SMS กับ digital divide


ไม่ถึง ๑ นาที ผมก็ได้ข้อมูลที่ผมต้องการ

ช่วงนี้หมู่บ้านผม ..บ้านทุ่งงาย ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กำลังโดนโรคไข้ปวดข้อ หรือ โรคคุณกัลยา หรือ ชิคุนกุนยา เล่นงานเหมือนพื้นที่อื่นๆในเขตจังหวัดสงขลา เรียกได้ว่า เป็นหัวข้อสนทนาในทุกวง

ผมเองถึงจะเป็นหมอ แต่ความที่ดูแต่คนไข้โรคมะเร็งเฉพาะด้านจนชิน จึงรู้เรื่องนี้น้อยมากและไม่ค่อยสนใจเท่าไร ตอนที่ยังระบาดอยู่แถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พอมันลามมาใกล้ตัว..ชนิดประชิดหน้าบ้านแบบนี้ ทำให้ต้องหันมาสนใจ

ผมจำได้ว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล อาจารย์หมอผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ในเว็บไซด์ของคณะแพทย์ เหมือนกับที่อาจารย์ทำ เวลามีโรคระบาดสำคัญๆเสมอมา ผมรู้แต่ไม่เคยเปิดอ่านเพราะมันไกลตัว

คราวนี้เมื่อจำเป็นต้องหาความรู้ ผมก็แค่คลิกไปที่หน้าเว็บไซด์ของคณะแพทย์ แล้วหา หัวข้อโรคชิคุนกุนยา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่หาไม่ยาก คู่กับ วิธีการกำจัดลูกน้ำยุงลาย  ไม่ถึง ๑ นาที ผมก็ได้ข้อมูลที่ผมต้องการ สั้น กระทัดรัด อ่านง่าย  เท่านั้นยังไม่พอ ผมลองพิมพ์คำว่า ชิคุนกุนยา ใน กูเกิล ก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคนี้จากหน่วยงานต่างๆอย่างมากมาย ต้องเรียกว่า อย่างมหาศาล

ผมสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญเหล่านี้ โดยใช้เวลาเพียงแค่แว็บเดียว หลังจากเกิดความต้องการข้อมูล นี่คือ..มหัศจรรย์แห่งยุคดิจิตัล

 

แล้ว..ชาวบ้านทุ่งงายคนอื่นๆล่ะครับ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมไปงานทอดผ้าป่าวัดทุ่งงาย..วัดประจำหมู่บ้าน แน่นอนครับ โรคนี้เป็นเรื่องที่เราคุยกันแทบจะทุกวง เนื่องจากหลายคนหายหน้าหายตาไป เพราะถูกมันเล่นงานเข้าจนมาร่วมงานไม่ไหว สิ่งที่ผมได้ยิน คือ

ปวดข้อจนลุกไม่ไหว

ถ้าไม่ฉีดยาฆ่าเชื้อให้ตาย จะเป็นหนัก

ไปฉีดยาท่ี.... เข็มเดียวหายเลย

 

พี่ๆเขารู้เรื่องพวกนี้มาจากไหน ?

ส่วนใหญ่ก็ฟังต่อๆกันมาแบบปากต่อปาก ผมรู้ว่าข้อมูลนี้คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง ก็พยายามอธิบายเท่าที่ทำได้ แต่ไม่กล้าแนะนำให้เปิดเว็บไซด์อย่างที่ตนเองทำ นี่แหละครับที่ผมว่า เป็นความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

พอมาทำงานวันจันทร์ ผมพิมพ์บทความเรื่องโรคนี้กับวิธีกำจัดลูกน้ำยุงลายของอาจารย์ขจรศักดิ์ เป็นกระดาษสองแผ่น แล้วเอาไปแจกคนแถวบ้านตอนวิ่งออกกำลังช่วงเย็น โดยเฉพาะผู้นำชุมชน และร้านขายอาหารที่น่าจะมีคนเข้าถึงมากๆ ซึ่งผมคิดว่า น่าจะเป็นวิธีนำข้อมูลถึงชุมชนเท่าที่จะทำได้ด้วยความสามารถของตนเองที่มีอยู่แค่นั้น

ระหว่างที่วิ่งไปๆมาๆตามบ้านคนรู้จัก หัวคิดมันก็แว๊บไปถึงเรื่องๆหนึ่ง ที่ผมอยากจะเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องลองนำไปพิจารณาดู

ตอนอยู่ในงานผ้าป่าที่วัด ผมเห็นหนูน้อยคนหนึ่งนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือของเด็กเล่น ที่มีเสียงโทรฯเข้าอยู่ตลอดเวลา มันทำให้ผมคิดออกว่า ทำไมไม่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในเรื่องนี้ เพราะเดี๋ยวนี้แทบจะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือกันทั้งนั้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการโทรศัพท์ ควรมีระบบกระจายข่าวสารที่เป็นประโยชน์ โดยไม่หวังผลทางการค้า จัดส่งเป็น SMS ให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย อย่างเช่น กรณีสึนามิ โรคระบาด ภัยพิบัติต่างๆ

 

 

หมายเลขบันทึก: 257828เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะ คุณหมอ  ที่คิดถึง

  • ครูอ้อย มาเยี่ยมเยียนคุณหมอ ชื่นชมการทำงานของคุณหมอมากเลยค่ะ
  • รักษาสุขภาพนะคะ  เจ้าหมาน้อยคงโตแล้ว  เล่าต่อให้อ่านอีกนะคะ

P

  • ดีใจจังครับ ที่จะได้เจอตัวเป็นๆของพี่ในงานเดือนหน้า

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอเต็มศักดิ์

โรคคุณย่า ขออนุญาตเรียกตามแม่นะค่ะ เมื่อช่วงปลายปี 2551 ช่วงที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ บ้านที่นราธิวาสเจอโรคนี้เข้าไปค่ะ สี่ก็ได้คุณ google นี่ละค่ะตอบคำถาม เล่นเอาเหงื่อตกเพราะต้องโทรเช็คความคืบหน้าตลอดเลยค่ะ เพราะอยู่ไกลกัน

นี่ถ้าไม่ได้เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยเหลือสี่คงไม่มีข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถส่งข้อมูลที่ถูกต้องกลับไปให้คนแก่ๆ ที่บ้านได้ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พึ่งมีโอกาสได้มาทักทายอาจารย์หมอเต็มศักดิ์ สำหรับหนูต้องถือว่าอาจารย์ คือครู palliative care เป็นต้นเเบบในการให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคนเเรก เคยฟังอาจารย์ที่ จุฬาปี 48 ปี 49 ตามอาจารย์ไปที่เมืองทองธานี แหม ! อย่างนี้เรียกเเฟนคลับตัวจริงมั๊ยคะเนี่ย ต้องถือโอกาสกราบขอบพระคุณอาจารย์ผ่าน go to know หนังสือที่อาจารย์เขียน End of life care หนูถือเป็นเเนวทาง ตอนนี้ทีมที่ขอนเเก่นเราก็ค่อนข้างเข้มเเข็งนะคะ เชิญอาจารย์ไปเยี่ยมชมกิจการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของทีมนำทางคลินิกกุมารเวชกรรม มข.นะคะ

http://gotoknow.org/blog/245

วันนี้มาติดตามผลงานอาจารย์ค่ะกับโรคปวดข้อขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ

  • ไม่เห็นบันทึกอาจารย์หมอนานแล้ว...

ขอชมหน่อยว่า อาจารย์เขียนบันทึกนี้ได้เยี่ยม เพราะได้ความเกร็ดความรู้หลายแขนง ทั้งที่ใช้เนื้อที่เพียงนิดหน่อย...

เจริญพร

P น้องสื่ครับ

  • ขออนุญาตเรียก โรคคุณย่า ตามนะครับ

P  สวัสดีครับ

  • ขอบคุณครับที่ให้กำลังใจ
  • ขออนุญาตนำบล็อกไปรวมไว้ที่ รวมบันทึกคนทำงาน นี้นะครับ
  • ถ้ารู้จักใครอีก ช่วแนะนำผมด้วยนะครับ

P นมัสการพระอาจารย์ครับ

  • ไม่ค่อยได้เขียนในบล็อกนี้ครับ แต่ความจริงผมก็ยัง วนเวียน อยู่ใน G2K นะครับ
  • ขออนุญาตรวมไว้ตรงนี้นะครับ

เว็บไซด์

  1. สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย
  2. เครือข่าย Palliative Care ในโรงเรียนแพทย์

บล็อก

  1. คนไข้ระยะสุดท้าย
  2. ความสุขในการทำงาน
  3. ความรู้สึกจากเหตุการณ์ต่างๆ
  4. สุนัขที่บ้าน
  5. เรื่องทั่วๆไป 
  • พระอาจารย์สบายดีนะครับ ไม่รู้โรคคุณย่าลามไปถึงตัวเมืองสงขลาแล้วยัง

อาจารย์ค่ะ แวะเข้ามาบอกข่าวดีค่ะว่า UsableLabs มีเทคโนโลยีที่อาจารย์ต้องการค่ะ เดี๋ยว อ.ธวัชชัย จะเขียนบล็อกเล่าให้อ่านนะค่ะ :)

อ.หมอเต็มค่ะ

มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อจาก อ.จัน 

software ที่สามารถใช้ในการส่ง sms ได้อย่างง่ายๆ มีชื่อว่า "กระติก" ค่ะ ซึ่งทดสอบการใช้งานแล้วในระดับวง 50 คนได้ค่ะ 

รอ อ.ธวัชชัย เขียนบันทึกเล่านะคะ

ข่าวจากสำนักข่าวไทย

สงขลาชิคุนกุนยาระบาดหนัก อำเภอชายแดนพบป่วยมาก

29 เม.ย. 

แพทย์สาธารณสุขสงขลา เพิ่มความเข้มงวดกำจัดยุงลายทุกพื้นที่ พบโรคชิคุนกุนยาระบาดหนักถึง 8 อำเภอ มากที่สุดเป็นพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน อีกทั้งสภาพอากาศช่วงนี้เอื้อต่อการขยายพันธุ์พาหะของโรค นพ.สรร พงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคชิคุนกุนยายังคงระบาดหนักในหลายพื้นที่ ล่าสุดพบการระบาดใน 8 อำเภอ จากข้อมูลเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 เมษายนนี้ มีจำนวนผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 6,379 ราย โดยเฉพาะ อ.สะบ้าย้อย พบผู้ป่วยมากถึง 3,007 ราย รองลงมา อ.จะนะ 1,387 ราย อ.สะเดา 1,082 ราย อ.เทพา 328 ราย และ อ.นาทวี 314 ราย นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยประปรายใน อ.หาดใหญ่ อ.คลองหอยโข่ง ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระดมเจ้าหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดและกำจัดยุงลายพาหะของโรค โดยขณะนี้ทำได้เพียงการจำกัดพื้นที่ไม่ให้ระบาดเพิ่มเท่านั้น นพ.สรรพงษ์ ยอมรับว่า การควบคุมโรคทำได้ยาก เนื่องจากพาหะของโรคเป็นยุงลายในสวนยางพารา ซึ่งกำจัดได้ยาก ประกอบกับมีฝนตกชุกในพื้นที่ ทำให้ยุงลายขยายพันธุ์เร็วขึ้น จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างจริงจัง เพราะสามารถป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้ระดับหนึ่ง.

ที่มา: สำนักข่าวไทย

อบต. กับการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน

  • อบต.ทุ่งใหญ่ บ้านผม ค่อนข้างทันสมัย มีเว็บไซด์ของตนเอง เพื่อให้ข้อมูลและมีกระดานข่าวให้คนเข้าไปร้องเรียน ผมจึงนำเรื่องโรคไข้ปวดข้อ ชิคุนกุนยา ไปโพสต์ในกระดานข่าว
  • สังเกตว่า เรื่องที่อยู่ในกระดานข่าว มีคนเข้าไปอ่านไม่มากนัก
  • วันก่อนตอนไปบรรยายที่ระยอง ผมเห็นอบต.แถวนั้นมี wireless ให้บริการอินเตอร์เน็ตสำหรับประชาชนฟรีด้วยซ้ำ
  • ก็ฝันว่า ประชาชนจะใช้และเข้าถึงข้อมูลได้ดีขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

 

ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ อาจารย์

ขอเชิญทดลองส่ง SMS ฟรี

ทางเราเป็นผู้ให้บริการส่งข้อความ (SMS) จากระบบ Internet

ไปยังโทรศัพท์มือถือ ทุกระบบในไทย ในราคาประหยัด เฉลี่ยเพียง

* ข้อความล่ะ 51-74 สตางค์ เท่านั้น *

ทั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน หรือค่าธรรมเนียมใด ๆ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.deesms.com

หากสนใจกรุณาติดต่อ 084-184-4440 หรือ 086-479-9477

และ สามารถคุยทาง MSN ผ่าน [email protected] ได้ถึงเที่ยงคืนของทุกวันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท