วิถีการต่อสู้ของมูเสคี : ยุทธศาสตร์การปรับตัว


ที่ผ่านมาเรามัวแต่หาความเป็นธรรมในสังคม (Social Justice) คงไม่มีจริง แต่ที่ยั่งยืนที่สุดเห็นแต่การพึ่งตนเองของคนท้องถิ่นเท่านั้นถึงจะอยู่รอด จากระบบเหนือชุมชนที่ครอบงำเราตลอดเวลา

"เราพบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชุมชนเหล่านี้คือ ยุทธศาสตร์การปรับตัว"

"ทิศทางการปรับตัวแต่ละหมู่บ้านไม่ควรคิดเหมือนกัน เพราะหมู่บ้านทุกที่ผ่านประสบการณ์หลายแบบต่างกันจริงๆแล้วพื้นฐานของการปรับตัวเบื้องต้นคือ หมู่บ้านควรอยู่ในบริบทสังคมที่ร่มเย็น พึ่งตนเองได้ แล้วไม่ถูกกดดันมาก มีพื้นที่ของการปรึกษาหารือ เพราะบริบททางสังคมกำหนดคน ในขณะเดียวกันคนก็สร้างบริบททางสังคม มันมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน"

ผมอ่านคำสัมภาษณ์ของ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ในวารสารเล่มหนึ่ง ทำให้ผมนึกย้อนไปถึง เวทีระดมความคิด การพัฒนาชุมชนเพื่อกำหนดอนาคตของมูเสคี ที่บ้านวัดจันทร์ (มูเสคี = คนลุ่มน้ำแจ่ม) ทางออกที่เป็นมิติร่วมกันที่เราคุยกันในเวทีก็คือ "ยุทธศาสตร์การปรับตัว"

ปรับตัวเพื่อเรียนรู้กับเงื่อนไขใหม่ๆแรงกระแทกระลอกใหม่ตลอดเวลา

ปรับตัวเพื่ออยู่รอดในวิถีโลกาภิวัฒน์ที่เชี่ยวกราก

 

อ่านเพิ่มเติมที่  มันจะมาแล้ว เอาอะไรกั้นไว้ก็ไม่ไหว : แล้วเราจะรับมืออย่างไร?? คำถามท้าทายคนบ้านวัดจันทร์

จะมีประโยชน์อันใด หากเราจะเลือกวิธีเด็ดขาดมันแทบเป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่ได้ปิดเมือง เรายังต้องรับรู้ข่าวสาร สังคมที่เป็นไปจากระบบที่เหนือชุมชน

ผมให้ข้อคิดเห็นในเวทีว่า "ในชุมชนเรามีอยู่ ๔ ระบบ และ ๓ ใน ๔ ระบบนั้นเป็นสิ่งที่เรากำหนดได้ อีก ๑ ระบบเรากำหนดไม่ได้ หากเราสามารถเรียนรู้เรื่องของเรา สามารถยกระดับพัฒนาทุนที่เป็นของเราได้เเล้ว เป็นการเตรียมความพร้อม เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี"

ระบบใหญ่ๆที่อยู่ในชุมชนทั้ง ๔ ระบบที่ผมกล่าวไป หมายถึง

  • ระบบความรู้
  • ระบบการจัดการทรัพยากร
  • ระบบชุมชน
  • ระบบเหนือชุมชน

ผมมองว่าหากเราเรียนรู้และชัดเจน เราสามารถจัดการได้ (ผมหมายถึงการจัดการความรู้ด้วย)ในต้นทุนที่เรามี ใน ๓ ระบบเเรกแล้วนั้น หมายถึง "เราพร้อม" จากนั้นเราใช้กระบวนการเสริมพลังชุมชน (Empowerment)  เพื่อพัฒนาและยกระดับการจัดการโดยชุมชน โดยมี เครื่องมือและกระบวนการที่ผมได้เรียนรู้ในชุมชนอื่น เช่น การวิจัยโดยมีชุมชนเป็นฐาน,การเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ และกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

กระบวนการเคลื่อนการพัฒนาชุมชนตามบริบทการคิดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นงานวิจัยและพัฒนาที่ใช้วัฒนธรรมชุมชนเป็นฐาน สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นทุกระดับ พร้อมกับมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละช่วงเวลาให้ชัดด้วย

ในส่วนกระบวนการย่อยๆอาจเคลื่อนไปแบบช้าๆ เน้นสร้างคน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ และยกระดับความรู้เดิมไปด้วย

หลังจากที่ผมเปิดเวทีระดมความคิดในกลุ่มแกนนำบ้านวัดจันทร์ในค่ำคืนที่ผ่านมาแล้ว เราได้ข้อสรุปในการนำความคิดที่เราระดมกัน ไปนำเสนอในเวทีใหญ่ ซึ่งเป็นเวทีประชาคมเพื่อพัฒนาโจทย์และเเสวงหาภาคีร่วม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมและพี่เลี้ยงทั้งหมดก็คงต้องคิดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนกับการก้าวไปแต่ละขั้นแต่ละตอน

ผอ.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ ได้พูดคุยกับผมหลังเวทีระดมความคิด ถึงแนวทางที่เราควรจะก้าวต่อ ท่านได้บอกว่า "ควรจะตีเหล็กในขณะที่กำลังร้อน" ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะในเวทีเห็นอารมณ์ เห็นความคิดที่ช่วยกันคิด นั้นเป็นบรรยากาศของความรู้สึกร่วม จุดประกายอารมณ์ ความรู้สึก แรงบันดาลใจของผู้คน (Bonding and collective learning)อย่างเห็นได้ชัด

"พรุ่งนี้ขอช่วยนำเสนอไอเดีย รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนระดมความคิดนี้ ผ่านไปยังเวทีประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ที่เป็นคณะกรรมการพัฒนาโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ด้วยนะครับ"

ผอ.บอกให้ผมในดึกดื่นหลังจากเสร็จเวที ผมตอบรับท่านด้วยความยินดี เพราะตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อความคิด จากเวทีเล็ก ที่รวมแกนนำความคิดเล็กๆสู่ภาคีร่วมที่หลากหลาย ให้เป็น วาระของชุมชน

ในช่วงเช้ามีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ ที่รวมเอาหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่(มหาดไทย เกษตร ศึกษา และ อปท.) เป็นการประชุมประจำเดือนที่จัดขึ้นเป็นประจำของโครงการหลวงที่นี่ ...ส่วนผมเป็นผู้สังเกตการณ์เงียบๆในเวทีประชุม

ในช่วงท้ายการก่อนเลิกการประชุม เป็นช่วงที่ผมมีโอกาสขึ้นไปนำเสนอเรื่องราวการพัฒนาชุมชนโดยใช้การวิจัยท้องถิ่นเข้าไปเป็นเครื่องมือ  แต่ผมไม่ได้นำเสนอโดยตรงว่าเราควรทำอะไร? ทำเพื่ออะไร?และเราจะเดินทางสู่เป้าหมายใด?

ผมเริ่มต้นด้วยสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ปาย รวมถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ท่าทีของประชาสังคมต่อการแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ทางสังคม (Social Event) สุดท้าย มาถึงประเด็น "ปายถึงคราล่มสลาย" จริงหรือ?

ผมเห็นว่าผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจกันมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองปายผ่านการนำเสนอให้เห็นภาพพัฒนาการการก้าวสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยว จากปี ๒๕๓๓ จนถึงปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่สร้างชื่อเสียงและสุดท้ายก็คือ ปัญหาที่หมักหมมยากเกินที่เยียวยา

จากปายสู่วัดจันทร์...ช่วงกลางๆการนำเสนอภาพและสถานการณ์ทั้งหมด ประเด็นการเดินทางของทุนนิยมที่รุนแรงที่กำลังคืบคลานมาที่บ้านวัดจันทร์ ผมทิ้งประเด็นให้ทุกท่านในที่ประชุมได้ตั้งคำถามถึงอนาคต ทางเลือกที่เราต้องทำ...

มีการให้ข้อคิดเห็นกันหลากหลาย และน่าสนใจ

เวทีนำเสนอความคิดผ่านไปแล้วอีกเวที ที่ผมไม่ได้ตั้งตัว หากเเต่เป็นเรื่องยินดีที่บังเอิญ เป็นโอกาสที่ดี

"เราควรจะมีการเปิดเวทีประชมคมเพื่อพูดคุยถึงเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน"  ท่าน ผอ.โรงเรียนบ้านแจ่มหลวง บอกกับผมในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน

หลายท่านได้นั่งหารือถึงเรื่องที่ผมนำเสนอออกไปก่อนช่วงมื้อเที่ยง บ้างก็พูดถึงสิ่งที่ชุมชนทำอยู่ ฐานทุนที่กำลังสะสม รวมไปถึงวิธีการใหม่ๆที่น่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ ที่นี่ยังไม่เกิด

การพายเรือต้านแรงน้ำ แรงลม การประสานสอดคล้อง จังหวะจ้วงพายสำคัญที่สุด

ในการขับเคลื่อนเรือน้อยในนที

------------------- 

ผมถือว่าผมเสร็จภารกิจในเบื้องต้น ผมนึกถึงบรรยากาศในช่วงเวทีแกนนำชุมชนเมื่อคืน ที่ระดมความคิดอย่างเมามัน จนถึงเวทีคณะกรรมการพัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ เช้าวันนี้ ...ผลลัพธ์ที่ได้คือ การสร้างความรู้สึกร่วม ที่ได้ผล

ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ...ที่เราจะก้าวไปเพื่อพัฒนาท้องถิ่นด้วยกัน

ผมเตรียมตัวขึ้นรถเพื่อกลับบ้าน น้องน้ำหวานได้ทักผมว่า "ดูพี่เอกน่าตาครุ่นคิด สงสัยว่ามีการบ้านที่หนักอึ้งในใจแน่ๆเลย" เธอกระเซ้าผมพร้อมหัวเราะเบาๆ

น้ำหวานก็มีส่วนพูดถูกบ้าง เพราะในหัวผมตอนนี้กำลังคิดไปถึงเวทีใหญ่ที่เป็นเวทีประชาคม คิดไปถึงกระบวนการต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับสถานการณ์ที่เราจุดประกายนี้ไว้ โดยไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป ที่ผ่านมาเรามัวแต่หาความเป็นธรรมในสังคม (Social Justice)  คงไม่มีอยู่จริง แต่ที่ยั่งยืนที่สุด เราสามารถสร้างให้เกิดได้ก็เห็นแต่การพึ่งตนเองของคนท้องถิ่นเท่านั้นถึงจะอยู่รอดจากระบบเหนือชุมชนที่ครอบงำเราตลอดเวลา

 

 

ขอคารวะจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องปกาเกอญอแห่ง "มูเสคี"

 

"...ผืนแผ่นดินแคบลงมวลมนุษย์เพิ่มขึ้น
สีดำทะมื่นรวมตัวสีขาวสลาย
ฉันใดก็ฉันนั้น นกเขาขันบนกิ่งไม้
เงินเต็มกระบุง ข้าวไม่เต็มกระบุง
เพราะคนกินข้าวไม่เห็นต้นข้าว
เพราะคนดื่มน้ำไม่เห็นต้นน้ำ
ลูกฉันจะกินอย่างไร เหลนฉันจะอยู่อย่างไร
เมื่อลูกสาวถักทอไม่เป็น ลูกชายจักสานไม่เป็น..."

----------------------------------

บทเพลง ทา ของ ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

 

 

หมายเลขบันทึก: 165757เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีครับ คุณเอก

  • ผมไม่รู้ว่าจะให้ความเห็นอะไร
  • แต่มีความรู้สึกและมองเห็นความใส่ใจของคนทำงานชุมชน
  • การสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนให้ดูแลตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
  • ต้องแจ้งให้ทราบว่า อย่าไปหวังพึ่งพา "ประชานิยม" จากการหาเสียงของรัฐและนักการเมืองดีที่สุด
  • วัฒนธรรมที่ดีและเหมาะสม ขึ้นอยู่กับ ชุมชนนั้น ๆ จะดูแลตัวเอง ให้เดินไปตามวิถีของชุมชน
  • อย่าให้ใครมาสวาปามของทรัพยากรของตัวเองที่มีอยู่ เหมือน "ปาย" ที่กำลังเผชิญกระแสเหล่านี้
  • นี่ไม่ทราบจะพูดอะไรจริง ๆ นะครับ
  • ให้กำลังใจนะครับ

บุญรักษา ครับ :)

ผมว่า...

การประเมินความแรงและขนาดของกระแสน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญมากนะครับ...

เพราะแม้ว่าฝีพายเราจะมีพละกำลังและความสามัคคีกันมากเพียงใด แต่ถ้าขนาดเรือเราเล็กเกินไป ก็ไม่อาจทานกระแสความเชี่ยวกรากของน้ำได้รับ....

เป็นกำลังใจให้คนทำงานและคนในชุมชนให้เข้มแข็งพอที่จะต้านกระแสน้ำได้นะครับ...

ขอบคุณครับ...

คุณเอก เคยได้ยินไหมค่ะ พูดที่ว่าขอให้เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่

รถม้าลำปาง ขุนนางเชียงใหม่ ครูใหญ่แม่ฮ่องสอน

ตอนนี้คุรเอก ถ้าจะได้ทั้งสามอย่างครบเลยค่ะ

เป็นกำลังใจให้ ทำงานด้วยความสุข อย่าหวังอะไรมากนะค่ะ

หวังมากทุกข์มาก เสียสุขภาพจิต และอาจทำให้ท่าใบหน้าท่านดูสูงอายุนะค่ะ  อิอิ

ขออภัย อิอิ

พิมพ์ผิดเยอะเลย 

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ผมเริ่มต้นด้วยความหนักหน่วงของบันทึกตั้งแต่มันจะมาแล้ว เอาอะไรกั้นไว้ก็ไม่ไหว : แล้วเราจะรับมืออย่างไร?? คำถามท้าทายคนบ้านวัดจันทร์    แล้ว และบันทึกนี้ยังเข้มขึ้นอีกบ้าง ช่างขัดกับบันทึกประชานิยมใน Gotoknow จริงๆ แต่มีเสียงเพลงมาประกอบบ้างเพื่อให้ได้อรรถรสในการอ่าน

ดีใจครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นท่านแรก...

ผมคาดหวังในการเขียนเหมือนกันครับ อยากให้เป็นพื้นที่ที่แลกเปลี่ยน มุมมองการพัฒนาในแต่ละท่านที่มีประสบกาณ์แตกต่างจากผม

กระบวนการที่สำคัญ อาจเป็นเรื่อง การสร้างจุดร่วม โดยใช้อารมณ์ร่วม สร้างบรรยากาศของการคิด การระดมความคิด หากสำเร็จเราก็จะได้รูปแบบการเคลื่อนเริ่มแรก

เราพูดกันในเวทีเช่นกันครับ ว่าอย่าฝากความหวังกับใครๆเลย...เพราะนอกจากไม่ได้ตามหวังแล้ว เรายังสุ่มเสี่ยงถูกหลอกอีก (ผมมองแง่ลบมากไปหรือเปล่า)  แต่ก็จริงครับ การทุจริตทางนโยบาย ตามน้ำ หรือ วิธีการใดก็แล้วแต่ที่ผู้มีอำนาจทำย่ำยีประเทศ เราล้วนได้รับผลลัพธ์ถ้วนหน้ากัน

เราต้องสะกดคำว่า "พอเพียง" เสมอๆ ในขณะที่หลายๆคนสวาปามทุนที่เรามีอยู่แบบไม่รู้จักอิ่ม รู้จักพอ

เราต้องพึ่งตัวเองเสมอ เพื่อป้องกันตัวเอง เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น้ำมันรถแพงกว่าสามสิบบาท น้ำมันพืชก็ปาเข้าไปครึ่งร้อย...เราจะทำยังไงครับ หากเรายังพึ่งพาข้างนอกตลอดเวลา...

เราจะตายครับ

เขียนไปเขียนมารู้สึกจะเข้มข้นไปเรื่อยๆ เอาเป็นว่า ผมขอบคุณท่าน อ.   Wasawat Deemarn มากครับ ข้อเสนอแนะแบบจริงใจของท่านทำให้ผมมีความสุขครับที่ได้อ่าน

ขอบคุณครับ

:)

 

  • ไม่แน่ใจว่า กรณีนี้ ดูเหมือนจะคล้ายๆ กับการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนผ่าน และปรับกระบวนการมีส่วนร่วมของจังหวัดสมุทรสงคราม บังเอิญได้ไปจัดฝึกอบรม งานที่นั่น เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นกรณีที่น่าสนใจ และเอาแบบอย่างค่ะ
  • เป็นจังหวัดเล็ก ที่ทุกคนรู้จักว่า "ดอนหอยหลอด"
  • เราคณะผู้จัดอบรมฯ ได้รับเกียรติจากท่าน นายกเทศฯ เป็นวิทยากรบรรยาย เมือง "ดอนหอยหลอด" ท่านใช้วิกฤติ ให้เป็นโอกาส และเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไม่น่าสนใจค่ะ
  • ลองไปดูยุทธศาสตร์ของดอนหอยหลอด น่าสนใจไม่น้อย ที่เขาใช้กลยุทธ คนในชุมชนมีส่วนร่วมโดยแท้
  • ขอบคุณค่ะ

ดิเรกครับ

ขอบคุณมากครับ ผมตามไปอ่านบันทึก "ท่าตอน"แล้ว ดีมากเลยครับ ภาพสวย ได้บรรยากาศ ชวนให้คิดถึงอดีต

ผมเปรียบการพัฒนาบางครั้งก็เหมือนการพายเรือ ซึ่งคนอยู่บนเรือจำเป็นต้องจ้วงพายในจังหวะที่เหมาะสมสอดคล้อง

รวมถึงที่เพื่อนได้เขียนมาด้วยครับ

"...การประเมินความแรงและขนาดของกระแสน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญมากนะครับ...

เพราะแม้ว่าฝีพายเราจะมีพละกำลังและความสามัคคีกันมากเพียงใด แต่ถ้าขนาดเรือเราเล็กเกินไป ก็ไม่อาจทานกระแสความเชี่ยวกรากของน้ำได้ครับ...."

ครูเอ 
ครับ

แสดงว่า กระผมตกที่นั่งลำบากกระนั้นหรือ?

ไม่เป็นไรครับ สนามรบสร้างวีรบุรุษครับ หากผมตกระกำลำบากวันนี้ วันหน้าผมต้องเป็นผู้ที่สบายๆใช่มั้ยครับ :)

ช่างคิดกันจังครับ อ่านแล้วก็ขำๆนะครับ

"รถม้าลำปาง ขุนนางเชียงใหม่ ครูใหญ่แม่ฮ่องสอน" ล้วนไม่มีใครอยากเป็น

เรื่อง "หน้าแก่"นั้นเห็นท่าจะยาก

ตอนที่ไป ม.แม่ฟ้าหลวง นศ.ต่างชาติท่านหนึ่ง พอทราบอายุผมเธอร้องอุทานจนผมตกใจ เธอบอกว่า "Look so young"  อิอิ 

แบบนี้พอไหวมั้ยละครับ ;)

มาให้กำลังใจในการทำงาน

เราเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง

ถ้าจะให้ดี   เราจะต้องช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ให้สำเร็จค่ะ

สวัสดีครับ คุณบัวปริ่มน้ำ

ผมพอทราบมาบ้างกรณีที่ "ดอนหอยหลอด" มีน้องคนหนึ่งเป็นผู้ประสานงาน Node สกว.ตรงนั้นครับ ได้แลกเปลี่ยนกันในบริบทตรงนั้นส่วนหนึ่ง

น่าสนใจมากครับ ผมจะไปหาข้อมูลเพื่อเพิ่มเติมความรู้

ขอบคุณมากครับผม

สวัสดีครับพี่อุบล จ๋วงพานิช

ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจนะครับ

ผมเป็นเพียงผู้ที่เข้าไปช่วยในกระบวนการคิดช่วงเริ่มต้นครับ และ จากนั้นเป็นการดำเนินการของคนท้องถิ่นที่นั่น ว่าจะคิดต่อในประเด็นใด ก็ช่วยได้ตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ครับ

เป็นเพียงหนึ่ง jigsaw ครับผม...

  • "ระบบ" "ความรู้" "ขับเคลื่อน" "ทิศทาง" "การมีส่วนร่วม"
  • สำคัญจริงๆ ครับ ถ้าสิ่งดังกล่าวชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการกำหนดด้วยความเข้าใจที่มีมากกว่าส่วนกลาง
  • ไม่ได้มาอ่านบันทึกพี่ซะนาน หวังว่าพี่คงสบายดีนะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับน้องปืน บีเวอร์

ปืนสบายดีนะครับ ผมก็สบายดี งานก็ยังคงสม่ำเสมอ พัฒนาตัวเองเรื่อยๆตามเส้นทางครับ

เรื่องของท้องถิ่นคนกำหนดวิถีต้องคนท้องถิ่นเองครับ

ผมกำลังจะเดินทางไปทำกระบวนการที่โครงการหลวงดอยวาวี หากอยู่ใกล้จะชวนปืนไปด้วย

ขอบคุณมากครับ

 

การขับเคลื่อนของสิ่งมีชีวิตบนโลกไม่มีวันหยุดนิ่ง บ้างก็คิดทำลาย บ้างก็คิดบำรุงรักษา เหมือนธรรมชาติเสริมสร้างให้เกิดความสมดุจ แต่รู้สึกว่าธรรมชาติถูกรบกวนเสียจนเกินกว่าจะต้านทานได้ กลับมาทบทวนตัวเราบ้างก็ดีนะ มนุษย์ห่วงโซอาหารเส้นสุดท้าย

ขอบคุณ  Dekdoi ที่มาร่วมคารวะจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของ "มูเสคี"

ตะบรึ  ครับ พะตี่แอะพอ

เจอกันที่ประชุม สกว.เชียงใหม่ ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๒๓ ครับผม

ผมได้อ่านบทความข้างบนแต่ยังอ่านไม่หมดแต่ดีใจที่ยังมีผู้ที่คิดคล้ายกันซึ่งค่อนข้างจะหาคนที่กล้าคิดและแสดงออกอย่างนี้ไม่มากอาจจะติดกระแสสังคมอยู่แต่ก็ไม่เป็นไร ผมมีความไฝ่ฝันที่จะไปที่ดินแดนแห่งนี้มานานพึ่งจะมีโอกาศไปเมื่อ 23-24 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมาประทับใจ สมกับที่มีความตั้งใจอยากจะไป ไปเกือบ 20 คน ผ่านไปเกือบปีเจอกันเมื่อไหร่ก็ยังคุยเรื่องแจ่มหลวงวัดจันทร์อย่างสนุกสนานและประทับใจ

พรสิทธิ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท