อาจารย์ยม
อาจารย์ อาจารย์ยม บทบาทนักวิชาการ คือการชี้ทางสว่างให้สังคม นาคสุข

โครงการ การวางแผนการบริหารโครงการ


หลักการเขียนโครงการ ลักษณะของโครงการที่ดี ลักษณะของโครงการที่ไม่ดี

สวัสดีครับท่าน ผู้อ่านทุกท่าน 

 

ผมเปิดบันทึกนี้ เพื่อเป็น "สังคมแห่งการเรียนรู้" ในเรื่อง การเขียนโครงการ การวางแผน และการบริหารโครงการ  ให้กับศิษย์ และผู้เข้าร่วมสัมมนา  ทั้งที่เรียน ปริญญาโท ตามสถาบันต่าง ๆ และผู้เข้าร่วมสัมมนา "ผู้นำชั้นสูง(ผนส)ทุกรุ่น"  

ในบันทึกนี้ ประกอบไปด้วย องค์ความรู้พื้นฐานในการเขียนโครงการ ลักษณะของโครงการที่ดี และไม่ดี การวางแผน การบริหารโครงการ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการให้ได้มาตรฐาน สมกับเป็นผู้นำชั้นสูง

 

โครงการที่ดีมีคุณภาพ จะช่วยทำให้ยุทธศาสตร์การจัดการขององค์การดำเนินไปได้ด้วยดี มีประสิทธิภาพ

 

หวังว่าบันทึกนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน

 

สวัสดี

 

 

 



ความเห็น (22)

ความรู้พื้นฐานในการเขียนโครงการ

 

โครงการ หมายถึง   การดำเนินกิจกรรม เพื่อสนองยุทธศาสตร์ ด้วยการวางแผนและกำหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ ไว้ล่วงหน้า  กิจกรรมดังกล่าวจัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบมีระเบียบแบบแผน

 

 

ในโครงการประกอบด้วยกิจกรรม และเป้าหมายย่อยหลากหลาย ที่ต้องใช้ทรัพยากรทางการบริหารอย่างจำกัด   และคาดหวังที่จะได้ผลสัมฤทธิ์ ตามที่คาดหวังไว้ อย่างมีประสิทธิภาพ  โครงการจึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์การ หรือหน่วยงาน ให้ประสบความสำเร็จ ตามภารกิจ และวิสัยทัศน์ และสามารถช่วยให้แก้ไขปัญหาหรือพัฒนาองค์การได้เป็นอย่างดี

 

ลักษณะของโครงการที่ดี

  • สามารถแก้ปัญหาขององค์การหรือหน่วยงานได้
  • มีรายละเอียด  วัตถุประสงค์เป้าหมายต่าง ๆ ที่สอดคล้องกัน มีความชัดเจน  สามารถดำเนินงานได้  มีความเป็นไปได้
  • รายละเอียดของโครงการต่อเนื่องสอดคล้องสัมพันธ์กัน
  • ตอบสนองความต้องการของลูกค้า หน่วยงาน หรืออง์การ   สังคมและประเทศชาติ
  • ปฏิบัติแล้วสอดคล้องกับแผนงานหลักขององค์การ
  • กำหนดขึ้นอย่างมีข้อมูลความจริงและเป็นข้อมูลที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
  • ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารทุกด้าน  โดยเฉพาะด้านทรัพยากรที่จำเป็น
  • มีระยะเวลาในการดำเนินงานแน่นอน  ระบุวันเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด
  • สามารถติดตามประเมินผลได้
  • สามารถขยายผล สู่ความยั่งยืนได้

 

 

ลักษณะของโครงการที่ดี ตามความเห็นของ ผู้นำสหกรณ์ ชั้นสูง รุ่นที่ 2 ได้ระดมสมองกันสรุปได้ว่า ลักษณะของโครงการที่ดี ควรมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ชื่อโครงการ กะทัดรัด ชัดเจน
  2. มีการติดตามการประเมินผล ที่ชัดเจน
  3. การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง
  4. เป็นโครงการที่ละเอียด เรื่องงบประมาณ
  5. เป็นโครงการที่ เฉพาะ สาระสอดคล้องกับโครงการ
  6. วัตถุประสงค์ของโครงการ ชัดเจน สอดคล้องกับ กิจกรรมโครงการ
  7. งบประมาณ การดำเนินโครงการชัดเจน มาจากไหน เห็นชัด
  8. มีผู้รับผิดชอบโครงการ
  9. กำหนดแผน ระยะเวลาที่ชัดเจน  และเหมาะสม
  10. กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน
  11. พื้นที่ดำเนินการโครงการชัดเจน
  12. เน้นความยั่งยืน
  13. หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องชัดเจน
  14. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
  15. แหล่งที่มาเงินทุนชัดเจน
  16. กิจกรรม ให้ชัดเจน
  17. ส่งเสริม สภาพปัญหาของโลก ของประเทศ ของสังคม
  18. ผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจน
  19. การติดตามประเมินผล ให้ต่อเนื่อง
  20. เป็นโครงการที่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้
  21. กลุ่มเป้าหมาย ให้ชัดเจน ทั้งปริมาณ และคุณภาพ
  22. จัดหาแหล่งเงินทุนจากแหล่งอื่นๆ สนับสนุน
  23. ติดตามประเมินผลได้
  24. ผล ประโยชน์ที่สมาชิกได้รับเห็นเป็นรูปธรรม ชัดเจน วัดผลได้
  25. ใช้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ดำเนินโครงการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  26. ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
  27. สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบัน

 

ขั้นตอนการเขียนโครงการ

1. วิเคราะห์วิสัยทัศน์ พันธกิจ สภาพปัญหาหรือความต้องการ  ขององค์การหรือหน่วยงาน ในกรณีการเขียนโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ผู้เขียนต้อง ศึกษาสภาพแวดล้อมเพื่อค้นหาปัญหา (ต้ไม้แห่งปัญหา)  แล้ว กำหนดสภาพแห่งการหมดปัญหา (ต้นไม้แห่งความสำเร็จ) จากนั้น  กำหนดแนวทางแก้ไข หลาย ๆ ทาง แล้วเลือกทางที่ดีที่สุด และดีรองลงมาไว้เป็นแผนสำรอง ในการแก้ไขปัญหา 

 

2.  เขียนโครงการ  โดยมีหลักการเขียนโดยย่อดังต่อไปนี้ 

  • ก่อนลงมือ  ต้องตั้งคำถามและตอบคำถาม  5  W  1  H  (Why, What,  Who,   Where, When  and  How)
  • เมื่อศึกษาวิเคราะห์ความต้องการแล้ว จะได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการเขียนว่าทำไมต้องทำโครงการนี้ขึ้นมา (Why) และคำถามที่ตามมาคือ
  • จะต้องทำอะไร (What) ก็คือชื่อของโครงการนั่นเอง
  • ใครจะเป็นคนทำ (Who) คือผู้รับผิดชอบโครงการ และ
  • จะทำที่ไหน (Where) เป็นสถานที่ในการดำเนินการ
  • จะทำเมื่อใด (When) เป็นระยะเวลาในการดำเนินการ
  • จะต้องทำอย่างไร (How) ซึ่งเป็นวิธีในการดำเนินการ  จากนั้น
  • ให้ศึกษาเกณฑ์การคัดเลือกโครงการ ของหน่วยงานที่ให้ทุน หรือขององค์การ แล้ว
  • ลงมือเขียนโครงการ  โดยใช้ภาษาเขียนที่กระชับ  สื่อความหมายได้ชัดเจน
  • ทำการตรวจสอบ โครงการ แผนการดำเนินการเป็นระยะๆ และทำการพัฒนา ปรับปรุงโครงการอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประกอบและขั้นตอนการเขียนโครงการ   

หลักการและเหตุผล

การดำเนินตามภารกิจใด ๆ ก็ตาม  การเขียนโครงการเพราะขออนุมัติจากผู้มีอำนาจเพื่อขออนุมัติโครงการก่อนดำเนินการเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้น  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนของ  หน่วยงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในการเขียนโครงการเพื่อเสนอขออนุมัติ

องค์ประกอบและ แนวทางการเขียนโครงการ   การเขียนโครงการมีหลายรูปแบบ  แต่หัวข้อสำคัญจะประกอบด้วย  ดังนี้

1. ชื่อโครงการ  ชื่อโครงการ  หมายถึง  โครงการที่ดำเนินการนั้น  ให้ชื่อว่าอะไร  อาจระบุชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยมีลักษณะการเขียนดดยศึกษาจากวัตถุประสงค์ หรือสภาพแห่งความสำเร็จที่เราต้องการให้เกิด โดยพิจารณาจาก สภาพปัญหา แล้วกำหนดเป็นสภาพแห่งความสำเร็จ ก็จะได้ชื่อโครงการออกมา

เช่น  สภาพปัญหา เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะคนดื่มสุรา  ก็นำปัญหามากำหนดเป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดก็คือ คนไม่ดื่ม สุรา ขณะขับรถ ก็จะได้ชื่อโครงการว่า "โครงการ รณรงค์ ลด ละ เลิก ดื่มสุรา ระหว่างขับรถ เป็นต้น 

2. หลักการและเหตุผล  ให้ระบุหลักการ  ความเป็นมา  ความสำคัญของการดำเนินการ  ตลอดจนปัญหาและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ  และระบุด้วยว่าเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมาแล้ว  และมีแผนจะดำเนินการต่อไป  หรือเป็นโครงการที่เพิ่งริเริ่มดำเนินการและโครงการนั้นได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ  แล้ว ลักษณะการเขียนต้องเน้นให้เห็นความสำคัญของโครงการ โดยอาจใช้คำถามนำทางเช่นทำไมถึงทำ(Why) ทำแล้วจะได้อะไร ถ้า...ไม่ทำจะส่งผลกระทบหรือเกิดผลเสียอะไรหรือเปล่า  หรือถ้าไม่ทำได้ไหม  เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักและความสำคัญของโครงการซึ่งจะมีผลต่อการอนุมัติโครงการ การเขียนหลักการและเหตุผล ควรเขียนให้สั้นกระชับ เข้าใจง่ายถึง สภาพปัญหา ผลกระทบ ที่คาดว่าจะเกิดมากขึ้น และแนวทางแก้ไข โดยใช้โครงการนี้เข้าไปช่วย

3. วัตถุประสงค์โครงการ  คือ  สิ่งที่บอกให้ทราบว่า  การดำเนินการตามโครงการนั้น  มีความต้องการทำอะไรและต้องการให้อะไรเกิดขึ้น  ควรเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเข้าใจง่าย  สามารถปฏิบัติได้ไม่เลื่อนลอย  วัดและประเมินผลได้ มีลักษณะเฉพาะเจาะจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่โครงการต้องการ ซึ่งโครงการบางโครงการอาจมีมากกว่า 1 วัตถุประสงค์ แต่ไม่ควรมีมากเกินกว่า 5 วัตถุประสงค์ การเขียนวัตถุประสงค์ ต้องให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และผลที่คาดว่าจะได้รับด้วย 

4. เป้าหมาย

  • เป้าหมายการดำเนินการ  เป็นการกำหนดขอบเขตในการดำเนินการ ประกอบด้วยเป้าหมายเชิงปริมาณ เช่น จะผลิตบุคลากรระดับใด  ปีใด  จำนวนเท่าใด และเป้าหมายเชิงคุณภาพ หรือเชิงเนื้อหา เช่นในด้านใด หรือเรื่องอะไรบ้าง อย่างไร
  • เป้าหมายของโครงการ เป็นการการคาดหวังล่วงหน้าในสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่สิ้นสุดโครงการ (ผลที่คาดว่าจะได้รับ) สามารถเขียนได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เป้าหมายเชิงปริมาณจะระบุตัวเลขตามหน่วยที่ต้องการ เช่น ความถี่ ร้อยละ อัตราส่วน หรือเป็นจำนวนตัวเลขธรรมดาก็ได้ ส่วนเป้าหมายเชิงคุณภาพเช่นความรู้ ทักษะ ทัศคติ ความเห็น ความสามารถ ความสะอาด เรียบร้อย ความสวยงาม ความคงทนถาวร ความสมบูรณ์ ความยั่งยืน เป็นต้น

 

5. ระยะเวลาดำเนินการโครงการ  จะเริ่มดำเนินงานตามโครงการเมื่อใด  (วัน  เดือน  ปี)  และแผนการดำเนินในปีต่อ ๆ ไป  และสิ้นสุดการดำเนินการโครงการเมื่อใด

6. วิธีดำเนินการ  อธิบายให้เห็นถึงวิธีการและขั้นตอนการดำเนินการโครงการ

7.สถานที่ดำเนินการ  ระบุสถานที่ดำเนินการโครงการ

 

8. ผู้รับผิดชอบโครงการ  หมายถึง  ผู้ที่จะทำหน้าที่จัดตั้งหรือบริหารงานรับผิดชอบในโครงการนั้น  ซึ่งอาจได้แก่  บุคคล  คณะบุคคล  หรือหน่วยงาน  ซึ่งจำแนกเป็นบุคคล  คณะบุคคล  หรือหน่วยงานผู้รับผิดชอบในโครงการ

 

9. งบประมาณ  ระบุว่างบประมาณที่จะดำเนินการโครงการทั้งสิ้นจะใช้เงินเท่าใด  โดยให้ระบุรายละเอียดของค่าใช้จ่าย  และแหล่งงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการโครงการด้วย

 

10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ  ให้ระบุผลงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อได้ดำเนินการโครงการ  ถ้าเป็นโครงการที่ขยาย/ปรับปรุง  ยกฐานะจากเดิมให้แสดงผลงานของโครงการที่ผ่านมา  เช่น  จำนวนผู้สำเร็จ  หรือผลงานอื่น ๆ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ

 

11. การประเมินโครงการ  ให้ระบุกิจกรรมการประเมินโครงการ  เพื่อให้ทราบถึง วิธีการประเมินผลการดำเนินการโครงการ

 

12. เอกสารอ้างอิง  เป็นเอกสารที่ใช้ในการค้นคว้าเพื่อจะจัดทำโครงการมีเอกสารอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง และสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้

เปรียบเทียบลักษณะที่ดีและไม่ดีของโครงการ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

 

 

สาระในบันทึกนี้ เป็นตารางเปรียบเทียบ ลักษณะของโครงการที่ดี และโครงการที่ไม่ดี  ซึ่งได้จากการระดมสมอง ของผู้เข้าร่วมสัมมนา ผู้นำสหกรณ์ชั้นสูง รุ่นที่ 2 ซึ่ง ผมนำมาสรุป และเรียบเรียงใหม่ เป็นตารางตอนท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน และขอขอบคุณสมาชิก ผู้เข้าร่วมสัมมนา ผู้นำสหกรณ์ชั้นสูง รุ่น 2 ที่จัดโดยสถาบันพิทยาลงกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นจนเกิดเป็นองค์ความรู้ในตอนท้ายนี้    ขอให้ทุกท่านโชคดี

ตารางเปรียบเทียบ  ลักษณะของโครงการที่ดี และโครงการที่ไม่ดี

ข้อ

ลักษณะของโครงการที่ดี

ลักษณะของโครงการไม่ที่ดี

1

หลักการและเหตุผล เขียนสภาพปัญหา ไว้อย่างกระชับชัดเจน สอดคล้องกับชื่อของโครงการ

หลักการและเหตุผล เขียนสภาพปัญหา ไม่ชัดเจน ไม่สอดคล้องกับชื่อของโครงการ

2

สภาพของปัญหา หลักการและเหตุผล สอดคล้องกับ กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมาย ไม่สอดคล้อง หลักการและเหตุผล

3

หลักการและเหตุผล เขียนไว้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ

วัตถุประสงค์ ไม่สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล

4

โครงการ เขียนไว้ กระชับ สมเหตุ สมผล ไม่ยาว ยืดเยื้อ จนเกินไป

การเขียนโครงการ ยาวเกินความจำเป็นเข้าทำนอง น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหลง

5

เขียนผลที่คาดว่าจะได้รับ(ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ) สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ในการทำโครงการ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

 

6

กิจกรรมในแผนงาน กำหนดไว้ อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ

วัตถุประสงค์ ไม่สอดคล้องกับกิจกรรม หรือแผนงาน

7

รายละเอียดหรือหัวข้อของโครงการครบถ้วนครอบคลุม ตามมาตรฐานทั่วไปของการเขียนโครงการ

รายละเอียดของโครงการ ไม่ครอบคลุม ตามมาตรฐานของโครงการ

8

ในโครงการมีการเขียน Action Plan ไว้ชัดเจน ระบุเจ้าภาพผู้รับผิดชอบในแต่ละ กิจกรรม ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องกัน

ไม่มี Action Plan , Action Plan ไม่ได้ระบุเจ้าภาพผู้รับผิดชอบ กิจกรรมใน Action Plan ไม่ต่อเนื่อง 

9

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ กำหนดระยะเวลาเริ่มต้น สิ้นสุดไว้ชัดเจน เห็นชัดว่า มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดูออกว่าเป็นโครงการที่มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ไม่ชัดเจน ไม่ต่อเนื่อง ดูไม่ออกว่าเป็นโครงการที่มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว

10

มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน เป็นตัวเลขวัดได้ ตัวชี้วัดมีความสอดคล้องกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน ตัวชี้วัดที่กำหนด ไม่มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ข้อ

ลักษณะของโครงการที่ดี

ลักษณะของโครงการไม่ที่ดี

11

ในแผน ไม่มีการระบุครอบคลุม ตามหลักการ P D C A (Planning (การวางแผน) Doing (การทำตามแผน)  Checking (การตรวจสอบแผน)และ  Action (การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง))

ในแผน กำหนดกิจกรรมไว้ไม่ครบถ้วน ตามหลักการ P D C A ไม่มีการระบุการตรวจติดตามผลที่ชัดเจน

12

กลุ่มเป้าหมายสัมพันธ์กับหลักการและเหตุผล

กลุ่มเป้าหมายไม่สัมพันธ์กับหลักการและเหตุผล

13

กลุ่มเป้าหมาย ชัดเจน เหมาะสม ทั้งปริมาณ และคุณภาพ พอเหมาะ พอควร สมเหตุ สมผล ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป

กลุ่มเป้าหมาย ไม่ชัดเจน ไม่ควรมากเกินไป เพราะอาจจะเป็นอุปสรรค ในการดำเนินการ

14

งบประมาณเหมาะสม ชัดเจน ชี้แจงไว้อย่างละเอียดสัดส่วนงบประมาณ เหมาะสม ไม่ไปลงที่ใดที่หนึ่งมากจนเกินไป

งบประมาณ ไม่เหมาะสม ไม่ละเอียด ไม่ชัดเจน

สัดส่วนงบประมาณ ไม่เหมาะสม ลงที่ปรึกษามากเกินไป  งบประมาณ กับกิจกรรม ไม่สอดคล้องกัน

15

ระบุ ผู้ดำเนินการโครงการ  หน่วยงานหรือบุคคลที่รับผิดชอบ ไว้ชัดเจน

ไม่มีชื่อผู้ดำเนินการโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ชัด

16

มีการดำเนินงานต่อเนื่อง หลังจากจบโครงการ เน้นความยั่งยืน

ขาดความต่อเนื่อง หลังจากจบโครงการ  ขาดการเน้นถึงความยั่งยืนของกิจกรรม และผลของโครงการ

17

สถานที่ดำเนินโครงการ มีระบุไว้ชัดเจน

สถานที่ดำเนินโครงการไม่ชัดเจน

18

เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เน้นการกระจายอำนาจ หน้าที่ความรับผิดชอบ

ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ไม่มีการกระจายบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

19

แหล่งที่มาเงินทุนชัดเจน   จัดหาแหล่งเงินทุนจากแหล่งอื่นๆ สนับสนุน

แหล่งที่มาของเงินทุนไม่ชัดเจน ไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนจากแหล่งอื่นๆ สนับสนุนได้

20

เป็นโครงการที่สอดคล้องกับการแก้ไข สภาพปัญหาของโลก ของประเทศ ของสังคม

เป็นโครงการที่ไร้สาระ ไม่สอดคล้องกับการแก้ไข สภาพปัญหาของโลก ของประเทศ ของสังคม

21

เป็นโครงการที่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้

เป็นโครงการที่ ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้

22

ใช้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ดำเนินโครงการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ไม่ได้ใช้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ดำเนินโครงการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

23

ผล ประโยชน์ที่สมาชิกได้รับเห็นเป็นรูปธรรม ชัดเจน วัดผลได้

ผล ประโยชน์ที่สมาชิกได้รับเป็นนามธรรม มากเกินไป ไม่เห็นชัดเจน ไม่สามารถวัดผลได้

 

สวัสด่ ผู้เข้าร่วมสัมมนา ผู้นำสหกรณ์ ชั้นสูง รุ่นที่ 2 ทุกท่าน

เช้านี้ เริ่มมีการสัมมนา HR for Non HR ครับ เป็นวิชาเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสาย การบริหาร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  และเป็นหัวข้อที่ไม่ไกลตัว ผู้เข้าร่วมสัมมนา  ทุกท่านอี่กต่อไป

หากเราคิดตามไปด้วย ว่า ในองค์การเรามีปัญหา อะไร ประเด็นที่ผู้สอน ผู้บรรยายได้กล่าวถึงนั้น อาจจะทำให้เราคิดถึงประเด็นที่เรา ท่านอยากจะแก้ไขปัญหา หรือพัฒนา เรื่องทรัพยากรมนุษย์ ก็สามารถเขียนชื่อโครงการ มานำเสนอได้

ผมในฐานคณะกรรมบริหาร โครงการ ใคร่เสนอแนะท่านผู้มีเกียรติ ผู้เข้าสัมมนาทุกท่าน  เสนอ ชื่อโครงการ ลงทะเบียนชื่อโครงการ โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ผู้ประสานงานของโครงการ ภายใน สัปดาห์นี้ ครับ

 

สวัสดี

สวัสดี ครับ ผู้เข้าร่วมสัมมนา ท่านผู้อ่านทุกท่าน

 

ผมได้ศึกษาตัวอย่างการทำโครงการ จากหลาย ๆ แห่ง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เท่าที่มีให้ศึกษา ในเว็ป พิจารณาแล้ว เห็นว่า มีอยู่เว็ปหนึ่งที่น่าสนใจ ศึกษา เป็นแบบอย่างที่ดี ในการเขียนโครงการ และการบริหารโครงการครับ  เชิญเข้าไปศึกษาได้ที่  http://rc.nida.ac.th/รายละเอียด%2025%20กย%2051.pdf

หรือที่ http://rc.nida.ac.th/รายละเอียดการประชุมวิชาการ%20ประจำปี%202551%20วันพฤหัสบดีที่%2025%20ก.ย.%202551.pdf

หวังว่า ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ ทางการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการจัดทำและการบริหารโครงการ

ขอความสวัสดี จงมีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

HAPPY NEW YEAR 2009

            ขออวยพรให้พี่ยม มีความสุขตลอดปี 2552

                      ด้วยรักและคิดถึง

                                 สมบัติ บุญเลี้ยง

อาจารย์สมบัติ  หลังจากปีใหม่ ได้พบกันแล้วในหลายงานสำคัญ  ก็ทำให้เห็นว่า อาจารย์สมบัติ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น ขยันทำงาน และมีอัธยาไสยไมตรีที่ดีเสมอ  ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ความดีงามที่มี   อดที่จะชื่นชมไม่ได้  รักษาความดี ดุจดั่งมหาสมุทรรักษาความเค็มของน้ำทะเล  นี่คือภาวะผู้นำ ที่สังคมโลกต้องการ ครับ

 

  เรียน อาจารย์ยม ที่เคารพ ผนส.3 ทุกคน

       กลับมาจากเรียนอาทิตย์นี้ ถึงสงขลามืดแล้วเครื่องลงช้า  และรีบทำงานทันที่ สำหรับการเรียนอาทิตย์นี้มีปะโยชน์ต่อสหกรณ์เป็นอย่างมา ทุกวิชาที่เรียน โดยเฉพาะของอาจารย์ ศิริลักษณ์ เมฆสังข์ การบริหารคนในองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมากและที่สหกรณ์กำลังสรรหาคนเข้าทำงาน

        แต่ที่สำคัญกว่านั้นของอาจารย์ยม เรื่องแผนงานและการเขียนโคงการ ซึ่งผมกำลังเขียนโครงการนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาพอดี ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ จึงอยากให้อาจารย์ยม ช่วยดูก่อนว่าต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง ซึ่งหากโครงการนี้ใช้ได้ จะเอาโครงการนี้เสนอในการอบรมเช่นกัน โครงการมีดังนี้

โครงการจัดชั้นสมาชิก

 

1.ชื่อโครงการ            โครงการจัดชั้นสมาชิก

 

2.เจ้าของโครงการ  สหกรณ์การเกษตรควนเนียง  จำกัด

 

3.หลักการและเหตุผล   ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อนับว่าเป็นธุรกิจหลักของสหกรณ์  เพราะสหกรณ์ได้จ่ายเงินกู้ให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมาก  สหกรณ์จึงต้อง  หาวิธีควบคุมดูแลสมาชิกในการชำระหนี้คืนให้กับสหกรณ์  ถ้าหากสหกรณ์จ่ายเงินกู้ให้กับสมาชิกไปแล้ว  สมาชิกไม่มาชำระหนี้ให้กับสหกรณ์  สหกรณ์จะมีหนี้ค้างมาก  ทำให้สหกรณ์  ขาดเงินทุนหมุนเวียน  และอาจขาดสภาพคล่องทางการเงินได้

                 การจัดชั้นสมาชิกจึงมีความจำเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ค้างมากได้  สหกรณ์จึงจำเป็นต้องจัดทำโครงการนี้ขึ้น

 

      4. วัตถุประสงค์

                                1.  เพื่อเป็นการเพิ่มทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจของสหกรณ์

                                2.  เพื่อให้สมาชิกมีวินัยทางการเงิน  มีความขวนขวายในการชำระหนี้

                                3.  เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับสมาชิกในการชำระหนี้

                                4.  เพื่อเป็นบทลงโทษสมาชิกที่ชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ไม่ตรงตามกำหนดโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ

      5.  กลุ่มเป้าหมาย

                     1.  สมาชิกสหกรณ์ที่มีหนี้ค้างชำระ    จำนวน                   300  คน

                     2.  สมาชิกสหกรณ์ที่มีหนี้ปกติและสมาชิกกู้ใหม่ จำนวน  1,100  คน

 

      6.  วิธีการ

                                1.  โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกกลุ่มเป้าหมายทราบถึงโครงการดังกล่าว  โดยการประชุมกลุ่มสมาชิก  แจกแผ่นพับ  ติดประกาศ ณ สำนักงานสหกรณ์

                                2.  จัดชั้นสมาชิก  ออกเป็น   5  ชั้น  ตามคุณสมบัติดังนี้

                          -  ชั้นที่  1  สมาชิกต้องชำระหนี้ตามกำหนดและไม่มีดอกเบี้ยค้างรับ 

ณ วันที่  30  มิถุนายน ของทุกปี ติดต่อกัน  4 ปี  สหกรณ์คิดดอกเบี้ย ร้อยละ  8.00   บาทต่อปี

                         -  ชั้นที่  2  สมาชิกต้องชำระหนี้ตามกำหนดและไม่มีดอกเบี้ยค้างรับ 

ณ วันที่  30  มิถุนายน ของทุกปี ติดต่อกัน  3  ปี สหกรณ์คิดดอกเบี้ย  ร้อยละ  8.50  บาทต่อปี

                          -  ชั้นที่  3  สมาชิกต้องชำระหนี้ตามกำหนดและไม่มีดอกเบี้ยค้างรับ

 ณ วันที่  30  มิถุนายน ของทุกปี ติดต่อกัน 2 ปี  สหกรณ์คิดดอกเบี้ย  ร้อยละ  9.00  บาทต่อปี

                  -  ชั้นที่  4  สมาชิกต้องชำระหนี้ตามกำหนดและไม่มีดอกเบี้ยค้างรับ

 ณ วันที่  30  มิถุนายน  ของทุกปี ติดต่อกัน 1 ปี  สหกรณ์คิดดอกเบี้ย ร้อยละ  9.50  บาทต่อปี

              -  ชั้นที่  5  สมาชิกกู้ใหม่  และสมาชิกที่มีหนี้ผิดสัญญาหรือมีดอกเบี้ยค้างรับ 

ณ วันที่  30  มิถุนายน  สหกรณ์คิดดอกเบี้ย  ร้อยละ  10.00  บาทต่อปี

 

      7.  ระยะเวลาโครงการ  เริ่มโครงการ  วันที่  1  มีนาคม  2552 ถึง 31  พฤษภาคม 2552

 

      8.  ค่าใช้จ่ายโครงการ     จำนวน   30,000  บาท จากทุนพัฒนากิจการสหกรณ์

 

      9.  ผลที่คาดว่าจะได้รับ            

                                                1.  สหกรณ์  จะมีทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นปีละ  10  ล้านบาท

                                         2. สหกรณ์  จะมีหนี้ค้างลดลงประมาณ  40 %  ของหนี้ค้างรับทั้งหมด

 

                                                                                ......................................ผู้อนุมัติโครงการ

                                                                                       (นายประจวบ   รักไชย)

                                                    ประธานกรรมการ

                                                                                สหกรณ์การเกษตรควนเนียง   จำกัด

                                                                                      ......................................ผู้เสนอโครงการ

                                                                                                  (นายสุทิศ    พงษ์จีน)

                                                                                                                ผู้จัดการ

                                                                                       สหกรณ์การเกษตรควนเนียง  จำกัด

 

สวัสดีครับ

ที่มา: http://gotoknow.org/blog/yom-nark11/234646

โครงการของคุณสุทิศ ที่นำเสนอขอความเห็นมา ผมให้ความเห็นดังนี้

  1. ชื่อเรื่อง ให้สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล ความสำคัญของปัญหา  วัตถุประสงค์ แลผลที่คาดว่าจะได้รับ
  2. หลักการและเหตุผล ย่อหน้าที่ 1 ให้กล่าวถึงสภาพที่เป็นจริงหรือเป็นอยู่ ควรบรรยายด้วยข้อความและตัวเลข หรือค่าสถิติ ตลอดจนมีการอ้างอิงแห่งอ้างอิงด้วย ย่อหน้าที่ 2 กล่าวถึงสภาพที่ควรจะเป็นตามนโยบายขององค์การ ตามแนวคิด ตำรา ผลการวิจัย รายงาน บทความของนักวิชาการ เป็นต้น ส่วนย่อหน้าที่ 3 ควรนำย่อหน้าแรก และย่อหน้าที่สอง มาวิเคราะห์ว่า มีความไม่สอดคล้องกัน ขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร ส่วนย่อหน้าที่ 4 จากปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างความเป็นจริงที่ปรากฎ กับนโยบายขององค์การ หรือแนวคิดทฤษฎี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในทางไม่ดีนั้น ควรจะเลือกแนวทาง..."การจัดชั้นสมาชิก" ....ที่ปรากฎ เป็นชื่อโครงการ  มาบริหารจัดการให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และผลที่คาดว่าจะได้

ในส่วนของหลักการและเหตุผล นั้น มีความสำคัญมาก ที่จะต้องเขียนตามแนวทางที่เสนอแนะ หากเขียนได้เช่นที่ว่า จะทำให้เห็นสภาพปัญหา สาเหตุที่อาจมาจากหลากหลายสาเหตุ แนวทางแก้ไขที่มีหลากหลายแนวทาง  และอาจจะเอาหลากหลายแนวทางนั้นมารวมไว้ในโครงการ และตั้งชื่อโครงการ ให้สอดคล้องกับสิ่งดังกล่าว

จากนั้น มาพิจารณาวัตถุประสงค์  เมื่อได้หลักการและเหตุผลที่เหมาะสมตามหลักการแล้ว  ก็นำ สาเหตุของปัญหาวิเคราะห์วัตถุประสงค์ ตามแนวคิด ทฤษฎีต้นไม้ (Problems tree) เช่น

สาเหตุของปัญหา

  1. สมมติว่า ปัญหาของสหกรณ์ มีสาเหตุมาจาก การขาดทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจของสหกรณ์ วัตถุประสงค์ของโครงการ ก็ต้องมีเพื่อ เพิ่มทุนหมุนเวียนให้สหกรณ์
  2. สมมติว่า ปัญหา ของสหกรณ์ มีสาเหตุมาจากสมาชิกขาดมีวินัยทางการเงิน ไม่ปฏิบัติตามระเบียบสหกรณ์ว่าด้วยการชำระหนี้้  ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของโครงการ ก็ เพื่อให้สมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบ ว่าด้วยการชำระหนี้ของสหกรณ์ฯ
  3. สมมติว่า ปัญหามีสาเหตุมาจาก สมาชิกขาดแรงจูงใจในการชำระหนี้  วัตถุประสงค์ของโครงการ ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งทางบวก และทางลบ ให้สมาชิกสหกรณ์ ในการเร่งชำระหนี้

tree

ภาพ ต้นไม้แห่งปัญหา นำมาสู่วัตถุประสงค์ที่ต้องการ 

ในภาพ องค์การพบปัญหาใหญ่คือ องค์การขาดความมั่นคง ชื่อโครงการ จึงเป็น โครงการ องค์การยั่งยืน

สาเหตุมาจาก ขาดการนำองค์การที่ดี ฉะนั้น วัตถุประสงค์ของโครงการก็เพื่อให้องค์การมีการนำองค์การที่ดีขึ้น

 

จากสาเหตุที่ผมนำมาจากโครงการของคุณสุทิศ  คาดการณ์ได้ว่า ปัญหาของสหกรณ์ คือ ปัญหา การชำระหนี้ของสมาชิกฯ ซึ่งที่จริง อาจจะมีสาเหตุมากกว่า นี้  ต้องหาสาเหตุเชิงลึก ต้องเข้าถึง เข้าใจ

ที่สำคัญก็คือ สภาพของปัญหา และสาเหตุ ต้องชัดเจน สอดคล้องกันซึ่งต้องถูกเขียนไว้อย่างละเอียดในหลักการและเหตุผล ครับ

ในประเด็น "กลุ่มเป้าหมาย" ที่เขียนมานั้น ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ผมแนะนำว่า ควรให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว เพื่อ พร้อมที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ ทำเป็นตัวเลขจำนวนสมาชิกว่ามีปัญหาจำนวนเท่าใด ร้อยละเท่าใดของสมาชิก 

ควรจำแนกลูกหนี้สหกรณ์ให้ระเอียด จำแนก ตามช่วงของวงเงิน และจำนวนลูกหนี้ เป็นข้อมูลที่มีแหล่งอ้างอิง  และเมื่อมีการจัดการโครงการแล้ว จะสามารถแบ่งสรรชั้นของลูกหนี้ออกมาอย่างไร แบบไหน น่าจะทำมาใส่ไว้ด้วย จะดีมาก จะทำให้ผู้อนุมัติโครงการเห็นภาพชัด  

วิธีการนั้น ผมแนะนำให้ทำเป็นรูปแบบ Action Plan ที่ผมบรรยายในห้องสัมมนา ครับ วิธีการ จะระบุกิจกรรมที่จะทำ จำแนกตามระยะเวลา งบประมาณ ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายของแต่ละกิจกรรม และมีเจ้าภาพรับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม ซึ่งต้องครอบคลุม ตั้งแต่การเริ่มโครงการ การวางแผน การปฏิบัติตามแผน การตรวจประเมิน การติดตามผล การรายงานผล การปรับปรุงพัฒนา การปิดโครงการ ครับ

ประเด็น "งบประมาณ" จะนำไปใช้อะไรบ้าง ควรทำรายละเอียด คล้าย ๆ งบดุลย์ งบประมาณ ประมาณการรายรับ รายจ่ายให้ละเอียด

ประเด็น ประโยชน์ที่คาดว่า จะได้รับ ผมว่า น้อยเกินไป และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ครับ

ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ยังไม่ชัดเจน วิธีการตรวจประเมินโครงการ ยังไม่ชัดเจน

ในช่วยระยะเวลาอันสั้นนี้ ผมแนะนำเพียงเท่านี้ก่อน หวังว่า จะเป็นประโยชน์ กับ ผู้สนใจ ในการจัดเตรียมโครงการ เพื่อนำเสนอ ต่อไป

 

สวัสดี

            เรียน อาจารย์ยม ที่เคารพ ผนส.3 ทุกคน

            ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง ที่ช่วยดูโครงการและให้ขอเสนอแนะ

          และต้องขอโทษอาจารย์จริงๆที่ช่วงหลังไม่ได้เข้ามาในบล๊อกของอาจารย์ เพราะเข้าใจว่างต้องเข้าบล๊อกของอาจารย์ จีระอย่างเดี่ยว แต่พอมาในบล๊อกที่อาจารย์ย้ายมาใหม่ ไม่เห็นมีใครเข้าเลย หลายคนก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกัน

          วันี้เข้ามายังไม่ส่งโครงการใหม่ก่อน กำลังปรับปรุงตามคำแนะนำของอาจารย์อยู่อีก

สวัสดี คุณสุทิศ ผนส. และท่านผู้อ่านทุกท่าน

คุณสุทิศ ผนส. 3 แวะเข้ามาทักทาย รู้สึกปิติยินดี  ขอขอบใจที่เอาประเด็นการเข้าบล็อกของผม และของอาจารย์จีระ มาพูดคุย

สำหรับเรื่องการเขียนข้อความลงในบล็อก ของ ผนส. ทุกร่น หากมีสิ่งที่ต้องเขียนลงบล็อก ตามกติกาของการสัมมนา ผมขอให้เขียนลงในบล็อก ของ อาจารย์จีระ สิ่งนี้เป็นนโยบายของโครงการ ผนส. ครับ ขอให้ปฏิบัติ ใช้ของอาจารย์จีระ เป็นหลัก

ส่วนบล็อกของผม ผมย้ำเสมอ ว่าผมจัดทำขึ้นมาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ที่หลากหลาย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  เปิดกว้าง ไม่เน้นให้ศิษย์ หรือผู้เข้าร่วมสัมมนาจะต้องเข้ามาเขียนหรือส่งการบ้านที่บล็อกนี้ ผมต้องการให้บล็อกที่ผมทำเป็นบล็อกเผยแพร่ความรู้ โดยไม่เน้นปริมาณคนเข้ามาเขียน แต่ต้องการเน้นคุณภาพของเนื้อหาสาระ มากกว่า 

และเพื่อให้ ผนส.ทุกรุ่น นิสิต นักศึกษา ศิษย์ของผมที่เรียน ป.โทอยู่ ลูกค้าของผม รวมทั้งประชาชนที่สนใจ  ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ แบ่งบันความรู้ แชร์ประสบการณ์ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ตามหลักประชาธิปไตย และตามเจตนารมย์ของผม

อย่างไรก็ตาม หากมี ผนส. ศิษย์  นักศึกษาหรือประชาชนที่สนใจ เข้ามาเขียนทักทายหรือแบ่งบันความรู้ ในยุคแห่งการแบ่งบันความรู้นี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า และยินดีต้อนรับทุกคน ...ครับ

ทุกบล็อก ทุกบันทึก ที่ผมทำขึ้น มีเจตนาดังที่กล่าวมา  และต้องขอบคุณ ผู้สนใจที่เข้ามาเปิดดู อย่างมากมาย เฉพาะหน้าแรก เข้ามา หมื่นกว่าเกือบสองหมื่น 

ในบล็อก เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนา หนึ่งหมื่นเจ็ดพันกว่าราย  รวมทุกบล็อกทุกบันทึก ผมคิดว่า รวมแล้วนับแสนกว่าราย ที่เข้ามาคลิ๊กอ่านอย่างเดียวเป็นส่วนใหญ่....ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมปรารถนาให้เป็นแบบนั้น   ถ้าทุกคนเขียนผมคงตอบไม่ไหว  ผมภูมิใจและขอขอบคุณผู้สนใจทุกท่าน....ที่เข้ามาเยียมชม และสอบถามปัญหาต่าง ๆ ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้สนใจทุกท่านอีกครั้ง และถือโอกาสชี้แจงให้ ผนส. ทุกท่านทราบ

ขอขอบใจที่ คุณสุทิศ สนใจห่วงใย เขียนเข้ามา  สำหรับโครงการ รีบลงทะเบียนชื่อเรื่องให้เรียบร้อย ภายในสัปดาห์นี้จะดีที่สุดครับ แล้วค่อยคุยกัน

ขอความสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน

ต่อเนื่องจาก บันทึกข้างต้น 

เพื่อความเข้าใจอันดีของทุกฝ่าย  ผมได้คัดลอก เหตุผล เจตจำนงค์ ในการทำบล็อก การเปิดบันทึก การเขียนข้อความต่าง ๆ ของผมไว้ดังนี้

ที่มา http://gotoknow.org/blog/yom-nark11/234646

สวัสดีครับ ผู้อ่าน และผู้สนใจทุกท่าน

ผมเปิดบล็อกหรือบันทึก ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้

ประการแรก เพื่อระลึกถึงคณาจารย์ที่สั่งสอนผม เรื่อง ผู้นำ การพัฒนาภาวะผู้นำ โดยได้นำองค์ความรู้ ที่รับการสั่งสอน มาเผยแพร่ เพื่อเป็นวิทยาทาน และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ประการที่สอง เพื่อให้ศิษย์ นักศึกษา ได้ศึกษาหาความรู้ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตน

ประการที่สาม เพื่อให้ บรรดาผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำสหกรณ์ ที่เข้ารับการอบรม "ผู้นำสหกรณ์ชั้นสูง" ทุกรุ่น ได้มีโอกาส ศึกษาแนวคิด องค์ความรู้ เกี่ยวกับ ผู้นำ ภาวะผู้นำ ขีดความสามารถของผู้นำในยุค "เศรษฐกิจ ฐานความรู้" เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในพัฒนาทีมงาน และการทำงาน ทั้งช่วยเหลือสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ๆ

ประการที่สี่ เพื่อให้การทบทวนความรู้ของผม ได้รับการเผยแพร่ไปด้วย ในเวลาเดียวกันกับการแชร์ความรู้ ในยุคแบ่งบันความรู้ (Knowledge Sharing) สู่สังคม 

ประการที่ห้า เพื่อหวังว่า บรรดาศิษย์รัก จะได้พบกับความกว้าหน้า ในอาชีพการงาน การครองตน ครองเรือน เจิรญด้วยศีล สมาธิ สติ ปัญญา  แล้วหันมาช่วยกันพัฒนาสังคมไทยของเรา

ในบันทึกนี้ ผมไม่เน้น ปริมาณ จำนวนคนเข้าชม แต่เน้นคุณภาพของเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะในยุคนี้เป็น "ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้"  องค์ความรู้ ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ ความใหม่ สด การนำไปใช้ การแบ่งบัน การต่อยอดองค์ความรู้ สู่สังคม

ผมจะทยอยนำสาระมาบันทึกไว้ โดยไม่หวาดระแวงเลยว่า ศิษย์จะได้ จะรู้ดี จะกว้าหน้ากว่า กลับจะปิติยินดี หากเห็นหรือได้ยินว่า ศิษย์รักทั้งหลาย ได้นำความรู้ไปใช้ และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น สร้างความดี  ต่อกันและกัน

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สาระในบันทึกนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้สนใจทุก ๆ ท่าน  เชิญท่านพบกับสาระน่ารู้เกี่ยวงกับ ผู้นำฯ ได้ในบันทึกต่อจากนี้

สวัสดี

 เรียน อาจารย์ยม ที่เครารพ

    ผมต้องการเปลี่ยนโครงการที่เสนออาจารย์ไปวันก่อน ที่อาจารย์ช่วยดูให้และผมได้แก้ไข้ตามที่แนะนำ และผมก็ได้นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการแล้วและก็ได้รับอนุมัติ

     แต่อยากนำเสนอโครงการใหม่เพื่อจะได้นำไปใช้ในโอกาสต่อไป แต่จะขอส่งทางอีเมล์ ไม่ทราบอีเมล์อาจารย์ชื่อว่าอะไร

      ขอพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง

สวัสดี สุทิศ ผนส. และท่านผู้อ่านทุกท่าน

หากต้องการส่งข้อมูลถึงผม ให้ดูที่มุมบนซ้ายมือ คลิ๊กที่อีเมล์ติดต่อ น่าจะใช้ได้  เบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล์นั้น เพื่อความปลอดภัย ก็จะไม่ใส่ไว้ เพราะอาจมีไวรัสร้ายตามมา ใช้ทางระบบนี้ติดต่อ ทางระบบมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดี  รีบส่งมา ผมจะพิจารณาให้

ขอให้โชคดี

สวัสดี

เรียน อาจารย์ยมที่เคารพ

ผมได้รับข้อมูลโครงการที่อาจารย์ได้ตรวจสอบแล้ว ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่อาจารย์ได้ตรวจสอบและเสนอแนะ ซึ่งโครงการนี้จะได้นำไปปฏิบัติจริง

สุทิศ

ด้วยความยินดี  และขอบใจที่ได้ให้อาจารย์ได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำได้เต็มที่  และยินดีนำคำแนะนำไปปรับปรุง   ผู้นำที่สูงส่ง มักวางตนติดดิน เหมือนจอมยุทธ์ที่เก่ง มักดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย  ผลจากการวิจัสย พบว่า ผู้นำในองค์การที่เจริญ รุ่งเรือง มักมีผู้นำที่มีอัตตา ต่ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งสุทิศมีคุณสมบัติ ดังกล่าวข้างต้น  และภูมิใจที่โครงการ ผนส. ได้มีอย่างสุทิศ เข้ามาร่วมการสัมมนา 

 

ขอให้โชคดี

สวัสดีครับ ผู้นำ ผู้นำชั้นสูง ผนส. และท่านผู้อ่านทุกท่าน

 

สำหรับ ผนส. ที่ขยันขันแข็งและทำโครงการเสร็จแล้ว  ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง จากนี้ไปจะได้มีเวลาเตรียมการนำเสนอโครงการ

 

การนำเสนอโครงการ ของผู้นำสหกรณ์ชั้นสูงนั้น เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เปิดเวทีให้ ผู้นำที่เข้าร่วมสัมมนา ได้ใช้ความรู้ ที่ได้รับการอบรมและความสามารถ ประสบการณ์ที่มีอยู่ ในการคิดค้นโครงการ เรียกได้ว่า เป็นการฝึกการบูรณาการ นวตกรรม และใช้แนวคิดสหกรณ์ แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการสมัยใหม่ฯ บูรณาการออกมาเป็นโครงการ

 

ซึ่งการดังกล่าวเป็นหนึ่งในเกณฑ์วัดผลของผู้เข้าร่วมสัมมนา ที่คณะกรรมการบริหารโครงการ ได้กำหนดกติกาเอาไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอน 

 

นอกจากการนำเสนอโครงการ(30%) แล้วยังมีการมีส่วนร่วมในการสัมมนา(40%)  การส่งงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบ้าน งานที่ต้องเขียนในบล็อก  รายงานที่ได้รบมอบหมาย(30%)  เวลาเรียนต้องได้ 80% ต้องไปศึกษาดูงานในประเทศ และต่างประเทศ  เป็นต้น

ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว สถาบันฯ คงได้ชี้แจงในวันปฐมนิเทศ ไปแล้ว โดยหลักการผมจะไม่แจงรายละเอียดในที่นี้เพิ่มเติมอีก  เพียงแต่ให้ท่านที่สนใจทราบว่า การสัมมนา ผู้นำชั้นสูงนั้น หลายสถาบันที่มีชื่อเสียง จะมีกฎเกณฑ์ในการประเมินผล เพื่อควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอน การวัดผล ครับ

ภารกิจสำคัญของอาจารย์ คือ นำพาศิษย์ที่อยู่ในวินัย ให้ผ่านพ้นไปสู่ฝั่งแห่งความสำเร็จ อย่างสง่าผ่าเผย อย่างภาคภูมิใจ สมเกียรติยศ ของการเป็นผู้นำชั้นสูง  หลายคนทำหน้าที่ได้ดีมาก ตั้งใจเรียนรู้ สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในกฎกติกามารยาท เป็นอย่างดี

 

การนำเสนอโครงการ ได้กำหนดแบบฟอร์มมาตรฐานการทำโครงการไว้กำกับมาตรฐานการเขียนโครงการ เดี๋ยวนี้ หน่วยงานราชการหลายแห่งพัฒนารูปแบบของโครงการไปได้ไกล และเป็นการผสมผสานการจัดการภาครัฐภาคเอกชนเข้าด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการสมัยใหม่ ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ/องค์การ

ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาจาก ผู้เข้าร่วมสัมมนารุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะ ผนส. 2 ช่วยได้มาก ช่วยวิเคราะห์วิจารณ์ จนได้แบบฟอร์มที่ดี และเห็นพ้องต้องกันใช้ในการทำโครงการ ตกมาถึงรุ่น 3 ซึ่งก็ช่วยเจียรนัยได้ดีเพิ่มขึ้น และเป็นแบบฟอร์มมาตรฐานโครงการดียิ่งขึ้นไปอีก

 

จากแบบฟอร์มมาตรฐานการนำเสนอโครงการ ได้นำไปสู่การออกแบบการให้คะแนนการนำเสนอโครงการ  และคู่มือเกณฑ์การให้คะแนน การนำเสนอโครงการ ซึ่งผมได้โอนกรรมสิทธิ์แบบฟอร์มและคู่มือดังกล่าวให้เป็นของพิทยาลงกรณ์ไปแล้ว จึงไม่ได้นำมาลงไว้ในนี้ ผนส. สามารถโหลดได้จากคอมพิวเตอร์ในชั้นเรียน หรือที่เว็บไซด์ของ ผนส.

การสัมมนา ทุกที่มีการให้ทำกิจกรรม ทั้งรายงานและการนำเสนอโครงการ หรือนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หรือกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์การ เป็นต้น รวมทั้งการสังเกตพฤติกรรม ภาวะผู้นำ และนี่คือที่มาของการที่ ผนส. ทุกท่านทุกรุ่นที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตน ตามกฎเกณฑ์ที่สถาบันฯ กำหนดไว้

 

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการทบทวนหลักการและเหตุผล ของ ผู้นำ ของการสัมมนา ผนส.ในการทำและการเตรียมนำเสนอโครงการ ว่าเป็นมาอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทำความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ท้ายนี้ ผมมีแนวคิดจากนักปราชญ์ของไทยท่านหนึ่ง คือ ท่านหลวงวิจิตรวาทการ ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ เส้นทางสู่ความสำเร็จในชีวิตการทำงานว่า "คนเก่ง คนดี" ดูไม่ยาก เขามักมีคุณลักษณะสามประการดังนี้

1.    อึด อดทน กว่าคนอื่น อย่างเห็นได้ชัด

2.    ไม่บ่น ไม่ท้อ ไม่คิดแง่ร้าย ให้ร้ายใคร

3.    มุ่งมั่นขยันศึกษา ขยันทำงาน พักน้อยแต่ทำงานได้มากกว่าผู้อื่นในระยะเวลาเท่ากัน

ขอให้ศิษย์ ที่เรียน ป.โทอยู่ ขอให้ผู้นำ ผนส. ทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติดี จงประสบความสุขและความสำเร็จทุกประการ

สวัสดี

 

 

 

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน  

 

มี น.ศ.ป.โท ท่านหนี่ง ถามผมมาว่า "แนวโน้มของการบริหาร การปฏิบัติงานในปัจจุบัน มีแนวโน้มใช้ competency มากขึ้น จริงหรือไม่

แล้วการนำ Competency มาใช้มันมีข้อดีข้อเสีย ยังไงระหว่างการใช้ KPI กับ Competency

สิ่งที่ น.ศ. ป.โท ถามมา น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้กับการบริหารโครงการได้  คำตอบเป็นอย่างไร คลิ๊กที่

http://gotoknow.org/ask/yom-nark/10908?page=1 

 

หวังว่าข้อมูล จะเป็นประโยชน์กับผู้นำ ผู้สนใจทุกท่าน

ภาพ ขณะส่วนหนึ่งของ ผนส. ที่สนทนาโครงการกันที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

เรียน  อาจารย์ยม

         คิดถึงอาจารย์ มากๆๆๆๆ ไม่รู้มีโอกาสได้พบอาจารย์ช่วงไหนบ้าง คงจะช่วงต้อนรับ รุ่น 4 แน่นอนเลย เห็นเริ่มรับสมัครแล้ว เปิดโครงการช่วงไหนอาจารย์ส่งข่าวด้วยนะ และสำหรับโครงการวันก่อนที่นำเสนออาจารย์นั้น ผมนำมาใช้แล้ว และมีบางอย่างต้องปรับปรุง

        ผมว่าอาจารย์น่าจะให้ผนส3 ที่เสนอโครงการตอนอบรม ที่นำไปใช้แล้วมีปัญหาอย่างไร มาสรุปกันอีกครั้งน่าจะดีนะ เพื่อจะได้ปรับปรุงโครงการให้สมบูรณ์
         อย่างไรก็แล้วแต่ตอนนี้กำลังเขียนโครงการใหม่อยู่ แล้วจะรบกวนอาจารย์ช่วยดูให้ด้วย จะส่งไปให้ดูวันหลัง
          สวัสดีครับ

สวัสดี สุทิศ ผนส. 3 ท่านผู้อ่านทุกท่าน

 

ขอขอบใจสำหรับความคิดถึงที่สุทิศมีให้  รู้สึกยินดีและดีใจที่สุทิศ ได้นำโครงการที่สำเสนอ ไปบริหารไปปฏิบัติจริง และมีการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการอีกด้วย  เข้าหลักเทคนิคการบริหารโครงการขั้นสูง คือ "ต่อเนื่อง ขยายผล สู่ความยั่งยืน"

 

ผมเชื่อว่า ยังมี ผนส. 3 อีกหลายท่านที่ได้ทำอย่างที่สุทิศทำ ก็ขอให้ประสบความสำเร็จ ในความดีเหล่านี้

 

สำหรับสุทิศหรือเพื่อนๆ ผนส. 3 ที่ปรารถนาจะนำโครงการที่ทำอยู่หรือที่คิดขึ้นใหม่ มาหารือมาปรึกษากับอาจารย์ ก็ย่อมทำได้ อาจจะนัดกันเป็นกลุ่ม ที่สันนิบาตสหกรณ์ฯ วันใดวันหนึ่งขอใช้สถานที่ห้องประชุม หารือแลกเปลี่ยนกันในลักษณะการเชิงปฏิบัติการ น่าจะทำได้ ใช้เวลาไม่มาก ห้าคน สิบคน ก็ย่อมทำได้ ขอให้นัดผมล่วงหน้า

 

หรือหากทางสหกรณ์ฯ ใด ต้องการพัฒนาให้ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ หรือตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ มีขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารโครงการ คือจัดทำโครงการเป็น บริหารโครงการเป็น รายงานผลการดำเนินงานเป็น วัดผลเป็น ก็อาจหารือกับทางพิทยาลงกรณ์ฯ สันนิบาตสหกรณ์ฯส่งผู้ทรงคุณวุฒิ ไปช่วยอบรมให้  ในช่วงนี้ คิดว่า แต่ละสหกรณ์ ควรมีทีมงานที่มีขีดความสามารถสูงในการวางแผนและการบริหารโครงการในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ได้เป็นอย่างดี  งานบริหารจัดการสหกรณ์ เป็นการทำงานเพื่อสมาชิก เพื่อสังคม หากสหกรณ์เจริญ ประเทศย่อมเจริญไปด้วย

 

สำหรับ ผนส. รุ่น 4 ผมได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ไปแล้ว รุ่น 4 น่าจะกำลังเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรม คงจะเริ่มอบรมกันประมาณเดือนกันยายน 2552 ที่จะถึงนี้

 

สุดท้าย ขอให้สุทิศ และทีมงาน ท่านผู้อ่านทุกท่านเจริญด้วยศีล สมาธิ สติ ปัญญา ประสบความสุข ความสำเร็จในสิ่งที่ดีงาม

 

สวัสดี

เรียน อาจารย์ยม ที่เคารพ ผนส. ทุกคน

        วันนี้เข้ามาในบล็อกอาจารย์ มีเรื่องรบกวนอาจารย์ ผมอยากได้โครงการเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อจะจัดอบรมให้กับกรรมการและเจ้าหน้าที่ สหกรณ์ในจังหวัดสงขลาที่อบรมร่วมกันมี5 สหกรณ์เครื่อข่าย คือสกก.ควนเนียง สกก.นาทวี สกก.คลองหอยโข่ง สกก.สะบ้าย้อย สกก.สะเดา และจะเชิญอาจารย์มาเป็นวิทยากรด้วย ไม่ทราบว่าขอโครงการอาจารย์ได้ไหม และอาจารย์ว่างช่วงไหนบ้าง เอาช่วงหลังจากผนส 4 จบหลักสูตรก่อนก็ได้  แต่ผมต้องการโครงการเพื่อนำเสนอคณะกรรมการแต่ละสหกรณ์ก่อนเพื่อของบประมาณ

 ขอบคุณครับ

สวัสดี ศิษย์รักสุทิศ และท่านผู้อ่านทุกท่าน

สุทิศ เป็นศิษย์ที่เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ผู้นำสหกรณ์ขั้นสูงรุ่นที่ 3 มุ่งมั่น ขยัน ใฝ่เรียนรู้ รวดเร็ว มีความจริงใจ เป็นสิ่งที่ผมได้เห็นที่คุณสุทิศ

ขอบใจสำหรับความสนใจในวิชาที่ผมได้รับเกียรติ ให้เข้าไปช่วยบรรยายให้กับทางพิทยาลงกรณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

รายลเอียด ต่างๆ  ผมจะส่งไปให้ทางอีเมล์ของสุทิศ  สุทิศช่วยส่งอีเมล์มา พร้อมกับกลุ่มเป้าหมายและจำนวนคนที่จะเข้าอบรม ในโครงการนี้ ให้ผมด้วย แล้วผมจะตอบกลับไปครับ

ขอให้โชคดี สวัสดี

จาก อ.ยม

 

การ Comment โครงการ ผนส.  

ช่วงท้ายของการสัมมนา หลักสูตร ผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง (ผนส.) มีการกำหนดให้ ผนส.ที่เข้าร่วมส้มมนา ได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ แสดงความรู้ ความสามารถด้วยการนำเสนอโครงการของตน ซึ่งเป็นโครงการที่จะนำไปทำจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับองค์การของตนเอง

สำหรับ ผนส. รุ่น 5 นี้ กำหนดให้วันที่ 5,6,7 ตุลาคม2553 (http://gotoknow.org/blog/chiraacademy/372489) เป็นช่วงเวลาที่จะต้องมีการนำเสนอวิสัยทัศน์ เสนอโครงการ  ในการนำเสนอโครงการนั้น ผนส. 1 ท่านใช้เวลานำเสนอ ประมาณ 10 นาที มีคณาจารย์หรือคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ผนส. หรือ ศิษย์เก่า ผู้มีประสบการณ์ทางการบริหารโครงการ มีความรอบรู้ มีคุณธรรม รวมกันแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ท่าน มา comment โครงการ ค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อนของการนำเสนอและสาระของโครงการ ที่ ผนส. นำเสนอ ทังนี้ เพื่อให้เกิดการแบ่งบันความรู้ ด้านการจัดการสมัยใหม่ และการแสดงสปิริตความเป็นผู้นำขั้นสูงของทุกคน แม้กระทั่งผู้มา Comment โครงการก็ทำหน้าที่อย่างมีความรอบรู้ มีคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี เช่นกัน ตรงนี้จะเกิดประโยชน์กับ ผนส. ทุกท่าน เหมือนกับที่ผมแนะนำให้มีรายการ Talk on the tour ที่ ผนส. 5 ไปทัศนศึกษาในประเทศที่ จ.ชุมพร ตลอดระยะทาง จาก กทม. ถึง จ.ชุมพร เราเรียนรู้กันและกันตลอดทาง การ Comment โครงการนี้ก็เช่นกัน ผมปรารถนาจะให้เกิดบรรยากาศแบบนั้น....ครับ

การทำหน้าที่ Comment โครงการ นี้ ผมทำมาตั้งแต่ ผนส.รุ่นที่ 1 เรื่อยมา จนถึงรุ่น 4 ผมใช้ยุทธวิธี ใช้งานสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน รอบข้าง กับศิษย์ทุกคน ทำให้มีโอกาสต้องใกล้ชิด กับ ผนส. เกือบทุกคน เกือบทุกรุ่นก็ว่าได้ ผมวิเคราะห์วิจารณ์โครงการทั้งแบบไม่เป็นทางการ ต้วต่อตัว คุยกันหารือแบ่งบันประสบการณ์และความรู้กัน แบบโค๊ช แบบเพื่อน แบบพี่เลี้ยง แบบอาจารย์ที่ปรึกษา และ comment โครงการแบบเป็นทางการในช่วงท้ายของการสมมนา ผนส. ในแต่ละรุ่น ซึ่ง ผนส. รุ่น 5 กำหนดให้มีการ Comment โครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 5,6,7 ตุลาคม 2553   

นับจาก ผนส.รุ่น 1- 4 ผม Comment โครงการ โดยใช้พลังทุนมนุษย์ที่ผมมีอยู่ (ทุนมนุษย์ = ความรอบรู้ + ทักษะ + จริยธรรมคุณธรรม) การทำงานร่วมกับทีมคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมี ดร.ปรีชา เข้ามาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ ผนส. รุ่น 2 จนถึง ผนส. รุ่น 4 ผม comment โครงการไปประมาณ 160 โครงการ ( ผนส. รุ่นละ 40 ท่าน = 40 โครงการต่อรุ่น จาก ผนส.1-ผนส.4= 160 โครงการ)

 

วันที่ทำหน้าที่ Comment โครงการ สองวันติดต่อกัน เป็นงานที่หนักกว่าการสอนทั่วไป ต้องรวดเร็ว แม่นยำในหลักการ เข้าใจ เข้าถึง ผนส.ให้มากที่สุด ต้องมีศิลปะ เทคนิดการ Comment โครงการแบบมืออาชีพ  ถึงจะ Comment ได้เกิดประโยชน์สูงสุด กับ ผนส. ทุกคน  จากประสบการณ์ พิจารณาโครงการของ ผนส. 160 โครงการ  ผมได้รวบรวมประเด็นที่คณาจารย์หรือคณะกรรมการฯที่มา Comment โครงการ ใช้ในการพิจารณามองหาจุดแข็ง จุดอ่อน ในโครงการที่ ผนส. นำเสนอ ในประเด็นต่าง ๆ  ซึ่งอาจจะเก็บมาไม่ครอบ 100 % แต่ก็พอจะเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ประโยชน์ในการพัฒนาการทำงาน ซึ่งผมสรุปมาได้ดังนี้     

 

 

1. ชื่อโครงการ  

1)      สอดคล้องกับ กลยุทธ์ หรือไม่   

2)      สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล หรือไม่ 

3)      สอดคล้องกับวัตถุประสงค์  หรือไม่ 

4)      สอดคล้องกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ หรือไม่  

5)      ชื่อโครงการสั้นหรือ ยาวเกินไป คลุมเครือ ไม่ชัดเจนหรือไม่     

2. หลักการและเหตุผล จะพิจารณาดูว่า ในหลักการและเหตุผล

6)      ระบุความเป็นมาของโครงการหรือไม่

7)      ระบุสถานการณ์ ของสหกรณ์ในปัจจุบันหรือไม่ ตัวเลขจำนวนสมาชิก อายุของสหกรณ์ updated หรือไม่

8)      ระบุสภาพปัญหาหรือความต้องการ รวมทั้งสาเหตุของปัญหาหรือไม่

9)      ระบุโอกาส ถ้ามีการลงทุนในโครงการนี้หรือไม่

10)    ระบุข้อจำกัดหากไม่มีโครงการนี้หรือไม่  

11)    ระบุความสำคัญของโครงการที่จะมีต่อนโยบายหรือไม่  

12)   หลักการและเหตุผล สั้นหรือยาวเกินไปหรือไม่ 

3. เป้าหมายของโครงการ

 13)   มีการระบุประเด็นเป้าหมายชัดเจนหรือไม่ 

4.  วัตถุประสงค์ จะพิจารณาดูว่า

 14)   ระบุผลลัพธ์ ที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเสร็จโครงการ

15)   ทำโครงการแล้ว มีผลตอบแทนที่ได้รับมีอะไรบ้าง  

 

5ประโยชน์หรือผลที่คาดว่าจะได้รับ

16)   ระบุประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่

17)   ระบุประโยชน์ที่คาดว่ากลุ่มเป้าหมาย หรือพื้นที่เป้าหมาย จะได้รับหรือไม่ 

18)   ระบุผลกระทบในด้านบวกที่จะตามจากการมีโครงการหรือไม่ สังคม ชุมชน ได้ประโยชน์หรือไม่ 

6. วิธีดำเนินการ หรือ กิจกรรม

19)   ระบุกิจกรรมครอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมดของโครงการหรือไม่

20)   ระบุขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรมได้ครบถุ้วนหรือไม่

21)   ระบุเทคนิคที่ใช้ในการปฏิบัติการหรือไม่ กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในกิจกรรมหรือไม่

22)   ตัวชี้วัดที่กำหนดในแต่ละกิจกรรม สอดคล้องกับกิจกรรมที่ทำหรือไม่    

7. งบประมาณ 

23)   มีการระบุงบประมาณของโครงการ ตามหมวดหมู่ ตามกิจกรรมหรือไม่

24)   งบประมาณ สมเหตุสมผลหรือไม่

25)   เป็นธรรมหรือไม่ หรือว่าไปกองอยู่กับที่พัก เป็นส่วนใหญ่

26)   เป็นไปตามหลักธรรมมาภิบาลหรือไม่  

8. ระยะเวลาของโครงการ และสถานที่ดำเนินโครงการ

27)   ระบุระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรมไว้ชัดเจนหรือไม่

28)   ระยะเวลา เหมาะสม สั้นเกินไป ยาวเกินไปหรือไม่

29)   โครงการมีความยั่งยืน ขยายผลในระยะยาวได้หรือไม่

30)   ระบุสถานที่ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่   

9. ผู้รับผิดชอบโครงการ 

31)   ระบุชื่อบุคคลหรือคณะทำงานที่รับผิดชอบในการจัดการโครงการ

10. การติดตามและประเมินผล

32)   ระบุวิธีการ ที่จะติดตามโครงการ ที่เหมาะสม ทันสมัยหรือไม่

33)   ระบุเกณฑ์วัดและระยะเวลาที่จะติดตามโครงการหรือไม่

34)   เกณ์ที่วัด ครอบคลุม หลักการ CEO หรือไม่ คือ ความพึงพอใจของสมาชิก

ความสุขของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และผลการดำเนินงานขององค์การ   

11. ภาวะผู้นำ กับการแสดงวิสัยทัศน์

35) ผู้นำเสนอ มีภาวะผู้นำ ไม่อ่อนเกินไป ไม่แข็งเกินไป มีความรอบรู้ มีคุณธรรม หรือไม่

36) มีศิลปะในการนำเสนอ เปิดประเด็น ดำเนินเรื่อง สรุป ครบถ้วนหรือไม่

37) มีการเตรียมตัวมาดี มีความพร้อมหรือไม่

38) การบริหารเวลา การควบคุมประเด็นการนำเสนอ หรือไม่

39) การเป็นผู้พูดที่ดี เป็นผู้ฟังที่ดี มีกติกาและมารยาท หรือไม่  

 

 

โดยภาพรวม คณะกรรมการวิเคราะห์วิจารณ์โครงการ จะพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ในโครงการ สรุปดังนี้

  1. มีข้อมูลที่ชัดเจน ในเหตุผลและความจำเป็น
  2. โครงการสามารถตอบสนองเหตุผลและความจำเป็น
  3. วัตถุประสงค์ของโครงการมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ
  4. วัตถุประสงค์ของโครงการสามารถวัดได้ ประเมินได้
  5. วัตถุประสงค์ของโครงการสามารถจัดกิจกรรมดำเนินงานให้บรรลุได้
  6. โครงการมีขอบเขตเวลาที่แน่นอนในการปฏิบัติงาน
  7. วัตถุประสงค์ของโครงการสมเหตุสมผลสอดคล้องกับปัญหา
  8. วิธีดำเนินการของโครงการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
  9. ความสัมพันธ์ ความต่อเนื่องระหว่างกิจกรรม
  10. กิจกรรมในโครงการเป็นไปตามหลักการที่เหมาะสม
  11. ระยะเวลาเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้
  12. ค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับโครงการ
  13. มีการติดตามประเมินผลที่ชัดเจน
  14. ประโยชน์ของโครงการเหมาะสม
  15. มีผู้รับผิดชอบโครงการชัดเจน
  16. เกี่ยวกับภาวะผู้นำ ในการนำเสนอโครงการเป็นอย่างไร
  17. การเตรียมตัว เตรียมพร้อมในการนำเสนอ
  18. ภาวะผู้นำ การให้ความร่วมมือกับทางสันนิบาตฯ ในการปฏิบัติตามกฎ การมีกติกา มารยาท เป็นต้น  ฯ

ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า การวิเคราะห์ให้ความเห็น หรือ การ Comment โครงการ อาจารย์แต่ละท่านที่ทำหน้าที่ Cmmentators คงจะวิเคราะห์โครงการของ ผนส. แต่ละท่านอยู่ในประเด็นเหล่านี้  หรืออาจจะมีมากไปกว่านี้ ก็คงไม่ไกลไปกว่านี้มากนัก ด้วยข้อจำกัดเรื่อง เวลา ด้วย    

ผนส.ที่ทำโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว สามารถส่งต้นฉบับ จำนวน 3 ชุด พร้อมกับ power point ได้ที่ คุณชไมพร หรือส่ง mail มาที่ [email protected] (ชไมพร ตันกุล 02 ก.ย. 2553 16:47, http://gotoknow.org/blog/chiraacademy/372489X)  

ผมเชื่อมั่นใน ผนส. ทุกท่าน ท่านผ่านการฝึกเหมือนทหารกล้ามาแล้ว ท่านทำโครงการมากับมือ ท่านเป็นผู้รอบรู้ มีคุณธรรม ท่านรู้ดีที่สุด ขอให้ท่านทำให้ดีที่สุด ส่งเอกสารโครงการให้ครบ ให้ทันตามเวลา เตรียมพร้อมด้านเอกสารข้อมูลให้แม่นยำ และซ้อมบทให้คล่อง ควบคุมประเด็น คือ เปิดประเด็นประมาณ 2 นาที ดำเนินเรื่อง ประมาณ 5 นาที สรุปสักประมาณ  3 นาที  ครบสิบนาทีพอดี พยายามบริหารเวลา บริหารภาวะผู้นำของท่านให้ดีที่สุด

 

 

กรณีที่อาาจารย์บางท่าน วิจารณ์จุดอ่อนของโครงการ หากท่านมีเหตุมีผลที่ดีกว่า ลึกกว่า  ขอให้รีบชี้แจงไปว่าที่จริงเป็นอย่างไร เพื่อให้อาจารย์เข้าใจ และเพื่อเพื่อน ผนส. ได้เกิดการเรียนรู้ไปด้วย 

ในการนำเสนอโครงการ ของ ผนส. ความเห็นส่วนตัวของผม ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดการแบ่งบันความรู้ คุณธรรม การจัดการสมัยใหม่ เน้นบริหารโครงการแบบภาคเอกชนที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ ตัวชี้วัดความสำเร็จ ความพึงพอใจของสมาชิก ของลูกค้า ความสุขของทีมงาน และผลการดำเนินงานขององค์การ รวมทั้งเน้นผลที่สามารถนำไปสู่ความยังยืนของโครงการ ขององค์การ ได้อีกด้วย

ระหว่างที่เพื่อน ผนส. ออกมานำเสนอ และคณาจารย์ให้ความเห็นเสนอแนะไปนั้น ผนส.ที่ฟังอยู่ก็จะได้รับความรู้ไปด้วย ขอให้พวกเรา นำเสนออย่างมีภาวะผู้นำ และตั้งใจฟังให้กำลังใจเพื่อน ให้ความเห็นเท่าที่จำเป็นให้สมกับเป็นผู้นำขั้นสูง   ภารกิจสำคัญของอาจารย์ในวันนั้น คือ แบ่งบันความรู้ แบ่งบันความสุข ความสำเร็จ ร่วมกัน และนำพาศิษย์ ผนส. 5 ทั้ง 50 ชีวิต ให้ผ่านพ้น การนำเสนอโครงการไปได้ทุกคนด้วยดี

ขออำนาจคุณพระรัตนตรัว และสิ่งศักดิ์ในทุกศาสนา จงปกป้องให้ทุกท่านให้ประสบความสุข ความสำเร็จในสิ่งที่ดีงาม มีสุขภาพกาย และใจที่แข็งแรง มีโชคลาภ ยศ สรรเสริญ มากมายด้วยกัลยาณมิตรที่พร้อมจะเห็นด้วยกับท่าน 

 

สวัสดี

จากใจจริง  

อาจารย์ยม

 www.facebook.com/yom.nida/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท