอบคุณนะคะที่แวะเข้ามาอ่าน และนำประสบการณ์จริงในครอบครัวมาเล่าให้ฟัง รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งเลยค่ะ ; )

สวัสดีค่ะ อ. P ขจิต ฝอยทอง

เวลาสอนหนังสือนักศึกษา จะพยายามบอกเด็กเสมอค่ะ ว่างานของเขาในอนาคตคืออะไร ก็ได้แต่พูดๆ ไปน่ะค่ะ บางทีกว่าเขาจะ get ก็ประมาณปี ๔ เทอมปลายๆ บางคนก็ตอนสายไปแล้ว เรียนร่อแร่แล้วมาหาเราก็ไม่รู้จะช่วยยังไง

เรามีความสูญเสีย (ถ้าในโรงงานอุตสาหกรรมเรียก defects, waste, scrap) มากในกระบวนการศึกษาค่ะ พวกครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็คงต้องมาช่วยกันอุดรอยรั่วเหล่านี้ แต่ก็แก้อยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้เหมือนกัน กระแสสังคมที่ถูกต้องจะต้องถูกสร้างให้เกิดขึ้นด้วย ไม่งั้นก็....แย่ค่ะ ถมทะเลยังไงก็ไม่เต็มเสียที..

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะ คุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

แอบมาแวะตั้งแต่เมื่อไหร่คะ แปะโป้งไว้เสียด้วย

เดี๋ยวมาเหรอคะ

ok ค่ะ ; )

สวัสดีครับ อาจารย์ กมลวัลย์

  • พอดีมีญาติมาเยี่ยมคุณแม่ที่บ้านเลยถูกเรียกไปคุยด้วย
  • เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ ที่ระบบ Consultation ในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยยังไม่ดีพอ หมายถึงจะต้องทำในระดับเตรียมอุดมศึกษา ทำมากๆ
  • ผมฝันเห็นคณะอาจารย์หรือรุ่นพี่สักปี 3-4 ของมหาวิทยาลยและคณะจารย์คณะต่างๆเดินสายไปทำ Orientation ให้กับนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหมือนหรือคล้ายๆสถาบันการศึกษาในต่างประเทศมาหาตลากคนเรียนในบ้านเรา แต่เราเน้นสาระอย่างที่อาจารย์ตั้งคำถามแก่เด็ก
  • เช่น วันเสาว์นี้อาจารย์มหา,ลัย และรุ่นพี่ยกทัพไปที่ โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง หรือที่รวมหลายๆโรงเรียนแล้วเชิญนักเรียนเตรียมอุดมที่สนใจจะเรียนต่อมาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจ  อาจจะทำได้หลายแบบ เช่น ทำเป็นแบบรวม ทุกคณะ มานั่ง panel แล้วเล่าให้ฟัง ตอบคำถามกัน  อีกแบบคือ แบ่งเป็น สายวิทย์ไปห้องโน้น สายสิลป์มาห้องนี้ แล้วคุยกัน ซักถามกัน หากไม่จุใจแยกเป็นรายคณะก็ได้หากทำไหว  เมื่อคุยรายละเอียดกัน เด็กจะได้รู้ ได้เข้าใจ จะได้เตรียมตัวกัน
  • ผมว่ามีโรงเรียนเตรียมอุดมบางแห่งอาจจะทำกันแล้ว แต่จำนวนมากปล่อยให้เด็กหาความรู้กันเอง ผมว่าระบบ consultation ในระดับเตรียมอุดมศึกษาไม่ดีพอ(เท่าที่ทราบ)
  • ในแง่มหาวิทยาลัยก็น่าท่จะเปิด www ให้รายละเอียดเรื่องนี้ให้มากๆ ซึ่งผมคิดว่าหลายแห่งอาจจะมีแล้ว แต่ละเอียดมากพอไหม
  • ประเด็นที่อาจารย์ตั้งไว้นั้น เป็นเรื่องใหญ่จริงๆที่จะต้องรีบแก้ไข เพราะชีวิตคนทั้งชีวิตอยู่ตรงหัวเลี้ยวหัวต่อนี่แหละครับ

สวัสดีค่ะ คุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

  • เท่าที่ทราบนะคะ บางโรงเรียนก็มีครูแนะแนวที่ดี และใช้ได้พอสมควรค่ะ
  • เคยไปเขียนข้อคิดเห็นไว้ในบันทึกของ ศ.วิจารณ์ (Prof. Vicharn Panich) ที่เขียนเอาไว้ในเรื่อง มหาวิทยาลัยกับการจัดค่ายนักเรียน เรื่องการรับนักศึกษาโควต้าผ่านระบบคล้ายๆ กับที่คุณบางทรายว่าไว้นี่แหละค่ะ ลองแวะไปอ่านดูนะคะ
  • ระบบนี้ก็ยังมีอยู่ค่ะ การออกทัวร์ก็ยังมีอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ทุกภาควิชาฯ ค่ะ แว่วๆ มาว่าปีนี้ที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เขาคิดจะไปหาเด็กตั้งแต่ ม.๓ เลยค่ะ นับเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่คง target ได้แค่นักเรียนแถวๆ ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ค่ะ
  • เรื่อง website นี่น่าสนใจมากค่ะ แต่ก็ต้องเป็นคนที่สนใจ ถึงจะมาอ่าน web ของเรา แต่มีไว้ก็ไม่เสียหายค่ะ แล้วจะลองไปเสนอเพื่อนพ้องดู
  • แต่การทำโดยทางมหาวิทยาลัยอย่างเดียวก็รู้สึกว่ายังไม่พอค่ะ เพราะคิดว่าสังคมต้องมีกระแสนิยมที่ถูกต้องด้วย ไม่งั้นคนก็จะเรียนด้วยความเข้าใจที่ผิดๆ อยู่ดี
  • เรื่องนี้สำคัญจริงๆ ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วย แต่ที่ดีก็คือมีคนเห็นบ้างแล้ว ทำบ้างแล้ว ที่เหลือก็คือต้องกระตุ้นให้เกิดมากขึ้นกันต่อไปค่ะ
  • ขอบคุณที่ตั้งใจแวะเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเลยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ
  • น่าคิดน่ะครับ ส่วนใหญ่สายทางสังคมวิทยาจะประสบปัญหานี้ครับ
  • เด็กเข้าเรียนเพราะ ตามเพื่อน เข้าเรียนเพราะ ไม่มีอะไรเลือก เข้าเรียนเพราะดูคะแนนต่ำ
  • เวลาเข้ามาเรียนในสายวิชาทางสังคมส่วนใหญ่ก็เลยเรียนขอให้จบๆ
  • ซึ่งเป็นปัญหากับพวกกระผมมาก
  • การเข้าใจ และมีจิตวิญญานในงานทางด้านสังคมจึงไม่เกิด
  • Social Work ในต่างประเทศมีความสำคัญและมีส่วนในการพัฒนาประเทศเขามาก แต่ในบ้านเรา...... เพราะเด็กมองว่า ไม่ใช้กระแส และมาแต่ละคนมีส่วนน้อยที่มาด้วยใจครับ

สวัสดีค่ะอ. P นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า

ยินดีต้อนรับค่ะ อาจารย์

น่าเสียดายมากเลยนะคะ ที่นักศึกษาที่มาเรียน ไม่ว่าจะเป็นสายไหน คิดแบบที่อาจารย์ว่า แค่เรียนให้จบๆ ไป

ดิฉันว่าคนในสังคมส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับวิชาชีพในสายสังคม (อันเนื่องมาจากแนวโน้มรายได้) ทำให้คนไม่สนใจไปเรียนสายสังคม คะแนนดีก็เลือกไปเรียนอย่างอื่นหมด  คนที่ไปเรียนก็ไม่ได้อยากเรียน ผลที่ออกมาก็คือ...สังคมล้มเหลว...อย่างที่เห็นนี่แหละค่ะ 

ดิฉันไม่ได้โทษอาจารย์สายสังคมเลยนะคะ ดิฉันคิดว่ามุมมองของคนในสังคมยังมองไม่เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ ความเป็นปึกแผ่นของสังคม จริยธรรม คุณธรรม... ตอนนี้มุ่งไปทางวัตถุกันเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นไปได้ว่าสภาพเศรษฐกิจทำให้คนเป็นอย่างนี้ และก็มีตัวอย่างคนรวยที่ไม่ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมมาก..และเป็นข่าวเยอะ เป็นการสร้าง trend ที่ไม่ดี  ทำให้ทัศนคติในภาพรวมออกมาอย่างนี้ 

กำลังรอดูว่าเมื่อไหร่จะมี turning point แล้วมันจะมีไหม... เพราะถ้าไม่มี...วัฒนธรรมไทย ก็คงไม่เหลือค่ะ

อาจจะอ่านแล้วเหมือนดิฉันมองโลกในแง่ร้ายนะคะ แต่ดิฉันเห็นเช่นนี้จริงๆ ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือต่อไปค่ะ

อ่านตั้งแต่บทความจนจบหลายๆความคิดเห็น รู้สึกมีประโยชน์และเป็นเรื่องกระตุ้นเยาวชน สังคม ผู้บริหารในกระทรวงศึกษาฯได้ดีทีเดียว

ไม่เพียงแต่สาขาวิศวกรรมโยธาฯหรอกครับที่นักเรียน/นักศึกษาไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของวิศวกรโยธาฯ ผมคิดว่าสาขาอื่นก็เช่นเดียวกัน

ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่ง ตอนเรียนอยู่ ม.ปลาย สอบติดและเข้าค่ายอบรมคณิตศาสตร์โอลิมปิกจนเข้ารอบ ๒๐คนสุดท้ายของประเทศ แต่พ่อต้องการให้เรียนวิศวฯ เลยเรียนให้พ่อ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ผลการเรียนอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้นเอง หลังจากเรียนให้พ่อเสร็จ ผมแนะนำให้ไปเรียนต่อ ป.โท ด้านคณิตศาสตร์ เขาก็สอบทุนต่างประเทศได้ไปเรียนที่เยอรมันจนจบ ขณะนี้ศึกษา ป.เอก ด้านคณิตศาสตร์ต่อที่ฝรังเศส

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมายั่วยุให้เด็กๆ/เยาวชนเกิดความอยากได้ เด็กเหล่านี้จึงมองเห็น"เงิน"เพียงอย่างเดียวที่จะตอบสนองความต้องการได้ ดังนั้นเยาวชนจึงมุ่งไปที่วิชาชีพที่ทำ"เงิน"ก่อนโดยไม่ได้ดูความถนัดของตัวเองด้วยซ้ำไป

ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราที่เป็นครูบาอาจารย์จะต้องหากลไกส่งเสริมแนะแนวการศึกษา(ที่มีประสิทธิภาพจริงๆ)  ไม่ใช่ให้เด็ก"อยากเข้า(วิศวฯ หมอ บัญชี นิติศาสตร์ ฯลฯ)อย่างเดียว แต่ต้องให้รู้ด้วยว่าเข้าได้แล้วจะต้องเรียนอะไร ยิ่งกว่านั้นต้องให้รู้ว่าตัวเองจะชอบเรียนหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นปีถัดไปก็กลายเป็น "เด็กซิ่ล" เป็นปัญหาสังคมไม่หยุด....

สวัสดีค่ะ P อ.ศิริศักดิ์

ดีใจค่ะที่อาจารย์เห็นว่าบทความและข้อคิดเห็นต่างๆ มีประโยชน์

ตัวอย่างลูกศิษย์อาจารย์ที่เล่าไว้ เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลยค่ะ เพราะทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่านักศึกษาเลือกเรียนเพื่อครอบครัว แต่สุดท้ายยังโชคดีที่มีอาจารย์ดี และได้คำแนะนำจากอาจารย์ จนปัจจุบันก็ไปในทางที่เขาชอบแล้ว

ปัญหาเรื่องค่านิยมและกระแสนิยมในความร่ำรวยเป็นอะไรที่ซึมลึกจริงๆ ดิฉันคิดว่าครอบครัวและสื่อมีบทบาทมากๆ ในการตัดสินใจของนักศึกษาค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะว่าจะต้องหากลไกส่งเสริม อาจเป็นแบบที่คุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา) แนะนำไว้ในข้อคิดเห็นข้างต้นค่ะ ไม่เช่นนั้นปัญหานี้ก็คงหมดลงไปยากมากค่ะ แล้วก็ต้องให้ความรู้กับคนในสังคมโดยรวมด้วยค่ะ แต่เรื่องนี้คงยากมากๆ ที่จะเปลี่ยนทัศนคติหรือกระแสสังคม ตราบใดที่ตัวล่อ (เงิน) มันชัดเจนมากขนาดนี้ ดิฉันว่าคงต้องใช้เวลากันเป็นชั่วอายุคนล่ะค่ะ ถ้าจะแก้ไขได้แบบเห็นหน้าเห็นหลังจริงๆ ....

มันเป็นความจริงอย่างที่ว่า"สื่อมีบทบาทในการตัดสินใจของนักศึกษาเป็นอย่างมาก" ไม่เพียงแค่นักศึกษาหรอกครับ สังคมโดยรวมเลยแหละที่ได้รับผลกระทบจากสื่อ ภาพโป๊ต่างๆตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ทำให้เกิดคดีฆ่าข่มขืนอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี      พอสรุปได้ว่า "สื่อ"ก็เป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งของกิเลสคน

ขอบคุณค่ะ P อ.ศิริศักดิ์ ที่ให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องสื่อ

เล่นถึงเรื่องรูปโป๊ เลยหรือคะ อิอิ

จริงค่ะอาจารย์ เพราะคนเรามักเอาสิ่งที่เห็นไปเป็นเยี่ยงอย่างหรือไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ทำให้นึกถึงหลานๆ ตัวเล็กๆ ที่พูดตามทำตามผู้ใหญ่อย่างเราอย่างรวดเร็ว

นึกถึงทุกวันนี้มีข่าวมานำเสนอมากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นข่าวไม่ดี ข่าวฆ่ากันตาย ข่าวข่มขืน ไม่ค่อยมีข่าวดีๆ เท่าใหร่ ส่วนใหญ่ซ่อนอยู่ในด้านในลึกๆ บางทีข่าวที่เด็กชนะโอลิมปิกต่างๆ มา ก็ถูกนำเสนอแบบฉาบฉวย เพราถ้าไม่ได้เหรียญ จะไม่ได้ลงหนังสือพิมพ์ ถึงได้เหรียญ ก็จะเสนอเฉพาะความสำเร็จที่ได้ ไม่ได้นำเสนอว่าเด็กทำงานหรือเรียนหนักขนาดไหนและต้องมีการบ่มเพาะขนาดไหน กว่าจะได้สิ่งเหล่านี้มา  ทำให้คนบริโภคสื่อมองไม่เห็นว่าทุกอย่างต้องมีการลงทุน เพื่อให้ได้ผลสำเร็จ...

เขียนไปเขียนมากลายเป็นเรื่องสื่อเสียแล้ว แต่ก็คิดว่าใช่ค่ะ เพราะปัญหาของเราคือคนหลงกระแสวัตถุนิยม กระแสโลกีย์ ที่ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากสื่อด้วยแหละค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามาตอบอีกครั้งนะคะ

กิเลสของคนทำสื่อย่อมเลือกที่จะหา"เหยื่อ"ที่ขาด"ปัญญา" ข่าวที่ไม่สร้างสรรค์รู้สึกจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้มีปัญญาน้อย จึงต้องลง"หน้าหนึ่ง" เพราะไม่ต้องใช้ปัญญาเสาะแสวงหาก็ได้อ่าน   แต่ข่าวที่สร้างสรรค์อย่างการได้เหรียญทองโอลิมปิกวิชาการถึงแม้จะ"แอบซ่อนไว้ที่ไหน" ผู้มีปัญญาก็หาจนเจอและตามไปอ่าน

เห็นด้วยครับ..."ทุกอย่างต้องมีการลงทุน จึงจะได้ผลสำเร็จ"  "ขยันมาก ได้มาก ขยันน้อย ได้น้อย" นี่มันอะไรกัน ไหว้พระด้วยพวงมาลัยพวงเดียวจะขอให้ถูกรางวัลที่ ๑    และมันน่าเจ็บใจตรงที่รัฐบาลของเราส่งเสริมกลไกมามอมเมาครอบงำไม่ให้สังคมเกิดปัญญาเสียอีก      แล้วยังจะอ้างตัวว่าเป็น"พุทธมามกะ"    เฮ้อ......เหนื่อย....

 P อ.ศิริศักดิ์ ขา.. อย่าเพิ่งเหนื่อยค่ะ ตอบบันทึกดิฉันแล้วหมดแรงเลยหรือคะ 5555

คิดไว้เหมือนกันว่าจะเขียนเรื่องการ earn (ทุกอย่างต้องลงทุนทำ และไม่มีของฟรีในโลกอยู่เหมือนกัน)

ชอบที่อาจารย์เขียนว่า "นี่มันอะไรกัน ไหว้พระด้วยพวงมาลัยพวงเดียวจะขอให้ถูกรางวัลที่ ๑" มันตรงดีค่ะ ถ้าเขียนเรื่องนี้แล้วจะยืม quote ค่ะอาจารย์ ; )

ดิฉันว่าอาจารย์เอาไปเป็น material เขียนต่อเรื่องธรรมะ ก็ได้นะคะ ขอบคุณค่ะอาจารย์

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทอง


พอดีงงเล็กน้อยค่ะ แล้วเลยเขียนไปถามทาง email

ตอบแล้วนะคะ ดูได้ที่ สอบถาม กมลวัลย์ ค่ะ

ขอบคุณเช่นกันค่ะ

เรียนท่านอาจารย์กมลวัลย์

ที่ มมส. มีโครงการเรียนล่วงหน้า คือ ช่องซัมเมอร์นี้ให้นิสิตใหม่ที่เลือกเรียนในสาขาแล้ว มาลองเรียนสัมผัสของจริงในช่วงเวลาประมาณครึ่งเดือน

เพื่อให้ผู้เรียน หรือนักเรียนผู้นั้นได้ตัดสินใจอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย ว่าจะเรียนจริงๆ หรือไม่ เรียนแล้วจะไปรอดหรือไม่

ขอบคุณครับ

กัมปนาท

  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ
  • เพราะได้บันทึกดีๆๆจากอาจารย์ครับ
  • ตอบแล้วที่
  • สอบถาม กมลวัลย์

สวัสดีค่ะคุณกัมปนาท อาชา (แจ๊ค)

ดีจังค่ะ โครงการนี้ เปิดโอกาสให้มาเรียนก่อน แต่เป็นนักศึกษาที่ ent ติดแล้ว คล้ายๆ กับของที่คณะวิศวฯ ค่ะ แต่ของที่คณะฯ จัดทำโดยสโมสรนักศึกษาค่ะ

ก่อนสอบ ent จะมีโครงการติวฟรีเพื่อสอบ ๑ ครั้ง อันนี้คนทั่วไปที่สนใจมาเรียนได้ ทางคณะฯ เพียงแต่ให้ใช้สถานที่ เรื่องค่าลงทะเบียนเข้าใจว่านักศึกษาเขาไม่ได้เก็บค่ะ อาจมีค่าเอกสารบ้าง แต่อันนี้ไม่แน่ใจ แต่รู้ว่าไม่น่าจะเป็นธุรกิจค่ะ

พอหลัง ent ได้คนเรียนแล้ว สโมสรฯ ก็จัดอีกค่ะ ประมาณว่าเอาน้องมาติวก่อนเรียนค่ะ แต่บางทีก็เห็นกระโดดโลดเต้นอยู่เป็นกลุ่ม ประมาณว่าเรียนบ้าง รับน้องเล็กๆ สนุกๆ ไปบ้างค่ะ อันนี้ทางคณะฯ ก็ support สถานที่เหมือนกันค่ะ

ดีค่ะ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดดีๆ จะได้นำไปใช้กันเยอะๆ ค่ะ ขอบคุณนะคะ

สวัสดีอีกรอบค่ะอ. ขจิต ฝอยทอง

ขอบคุณเช่นกันนะคะ ; )

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ผมอ่านบทความอาจารย์กี่ทีมันทำให้ผมเกิดความรู้สึกอยากแลกเปลี่ยนทุกที ทั้งๆที่ผมเองก็ชอบทำตัวเป็นผู้อ่านที่ดีมากกว่า
  • ผมเองก้เป็นคนหนึ่งละครับที่ได้เรียนตามความต้องการของผมเอง การกำหนดชีวิตได้เองและได้ทำในสิ่งที่ชอบทำให้เกิดความสุขในชีวิตมากครับ ตัวผมเองหัวไม่ดีคิดว่าเรียนเกษตรคงง่ายกว่าที่จะไปตามกระแสคือวิศวกรรมหรืออื่นๆ จึงเลือกเรียนเกษตร
  • นอกจากคิดว่าง่ายแล้วมันมีเหตุผลแวดล้อมอีกมากมายที่ทำให้เลือกเรียน แต่สิ่งที่ผมจะไม่นำมาเป้นเหตุผลในการตัดสินใจทำอะไรเลยก็คือการติดเพื่อน เพราะผมคิดว่ามันเป็นเหตุผลที่แย่ที่สุด
  • ผมว่าในระดับ ม.4 น่าจะมีวิชาสักวิชานะครับที่ว่าด้วยเรื่องของการค้นหาตัวเอง คนที่ค้นพบตัวเองได้เร็วผมว่าเขาจะได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบ เป็นในสิ่งที่เขาใฝ่ฝันนะครับ
  • เพื่อผมเองก็มีไม่น้อยที่ใช้เวลาเรียนมากกว่าคนอื่นๆเนื่องจากไปเจอสิ่งที่ชอบช้าเกินไป บางคนจบพยาบาล ยอมใช้เงินแทนใช้ทุนเพื่อที่จะไปเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
  • ขอบคุณครับอาจารย์ สำหรับบันทึกที่ช่วยบริหารมือและความคิดครับ
  • สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะุคุณสุดทางบูรพา

น่าสนใจนะคะ ถ้าจะมีวิชาค้นหาตัวเองตอนเรียน ม.ปลาย แต่ก็นั่นแหละค่ะ สำหรับตัวเองแล้วคงสอนยากน่าดู ไม่รู้จะสอนอย่างไร น่าคิดคุ่ะ น่าคิด น่าจะเป็นวิชาทางจิตวิทยา + การค้นคว้า + การแนะแนวอาชีพนะคะ ไม่แ่น่ใจเหมือนกันค่ะ ^ ^

การแนะแนวนักเรียน นักศึกษา คงทำกันได้ตลอดตั้งแต่ม.ปลาย จนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพียงแต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบวิชาที่ชัดเจน เป็นการให้ความรู้ผ่านการเรียนการสอน และความสนใจของเด็กๆ เองน่ะค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ 

สวัสดีค่ะ พี่กมลวัลย์

ปัจจุบัน หนูศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.1 ค่ะ

หนูอยากเป็นวิศวกรมากๆค่ะ (วิศวกรไฟฟ้า) เพราะได้แรงบันดาลมาจากคุณพ่อค่ะ

แต่หนูไม่รู้ว่าหนูอยากเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าถามหนู ในใจลึกๆ หนูก้ยังอยากเป็นวิศวกรมากๆเลยค่ะ

แต่หนูอยากร๔เหตุผลค่ะ ว่าทำไมหนูถึงอยากเป็นวิศวกร??

อาจจะเป็นเพราะว่าได้เงินเยอะ แต่งานก็ไม่มั่นคง

อาจจะเป็นเพราะว่า โดดเด่นในสังคม ถึงแม้จะโดนต่อว่า

อาจจะเป็นเพราะว่าทำงานสบายนั่งอยู่บนเก้าอี้เฉยๆ แต่ว่าปวดสมองอย่างสุดขีด

พี่กมลวัลย์คิดว่า ทำไมหนูถึงอยากเป็นวิศวกรคะ?

ผมเห็นด้วยตั่งเเต่เลกนะคับที่ถาม ว่า ทำไม นักศึกษาถึงเลือกเรียน วิศวกรรม?? ส่วนตัวผมเเล้ว "ผมชอบ"

อย่างเเลกเลย มันเป็นความฝันในวัย เด็ก อายุประมาณ5-7 ขวบ เพราะว่าเห็นพ่อเป็นผู้รับเหมางานใหญ่ๆ ผมเลยเกิดความรู้สึกที่อยากถามพ่อว่า เหนื่อยมั้นพ่อ พ่อบอกกับมาว่าเหนื่อย ผมเลยถามกับไปอีกว่า เเล้วจะทำยังงัยไม่ให้เหนื่อยล่ะ??พ่อตอบกับมาว่า ไม่รู้เหมือนกันลูกพ่อเรียนมาน้อย ผมเลยถามไปอีกว่า ถ้าหนูอยากทำเเบบพ่อเเต่ต้องมีหมวกที่เห็นเค้าใส่กัน พ่อ งง? เลยถามว่าหมวกอะไรลูก ผมเลยบอกไปว่าหมวกที่คนเค้าใส่ตอนออกเเดดเพื่อดู"เเบบ"เหมือนที่พ่อดูไง เเบบ น่ะ พ่อเลยบอกว่า อ๋อพ่อเข้าใจเเล้ว คนพวกนั้นเค้าเป็น "วิศวกร" กันน่ะลูก ตั่งเเต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ตอนนี้ผมก็20กว่าเเล้ว 25/05/2556 ผมได้ไปสมัครเรียน วิศวกรรมโยธา ที่ "ราชมงคลตะวันออก อุเทนถวาย" ไม่ใช่เพียงผมอยากตามฝันเเต่ผมอยากเรียน อยากเก่ง อยากเข้าใจในอะไรๆๆที่ยากๆๆอยากณรู้ในเรื่องเล่านี้  ทุกวันนี้ผมยังอยากเรียน พิเศษ อยู่เลย เกี่ยวกับ วิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  ขอบคุณคับที่รับฟัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท