เตรียมงานประณีต สู่ "เวทีการพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์"


กลุ่มที่เราจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้เป็นคุณครู ดังนั้น การบ่มเพาะในวิชาชีพ (Professional socialization) มีส่วนผลักดันทำให้ครูพัฒนาตนเองทั้งถายนอกและภายในอย่างไร? ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

 

ก่อนที่เราทางทีมงาน  Facilitator  จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้สู่การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ ครั้งที่ ๒ เพื่อถอดบทเรียนในกลุ่มครูที่มีทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และ ครูปฏิบัติการที่ถูกคัดเลือกมาจากการค้นหาก่อนหน้านี้แล้ว เวทีที่เราเตรียมความพร้อมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ หลังจากที่ครั้งที่หนึ่งผ่านไปแล้ว โดยในครั้งที่ ๑ นั้นเราเน้นถอดบทเรียน “กระบวนการเรียนการสอนที่นำไปสู่การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์” เพื่อเรียนรู้ว่าคุณครูที่เราเชิญท่านมานั้น มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างไร ? และวิธีคิด สู่วิถีปฏิบัตินั้น  เป็นอย่างไร?

 

เนื้อหาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เน้น การแลกเปลี่ยนเชิงลึกผ่าน ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จริงแท้(Authentic Learning experience)  ลงสู่กระบวนการเรียนการสอน มุ่งให้เด็กนักเรียน “สุข ดี และ เก่ง” ในส่วนของผู้สอนเองก็มีความสุขด้วย ในกระบวนการเหล่านั้นนอกจากสร้างมิติการพัฒนาด้านนอกแล้ว ด้านใน มีการพัฒนาจากข้างในอย่างไร?

 

ทั้งหมดเป็นโจทย์ใหญ่ที่เรากำหนดเป้าหมายไว้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เวทีแรกเป็นเวลา ๒ วัน เราก็พอเห็นกระบวนการ แต่ก็ไม่ทั้งหมด และเมื่อสังเคราะห์จากรายงานการเดินทางไปเก็บข้อมูลโรงเรียนเพื่อคัดเลือกเราก็เห็นภาพชัดมากขึ้น

 

มาถึงเวทีที่สอง ที่จะมีขึ้นอีกไม่กี่วันนี้ ทางทีม Facilitator ก็ได้วางแผนเวทีอย่างประณีต ที่ผมเรียกว่าประณีตหมายถึงว่าเราได้แลกเปลี่ยนประเด็นการแลกเปลี่ยนในเวทีที่ ๒ โดยการสะท้อนประเด็นกันไปมา ผ่านอีเมล ผ่านโทรศัพท์  ทำให้ประเด็นที่เราจะวางโครงสร้างคำถาม ในเวทีที่ ๒ นั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

ผมเพิ่งได้รับอีเมลจากคุณนพรัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานถอดบทเรียนครั้งนี้ เขียนสะท้อนกรอบแนวคิดที่ผมหว่านไปครั้งแรกเพื่อให้ทุกท่านในทีมได้สะท้อน อีเมลที่คุณนพรัตน์เขียนมานั้น น่าสนใจมากครับ ผมคิดว่า ความเห็นที่เป็นข้อสงสัยของคุณนพรัตน์ ทำให้ผมต่อยอดความคิดได้ลุ่มลึกมากขึ้น

 

ผมขอยกบางส่วนของอีเมลแลกเปลี่ยนของคุณนพรัตน์ แบบตัดตอนมาเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนตั้งต้น สำหรับการ BAR.ของทีมถอดบทเรียน ดังนี้ครับ


สวัสดีครับ… 

เห็นพี่กิ่งเล่าให้ฟังว่า คุณเอกอยากได้ความคิดเห็นที่มีต่อกิจกรรมในครั้งที่สองนี้ เท่าที่ผมดูกิจกรรมที่ทางทีมได้เตรียมไว้ก่อนก็เห็นด้วยในภาพรวมนะครับ แต่สำหรับในรายละเอียดของกิจกรรมนั้น ผมยังนึกภาพการดำเนินกิจกรรมไม่ค่อยออกเลยขอปรึกษา และถามไถ่ไปในตัวนะครับ

 เท่าที่ผมดูนั้น กิจกรรมหลักที่เป็นหัวใจของกระบวนการในครั้งนี้ก็คือ กิจกรรมที่ทางทีมเรียกว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องเล่า "การบริหารจัดการนำไปสู่การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์"

 ตรงกิจกรรมนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ในรายละเอียดของการดำเนินกิจกรรมนั้น Fa หลัก (คุณเอก กับพี่กิ่ง)จะอาศัยโครง หรือประเด็นใดบ้าง สำหรับเป็นหางเสือในการประคับประคองทิศทางการสนทนาให้ไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้

 และเมื่อพูดถึงเป้าหมาย ผมจึงอยากทราบ เจตนารมย์ของทางทีม หรือของทางมูลนิธิ ฯ ด้วยเช่นกันว่า จริงๆ แล้ว เราอยากให้บรรดา Best Practice เหล่านั้นเปิดเผยสิ่งใดต่อพวกเรา

 ในตอนนี้เอง ผมมองว่า มันมีหลายบริบท ที่เราสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการดำเนินการเสวนาได้

 เช่น หากเรามองว่า คนกลุ่มนี้ คือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลสำเร็จได้มันก็น่าสนใจที่เราจะเข้าไปดูว่า บุคลิกลักษณะ (อาจลงลึกถึงคุณค่า ความเชื่อ) ของผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นอย่างไรและพวกเขามีวิธีบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ(ตรงนี้ขอออกตัวว่า ผมก็ยังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดของเรื่อง Change Management สักเท่าไหร่)แต่ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่า ในกลุ่มคนบางประเภท เช่น ผู้บริหารการศึกษา หรือหน่วยงานกลาง มักจะชอบหากเราพูดในบริบทนี้ 

 ส่วนในอีกบริบทหนึ่ง ที่ดูน่าสนใจมาก ก็น่าจะเป็นเรื่องทางจิตตปัญญา สำหรับเรื่องนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณเอก และพี่กิ่ง ที่ได้แนะนำหนังสือของคุณหมอธนา พร้อมกับนำมาเสิร์ฟถึงที่

 ผมคิดว่าหากมองในบริบทของจิตตปัญญาศึกษาแล้ว ท่านเหล่านี้ คือ "กระบวนกร" ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงตัวจริง   ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ท่านเหล่านี้ มีวิธีสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

 ซึ่งที่น่าสนใจนั้น ผมมองว่า มี ๔ ประเด็นใหญ่คือ

 ขอบคุณครับ
  • จุดเปลี่ยน หรือแรงบันดาลใจในชีวิต ที่ทำให้ท่านเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง  (ผมมองว่า ผู้นำต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน)
  • การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่กระบวนการเปลียนแปลงของผู้ใต้บังคับบัญชา
  • การบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ ลงสู่กิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน
  • บทบาทของการเป็นตัวแบบทางวัฒนธรรม (Role Model)
 
ตอนนี้ เท่าที่ผมพอจะให้ความเห็นได้ก็มีเพียงเท่านี้แหละครับเดี๋ยวคงต้องขอเวลาไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะไปคุยกันอีกทีในวันอาทิตย์นี้ผมคงจะตามไปสมทบตอนประมาณ ๖ โมงเย็นนะครับ
  •  
     ...

ผมขอต่อยอดความคิดของคุณนพรัตน์ และขยายความเพื่อให้ชัดเจน นำไปสู่การคิดกรอบการทำงาน รวมถึง กรอบคำถามหลัก ที่เราจะใช้ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ (เวทีที่ ๒ เราเน้นประเด็น “การบริหารจัดการ” ) ดังนั้นบริบทจึงโฟกัสมาที่การบริหารจัดการ ซึ่งส่วนตัวผมมองในสามระดับ คือ

 

  • การบริหารจัดการตัวเอง
  • การบริหารจัดการผู้อื่น
  • และการบริหารสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการพัฒนาคน
ทั้งสามระดับเป็นประเด็นย่อยที่เราต้องสร้างชุดคำถามสำหรับวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

ขอย้อนไปถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก่อน วัตถุประสงค์ หรือ ที่คุณนพรัตน์ เขียนว่า “เจตนารมย์” นั้นเรา อยากสังเคราะห์องค์ความรู้ ๒ ด้าน ก็คือ  การบริหารจัดการ และวิธีการจัดเรียนการสอน รวมไปถึงปัจจัยที่ทำให้เกิด การพัฒนาไปสู่มนุษย์ที่สมบูรณ์ของกลุ่มคุณครู(กลุ่มเป้าหมายที่มี ๘ โรงเรียน ๑๖ คน แยกเป็นผู้บริหาร ๘ ท่าน ครูปฏิบัติการ ๖ ท่าน)

 

กระบวนการที่เราใช้ก็คือ  กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อถอดบทเรียนในระดับลึก และอาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับ “สุนทรียสนทนา” ด้วย  ตรงนี้เองที่เราต้องคิดชุดคำถาม รวมไปถึงกระบวนการที่คมชัด ในเวลา ๒ วัน ต่อการจัดเวทีแลกเปลี่ยน ๑ ครั้ง

 

ผมคิดตามเรื่องของ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่คุณนพรัตน์เขียนตรงนี้ใช่เลยครับ เพราะเรา ถอดบทเรียนจากปัจเจกที่เป็น key person ดังนั้นองค์ความรู้ก็จะออกมาผ่านกระบวนทัศน์ของแต่ละท่านโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ละเอียด เราจะเห็นพัฒนาทางจิตวิญญาณผ่านเรื่องเล่า และนำมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ ซึ่งเป็น out put ท้ายสุด

 

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า เรามองกรอบที่ตรงกันดังนี้ครับ
  • ประเด็น การจัดการความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างพลัง มี ประเด็นย่อย ก็คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้ร่วมงาน และ การบูรณาการความรู้ สู่กิจกรรมการเรียนการสอนให้กับนักเรียน
  • ประเด็นที่ละเอียดที่เราอาจสังเคราะห์โดยประมวลจากเรื่องเล่า จึงจะเห็น คือ “จุดเปลียนหรือแรงบันดาลใจ”  
  • ประเด็น การเป็นตัวต้นแบบทางวัฒนธรรม (Role Model)
ในส่วนของเนื้อหาที่เป็นรายละเอียดของชุดคำถาม ผมคิดว่า สิ่งที่เราต้องถาม เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ก็คือ “ระบบคุณค่าใด ที่ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์?” ผมเรียบเรียงมาดังนี้ครับ

 

  • การยอมรับทัศนะที่แตกต่าง (Divergent views)???
  • การยอมรับคุณค่าระหว่างกัน(Human appreciation)
  • คุณค่าที่เอื้อให้มนุษย์ทำงานร่วมกันทำงานแล้วเกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน จะก่อให้เกิดศักยภาพทางสังคมได้ (Social capacity)
  • คุณค่าที่สามารถสร้างพลังให้สมาชิกมีสำนึกในทิศทางร่วม (Sense of Direction)
  • การใช้ศิลปะในการบริหารจูงใจ (Motivation)
  • และเงื่อนไขปัจจัยอะไร ? ที่ทำให้คุณค่า สิ่งดีๆ ผุดบังเกิด (Emerge) เกิดขึ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขอะไร วิธีคิดแบบใด ? รวมถึงกระบวนการเรียนรู้แบบไหน?
 
เพราะกลุ่มที่เราจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้เป็นคุณครู ดังนั้น การบ่มเพาะในวิชาชีพ (Professional socialization) มีส่วนผลักดันทำให้ครูพัฒนาตนเองทั้งถายนอกและภายในอย่างไร? ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

 

ทั้งหมดเป็นโครงสร้างเชิงประเด็นโดยภาพรวม ที่เราอาจต้องช่วยกันคิดคำถามที่เร้าใจ คำถามที่ท้าทาย สำหรับใช้ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และ เป็นเทคนิคของ Facilitator ที่ต้องใช้พลัง ไหวพริบ ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้

 

ขอบคุณคุณนพรัตน์ ที่ตั้งคำถามชวนให้คิดต่อ รวมถึงช่วยกันพัฒนากรอบความคิด ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการค้นหา Best practice ในวงเรียนรู้นี้ งานนี้เป็นงานที่ละเอียด ที่เราทีมงานจะต้องใคร่ครวญ คิดประณีตกันสักหน่อย แต่เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการถอดบทเรียนและให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยน ...

 

ผมก็คิดว่า ทั้งหมดคือการเรียนรู้ของทีมทำงานด้วยเช่นกัน
 

 

รักและศรัทธาทีมงานครับ
จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
ศาลายา,มหิดล
๒๕ กย.๕๒

 

*** เพิ่มเติม วันที่ ๒๖ กย.๕๒

เอกสาร สรุป การ BAR. เวที ๒ ของทีมงาน Facilitator

เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จิตปัญญาในวงการการศึกษา



ดาวน์โหลด

 

 

หมายเลขบันทึก: 300874เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (58)

แวะมาเติมกำลังใจให้ค่ะ ^^

ขอบคุณครับ ผมส่งผลกำลังใจนี้ให้ทีมงานของผมด้วยเลยนะครับ :)

น้องเอก สวัสดีครับ

        ไม่แน่ใจว่าจะนำ ศิลปะการพับกระดาษ (origami) ไปใช้ในกิจกรรมนี้หรือเปล่า แต่นำข้อมูลที่อาจใช้ได้มาฝากไว้ตรงนี้ก็แล้วกัน

        เว็บพอร์ทัลที่ค้นง่าย : 

                   http://portal.in.th/origami   

        แล้วเข้าไปที่ แบบพับที่คุณอาจสนใจครับ

        แบบพับที่ค่อนข้างง่าย แต่สวยงาม & น่าสนใจ เช่น

 

   ผีเสื้อปีกโค้ง แบบพับผีเสื้อ (pdf)

  หัวใจติดปีก (แบบนี้ อ.ขจิต พับเก่ง ;-))

 

  สตรอว์เบอร์รี

   

  ปลาทองคลาสสิค

 

                 ลองดูนะครับ....สู้ๆๆ...ถ้าติดปัญหาอะไร ก็แวะมาถามได้เลยที่บล็อกพับกระดาษ http://gotoknow.org/blog/origami

หรือที่ [email protected] ก็ได้ 

                 เผื่อมีอะไรที่พี่ช่วยได้บ้างครับ ^__^

 

พี่ชิว

ประณีต กับ ปราณีต นั้นต่างกันไหมคะ ใช้ในโอกาสใดบ้าง อิอิ

บันทึก "ลึก" ตาม "เจตนารมณ์" ครับ ;)

สวัสดีค่ะ

  • ตื่นแต่เช้า...เตรียมตัวไปเที่ยว...เมืองเลยค่ะ
  • ไม่ทราบว่าจะได้ภาพสวยๆ ไหมนะ
  • เอากล้องตัวเล็กไปค่ะ
จาก:  Noppharat Ratanapongphasuk
ส่งเมื่อ: 26 กันยายน 2552 4:51:32
ถึง:

jatuporn visitchotiounggoon

สวัสดีครับ
 
รสชาดของการทำ "กัลยาณมิตรสนทนา" ผ่าน Email นั้น ก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบนะครับ
ขอบคุณคุณเอก สำหรับการนิยามความหมายใหม่ๆ ของ Dialogue ผมชอบมากครับ เห็นภาพและสัมผัสได้จริงๆ
---
คุณเอกคิดต่อยอดได้อย่างประณีตมากครับ ตอนนี้ ดูเหมือนว่าเราจะได้กรอบที่ค่อนข้างชัดพอสมควรสำหรับการเดินเรื่องในวงกัลยาณมิตรสนทนาของกลุ่มผู้นำ
 
แต่สำหรับ ในอีกวงสนทนาหนึ่งนั้น ผมไม่แน่ใจนักว่าเราจะสามารถใช้ชุดคำถาม
เดียวกันได้หรือไม่ ?
 
ตอนนี้ที่ผมคิดก็คือ  อาจจะได้หรือไม่ได้  
 
ส่วนที่คิดว่าได้ก็คือ หากมองในบทบาทของผู้นำแล้ว 
ครูน้อย ครูปฏิบัติการ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำของนักเรียน
ซึ่งก็ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่เด็กนักเรียน
 
ส่วนที่คิดว่าไม่ได้ ก็คือบริบทของการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น
อาจจะแตกต่างกัน
 
ผมมองว่า ระบบการพัฒนาทางการศึกษานั้นเป็นระบบที่ซับซ้อน
เสมือนมี 2 บริบทที่ซ้อนกันอยู่ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ
 
1.บริบทของการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกลุ่มครู (บทบาทของ ผอ.)
2.บริบทของการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับนักเรียน (บทบาทของครูน้อย)
 
ในกรอบแนวคิดของกระบวนการ Change Management นั้น
ผมมักจะได้ยินคำพูดอยู่ 2 คำ ก็คือ Champion กับ Change Agent
แต่เดิมนั้น แม้ผมจะได้ยินอยู่บ่อย แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจนักหรอกครับ
แต่หลังจากอ่านเรื่องราวของโรงเรียนต่างๆ ที่คุณเอกส่งมาให้
ก็ทำให้ทึกทักไปเองว่า กระบวนการ Change Management
ที่ตะวันตกชอบพูดถึง และหลายๆ คน ก็นิยมชมชอบ
(รวมทั้งผมด้วยหรือเปล่า ไม่แน่ใจนัก)
ทั้งหมดนี้ มีให้เห็น และปรากฏชัดมากๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนต่างๆ
 
ตรงนี้ ผมคงต้องขออนุญาตไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน
แล้วอาจจะไปแลกเปลี่ยนกันอีกทีในวันอาทิตย์นี้
 
ส่วนอีกประเด็นที่อยู่ในใจผมมานานนั้น คือเรื่องของการถอดความรู้
จาก Best Practice
 
ผมมีความเชื่อส่วนตัวนะครับว่า
สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราสัมผัส จากภาพของ Best Practice นั้น
เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่โผล่มาให้เห็นเพียงส่วนเสี้ยว
ผมเชื่อว่า ยังมีความล้มเหลวอีกมากมายที่เป็นฐานของการเรียนรู้
ผมเชื่อในปรัชญาที่ว่า
คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ทำผิดมากกว่าคนอื่น
ซึ่งคนที่จะทำผิดมากกว่าคนอื่นนั้นก็จะต้องลองทำอะไรๆ มากกว่าคนอื่นๆ ด้วย
 
มันดูน่าสนใจไม่น้อยนะครับ ที่เราจะได้ทราบว่า
พวกเขาเหล่านั้นมีวิธีจัดการกับปัญหาอุปสรรคอย่างไร
เช่น แรงต้านจากกลุ่มครู หรือแรงต้านจากชุมชน หรือจากนักเรียนเอง เป็นต้น

หากสามารถ ขุดค้นลึกลงไปอีก ถึงคุณค่าที่พวกท่านเหล่านั้นยึดถือ
หรือสิ่งยึดเหนี่ยว หรืออะไรก็ตาม ที่เป็นแหล่งที่มาของพลังงาน
อันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้พวกเท่านเหล่านั้นสามารถยืนหยัดได้
ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ นาๆ  ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์มากเลยครับ
แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นการลงในรายละเอียดจนเกินไปหรือเปล่า
 
เพราะสุดท้ายนั้น ขุดไป ค้นมา มันอาจจะเหลือคำตอบอยู่เพียงเรื่องของ "ใจ"
  • บริหารใจตัวเองอย่างไร
  • บริหารใจผู้อื่นอย่างไร
  • บริหารใจเด็กๆ อย่างไร
  • จะสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ได้อย่างไร และจะถ่ายทอดมันไปได้อย่างไร
 
เกรงแต่ว่า หากไปยุ่งเรื่องของใจมากๆ มันมักจะหนีไปไม่พ้นของหลักศาสนา
หรือปรัชญา ระบบคุณค่าต่างๆ
ซึ่งบางทีผมมองว่า เรื่องที่เป็นนามธรรมมากๆ เหล่านี้
คนที่ยังคิดแยกส่วนแบบฝรั่ง อาจจะไม่ค่อยชอบนัก
เพราะไม่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ยาก
 
แต่ผมก็ยังเชื่อโดยส่วนตัวว่า งานนี้จะมีคุณค่ามหาศาล
หากเราสามารถล้วงเข้าไปถึง นามธรรม ที่เป็นเหตุปรากฏแห่ง รูปธรรม ที่เราสัมผัสได้
 
ขอจบห้วนๆ แค่นี้ก่อนนะครับ
 
เดี๋ยวขอตัวไปปรึกษาพี่กู(เกิ้ล) ก่อน ว่าพอจะช่วยอะไรอีกได้บ้างครับ
 
แล้วคุยกันใหม่ครับ
 
...
จาก:  Noppharat Ratanapongphasuk 
ส่งเมื่อ: 26 กันยายน 2552 5:18:50
ถึง: jatuporn visitchotiounggoon
ลืมอีกเรื่องสำคัญไปนิดครับ พอดีพึ่งวูบขึ้นมา
 
ผมมองว่า กระบวนการ Change Management ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนต่างๆ
จนสำเร็จนั้น มิติทางการพัฒนาบุคคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาครู
ก็น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสู่ความสำเร็จ ซึ่งหากเราสามารถถอดองค์ความรู้
และสามารถบูรณาการ สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ได้
ก็น่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับโครงการ "(สร้าง) ครูเพื่อศิษย์" นะครับ
 
และหากมองในเรื่องของการพัฒนาคน ผมก็เชื่อมั่นว่า
ทุกโรงเรียนที่เลือกมานั้น น่าจะมีบริบทของการใช้เครื่องมือ KM
อยู่ทั้งนั้น  ซึ่งหากเราสามารถ map สิ่งที่โรงเรียนต่างๆใช้อยู่แล้ว
มาเข้ากับกระบวนการ KM  ก็น่าจะทำให้ได้เห็นอะไรๆ ที่ชัดขึ้นนะครับ
 
สั้นๆ แค่นี้ก่อนครับ เพราะเป็นแค่ประกายความคิดที่วูบขึ้นมา
 
...
จาก:  Noppharat Ratanapongphasuk 
ส่งเมื่อ: 26 กันยายน 2552 5:49:50
ถึง:

jatuporn visitchotiounggoon

ขออภัยที่ต้องรบกวนทุกท่านเพิ่มเติมนะครับ
พอดีกำลังเกิดปฏิกริยาลูกโซ่อยู่ภายใน
เลยต้องรีบหยิบฉวยไว้ ก่อนจะลืมเลือนไป
 
ผมย้อนนึกไปถึงกิจกรรมที่ อ.หมอวิจารณ์ เคยไปร่วมและเคยเล่าไว้ใน G2K
ในเรื่อง "ประเทศไทยในฝัน"
ที่มีลักษณะเป็นกิจกรรม ที่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาอาชีพ
มา "ร่วมฝัน" ว่า ประเทศไทยในฝันของแต่ละบุคคลนั้นเป็นอย่างไร
 
ผมอยากเห็น เรื่องคล้ายๆ ทำนองนี้ เกิดในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ้าง
อาจเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่แทรกอยู่ในช่วงใด ช่วงหนึ่ง น่าจะเป็นช่วงท้ายๆ
โดยอาจจะจัดให้อยู่ในกิจกรรมครั้งที่ 3 ของการพบกันก็ได้นะครับ
 
เราน่าจะได้เห็น ภาพอันตระการตา ของ "การศึกษาไทยในฝัน"
จากบรรดา ครูใหญ่ ครูน้อย  ตัวจริงเสียงจริง
ผู้ที่เรียกได้ว่าเป็น "นักปฏิรูปการศึกษา" ของแท้
 
สุดแท้แต่ทีมงานจะพิจารณานะครับ
 
""""
จาก:  jatuporn visitchotiounggoon
ส่งเมื่อ: 26 กันยายน 2552 6:47:41
ถึง: nprat

คุณนพรัตน์ที่นับถือ


การเเลกเปลี่ยนทางปัญญาไม่ถือว่ารบกวน เเต่เป็นความเสียสละที่ควรยกย่องนะครับ
 
ผมเห็นด้วยเลยในทุกประเด็นครับ และเพิ่มเติมให้ลุ่มลึกเข้าไปอีก


เมื่อคืนคิดเรื่อง เกม...

กำลังฝึกพับผีเสื้อ ที่ ดร.ชิว ท่านเขียนไว้ใน Gotoknow เพื่อใช้ในการ meditation ครับ
และ ผมมาสะดุดอยู่หลายประเด็นที่ตนเองเขียนไว้ อาจต้องตีประเด็นให้แตก
ในส่วน วงครูปฏิบัติการก็ประยุกต์ชุดคำถามนี้ เพราะบริบทเดียวกัน การบริหารจัดการที่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเองครับ
 
เห็นด้วยกับอีเมลก่อนหน้าครับ  เรื่อง KM
และมาเรื่อง ฝันอย่างไร เมืองไทยสวยงาม (การศึกษา) เราน่าจะใช้ประเด็นนี้ในการวาดรูปด้วยและแลกเปลี่ยนกัน


ยินดีมากครับ สำหรับความคิดเห็นที่ทำให้เกิดการต่อยอดความคิด
 
เอก

แวะมาเติมกำลังใจให้ในการทำงาน

“กระบวนการเรียนการสอนที่นำไปสู่การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์” ........ เห็นด้วย

สวัสดีครับ พี่ชิว (ดร.ชิว)บัญชา ธนบุญสมบัติ

ผมต้องขอบคุณในความอนุเคราะห์ในครั้งนี้มากๆครับ

เรา(ทีมงาน)ก็ช่วยกันคิดนะครับว่า กิจกรรมใดบ้างที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเวที ลปรร.ได้ฝึกจินตนาการ(ที่คนเราส่วนหนึ่งแห้งเเล้งไป) ผมเห็นกิจกรรมนี้เเล้ว "ปิ้ง" เลยครับ และที่สำคัญกิจกรรมศิลปะการพับกระดาษ (origami)เป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยให้เกิดสมาธิ ระดับขณิกสมาธิได้เลย เป็นการวอร์มอัพสู่ เวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

ตอนนี้ผมโลภไปแล้วนะครับ Download ทุกสิ่งอย่างที่เป็น ศิลปะการพับกระดาษ (origami) ไปศึกษาและไปทดลองพับเองดูครับ ก่อนที่จะเอาการพับกระดาษเข้าไปเป็นหนึ่งในกิจกรรมเตรียมความพร้อม

คิดๆดูเเล้วน่าสนุกนะครับ...

แล้วผมจะนำภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาเล่าให้พี่ชิว และ เพื่อนๆใน gotoknow ได้เรียนรู้ร่วมไปด้วยครับ

ขอบพระคุณอีกครั้งนะครับ..

 

เอก-จตุพร

♥paula ♥ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ครับผม

ต้องขอบคุณพอลล่ามากเลยที่สะกิดเรื่องศัพท์ ทำให้ผมต้องไปเปิดพจนานุกรมเพื่อหาศัพท์ที่ถูกต้อง

ใช่เลยครับ "ปราณีต" เป็นคำที่เขียนผิดครับ เราจะใช้ "ประณีต" ครับ

 

ใช่แล้วครับ อ.Wasawat Deemarn บันทึกนี้เป็นการ BAR. ของทีมงานครับ โดยเนื้อหางานมันก็ต้องละเอียด เเง่มุมที่คุยกันก็ดูลึกๆไปบ้าง

ผมคิดว่าเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจครับ โดยเฉพาะการสื่อสารเปิดที่ Gotoknow เลยมาเขียนเป็นบันทึกเพื่อให้แลกเปลี่ยนกันครับ

:)

ลึกตามเจตนารมย์ คุณนพรัตน์ ใช้ศัพท์ดีครับ

ครูคิม 

ผมฝากความระลึกถึง ท่านเกษตรปรีดา ด้วยนะครับ

ไปเมืองเลย ...อากาศคงดี สดชื่นนะครับ ยังไงก็เก็บรูปมาฝากด้วยครับพี่ครูคิม

เดินทางโดยสวัสดิภาพครับ

 

ขอบคุณท่าน ชีวิตเอกเขนก มากครับ

ให้กำลังตลอดเวลา มีโอกาสเข้ามา กทม. โทรศัพท์บอกผมด้วยครับ :)

P

ได้กำลังใจมากมายเลย รอบหน้าเชิญน้อง กรรณิการ์ วิศิษฏ์โชติอังกูร  มาเเลกเปลี่ยน เห็นบอกทำงานหนัก งานวิจัยหลายชิ้น นำมาเขียนใน gotoknow เผยแพร่ให้สังคมได้เรียนรู้กับน้องบ้างสิครับ :)

  • ชมมากไม่ได้ เดี๋ยวจะหาว่าเข้าข้างกัน ฮ่าๆๆๆ
  • จริง ๆ อยากจะบอกว่าชมไม่ถูกเลยต่างหาก เก่ง ดี สุขกันทุกท่าน
  • ไม่เคยเห็นทีมงานไหมคุณภาพคับแก้วแบบนี้เลย (อดชมกันเองไม่ได้)

สวัสดีครับ อ. Sila Phu-Chaya

บันทึกนี้ถือเป็น BAR.ของทีมงานด้วยครับ พรุ่งนี้ผมจะปริ้นเอ้าท์ ออกไปด้วย ยังไงผมก็ยังคิดว่าต้องมาช่วยกันดูในชุดคำถามให้ง่ายๆ แต่ให้ครอบคลุม

ฝาก อ.ศิลา เรื่องคิดในส่วนของการเตรียมพร้อมกระบวนการในบางช่วงด้วยนะครับ :)

เจอกันครับพรุ่งนี้... :)

จาก:  yuwanuch tinnaluck 
ส่งเมื่อ: 26 กันยายน 2552 10:44:21
ถึง: คุณเอก  คุณซวง
   

สวัสดีค่ะ
 
เวทีครั้งที่สองนี้คงจะมีความเข้มข้น คึกคัก น่าตื่นเต้นมากจากประเด็นและมุมมองต่างๆที่โต้ตอบไปมาที่พี่ได้เห็น ยอดเยี่ยมค่ะ
 
คุณซวงทำหน้าที่อย่างแข็งขันมาก ดีใจที่ได้ร่วมงานกันค่ะ
 
เห็นด้วยค่ะการคิดชุดคำถามของแต่ละวงจะต้องมีความเฉพาะด้วยบริบทและภารกิจหน้างาน (immediate task) ซึ่งมีพื้นที่ หรือ Ba ที่จะต้องร่วมงานกัน เช่น ผู้บริหาร กับ ครูน้อย  ครู กับ นักเรียน และเรายังจะได้เห็นบุคคลเกี่ยวข้องอื่นๆที่จะปรากฏตัวขึ้นจากเรื่องเล่า
 
จากประสบการณ์เห็นตรงกันค่ะว่า ผู้นำนั้นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน พี่ใช้คำว่า initiator และ มันมักเริ่มต้นที่ "ใจ" อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของเราต้องค้นให้พบว่า การเริ่มต้นที่จะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นอะไรเป็นแรงขับดัน หรือ มีแรงบันดาลใจอะไรให้อยู่อย่างเดิมไม่ได้อีกต่อไป (ต้องคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงขาขึ้น-กาย สู่ สมอง คือทำบ่อยๆค่อยๆซึมซับชอบไปเอง กับ ขาล่อง-เกิดภายในจิตใจแล้วนำสู่การกระทำ)
 
แม้ว่าจะมีนโยบาย หรือ มาตรฐานต่างๆที่ถูกสั่งการบังคับให้ทำ แต่ "ท่าที" ของผู้นำนั้นสำคัญมาก กระบวนทัศน์เปลี่ยน วิธีคิดเปลี่ยนจากเดิมๆ นั่นแหละสิ่งต่างๆจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน เพราะมันเหมือนเปลี่ยนในดีเอ็นเอ ไม่ใช่เปลี่ยนหมวก เปลี่ยนเสื้อสามารถของแต่ละบทบาท
 
บริบทของโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยราชการที่จริงหนีไม่พ้นการถูกสั่งให้พัฒนาตามมาตรฐานที่ใช้อย่างเดียวกันหมดทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนแนวเศรษฐกิจพอเพียง การต้องถูกประเมินตามตัวชี้วัดจากส่วนกลาง ฯลฯ เหล่านี้ มันน่าสนใจว่า โรงเรียนรับมืออย่างไร ได้ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวนำพาการก้าวไป หรือเห็นว่าเป็นอุปสรรคเป็นภาระที่มาเพิ่มเพียงใด ในการที่ต้องจัดการกับปัญหาเฉพาะตัวที่แต่ละโรงเรียนมีไม่เหมือนกัน ประเด็นเรื่อง "ใจ" ตรงนี้จะสำคัญมาก
 
พี่คิดว่ามิติ Spiritual ในโครงการนี้เราควรชี้ให้ชัด เพราะแน่ๆอยู่แล้วว่า หากจะเอาเรื่องความสุข มันต้องมีตรงนี้ แม้ว่าอาจเป็นประเด็นเรื่องธรรมะ ศาสนาซึ่งคนสมัยใหม่ที่ชินกับวิธีคิด การศึกษาแบบตะวันตกจะมองข้าม ที่ผ่านๆมาการทำงานวิชาการมักขาดการชี้ให้เห็นจุดสำคัญนี้ เพราะมัวไปยกย่องทฤษฏี อยากพิสูจน์ความเป็นนักวิชาการของตน ทำให้สังคมเกิด Spiritual deficiency เสียหายกันไปทั้งโลก ทุกระบบ
 
สรุปคือ พี่เห็นว่าการถอดบทเรียน (เมื่อเขียนเป็นเล่ม)เราให้ความสำคัญทั้งมิติเชิงวิชาการ ทฤษฎีเป็นกรอบ และเติมมิติ Spiritual ให้มีชีวิตชีวาสะท้อนความเป็นมนุษย์ ที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก มีศักยภาพในตนเองที่จะพัฒนาอย่างมีศักดิ์ศรี มีอิสระพอสมควร และมีความสุขจากสิ่งที่ทำอยู่ (ไม่ใช่แค่ทำงานเพื่อ "ยังชีพ") โครงการ HEC จะเสนอแนวทางให้วงการการศึกษาและสังคมอย่างไร เพื่อนำไปสู่งานที่ใหญ่กว่านี้ คือ โครงการ "ครูเพื่อศิษย์" 
 
เสียดายจังคุณซวงไม่ว่างทานข้าวกลางวันด้วยกัน
 
พี่นุช

สวัสดีครับ

อ่านบันทึกและการแลกเปลี่ยนอย่างตั้งใจ

ทึ่งมากครับ

รู้สึกเป็นเด็กลงไปทันที

ขอเอาบางเรื่องราวในนี้ไปใช้ต่อนะครับ

สวัสดีครับ พี่หนานเกียรติ

ยินดีครับ ที่ผมตัดสินใจเอาการเเลกเปลี่ยนเชิงลึกของทีมงานมา เขียนเป็นบันทึก ก็เพราะเหตุนี้ครับ อยากให้หลายคนได้เรียนรู้ร่วม แต่โดยรวมเนื้อหามันหนักครับ ก็ต้องค่อยๆย่อย ปกติเราคุยกันเพื่อหาเเนวทาง หรือ คิดกรอบอะไรบางอย่างก็ถกกันนาน แต่ด้วยภารกิจของแต่ละท่านก็มี การแลกเปลี่ยนผ่านอีเมล จึงเป็นเวทีเรียนรู้ของเราที่สะดวกที่สุด...

ผมเลยพยายามกลั่นออกมาลงสู่ blog ครับ  เผื่อบางท่านที่สนใจ เอาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ด้วย

ผมโชคดีครับ ที่ได้ทีมงานที่มีความตั้งใจทำงานเพื่อสังคม แบบใช้ "ใจและปัญญา" เคียงข้างไปด้วยกัน

งานแบบนี้เองที่ผมเคยคุยกับพี่หนานเกียรติว่า เป็นงานที่พัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคม เป็นสองวิถีที่ผมได้เรียนรู้และซึมซับ

เราไม่ได้ทำงานเพื่อยังชีพ แต่เราทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่หากเรามองเป้าใหญ่เเบบนี้มันก็อาจทดท้อได้ในระหว่างทาง  ก็เลยหันมามองตนเองก่อน เติมเต็มตัวเองให้เก่งศาสตร์  ชาญชีวิต พัฒนาตัวเองจากข้างใน เป็น Fa ที่ที่อิ่มเต็ม จากข้างใน พร้อมที่จะแบ่งปัน

ดังนั้น พวกเราจึงทำงานเต็มศักยภาพเท่าที่พวกเรามี ..และยืนยันว่า บรรยากาศในการทำงานแบบนี้ทำให้ผมเติบโตมากขึ้นครับ

เราพยายามจะทำให้ครบเวทีที่ ๓ เเละทำงานให้เสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ทำตอนนี้

ในความคิดของคนทำงานแบบผม ผมอยากทำงานกับหน่วยงานที่เห็นคุณค่าของเรา ไปทำงานในที่เขาให้โอกาสเราทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ไปทำงานในงานที่พวกเรามีความสุข

ตอนนี้เราพอเห็นบ้างเเล้ว เเละผมก็รวบรวมทีมงานให้เข้มเเข็งในการทำงานชิ้นใหม่ ที่จะมาถึง อีกหลายงาน..

อย่างที่ผมชวนคุยไปเมื่อวันก่อนว่า แม้งานจะหนักหน่วงเเค่ไหน ทุกอย่างสำคัญที่ "ใจ" ตัวเดียวครับ

ทำงานให้ท้าทายต่อเป้าหมายใหญ่และมีความสุขเบิกบานครับ

ด้วยความเคารพครับ

 

เอก-จตุพร

 

มาให้กำลังใจคะ คุณภาพคับแก้วคะ

ถึงแม้จะต้องอ่านอีกรอบให้เข้าใจ

พี่ไก่มามุขนี้อีกแล้ว ต้องอ่านหลายรอบ กำลังหัดถอดบทเรียน

ไม่เป็นไรครับพี่   ประกาย~natachoei ที่~natadee  เป็นเรื่องปกติมากๆนะครับที่พี่อ่านไม่เข้าใจ 555

บางเรื่องที่เราไม่คุ้นชิน ก็ต้องใช้เวลย่อยกันนานหน่อย บางเรื่องเข้าใจได้เลย แล้วแต่ใครถนัดเเละเสียวซ่าน(เชี่ยวชาญ)

ให้กำลังใจนะครับผม

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณค่ะที่แวะไปเยี่ยมกัน

อย่าลืมไปช่วยกันโหวตนะคะ

(ที่จริง ปีที่แล้ว ดิฉันก็เขียนโครงการณ์เสนอเข้าไปค่ะ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก)

แม้เจ้าของโครงการจะไม่ได้รับเงินจริงๆ แต่ก็คงดีใจค่ะ ที่ความคิดของเค้าได้รับการยอมรับ มีผู้เห็นความสำคัญ และมีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อนำไปสานต่อความคิดให้กลายเป้นความจริง

เพื่อประโยชน์ต่อมนษยชาติค่ะ

มาอ่าน เก็บและหยิบฉวยไปใช้ด้วยคนค่ะน้องเอก

เงียบ ๆ ไป-จริงค่ะ

อ่านหนังสือ เตรียมสื่อการเรียนการสอน...

 

 

เสร็จแล้วค่ะ

แวะอ่านเป็นช่วง ๆ

หวังใจว่าจะได้ผลลัพธ์เป็น หลินปิง บ้างค่ะ;P

จาก:  pirachaya 
ส่งเมื่อ: 26 กันยายน 2552 21:27:30

 

สวัสดีค่ะ 

เกรงว่าจะ BAR ผ่าน email ไม่ครบทีม คิดว่าคงไม่ต่อเติมอะไรนะคะ เพราะสมบูรณ์ครบถ้วนดีที่สุดแล้ว ชื่นชมค่ะ ในที่นี้ ขอเพียงสรุปประเด็นตามความเข้าใจของตัวเองในเบื้องต้นก่อนนะคะ หลังจากที่ใช้เวลาอ่านอย่างวิเคราะห์และสังเคราะห์การถอดเทปบทเรียนของคุณครูผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เห็นบริบทของโรงเรียน ผอ. คุณครู นักเรียนและชุมชนแล้ว ทำให้เห็นจุดร่วมกัน (Shared Vision) ในหลาย ๆ เรื่อง สอดคล้องกับกรอบแนวคิดที่ทางคุณเอก คุณซวงและพี่นุชได้แลกเปลี่ยนกันไปแล้ว

          สาเหตุที่ศิลาหายเงียบไปก็เพื่อไปทำการบ้านโดยทำความเข้าใจบริบทเป็นรายบุคคล แล้วจะได้นำไปต่อยอดเจาะข้อมูลที่เรามีอยู่แล้วในแต่ละท่านเพื่อการขยายผลออกไป   ในเวทีแรก เราทราบแล้วถึง What (เราเห็นถึงความสำเร็จที่เป็นผลงานปรากฎชัดของแต่ละท่าน)  แน่นอนว่าในเวทีต่อไป เราจะเน้นเรื่องการบริหารจัดการ และก็คงลงลึกเกี่ยวกับ How (คุณทำได้อย่างได้ = วิธีการ) และ  Why (ทำไมคุณจึงทำเช่นนั้น = แรงบันดาลใจ)  ซึ่งจากการอ่านการแลกเปลี่ยนของทีมงานคับแก้วของเราแล้ว เรามีทิศทางและกรอบชัดเจน จึงไม่น่าหวงอะไร

สำหรับประเด็นร่วมประเด็นสำคัญที่เราจะเจาะต่อไปตามที่ทุกท่านมองเห็นตรงกันแล้วคือการศึกษา “ตัวผู้นำการเปลี่ยนแปลงว่ามีรูปแบบ Change Management อย่างไร”   

แรงจูงใจ ---> เบื้องหลังความสำเร็จ -->จุดเปลี่ยน -->เปลี่ยนตนเองอย่างไร --->เปลี่ยนแปลง คน/ชุมชน/สวล. --->(บทเรียน/ความล้มเหลว)      

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว หลังจากอ่านการถอดเทป จุดเปลี่ยนได้สอดแทรกอยู่ในคำพูดของหลาย ๆ ท่าน ดังนั้น

1.       ชุดคำถามของเราสามารถตั้งต่อยอดจากข้อเท็จจริงของแต่ละท่าน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเราจดจำเรื่องราวของผู้แลกเปลี่ยนได้ และแต่ละท่านก็เต็มใจที่จะเล่าและขยายผลต่อให้เราอีก  ได้แก่ แรงจูงใจ และบทเรียนต่าง ๆ ที่แต่ละท่านได้เรียนรู้ล้มลุกคลุกคลาน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างไร จนกระทั่งใช้เครื่องมืออะไรไปเปลี่ยนแปลงคน (นักเรียน)  ชุมชน (ผู้ปกครอง คนในท้องถิ่น) หรือวัด  ขอตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องมือที่ว่านั้นสารัตถะก็คือ “กระบวนการสื่อสาร” ของ ผอ หรือคุณครู ซึ่งควรเจาะต่อไปว่าสื่อสารแบบไหน อย่างไร   สรุปก็คือ

  • ค้นหาแรงจูงใจ
  • เจาะลึกบทเรียน/ความล้มเหลว
  • จุดคลิกที่พลิกชีวิต
  • พัฒนาตนเองอย่างไร (คำนี้เห็นหลาย ๆ ท่านพูดถึงในวง)
  • การเปลี่ยนแปลงผู้อื่น/สิ่งแวดล้อมอย่างไร (เช่น กระบวนการการสื่อสาร หรือใช้เครื่องมืออะไร)

2.       ค้นหาประเด็นร่วมของโรงเรียนหรือของคุณครูเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในวงสุนทรียสนทนาในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้  ได้แก่เป้าหมาย     คุณครูตั้งเป้าหมายอย่างไรในการบริหาร/จัดการ เช่น เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้   ฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ  หรือคิดสังเคราะห์ (ค้นหาเป้าหมายแท้จริง)

  • หลักสูตร     จัดหลักสูตรแบบ Learning by doing หรือว่า Constructionism Learning   (ติดตั้งกระบวนการเรียนรู้ด้วย
  • วิธีการ     ใช้วิธีการอะไรใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการ เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแทนการ สอนโดยคุณครูฝ่ายเดียว  ให้นักเรียน
  • ห้องเรียน/ครู  ทุกที่คือครูหรือห้องเรียน  เช่น การให้มีกูรูภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสอน การเข้าหาชุมชน การไปปฏิบัติธรรมที่วัด การเข้าไปช่วยเหลือชุมชน
  • การประเมินผล   ไม่ได้วัดกันที่คะแนนในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังได้ประเมินจากพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน  ซึ่งสะท้อนถึงการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

3.  อิทธิพลต่อความคิดของทั้งผอ และคุณครู ที่ศิลามองเห็นผ่านการอ่านและการฟังการแลกเปลี่ยนก็คือหลักธรรม พระราชดำรัส/ปรัชญาของพระเจ้าอยู่หัว และตัวคุณพ่อคุณแม่ของแต่ละท่าน เราสามารถเจาะเป็นคำถามต่อไปได้ว่านำแก่นธรรมหรือปรัชญาองค์ความรู้ที่ยึดถือมาแปลงรูปเป็นแนวปฏิบัติแล้วนำไปบริหารจัดการได้อย่างไร

4.  การให้ของ ผอ และคุณครู  

  • การให้ความรู้            อย่างไร                       (เก่ง)
  • การให้ความรัก           อย่างไร                      (สุข)
  • การให้ธรรม              อย่างไร                       (ดี)
  • การให้โอกาส/สร้างเวที   อย่างไร    (บูรณาการโดยนำศักยภาพที่มีไปลงมือปฏิบัติ))     

5.  Feedback ของผู้ที่ถูกเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  อย่างไร

ขออนุญาตส่งน้ำจิ้มแค่นี้ก่อนนะคะ เพราะแบตเตอรี่หมด ขอไปชาร์ตไฟเพิ่มก่อนค่ะ เพิ่งกลับมาจากการไปนำเสนอแผนการสอนกฎหมาย ออกจะมึน ๆ พอสมควรค่ะ ต้องขออภัยอย่างยิ่ง หากเขียนอะไรแล้วทำให้งง ๆ กันไปบ้าง

ภาคภูมิใจมากค่ะที่ทีมงานเราเข้มแข็ม และมีคุณภาพมากเลย  ขอบพระคุณทุกท่านค่ะ  (คิดได้ใหม่แล้วจะมาช่วยต่อยอดค่ะ)

ศิลา

 

จาก:  Noppharat Ratanapongphasuk 
ส่งเมื่อ: 26 กันยายน 2552 21:10:18
สวัสดีครับ
 
ได้อ่านที่พี่นุชเขียนก็รู้สึกตื่นเต้นไปด้วย กับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
ผมยังจินตนาการไม่ออกว่า ความคิดที่เป็นเชิงระบบของฝรั่งตะวันตก
หากมาผสานเข้าเข้ามุมมองทางจิตวิญญาณ หรือจิตปัญญา
อันลึกซึ้งแบบตะวันออก
จะเกิดผลสำเร็จอันน่าตื่นตะลึกขนาดไหน
คุณเอกเคยพูดถึง Spiritual KM
ไม่แน่ว่า เราอาจได้เห็น Spiritual Change Management ที่สามารถเปลี่ยนจิตวิญญาณคนได้จริง

แล้วพบกันพรุ่งนี้ครับ
 
"""
 
ปล.
พรุ่งนี้ทานอาหารญี่ปุ่นกันตอนกลางวัน กรุณาอย่าปล่อยของกันจนหมดมุขนะครับ
กั๊กๆ กันไว้บ้าง  เกรงว่าเดี๋ยวตอนผมมาจะจืดหมด
ไม่สดใหม่ เพราะต้องมา replay ซ้ำ

สวัสดีคะ ไม่ค่อยมีเวลาเลย แวะมาเยี่ยม สบายดีนะคะ

บันทึกของพี่อ่านกี่ครั้งยังคงประทับใจและมากล้นด้วยสาระทุกครั้งครับ...นับถือๆ

ดูแลสุขภาพด้วยครับ

สวัสดีค่ะคุณเอก

  • เข้ามาบล็อกนี้ทีไร ครูอิงต้องใข้เวลาในการอ่านนานกว่าบันทึกใด ๆ
  • แม้จะไม่ค่อยมีเวลามากนักก็ตาม
  • เหมือนกับได้กลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง และเป็นการเรียนวิชาที่ค่อนข้างจะหนักหนาเอาเหมือนกัน
  • สำหรับครูบ้านนอก อย่างครูอิง ที่นับวันต้นทุนเดิมที่มีอยู่กำลังจะหดหายไปเรื่อย ๆ(ทำนองว่า สอนเด็กประถม ความรู้ก็อยุ่แค่ระดับประถมอะไรประมาณนั้น)
  • จึงต้องขยันหา  เพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองเสมอ ๆ
  • อ่านทีไรเป็นการเพิ่มความรู้ได้มากมาย ทั้งในส่วนของบันทึกและในส่วนของข้อคอมเม้นท์
  • ทั้งจากเจ้าของบันทึกและจากผู้มาเยี่ยมเยียน
  • หากแต่ต้องอ่านซ้ำ ๆ จึงจะสามารถเข้าใจบทเรียนนี้ได้ และต้องใช้กำลังรวบรวมสติไม่ให้ล่องลอยไปทางอื่น  อิ..อิ...อิ...
  • ได้ข่าวว่าจะไปเที่ยวประจวบฯ ช่วงโรงเรียนปิดเทอม ยังไงก็ส่งข่าวนะคะ
  • กระท่อมอิงจันทร์ อาจได้ต้อนรับผู้มาเยือน แวะไปส่งข่าวที่บันทึกครุอิงก็ได้นะคะ
  • หรือจะหลังไมค์มีไออุ่นก็ได้  55555

สวัสดีค่ะ

  • มารายตัวแล้วค่ะ...กลับมาแล้วค่ำนี้
  • เรื่องข้างบนนี้....เป็นไปตามนั้นนะคะ
  • ก่อนอื่น...พาน้องนัทชมงานของคุณป้าใหญ่ก่อน
  • แล้วเดินทางต่อ...ไปบุกกระท่อมอิงจันทร์
  • วางแผน...อุ้มครูอิงจันทร์..ไปต่อตามแผน...ที่วางไว้
  • ห้ามเปิดเผย...เป็นความลับจ๊ะ
  • สวัสดีครับน้องเอก
  • แวะมาเยี่ยมเยียนและเรียนรู้
  • สบายดีนะครับ

ครู mena สบายดีครับ ก็งานอาจจะหนักบ้างนะครับ แต่ก็บริหารจัดการได้

สวัสดีครับ พี่ ณัฐรดา

ไปอ่านบันทึกนี้เเล้ว ตอนเเรกก็ งงๆ อยู่ ครับ แบบนี้เรียกว่า CSR น่าจะใช่นะครับ น่าจะอยู่ในข่ายนี้ครับ

พี่หมอเล็ก

วันนี้ที่พี่หมอโทรมา พี่ ดร.นุช ก็โทรมาพอดีครับ เลยได้คุยกันนาน ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งใน กทม. นี่หละครับ ยังคุยถึงพี่หมอเล็กด้วยครับ

ตอนนี้ ทีมงานเรากำลังจะวางแผนทำงานร่วมกับหน่วยงานหนึ่งครับ ตอนนี้กำลังจะเข้าไปดูเนื้อหางานที่เราจะทำงานร่วมกัน ผมมี Fa ฝีมือดีเข้าร่วมทีมอีก ๑-๒ คน

คิดว่างานชิ้นต่อไป เราจะทุ่มเทพลังให้เต็มที่ ...ว่างๆต้องเชิญพี่หมอเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันบ้างครับ

เสียงเล็กๆ فؤاد น้องฟูอ้าจ

ขอบคุณครับ ให้กำลังใจสำหรับการเรียนของน้องด้วยนะครับ ...

พี่ อิงจันทร์

อ่านยาก และหนักไปบ้างครับ ผมก็มองว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ เเลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นนี้

สำหรับงานนี้ กำลังจะเปิดเวทีที่ ๒ และ ๓ ในอีกเดือนหน้าที่จะถึง ก็จะปิด จะจบงานเเล้วครับ เราก็อยากทำให้ดีที่สุดครับ ...

สำหรับผมจบงานนี้ จะขออำลาวงการนี้ไปก่อน...

อย่างน้อยงานชิ้นนี้มีคุณค่า หากต่อไป เรากลับย้อนมาดู เราก็จะได้ดีใจว่า ก็เคยได้ทำงานดีๆชิ้นนี้

สวัสดีครับ

แผนพี่ ครูคิม เป็นความลับจังเลยนะครับ

เมื่อครู่ได้คุยกับ ผอ.รร.ชำฆ้อ เห็นบอกว่าท่านจะไปร่วมงานที่ สยามพารากอนด้วย ครับ น่าจะได้เจอหลายท่านที่เราเคยอ่านผลงานนะครับ

พรุ่งนี้จะเริ่มเวที ลปรร.เเล้ว คืนนี้ผมพักที่โรงเเรมและลุยงานพรุ่งนี้ เสร็จเวทีนี้ผมมีแผนไปพักผ่อนที่ชายทะเลแถบ ระยอง จันทบุรี สักสองสามวันครับ :)

สิงห์ป่าสัก พี่วีรยุทธ

เมื่อครู่ ทางทีมได้ BAR. กัน ยังคุยกันว่า หากพี่อยู่ใกล้ๆจะชวนมาเเจมด้วยครับ ผมสบายดีครับ ก็เรื่อยๆ แต่งานช่วงนี้หนักครับ มีงานที่ต้องประสานในหลายๆหน่วยงาน ส่วนใหญ่ก็เป็น Facilitator ที่เน้นการถอดบทเรียน นี่หละครับ :)

  • เข้ามาเรียนรู้เรื่องถอดบทเรียนค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ

สวัสดีน้องเอก  ..คิดถึง มาเยี่ยม.." สุข  ดี และเก่ง  "..ชอบใจที่เอา " เก่ง " ไปไว้สุดท้ายเลย  เสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมามีภารกิจที่สถานีวิทยุจุฬา  เห็นโปสเตอร์แผ่นนี้ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับ สุข ดีและเก่ง ด้วยหรือเปล่า(ฮา)..

 

สวัสดีคะคุณเอก

  • เข้ามาอ่านบันทึกอันลุ่มลึก  เพื่อขุดค้นจิตวิญญาณผู้นำการเปลี่ยนทั้งผู้บริหารและครูผู้สอน  ส่วนตัวแล้วคิดว่า  การเลือกบุคคลไปร่วมเวทีดังกล่าว  สำหรับของโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กแล้ว  ตอบได้ว่าใช่เลย  เพราะบุคคลทั้งสองท่าน  (ผอ.สมบูรณ์  เดชยิ่ง  และคุณครูพิศมัย  เทวาพิทักษ์) มีบุคลิกลักษณะ  ความคิดหรือแนวปฏิบัติในการทำงานที่ไม่เหมือนใคร  และไม่มีผิดกฎระเบียบหรือศีลธรรมใดใด  ยึดมั่นในสิ่งที่ตนคิดเป็นหลัก  และรู้จักยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
  • อยากเป็นนก  เป็นหนู  ไปแอบดูเขาทำอะไรกันบ้าง ในเวทีนี้  แต่คงไม่นานเกินรอ  เดี๋ยวก็คงทราบจากคำบอกเล่าจากทั้งสองท่านแน่นอน ตื่นเต้นๆ
  • แวะมาเรียนรู้..เติมปัญญารอบดึกๆ ครับ
  • ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ แวะมาเยี่ยมพี่เอกครับ

แอบตามไปดูรูปคุณซวงที่บล็อกพี่ครูคิมมากครับ

ได้เห็นหน้่าค่าตากัลยาณมิตรแล้วดีใจครับ

ไปเจอมาที่บ้านครูคิมค่ะ คุณซวงคือพี่ซวง ณ ชุมแสงมั้ยค่ะ

อ้าวววววววววววว

ถ้าใช่ พี่ซวงไปซุ่มทำงานอยู่กับพี่ศิลา และอาจารย์ดอกเตอร์ในห้องพี่เอกนี่เอง

เลยไม่มีเวลามาเขียนบันทึกเลย

โอ้โห ชีวิตของเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เค้ามีความรู้ และเค้าหมั่นพัฒนาความรู้กันทั้งนั้นเลย

มองไปมองมา กอก็ไม่ได้พัฒนาอะไรสักที ทำอะไรดีน่ะ โอ้ย

 

นำสื่อมาฝากครับ
สื่อเหล่านี้นอกจากจะทำให้รู้ว่าใครทำอะไรแล้ว ยังมีมิติของบุญกุศล และองค์ความรู้หรือวิธีการ กระบวนการที่ทำด้วย
แต่ก็นั่นละครับ ในยุคโมหะภูมิเช่นนี้
สื่อดีๆพวกนี้ไม่มีโอกาสออกช่วง prime time พอที่จะให้คุณครูกับเด็กๆได้ชมหรอก
เป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน.....และเป็นแสงที่มองไม่เห็น
น้อยคนที่จะมีบุญได้ชม..
.
สื่อชั่วๆออกฟรี สื่อดีๆ เสียสตางค์..... แถมยังวางอยู่หน้า1
คนในชาติเสพอยู่กับสื่อประโลมโลก มีพวกตลกหยาบคายเป็นผู้ผลิต
กับพวกขายเนื้อหนัง บริโภคนิยม สื่อแดงเหลืองกระตุ้นโทสะ โมหะ โลภะ
สังคมไทย จึงดุจดั่งจมอยู่ในบ่ออุจจาระเน่าเหม็น.. ยากจะสัมผัสกับอะไรสะอาดๆ
ช่างน่าสะอิดสะเอียน เวทนาเป็นอย่างยิ่ง 
น่าสงสาร...ประเทศไทย สังคมไทยเสียจริงๆ...
เรามาช่วยกันปฎิวัติวงการสื่อบ้านเรากันเถอะครับ


 จัดที่ไหนหรือครับ ? 

สนใจแลกเปลี่ยนด้วยนะครับ

 

สวัสดีครับ ครูตา ลป.

จากนี้ผมจะเขียนบันทึก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เวที ที่เราทำ อีกประมาณ ๒ - ๓ บันทึกครับ...

รอติดตามนะครับ

พี่หนุ่ม กร~natadee

โรงเรียนที่เข้ามาเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่เรียกว่า รับนักเรียนที่มีปัญหาบ้าง เด็กที่ไม่พร้อมจากโรงเรียนอื่นๆ ดังนั้นการพัฒนาเด็ก การสร้างกระบวนการเรียนรู้ จะเน้น สุข ดี และ เอา เก่ง ไว้ท้าย

  • เกศ Head
  • กมล Heart
  • กร Hand
  • กาย Health

(ผอ.สุมนต์ ม่อนไข่ ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ น่าน)

พัฒนาให้ครบทุกมิติ

แต่เราพบว่าโรงเรียนใหญ่ ๆเด็กๆมักมี "เกศ" ที่ใหญ่โต แต่ "กมล" เล็กนิดเดียว นี่คือปัญหาการศึกษาไทยที่จะมีต่อไป เรามีคนเก่งมากมาย แต่ปัญหาเราไม่เคยแก้ไขได้

ครูรส

บันทึกอาจอ่านยากไปบ้างครับ แต่เป็นความพยายามของพวกเรา ที่ต้องเตรียมกระบวนการ

ครู ผอ.สมบูรณ์ และ ครูพิศมัย มีความสุขดีไหมครับ กับการเดินทางมาร่วมกิจกรรมที่ กทม.

ขอบคุณ ผอ.สมบูรณ์ ที่เอาใส้อั่วมาฝากผมด้วย

พี่สามสัก ขอบคุณครับ มีอะไรสามารถแลกเปลี่ยนได้ บันทึกอาจอ่านยากหน่อยครับ

น้อง Phornphon พี่ซวงมาช่วยผมจับประเด็นในวงแลกเปลี่ยนครับ

สุดสายป่าน

เข้าใจว่า งานวิศวกร ของพี่ซวง มีภาระหน้าที่ที่หนักมากขึ้น เลยไม่ค่อยมีเวลามาเขียนบันทึกครับ

ขอบคุณ คุณ Man In Flame  ที่นำสื่อดีๆมาให้ชมด้วย

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราจัดที่ โรงเเรมรามาการ์เด้นส์ ใน กทม.ครับ เวทีที่ ๓ ก็จะมีในสัปดาห์หน้าครับ...

 

สวัสดีค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ ก่อนอื่นขอแนะนำตัวนะค่ะ ดิฉันกนกรัตน์ ทำงานด้านการพัฒนาบุคลากร ของ บมจ.ทีโอที ได้ประมาณ 5ปี ก่อนหน้านี้ ทำด้านพัฒนาระบบบัญชีการเงินโดยนำระบบโปรแกรมสำเร็จรูป SAP R2,R3 ประมาณ 12 ปี สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย คือ ทรัพยากรมนุษย์ ที่จะขับเคลื่อนให้องค์กรประสบผลสำเร็จตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ ที่กำหนดไว้ เป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับองค์กรต่างๆ ทำอย่างไรให้ทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรจะอยู่ร่วมกัน อย่างมีความผาสุข และดึงศักยภาพของแต่ละปัจเจกบุคคลออกมาใช้เต็มความสามารถ ตลอดจนให้องค์กรประสบผลสำเร็จด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ คุณนะค่ะ กนกรัตน์

ยินดีมากๆครับ คุณ กนกรัตน์ ผมอยากอ่านข้อคิดเห็น และ ประสบการณ์ผ่านการทำงานของคุณเช่นเดียวกันครับ

ด้วยมิตรภาพครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท