สุขใจเมื่อไปขึ้นเตียงผ่าตัด (๑) : รู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นไส้เลื่อน?


"ก็แค่เปิดช่องท้องเข้าไปเย็บผ้าปูที่นอนที่ขาด"

ราวครึ่งปีมาแล้ว วันไหนที่ผมยืนนานๆ หรือเดินนานๆ จะเกิดความรู้สึกปวดหน่วงๆ ตรงช่วงล่างของช่องท้อง ที่ว่านานนั้นก็ประมาณหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป แต่ระยะหลังแค่ครึ่งชั่วโมงก็เริ่มปวดแล้ว  ขณะที่ปวดลองเอามือคลำดูพบก้อนนูนๆ บริเวณท้องน้อยด้านขวาค่อนไปทางขาหนีบ

ช่วงหลังๆ อาการดังกล่าวเกิดถี่ขึ้นและก็ปวดมากขึ้น ก้อนที่ตุงออกมาก็เริ่มใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการปวดยังอยู่ในระดับที่ทนได้ ทำอะไรต่อไปช้าๆ พอได้ แม้จะรู้สึกไม่สบายนัก และเมื่อได้นั่งหรือนอนสักพักก้อนนั้นก็จะหายไปพร้อมกับอาการปวดก็จะหายไปเหมือนปลิดทิ้ง

ผมก็เลยเลี่ยงที่จะยืนนานๆ หรือเดินนานๆ แต่โดยหน้าที่การงาน โดยเฉพาะงานสอนนักศึกษาและงานฝึกอบรมอาจารย์หรือวิทยากร ทำให้ผมจำเป็นต้องยืนและเดินไปเดินมาครั้งละนาน แม้ระยะหลังจะเปลี่ยนสไตล์การสอนจากแบบเดินไปเดินมารอบๆ ห้อง เป็นนั่งสอนอยู่กับที่บ้าง แต่ก็รู้สึกฝืน นั่งสอนอยู่นิ่งๆ รู้สึกจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา ไม่สนุก เมื่อเราเองก็ยังไม่สนุกแล้วคนเรียนเขาจะสนุกได้อย่างไร

จนถึงขั้นหนึ่ง รู้สึกว่าเราไม่อาจใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับสภาพร่างกายแบบนี้ได้อีกต่อไป จึงปรึกษากับภรรยาว่า ถึงเวลาต้องไปหาหมอในเร็วๆ นี้แล้วล่ะ

จนกระทั่งได้ไปเข้าอบรมหลักสูตรสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนเก้าลักษณ์ที่นครปฐม พบเพื่อนนพลักษณ์ที่ไปเข้ารับการอบรมด้วยกันเป็นหมอหลายคน ก็เลยถือโอกาสขอคำปรึกษา ทุกคนให้คำแนะนำว่าควรไปโรงพยาบาลให้หมอตรวจดูอย่างละเอียด มีคนหนึ่งเป็นศัลยแพทย์จากจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่าอาการแบบนี้น่าจะเป็นไส้เลื่อน ซึ่งถ้าใช่ก็ต้องผ่าตัด โรคนี้ศัลยแพทย์ทั่วไปผ่าได้

ผู้เข้าร่วมอบรมคนที่เขาจัดให้พักอยู่ห้องเดียวกันกับผมก็บังเอิญเป็นหมอ อธิบายว่าไส้เลื่อนเกิดจากอวัยวะที่รองรับลำไส้ชั้นในอยู่เป็นรูฉีกขาด ไส้ก็เลยทะลักตุงออกมาดันผิวหนังหน้าท้องนูนออกมา เรียกว่าถ้าไม่มีผิวหนังชั้นนอกตรงหน้าท้องกั้นไว้อีกชั้นลำไส้ของเราก็คงไหลทะลักออกมาข้างนอก ควรไปให้หมอผ่าตัดเปิดช่องท้องเข้าไปเย็บผนังชั้นในที่ขาดนั้นให้ติดกันเหมือนเดิมก็หาย แล้วก็ชี้ไปที่เตียงบอกว่า เหมือนผ้าปูที่นอนขาดก็เย็บให้ติดกันเสีย ก็แค่นั้นเอง หมอหนุ่มคนนี้ช่างพูดให้กำลังใจคน และช่างอุปมาอุปมัยให้เราเห็นภาพ เมื่อผมหันไปดูผ้าปูที่นอนแล้วก็รู้สึกว่า “ก็แค่นั้นเอง” จริงๆ ด้วย

ผมมีประกันสังคมกับ รพ.หัวเฉียว เสร็จงานอบรมแล้วก็เลยไปที่นั่น หมอแผนกประกันสังคมตรวจดูแล้วก็วินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นไส้เลื่อน จึงส่งต่อไปแผนกศัลยกรรม คุณหมอศัลยกรรมที่ตรวจผมเป็นแพทย์อาวุโส ชื่อ นพ.ไพโรจน์ ชัยกิตติศิลป์ เป็นหัวหน้าแผนกศัลยกรรมด้วย

ท่านให้ผมขึ้นไปนอนบนเตียง ดึงกางเกงนอกกางเกงในลงไปที่ขา แล้วท่านก็เอามือกดตรวจท้อง ให้ทำท่าไอติดๆ กันหลายๆ ครั้ง แล้วก็ให้ทำอย่างเดียวกันในท่ายืน เสร็จแล้วก็ให้แต่งตัว มานั่งที่หน้าโต๊ะท่าน

ท่านบอกว่าผมเป็นไส้เลื่อน วิธีรักษาคือผ่าตัด แล้วท่านก็ถามผมว่า “จะผ่ามั๊ย?” ผมตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า “ผ่าครับ” เพราะเตรียมใจมาแล้ว ก็แค่เปิดหน้าท้องเข้าไป “เย็บผ้าปูที่นอนที่ขาด” ก็แค่นั้นเองนี่นา

ท่านถามว่าวันนี้ได้งดน้ำงดอาหารมาหรือเปล่า จะได้ตรวจเลือดไว้เลย ผมตอบว่าไม่ได้งดมา ท่านจึงนัดให้มาใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยให้งดน้ำและอาหารตั้งแต่หลังเที่ยงคืนมาก่อน

วันรุ่งขึ้น ผมไปโรงพยาบาลแต่เช้า ไปคนเดียว หมอก็เขียนใบสั่งให้พยาบาลพาไปตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ และอะไรต่ออะไรตามระบบการเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด รวมทั้งตรวจเลือดว่ามีเชื้อเอดส์ด้วยหรือไม่ โดยโรงพยาบาลเขามีใบให้เราลงนามว่าเรายินดีให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยหรือไม่ ผมก็ลงนามไปด้วยความยินดี

พอตรวจหมดทุกอย่างแล้ว พยาบาลก็บอกให้ผมไปรับประทานอาหาร แล้วค่อยขึ้นมานั่งคอยผลการตรวจ นั่งคอยอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่ง ผลการตรวจก็มาถึงแผนกศัลยกรรม พยาบาลก็พาเข้าไปพบหมออีกรอบ

หมอดูแล้วก็บอกผมว่า ผลเลือดปกติ เบาหวานก็ไม่มี ปริมาณเม็ดเลือดขาวก็ปกติ คลื่นหัวใจก็ปกติ แล้วท่านก็ถามผมว่า “พร้อมจะผ่าบ่ายวันนี้เลยมั๊ย?” 

คำถามของท่านทำเอาผมตั้งหลักไม่ทัน เพราะไม่คิดว่าจะต้องขึ้นเตียงผ่าตัดไวขนาดนั้น เลยขอให้หมอนัดวันผมใหม่ หมอนัดผมบ่ายวันจันทร์ที่ ๑๔ ธ.ค.๕๒ โดยให้มาเข้าเป็น “ผู้ป่วยใน” ตั้งแต่เช้า ให้งดน้ำงดอาหารและนำญาติมาด้วย

แม้จะไม่ได้ตัดสินใจผ่าวันนั้นทันที แต่ผมก็มีความรู้สึกดีขึ้นมา ๒ อย่าง จากการที่หมอถามเช่นนั้น นั่นคือ

อย่างแรก ทำให้ผมรู้สึกวางใจในหมอคนนี้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง อย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “มืออาชีพ” คือมีประสบการณ์มาก สามารถลงมือ(ลงมีด)เมื่อไรก็ได้ที่เราพร้อม

อย่างที่สอง เป็นการย้ำความรู้สึกของผมที่ว่าโรคนี้แก้ไขได้ไม่ยาก “เหมือนเย็บผ้าปูที่นอนที่ขาด” จริงๆ 

--------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านบันทึกทั้ง ๙ ตอนในชุดผ่าตัดไส้เลื่อนของผมได้โดยคลิกลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

  1. รู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นไส้เลื่อน (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321431)
  2. เมื่อวันนัดผ่ามาถึง (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321469)
  3. ผ่อนคลายในห้องเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321489)
  4. ความสุขที่เกิดขึ้นภายในใจระหว่างทางสู่ห้องผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321619)
  5. ในห้องผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321793)
  6. ผลข้างเคียงจากการบล็อกหลังในห้องสังเกตอาการหลังผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322526)
  7. พักฟื้นในหอผู้ป่วย (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322581)
  8. กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322678)
  9. หมอที่มีหัวใจมนุษย์ (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322779)

 

หมายเลขบันทึก: 321431เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2009 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • ขอบคุณมากนะคะ  ที่เขียนให้รู้  จะได้ ช่วยกัน ดูคนรอบข้าง แบบ รู้ตนก่อน เยียวยา
  • ขอให้สุขภาพ แข็งแรงในเร็ววันนะคะ

คุณ"สุรเชษฐ"ขอยืมไปใช้แนะนำผู้ป่วยบ้างนะคะ

“เย็บผ้าปูที่นอนที่ขาด”

อาจารย์ครับ

ขอให้อาจารย์หายในเร็ววันครับ :)

อยากรู้ต่อครับ ว่าระหว่างที่ผ่าตัด อาจารย์ฝันอะไรบ้าง...หรือ หลับลึก..

สวัสดีค่ะพี่ มาลงชื่อไว้จะกลับมาอ่านค่ะ ตอนนี้ฝนหลงฤดูกำลังตกหนักที่เชียงใหม่ เกรงไฟฟ้าจะดับค่ะ พี่เขียนเรื่องยาว น้องก็เขียนเรื่องยาว(พอสมควรเหมือนกันค่ะ) อย่างที่เคยเกริ่นไว้ เริ่มจาก กลางปีพักกาย ปลายปีพักใจ  ตามด้วย เบิกบานบนเส้นทางธรรม และยังรอบทต่อๆ ไปค่ะ

ยินดีครับ   P คุณระพี นำไปใช้ได้เลยครับ
ที่ผ่านมามักได้อ่านมุมมองของหมอ ซึ่งมีประโยชน์มาก
ก็เลยอยากบันทึกมุมมองของผู้ป่วยที่ต้องขึ้นเตียงผ่าตัดบ้าง
อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นเพียงมุมมองของคนเดียว ถ้าหลายคนช่วยกันบันทึกก็จะเห็นความหลากหลาย ได้เรียนรู้จากกันและกัน

คุณ P จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ระหว่างที่ผ่าตัด ผมมีทั้งฝันทั้งหลับลึกครับ โปรดอ่านตอน "ในห้องผ่าตัด" ครับ

มาเรียนรู้ คนเข้าสู่วัยนี้ อะไรอะไรก็มาให้ได้ประสบนะครับ

สิริมาภรณ์ พุฒนวล

หนูเพิ่งผ่าตัดไส้เลื่อนตรงขาหนีบเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนา ที่ผ่านมานี้เองค่ะ ก่อนผ่าตัดหนูก็เปิดอ่านบทความของคุณสุรเชษฐ เลยทำให้คลายความกังวลลงไปได้มากเลยค่ะ ขั้นตอนต่างๆก็คล้ายๆกันกับรพ.หัวเฉียวนะคะ หนูผ่าตัดที่รพ.แมคคอร์มิค เชียงใหม่ ก็ไม่แพ้กันเลย คิดว่าแพ้ตรงที่ในห้องผ่าตัดมีไฟกระด้งฝัดข้าวแค่ 2 ดวง เท่านั้นเองค่ะ ของหนูใช้แผ่นสังเคราะห์เย็บปะเข้าไปที่ผนังหน้าท้องด้วยนะคะ ^^ ตอนนี้หนูก็พักฟื้นอยู่บ้าน วันจันทร์หน้าหนูก็ไปทำงานตามปกติได้แล้วค่ะ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆของคุณสุรเชษฐนะคะ ขอบคุณมากค่ะ/หนูโอ

ยินดีด้วยครับคุณหนูโอ

ของผมหลังจากหายเจ็บแผลแล้ว มีอาการแปล็บๆ เหมือนไฟฟ้ากระแสอ่อนช็อตที่รอยเย็บอยู่หลายเดือน แต่มันก็หายไปเอง

คะคุณสุรเชษฐ วันนี้ก็เป็นวันที่ 5 หลังจากการผ่าตัดรู้สึกยังชาๆ อยู่ที่แผลนะคะ ยังเจ็บๆ อยู่ แต่หนูหยุดทานยาแก้ปวดแล้วค่ะ เพราะแสบกระเพาะ อยากหายเร็วๆ จังค่ะ สู้ๆ ^^ อ้อ นกๆที่บ้านหนูก็เสียงเพราะเหมือนที่บ้านคุณสุรเชษฐนะคะ

เรียนคุณสุรเชษฐครับ ผมก้อมีอาการที่น่าจะเป็นไส้เลื่อนครับ อยากทราบว่าประกันสังคม จ่ายค่ารักให้หมดเลยหรือป่าวครับ

แล้วถ้าไม่จ่ายให้หมดเราต้องจ่ายส่วนต่างอะไรบ้งาครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท