จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

สังคมกับความตาย


วันนี้ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในกลุ่มหลังจากที่หายหน้าไปนานเกือบๆ สองเดือนครับ แต่ประเด็นที่นั่งคุยวันนี้ออกจากเสียวๆ หน่อย คือ คุยกันเรื่องความตาย ประเด็นนี้ผมนั่งเงียบไปนาน จนกระทั่งถูกสะกิดว่า พอคุยเรื่องตายแล้ว อาจารย์จารุวัจน์ไม่มีความเห็นเลย ฮา ไม่ได้บอกว่า พร้อมตายแล้วหรือยัง เพียงแต่นึกในใจว่า อิสลามส่งเสริมให้ระลึกถึงความตายให้เป็นประจำครับ เพราะความตายเป็นสิ่งที่ต้องประสบกับทุกชีวิต แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยคิดถึงมันสักเท่าไร

ผมนั่งฟังสมาชิกในวงสนทนาคุยถึงคนตายที่มีหนี้สินค้างอยู่แล้วนึกต่อไปได้อีกหลายประเด็นครับ สมาชิกท่านหนึ่งนำเสนอว่า หนี้สินเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนตาย เนื่องจากก่อนการฝังศพจะต้องมีการจัดการชำระหนี้ของผู้ตายก่อน แน่นอนครับ เรื่องของหนี้สินต้องมาก่อนการแบ่งมรดกต่างๆ ของผู้ตาย เลยเกิดคำตอบต่อว่า สมมติว่าผู้ตายผ่อนรถอยู่ (ซึ่งหมายถึงเป็นหนี้แน่ๆ) จำเป็นต้องชำระหนี้รถก่อนหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ครับ แต่หนี้ดังกล่าวนั้นถูกโอนไปกับผู้รับมรดกที่เป็นรถคันดังกล่าวไปโดยอัตโนมัติ 

ที่หยิบกรณีนี้ขึ้นมาก็เพื่อบอกว่า หนี้ของคนตายคือหนี้ ณ ขณะที่มีชีวิตอยู่ครับ หนี้ที่เกี่ยวเนื่องไปยังอนาคตหลังจากตายไม่เกี่ยวครับ (หลายคนพอจะหายใจโล่งขึ้นใช่มัยครับ ฮา) ประเด็นเรื่องหนี้ เป็นประเด็นที่มีผลต่อการเข้าสวรรค์ครับ และท่านรอซูล (ซ.ล) จะไม่ละหมาดให้กับศพที่ไม่ได้จัดการชำระหนี้ก่อน ดังนั้นเราจะเห็นประเพณีปฏิบัติในบ้านเราคือ ทายาทจะต้องประกาศรับใช้หนี้ทั้งหมดที่ผู้ตายติดค้างอยู่ หากไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้ทันที

พอคุยถึงประเด็นนี้ ผมนึกถึงเหตุการณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อสักวันสองวันที่ผ่านมานี่แหละครับ พระรูปหนึ่งฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้ และมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นการฆ่าตัวตายเมื่อตนเองไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ที่ก่อไว้ได้ ซึ่งนั้นหากมองในมุมของอิสลามแล้ว ก็หมายถึงการยอมตกนรกรับการทรมานที่แสนสาหัสนั้นเอง

ในอิสลาม ความตายไม่สามารถล้างหนี้ได้ครับ ที่สำคัญมันยังก่อให้เกิดผลกระทบและการขาดทุนที่ไม่สามารถเรียกคืนได้อีก ผมเกิดคำถามต่อครับว่า ทำไมเรื่องหนี้ไม่สามารถล้างได้ด้วยความตาย? คิดต่อเองนะครับ สมมติ ผมติดหนี้ไว้เยอะ เอาเงินดังกล่าวไปให้คนอื่น (อาจจะเป็นคนในครอบครัวใช้) แล้วผมก็ไม่มีปัญหาใช้หนี้ แล้วก็ล้างหนี้ด้วยการลาโลก ผลที่ตามมาคือ เจ้าหนี้ผมเขาจะเป็นอย่างไร ความสูญเสีย ความเสียหายสามารถเกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ได้ครับ ซึ่งนั้นผมคิดต่อว่า หลักการของอิสลามในเรื่องนี้เป้าหมายอยู่ที่การป้องกันผลกระทบต่อสังคมครับ หลักเบื้องต้นของอิสลาม การรักษาชีวิตถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญของมนุษย์ครับ

อีกประเด็นหนึ่งที่สังคมต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายครับ คือ อิสลามกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคนเป็นที่จะต้องจัดการศพ ละหมาดและฝังศพ แล้วก็ต่อด้วยประเด็นของการปลอบขวัญญาติผู้ตายครับ ด้วยการนำอาหารมายังบ้านของผู้ตายเพื่อเลี้ยงอาหารแด่คนในบ้าน เรื่องนี้คนบ้านเราอาจจะยังเข้าใจผิดครับ กลายเป็นคนบ้านผู้ตายต้องรับภาระเลี้ยงอาหารคนมาเยี่ยมเสียอีก ความจริงเพื่อนบ้านจะต้องช่วยกันรับผิดชอบ อาจจะแบ่งกันคนละวัน นั้นหมายถึงการเลี้ยงอาหารสมาชิกบ้านผู้ตายและแขกที่มาเยี่ยมต้องทำกันหลายวันทีเดียว แต่ทั้งนี้ย้ำว่า ไม่ใช่ภาระของสมาชิกบ้านผู้ตายครับ การทำอย่างนี้มีเจตนาเพื่อมุ่งปลอบขวัญและสร้างกำลังใจให้กับสมาชิกในสังคมครับ

บางคนอาจคิดแย้งผมว่า การทำอาหารโดยสมาชิกบ้านผู้ตายก็เพื่อทำบุญให้กับผู้ตาย อันนี้ไม่แย้งครับ แต่จะบอกว่า การที่เพื่อนบ้านทำอาหารเลี้ยง แล้วก็เนียตว่า กิจกรรมนี้ขออัลลอฮ์ทรงเพิ่มพูนผลบุญให้กับผู้ตาย ก็เป็นสิ่งที่ทำได้และเหมาะสมกว่าด้วยซ้ำไปครับ

เรื่องนี้ก็พาให้นึกไปยังอีกหลายสังคมครับ การเสียชีวิตของคนในบ้านกลับสร้างความหนักอกหนักใจให้กับสมาชิกในบ้าน ในการจัดการเรื่องศพ การเลี้ยงดูแขกที่มาเยี่ยม บางครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อทำให้งานศพสมเกียรติสมศักดิ์ศรีของผู้ตาย จนต้องมีสำนวนว่า ถ้ายังไม่รวยอย่าเพิ่งตายก่อน ลำบากคนข้างหลัง ฮือ นอกจากเสียใจแล้ว ยังกังวลใจเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จากจุดนี้ผมเลยมองว่า หลักคำสอนของอิสลามเป็นมติของการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมจริงๆ มุสลิมเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็งครับ

"ความเมตตาของอัลลอฮ์นั้นกว้างขวางยิ่ง"

คำสำคัญ (Tags): #ความตาย#สังคม
หมายเลขบันทึก: 416693เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2010 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมเคยได้ยินว่า ยังมีบางพื้นที่ที่เวลามีงานเลี้ยง ครอบครัวคนตายไม่ต้องจัดการเลย และชุมชนเข้ามาจัดการทั้งหมด
  • ผิดกับบางที่ แขกที่มางานจะมาดูก่อนว่า บ้านไหนเลี้ยงอะไร ถ้ามีงานศพหลายงานก็มีตัวเลือกมากขึ้น
  • จะมาชวนอาจารย์ช่วยเวียนไปเม้นต์ ที่นี่ หน่อยครับ

ขอบคุณครับคุณหมอนาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

ปัจจุบันหลายชุมชนตื่นตัวกับการจัดการเกี่ยวกับศพให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนามากขึ้นแล้วครับ แต่ก็เช่นกันในหลายชุมชนก็ยังถือเป็นวิถีปฏิบัติแบบเดิมๆ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท