หลักสูตรสร้างปัญหา


น้องทีมมาขอความช่วยเหลือวิชาสังคมว่าผมท่องเบญจศีลไม่ได้ ครูให้ท่อง จะสอบ เลยเกิดอาการโกรธคนเขียนหลักสูตรอีกแล้ว นี่มันวิชาสังคมหรือวิชาศาสนา ทำไมไม่แยกเนื้อหาที่ลงรายละเอียดไปอยู่ในวิชาศาสนาแทน การศึกษาศาสนาอื่นเป็นเรื่องดี เป็นการได้รู้กว้างขึ้นหลากหลาย การเรียนหลักของศาสนาต่างๆ ว่าเชื่ออะไร มีองค์ประกอบอะไร ประวัติเป็นมายังไง เปอร์เซ็นต์ประชากรในประเทศเรานับถือศาสนาอะไร นั่นคือเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับวิชาสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่จำเป็นด้วยเหรอที่ต้องท่องรายละเอียดลงลึกว่าศีลข้อนี้ว่าไง ข้อนั้นหมายความยังไง วัตถุประสงค์ทำเพื่ออะไร??? บังคับใส่ในวิชาที่เด็กต้องเรียนรวมทำไม คือไม่คิดบ้างเลยว่าเด็กที่นับถือศาสนาอื่นเขาทำไม่ได้เพราะมีบทบัญญัติข้อห้ามทางศาสนา ชอบเอาศาสนาตัวเองเป็น center ว่าไม่เห็นเป็นไรเพราะไม่ถือ แต่คนนับถือศาสนาอื่นเขาถือ (ว่ะ) และครูผู้สอนควรจะพลิกแพลงได้ ไม่ใช่ตรงเป็นท่อนไม้ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีเด็กหลากหลายกลุ่มในชั้นเรียน

ถ้าจะสี่เหลี่ยมเอาให้เสมอภาค ก็ต้องเอาบัญญัติสิบประการใส่ลงไปบังคับเด็กพุทธท่องด้วย แล้วก็อย่าลืมของกฎมุสลิมเขา พรามหณ์ ฮินดู ซิกส์ ฯลฯ  เอาซะให้ครบทุกศาสนาที่ในเมืองไทยมีนับถือกัน ไม่ใช่บังคับให้เน้นแต่ศาสนาของชนกลุ่มใหญ่ในประเทศ แต่การใส่ลงไปหมดแบบนั้นมันก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเลย เพราะเรื่องแบบนี้ล่ะที่ทางใต้เขาถึงบึ้มกันไม่เลิก สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยในสายตาคนบางกลุ่ม แต่มัน sensitive ต่อความรู้สึกของคนบางกลุ่มที่ต่างออกไป ยิ่งโดยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นจากภาครัฐเป็นผู้กระทำ ไม่ใส่ใจ หรือทำเป็นเพิกเฉย ไม่รู้ไม่เห็น ไม่เดือดร้อน ก็ทำให้รู้สึกว่าเหมือนถูกรังแก บ่อยๆ เข้าก็จะเกิดอาการตอบสนองได้เพราะสุดจะทน จะดีกว่ามั้ยถ้าจะคิดให้รอบคอบก่อนเขียนหลักสูตรที่มีเนื้อหาข้องเกี่ยวกับเรื่องละเอียดอ่อนอย่างศาสนา แยกส่วนรายละเอียดลงลึกที่ sensitive ไปอยู่ในวิชาที่เลือกเรียนได้ตามความสมัครใจของคนแต่ละศาสนา น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี อยากให้กระทรวงศึกษาฯ ลองไปบังคับเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนหลักสูตรนี้ดู รับรองว่าจะเห็นผลทันตา ว่าการตอบรับที่เกิดขึ้นจากคนอื่นที่เขาถือสานี่มันเป็นไง

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเพื่อนคนนึงที่ชอบเอาซองผ้าป่ามาให้ทำบุญ เงินน่ะบริจาคให้ได้ถ้าเป็นเรื่องเด็ก อาหาร การศึกษา คนยากไร้ คนเจ็บป่วย แต่บริจาคเกี่ยวกับศาสนานี่มันผิดหลักข้อเชื่อเรา แต่เพื่อนชอบบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ทำศาลาการเปรียญเพื่อประโยชน์ชุมชน ไม่ได้สร้างพระอะไรทำนองนั้น เลยตอบไปว่า ถ้ากล้าพูดกับคนมุสลิมแบบนี้ค่อยมาพูดกับเรา ไปแจกซองที่มัสยิดเลยถ้าตัวเองคิดว่าไม่เป็นไรจริงๆ ให้กล้าๆ หน่อย เราอะลุ้มอล่วยในบางเรื่องแต่ก็มีจุดยืนที่เข้มแข็งและชัดเจนในบางเรื่องเช่นเดียวกับพี่น้องมุสลิม หลายครั้งคนชอบเอาความศรัทธาแบบลูกผสมที่ตัวเองมีมาเป็นเกณฑ์วัดว่าคนอื่นต้องมักง่ายเหมือนเขา แปลกมาก


* ปล.  บันทึกนี้เขียนเกี่ยวกับ "หลักสูตรการเรียนที่มีปัญหา" ถ้าแสดงความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาที่เขียนก็คุยกันได้ แต่ถ้าจะมาโชว์ออฟว่าตัวเองสูงส่งเปิดกว้าง Universal ศึกษาได้หมดทุกศาสนา ขอร้องว่าอย่า เพราะไม่มีประโยชน์เลย ชอบแบบนั้นก็เงียบๆ ศึกษาต่อไป ทำอะไรก็เรื่องของคุณ ตามสะดวก ซึ่งบอกไม่ได้หรอกว่าที่คุณทำนั้นดีหรือไม่ แต่การเม้นท์แนวนี้มีผลลบ เพราะความนัยมันคือการเปรียบเทียบคนที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งว่าไม่ใจกว้างพอ

หมายเลขบันทึก: 268915เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 02:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สมัยผมเรียนประถมต้นที่ปัตตานี เมื่อครั้งกระโน้น

มีวิชาหน้าที่ฯศีลธรรม สอนหลักศาสนาพุทธล้วน คนสอนเป็นครูอิสลาม

สมัยผมเรียนประถมปลายที่ศรีราชา เมื่อครั้งกระโน้นอีกเหมือนกัน

มีวิชาหน้าที่ฯศีลธรรม สอนหลักศาสนาพุทธ คนสอนเป็นครูคริสต์  และมีวิชาคำสอน ตามหลักศาสนาคริสต์ เพราะเป็นโรงเรียนคริสต์

เห็นด้วยครับว่าต้องปรับหลักสูตรเรื่องนี้ ผมคิดว่าเขาปรับกันไปแล้วซะอีก ไม่คิดว่า น้องทีม ยังต้องเรียนสิ่งที่ผมเรียนเมื่อ..ครั้งกระโน้นอีก ที่แย่คือ ต้องท่อง โอ้โห..มันย้อนยุคมากเลยโรงเรียนนี้

เรื่องศาสนา ผมคิดว่า ยังควรบรรจุอยู่ในหลักสูตรครับ ไม่ควรตัดออกไป แต่ต้องดูตามบริบทด้วย เป็นไปได้มั๊ย ให้นักเรียนแต่ละคนนำหลักศาสนาของตนเองที่นับถืออยู่มาแลกเปลี่ยนกันในเรื่อง การทำดี การคบเพื่อน การดูแลสุขภาพ การพนัน เป็นต้น

 

เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆครับ

ต้องถอดประสบการณ์ให้ดีก่อนจะปรับเปลี่ยนเพราะการปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งกระทบมากมายใช่หรือเปล่าครับ ตอนสมัยเรียนประถม-มัธยม กระผมเจอการเปลี่ยนหลักสูตรบ่อยเลยครับ จนทำให้คิดว่าถ้าจะเปลี่ยนอีกเมื่อไหร่ก็ขอให้ทำอย่างรอบคอบ และสมเหตุสมผล ที่จะใช้ได้อย่างยั่งยืน (อย่าทำอย่างรีบๆหรือให้เสร็จๆไปตามวาระ) ตัวอย่างที่น่าสนใจคือคำสอนของศาสนาต่างๆที่กี่พันปีก็ยังเป็นความจริง สามารถจับต้องได้อย่างมีเหตุมีผล สอนด้วยหลักพื้นฐาน ใครเข้าใจต่อยอดลึกซึ้งก็พบทางสว่าง พบความสุขที่แท้จริงใช่หรือเปล่าครับ แล้วการศึกษาปัจจุบันนำพาไปสู่ทางสว่างที่แท้จริงหรือยังครับ ช่วยๆกันคนละไม้คนละมือ แต่อย่าไปตีกันนะครับ มาช่วยกันสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่ดีๆ คงจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้นใช่หรือเปล่าครับ

อาจารย์เต็มศักดิ์: ยืนยันว่ายังมีอยู่ค่ะหลักสูตรแบบนี้ คือส่วนตัวไม่ได้แอนตี้ศาสนาใดเลย ใครใคร่นับถืออะไรก็นับถือ ใครใคร่เรียนอะไรก็เรียน จะไม่เดือดร้อนเลยถ้าหลานตัวเองไม่ถูกบังคับให้ต้องท่องศีลต่างๆ ทั้งที่เราไม่ใช่พุทธ วิชาสังคมสามารถบรรจุเนื้อหาเหล่านี้ได้ถ้าพูดถึงในแง่เกี่ยวพันกับสังคม เพื่อสร้างความรู้ให้กับเด็ก แต่ถ้าเป็นรายละเอียดเชิงลึกที่เชื่อมโยงกับความเชื่อความศรัทธาประเภทศีลหรือข้อปฎิบัติ ไม่ควรให้เด็กต้องเอามาท่องจำโดยเฉพาะต่างศาสนากัน

สิ่งที่อาจารย์เสนอเนี่ยดีค่ะและเห็นด้วยอย่างยิ่ง ศาสนายังควรมีอยู่ในหลักสูตรเพราะเป็นพื้นฐานที่สอนและขัดเกลาเด็ก แต่ควรดูบริบทให้ชัดเจน สามารถให้เด็กเลือกเรียนศาสนาที่ตัวเองนับถือ แล้วเอามาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องที่เจอในชีวิตกับเพื่อนในชั้นเรียน เช่น การทำดี การคบเพื่อน การพนัน ความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความมีวินัย ฯลฯ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้แบบนี้ไม่ว่ากันเลยสักนิด เด็กที่นับถือศาสนาอื่นก็จะพลอยได้ความรู้แบบที่ไม่ต้องบังคับท่องให้ผิดกับกฎของศาสนาเขา

เมื่อกี้ลบความคิดเห็นของคนหนึ่งที่ออกนอกประเด็นไป พวกบ้าศาสนา เอาเรื่องศาสนามาเปรียบเทียบว่าข้าดีเอ็งเลวอีกแล้ว อุตส่าห์เขียนแล้วว่า ถกกันเรื่องหลักสูตรที่สร้างปัญหา อ่านหนังสือไม่แตก สมองประมวลบกพร่องเลยไม่เข้าใจ ก็ยังจะมาแสดงความคิดเห็นบ้องตื้นโชว์อีก login ก็ไม่กล้า เลยต้องแก้บันทึกเปิดให้แต่คนที่ login comment พวกอีแอบจะได้ไม่เข้ามาโชว์โง่กวนใจแถวนี้ ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นแนวนั้นน่ะไปบอร์ดพันทิพห้องศาสนา เขาด่ากันแรงดี ไม่อยากลดตัวไปอธิบายกับคนที่สมองคิดได้แค่นั้น เสียเวลา

รต.วุฒิชัย: ถ้าคิดก่อนรอบด้านที่จะทำทุกเรื่องคงดีค่ะ โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนของเด็กๆ ที่มาจากสถานภาพแตกต่าง สังคม วัฒนธรรม ศาสนาที่ต่างกัน พวกนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนที่จะบรรจุเข้าไปเป็นหลักสูตร อันที่จริงถ้าแก้ไขง่ายเลยก็พึ่งนึกได้ค่ะ แค่ปล.ต่อท้ายบทเรียนว่าครูผู้สอนกรุณาพิจารณาเนื้อหาตามความเหมาะสมกับท้องถิ่นและศาสนาของนักเรียนในชั้น อันนี้ก็อาจจะฉุดให้ครูคิดว่าเออ...ประยุกต์ได้ ถ้ามันจะนำไปซึ่งความขัดแย้งหรือก่อปัญหา

ไม่มีใครอยากตีกับใครหรอกค่ะ เรื่องศาสนานี่มันควรจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่แต่ละคนสามารถที่จะเลือกได้ ถ้าบรรจุเฉพาะองค์ความรู้เพื่อให้รู้จักกัน ให้รู้ข้อดีแต่ละฝ่ายนั้นสมควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะได้ความรู้ที่กว้างขึ้น เปิดโลกทัศน์ของเด็ก แต่ต้องไปเห็นหนังสือหลักสูตรด้วยตนเองค่ะ แล้วจะรู้ว่าคนเขียนพยายามยัดเยียดศาสนาตัวเองให้ทุกคนรับไป ไม่ว่าจะแตกต่างกันหรือไม่ คุณมีหน้าที่ศึกษาเพราะเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องรู้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญาคืออะไร ศีลห้ามีกี่ข้ออะไรบ้าง สังคหวัตถุ 4 ฯลฯ พวกนี้น่ะถือว่าเกินพอดีไป ต้องอย่าลืมว่านี่คือวิชาสังคมศึกษาที่เด็กทุกคนต้องเรียน ไม่ใช่วิชาเลือกตามสมัครใจอย่างวิชาศาสนา อันนั้นเขาแยกชัดเจนอยู่แล้วค่ะ ถ้าเป็นวิชานั้นจะสอนลึกแค่ไหนก็ตามสบาย ควรสอนเต็มที่เลย สนับสนุนด้วยซ้ำ ศาสนาทำให้เป็นคนดี ควรเรียนและปลูกฝัง แต่ต้องดูว่าถูกที่ถูกทางมั้ยด้วย

โห พี่นี่ดุจริงจี๊ง

เอ้า...ไปอ่าน http://gotoknow.org/blog/thanapan/190148 ดู ผมก็คิดเหมือนพี่เป๊ะ

(แบบว่า กลัวถูกลบออกน่ะครับ ฮา)

เรียกพี่อีกแล้ว ลุงเนี่ย ทำเนียนนะ ไปอ่านแล้วค่ะ เม้นท์ไว้แล้วพร้อมทิ้งเรื่องขำขันไว้ให้อ่าน เอ่อ ดุไปเหรอเนี่ย นี่เบาแล้วนะ ปกติธรรมชาติยิ่งกว่านี้อีก แต่มีเหตุผลนะ ไม่ได้ด่าใครซี้ซั้วหรอก หลักสูตรแบบนี้มันสุดตรี๋นจริงค่ะ

สวัสดีครับ ซูซาน

         จริงๆ มาอ่านเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่มีใคร comment แต่กลับไปคิดๆ นึกๆ ก่อนว่าจะเขียนในแง่มุมไหนดี เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทีเดียว

         ภาพพระปฐมเจดีย์ที่นำไปฝากไว้งดงามมาก ทั้งองค์เจดีย์ กระเบื้อง และท้องฟ้าสุดสวย พี่เลยขอนำภาพและเรื่องแนวศิลปะมาฝากบ้าง

        พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณครับ (น่าจะเคยไปมาแล้ว) แต่นี่พาย้อนเวลากลับไปชมแนวคิดเริ่มต้นก่อนการถือกำเนิด และระหว่างการถือกำเนิด 

นี่ครับ ภาพจากหนังสือชีวิตและผลงานของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์          

 

 

แล้วก็ท่านโมเสสครับ

เคยอ่านประวัติและชมภาพยนตร์เรื่อง บัญญัติ 10 ประการ แล้วรู้สึกชื่นชมและศรัทธาในวิถีปฏิบัติของโมเสสมากทีเดียวครับ

จากบันทึก : 024 : เจาะลึก พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (1) และตอนต่อๆ มา 

สวัสดีครับ

น่าจะมีการนำเสนอข้อมูลนี้ ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง

สำหรับคุณครูผู้สอนน่าจะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานะการ การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนมากกว่าเครียดกับการเรียน ครับ

อ่านแล้วก็สงสารน้องทีมค่ะ พี่อักษรว่าถึงหลักสูตรเขียนมาแบบนั้น แต่เราคุยกับครูผู้สอนไม่ได้เหรอ....ประเทศเม็กซิโกที่พี่อักษรอยู่เป็นแคทอลิกที่เคร่งครัดมาก แต่ไม่เห็นมีวิชาไหนที่ให้เด็กต้องเรียนเกี่ยวกับศาสนาคริสต์เลย แค่มีอยู่สองครั้งที่จัดให้เด็กไปโบสถ์ เรียกว่าไปretreat ไปทำอะไรก็ไม่รู้ ลูกบอกไม่อยากไป ครูก็ไม่บังคับ แม่ก็เลยให้อยู่บ้านเล่นคอมแทน....

พี่ชิว: แหะๆ ยังไม่เคยไปดูเลยค่ะพิพิธภัณฑ์ที่ว่าเนี่ย แต่สวยนะคะ ถ้าจะทำช้างเอราวัณแบบที่เขียนบรรยายไว้ที่เคยอ่านเจอสงสัยต้องสร้างตัวเท่าขนาดสนามหลวง ขนาดนั้นไม่รู้จะใส่รายละเอียดลงไปครบมั้ย แต่เท่านี้ก็ยิ่งใหญ่แล้วค่ะ

ส่วนโมเสสที่เห็นนี่เหมือนงานสลักดุนเลย สวยไปอีกแบบ ส่วนตัวก็เห็นว่าโมเสสเป็นแบบอย่างที่ดีในบางเรื่อง แต่บางเรื่องก็มีข้อแม้เยอะตามภาษามนุษย์ บิดาแห่งความเชื่อที่จารึกไว้คืออับราฮัมต่างหาก ยอมแม้กระทั่งจะถวายชีวิตลูกตัวเองถ้าพระเจ้าต้องการ ซึ่งหนูคงทำไม่ได้ ถ้าเทียบกันคงเป็นแนวโมเสส คือเชื่อฟัง แต่บางอย่างขอคิดเองตัดสินใจเองบ้างว่ามีเหตุผลมั้ย แบบนี้ทางคริสต์เขาก็ว่ายังไม่ดีไม่สุดใจ สุดกำลัง สุดความคิด แต่ก็ขอเถียง เพราะพระเจ้าสร้างมนุษย์มาตามพระฉายให้มีสมองที่ชาญฉลาดและพระเจ้าก็ไม่ใช่ซาดิสม์ที่ชอบทำให้คนเจ็บปวดซะหน่อย

ถ้ามนุษย์ไม่ลุกขึ้นทำโน่นนี่เองบ้าง รอแต่เสียงจากฟ้าสวรรค์สงสัยจะแย่ เพียงแต่เวลาทำอะไรเราทำด้วยใจถ่อมสุภาพ และฟังถ้ามี sign ก็น่าจะพอได้นิ หนูไม่ใช่พวกสุดโต่งทางศาสนาหรอกพี่ แต่มีจุดยืนของตัวเอง ไม่โอนเอนไปตามคำพูดใครง่ายๆ ไม่งั้นคนนั้นพูดที คนนี้พูดอย่าง วันนึงเราต้องเปลี่ยนกันหลายรอบ
ปล. ถ้าพี่เม้นท์เรื่องนี้เมื่อไหร่จะรีบมาอ่านค่ะ : )

อ.เพชรากร: ก็อยากไปปรึกษาทางโรงเรียนอยู่เหมือนกันว่าทำไงดีที่นักเรียนทุกคนเรียนแล้วจะไม่อึดอัดใจ ไม่เฉพาะแต่น้องทีม โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนคริสต์ด้วยซ้ำ สังกัดสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย แต่ไหงเป็นงี้ก็ไม่รู้ หลักสูตรควรเป็นกลางแล้วให้เด็กมีสิทธิเลือกในส่วนที่เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับศาสนาซึ่งมันเป็นสิทธิส่วนตัวของทุกคน

หลายคนอาจจะชอบมองว่าคนที่นับถือคริสต์ชอบเผยแผ่ศาสนาให้คนอื่น แต่มันคนละประเด็นกับเรื่องนี้เลยค่ะ มันเหมือนคนมาชวนกินข้าว เราจะกินไม่กินก็ได้ บอกปฎิเสธไปเลยตั้งแต่แรกก็ไม่มีใครว่า หรือถ้าสนิทกับคนชวนแล้วเกรงใจก็อาจจะชิมพอเป็นมารยาท แต่ถ้าชิมแล้วชอบใจก็กินได้ไม่มีใครหวงห้าม หรือถ้ารำคาญมากๆ ปฎิเสธไปแล้วยังตื้อไม่เลิกก็ด่าคนชวนได้อีกเช่นกัน

กับอีกแบบคือมีคนที่มีอำนาจมากกว่า เราตกอยู่ใต้อาณัติเขา เขาสั่งให้กินนี่ก็ต้องอ้าปากรับแล้วเคี้ยวเข้าไปทั้งๆ ที่ไม่อยาก ฝืนใจ ไม่ชอบก็ต้องทน การบังคับมันต่างกันกับการชวนมากตรงที่อย่างหนึ่งเราไม่มีสิทธิปฎิเสธ กับอีกอย่างหนึ่งเรามีสิทธิเต็มที่ว่าจะเลือกหรือไม่ก็ได้ หลักสูตรเด็กต้องเรียน ไม่เรียนก็ตก ปากบอกว่าประเทศไทยเสรีในการนับถือศาสนา แต่หลักสูตรการเรียนวิชาหลักของเด็กกลับใส่สาระเนื้อหาศาสนาพุทธเข้าไปให้ท่องจำ ไม่เรียกว่าบังคับก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้วค่ะ นับว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการนับถือศาสนาด้วย

พี่อักษร: ดีจังค่ะพี่ นี่ละความใจกว้างและการไม่รุกล้ำสิทธิของคนอื่น ลูกพี่เป็นพุทธ ไม่เต็มใจไปร่วมงานแบบนั้นก็ควรเลือกได้ ตราบใดที่ภาครัฐเขาไม่ใส่เนื้อหาเชิงลึกเกี่ยวกับศาสนาลงไปในหลักสูตรเพื่อบังคับให้ทุกคนต้องศึกษาหลักธรรมของเขา แต่จัดไว้ให้เลือก แบบนั้นก็น่าสนับสนุนมาก หนูไม่ได้แอนตี้การศึกษาพวกประวัติที่มา หรือรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจของศาสนาพุทธเลย ชอบศึกษาด้วยซ้ำ แต่ตัวใจหลักแก่นของศาสนาต่างหากที่มันขัดกับหลักความเชื่อของศาสนาที่ตัวเองนับถืออยู่ มันทำไม่ได้ ซึ่งการศึกษาสำหรับเด็กไม่ควรบังคับในส่วนเชิงลึกตรงนี้ ควรแยกให้เลือกได้ แต่เรียน preview ทุกศาสนาด้วยนั่นแหล่ะดี มันแค่จุดเดียวเอง แยกส่วนลึกออกจากวิชาที่ทุกคนต้องเรียน นั่นแหล่ะวิธีแก้ปัญหา ต้องให้เด็กสามารถเลือกเรียนส่วนที่ลึกนั้นความสมัครใจและศาสนาของตนเอง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท